80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ : “โคทาน” ภารตนวนิยายแปลของจิตร ภูมิศักดิ์

โดย : บาหยัน อิ่มสำราญ

(80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์)

ณ เบื้องหน้าของเราบัดนี้คือหิ้งแห่งขุมทองแห่งวรรณคดีของโลก จงทอดสายตาไปยังขุมทองแห่งนี้และหยุดอยู่ในช่วงระยะครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เถิด  แล้วเราจะพบว่าเพชรน้ำหนึ่งของวรรณคดีจำนวนไม่กี่เล่มของยุคนั้นคือ “โคทาน” มหากาพย์แห่งชีวิตชาวนาเบงกอล...”โคทาน” คือมหากาพย์ใหม่ของชาวเบงกลี มันเป็นของชาวเบงกลีตั้งแต่ชื่อเรื่อง ซึ่งแปลว่า โคพลีกรรม ไปจนถึงตัวอักษรสุดท้าย
                                                     ศรีนาคร (จิตร ภูมิศักดิ์)

ความนำ

จิตร ภูมิศักดิ์เป็นปัญญาชน นักคิด นักเขียนและนักปฏิวัติคนสำคัญของไทย ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักนั้นส่วนใหญ่เป็นงานวิชาการ บทกวีและบทเพลง ส่วนที่เป็นผลงานแปลประเภทนวนิยายนั้นไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงมากนัก จิตรแปลนวนิยายไว้ทั้งหมด ๓ เรื่อง ได้แก่ โคทาน แปลจากเรื่อง Godaan ของ เปรมจันท์ [1] คนขี่เสือ แปลจากเรื่อง He who rides tiger ของ ภวานี ภัฏฏาจารย์ และ แม่ แปลจาก Mother ของ แมกซิม กอร์กี้ บทความนี้จะนำเรื่องโคทาน มาศึกษา โดยมีสมมุติฐานอยู่ว่า ไม่ว่าจิตร ภูมิศักดิ์จะสร้างสรรค์งานเขียนประเภทใด เขามีเป้าหมายทางสังคมที่แจ่มชัด แม้แต่เรื่องโคทาน อันเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีผู้อ่านคนไทยกล่าวถึงเท่าใดนักก็ตาม


เปรมจันท์ จิตร ภูมิศักดิ์และโคทาน

เปรมจันท์ มีนามจริงว่า ธนปัต ราย ศรีวัสตาวะ (Dhanpat Rai Srivastava) เป็นชาวฮินดู เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๒๓ (ค.ศ.1880) ที่ มันธวา ลัมหิ อันเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ชานเมืองพาราณสี แคว้นอุตรประเทศ บิดาเป็นเสมียนในกรมไปรษณีย์ มารดาเสียชีวิตตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ บิดาแต่งงานใหม่ และเสียชีวิตเมื่อเขาอายุประมาณ ๑๖ ปี เปรมจันทร์ต้องอยู่กับมารดาเลี้ยงและน้องต่างมารดา เปรมจันท์เริ่มต้นศึกษาในโรงเรียนเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ในมัสยิดประจำหมู่บ้าน ซึ่งสอนด้วยภาษาอุรดู [2] เขาจึงใช้ภาษาอูรดูและภาษาเปอร์เซียได้ก่อนภาษาฮินดี
         
เปรมจันท์แต่งงานครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๕ ปี โดยมารดาเลี้ยงเป็นผู้จัดการให้เนื่องจากต้องการสินสอด เปรมจันท์ต้องรับภาระเลี้ยงดูภรรยา มารดาเลี้ยง และน้องต่างมารดา พร้อมทั้งเรียนหนังสือไปด้วยหลังจากบิดาเสียชีวิต ด้วยการรับจ้างสอนพิเศษ ความเป็นอยู่ที่ยากแค้นทำให้เขาไม่อาจเข้าศึกษาในสาขาอักษรศาสตร์และนิติศาสตร์เพื่อสมัครเป็นทนายความตามความใฝ่ฝันของตนเอง แต่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดครู และบรรจุให้รับราชการในโรงเรียนประจำตำบลเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ ต่อมาหย่าขาดกับภรรยา เนื่องจากเข้ากันไม่ได้ทั้งกับตนเองและมารดาเลี้ยง เมื่อมารดาเลี้ยงรบเร้าให้แต่งงานใหม่ เปรมจันท์ฝืนประเพณีโดยแต่งงานกับหญิงหม้ายชื่อ ศิวรานี เทวี และหญิงผู้นี้เป็นคู่ชีวิตที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมของเปรมจันท์ตลอดมา

เปรมจันท์เกลียดชังระบอบอาณานิคม ขณะที่รับราชการเป็นครู ได้ใช้ความสามารถทางการเขียน เขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์ระบอบนี้ โดยใช้นามปากกาว่า “นาวับราย” เป็นเหตุให้หนังสือชื่อ Soz-e-Watan ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นมีเนื้อหากระตุ้นให้เกิดความรักชาติ ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งเก็บมาเผา ตัวเขาถูกตักเตือน พร้อมทั้งขอตรวจผลงานทุกชิ้นก่อนเผยแพร่ เขาจึงเปลี่ยนนามปากกาใหม่ เป็น “เปรมจันท์” ซึ่งหมายถึง ความพึงพอใจในความรัก และในที่สุดเขาก็ลาออกจากราชการ (พ.ศ.๒๔๖๔) เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวของมหาตมะคานธีเร่งเร้าให้ข้าราชการลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้การบริหารทั้งหมดหยุดชะงัก ตามวิธีการขัดขืนทางพลเรือน (civil disobedience) และใช้วิธีการเขียนหนังสือเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นอาชีพ เพียงอย่างเดียว

เปรมจันท์เป็นคนมั่นคงในความคิด เมื่อเซอร์ วิลเลียม มาริส ผู้ว่าราชการรัฐอุตรประเทศเสนอมอบบรรดาศักดิ์ให้ เขากลับปฏิเสธโดยกล่าวกับภรรยาว่า หากยอมรับจะกลายเป็นข้าทาสของรัฐบาลอังกฤษ สิ้นสภาพของประชาชนไปทันที เช่นเดียวกับมหาราชาแห่งอัลวาส่งตัวแทนมาเจรจาขอว่าจ้างเปรมจันท์ในตำแหน่งราชเลขานุการด้วยเงินเดือนสูง พร้อมบ้านและรถยนต์ประจำตำแหน่ง แต่เปรมจันท์ปฏิเสธทั้งๆ อยู่ในสภาพที่ขัดสนเพราะออกจากข้าราชการครู เปรมจันทร์อธิบายกับภรรยาว่า “คนผู้ถนัดทางเทิดพระเกียรติเท่านั้น จึงเหมาะที่จะถวายตัวต่อราชาและมหาราชา ไม่มีใครหรอกจะสนใจคนที่เคารพตนเอง” (ปรีชา ช่อปทุมมา ๒๕๑๘: ๔๒)

เปรมจันท์เคยได้รับการว่าจ้างจากบริษัทสร้างภาพยนตร์ [3] ให้เขียนบทภาพยนตร์จากนวนิยายของเขา และเขาก็มีความคิดที่จะเผยแพร่ความคิดที่จะปฏิรูปสังคมอินเดียผ่านภาพยนตร์ เนื่องจากในอินเดียขณะนั้นประชาชนไม่รู้หนังสือถึงร้อยละ ๘๗ (ปรีชา ช่อปทุมมา ๒๕๑๘: ๔๓) ภาพยนตร์จึงเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ได้ผลดีกว่าสื่อชนิดอื่น แต่ก็ต้องประสบความผิดหวัง เมื่อพบว่าธุรกิจภาพยนตร์ก็เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่แก่งแย่งแข่งขัน ทำทุกอย่างโดยหวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง

เปรมจันท์เป็นนักเขียนที่ถือคติว่า วรรณกรรมนั้นต้องให้ความสว่างบางแง่บางมุมแก่ชีวิต ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบหลักปฏิบัติทางสังคมอย่างเข้มงวดและแข็งขัน ต้องขัดเกลาสัญชาตญาณซึ่งสืบทอดกันมาทางสายเลือดมนุษย์ให้เป็นไปในทางดี กอปรด้วยสัจจะและสุนทรียะ โดยเฉพาะต้องมีส่วนฝึกฝนความใคร่รู้ใคร่เห็นให้ว่องไวฉับพลัน (ปรีชา ช่อปทุมมา ๒๕๑๘: ๓๗)

ลักษณะงานเขียนของเปรมจันท์ จึงมาจากชีวิตของคนร่วมสมัยผสมกับอุดมคติของตนเอง ความคิดเห็นในเรื่องความรักและการบำเพ็ญประโยชน์ รวมทั้งทัศนคติของเขาต่อชีวิต ลักษณะเด่นของวรรณกรรมก็คือ ความเห็นอกเห็นใจชาวไร่ชาวนาอย่างแท้จริง (กิติมา อมรทัต ๒๕๑๙: ๕) เขาใช้ภาษาพื้นๆ เพื่ออธิบายสภาพปัญหาของชาวนาในชนบท หลีกเลี่ยงศัพท์สูงแบบสันสกฤตฮินดีอย่างที่นักเขียนฮินดีในยุคนั้นนิยมใช้ งานเขียนชิ้นแรกๆ เขียนด้วยภาษาอูรดู แต่ไม่สู้จะได้รับการต้อนรับเพราะผู้ที่ใช้ภาษาอูรดูในขณะนั้นอ่านหนังสือได้ไม่มากนัก จึงเปลี่ยนเป็นภาษาฮินดี ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวาง จนสามารถกล่าวได้ว่า ในกระบวนเรื่องสั้นและนวนิยายที่เขียนด้วยภาษาฮินดี จัดได้ว่าเรื่องของเปรมจันท์นั้นอยู่ในระดับที่ยิ่งใหญ่ และยิ่งใหญ่ไม่แพ้วรรณกรรมชั้นเยี่ยมของโลก (จิตติน ธรรมชาติ ๒๕๑๘ :๑๑)

เมื่อบั้นปลายชีวิต เขาได้มีส่วนจัดตั้งสมาคมนักเขียนกลุ่มก้าวหน้า (Indian Progressive Writer’s Association) ขึ้นที่ลัคเนาว์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมคนแรก นักเขียนกลุ่มนี้ได้แก่ เปรมจันท์ กอชิค ประทาปนารายณ์ ศรีวัสตาวะ ผกาวาติ จรัญวรมา สุดาจันทร์ เป็นต้น (กิติมา อมรทัต ๒๕๓๕: คำนำผู้แปล) เปรมจันทร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นจักรพรรดิแห่งนวนิยาย (กรุณา กุศลาสัย ๒๕๕๐: ๒๐๓) เป็นบิดาแห่งแนวอัตถนิยมใหม่ และเป็นแม็กซิม กอร์กี้แห่งอินเดีย (จิตติน ธรรมชาติ ๒๕๑๘: ๙) เขาเขียนเรื่องสั้นประมาณ ๓๐๐ เรื่อง นวนิยายหลายเรื่อง บทความ บทละคร ผลงานจำนวนหนึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษารัสเซีย เรื่องโคทานนี้เป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายและเขียนด้วยภาษาอูรดู เริ่มต้นเขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ จบเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ เสนอสู่สาธารณชนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ หลังจากนั้นไม่นานก็ถึงแก่กรรมเมื่อ ๘ ตุลาคม ๒๔๗๙ ในวาระสุดท้ายของชีวิต มีผู้นำแนะนำให้เอ่ยปากขอความเมตตาจากพระเจ้าก่อนสิ้นลม แต่เปรมจันทร์บอกว่า “ไม่อยากรบกวน” (ปรีชา ช่อปทุมมา ๒๕๑๘:๔๘)

ในสังคมไทยนั้น ความสนใจงานเขียนของเปรมจันท์มีมาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จิตติน ธรรมชาติ (สุภา ศิริมานนท์) ( ๒๕๑๘: ๙) กล่าวว่า เคยอ่านงานของเปรมจันท์บางเรื่อง [4] โดยข้อชี้แนะจากบทวิจารณ์หนังสือของนิตยสารอังกฤษในสมัยนั้น ต่อมา จิตร ภูมิศักดิ์มีความสนใจนวนิยายของเปรมจันท์ได้ขอยืมนวนิยายของเปรมจันทร์ไปหลายเล่ม ประมาณปลายทศวรรษ ๒๔๙๐ และได้แสดงความพอใจเรื่องโคทานเป็นพิเศษ และตั้งใจแปลไว้จนจบ แต่ไม่ทราบว่าต้นฉบับตกอยู่ที่ใด [5]

ในส่วนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เคยเขียนถึงเปรมจันท์ไว้ในบทความชื่อ “เปรมจันทร์ วิศวกรผู้สร้างวิญญาณมนุษย์แห่งอินเดีย” เผยแพร่ในสายธาร ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ [6] กล่าวว่า “เปรมจันท์ คือผู้เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน ผู้ริเริ่มวรรณกรรมแผนใหม่อันเป็นวรรณกรรมที่นำมวลมนุษย์ให้ก้าวไปข้างหน้า และก็วรรณกรรมนี้เองที่ทำให้เปรมจันท์กลายเป็นอมตะ, อมฤตภาพของมนุษย์นั้น มิใช่สิ่งที่มีมาโดยกำเนิดแบบวิญญาณของลัทธิที่หันหลังให้วิทยาศาสตร์ หากอมฤตที่แท้จริงคือผลงานที่ได้กระทำไว้เพื่อรับใช้และพัฒนาความดีงามของชีวิตมนุษยชาตินั้นเอง” [7]

นวนิยายเรื่องโคทานนี้จิตรแปลไว้ตั้งแต่ตอนที่ ๑ ถึงตอนที่ ๑๗ ใช้นามปากกาว่าศรีนาคร ส่วนตอนที่ ๑๘ ถึง ตอนที่ ๓๖ ผู้แปล คือ ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ ผู้เป็นพี่สาวของจิตร โดยใช้นามปากกาว่าศริติ ภูริปัญญา พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ ในครั้งนั้นพิมพ์แยกเป็น ๒ เล่ม ฉบับสมบูรณ์พิมพ์เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของ นางแสงเงิน ฉายาวงศ์ ผู้เป็นมารดาของผู้แปลทั้งสอง ณ วัดบางขวาง นนทบุรี เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๓ หลังจากที่จิตรถึงแก่กรรมไปแล้ว ๑๔ ปี

ทวีป วรดิลก (๒๕๒๑: คำนำ) เคยกล่าวถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ไว้ว่า จิตรเป็นคนที่มีความสามารถทางภาษา เป็นนักศึกษาศิลปะวรรณคดี ควบคู่ไปกับความเป็นกวีที่สามารถถ่ายทอดถ้อยคำออกมาได้อย่างหมดจดและประทับใจ และคุณลักษณะสำคัญของจิตรประการหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานแปล ไม่ว่าจะเป็นสารคดีหรือนวนิยาย จิตรจะพยายามใช้ถ้อยคำที่ง่ายที่สุดเท่าที่จะง่ายได้ โดยเฉพาะถ้อยคำสนทนาของตัวละครในเรื่อง และจะพยายามอธิบายสำนวนหรือถ้อยคำต่างประเทศตลอดจนประเพณีต่างๆ ที่แตกต่างห่างไกลกับประเพณีและวิถีชีวิตของประชาชนไทย

ในเรื่องโคทานนี้ก็เช่นเดียวกัน จิตรใช้ภาษาธรรมดา แต่ความยากลำบากในการเข้าถึงงานชิ้นนี้อยู่ที่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมประเพณีระหว่างไทยกับอินเดีย ด้วยเหตุนี้จิตรจึงได้แทรกเชิงอรรถแทรกเอาไว้จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเชิงอรรถแปลความ ขยายความ อธิบายความ เพื่อให้ความกระจ่างในเนื้อเรื่อง เชิงอรรถเหล่านี้จัดได้ว่าเป็นปริวรรณกรรมที่มีคุณค่าในการสร้างความเข้าใจเนื้อเรื่อง และมีคุณค่าในเชิงความรู้ในฐานะที่เป็นผลงานค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องอินเดีย

การที่นักคิดนักเขียนและนักภาษาคนสำคัญของไทย ถ่ายทอดวรรณกรรมชิ้นเอกของนักคิดนักเขียนชาวอินเดียเป็นภาษาไทยอย่างพิถีพิถันเช่นนี้ จึงก่อเกิดวรรณกรรมแปลชิ้นสำคัญและมีความหมายเรื่องหนึ่งในวงวรรณกรรมไทยนั่นคือ โคทาน

โคทาน เป็นเรื่องของชาวนาผู้ยากจนภายใต้ระบอบอาณานิคม และระบบความเชื่อทางศาสนาอันเคร่งครัด ทำให้เขาต้องผจญกับความทุกข์อย่างสาหัสที่มนุษย์กระทำต่อกัน โดยอ้างพระเจ้าและฐานะอันเป็นที่ยอมรับทางสังคมเป็นเหตุผล ในที่สุดเขาก็ต้องตายเพราะความเชื่อ และความเชื่อก็ยังคงสืบทอดและทำงานของมันต่อไปในสังคมชนบทของอินเดีย

เนื้อเรื่องโคทาน แบ่งออกเป็นสองส่วน เรื่องหลักเป็นเรื่องราวของชาวนาที่ยากจนชื่อโหริและตัวละครแวดล้อม ส่วนเรื่องแทรกนั้นเป็นเรื่องของซามินดาร์หรือเจ้าที่ดินใหญ่ซึ่งปรารถนาจะทำให้ตนเองเป็นที่ยอมรับในระดับสูงสุด เพื่อนำมาซึ่งอำนาจอันถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดของชีวิต เนื้อเรื่องทั้งสองตอนมีดังต่อไปนี้

นาฏกรรมของผู้ยากไร้

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อโหริชาวนาผู้ยากจน และมีดวงตาเพียงข้างเดียว ไปได้วัวนมมาตัวหนึ่ง โดยไม่สามารถบอกสาเหตุที่แท้จริงของการได้มาให้ผู้ใดทราบว่า มาจากการรับอาสาหาภรรยาให้แก่ชายชราที่ยังหมกมุ่นในกามารมณ์ น้องของโหริเข้าใจว่ามาจากการยักยอกมรดกที่พ่อให้ไว้เพียงน้อยนิดไปซื้อวัว จึงแค้นใจพี่ชายวางยาวัวนม ลูกชายของโหริคือโคพรก็ฝ่าฝืนจารีตประเพณี ด้วยการลักลอบได้เสียกับแม่หม้ายต่างอนุภาควรรณะจนตั้งครรภ์ แล้วหลบหนีการพิพากษาของสังคมไปทำงานในเมือง โหริและธนิยาผู้เป็นภรรยารับเลี้ยงลูกสะใภ้แม่หม้ายด้วยความมีเมตตาธรรม ในขณะที่สังคมบังคับให้ขับไล่ แม้แต่พ่อของฝ่ายหญิงซึ่งก็คือชายชราที่ให้วัวนมแก่โหริ ก็บังคับโหริให้ขับไล่ เพราะลูกสาวของตนไม่ใช่ลูกแต่เป็นหญิงแพศยา หากรับเลี้ยงจะยึดวัวงานที่มีอยู่คืนแทนวัวนมที่ถูกวางยา โหริไม่ปฏิบัติตามจึงถูกยึดวัว และยังต้องเสียค่าปรับเป็นข้าว และเงิน แก่คณะกรรมการหมู่บ้านโทษฐานที่ทำผิดจารีตประเพณี โหริไม่มีเงิน ต้องจำนำบ้าน

เมื่อไม่มีวัวงาน โหริและครอบครัวก็ทำนาด้วยตนเองไม่ได้ ก็หันไปรับจ้างทำนาให้พราหมณ์ประจำหมู่บ้าน บนที่ดินอันน้อยนิดของตนเอง และปลูกอ้อยขาย พอได้เงินเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยสูงลิบลิ่วก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทวงหนี้ เจ้าหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นกรรมการหมู่บ้าน โหริเป็นคนซื่อเล่นแง่กับเจ้าหนี้ไม่เป็น เพราะเชื่อว่าชีวิตถูกลิขิตโดยพระเจ้า เงินทองที่ได้มาด้วยความเหนื่อยยากก็ตกเป็นของเจ้าหนี้ จะแต่งงานลูกสาวคนโตก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีเงินเป็นค่าสินสอด แต่โชคดีที่ฝ่ายชายไม่เรียกร้อง

ส่วนการแต่งงานลูกสาวคนเล็กนั้น โหริไม่มีทางเลือกมากนัก ระหว่างการเสียเกียรติเพราะถูกยึดที่ดินเนื่องจากติดค้างภาษีที่ดินหลายปี กับการให้ลูกสาวแต่งงานกับเศรษฐีหม้ายที่มีอายุคราวพ่อ และถูกสังคมซุบซิบนินทาว่าขายลูกสาว โหริเลือกอย่างหลังเพราะไม่ต้องจ่ายเงินค่าสินสอดและจัดงานแต่งงานและไม่ต้องถูกยึดที่ หลังจากนั้นโหริก็ทำงานหนักทั้งวันทั้งคืน หวังจะได้เงินมาซื้อวัว แต่ไม่ทันจะได้ก็สิ้นชีวิตเสียก่อน ไม่มีวัวสำหรับทำทาน ก่อนตาย เหลือเพียงเงิน ๒๐ อันนาสุดท้ายที่ได้จากการขายเชือกผูกวัวซึ่งภรรยาของเขาวางไว้บนมือต่างโคพลีกรรม

สิ่งที่นวนิยายเรื่องนี้ต้องการเสนอก็คือความไม่เป็นธรรมในสังคมอินเดีย ที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจากหนี้สินและพันธนาการทางสังคม ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบ สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากเงื่อนไขทางสังคมเดียวกันนั้น ทั้งด้านการทำมาหากินและสิทธิ์พิเศษต่างๆ อีกทั้งยังได้รับการผ่อนปรนกรณีกระทำผิดจารีตประเพณีอีกด้วย

ตัวละครสำคัญในเรื่องคือ โหริ เป็นชาวนายากจนผู้ถูกจองจำให้อยู่ในระบบอย่างคุ้นเคย แม้จะถูกกระทำจากระบบทั้งในระดับนามธรรมและระดับปฏิบัติการ แต่เขาก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่คิดตอบโต้และต่อต้าน จึงดูคล้ายกับเป็นคนซื่อจนโง่ในสายตาของคนอื่น

ในระดับนามธรรมนั้น โหริเชื่อมั่นในพระเจ้า เชื่อว่าความมั่งมีและความยากจนเป็นผลของกรรมที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อน โหริมองเจ้าที่ดินด้วยสายตาชื่นชม มักสำคัญผิดคิดว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนบ้านเพราะตนใกล้ชิดกับบรรดาเจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ทั้งหลาย เมื่อถูกกระทำจากบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย เขาจึงไม่ต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นด้วยวาจาหรือด้วยการกระทำ หากมีให้ก็จะให้ ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือข้าว โดยไม่คิดว่าจะมีเหลือให้ลูกเมียได้กินหรือไม่ การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจึงเป็นหน้าที่ของธนิยาภรรยาปากร้ายแต่เพียงผู้เดียว โหริพยายามที่จะทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับในสังคม ด้วยการเป็นเจ้าของวัวนมให้ได้ ในสังคมชาวนาอินเดียนั้นการมีวัวนม หมายถึงความสำเร็จ การมีหน้าตา สามารถใช้โอ้อวดกับเพื่อนบ้านได้ ความเชื่อเช่นนี้นำมาซึ่งปัญหา และในที่สุดก็นำความตายมาสู่ตัวโหริ ก็เพราะการมุมานะทำงานหามรุ่งหามค่ำหาเงินมาซื้อวัว

ในระดับปฏิบัติการ โหริตกอยู่ในสภาพที่สิ้นไร้ไม้ตอก เพราะถูกกระทำจากคนด้วยกัน สร้างระบบขูดรีดให้เป็นกฎหมาย นั่นก็คือคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งเรียกว่าคณะปัญจายัต [8] ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหนี้เงินกู้รายสำคัญ ตัวแทนของเจ้าที่ดิน และพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรมของหมูบ้าน ซึ่งเป็นคณะบุคคลคอยตรวจสอบพฤติกรรมของชาวนาในหมู่บ้านว่าผิดจารีตประเพณีหรือไม่ หากไม่ชำระหนี้ หรือกระทำจารีตประเพณี คณะปัญจายัตก็มีวิธีการลงโทษ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดการขูดรีดชาวนายากจนแบบโหริจึงเป็นสิ่งชอบธรรม ทั้งในแง่ของหลักการและปฏิบัติการ เพราะเจ้าของหลักการและผู้ปฏิบัติก็คือคนชุดเดียวกัน

นอกจากนั้น เปรมจันทร์ยังสร้างตัวละครอีกชุดหนึ่งขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในสังคมที่เข้มงวด ใช้จารีตประเพณีเป็นกฎหมายนั้น ก็ยังมีคนที่แหวกกฎ การแหวกกฎนั้นแม้จะนำมาซึ่งความทุกข์อีกลักษณะหนึ่ง ก็คือการถูกลงโทษจากสังคม แต่ถ้าอดทนและรู้จักการสร้างตัว ชีวิตก็จะมีทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าเดิม อย่างเช่น โคพร และฌุนิยา

โคพร เป็นลูกชายคนเดียวของโหริ เขาเชื่อในตัวเองและไม่ศรัทธาในพระเจ้า และไม่คิดว่าความมั่งมีหรือยากจนเป็นผลมาจากชาติปางก่อน โคพรและฌุนิยาทำผิดกฎของสังคม ลักลอบได้เสียกันจนตั้งครรภ์ โคพรหนีเข้าไปทำงานในเมืองเนื่องจากถูกพ่อและพี่ชายของฌุนิยาตามล่า ส่วนฌุนิยากลายเป็นหญิงแพศยา โคพรกลับมาหมู่บ้านอีกครั้ง พร้อมกับเงินที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานหนัก สถานะของโคพรและฌุนิยาก็เปลี่ยนไป สังคมต่างต้อนรับและลืมความหลังโดยสิ้นเชิง และตัวละครโคพรนี้เองที่เปรมจันทร์ใช้ต่อกรกับเหล่านายทุนเงินกู้และพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งหลาย โดยตรงก็คือการปะทะคารมใช้เหตุผลโต้แย้งกับความเห็นแก่ตัวและเอาแต่ได้ของบรรดานายทุนเงินกู้ โดยอ้อมก็คือให้โคพรจัดการแสดงละครเพื่อความบันเทิงในเทศกาลโหลิ โดยผูกเรื่องเสียดสีพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของบรรดานายทุนเงินกู้และพราหมณ์ประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านทั้งหลายได้มีโอกาสปลดปล่อยและระบายความแค้นเคืองออกมา เพราะโลกแห่งความเป็นจริงในนวนิยายไม่อาจว่ากล่าวคนเหล่านี้ได้

แม้เปรมจันท์จะต่อต้านความเชื่อที่งมงายและระบบที่ไม่เป็นธรรม แต่เขาไม่ปล่อยตัวละครอย่างโคพรให้มีชีวิตที่ราบรื่นอย่างไม่สมเหตุสมผล เขาชี้ให้เห็นความจริงที่พบเห็นในชีวิตประการหนึ่งว่า การที่คนเราที่มีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น แต่ชีวทัศน์กลับคับแคบลง ก็เป็นอันตรายอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน เช่นเดียวกับโคพร เขาช่วยตัวเองได้มากขึ้นจากประสบการณ์การสู้ชีวิตในเมือง แต่เมื่อกลับสู่ชนบทเขากลับดูหมิ่นและลำเลิกบุญคุณพ่อแม่ เพราะสำคัญว่าตนเองฉลาด เก่ง และดีพร้อม เปรมจันท์ให้บทเรียนตัวละครตัวนี้เพื่อสั่งสอนในเรื่องความอวดดีของผู้ที่เพิ่งหลุดพ้นจากความไม่รู้ โคพรต้องสูญเสียลูก ต้องทำร้ายจิตใจคนที่รักเขาและบาดเจ็บสาหัสจากการถูกอุปโลกน์ขึ้นเป็นผู้นำการประท้วงหยุดงาน เมื่อเกิดการปะทะ เขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด และเหตุการณ์นั้นทำให้เขาสำนึกได้

นอกจากนั้นเปรมจันท์ ยังต้องการแสดงให้เห็นสังคมที่หน้าไหว้หลังหลอก สร้างกฎเกณฑ์เพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งปฏิบัติ ส่วนคนคุมกฎกลับละเมิด อย่างเช่น มตทินลูกของพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้าน มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยากับบุตรสาวของช่างซ่อมรองเท้า ซึ่งอยู่ในวรรณะจัณฑาล แต่ก็สามารถล้างบาปและใช้ชีวิตตามปกติได้ด้วยการเพียงแต่ใช้ขี้ผึ้งและนำมันจันทร์ทาที่หน้าผาก และท่องคัมภีร์ภควัทคีตา คนในหมู่บ้านก็รู้แต่ไม่มีใครกล้าพูด หรือโนเขราม ซึ่งเป็นกรรมการหมู่บ้าน ลักลอบเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่น ชาวบ้านและสามีของหญิงนั้นก็รู้แต่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์

ความทุกข์ของซามินดาร์ [9]

ราอี สาหิบ อมาปาล สิงห์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ราอี สาหิบ เป็นคนพื้นเมืองอินเดียที่อังกฤษแต่งตั้ง โดยฐานะเป็นซามินดาร์หรือเจ้าที่ดิน อาศัยอยู่ในเมืองลัคเนาว์ เป็นผู้กว้างขวางในหมู่ชนชั้นสูงในเมือง ความปรารถนาของราอี สาหิบนั้น ก็คือการได้รับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่การเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองนั้น จำเป็นจะต้องมีเงินและอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคู่แข่งขันร่ำรวยระดับรายาประกาศตนว่าจะขอสู้ไม่ว่าจะต้องใช้เงินเท่าใดก็ตาม ราอี สาหิบ พยายามทุกวิถีทาง แต่ที่นำความทุกข์มาสู่ครอบครัวมากที่สุดได้แก่ การแต่งงานบุตรสาวกับมหาเศรษฐีพ่อหม้าย ซึ่งมีเบื้องหลังพัวพันกับแหล่งอบายมุขทั้งปวง เพื่อต้องการการสนับสนุนทางการเมืองที่ถูกท้าทายจากคู่แข่งขัน

ราอี สาหิบได้รับเลือกตั้งและยังได้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ครองตำแหน่งแรกของซาร์มินดาร์ และได้เลื่อนเป็นรายา เมื่อมาถึงจุดสูงสุดทางเกียรติยศ เขาจำเป็นจะต้องรักษาอำนาจทางการเมืองให้เป็นปึกแผ่น ราอี สาหิบจึงขอให้บุตรชายของตนแต่งงานกับบุตรสาวของคู่แข่งทางการเมือง แต่บุตรชายกลับปฏิเสธ แม้บิดาจะยื่นคำขาดตัดพ่อตัดลูกหากไม่ปฏิบัติตาม จากนั้นก็เดินทางไปอังกฤษพร้อมคู่รัก ไม่ใยดีที่จะสืบทอดมรดกและอำนาจของราอี สาหิบ ซึ่งได้มาด้วยความยากลำบาก

นอกจากนั้น บุตรสาวของเขาที่แต่งงานกับมหาเศรษฐีหม้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว เพราะแม้จะมีเงินทองทรัพย์แต่ก็ถูกทอดทิ้ง เนื่องสามีเป็นคนเสเพล ชอบใช้ชีวิตตามแหล่งอบายมุขต่าง ๆ สุดท้ายก็ต้องหย่าขาดจากกัน ราอี สาหิบ ต้องทนทุกข์กับครอบครัวที่ล้มเหลว เพราะตนเองเป็นผู้บงการ

เนื้อเรื่องในตอนนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นความสุขความทุกข์ของนักการเมือง ความสุขเกิดจากการได้มาซึ่งอำนาจในระดับสูงสุด เป็นที่ยอมรับในสังคม แต่เบื้องหลังคือความทุกข์อย่างมหันต์ จากความเจ้ากี้เจ้าการเข้าไปจัดการชีวิตของลูกๆ ให้เป็นไปดังใจคิด เพื่อสนองตอบความปรารถนาที่จะมีอำนาจและการรักษาอำนาจของตน

เปรมจันท์สร้างเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นสู่อำนาจของตัวละคร ราอี สาหิบ คู่ขนานกับเรื่องราวของโหริ ชาวนาผู้ยากจน เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความทุกข์ของคน ๒ ชนชั้น คือคนมั่งมีกับคนยากไร้ ความทุกข์ของคนมั่งมีคือ ความไม่สมหวังเรื่องอำนาจ และความผิดหวังที่เลี้ยงลูกไม่ได้ดังคิด แต่ความทุกข์ของผู้ยากไร้เป็นความทุกข์จากความอัตคัดขาดแคลนปัจจัยสี่ อันเนื่องมาจากระบบที่ไม่เป็นธรรม ผลตอบแทนจากการทำงานหนักจึง กลายเป็นดอกเบี้ยแก่กลุ่มนายทุนเงินกู้ ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับแคว้น สิ่งที่ช่วยรักษาระบบให้คงอยู่ก็คือ ความเชื่ออันล้าหลังที่แสนเข้มงวดในหมู่คนยากไร้ และผ่อนปรนในหมู่คนที่ได้เปรียบ

ในระหว่างที่เรื่องราวชีวิตทางการเมืองของราอี สาหิบ ดำเนินไป ตัวละครอื่นๆ ก็ผ่านเข้ามาแสดงบทบาท เพื่อฉายภาพของชนชั้นนำของเมืองลัคเนาว์ในแง่มุมต่างๆ ได้แก่ กลุ่มนายทุน นายหน้าประกันภัย สื่อมวลชน และปัญญาชน

นายทุนนั้นผ่านทางตัวละคร นายขันนา เป็นผู้จัดการธนาคารและเจ้าของโรงงานน้ำตาล เป็นนักลงทุนที่คิดแต่ผลกำไร เมื่ออยากได้สิ่งใดก็ใช้เงินซื้อ แต่ที่สุดเงินก็ซื้อไม่ได้ทุกอย่างโดยเฉพาะเรื่องความรัก

นายหน้าประกันภัย ได้แก่ นายตังขะ ที่พร้อมจะเข้าข้างกลุ่มที่เอื้อประโยชน์ และย้ายข้างไปสู่กลุ่มใหม่ที่จะให้ผลประโยชน์มากกว่า

สื่อมวลชน ได้แก่ บัณฑิตโองการนาถ เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ประทีป เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ดูภายนอกเหมือนมีอุดมการณ์ แต่แท้จริงก็อาศัยความเป็นสื่อมวลชนหาประโยชน์ให้ตนเอง

ปัญญาชน ได้แก่ เมหตา และ มาลตี เมหตาเป็นอาจารย์สอนปรัชญาในมหาวิทยาลัย มาลตีเป็นแพทย์หญิง สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ แม้ในตอนต้นตัวละครทั้งสองจะใช้ชีวิตตามอำเภอใจ แต่ภายหลังได้ตระหนักถึงปัญหาสังคม และอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตน แม้กระทั่งเรื่องความรักและการแต่งงาน ข้อถกเถียงของคนทั้งสองนำเสนออุดมคติเกี่ยวกับชีวิตที่เสียสละและการสร้างสังคมที่เป็นธรรม

เปรมจันท์เชื่อมต่อเรื่องในตอนนี้ให้เข้าเนื้อเรื่องหลักอย่างหลวมๆ ให้ตัวละครของแต่ละตอนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในระดับการพบปะ เช่น ให้โหริถูกเกณฑ์ไปช่วยงานเทศกาลทเศหรา [10] ที่บ้านราอี สาหิบ ในฐานะผู้เช่าที่ดิน ให้เมหโตและมาลตี เดินทางไปสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยากในชนบท และพบกับโหริ ให้โคพรไปเป็นคนงานในโรงงานน้ำตาลของนายขันนา เป็นต้น

ภารกิจของภารตนวนิยายแปล “โคทาน”

เมื่อวิเคราะห์นวนิยายเรื่องโคทานทั้งส่วนที่เป็นเนื้อเรื่องและตัวละครสำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว จะพบว่ามีลักษณะสอดคล้องกับบทบาทของศิลปะที่จิตร ภูมิศักดิ์ นำเสนอไว้เมื่อกึ่งพุทธกาล ทั้งในด้านการเป็นศิลปะเพื่อชีวิต และศิลปะเพื่อประชาชน อันได้แก่ การฟอกความคิดเก่า การต่อกรกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม และการสร้างสำนึกอันแจ่มใส [11] บทบาทดังกล่าวนี้เมื่อประมวลกับผลงานวิชาการด้านวรรณกรรมของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เขียนไว้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่ว่าจะเป็น โองการแช่งน้ำ บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย ตลอดจนผลงานแปลนวนิยายของต่างประเทศ ทำให้มองเห็นภารกิจของภารตนวนิยายแปลเรื่องโคทาน ๒ ประเด็น ได้แก่

๑.โคทานเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน กล่าวได้ว่าการแปลเรื่องโคทานนี้เป็นกิจกรรมทางวิชาการกิจกรรมหนึ่ง ภายใต้กรอบของโครงการ [12] ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ที่จิตรจัดทำขึ้น โดยเริ่มจากการ เขียนบทความ ศิลปเพื่อชีวิต และศิลปเพื่อประชาชนในรูปแบบของสรรนิพนธ์ เพื่อสร้างและนำเสนอกรอบแนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อชีวิต และศิลปะเพื่อประชาชน ให้เข้าใจตรงกันเป็นเบื้องต้น จากนั้นจึงคลี่คลายไปสู่ภาคปฏิบัติ ให้รู้ว่าแนวคิดดังกล่าวทำงานได้ เริ่มจากการนำวรรณคดีโบราณมาวิเคราะห์ เช่น ระเด่นลันได นิราศหนองคาย เป็นต้น อันเป็นการอธิบายและขยายความแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิตที่มีเป้าหมายหลักคือการฟอกความคิดเก่า เพื่อให้แนวคิดนี้ชัดเจนและมีรูปธรรมรองรับ

ในส่วนของแนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อประชาชน ซึ่งเป้าหมายหลักของแนวคิดนี้ก็คือการสร้างงานสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าต่อประชาชนนั้น จิตรผู้ไม่เคยมีผลงานเรื่องสั้นหรือนวนิยาย ใช้วิธีการคัดสรรวรรณกรรมจากต่างประเทศมาแปล ไม่ว่าจะเป็นคนขี่เสือ ของ ภวานี ภัฏฏาจารย์ โคทาน ของ เปรมจันทร์ และแม่ ของ แมกซิม กอร์กี้ มาแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างการสร้างสรรค์งานเพื่อประชาชนว่าเป็นจริงได้ แม้ในระดับสากลก็มีผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว โดยเฉพาะในประเทศอินเดียที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่า ภารตนวนิยายแปลเรื่องโคทาน ของ จิตร ภูมิศักดิ์ นั้น เป็นรูปธรรมรองรับการดำรงอยู่ของแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน ทว่าข้อจำกัดในการเผยแพร่ในสมัยนั้น [13] ทำให้นักวิชาการทางวรรณคดีรุ่นหลังบางท่าน ที่มองผลงานของจิตรแบบแยกส่วน และตั้งข้อสงสัยเชิงโต้แย้งต่อผลงานของจิตร โดยเฉพาะผลงาน ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน เป็นต้นว่า

     อาจเป็นเพราะในหนังสือเล่มนี้ “ทีปกร” ต้องการเสนอแนวคิดและทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับศิลปะ มากกว่าที่จะวิเคราะห์เนื้อหาของศิลปะและวรรณคดีที่ปรากฏอยู่ จึงน่าเสียดายที่บางครั้งเขามองอย่างรวบรัด และผิวเผินเกินไป จนบางทีการยกตัวอย่างมีลักษณะคลุมเครือถึงขั้นโมเม (ดวงมน จิตร์จำนง ๒๕๒๘: ๑๙๘)

     อย่างไรก็ตาม “ทีปกร” มิได้แจกแจงและให้ตัวอย่างที่เห็นจริงว่า ความง่ายและแจ่มชัด ซึ่งมีความหมายทางนามธรรมนั้น ควรวัดจากอะไร กวีและศิลปินควรทำอย่างไร ที่จะให้งานศิลปะเป็นสื่อแห่งความคิดและอารมณ์ที่มีพลังจับใจ สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานหลายด้านต่ำกว่าเขา (ดวงมน จิตร์จำนง ๒๕๒๘: ๒๐๘)

     แต่สิ่งที่น่าชื่นชมก็คือ “ทีปกร” สามารถยั่วยุให้เกิดการใคร่ครวญ วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งปัญหาเกี่ยวกับลักษณะและแนวทางของศิลปะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดี อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน แม้ว่าจะมีลักษณะเป็นทฤษฎีมากกว่าการเสนอผลของการศึกษาวิเคราะห์ศิลปะ และวรรณคดีที่เป็นมาอย่างถี่ถ้วนก็ตาม (ดวงมน จิตร์จำนง: ๒๑๔-๒๑๕)

หากพิจารณาผลทางวิชาการด้านวรรณกรรมของจิตรโดยรวม ควบคู่ไปกับปริบทการสร้างงาน และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้สร้างตามควร ก็จะสามารถทำความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของงานชุดนี้ได้ไม่ยากนัก

๒. โคทานแสดงพัฒนาการของความรู้เรื่องภารตวิทยาในสังคมไทย แต่เดิมนั้นความรู้เรื่องอินเดียในสังคมไทยนั้นมีพัฒนาการ ๒ กระแส กระแสแรก เป็นการรับรู้เรื่องอินเดียแบบประยุกต์และปรับให้เข้ากับโลกทัศน์แบบไทย กระแสนี้มีมาก่อนรัชกาลที่ ๖ กระแสที่สอง เป็นการรับรู้ผ่านการแปลงานสันสกฤต-อังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้ริเริ่มคือรัชกาลที่ ๖ โดยมี น.ม.ส. เสฐียรโกเศศ นาคะประทีป แสงทอง หรือแม้แต่ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ดำเนินรอยตาม พัฒนาการทั้งสองกระแสนั้น มุ่งไปที่วรรณกรรมอินเดียโบราณ ทั้งที่เป็นมหากาพย์ ปกรณัมนิทาน นิยายต่างๆ

ในส่วนมหากาพย์นั้น มหากาพย์อินเดียสองเรื่อง ได้แก่ รามายณะและมหาภารตะได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยมหากาพย์ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องราวสรรเสริญวีรบุรุษซึ่งเป็นตำนานปรัมปราของชาติ ประกอบไปการต่อสู้และอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ในสังคมไทยนั้นรามายณะเป็นที่รู้จักในนามของรามเกียรติ์ และมีความผูกพันกับคนไทยทุกระดับชั้นมายาวนานกว่ามหาภารตะ

จิตร ภูมิศักดิ์ให้ความสำคัญแก่นวนิยายเรื่องโคทานระดับเดียวกับ “มหากาพย์” [14] แต่เป็น “มหากาพย์แห่งชีวิตชาวนาเบงกอล” หรือ “หรือมหากาพย์ใหม่ของชาวเบงกลี” มิใช่มหากาพย์ตามความหมายดั้งเดิม ซึ่งหมายถึงเฉพาะบทประพันธ์ร้อยกรองที่มีเนื้อหาสาระสดุดีการกระทำอันกล้าหาญของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายๆ คนรวมกัน (ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ๒๕๓๔: ๑) แต่มหากาพย์แบบใหม่ของจิตร หมายถึง บทประพันธ์ที่พรรณนาเรื่องราวชีวิตอันขมขื่นของชาวนา ตั้งแต่ชื่อเรื่องจนกระทั่งจบเรื่อง มหากาพย์แบบใหม่นี้ผู้แต่งคือเปรมจันท์ เป็นคนธรรมดาไม่ใช่ฤๅษีที่เชี่ยวชาญคัมภีร์พระเวทแบบวาลมิกิมหาฤษี ผู้แต่งรามายณะ ที่ร่ายโศลกด้วยความเศร้ารันทดเมื่อเห็นนกกระเรียนตัวเมียเสียใจร้องหานกกระเรียนตัวผู้ที่ถูกพรานยิงตาย

การแปลนวนิยายเรื่องโคทานเป็นภาษาไทย จึงถือเป็นการทลายกรอบความรู้ด้านภารตวิทยาในสังคมไทย ที่เกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า วีรบุรุษในตำนาน เรื่องเหนือจริง เรื่องลับสมองประลองปัญญาอันเป็นจารีตดั้งเดิมของวรรณคดีสันสกฤตไปสู่เรื่องราวของชนชั้นชาวนาอินเดียภายใต้ระบอบวรรณะที่เข้มงวด และระบอบอาณานิคม เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ความเชื่อหรือพระเจ้าที่ฝังแน่นในความคิดนั้นคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้ชาวนาอินเดียต้องมีชีวิตที่ทุกข์ยาก ภารตวิทยาแบบใหม่จึงเป็น “ภารตวิทยาปฏิวัติ” เพราะนอกจากจะไม่เชื่อพระเจ้าแล้ว ยังพยายามท้าทาย หักล้าง และขุดโค่นความคิดเก่าอย่างถอนรากถอนโคน

ก่อนหน้าจิตรจะแปลเรื่องโคทาน ก็มีความคิดเช่นนี้อยู่ รูปธรรมที่เห็นชัดก็คือ ผลงานของนายผี หรืออัศนี พลจันทร์ ที่แปลเรื่องสั้น “พระเจ้าอยู่ที่ไหน” (Where is God ?) ของ ราษิท ชาหันเป็นภาษาไทยและพิมพ์ใน อักษรสาส์น เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ ทว่า โคทาน ผลงานของ จิตร เผยแพร่หลังจากช่วงเวลานั้นมานานถึงยี่สิบปีเศษ ปรากฏการณ์วรรณกรรมประการหนึ่งที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า “ภารตวิทยาที่ปฏิวัติ” เป็นกระแสความคิดที่มีอยู่จริงและพัฒนาได้ ในสังคมที่มีเสรีภาพ นั่นก็คือปรากฏการณ์การแปลเรื่องสั้นและนวนิยายของนักเขียนชาวอินเดียเป็นภาษาไทยจำนวนมาก ทั้งงานของเปรมจันท์ ภวานี ฏัฏาจารย์ มุลค์ ราชอนันต์ กฤษณะ จันทร และของนักเขียนคนอื่น หลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ [15] นวนิยายแปลโคทาน ของ จิตร ภูมิศักดิ์ จึงสมทบเข้ากับกระแสนี้ในภายหลัง และแน่นอนว่าในสังคมที่ความคิดอนุรักษ์นิยมยังมีบทบาทสำคัญ ฐานะของภารตวิทยาปฏิวัติก็ยังคงเป็นความรู้นอกระบบ ไม่อาจปรากฏเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในรายวิชาของสถาบันการศึกษาใด

บทส่งท้าย

เมื่ออ่านและทำความเข้าใจนวนิยายแปลเรื่องโคทานของจิตร ภูมิศักดิ์ หลังจากที่ผู้แปลเสียชีวิตไปสี่สิบกว่าปี และสกุลทางศิลปะที่เขานำเสนอเพื่อให้สังคมยอมรับก็มิได้เป็นที่นิยมและเกือบจะไม่มีผู้ใดนำไปใช้วิเคราะห์วรรณกรรมโดยตรง แต่ก็ทำให้เห็นกระบวนการทำงานที่น่าทึ่งของปัญญาชนนักวิชาการคนหนึ่ง ที่มีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง และพยายามพิสูจน์ความเชื่อนั้นด้วยผลงานวิชาการ โดยที่ไม่ต้องมีแหล่งทุนหรือองค์กรใดรองรับ นอกจากนั้นผลงานของเขายังส่งผลต่อความรู้และความคิดของปัญญาชนไทยในระดับลึกซึ้งและยาวนาน เชื่อว่าประเด็นเรื่องจิตรนี้คงจะไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ ในอนาคตก็คงมีการแลกเปลี่ยนกันต่อไป

.................................................................................................................................

[1] ต้นฉบับเดิมของเปรมจันท์เขียนด้วยภาษาอูรดู
[2] เป็นภาษาสันสกฤตผสมเปอร์เซีย
[3] วรรณกรรมของเปรมจันท์ที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เช่น Sadgati (Salvation) , Shatranj Ke Khiladi (The Chess Players) โดย Satyajit Ray film , Sevasadan (House of Service) โดย M.S. Subbulakshmi เป็นต้น (ข้อมูลจาก wikipedia , the free encyclopedia )
[4] ได้แก่เรื่อง Seva –Sadan (เสวสถาน) (๒๔๕๐) เป็นเรื่องเกี่ยวกับซ่องโสเภณี
              Premashran (เปรมะจราญ)(๒๔๖๕) เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้เช่าที่ดินและเจ้าที่ดิน
              Nirmala (นิรมล)(๒๔๖๖) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแต่งงานในสังคมอินเดีย
              Ranga-bhumi (รังคภูมิ) (๒๔๖๗) เป็นเรื่องโจมตีบรรดานายทุนทั้งหลาย
              Karma-bhumi (กรรมภูมิ) (๒๔๖๘) เป็นเรื่องโจมตีระบอบอาณานิคม และ
              Godaan (โคทาน) (๒๔๗๙) (จิตติน ธรรมชาติ ๒๕๑๘: ๑๓-๑๕)
[5] ขณะนั้น จิตติน ธรรมชาติ ยังไม่ทราบว่า จิตร แปลโคทานได้เพียง ๑๗ ตอน และต้นฉบับยังมิได้สูญหาย
[6] ข้อมูลจากจิตติน ธรรมชาติ ระบุว่าลงในสายธาร พ.ศ.๒๕๐๐ (จิตติน ธรรมชาติ ๒๕๑๘: ๔) แต่ ในส่วนนำของหนังสือโคทาน ฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ได้สรุปความบทความดังกล่าวและบอกแหล่งที่มาว่า มาจากนิตยสารกะดึงทอง กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ ซึ่งต้องตรวจสอบที่มาที่ถูกต้องต่อไป
[7] คัดจากตอนหนึ่งของบทสรุปความ “เปรมจันท์วิศวกรผู้สร้างวิญญาณมนุษย์แห่งอินเดีย” ในส่วนนำของ หนังสือโคทาน ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๕๒๑ ไม่มีเลขหน้า
[8] สภาของหมู่บ้านแบบเก่าที่ชาวบ้านตั้งกันเอง (ศรีนาคร: ๑๘๗)
[9] หมายถึงเจ้าที่ดิน
[10] ทเศหรา คือเทศกาลฉลองวันพระรามชนะทศกัณฐ์ วันเพ็ญเดือนพฤศจิกายน มีการประดับโคมไฟ ทำรูปทศกัณฐ์ด้วยกระดาษ แล้วเผาไฟทิ้ง (ศรีนาคร: ๑๙)
[11] ดูรายละเอียดใน ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน ของจิตร ภูมิศักดิ์
[12] จิตร ระบุไว้ในการพิมพ์ครั้งแรกว่า ในการเขียนหนังสือเรื่อง ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน นั้น ได้วางแผนทำงานในลักษณะ “โครงการ” (ทีปกร: คำนำ) และโปรดดูเชิงอรรถที่ ๑๒ ประกอบด้วย
[13] จิตรกล่าวไว้ในคำนำหนังสือศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน ฉบับพิมพ์ครั้ง ๑ ถึงความยากลำบากในการเขียนไว้ว่า
            “ในการพิมพ์ครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้รื้อแก้ไขใหม่หลายตอน ทั้งนี้เพราะบทความเหล่านี้เขียนเพื่อลงพิมพ์ในหนังสือที่มีเงื่อนไขต่างกัน ข้อความบางอย่างที่ปรารถนาจะกล่าวถึงก็ต้องหลบเลี่ยง ข้อความบางอย่างที่ไม่ปรารถนาจะกล่าวถึงก็จำใจบรรจุลงไป ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของแต่ละแห่ง มาในคราวนี้แก้ไขเพิ่มเติมตัดตอนเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น แต่กระนั้นก็ยังมีอีกหลายแห่งที่ไม่อาจเขียนได้ตามใจที่ปรารถนาได้ เนื่องด้วยยังมีเงื่อนไขอีกหลายประการ บีบบังคับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักสิทธิมนุษยชนอยู่ นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ “เวลา” เพราะเหตุที่เวลาที่มีอยู่ต้องใช้ไปในด้านอื่น จึงทำให้บทความชิ้นท้าย ๆ มิได้รับการแก้ไขแต่งเติมสมดังที่ได้กะไว้ในโครงการ” (ทีปกร ๒๕๑๗: คำนำ)
[14] โปรดดู อารัมภบทของบทความนี้ ซึ่งเป็นข้อเขียนของศรีนาคร (จิตร ภูมิศักดิ์)
[15] เรื่องสั้นและนวนิยายอินเดียที่แปลเป็นไทย ได้แก่ ได้มาด้วยกาลเวลา ของ ปรีชา ช่อปทุมมา (๒๕๑๘) พระแม่เจ้าทองคำ ของ ทวีป วรดิลก(๒๕๑๙) ดวงอาทิตย์สีดำ ของ กิติมา อมรทัต (๒๕๑๙) ข้าวกำมือเดียว ของ ชยะ ศรีกฤษาณ (บรรณาธิการ ๒๕๒๑) คืนเดือนสอง ของ กิติมา อมรทัต และ วีนัส จรูญโรจน์ ณ อยุธยา (๒๕๒๓) เป็นต้น


บรรณานุกรม
         
กรุณา กุศลาสัย.ภารตวิทยา.กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๕๐.
กิติมา อมรทัต.”งานของเปรมจันทร์”.ใน กองทัพประชาชน. หน้า ๑-๑๙. กรุงเทพฯ: ชมรม
            หนังสือบัวแดง, ๒๕๑๙.
จิตติน ธรรมชาติ.”ตามสายตาของผู้อ่านธรรมดาสามัญ” ใน ได้มาด้วยกาลเวลา. หน้า ๑-๑๙.
            กรุงเทพฯ: บูรพาสาส์น, ๒๕๑๘.
ดวงมน จิตร์จำนง. “กลับไปอ่านศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน” ใน หลังม่านวรรณศิลป์.
            หน่ ๑๘๕-๒๑๖. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, ๒๕๒๘.
ทวีป วรดิลก. “จิตร ภูมิศักดิ์กับแม่ชองแมกซิม กอร์กี้” ใน แม่. ไม่มีเลขหน้า. กรุงเทพฯ: เกิดใหม่
            ,๒๔๒๑.
ทีปกร.ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน.กรุงเทพฯ: ชมรมโดม-ทักษิณ, ๒๕๑๗.
“เปรมจันท์ วิศวกรผู้สร้างวิญญานมนุษย์แห่งอินเดีย” ใน โคทาน มหากาพย์แห่งชีวิตและการ
            ต่อสู้. ไม่มีเลขหน้า. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, ๒๕๒๑.
ปรีชา ช่อปทุมมา. “เปรมจันท์ ผู้วางแนวนวนิยายอินเดีย” ใน ได้มาด้วยกาลเวลา. หน้า ๒๓-๔๘.
            กรุงเทพฯ: บูรพาสาส์น, ๒๕๑๘.
ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา.วรรณวิทยา.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาฯ, ๒๕๓๔.
ศรีนาคร และศริติ ภูริปัญญา (แปล).โคทาน.ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ คุณแม่แสงเงิน ฉายาวงศ์
            วัดบางขวาง นนทบุรี วันเสาร์ที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๓.
สมิทธิ์ ถนอมศาสนะ. “ประวัติศาสตร์นิพนธ์แนวคิด ศิลปะเพื่อชีวิต (พ.ศ.๒๔๙๒-๒๕๐๑)”
            วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์
            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น