เรื่อง: โอ๋ อิ่มเอม และ ภควดี / ตีพิมพ์ในนิตยสาร M Society ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2554

ป็นเวลาเนิ่นนานพอดู สำหรับผู้หญิงมากความสามารถ อย่างคุณอุ้ม หรือ “สิริยากร พุกกะเวส” ที่ห่างหายไปจากวงการบันเทิง พร้อมกับการเลือกก้าวไปตามแรงบันดาลใจที่แสวงหาความสุขแบบพอดีจนกลายเป็นความหมายสำคัญให้กับชีวิต ซึ่งเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความรู้สึกนึกคิดของเธอก็ได้เข้ามาปลุกความคิดของผู้คนมากมายให้ตื่นอีกครั้ง ผ่านรายการเรียลลิตี้เชิงสารคดีที่มีชื่อตรงกับเสียงเรียกร้องภายในใจว่า “ฉันจะเป็นชาวนา” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจในวิถีชีวิตอันเรียบง่าย โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับวัตถุนิยมตามโลกกระแสหลัก และยึดมั่นบนความเชื่อของความพอดี
วันนี้ของ สิริยากร พุกกะเวส จึงเปี่ยมไปด้วยความพยายามในการเรียนรู้และทำความเข้าใจในวิถีเกษตรกรรมอย่างตั้งใจ แต่ก็เป็นไปในแบบฉบับที่เธอเป็น ซึ่งเธอเชื่อว่า แม้ความหมายหรือความเข้าใจของคนเราจะต่างกัน แต่ก็ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติเดียวกัน เพราะการทำนาไม่ได้เป็นเพียงแค่การปลูกข้าว แต่คือการเรียนรู้ที่จะศึกษาเข้าไปในใจตัวเอง และรายการ “ฉันจะเป็นชาวนา” ยังเป็นเหมือนสิ่งที่เชื่อมโยงบริบทระหว่างเมืองกับต่างจังหวัด ระหว่างคนรุ่นเก่าซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม กับคนรุ่นปัจจุบันที่มีความเชื่อต่อความรู้สมัยใหม่ จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ไม่แบ่งแยกหรือขาดจากกัน อันเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจสำหรับสิ่งที่เธอกำลังสื่อสาร

โดยคุณอุ้มได้เอ่ยถึงแรงบันดาลใจของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้พร้อมใบหน้าที่แฝงด้วยรอยยิ้มว่า

 “อยากทำนา… ปลูกข้าวกิน (เสียงหนักแน่นชัดเจน) คิดมาตั้งนานแล้ว คิดมาหลายปีเลย แต่ก็ไม่ได้ทำสักที และก็เป็นเหมือนคนเมืองทั่วไป ที่ปลูกต้นไม้ตาย ซื้อต้นไม้กระถางมาปลูกก็ตาย  แล้วก็เชื่อมาตลอดว่าตัวเองเป็นคนที่มือร้อน  ปลูกต้นไม้ไม่ได้  จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของความเชื่อ เหมือนกับที่ผ่านมาเราเชื่อมาตลอด

แล้วพอลองนิดลองหน่อยก็จะท้อก่อน บอกตัวเองว่าเราทำไม่ได้หรอก อุ้มเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะไม่ได้มีแรงผลักดันมากที่จะทำ คือแค่ลองทำดู แต่พอมันไม่ค่อยเวิร์ค เราก็ไม่พยายามต่อ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ได้สำเร็จได้ด้วยครั้งแรกเสมอไป พอคนคิดแบบนี้ก็เลยไม่พยายามที่จะปลูกต้นไม้

แต่ว่าประมาณปีที่แล้ว ได้ไปอยู่ พอร์ตแลนด์ ที่โอเรกอน ก็ไปอยู่มานานเหมือนกัน และความคิดที่จะปลูกอาหารกินเอง มันบานสะพรั่ง คือมันโตมาก คนที่เมืองนั้นเป็นผู้คนที่เชื่อในเรื่องนี้มาก แล้วก็ย้ายมาจากเมืองใหญ่ เพื่อมาอยู่พอร์ตแลนด์ แล้วก็เริ่มต้นปลูกผักเป็นอาหารกินเอง เพราะเดินไปที่ไหนในเมืองนี้ก็จะมีแต่ผักผลไม้ทุกบ้าน บางคนปลูกข้าวสาลีหลังบ้าน เลี้ยงไก่เลี้ยงแพะ เป็น urban homestead เป็นฟาร์มในบริบทของเมือง

เพราะฉะนั้น เราก็จะได้อิทธิพลจากตรงนั้นมาเยอะ เลยทำให้ลองปลูกผัก ปลูกเสร็จแล้วเยอะมากจนกินไม่ทัน เกิดความภูมิใจว่าเราทำได้ ทั้งที่เป็นสองมือเดียวกันที่เคยปลูกต้นไม้ตายนี่ล่ะ มันเลยเป็นกำลังใจให้กับตัวเรา พอกลับมาเมืองไทยเมื่อปลายปีที่แล้วก็มานั่งคิดว่าเราจะทำอะไรดี คือว่าอยู่ที่โน่นเราปลูกผัก แต่เราอยากได้อะไรที่มันยิ่งกว่านั้น ผักมันเหมือนเป็นขั้นทดลองว่าฉันทำได้แล้ว

กลับมามืองไทย ความคิดที่เคยอยากปลูกข้าว มันจึงผุดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จำได้ว่าตอนก่อนกลับจากที่โน่นยังไม่รู้เลยว่าจะทำอะไร นิตยสารเล่มหนึ่งเคยสัมภาษณ์ถามว่า ถ้ากลับมาเมืองไทยจะทำอะไร ตอนนั้นก็ตอบไม่ได้ รู้แต่เพียงว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างแล้ว เพราะเราอยู่ในประเทศไทย เป็นที่ที่ปลูกข้าวที่ดีแห่งแรกๆ ของโลก และด้วยความที่เราเป็นคนไทยกินข้าวมาตั้งแต่เกิด ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ข้าวก็ยังอยู่ในเลือดในจิตวิญญาณของคนไทย ก็เลยคิดขึ้นมาว่าอยากปลูกข้าว จะทำยังไงดี ก็เลยต้องหาความรู้ อุ้มเชื่อว่ามันไม่ยากถ้าเราอยากจะทำ ความรู้มีอยู่ทั่วไป ความพยายามอยู่ที่เรา และตอนนั้นด้วยความที่เป็นสื่อมวลชน และทำรายการทีวีอยู่แล้ว อย่ารู้คนเดียวสิ อย่ารอดคนเดียว ทำให้คนเค้าได้เรียนรู้ไปด้วยกันกับเรา เพราะมันต้องมีคนจำนวนมากที่คิดเหมือนเรา คนเมืองไม่อยากใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่อยากอยู่ในสภาพแบบนี้  แต่ไม่รู้จะทำยังไง ไม่รู้จะออกไปไหน ไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงตัวเองยังไง ให้อยู่ต่างจังหวัดให้ทำอะไร ไปจะรอดมั้ย คือมันมีคำถามสารพัด โดยทั้งหมดล้วนมาจากความกลัว ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ปิดกั้นเราไม่ให้ทำอะไร  เรากลัวล้มเหลว กลัวรับไม่ได้ กลัวเจ็บ กลัวไม่มีกิน กลัวเงินหมด กลัวอะไรก็ตามที่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราจึงขังตัวเองอยู่แต่ในกรอบเดิมๆ อุ้มใช้ชีวิตแบบนี้มาเยอะ พอคิดได้อย่างงั้น ก็อยากทำนา แล้วก็นั่งคิดอยู่ว่าถ้ามันเกิดสิ่งที่เลวร้ายที่สุดจะเป็นยังไง ไม่ได้ข้าวกิน ตัวดำหน้าเป็นฝ้า ไม่รู้สิ แต่อย่างน้อยก็ไม่มีใครตายจากการทำนาหรอก”


เข้าใจถึงวิถีเกษตรกรรมมากน้อยแค่ไหน

อุ้มไม่รู้ว่าวิถีเกษตรกรรมทั้งหมดคืออะไร แต่อุ้มเข้าใจว่านี้คือวิถีเกษตรกรในแบบที่เราอยากเป็น เกษตรกรมีเยอะแยะ เกษตรกรที่ทำแล้วทุกข์ก็เยอะ ทำแล้วมีความสุขก็เยอะ แต่อุ้มก็ไม่ได้เป็นเกษตรกรแบบไหนเลยยกเว้นเป็นแบบที่อุ้มเป็น อุ้มว่าทุกคนต้องหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง อยากปลูกต้นอะไร อยากปลูกข้าวพันธุ์อะไร วิธีไหน

คืออุ้มเชื่อว่า ณ ตอนนี้ ส่วนใหญ่ชาวนาไทยใช้วิธีทำนาหว่าน แต่อุ้มก็ยังขึงเชือกดำนาอยู่ คือทั้งแถวท่าเสด็จทั้งตำบลนั้นจะไม่มีใครมาขึงเชือกดำนากันแล้วนอกจากที่มูลนิธิข้าวขวัญซึ่งอุ้มไปเป็นนักเรียนชาวนา อุ้มก็ทดลองแล้วอุ้มก็รู้สึกว่าวิธีนี้ได้ผล แล้วข้าวก็อร่อยดี แตกกอดี ไม่มีแมลงรบกวน ถ้าที่มันเยอะกว่านี้ก็อาจจะต้องหาวิธีให้มันเหมาะสม แล้วก็อยากปลูกอะไรก็ปลูก ผักเราไม่สามารถปลูกได้ตอนนี้ เพราะเราไม่มีเวลาไปดู คือผักมันต้องดูแลเยอะ เพราะฉะนั้น ก็จะลงต้นไม้ที่มันกินใบได้ เช่น ต้นมันปู ผักเสม็ด ต้นแค ใบยอ มะรุม คือผักที่ยืนต้นและเด็ดยอดกิน  มันก็จะเหมาะ อุ้มว่าก่อนที่เราคิดจะทำอะไรบนโลกนี้ คุณต้องฝันเป็นก่อน คุณต้องมีฝันที่เป็นของตัวเอง และภาพที่จะเป็นก่อน แล้วเดี๋ยววิธีการจะตามมา คืออุ้มฝันว่าอุ้มจะเป็นเกษตรกรที่มีความสุข และดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเอง หลังจากนั้นมันสนุกหมดเลย อย่างเช่นนกกินข้าวไปครึ่งนา เราก็ยังมีความสุข คือเราต้องเรียนรู้ไป เพราะปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา ต้องเรียนรู้กับปัญหา อุ้มคิดว่าจริงๆ แล้วชีวิตต้องมีปัญหา ถ้าคุณอยู่สบายๆ ไปเรื่อยๆ มันไม่ดีหรอก เพราะคุณจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

วิถีชีวิตพอเพียงในแบบอุ้ม

อุ้มว่าความพอเพียงสำหรับแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วก็อาจจะเป็นคำที่เดี๋ยวนี้คนเอามาใช้กันจนแทบจะไม่รู้ว่าความหมายมันคืออะไรด้วยซ้ำ อุ้มทำเท่าที่จำเป็น อันไหนต้องจ้างต้องซื้อก็ต้องทำไม่ได้จำกัดจำเขี่ย ช่วงแรกอาจจะต้องซื้อเยอะหน่อยเพราะว่าเพิ่งเริ่ม และแรงกับความรู้ยังไม่ค่อยมี แต่สุดท้ายถ้าคุณทำตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ค่อยๆ เรียนรู้ไป มันก็จะพอดีเอง จะเรียกว่าเป็น “เศรษฐกิจพอดี” ด้วยก็คงจะได้มังคะ อย่างที่อุ้มทำนา ข้าวออกรวงก็เอามากิน มาแจก แต่ทำยังไงก็ไม่หมด นาใหม่ก็ออกรวงอีกแล้ว อันเก่าก็ยังไม่หมดเลย ก็เลยเอาไปขาย คือมันมีกำไรมาเองและก็ไม่ปฏิเสธด้วย ไม่ใช่ว่าฉันจะอุดมคติ เพราะพอมันเหลือเยอะก็เอาไปขาย เราจะได้รู้ว่าระบบการขายข้าวมันเป็นยังไง ตอนนี้ผลิตภัณฑ์มีขายอยู่ที่ lemon farm ราคาก็ไม่ได้อ้างอิงอะไรใครเลยก็คิดจากราคาที่เราพึงพอใจ มีข้าวไป 100 กิโลกรัม ขายโลละ 85 บาท สองวันขายหมด ได้เป็นต้นทุนค่าทำนาใหม่ ซึ่งลงทุนไม่ถึง 5,000 บาท ที่เหลืออุ้มก็เอาไปซื้อต้นไม้มาลง ทำรั้วบ้าน ก็ยิ่งทำให้ที่นามันมีประสิทธิภาพและอยู่ได้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น มันต่อยอดไปไม่สิ้นสุด

เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่กำลังทำอยู่

มหาศาลมาก เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องเรียนรู้ในการทำนาแน่ๆ อยู่แล้ว แต่นอกเหนือจากนั้นคือเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง คุณระพี  สาคริก  คุณมาซาโนบุ  ฟูกูโอกะ คือคนสำคัญทั้งสองท่านที่ทำให้อุ้มอยากทำนา ทั้งคู่ก็พูดตรงกันว่า จริงๆ แล้ว การทำนามันไม่ได้แค่การปลูกข้าวหรอก แต่มันคือการเรียนรู้ที่จะศึกษาเข้าไปในใจตัวเอง แล้วคุณฟูกูโอกะก็มีประโยคที่สำคัญมากเลยที่พูดไว้ในหนังสือ The One-Straw Revolution ว่าจริงๆ แล้วการทำเกษตรกรรม ไม่ใช่แค่การเพาะปลูก แต่เป็นการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ มันยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ทุกวันนี้ได้ลงมือทำเอง ก็เข้าใจแล้วว่ามันคืออะไร อ.ระพี ท่านก็พูดไว้ การทำการเกษตรคือการศึกษาเข้าไปในใจตนเอง จากงานและความลำบาก คือเราต้องเรียนรู้ที่จะลำบาก คนเราชอบที่จะสบาย อยากจะสบาย แต่จริงๆ แล้วเราควรจะลำบาก ถ้าเราเปลี่ยนตัวเอง เราจะค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลง อุ้มนึกเสมอเลยว่าถ้าเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลก จงลงมือทำและเป็นความเปลี่ยนแปลงนั้น เราอย่าเพิ่งไปบอกคนอื่นหรือเปลี่ยนแปลงโลกโดยที่ตัวเรายังไม่เปลี่ยน ต้องเรียนรู้โดยประสบการณ์ตรงก่อน ความเปลี่ยนแปลงมันจึงจะตามมาเอง

ก้าวต่อไปของวันข้างหน้า

ก็ต้องกลับไปดูนา เพราะข้าวกำลังจะออกรวงอีกรอบ แล้วก็ต้องเตรียมพันธุ์ข้าวที่จะมาลงใหม่ เพราะนาหน้าจะลองปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองของสุพรรณบุรี มันก็มีอะไรให้ทำได้เรื่อยๆ เพราะพอทำสิ่งนี้แล้วก็อยากที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นไปอีก ไม่อยากทำอะไรกลับไปกลับมา เพราะชีวิตคนเราสั้นเกินกว่าที่จะทำอะไรเล่นๆ หรือลองโน่นลองนี่ไปเรื่อยโดยที่ไม่จริงจังกับอะไรสักอย่าง

สังคมที่น่าอยู่ในความรู้สึกของอุ้ม

คือสังคมที่มีความปรารถนาดีต่อกัน ยอมรับซึ่งกันและกัน ส่งเสริมกัน มีแต่ goodwill มีเมตตา ถ้าเป็นสังคมที่มีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะดีมาก จิตที่มีเมตตามันเป็นสิ่งที่ดี แล้วความเมตตามันก็จะขยายตัวยิ่งๆ ขึ้นไป ฝึกการอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่กระทบกระทั่งหรือทำลายล้างกัน รักและให้อภัย คิดแต่จะทำอย่างไรให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เท่านี้สังคมเราก็น่าอยู่แล้ว