Hey there, We are Blossom Themes! We are trying to provide you the new way to look and use the blogger templates. Our designers are working hard and pushing the boundaries of possibilities to widen the horizon of the regular templates and provide high quality blogger templates to all hardworking bloggers!
ส่วนการเขียนงาน ‘วรรณกรรมจ๋า’ นั้น อาจเพราะกำลังอยู่ในช่วงที่ทำงานโฆษณา โดยหน้าที่การงานวันๆ ต้องคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ที่เรียกว่า big idea งาน ‘วรรณกรรมจ๋า’ ที่ผมเขียนจึงได้รับอิทธิพลวิธีทำงานแบบโฆษณามาด้วย
นี่ก็คือจุดกำเนิดงานเขียนแนวทดลอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานเขียนที่มี big idea
คำว่า big idea หมายถึงความคิดที่ใหม่ สด ง่าย แปลก จดจำง่าย จำได้นาน อยู่ข้ามกาลเวลา งาน big idea ถ้าเป็นนักมวยก็คือการปล่อยหมัดน็อค มักตามมากับคำ “คิดได้ไง” เป็นไอเดียที่สร้างความเปลี่ยนแปลง อาจถึงขั้นที่ส่งผลกระทบต่อสายธารงานศิลปะ ตัวอย่างงาน big idea ในทางภาพยนตร์ เช่น The Matrix, Jesus Christ Superstar, Forrest Gump, Salmon Fishing in the Yemen เป็นต้น
การใช้เมาส์ของคอมพิวเตอร์ Apple ก็ถือว่าเป็น big idea แม้ในทางวิทยาศาสตร์ ความคิดของของไอน์สไตน์ที่ว่าอวกาศเป็นสี่มิติ (space-time) ก็เป็น big idea แหกคอกวิธีคิดแบบเก่าโดยสิ้นเชิง
ปรมาจารย์โฆษณา เดวิด โอกิลวี เคยบอกว่าทำงานโฆษณามาตลอดชีวิต มี big ideas แค่ราวยี่สิบชิ้นเท่านั้น
เมื่อนำวิธีการคิดแบบ big idea มาใช้ในการเขียนหนังสือ ก็แปลว่าเรามองการเขียนหนังสือใหม่ ลืมวิธีการเขียนตามขนบเดิมไปก่อน งานเขียนระยะแรกของผม ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นงานวรรณรูป คือการเขียนหนังสือโดยใช้องค์ประกอบมากกว่าแค่ตัวหนังสือ ใช้องค์ประกอบอื่นๆ มาผสม เช่น กราฟิก ดีไซน์
นักศึกษาสายสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้รับการสั่งสอนมาตลอดว่า Form follows function (ประโยคเต็มคือ Form ever follows function) หมายถึงรูปทรงอาคารมาจากหน้าที่ใช้สอย แนวคิดนี้มีมานานอย่างน้อยก็ทศวรรษที่ 1930 พวกเขาเชื่อว่างานสถาปัตยกรรมที่ดีต้องมีประโยชน์ใช้สอยที่ดีและงดงาม มันเป็นกฎแห่งการออกแบบที่สถาปนิกระดับโลกใช้มาตลอด
ลองมองธรรมชาติจะพบว่า ‘ผลงาน’ ในธรรมชาติล้วนเป็นแบบ Form follows function เมื่อพืชโตในที่แห้งแล้งขาดน้ำ ก็ ‘ออกแบบ’ ตัวเองให้กักน้ำไว้มากที่สุด ใบกลายเป็นหนามเพื่อลดการคายน้ำและป้องกันสัตว์มากิน เป็นต้น
กินเวลาถึงสี่ปีกว่าผมจะเริ่มเข้าใจเรื่องการออกแบบไม่แยกส่วน และเริ่มเรียนรู้ว่าเราสามารถทำ function กับ form ไปพร้อมกันได้ นั่นคือเวลาออกแบบ เรามองภาพสามมิติของทุกอย่างในภาพเดียว วิธีออกแบบหลักการนี้ก็คือวิธีคิดแบบ big idea ในทางโฆษณานั่นเอง ทำให้สถาปนิกสามารถจินตนาการโครงสร้างที่เหมาะกับหน้าที่ใช้สอยตามโจทย์ และกำหนดหน้าที่ใช้สอยให้ลงตัวตามรูปแบบที่จินตนาการขึ้นมาพร้อมๆ กัน ทำให้ได้งานที่เด่นทั้ง form และ function พูดง่ายๆ คือ Form fuses with function หรือรูปแบบเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกับหน้าที่ใช้สอย หากเป็นนิยายจีนกำลังภายใน ก็คือกระบวนท่าเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกับใจ!
เมื่อนำหลักนี้มาใช้ในงานเขียน function ก็คือสาระของเรื่องที่จะเล่า form คือรูปแบบการเล่า หรือ presentation ก็จะได้งานเขียนที่เด่นทั้งรูปแบบและสาระ ผู้อ่านสามารถอิ่มกับสาระของเรื่องเต็มที่ขณะที่ตื่นตาตื่นใจกับการนำเสนอ ทำได้อย่างนี้ ผลงานก็จะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ไปไกลกว่า ‘เรื่องที่ดี’
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น