Winbookclub.com:



เงาของนักเขียนคนหนึ่ง ตอน 5 
Sequence


คุณจะเล่าพล็อตเรื่องนี้อย่างไร?

สมมุติว่าเราแต่งเรื่องให้ตัวละครหลักเกิดอุบัติเหตุทางสมอง ไม่สามารถสร้างความจำใหม่ได้ เขามีความปรารถนาแรงกล้าจะแก้แค้นให้ภรรยาที่ถูกฆ่าตาย สมมุติว่าตัวละครชื่อ เลนเนิร์ด เชลบี เป็นอดีตผู้ตรวจสอบการเคลมประกันภัย คืนหนึ่งคนร้ายบุกเข้ามาในบ้านของเขา ข่มขืนและฆ่าภรรยาของเขา เลนเนิร์ดฆ่าคนร้ายคนหนึ่งตาย เขาบาดเจ็บระหว่างต่อสู้กับคนร้ายคนที่สอง หัวของเขากระแทกกระจกเงาอย่างแรงจนสมองเสียหาย ไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ๆ ได้ เขาจำอะไรต่ออะไรได้ราวสิบห้านาทีเท่านั้น ความจำถาวรของเขาไปถึงแค่เมียถูกข่มขืนฆ่า เขาต้องการแก้แค้น

เขาเป็นคนมีระบบในการทำงาน จึงจดเรื่องต่างๆ ที่เจอใหม่ในแต่ละวันบนกระดาษ ถ่ายรูปโพลารอยด์แล้วเขียนโน้ตบันทึกไว้ สำหรับข้อมูลสำคัญเขาสักมันไว้บนร่างกายตัวเอง เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับคนร้าย แล้วเขาก็ออกล่าคนร้ายตามข้อมูลที่เขาบันทึกไว้ ระหว่างที่ตามล่านั้น เขาพบคนหลายคน เช่น เท็ดดี้ ผู้บอกว่าเป็นตำรวจที่ทำคดีภรรยาของเขา ซึ่งอาจเป็นคนร้ายคนที่สอง, จิมมี คนค้ายาซึ่งอาจเป็นคนร้ายคนที่สอง, ดอดด์ คนค้ายาที่เกี่ยวข้องกับจิมมี, แฟนของจิมมีชื่อ นาตาลี ซึ่งหลอกให้เขาไปทำร้ายดอดด์, แซมมี ลูกค้าบริษัทประกันภัยที่ประสบอุบัติเหตุทางสมองคล้ายกับเขา, เมียของแซมมีผู้เป็นโรคเบาหวาน, เบิร์ต พนักงานโรงแรมที่เขาพัก

มีตัวละครไม่มากเกินไปนัก คอนเส็ปต์คือตัวละครหลักสับสนระหว่างความจริงกับความลวง ถูกหลอกใช้เป็นระยะ และตามล่าคนร้ายผิดคน

นี่คือพล็อตของภาพยนตร์เรื่อง Memento (2000) ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของการจัดลำดับฉากในการเล่าเรื่อง (sequence) ส่งผลให้เรื่องที่มีพล็อตที่ดูเหมือนธรรมดากลายเป็นเรื่องที่สุดยอดที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกภาพยนตร์

ก่อนที่เราจะไปถึงรายละเอียดของ Memento ซึ่งยกมาเป็นกรณีศึกษา เราคงต้องทำความเข้าใจกับคำว่า sequence ก่อน




จุดหนึ่งที่ศิลปะแขนงวรรณกรรม ภาพยนตร์ และดนตรีแตกต่างจากศิลปะแขนงจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ก็คือพวกมันมีองค์ประกอบของลำดับเวลาของเหตุการณ์มาเกี่ยวข้อง ในภาพจิตรกรรมหรือภาพพิมพ์ เราเห็นภาพภาพเดียว ฉากเดียวจบในตัว ในงานประติมากรรม เราเห็นงานปั้นชิ้นเดียว แต่ในงานวรรณกรรมหรือภาพยนตร์ เราเห็นลำดับการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ (sequence) เช่น ฉาก ก. เกิดขึ้นก่อนฉาก จ., ฉาก ป. เกิดขึ้นหลังฉาก ต. เป็นต้น

ในแขนงดนตรีก็มีการเรียงลำดับเวลาเช่นกัน ตัวโน้ตที่วางผิดตำแหน่งทำให้เพลงสะดุดได้ ในงานเขียนก็เช่นกัน การเรียงลำดับเหตุการณ์ต่างกันทำให้อารมณ์ความรู้สึกในการเสพเรื่องต่างกันได้ ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น เปิดเรื่องให้คนอ่านไม่รู้ว่าฆาตกรเป็นใครให้ความรู้สึกแบบหนึ่ง เปิดเรื่องให้คนอ่านรู้ว่าฆาตกรเป็นใครให้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง

นี่ก็คือ sequence - การจัดลำดับเหตุการณ์ของเรื่อง ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่สำคัญมากในการเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย เรื่องที่มีพล็อตดีมากแต่จัด sequence ไม่เป็น อาจน่าเบื่อ ตรงกันข้าม เรื่องที่มีพล็อตธรรมดา แต่จัดลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังได้ดี มักจะดี หรืออย่างน้อยที่สุดก็รอดตัว

sequence ของงานเขียนสำคัญมาก มันเป็นวิธีจัด composition อย่างหนึ่ง นั่นคือจะวางองค์ประกอบแต่ละชิ้นอย่างไรให้ทรงพลังที่สุด

นวนิยายจีนกำลังภายในแบบเก่าเดินเรื่องแบบเรียงตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ เริ่มเรื่องด้วยบทที่ 1 พระเอกกำพร้า พ่อแม่พี่น้องถูกฆ่าตาย, บทที่ 2 พระเอกพบอาจารย์หรือพบคัมภีร์วิเศษ, บทที่ 3 ไปฝึกวิชากลางป่า, บทที่ 4 ได้ครอบครองกระบี่วิเศษ บทที่ 5 พบนางเอกคนที่หนึ่ง, บทที่ 6 พบนางเอกคนที่สอง, บทที่ 7 พบนางเอกคนที่สาม, บทที่ 8 พบนางเอกคนที่สี่, บทที่ 9 พระเอกไปแก้แค้น ฆ่าคนร้ายตายไปร้อยกว่าคน, บทที่ 10 พระเอกแต่งงานกับนางเอกทั้งสี่คน เฮ้อ! เหนื่อย! คนที่อ่านเรื่องแนวนี้มาสักสองสามเรื่องก็สามารถเดาเรื่องออกได้ตั้งแต่ครึ่งเล่มแรก แต่ก็ยังมีนิยาย ‘แบบนี้เป๊ะ’ ออกมานับไม่ถ้วน เชื่อไหมว่าในยุครุ่งเรืองของตลาดนิยายกำลังภายใน มีนักเขียนนวนิยายกำลังภายในแนวเดิมๆ อย่างนี้อยู่หลายร้อยคน!

โก้วเล้งก็เดินตามรอยนักเขียนเหล่านี้ นวนิยายในยุคแรกของเขาเดินตามสูตรการเขียนเดิม ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง เซี่ยวฮื้อยี้ เดินเรื่องตั้งแต่ตัวเอกเกิดเป็นทารก พ่อแม่ถูกฆ่าตาย คนชั่วกลุ่มหนึ่งเอาเขาไปเลี้ยง เซี่ยวฮื้อยี้เติบโตขึ้น ผจญภัย พบรัก แต่งงาน แล้วก็จบ เดินเรื่องเป็นลำดับ โชคดีที่พล็อตเรื่องสนุก จึงรอดตัวไป จนกระทั่งต่อมา เขาก็เริ่มเล่าเรื่องแบบไม่ลำดับเวลาของเหตุการณ์ เช่น ดาบจอมภพ เรียงลำดับเหตุการณ์ใหม่ เริ่มเรื่องที่มีคนมาแก้แค้น แล้วค่อยเล่าย้อนฉากฆ่าครอบครัว

เรื่อง จิ้งจอกภูเขาหิมะ ของกิมย้ง เล่าเรื่องย้อนคล้ายหนังเรื่อง ราโชมอน ของ อากิระ คุโรซาวา ทำให้เรื่องน่าสนใจขึ้น

นี่ไม่ได้แปลว่าการเล่าแบบไม่ลำดับเวลาของเหตุการณ์ดีกว่าแบบเรียงลำดับเวลา แต่ละเรื่องมีวิธีเล่าเรื่องที่เหมาะที่สุดสำหรับมัน และนักเขียนต้องไม่ลืมว่า วิธีเล่าไม่ใช่เครื่องมือชิ้นเดียวที่ทำให้เรื่องดี เรื่องที่ดีเป็นส่วนผสมของทั้งพล็อต สาระ และวิธีเล่า




สมมุติว่าเราซอยนวนิยายเรื่องหนึ่งออกเป็นท่อนๆ ขนาดใกล้เคียงกัน แต่ละท่อนมีเลขประจำคือ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10

ถ้าเล่าเรื่องตามลำดับ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 เรียกว่า Linear narrative (ตามลำดับเวลาของเหตุการณ์) ยกตัวอย่างเช่น นวนิยายวิทยาศาสตร์ 2001: A Space Odyssey เล่าเรื่องตามลำดับ ตั้งแต่มนุษย์เรายังเป็นมนุษย์วานร เจอมนุษย์ต่างดาว ถูกมนุษย์ต่างดาวปรับสมองจนมีความสามารถสร้างอาวุธ เครื่องมือ ไล่มาเรื่อยจนสร้างอารยธรรม แล้วเดินทางไปในอวกาศ และในท้ายเรื่องก็เจอกับ ‘มนุษย์ต่างดาว’

ถ้าเล่าเรื่องไม่ตามลำดับ เช่น 1 2 6 4 8 10 9 5 3 7 เรียกว่า Non-linear narrative (ไม่ลำดับเวลาของเหตุการณ์) อาจใช้ท่อนกลางเรื่องมาเริ่ม อาจใช้ท่อนเกือบจบมาเร่ิม แล้วเดินเรื่องต่อไปจนจบ หรืออาจใช้ท่อนจบมาเริ่มแล้วเล่าย้อน

Non-linear narrative ใช้ในภาพยนตร์จำนวนมาก แบบที่ไม่ซับซ้อน เช่นภาพยนตร์เรื่อง Carlito’s Way, Gandhi เร่ิมที่ท่อน 9 (ตัวละครหลักถูกยิง) แล้วเล่าย้อนท่อน 1-9 เมื่อมาถึงท่อน 9 ก็เดินเรื่องต่อไปอีกหน่อยถึงท่อน 10 ก็จบเรื่อง, Forrest Gump เริ่มประมาณท่อน 7 เป็นตอนที่ตัวละครเอกไปหาคนรัก เขาเลือกไปทางรถเมล์ ระหว่างรอรถเมล์ที่ป้าย เขาก็เล่าเรื่องท่อน 1-7 ให้คนอื่นฟัง หลังจากนั้นเขาก็ไปหาคนรัก ดำเนินเรื่องท่อน 7-10 จนจบ

ส่วน Non-linear narrative ที่ซับซ้อน เช่น Memento, Pulp Fiction, Sin City ฯลฯ จะเดินหน้าถอยหลังเป็นช่วงๆ บางฉากในเรื่องPulp Fiction ตัวละครถูกยิงตายไปแล้วกลับมาใหม่ เป็นต้น

เครื่องมือที่ใช้ในการเล่าแบบ Non-linear มีหลายอย่าง เช่น Flashback, Flashforward, Reverse chronology
  
Flashback (บางทีเรียก Analepsis) คือเล่าย้อนอดีตหรือเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งแบบที่ยังไม่ได้บอกคนอ่านคนดู กับแบบที่เคยเล่ามาแล้วตอนต้นเรื่อง นำมา ‘ฉายซ้ำ’ เพื่อให้คนอ่านจำได้หรือตีความใหม่ นวนิยายนักสืบ-ทนายความจำนวนมากใช้ flashback ช่วยในการให้รายละเอียดบางฉาก เช่น รายละเอียดการฆาตกรรม, คำพูดของตัวละครที่เคยพูดมาก่อน เพื่อตอกย้ำ หรือเตือนความจำ หรือตีความใหม่ หนัง 99 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ flashback เป็นแบบนี้

สำหรับ flashback แบบที่ยังไม่บอกคนอ่านคนดู เป็นเทคนิคที่ใช้น้อยกว่าเพราะการไม่ปูเรื่องมาก่อนเป็น ‘ข้อห้าม’ อย่างหนึ่งในการเขียน (รายละเอียดจะว่ากันในบท Establishing) ตัวอย่างเช่น หนังเรื่อง Once Upon a Time in the West (1968) ของ Sergio Leone ตัวละครเอก นาม Harmonica (แสดงโดย ชาร์ลส์ บรอนสัน) มือปืนผู้ชอบเป่าฮาร์โมนิกา ปรากฏในเรื่องอย่างลึกลับ ไม่มีใครรู้หัวนอนปลายเท้าของเขา

Harmonica ช่วยชีวิต แฟรงก์ หัวหน้าคนร้าย แฟรงก์ถาม Harmonica ว่าเขาเป็นใคร Harmonica ตอบว่าเขาจะเผยตัวตนที่แท้จริงของเขาตอนที่กำลังจะตาย ในฉากท้ายเรื่อง แฟรงก์ดวลปืนกับ Harmonica และถูกยิง ตอนแฟรงก์ใกล้ตาย เรื่องก็เฉลยที่มาของ Harmonica ด้วยการ flashback ฉากในอดีตเมื่อ Harmonica ยังเป็นเด็ก แฟรงก์ฆ่าพี่ชายของ Harmonica โดยผูกเชือกคล้องคอเขา ให้พี่ชายเหยียบบนไหล่ของน้องชาย หากยืนไม่มั่นคงหรือหมดแรงเมื่อไร เชือกจะแขวนคอจนตาย แฟรงก์ยัดฮาร์โมนิกาอันหนึ่งใส่ปากของพี่ชาย Harmonica และสั่งให้เป่าไปเรื่อยๆ พี่ชายตัดสินใจถีบน้องชายออก และเสียชีวิต เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว Harmonica จึงมาแก้แค้น

นี่คือตัวอย่างการใช้ flashback ที่ไม่มีการปูเรื่องมาก่อน แต่ในเรื่องนี้รับได้เพราะปูเรื่องโดยใส่องค์ประกอบฮาร์โมนิกาที่ตัวละคร Harmonica เป่าทั้งเรื่อง


ส่วน Flashforward (บางทีเรียก Prolepsis) คือการเล่าเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นในอนาคต ยกตัวอย่าง เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Terminator 2 : Judgment Day (1991) ตัวละคร ซาราห์ คอนเนอร์ มอง (หรือฝัน) เห็นระเบิดปรมาณูทำลายเมืองทั้งเมือง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้น

ในฉากท้ายของภาพยนตร์เรื่อง The 25th Hour (2002) ตัวละครหลัก มอนตี ต้องเข้าคุก พ่อของมอนตีขับรถพาเขาไปที่คุก แต่ระหว่างทางบอกลูกว่าเขามีทางเลือกโดยหนีไปเริ่มต้นชีวิตใหม่

แล้วพ่อก็ขับรถเขาหนีไปทางทิศตะวันตก ออกห่างจากคุกและเมืองนิวยอร์กไปเรื่อยๆ ผ่านทางหลวง ผ่านทะเลทราย ทั้งสองแวะบาร์แห่งหนึ่ง พ่อลูกดื่มด้วยกันเป็นครั้งสุดท้าย แล้วพ่อก็จากไป มอนตีของานที่บาร์แห่งนั้นทำ รับค่าแรงเป็นเงินสดเพื่อไม่ให้ใครตามมาได้ ผ่านไปอีกหลายปี มอนตีรอแฟนของเขาที่สถานีรถบัส เธอก้าวลงจากรถมาหาเขา ทั้งสองกอดกัน เวลาผ่านไปอีก ภรรยาเขาตั้งครรภ์ มีลูกหลายคน เวลาผ่านไปอีก เขากลายเป็นคนแก่ มีลูกมีหลานเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีความสุข

ฉากที่พ่อของมอนตีขับรถพาเขาหนีไปจนถึงเขาแก่ทั้งหมดนี้เป็นภาพ flashforward แล้วทันใดนั้นหนังก็ตัดกลับมาที่ฉากปัจจุบัน มอนตียังคงอยู่ในรถ พ่อของเขากำลังจะพาเขาไปเข้าคุก ภาพ flashforward ในกรณีนี้ทำหน้าที่เป็นความฝันสวยงามของตัวละครหลัก

ในฉากจบของนวนิยายเรื่อง ฝนตกขึ้นฟ้า ผมก็ใช้ flashforward ชี้ทางเลือกสองทางของตัวละครหลัก ตุล




เทคนิคการเล่าเรื่องแบบ Non-linear ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ Reverse chronology เล่าย้อนลำดับเวลาจากตอนท้ายมาตอนหน้า ตัวอย่างที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งคือภาพยนตร์เรื่อง Memento (2000) ก็คือเรื่องที่เราจะใช้เป็นกรณีศึกษา

ลองมาชำแหละเรื่อง Memento กัน

(คำเตือน : สปอยเลอร์อย่างแรง! ขอแนะนำให้ดูหนังก่อนอ่านเรื่องต่อไปนี้ เป็นหนังที่ไม่น่าพลาดอย่างยิ่ง)

หากเล่าเรื่องนี้แบบ Linear narrative ก็จะได้เรื่องดังต่อไปนี้คือ

เลนเนิร์ด เชลบี ตื่นขึ้นมาในห้องเลขที่ 21 ของโมเต็ลแห่งหนึ่งชื่อ Discount Inn เขาสับสนว่าตัวเองมาทำอะไรอยู่ที่นี่ เขาดูมีมือตัวเอง สักคำว่า “อย่าลืม แซมมี แจงคิส” เขาพูดโทรศัพท์กับใครคนหนึ่ง เขาเล่าเรื่องให้คนปลายสายฟังว่าเขามีปัญหาเรื่องความจำหลังจากเมียถูกฆ่า ปัญหาของเขาคล้ายๆ กับลูกค้าคนหนึ่งของเขาชื่อ แซมมี แจงคิส ตอนนั้นเลนเนิร์ดทำงานที่บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง หน้าที่ของเขาคือตรวจสอบว่าลูกค้าซึ่งมาเคลมเงินประกันพูดจริงหรือไม่

แซมมีประสบอุบัติเหตุ สมองสร้างความจำใหม่ไม่ได้ เลนเนิร์ดสืบสวนแล้วสรุปว่าแซมมีไม่มีปัญหาทางสมอง แต่เป็นปัญหาทางจิต ดังนั้นบริษัทประกันจึงไม่จ่ายเงินให้ ภรรยาแซมมีรับไม่ได้ที่สามีเป็นอย่างนี้ เธอมาหาเลนเนิร์ด ขอให้เขาบอกความจริงเธอตรงๆ เลนเนิร์ดบอกเธอว่าเขาเชื่อจริงๆ ว่าสามีเธอไม่มีปัญหาทางสมอง ภรรยาของแซมมีก็เชื่อว่าสามีอาจแกล้งจำไม่ได้

ข้อมูลของเลนเนิร์ด ณ จุดนี้ที่เขาสักบนตัวคือ คนร้ายที่ฆ่าเมียเขามีชื่อว่า John นามสกุลเริ่มด้วยอักษร G คนปลายสายให้ข้อมูลเพิ่มว่า จอห์น จี. เป็นคนค้ายา เลนเนิร์ดตรวจสอบข้อมูลจากแฟ้มตำรวจที่ว่าคนร้ายเป็นขี้ยา พบว่าข้อมูลตรงกัน เขาจึงสักข้อความบนตัวว่า “คนค้ายา”

เลนเนิร์ดเห็นข้อความสักบนแขนตนเองว่า “อย่ารับโทรศัพท์ใคร” เขาจึงวางหู แล้วแจ้งพนักงานโรงแรมว่าไม่รับสายใคร ไม่นานก็มีคนเสียบซองจดหมายผ่านช่องใต้ประตูเข้ามา ภายในซองมีรูปถ่ายโพลารอยด์ เป็นรูปเขาเองยิ้มแย้ม เลือดเปื้อนตัว

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เลนเนิร์ดรับสาย เขาคุยต่อเพราะลืมไปแล้วว่าไม่ควรรับสายใคร เขาเล่าให้คนปลายสายฟังว่า ภรรยาของแซมมีเป็นโรคเบาหวาน แซมมีต้องฉีดยาอินซูลินให้เธอเป็นประจำ เธอรู้ว่าเขารักเธอมากและจะไม่มีวันทำอันตรายเธอ เธอจึงทดสอบสามี หากสมองของเขาไม่มีปัญหาจริง เขาย่อมไม่ฉีดยาซ้ำในเวลาติดๆ กัน เธอบอกเขาว่า “ถึงเวลาฉีดยาแล้ว” เขาก็ฉีดยาให้เธอ ผ่านไปสักพัก เธอบอกเขาซ้ำว่า “ถึงเวลาฉีดยาแล้ว” เขาก็ฉีดให้อีกโดยไม่ลังเล สีหน้าและแววตาบอกว่าเขาจำไม่ได้ว่าเพิ่งฉีดยาให้ภรรยาเมื่อครู่นี้เอง เธอบอกเขาเป็นครั้งที่สามว่า “ถึงเวลาฉีดยาแล้ว” เขาก็ฉีดให้เธออีก เธอจึงรู้ว่าแซมมีมีปัญหาทางสมองจริง แต่ผลจากยาอินซูลินเกินขนาดทำให้เธอเข้าสู่ภาวะโคม่าและเสียชีวิต แซมมีถูกส่งตัวไปสถานบำบัดทางจิต

คนปลายสายให้ข้อมูลเขาเพิ่มว่า รู้แล้วว่าคนค้ายาชื่อ จิมมี ค้ายาโดยมีแฟนชื่อ นาตาลี ช่วยโดยใช้ Ferdy’s Bar เป็นจุดติดต่อ เขานัดกับคนที่เขาคุยด้วยทางโทรศัพท์ที่ล็อบบี้โรงแรม ที่ล็อบบี้เขาทักคนที่เขานัดว่า “Gammell” แล้วถ่ายรูปไว้เตือนความจำ อีกฝ่ายบอกว่าอย่าใส่ชื่อ Gammel ใช้ชื่อ เท็ดดี้ ดีกว่า เพราะเขาทำงานนอกเครื่องแบบ

เท็ดดี้ให้ข้อมูลจุดที่จิมมีจะไปแก่เขา เป็นตึกร้างนอกเมือง เลนเนิร์ดขับรถกระบะไปถึงที่จุดหมาย เท็ดดี้ขับรถตามไปห่างๆ

เลนเนิร์ดเข้าไปในตึกร้างไม่นานก็เห็นรถจากัวร์คันหนึ่งแล่นมาจอด คนขับเดินเข้ามาในตึก ตะโกนเรียกชื่อ เท็ดดี้ ตามข้อมูลที่เขาได้รับจากเท็ดดี้ ชายคนนี้คือจิมมี คนฆ่าภรรยาของเขา เขาทำร้ายจิมมี สั่งให้ถอดเสื้อผ้าออก จิมมีบอกว่ามีเงินสองแสนในรถเป็นค่ายา เขาฆ่าจิมมี ถ่ายรูปศพ เปลี่ยนชุดกับจิมมี

เท็ดดี้ต้องการเงินสองแสนในรถ จึงเล่าให้เลนเนิร์ดฟังว่า เลนเนิร์ดฆ่า จอห์น จี. มานานแล้ว รูปถ่ายเลนเนิร์ดยิ้มแย้ม เลือดเปื้อนตัว ก็คือรูปของเขาหลังจากฆ่า จอห์น จี. ตาย เป็นรูปที่เท็ดดี้ถ่ายเองเพื่อเป็นหลักฐานว่าเลนเนิร์ดได้แก้แค้นแล้ว แต่เลนเนิร์ดก็ลืม แล้วเริ่มต้นล่าคนร้ายใหม่

เลนเนิร์ดไม่เชื่อสิ่งที่เท็ดดี้บอก เท็ดดี้จึงว่า เมียของเลนเนิร์ดไม่ได้ตายจากการถูกทำร้าย แซมมีตัวจริงไม่มีเมีย คนที่ฉีดยาอินซูลินเกินขนาดฆ่าภรรยาคือเลนเนิร์ดต่างหาก เลนเนิร์ดรู้สึกผิดอย่างรุนแรง จึงสร้างเรื่องแซมมีฉีดยาเมียจนตายขึ้นมา ผสมเข้ากับเรื่องของตัวเอง

เลนเนิร์ดรู้ว่าเท็ดดี้หลอกใช้เขาฆ่าจิมมีเพื่อเงินสองแสน และเขาอาจฆ่า ‘จอห์น จี.’ มาแล้วหลายคน เขาไม่ต้องการรับความจริงว่าเขาเป็นผู้ฆ่าเมียของเขาเอง เลนเนิร์ดจึงทำลายรูปถ่ายเขายิ้มแย้ม เขียนข้อความบนรูปเท็ดดี้ว่า “อย่าเชื่อคำโกหกของมัน” เขาจดหมายเลขทะเบียนรถของเท็ดดี้ เพื่อไปสักบนตัว เพื่อที่เมื่อเขา ‘ตื่น’ อีกครั้ง เขาจะตามล่า ‘จอห์น จี.’ คนใหม่ ซึ่งคราวนี้จะเป็นเท็ดดี้

เลนเนิร์ดขับจากัวร์ออก แวะร้านสัก สักเลขทะเบียนรถของเท็ดดี้ไว้บนขา เท็ดดี้ตามไปที่ร้าน บอกให้เขาเปลี่ยนเสื้อชุดใหม่ เลนเนิร์ดเห็นโน้ต “อย่าเชื่อคำโกหกของมัน” บนรูปเท็ดดี้ จึงหนีออกจากร้านไปทางด้านหลัง เขาพบโน้ตในกระเป๋าเสื้อแจ็คเก็ต (ของจิมมี) เป็นโน้ตนัดกับแฟนจิมมีชื่อ นาตาลี เธอทำงานที่ Ferdy’s Bar เขาคิดว่ามันเป็นโน้ตของเขา จึงไปที่ Ferdy’s Bar

เขาจอดรถที่หลังร้าน นาตาลีเข้าใจผิดว่าเขาเป็นจิมมี จึงเข้ามาทัก เลนเนิร์ดเข้าไปในบาร์ นาตาลีทดสอบว่าเขาจำไม่ได้จริงโดยให้หลายคนในบาร์ถ่มน้ำลายในเบียร์ที่เขาสั่ง ครู่ต่อมาก็ยกเบียร์แก้วนั้นมาเสิร์ฟ เลนเนิร์ดลืมเรื่องการถ่มน้ำลาย จึงดื่มเบียร์แก้วนั้น ทำให้เธอเชื่อว่าเขาจำไม่ได้จริง จึงพาเขาไปที่บ้าน

นาตาลีซ่อนดินสอปากกาทั้งหมดไว้ แล้วเจตนายั่วโทสะเขาจนเขาทำร้ายเธอ เธอผลุนผลันออกจากบ้านไป เขาหาปากกามาจดเหตุการณ์ไม่ได้ ก็ลืมเรื่องทั้งหมด ผ่านไปครู่เดียว นาตาลีซึ่งรออยู่ที่นอกบ้านก็เดินกลับเข้ามา เลนเนิร์ดถามเธอว่าใครทำร้ายเธอ นาตาลีบอกว่าเป็นฝีมือของดอดด์ ดอดด์เป็นคนค้ายาที่ทำงานกับจิมมี กำลังตามหาจิมมี

เลนเนิร์ดสัญญากับนาตาลีจะไปจัดการดอดด์ซึ่งพักอยู่ที่โรงแรม Mountcrest Inn แต่ยังไม่ทันไปถึงก็ลืมแล้ว เพราะเท็ดดี้มาดักพบเขา บอกว่าอย่าไว้ใจนาตาลี แนะนำให้เขาไปพักที่โรงแรมดีกว่า ก็คือ Discount Inn พนักงานโรงแรมรู้ว่าเขามีปัญหาความจำ ก็ฉวยโอกาสเปิดห้องใหม่อีกห้องให้เขา ห้อง 304

เลนเนิร์ดเรียกผู้หญิงบริการมาจำลองเหตุการณ์คืนที่เกิดฆาตกรรม หลังจากนั้นเขาไปเผาข้าวของส่วนตัวของภรรยา ณ สถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่ง ครั้นถึงเช้า รถของเขาถูกดอดด์ตามพบ เขาถูกไล่ยิง กระจกรถด้านหนึ่งแตก แต่หนีมาได้ เขาจึงไปดักรอจัดการดอดด์ที่โรงแรม เขารอนานจนลืมไปแล้วว่ามาทำไม เมื่อดอดด์มาถึง เขาทำร้ายดอดด์และขังไว้ในตู้เสื้อผ้า เขาโทร.เรียกเท็ดดี้ ทั้งสองขู่จนดอดด์ยอมออกจากเมืองไป เท็ดดี้ยังพยายามเอากุญแจรถจากัวร์จากเลนเนิร์ด

เลนเนิร์ดไปหานาตาลีที่บ้าน เธอบอกจะช่วยหาคนร้ายให้เขาโดยหาชื่อคนร้ายจากทะเบียนรถที่สักบนขาของเขา ทั้งสองนัดในร้านอาหาร เขาได้รับข้อมูลเจ้าของรถตามทะเบียนนั้นก็คือ John Edward Gammell ก็คือเท็ดดี้นั่นเอง John Edward Gammell ก็คือ จอห์น จี.

เลนเนิร์ดโทร.เรียกเท็ดดี้ให้มาหา เขาขับพาเท็ดดี้ไปที่ตึกร้างเดียวกับที่เขาฆ่าจิมมี เขาจะยิงเท็ดดี้ เท็ดดี้บอกว่าไปดูศพจิมมีที่ชั้นใต้ดินก็จะรู้ความจริงทั้งหมด แต่เลนเนิร์ดไม่เชื่อ เขายิงเท็ดดี้ตาย

เรื่องจบเท่านี้

จะเห็นว่า คอนเส็ปต์เรื่องน่าสนใจมาก แต่หากเล่าตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเกิดปัญหาใหญ่คือ ไคลแม็กซ์ของเรื่อง (เลนเนิร์ดฆ่า จอห์น จี. แล้ว, เมียเขาเป็นเบาหวาน, เขาเป็นคนฆ่าเมีย) อยู่ตรงช่วงต้นเรื่อง เรื่องที่ผ่านไคลแม็กซ์ไปแล้วก่อนกลางเรื่องจะจืดสนิท การเล่าเรื่องแบบ Non-linear จึงจำเป็น เหตุผลหนึ่งเพื่อให้ไคลแม็กซ์อยู่ท่อนท้ายเรื่อง อีกเหตุผลเพื่อแสดงสภาพจิตที่สับสนของตัวละคร

หนังจริงไม่ได้เล่าอย่างนี้ คริสโตเฟอร์ โนแลน เดินเรื่องแบบ Non-linear แต่ไปไกลกว่านั้นคือให้มันเป็นส่วนผสมของ Reverse chronology กับ Linear narrative คือเล่าจากหลังมาหน้าสลับกับท่อนจากหน้าไปหลัง ส่วนที่เป็น Reverse chronology เล่าด้วยหนังสี (ในที่นี้จะใช้รหัส C- Colour) ส่วนที่เป็น Linear narrative เล่าด้วยหนังขาวดำ (ในที่นี้จะใช้รหัส BW - Black & White) คู่ขนานไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งหนังขาวดำจะกลายเป็นหนังสี เชื่อมทั้งสองท่อนเข้าด้วยกันเนียนสนิท

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ส่วนขาวดำเป็นเหตุการณ์ฉากเดียว แต่ซอยย่อยออกมาเสียบระหว่างส่วนที่เป็นสี

Memento ดำเนินเรื่องไปดังนี้

(ไตเติ้ล) เลนเนิร์ดยิงเท็ดดี้

(BW 1) เลนเนิร์ด เชลบี ตื่นขึ้นมาในโมเต็ลแห่งหนึ่งชื่อ Discount Inn เขาสับสนว่าตัวเองมาทำอะไรอยู่ที่นี่

(C 22) เลนเนิร์ดพบเท็ดดี้ที่ล็อบบี้โมเต็ล เขาบอกเท็ดดี้ว่าเขามีปัญหาเรื่องความจำ ทั้งสองขึ้นรถจากัวร์ เลนเนิร์ดเพิ่งสังเกตว่ากระจกรถด้านคนขับแตก เลนเนิร์ดขับออกนอกเมือง ไปที่ตึกร้างแห่งหนึ่ง มีรถกระบะคันหนึ่งจอดอยู่ เลนเนิร์ดเดินเข้าไปข้างใน ดึงรูปถ่ายโพลารอยด์ออกมา เป็นรูปเท็ดดี้ มีข้อความว่า “อย่าเชื่อคำโกหกของมัน มันคือคนที่ตามหา ฆ่ามัน” เขายิงเท็ดดี้ตาย

(BW 2) เลนเนิร์ดสำรวจห้อง มีข้าวของต่างๆ แต่เขาไม่รู้ว่าเขามาทำอะไรที่นี่ เขาดูมีมือตัวเอง เขียนคำว่า “อย่าลืม แซมมี แจงคิส”

(C 21) เลนเนิร์ดเขียนโน้ตบนรูปถ่ายเท็ดดี้ว่า “อย่าเชื่อคำโกหกของมัน มันคือคนที่ตามหา ฆ่ามัน” เขาเสียบปืนใส่กระเป๋า เดินไปที่ล็อบบี้โมเต็ล เลนเนิร์ดโชว์รูปถ่ายเท็ดดี้ให้พนักงานดู บอกว่าถ้าคนนี้มา ช่วยแจ้งเขาด้วย พนักงานบอกว่า “เขาก็มาแล้วไง” เลนเนิร์ดพบเท็ดดี้ที่ล็อบบี้โมเต็ล

(BW 3) เลนเนิร์ดนึกวิธีเก็บข้อมูลที่ถาวรกว่าการจดโน้ตบนกระดาษ เขาโกนขนที่ขา เตรียมสัก เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น

(C 20) เลนเนิร์ดล้างมือในห้องน้ำ แล้วเดินไปที่ห้องอาหาร พนักงานยื่นซองให้เขา บอกว่าเขาลืมไว้ เลนเนิร์ดถามทางไปถนนลิงคอล์น เขาขับรถจากัวร์ไปที่โมเต็ล Discount Inn เขาเปิดซอง บนซองเขียนว่า “ส่งเลนเนิร์ด จากนาตาลี” ข้างในมีข้อมูลใบขับขี่ของเท็ดดี้ ชื่อจริงคือ John Edward Gammell เขาเขียนข้อความบนรูปเท็ดดี้ว่า “อย่าเชื่อคำโกหกของมัน” เขาโทร. เสียงปลายสายว่า “รอที่นั่น เดี๋ยวไปหา”

เลนเนิร์ดถอดเสื้อ พบว่ามีรอยสักทั่วตัวเขา เป็นข้อความต่างๆ ที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับคนร้าย เช่น ชาย, ผิวขาว, ชื่อต้น John, นามสกุลเริ่มด้วย G เขาดูหมายเลขทะเบียนรถสักไว้ SG137IU ตรงกับข้อมูลในซองที่ได้รับ เขาจึงเขียนต่อจากข้อความเดิมบนโพลารอยด์รูปเท็ดดี้ เป็น “อย่าเชื่อคำโกหกของมัน มันคือคนที่ตามหา” แต่เมื่อเห็นบนหน้าอกตัวเองสักคำว่า “จอห์น จี. ข่มขืนและฆ่าเมียผม” ก็เติมข้อความสุดท้ายว่า “ฆ่ามัน”

(BW 4) เลนเนิร์ดพูดโทรศัพท์ต่อ เขาบอกว่าเขามีระบบ ไม่เหมือนแซมมี

(C 19) เลนเนิร์ดขับรถไปที่ร้านอาหารตามนัดกับนาตาลี โน้ตบนรูปถ่ายเธอบอกว่า “นาตาลี เธอจะช่วยเพราะสงสาร” เขาจำเธอไม่ได้ เธอให้ซองข้อมูลเขา เธอให้ที่อยู่ตึกนอกเมืองเผื่อเขาต้องการฆ่า จอห์น จี. ที่นั่น เธอให้กุญแจห้อง 304 ที่เฃาลืมไว้ เขาเข้าไปล้างมือในห้องน้ำ

(BW 5) เลนเนิร์ดเล่าให้คนปลายสายฟังเกี่ยวกับแซมมี

(C 18) เลนเนิร์ดพบเท็ดดี้ เท็ดดีบอกให้ระวัง อย่าถูกหลอกใช้ไปฆ่าผิดคน เท็ดดี้ถามเขาว่าพักที่ไหน เขาตอบว่า “โรงแรม Discount Inn” คนโรงแรมแกล้งเขาให้พักอีกห้อง เลนเนิร์ดขับรถไปที่ร้านอาหารตามนัดกับนาตาลี

(BW 6) เลนเนิร์ดเล่าเรื่องแซมมีซึ่งเกิดอุบัติเหตุ มาเคลมประกัน เขาเป็นผู้ตรวจสอบ เลนเนิร์ดไม่เชื่อว่าแซมมีมีอาการจำไม่ได้จริง

(C 17) เลนเนิร์ดตื่นในห้องนอน ข้างตัวมีผู้หญิงคนหนึ่ง เขาจำไม่ได้ว่าเธอเป็นใคร เขาพบรูปถ่ายเธอในกระเป๋า เขียนว่า “นาตาลี เธอจะช่วยเพราะสงสาร” เธอนัดเขาที่ร้านอาหาร เพื่อเอาข้อมูลทะเบียนรถ จอห์น จี. ให้ เขาขับรถ พบเท็ดดี้

(BW 7) เลนเนิร์ดเล่าให้อีกคนปลายสายฟังว่า บริษัทประกันทดสอบความจำของแซมมี แต่แซมมีก็ดูเหมือนจะจำอะไรไม่ได้จริงๆ

(C 16) เลนเนิร์ดไปหานาตาลีที่บ้าน โชว์รูปชายบาดเจ็บ ถามว่า “ใครคือดอดด์?” นาตาลีบอกว่าเขารับปากเองว่าจะช่วยจัดการดอดด์ คนที่ทำร้ายเธอ เธอเห็นรอยสักบนตัวเขาว่า จอห์น จี. ข่มขืนฆ่าเมียเขา เธอว่าเธอก็สูญเสียแฟนเช่นกัน เขาชื่อ จิมมี หายตัวไปหลังจากไปพบใครคนหนึ่งชื่อเท็ดดี้ 

เธอถามเขาว่าถ้าเจอ จอห์น จี. จะทำอะไร เขาว่าจะฆ่ามัน เธอบอกเธอจะช่วยหา จอห์น จี. เขาเขียนในรูปเธอว่า “เธอก็เสียใครบางคน เธอจะช่วยเพราะสงสาร” เขานอนหลับข้างๆ เธอ

(BW 8) เลนเนิร์ดเล่าว่าหลังจากบริษัทประกันทดสอบแซมมี ก็สรุปว่าแซมมีไม่มีปัญหาสมองเสื่อม แต่มีปัญหาทางจิต

(C 15) เลนเนิร์ดตื่นขึ้นมาในห้องในโมเต็ล เขาเปิดตู้ พบชายคนหนึ่งปากถูกเทปปิด ปรากฏเสียงเคาะประตู เท็ดดี้มาหา บอกมาตามนัด พบชายในตู้ เขาจำไม่ได้ว่าใครเพระไม่ได้จดไว้ก่อนนอน เปิดเทปปิดปาก ถามว่าคุณเป็นใคร คนนั้นตอบว่า “ดอดด์ ถูกคุณทำร้ายไง” ทั้งสองขู่ให้ดออด์ออกจากเมืองไป เลนเนิร์ดไปหานาตาลีที่บ้าน

(BW 9) เลนเนิร์ดเล่าว่า บริษัทประกันไม่จ่ายค่าเคลมให้แซมมี

(C 14) เลนเนิร์ดอยู่ในห้องน้ำ ใบหน้ามีบาดแผล ดอดด์เข้ามา เขาทำร้ายดอดด์ แม่บ้านมา ขังในตู้ ถ่ายรูป อ่านโน้ตของนาตาลี แล้วเขียนชื่อ ‘ดอดด์’ บนรูป เขาโทร.หาเท็ดดี้ให้มาหา เขาเผลอหลับไป

(BW 10) เลนเนิร์ดวางหู เอาเข็มมาเตรียมสัก

(C 13) เลนเนิร์ดวิ่งหนี ดอดด์ไล่ยิงเขา เลนเนิร์ดขึ้นรถจากัวร์หนีไป ดูโน้ตที่อยู่ของดอดด์ ห้อง 6 โรงแรม Mountcrest Inn เลนเนิร์ดซ่อนในห้องน้ำห้อง 6 ของโมเต็ล เพื่อรอจัดการดอดด์

(BW 11) เลนเนิร์ดเตรียมสักข้อความข้อมูลเกี่ยวกับคนร้ายว่า “เกี่ยวข้องกับยาเสพติด”

(C 12) เลนเนิร์ดเผาหลักฐาน ขับรถ รถตามมา ดอดด์ ปืนจี้เขา ดอดด์ยิงถูกกระจกรถแตก เลนเนิร์ดวิ่งหนี

(BW 12) เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น

(C 11) เลนเนิร์ดขับรถกลางดึกไปสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่ง จุดไฟเผาข้าวของส่วนตัวของภรรยา 

(BW 13) เลนเนิร์ดสักข้อความขณะคุยกับคนปลายสาย เขาเปิดดูหลักฐานตำรวจที่ได้มา รายงานบอกมียาเสพติดในรถของคนร้ายที่จอดนอกบ้านเขา ในวันที่เมียถูกฆ่า

(C 10) เลนเนิร์ดตื่นกลางดึก เปิดประตูห้องน้ำ พบหญิงสาวคนหนึ่ง เป็นคอลล์เกิร์ล เขาบอกให้เธอไป เขาขนของส่วนตัวเมีย ขับรถออกไปกลางดึก

(BW 14) คนปลายสายบอกเลนเนิร์ดว่า จอห์น จี. เป็นคนค้ายา เลนเนิร์ดจึงแก้ข้อความที่กำลังจะสักเป็น “คนค้ายา”

(C 9) เลนเนิร์ดไปที่ Discount Inn ถ่ายรูปไว้กันลืม เขาติดแผนผังตารางการสืบสวนกรณีเมียถูกฆ่าบนกำแพง เปิดสมุดโทรศัพท์ หาสาวเอสคอร์ท เขาให้เธอทำตัวเหมือนเป็นภรรยาของเขา โดยมีข้าวของส่วนตัวภรรยาประกอบ เขาหลับไป

(BW 15) เลนเนิร์ดเล่าว่าเมียแซมมีมาหา เขาบอกเมียแซมมีว่า เขาเชื่อว่าแซมมีไม่ได้สูญเสียความสามารถที่จะจำ

(C 8) เลนเนิร์ดเข้าไปในรถ พบเท็ดดี้ บอกเขาว่านาตาลีทำงานที่ Ferdy’s Bar แฟนเป็นคนค้ายา เลนเนิร์ดไปที่ Discount Inn

(BW 16) เลนเนิร์ดพูดกับปลายสายแล้ววางหู เพราะเห็นข้อความบนแขนว่า “อย่ารับโทรศัพท์ใคร”

(C 7) เลนเนิร์ดอยู่ในบ้านนาตาลี เธอกลับมาในสภาพถูกทำร้าย เขาถามว่าใคร เธอตอบว่าดอดด์ เพราะบอกตามคำแนะนำของเขาว่า ไม่มีเงินของจิมมีและยา เท็ดดี้เอาทุกอย่างไป เขาถามลักษณะหน้าตาของดอดด์และที่อยู่ เป็นห้องพักหมายเลข 6 โรงแรม Mountcrest Inn เลนเนิร์ดเข้าไปในรถ พบเท็ดดี้

(BW 17) เลนเนิร์ดบอกพนักงานโรงแรมว่าไม่รับสายใคร

(C 6) เลนเนิร์ดอยู่บ้านนาตาลี เธอกลับมา บอกว่าดอดด์ต้องการเงินจิมมี จิมมีพบเท็ดดี้ และเอาเงินไป เธอขอให้เลนเนิร์ดช่วยฆ่าดอดด์ เขาไม่ตกลง เธอยั่วโทสะเขาเกี่ยวกับเมียเขา เขาทำร้ายเธอ เธอออกจากบ้านไป สักพักใหญ่กลับมา บอกว่าเธอถูกดอดด์ทำร้าย

(BW 18) พนักงานโรงแรมมาบอกเลนเนิร์ดว่าตำรวจมาหา

(C 5) นาตาลีพาเลนเนิร์ดไปที่บ้านเธอ นาตาลีว่าจะช่วยเขาหา จอห์น จี.  เขาถ่ายรูปเธอ เขาเขียนชื่อเธอบนรูป

(BW 19) มีคนยัดซองจดหมายเสียบลอดช่องใต้ประตูเข้ามา ในซองมีรูปของเขาเองยิ้มแย้ม เลือดเปื้อนตัว เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น

(C 4) ที่ Ferdy’s Bar นาตาลีเสิร์ฟเบียร์ให้เลนเนิร์ด 

(BW 20) เลนเนิร์ดรับสาย เขาเชื่อว่าคนที่เขาคุยด้วยเป็นตำรวจ

(C 3) เลนเนิร์ดไปที่ Ferdy’s Bar นาตาลีถามว่ามาทำไม เธอบอกว่าแฟนเธอชื่อจิมมีบอกเรื่องเกี่ยวกับเขา เธอถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับจิมมี เขาบอกว่าไม่รู้ เขามาที่บาร์เพราะมีโน้ตในกระเป๋าเสื้อนอกของเขา เธอไปเอาเบียร์ ให้ลูกค้าคนหนึ่งถ่มน้ำลายลงไป เธอให้เขาถ่มด้วย ผ่านไปสักพัก เธอเอาเบียร์แก้วนั้นมาเสิร์ฟเขา

(BW 21) เลนเนิร์ดเล่าให้อีกคนฟังว่า เมียแซมมีเป็นเบาหวาน ต้องฉีดยาอินซูลินเรื่อยๆ เธอทดสอบแซมมี ให้ฉีดอินซูลินสามครั้งจนเข้าขั้นโคม่า แล้วตายไป แซมมีถูกพาไปที่สถานบำบัดทางจิต เลนเนิร์ดจึงรู้ว่าแซมมีมีปัญหาทางสมองจริง คนปลายสายให้ข้อมูลว่าคนค้ายาชื่อ จิมมี

(C 2) เลนเนิร์ดขับจากัวร์ไปจอดที่ร้านสัก สักหมายเลขทะเบียนรถ เท็ดดี้มาหา บอกว่าตำรวจกำลังตามหาเขา เป็นตำรวจไม่ดี คนที่ให้เขาไปเช็กอินที่ Discount Inn ก็คือตำรวจที่เขาคุยทางโทรศัพท์มาตลอด เลนเนิร์ดถามรู้ได้ไง เท็ดดี้ว่า ก็เพราะตำรวจคนนั้นบอกเขา เพราะคิดว่าสนุกดี! เลนเนิร์ดไม่เชื่อเพราะข้อความในรูปถ่ายเท็ดดี้ว่า “อย่าเชื่อคำโกหกของมัน” เขาหยิบโน้ตจากกระเป๋าเสื้อนอก บอกให้ไปหานาตาลีที่หลังบาร์ เขาจอดรถ ผู้หญิงคนหนึ่งมาหา ทักเขาว่าจิมมี 

(BW 22 / C 1) คนที่เขาคุยด้วยทางโทรศัพท์บอกว่าจิมมีค้ายาโดยมีผู้หญิงที่ Ferdy’s Bar ช่วย ชื่อนาตาลี เขานัดกับคนที่เขาคุยที่เขาเชื่อว่าเป็นตำรวจที่ล็อบบี้โรงแรม เขาเก็บของทุกอย่างไปที่ล็อบบี้ พบเท็ดดี้ เขาทักเท็ดดี้ว่า Gammell เขาถ่ายรูปเท็ดดี้ เท็ดดี้บอกอย่าใส่ชื่อ Gammel ใส่เท็ดดี้ก็พอ เพราะเขาทำงานนอกเครื่องแบบ เท็ดดี้ให้ที่อยู่ของจิมมีแก่เขา

เขาขับรถกระบะไปที่จุดหมาย เข้าไปในตึกร้าง เห็นรถจากัวร์คันหนึ่งแล่นมาจอด ชายคนขับเรียกชื่อ เท็ดดี้ ชายคนนั้นคือจิมมี เขาทำร้ายจิมมี สั่งให้ถอดเสื้อผ้าออก เขาเปลี่ยนชุดกับจิมมี จิมมีบอกว่ามีเงินสองแสนในรถ เขาฆ่าจิมมี ถ่ายรูปศพ

(ถึงตรงนี้ภาพเปลี่ยนจากขาวดำเป็นสี เป็นจุดเชื่อมของสองเรื่องคู่ขนาน BW 22 เปลี่ยนเป็น C 1 เรื่องดำเนินต่อไปในฉากสี)

ก่อนจิมมีตาย เอ่ยชื่อว่า “แซมมี” ทันใดนั้นเขาได้คิดว่าจิมมีรู้จักแซมมีได้อย่างไร เขาเห็นรถอีกคันมาจอด เท็ดดี้ลงมา เขาเรียกเท็ดดี้ไปดูศพ เลนเนิร์ดว่าเขาฆ่าผิดคน เท็ดดี้ว่า “ฆ่าถูกคนแล้ว คนนี้ก็คือ จอห์น จี.” เขาบอกว่า “งั้นเงินสองแสนในรถมีไว้ทำไม” เท็ดดี้ว่า “เอาไว้แลกกับยา” เลนเนิร์ดถามว่า “จิมมีรู้จักแซมมีได้ยังไง?” เท็ดดี้ตอบว่า “ก็คุณบอกใครๆ เรื่องแซมมี”

เท็ดดี้บอกว่าเลนเนิร์ดก็คือแซมมี! เขาหลอกตัวเองมาตลอด ความจริงคือเมียเลนเนิร์ดรอดตายจากการถูกทำร้าย เมียของเลนเนิร์ดเป็นเบาหวาน แซมมีตัวจริงไม่มีเมีย เท็ดดี้ว่าเขาเป็นตำรวจในคดีนี้ เขาเชื่อเลนเนิร์ดและช่วยหาคนร้ายจริง และเลนเนิร์ดก็ฆ่าคนร้ายตัวจริงไปแล้ว เท็ดดี้ว่าเขาเป็นถ่ายรูปเลนเนิร์ดยิ้มแย้มหลังฆ่าคนร้าย แต่เลนเนิร์ดจำไม่ได้ จึงต้องหาคนร้ายอีกรอบ

เท็ดดี้ว่ามีคนชื่อ จอห์น จี. มากมายทั่วประเทศ เขาเองชื่อ John Edward Gammell เป็น ‘จอห์น จี.’ เหมือนกัน

เลนเนิร์ดไม่ต้องการจำสิ่งที่เท็ดดี้เพิ่งบอกเขา เขาต้องการลืมสิ่งที่เท็ดดี้หลอกให้เขาทำ เขาจึงเขียนหลังรูปเท็ดดี้ “อย่าเชื่อคำโกหกของมัน” เขาเผารูปถ่ายศพจิมมี เขาเขียนโน้ตให้ตัวเองไปสักเลขป้ายทะเบียนรถของเท็ดดี้บนตัว เพราะเขาต้องการให้เท็ดดี้คือ จอห์น จี. คนต่อไป เขาขับรถจากัวร์ของจิมมีไป เขาจอดหน้าร้านสัก

หนังจบตรงนี้

เป็นการจบที่ชาญฉลาด ทำให้ไคลแม็กซ์ไปอยู่ที่ท้ายเรื่องได้ การจบเป็นการเริ่มกระบวนการล่า ‘จอห์น จี.’ อีกรอบ การเล่าเรื่องย้อนไปมาก็สะท้อนสภาพจิตสับสนของตัวละครหลัก

จะเห็นว่า วิธีการเล่าเรื่องจึงสำคัญไม่แพ้ตัวเรื่อง เรื่องเดียวกันแท้ๆ ตัวละครชุดเดียวกัน ฉากเดียวกัน เพียงจัด sequence ต่างกัน ก็ได้ผลลัพธ์ต่างกัน ในเรื่องนี้เรื่องเพิ่มความน่าสนใจและชวนคิดมากเพราะการจัด sequence แท้ๆ เรื่องนี้จัดว่าเป็นหนังแนวทดลองที่ลงตัว Form fuses with function

ในเรื่องสั้น โลกีย-นิพพาน ผมเล่าเรื่องสองเรื่องคู่ขนานเช่นกัน ทั้งสองเรื่องใช้ตัวละครหลักคนเดียวกัน คนละเวลา หากเล่าแบบ Linear narrative เรื่องก็คงธรรมดา แต่เพียงจัด sequence ใหม่ ให้เรื่องเดินคู่ขนานไป เรื่องก็น่าสนใจขึ้นกว่าเดิมทันที

ในเรื่องสั้น เกม ใช้สามเรื่องสามเหตุการณ์ ตัวละครคนเดียวกัน เดินเรื่องสลับกันไป ก็คือใช้การจัด sequence ช่วย

ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ตอน 2483/2488 เล่าสองเรื่องสลับกันไป สองเหตุการณ์ ตัวละครคนเดียวกัน

เช่นกัน ในนวนิยาย โลกใบที่สองของโม จัดเรื่องสองสาย ขนานกันไป เรื่องหนึ่งเป็นนิยายภาพ อีกเรื่องหนึ่งเป็นตัวหนังสือ




อย่างไรก็ตาม ในโลกของนิยาย ไม่ได้มีแค่การเล่าเรื่องแบบหน้าไปหลัง และหลังไปหน้าเท่านั้น ยังมีการเล่าเรื่องแบบที่เดินไปข้างหน้าแล้วปรากฏที่จุดเริ่มต้น มักพบในนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น ธีมการเดินทางข้ามเวลา โครงเรื่องแบบนี้เดินเรื่องเป็นวง (loop) เรื่องเดินเรื่องจากจุด ก. แล้วดำเนินไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็กลับมาที่จุด ก. อีกครั้ง แต่ระวัง! นี่ไม่ใช่เทคนิคของการเล่าเรื่อง มันเป็นโครงสร้างของเรื่อง

เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่มีโครงเรื่องเดินเป็นวงที่เป็นที่รู้จักกันดีเรื่องหนึ่งชื่อ -All You Zombies- (1959) ของ รอเบิร์ต ไฮน์ไลน์

เรื่องเริ่มต้นที่บาร์แห่งหนึ่งในปี 1970 ชายขี้เมาคนหนึ่งเล่าให้บาร์เทนเดอร์ฟังว่า เขาเป็นนักเขียนที่รู้เรื่องผู้หญิงดี ทั้งนี้เพราะเขาเคยเป็นผู้หญิงมาก่อน

เขาเกิดเป็นทารกหญิง ถูกทิ้งไว้หน้าสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในปี 1945 คนเลี้ยงตั้งชื่อเขาว่า เจน เจนโตเป็นสาว ในปี 1963 คบกับชายคนหนึ่งซึ่งทำให้เธอตั้งท้อง แล้วเขาก็หายตัวไป ระหว่างการผ่าตัดทำคลอด หมอพบว่าเจนเป็นทั้งหญิงและชายในตัวคนเดียว เพื่อช่วยชีวิตเจน หมอจำเป็นต้องเปลี่ยนให้เธอเป็นผู้ชาย ในตอนนั้นทารกหญิงของเจนก็ถูกลักพาไปจากโรงพยาบาล เจนซึ่งเป็นผู้ชายก็ดำเนินชีวิตต่อไป กลายเป็นนักเขียน

บาร์เทนเดอร์เสนอตัวช่วยเจนแก้แค้นชายที่ทอดทิ้งเขาคนนั้น เจนกับบาร์เทนเดอร์เดินทางด้วยยานเวลาที่อยู่หลังร้าน เจนกลับไปในอดีตปี 1963 เจนในสภาพผู้ชายพบหญิงสาวคนหนึ่ง ทำให้เธอตั้งครรภ์ ส่วนบาร์เทนเดอร์เดินทางต่อไปอีกเก้าเดือน ไปลักพาทารกหญิงที่เพิ่งเกิดจากโรงพยาบาล แล้วเดินทางด้วยยานเวลาทิ้งทารกหญิงไว้หน้าสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่คลีฟแลนด์ในปี 1945 หลังจากนั้นบาร์เทนเดอร์ก็เดินทางกลับมาในปี 1963 รับตัวเจน (ในสภาพผู้ชาย) ไปในปี 1985 ให้เจนเข้าทำงานที่หน่วยงานเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลา หลังจากนั้นบาร์เทนเดอร์ก็เดินทางกลับมาที่บาร์ในปี 1970 ไม่กี่นาทีหลังจากเขาหายไปหลังร้าน

พอบาร์ปิด บาร์เทนเดอร์ก็เดินทางกลับเวลาจริงของเขา คือปี 1993 เขาก็คือเจนผู้ไปทำงานที่หน่วยเดินทางข้ามเวลา ที่ท้องของเขามีรอยแผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัดทำคลอดเมื่อครั้งที่เขาเป็นหญิงสาวนาม เจน!

เรื่องเดินเป็นวงอย่างนี้ไม่สิ้นสุด เพราะตัวละครทุกคนในเรื่องนี้คือคนคนเดียวกัน

ในเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์สี่เรื่องที่ผมเขียน คือ เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว, จรูญจรัสรัศมีพราว พร่างพร้อย, ยามดึกนึกหนาวหนาว เขนยแนบ แอบเอย และ เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อย เยือกฟ้าพาหนาว เริ่มเรื่องจากการผจญภัยของสุนทรภู่แห่งบางกอกไปจนถึงสุนทรภู่ที่ท่องจักรวาล เมื่อจักรวาลสิ้นสุดและกำเนิดใหม่ กาลก็เดินหน้าไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้งในตอนจบ

จะว่าไปแล้ว เทคนิคการเล่าเรื่องก็ไม่ได้มีมากมายอะไร หลักๆ คือ Linear narrative, Non-linear narrative แต่เพียงแค่นี้ เมื่อผสมกับเทคนิคการเล่าเรื่องอื่นๆ ก็สามารถแตกหน่อเป็นการเล่าแบบต่างๆ ได้อีกมากมาย  

จะเห็นว่าวิธีการเล่าแต่ละแบบเหมาะสมกับนิยายแต่ละเรื่อง ขึ้นกับการออกแบบเรื่องว่าวิธีไหนให้พลังมากที่สุด จะเขียนเรื่องที่สนุกและจับคนอ่านอยู่ นักเขียนต้องรู้ว่าควรเริ่มเล่าตรงไหน เริ่มด้วยองค์ประกอบอะไร เมื่อไรควรเปลี่ยนฉาก สลับฉาก ควรจบด้วยฉากใด ฯลฯ

Flashback, Flashforward, In medias res เหล่านี้ก็เป็นแค่ศัพท์แสง ไม่ต้องท่องจำ หากนักเขียนเข้าใจเรื่องทะลุแล้ว ก็แค่ทดลองจัดลำดับเรื่องดูว่าเริ่มด้วยท่อนไหนสนุกกว่า จบด้วยท่อนไหนให้พลังมากกว่า ทดลองเรียงทั้งแบบลำดับเวลาและแบบไม่ลำดับเวลา แบบไหนทำให้เรื่องแรงกว่า ก็เล่าด้วยวิธีนั้น การจัด sequence ช่วยปรับปรุงคุณภาพของเรื่องได้ก็จริง แต่ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องก็ต้องมีพล็อตที่ดีและสารความคิดที่น่าสนใจ จึงจะไปรอด



วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

26 กรกฎาคม 2557
ส่งต่อให้เพื่อน :  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น