จาก : ผู้จัดการออนไลน์
โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
สำหรับแฟนภาพยนตร์ คงได้รับทราบการประกาศผลรางวัลออสการ์ไปเมื่อต้นสัปดาห์ ตรงความคาดหมายบ้าง ไม่ตรงบ้าง มันก็เป็นเรื่องของรางวัลและคณะกรรมการ นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงรสนิยมและอุดมการณ์ที่แฝงฝังมาพร้อมกับการมอบรางวัล มันก็ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ออสการ์นั้น โดยเนื้อแท้ก็คืออเมริกันชาตินิยม ทุกๆ ปี ออสการ์จึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่เพียงคัดสรรภาพยนตร์มีคุณภาพเพื่อบอกต่อคนทั้งโลก หากแต่ยังส่งออกวิธีคิดและจิตวิญญาณแบบอเมริกันสู่นานาชาติด้วย
ว่ากันตามจริง หนังออสการ์ปีนี้ ไม่มีอะไรพลิกโผ Argo ที่นอนมา ก็ได้หนังยอดเยี่ยมไปตามความคาดหมาย แต่รางวัลที่ผมคิดว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยก็คือ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ซึ่งตกเป็นของดาราจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งที่ตามกระแส เจสสิก้า แซสเท็น จากเรื่อง Zero Dark Thirty มาแรงโดยตลอด และกวาดรางวัลมาแทบจะทุกเวที แล้วเพราะอะไร เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ถึงซิวรางวัลไปได้
ผมคิดว่าเรื่องนี้มีคำอธิบายที่พอทำความเข้าใจได้ไม่ยาก นอกเหนือไปจากบทบาทด้านการแสดงของสาวน้อยเจนนิเฟอร์ที่เรียกได้ว่าตีบทแตกกระจุย คาแรกเตอร์มีความเด่น ตัวแสดงมีฝีมือดีและสามารถถ่ายทอดตัวตนความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อย่างทรงพลัง ผมมองว่า “ทิฟฟานี่” ซึ่งเป็นชื่อของตัวละครที่เจนนิเฟอร์แสดงนั้น มีความคล้ายคลึงกันกับอีกหลากหลายบทที่เคยได้รับรางวัลนี้มา และมันก็แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณด้านดีงามของมนุษย์
ผมจะไม่พูดว่า เหตุผลที่ออสการ์มักจะเลือกให้รางวัลแก่นักแสดงในบทบาททำนองนี้ เพราะส่วนหนึ่งต้องการจะตอกย้ำถึงความมีจิตใจที่งดงามซึ่งยังหลงเหลืออยู่ในบ้านเกิดของตัวเอง หากแต่มันคือความดีที่ควรจะมีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกๆ คน บทของแซนดร้า บูลล็อก ใน The Blind Side บทของจูเลีย โรเบิร์ต ใน Erin Brockovich หรือบทของซูซาน ซาแรนดอน ในเรื่อง Dead Man Walking และอีกหลายๆ บทของหลายๆ นักแสดง ทั้งหมดนี้ล้วนตอกย้ำลงไปในพื้นฐานด้านดีงามของความเป็นมนุษย์
พวกเธอเหล่านี้ เป็นดั่งแม่พระที่ช่วยอุ้มชูชีวิตความเป็นอยู่หรือฟื้นฟูจิตวิญญาณของผู้คนให้ดีขึ้น มันคือความงดงามเท่าที่คนคนหนึ่งจะกระทำให้คนอีกคนหนึ่งได้ และแน่นอนว่า บทของทิฟฟานี่ (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ในเรื่อง Silver Linings Playbook นี้ ยิ่งควรได้รับความสนใจ เพราะในขณะที่ตัวเธอเองก็มีบาดแผลฉกรรจ์ฝังอยู่ในใจ แต่เธอกลับมีบทบาทอย่างสำคัญที่ชักดึงผู้ชายซึ่งจิตวิญญาณของเขากำลังตกต่ำอย่างถึงที่สุดให้กลับคืนมาดีได้อีกครั้งหนึ่ง
ด้วยบทที่ดัดแปลงมาจากนิยายของแมทธิว ควิก และได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาบทดัดแปลงยอดเยี่ยมด้วย Silver Linings Playbook เล่าเรื่องราวของแพทริก ครูสอนประวัติศาสตร์ที่ต้องเข้าไปอยู่ในสถานบำบัดจิตนานถึงแปดเดือน ก่อนที่แม่ของเขาจะหาทางพาเขากลับออกมาอยู่บ้าน แต่ฝันร้ายในวันเก่าก่อน ยังคงตามหลอกหลอนแพทริกไม่เลิกรา ในส่วนนี้ หนังนำเสนอให้เห็นถึงการพยายามกลับตัวเพื่อกลับมาดำเนินชีวิตเฉกเช่นคนปกติทั่วไปของแพทริก แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เขาได้รับการตอกย้ำจากเพื่อนบ้านอยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นคนเพี้ยน คนบ้า หรือกระทั่งบุคคลอันตราย มันก็ไม่ต่างอะไรกับคมมีดที่กรีดลงไปบนรอยแผลเดิม และซ้ำเติมให้เขาต้องจมปลักอยู่ในโลกของคนบ้า
แบรดลี่ย์ คูเปอร์ กับบทของแพทริก ไม่มีอะไรที่ต้องติติง ศักดิ์ศรีด้านการแสดงของเขา ดีเด่นเพียงพอที่จะรับรางวัลออสการ์ดารานำชายได้สบายๆ แต่ใครล่ะจะผ่านด่านรัฐบุรุษอย่างลินคอล์น (แดเนียล เดย์ ลิวอิส จาก Lincoln) ไปได้ อย่างไรก็ตาม อย่าเผลอคิดว่าคูเปอร์เล่นได้แต่หนังพวกที่ต้องอาศัยหน้าตาหรือความบ้าๆ ตลกๆ หากแต่หนังที่ต้องพึ่งอินเนอร์สูงๆ และบทบาทมีความลึก เขาก็เล่นดีไม่มีด้อย บทของเขาในหนังเรื่องนี้ นอกจากดราม่ายังมีความตลกร้าย เช่นเดียวกับภาพโดยรวมของหนัง เขาทำให้เรารู้สึกทั้งเอาใจช่วยและสงสารเชิงสังเวชตัวละครไปด้วยในขณะเดียวกัน
บทแพทริก ชวนให้นึกถึงบท “คนโรคจิต” “คนอันตราย” ในหนังเรื่อง Little Children เพราะบางที คุณเป็นในสิ่งที่คุณเป็นนั้นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนสำคัญก็คือ คุณเป็นในสิ่งสังคมตีตราว่าคุณเป็น ทั้งที่ตามจริง คุณอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย และพอถูกตีตราตอกย้ำ มันก็จะมักจะนำไปสู่พฤติกรรมผิดพลาดซ้ำเสมอ
จุดเปลี่ยนของแพทริก น่าจะเริ่มเดินทางมาถึง หลังจากที่เขาพบกับทิฟฟานี่ (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ทั้งสองคนเหมือนกับถนนสองสายที่เพิ่งผ่านโค้งนรกมาไม่ไกลแล้วทอดยาวมาบรรจบกัน ทั้งแพทริกและทิฟฟานี ต่างก็มีบุคลิกทางจิตแบบเดียวกัน นั่นก็คือการเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว หรือ “ไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์” (Bipolar Disorder) อารมณ์ปรวนแปรง่าย คนอื่นๆ จะตามสะกดรอยอารมณ์ของพวกเขาได้ยาก เนื่องจากพวกเขาไม่อยู่กับร่องกับรอย และบ่อยครั้งก็แสดงท่าทีออกไปแบบตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง
นอกจากอารมณ์ขันแบบตลกร้ายซึ่งเป็นความดีของหนัง...นอกจากความดราม่าที่นำเสนออกมาได้อย่างถูกที่ถูกจังหวะและสะเทือนใจ...ผมคิดว่า ความอหังการ์อย่างหนึ่งของหนังก็คือ ชื่อเรื่อง (อันที่จริงก็เป็นชื่อหนังสือนิยายมาก่อนแล้ว) โดยพื้นฐานที่มานั้น Silver Linings ย่อมาจากสำนวน Every cloud has a silver lining. ซึ่งมีความหมายว่า ในความมืดมน ใช่จะไร้แสงสว่าง หรือท่ามกลางความเลวร้ายก็ยังมีสิ่งดีๆ อยู่เสมอ เมื่อบวกรวมกับคำว่า Playbook ซึ่งมีความหมายในทางของการเป็น “ตำรา” หรือ “คู่มือ” Silver Linings Playbook จึงมีความหมายแบบเข้าใจได้ว่าเป็นดั่งตำรามองโลกในแง่ดีหรือคู่มือต่อสู้เพื่อผ่านพ้นเรื่องร้ายๆ ในชีวิต
ตั้งแต่ต้นเรื่องและเรื่อยไป เราจะเห็นแพทริกนำเสนอโลกทัศน์ของเขาอยู่บ่อยๆ ว่า คนเราต้องมองโลกในแง่บวกแง่ดี ทุกชีวิตสามารถมีบทสรุปที่แฮปปี้เอ็นดิ้งได้ เขาโวยวายแม้กระทั่งงานเขียนบางเรื่องของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (นักประพันธ์ระดับตำนานที่เคยมีตัวตนอยู่จริง) ซึ่งเขียนตอนจบเจ็บปวดสะเทือนใจ แทนที่จะเป็นการจบแบบสุขใจ
แพทริกเหมือนคนที่กำลังลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล และเขาก็คิดฝันเสมอว่ามันจะมีหาดทรายชายฝั่งรอเขาอยู่ที่ไหนสักแห่ง...ตามความมุ่งหมาย Silver Linings Playbook ถือว่าประสบความสำเร็จในการนำเสนอโลกทัศน์ที่ดีงามให้กับคนดูผู้ชม ดูแล้วมีความหวัง มีพลัง นั่นคือความตั้งใจของภาพยนตร์
อันที่จริง ผมอยากจะให้เครดิตกับออสการ์ก็ตรงนี้แหละครับ เพราะถึงแม้ออสการ์จะพยายามสรรหาหนังที่นำเสนอประเด็นซีเรียสๆ มาช่วงชิงรางวัลกัน แต่ทุกๆ ปี ออสการ์ก็ยังเหลือพื้นที่ให้กับหนังเล็กๆ แต่ทว่าเนื้อหางดงามพ่วงติดมาด้วยอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Juno, Sideways, Up in the Air, Lost in Translation, Little Miss Sunshine, Precious, The Blind Side ฯลฯ ผมว่าหนังเหล่านี้ นอกจากปลอดสารพิษโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังส่งเสริมความรู้สึกที่ดีงามและมีความหวังกำลังใจให้กับผู้ชมด้วย
ผู้กำกับ “เดวิด โอ. รัซเซลล์” นาทีนี้ เขาเปรียบเสมือนขาประจำที่น่าปลื้มใจของออสการ์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะหลังจากหนังเล็กๆ แต่งดงามอย่าง The Fighter ได้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมเมื่อ 3-4 ปีก่อน Silver Linings Playbook ก็คืออีกหนึ่งความงดงามบนเวทีออสการ์ปีนี้
โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
สำหรับแฟนภาพยนตร์ คงได้รับทราบการประกาศผลรางวัลออสการ์ไปเมื่อต้นสัปดาห์ ตรงความคาดหมายบ้าง ไม่ตรงบ้าง มันก็เป็นเรื่องของรางวัลและคณะกรรมการ นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงรสนิยมและอุดมการณ์ที่แฝงฝังมาพร้อมกับการมอบรางวัล มันก็ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ออสการ์นั้น โดยเนื้อแท้ก็คืออเมริกันชาตินิยม ทุกๆ ปี ออสการ์จึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่เพียงคัดสรรภาพยนตร์มีคุณภาพเพื่อบอกต่อคนทั้งโลก หากแต่ยังส่งออกวิธีคิดและจิตวิญญาณแบบอเมริกันสู่นานาชาติด้วย
ว่ากันตามจริง หนังออสการ์ปีนี้ ไม่มีอะไรพลิกโผ Argo ที่นอนมา ก็ได้หนังยอดเยี่ยมไปตามความคาดหมาย แต่รางวัลที่ผมคิดว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยก็คือ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ซึ่งตกเป็นของดาราจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งที่ตามกระแส เจสสิก้า แซสเท็น จากเรื่อง Zero Dark Thirty มาแรงโดยตลอด และกวาดรางวัลมาแทบจะทุกเวที แล้วเพราะอะไร เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ถึงซิวรางวัลไปได้
ผมคิดว่าเรื่องนี้มีคำอธิบายที่พอทำความเข้าใจได้ไม่ยาก นอกเหนือไปจากบทบาทด้านการแสดงของสาวน้อยเจนนิเฟอร์ที่เรียกได้ว่าตีบทแตกกระจุย คาแรกเตอร์มีความเด่น ตัวแสดงมีฝีมือดีและสามารถถ่ายทอดตัวตนความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อย่างทรงพลัง ผมมองว่า “ทิฟฟานี่” ซึ่งเป็นชื่อของตัวละครที่เจนนิเฟอร์แสดงนั้น มีความคล้ายคลึงกันกับอีกหลากหลายบทที่เคยได้รับรางวัลนี้มา และมันก็แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณด้านดีงามของมนุษย์
ผมจะไม่พูดว่า เหตุผลที่ออสการ์มักจะเลือกให้รางวัลแก่นักแสดงในบทบาททำนองนี้ เพราะส่วนหนึ่งต้องการจะตอกย้ำถึงความมีจิตใจที่งดงามซึ่งยังหลงเหลืออยู่ในบ้านเกิดของตัวเอง หากแต่มันคือความดีที่ควรจะมีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกๆ คน บทของแซนดร้า บูลล็อก ใน The Blind Side บทของจูเลีย โรเบิร์ต ใน Erin Brockovich หรือบทของซูซาน ซาแรนดอน ในเรื่อง Dead Man Walking และอีกหลายๆ บทของหลายๆ นักแสดง ทั้งหมดนี้ล้วนตอกย้ำลงไปในพื้นฐานด้านดีงามของความเป็นมนุษย์
พวกเธอเหล่านี้ เป็นดั่งแม่พระที่ช่วยอุ้มชูชีวิตความเป็นอยู่หรือฟื้นฟูจิตวิญญาณของผู้คนให้ดีขึ้น มันคือความงดงามเท่าที่คนคนหนึ่งจะกระทำให้คนอีกคนหนึ่งได้ และแน่นอนว่า บทของทิฟฟานี่ (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ในเรื่อง Silver Linings Playbook นี้ ยิ่งควรได้รับความสนใจ เพราะในขณะที่ตัวเธอเองก็มีบาดแผลฉกรรจ์ฝังอยู่ในใจ แต่เธอกลับมีบทบาทอย่างสำคัญที่ชักดึงผู้ชายซึ่งจิตวิญญาณของเขากำลังตกต่ำอย่างถึงที่สุดให้กลับคืนมาดีได้อีกครั้งหนึ่ง
ด้วยบทที่ดัดแปลงมาจากนิยายของแมทธิว ควิก และได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาบทดัดแปลงยอดเยี่ยมด้วย Silver Linings Playbook เล่าเรื่องราวของแพทริก ครูสอนประวัติศาสตร์ที่ต้องเข้าไปอยู่ในสถานบำบัดจิตนานถึงแปดเดือน ก่อนที่แม่ของเขาจะหาทางพาเขากลับออกมาอยู่บ้าน แต่ฝันร้ายในวันเก่าก่อน ยังคงตามหลอกหลอนแพทริกไม่เลิกรา ในส่วนนี้ หนังนำเสนอให้เห็นถึงการพยายามกลับตัวเพื่อกลับมาดำเนินชีวิตเฉกเช่นคนปกติทั่วไปของแพทริก แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เขาได้รับการตอกย้ำจากเพื่อนบ้านอยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นคนเพี้ยน คนบ้า หรือกระทั่งบุคคลอันตราย มันก็ไม่ต่างอะไรกับคมมีดที่กรีดลงไปบนรอยแผลเดิม และซ้ำเติมให้เขาต้องจมปลักอยู่ในโลกของคนบ้า
แบรดลี่ย์ คูเปอร์ กับบทของแพทริก ไม่มีอะไรที่ต้องติติง ศักดิ์ศรีด้านการแสดงของเขา ดีเด่นเพียงพอที่จะรับรางวัลออสการ์ดารานำชายได้สบายๆ แต่ใครล่ะจะผ่านด่านรัฐบุรุษอย่างลินคอล์น (แดเนียล เดย์ ลิวอิส จาก Lincoln) ไปได้ อย่างไรก็ตาม อย่าเผลอคิดว่าคูเปอร์เล่นได้แต่หนังพวกที่ต้องอาศัยหน้าตาหรือความบ้าๆ ตลกๆ หากแต่หนังที่ต้องพึ่งอินเนอร์สูงๆ และบทบาทมีความลึก เขาก็เล่นดีไม่มีด้อย บทของเขาในหนังเรื่องนี้ นอกจากดราม่ายังมีความตลกร้าย เช่นเดียวกับภาพโดยรวมของหนัง เขาทำให้เรารู้สึกทั้งเอาใจช่วยและสงสารเชิงสังเวชตัวละครไปด้วยในขณะเดียวกัน
บทแพทริก ชวนให้นึกถึงบท “คนโรคจิต” “คนอันตราย” ในหนังเรื่อง Little Children เพราะบางที คุณเป็นในสิ่งที่คุณเป็นนั้นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนสำคัญก็คือ คุณเป็นในสิ่งสังคมตีตราว่าคุณเป็น ทั้งที่ตามจริง คุณอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย และพอถูกตีตราตอกย้ำ มันก็จะมักจะนำไปสู่พฤติกรรมผิดพลาดซ้ำเสมอ
จุดเปลี่ยนของแพทริก น่าจะเริ่มเดินทางมาถึง หลังจากที่เขาพบกับทิฟฟานี่ (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ทั้งสองคนเหมือนกับถนนสองสายที่เพิ่งผ่านโค้งนรกมาไม่ไกลแล้วทอดยาวมาบรรจบกัน ทั้งแพทริกและทิฟฟานี ต่างก็มีบุคลิกทางจิตแบบเดียวกัน นั่นก็คือการเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว หรือ “ไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์” (Bipolar Disorder) อารมณ์ปรวนแปรง่าย คนอื่นๆ จะตามสะกดรอยอารมณ์ของพวกเขาได้ยาก เนื่องจากพวกเขาไม่อยู่กับร่องกับรอย และบ่อยครั้งก็แสดงท่าทีออกไปแบบตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง
นอกจากอารมณ์ขันแบบตลกร้ายซึ่งเป็นความดีของหนัง...นอกจากความดราม่าที่นำเสนออกมาได้อย่างถูกที่ถูกจังหวะและสะเทือนใจ...ผมคิดว่า ความอหังการ์อย่างหนึ่งของหนังก็คือ ชื่อเรื่อง (อันที่จริงก็เป็นชื่อหนังสือนิยายมาก่อนแล้ว) โดยพื้นฐานที่มานั้น Silver Linings ย่อมาจากสำนวน Every cloud has a silver lining. ซึ่งมีความหมายว่า ในความมืดมน ใช่จะไร้แสงสว่าง หรือท่ามกลางความเลวร้ายก็ยังมีสิ่งดีๆ อยู่เสมอ เมื่อบวกรวมกับคำว่า Playbook ซึ่งมีความหมายในทางของการเป็น “ตำรา” หรือ “คู่มือ” Silver Linings Playbook จึงมีความหมายแบบเข้าใจได้ว่าเป็นดั่งตำรามองโลกในแง่ดีหรือคู่มือต่อสู้เพื่อผ่านพ้นเรื่องร้ายๆ ในชีวิต
ตั้งแต่ต้นเรื่องและเรื่อยไป เราจะเห็นแพทริกนำเสนอโลกทัศน์ของเขาอยู่บ่อยๆ ว่า คนเราต้องมองโลกในแง่บวกแง่ดี ทุกชีวิตสามารถมีบทสรุปที่แฮปปี้เอ็นดิ้งได้ เขาโวยวายแม้กระทั่งงานเขียนบางเรื่องของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (นักประพันธ์ระดับตำนานที่เคยมีตัวตนอยู่จริง) ซึ่งเขียนตอนจบเจ็บปวดสะเทือนใจ แทนที่จะเป็นการจบแบบสุขใจ
แพทริกเหมือนคนที่กำลังลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล และเขาก็คิดฝันเสมอว่ามันจะมีหาดทรายชายฝั่งรอเขาอยู่ที่ไหนสักแห่ง...ตามความมุ่งหมาย Silver Linings Playbook ถือว่าประสบความสำเร็จในการนำเสนอโลกทัศน์ที่ดีงามให้กับคนดูผู้ชม ดูแล้วมีความหวัง มีพลัง นั่นคือความตั้งใจของภาพยนตร์
อันที่จริง ผมอยากจะให้เครดิตกับออสการ์ก็ตรงนี้แหละครับ เพราะถึงแม้ออสการ์จะพยายามสรรหาหนังที่นำเสนอประเด็นซีเรียสๆ มาช่วงชิงรางวัลกัน แต่ทุกๆ ปี ออสการ์ก็ยังเหลือพื้นที่ให้กับหนังเล็กๆ แต่ทว่าเนื้อหางดงามพ่วงติดมาด้วยอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Juno, Sideways, Up in the Air, Lost in Translation, Little Miss Sunshine, Precious, The Blind Side ฯลฯ ผมว่าหนังเหล่านี้ นอกจากปลอดสารพิษโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังส่งเสริมความรู้สึกที่ดีงามและมีความหวังกำลังใจให้กับผู้ชมด้วย
ผู้กำกับ “เดวิด โอ. รัซเซลล์” นาทีนี้ เขาเปรียบเสมือนขาประจำที่น่าปลื้มใจของออสการ์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะหลังจากหนังเล็กๆ แต่งดงามอย่าง The Fighter ได้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมเมื่อ 3-4 ปีก่อน Silver Linings Playbook ก็คืออีกหนึ่งความงดงามบนเวทีออสการ์ปีนี้
Tags: Movies Review