จาก : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นิตยา พูนเพิ่ม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ คว้ารางวัลพานแว่นฟ้า ประเภทกวีการเมือง 

ณ ที่นี่สุขดีกว่าที่ไหน

ประชาธิปไตยเบ่งบานเต็มลานฝัน

ไม่สร้างกฎกติกาให้ฆ่ากัน  ไม่ขีดคั่นพื้นที่ด้วยสีใด

เจ้าปกครองเขตแดนแผ่นกระดาษ

ตวัดวาด....เส้นสื่อ....แสนซื่อใส

ความตั้งใจจานเจือจากเนื้อใจ 

ปาดเหงื่อไคลจนแก้มน้อยเปื้อนรอยดำ...


เป็นส่วนแรกของถ้อยคำซึ่งถูกร้อยเรียงขึ้นเป็นบทกวีที่ใช้ชื่อว่า 'กระดาษแผ่นดิน' อันเป็นผลงานที่คณะกรรมการตัดสิน รางวัลวรรณกรรมการเมือง 'พานแว่นฟ้า' พิจารณาแล้วว่าเป็นบทกวีที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้

ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 8 ของการจัดพิธีมอบรางวัลวรรณกรรมการเมือง พานแว่นฟ้า โดยความร่วมมือของรัฐสภาและสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และถือว่าเป็นครั้งที่มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ประกอบด้วยประเภทเรื่องสั้น 346 เรื่อง และบทกวี 532 ชิ้น โดยเหตุที่รางวัลพานแว่นฟ้าได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดแต่ละครั้งจึงมีตั้งแต่นักเขียนหน้าใหม่ ไปจนถึงมือวรรณกรรมระดับที่มี 'ซีไรท์' เป็นประกัน

จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่เจ้าของผลงาน 'กระดาษแผ่นดิน' ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทบทกวีในปีนี้เป็นนักเขียนหน้าใหม่วัยเรียน มด-นิตยา พูนเพิ่ม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ด้วยความสามารถในการประพันธ์เ ธอสามารถสะท้อนมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อการเมืองได้อย่างน่าสนใจ

ถามถึงความรู้สึกของกวีวัยใสที่เพิ่งคว้ารางวัลใหญ่เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ?

"รู้สึกว่าไม่น่าจะได้น่ะค่ะ" น้องมด ตอบพร้อมเสียงหัวเราะร่วน ก่อนจะขยายความด้วยเสียงถ่อมตัวว่าถึงแม้เธอจะตั้งใจและทุ่มเทกับงานทุกชิ้น แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านประสบการณ์และทักษะทางวรรณกรรม 'พานแว่นฟ้า' จึงเป็นรางวัลจากเวทีใหญ่เกินกว่าที่เธอในวัยเพียง 19 ปีจะกล้าคาดหวัง

"โดยตัวรางวัลก็ถือว่าเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดที่หนูเคยได้ แต่ถ้าตัดสินกันที่ผลงาน สำหรับหนูความสำคัญอยู่ตรงที่เราสามารถถ่ายทอดให้ผู้อ่านรับรู้บางสิ่งหรือฉุกคิดบางอย่างได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็ถือเป็นรางวัลใหญ่แล้ว" ในความอ่อนน้อมถ่อมตน ดูเหมือนกวีปี 1 ยังมีมุมมองคมคายพอตัว

ooo

...บอก "พ่อจ๋า ดูซิ...นี่ภาพหนู"         ยกรูปชู...แย้มยิ้ม อย่างอิ่มหนำ
ตามองเพ่ง สักพัก แล้วพึมพำ           กลั่นน้ำคำหยาดเยาว์เล่าเรื่องราว
ว่า “ตรงนี้หนูวาดราษฎร                 พานแว่นฟ้าคืออาภรณ์ผ่อนร้อนหนาว
หน้าทุกหน้าอาบยิ้มอิ่มนานยาว        ใต้ดวงดาวสันติภาพทาบแสงทอ...

'มด' รักการเขียนกลอน ที่ผ่านมาเธอบันทึกเรื่องราวตามความสนใจ ทั้งเรื่องทางสังคม การเมือง ธรรมชาติ ฯลฯ

ผู้ที่ผลักดันและเป็นแรงบันดาลใจคนสำคัญให้เธอลงมือเขียนบทกวีคือ สาทร ดิษฐสุวรรณ กวีเจ้าของนามปากกา 'ทร ดิษฐสุวรรณ' และเป็นคุณครูโรงเรียนสทิงพระวิทยา ซึ่ง 'มด' เข้าเรียนในชั้นมัธยม ทุกครั้งที่มีโอกาส เธอจะเลือกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านการเขียน ตอนมัธยมต้น 'มด' เลือกวิชาตามความสนใจเป็นวิชาแต่งคำประพันธ์ พอถึงชั้นมัธยมปลาย เธอก็เลือกเข้า 'ชุมนุมวรรณศิลป์'

'คุณครูสาทร' ยังสนับสนุน 'มด' และเพื่อนๆ ให้เข้าร่วมประกวดในหลายเวที ทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศ
"เพราะครูเป็นนักเขียนด้วย ได้อ่านงานของครูทำให้เกิดแรงบันดาลใจ พอสนใจอยากเขียนกวีก็ยิ่งต้องอ่านกวีนิพนธ์มากๆ จากเดิมที่อ่านหนังสือทั่วๆ ไป พวกนิยายต่างๆ" มดบอกว่าเธอเริ่มอ่านหนังสืออย่างจริงจังตอนขึ้นชั้นมัธยม โดยช่วงพักกลางวัน เธอจะเข้าห้องสมุด เลือกหาหนังสือที่สนใจมาตะลุยอ่าน

ถ้าถามย้อนกลับไปถึงการเพาะนิสัยรักการอ่านว่าต้องเริ่มตั้งแต่เยาว์วัย หรือไม่ ?

"หนูอ่านตั้งแต่อยู่ประถม แต่ไม่อ่านการ์ตูน รู้สึกว่าอ่านแล้วไม่ค่อยได้ความรู้อะไรมาก ชอบพวกสมุดภาพมากกว่า ภาพๆ เดียวทำให้เราได้ใช้จินตนาการโดยไม่มีกรอบ เทียบกับการอ่านการ์ตูนทั้งเล่มที่เหมือนถูกทำให้ต้องคิดตามที่เขากำหนดไว้"

ปัจจัยพื้นฐานจากครอบครัวล่ะ มีส่วนสำคัญที่สร้างเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับน้องมดหรือเปล่า ?

"ที่บ้านหนูไม่ค่อยมีหนังสือ แต่มีต้นไม้ มีนก มีธรรมชาติ หนูว่าเราอ่านได้จากสภาพแวดล้อมรอบตัว ทำให้จินตนาการได้ไกลกว่าการอ่านหนังสือ"

เพราะเติบโตมากับธรรมชาติ เธอเลยเลือกเรียนในสาขาวิชาด้านทรัพยากรธรรมชาติ ..ทำไมไม่เลือกเรียนด้านภาษาซึ่งเป็นอีกด้านที่สนใจไม่แพ้กัน ?

"คิดว่าสิ่งที่เรารักไม่ควรจะเครียดมากน่ะค่ะ อีกอย่างก็เป็นภาษาของพ่อแม่ อยากรู้ก็เรียนเองได้ เรารักก็ไม่ทิ้งอยู่แล้ว เลยเลือกเรียนในสิ่งที่คิดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต เรื่องทรัพยากรก็น่าสนใจ เพราะวิชาส่วนมากมุ่งแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากร แต่สาขานี้เน้นพัฒนาสิ่งแวดล้อม"

ooo

...ไม่ลงสี หนูคงไม่ลงสี              ไม่อยากมี เหลือง - แดง แบ่งแม่พ่อ
เช่นร้อยพันอันธพาลผ่านหน้าจอ    บ้างหลอกล่อบ้างก่นด่าไม่น่าฟัง
เขาคงมีภาพวาดกระดาษเขา         หลอมรูปเงาร้ายร้ายระบายหวัง
เขาคงขีดสงครามความเกลียดชัง   สงสารจัง กระดาษ, ราษฎร
อยากลบรอยลบล้างด้วยยางลบ     หยุดจุดจบ หดหู่ อุทาหรณ์
ก่อนตะกอนสกปรก ตกตะกอน      ฝังทุกข์ร้อน แนบภาพ ตราบนิรันดร์”...

'คุณครูสาทร' อีกนั่นแหล่ะ ที่บอกเธอเกี่ยวกับเวทีวรรณกรรม 'พานแว่นฟ้า' ซึ่งโจทย์ฟังดูกว้างๆ ว่าต้องมีเนื้อหาว่าด้วยทางการเมือง แต่ก็เป็นการตีวงเข้ามาจากที่เธอเคยเขียนร้อยกรองเรื่องสายลม แสงแดด และป่าเขา

"สนใจการเมืองระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้อินไปกับเหตุการณ์ พอได้หัวข้อมาก็คิดว่าเราควรจะเขียนมุมไหน จะเขียนเหมือนผู้ใหญ่ เราก็ด้อยประสบการณ์"

'มด' เริ่มเก็บข้อมูลจากสถานการณ์การเมืองรอบตัวและติดตามจากสื่อต่างๆ ในที่สุด ตัดสินใจว่าเธอจะเขียนจากมุมมองของตัวเอง ในฐานะของผู้ที่ 'ด้อยประสบการณ์'

"คิดว่าในภาวะสังคมที่เป็นอยู่ ผู้ใหญ่อาจมองแต่ความคิดของตัวเอง จนลืมไปว่ามีสายตาเล็กๆ ที่มองอยู่ แล้วการกระทำของผู้ใหญ่ก็มีความสำคัญต่อความคิดของพวกเขา ถ้าเด็กๆ ถูกปลูกฝังด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่แบบนี้คงไม่ค่อยดีเท่าไร"

แล้วสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยดีเท่าไรในสายตาเด็กอย่าง 'มด' มันคือแบบไหนกัน ?

"แบบที่คนส่วนใหญ่เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง มุ่งแต่ความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ไม่สนใจความคิดเห็นของคนอื่น คิดว่าตัวเองถูกแล้ว ดีแล้ว จริงๆ  หนูว่าความเห็นที่แตกต่างไม่น่าจะกระทบกับการดำเนินชีวิต จนมองหน้ากันไม่ติด หรือเป็นเหตุให้ต้องเสียมิตรภาพที่มีมายาวนาน"

กวีรุ่นเยาว์มองว่าสภาวะแวดล้อมเช่นนี้เป็นปัญหาใหญ่ ในฐานะที่เป็นเด็ก 'มด' บอกว่าเธอได้แต่นั่งมองผู้ใหญ่ทะเลาะเบาะแว้ง และคอยเป็น 'กองเชียร์' .."เอ๊ะ เรียกว่าเป็นคนกลางดีกว่าค่ะ (หัวเราะ) คิดในใจได้ บางครั้งก็ไม่ควรจะแสดงความเห็น"

แล้วเด็กๆ อย่างเธอ เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความคิดเห็นที่แบ่งแยกแตกต่าง ?

"เห็นต่างก็ควรฟัง คงไม่มีใครถูกเสมอไป คิดต่างก็ไม่ได้แปลว่าเขาผิดเสมอไป ฟังแล้วเอามาคิด เป็นความรู้ แทนที่จะเอามาเป็นอารมณ์ สมมติว่าเรามีแอปเปิ้ลคนละลูกมาแลกกันก็ได้แอปเปิ้ลคนละลูก แต่เอาความคิดเห็นมาแลกเปลี่ยนกัน เราได้ความคิดใหม่ๆ เยอะแยะน่ะค่ะ" เป็นมุมมองของนักเขียนรุ่นเยาว์ ที่ถ่ายทอดความคิดเหล่านี้ผ่านบทกวีชื่อ 'กระดาษแผ่นดิน' ซึ่งจบลงตรงที่ว่า...

...ณ ที่นี่ นาทีนี้ คือที่ไหน ?  ใครหนอใครแลเหลียวหนึ่งเสี้ยวฝัน
กับสังคมแตกต่างถึงทางตัน  ภาพเหล่านั้น ลบเลือน เปื้อนน้ำตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น