สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ
ลายพุทธศักราช ๒๕๕๓ ร้านหนังสือเดินทาง ร้านหนังสือเล็กๆ ที่เจ้าของร้านคัดสรรหนังสือดีเกี่ยวกับการเดินทางและวรรณกรรม สร้างบรรยากาศจนกลายเป็นร้านที่ผู้คนมานั่งจิบกาแฟและอ่านหนังสือได้อย่างสบายใจ เป็นเสมือนห้องสมุดชุมชนและร้านหนังสือในอุดมคติของคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย เดินทางมาถึงปีที่ ๑๐ แล้ว–นับจากที่ “หนุ่ม” อำนาจ รัตนมณี ลาออกจากงานประจำมาเปิดร้านที่หัวมุมถนนพระอาทิตย์เมื่อปี ๒๕๔๕ ท่ามกลางการแข่งขันของร้านหนังสือขนาดใหญ่
สี่ปีแรก ร้านผูกติดกับจังหวะชีวิตนักเดินทางทั้งไทยและเทศที่สัญจรอยู่บนถนนพระอาทิตย์ ก่อนจะปิดตัวลงปลายปี ๒๕๔๘ ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ  กระทั่งต้นปี ๒๕๔๙ หนุ่มตัดสินใจเปิดร้านหนังสือเดินทางอีกครั้งบนถนนพระสุเมรุ จนถึงกลางปี ๒๕๕๒ เขาก็ย้ายไปพำนักในต่างประเทศระยะหนึ่ง ซึ่งเขาบอกว่าเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่จำเจ
หนุ่มไปใช้ชีวิตที่ประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งทั้งอัตราค่าครองชีพและอัตราว่างงานสูง
“อยู่ที่นั่นต้องไม่เลือกงาน แต่คิดจะไปตัดหญ้าในสนามกอล์ฟหรือหิ้วกระเป๋าในโรงแรมก็ไม่ง่าย เพราะงานทุกอาชีพต้องมีประสบการณ์ บางงานต้องมีใบอนุญาต  เราหางานจนรองเท้าพัง ร่มพัง เพราะภูมิประเทศเป็นเนินเขาอยู่ใกล้ทะเล ลมแรงและฝนตกเป็นแนวนอน”
เวลาเกือบปีเขามีประสบการณ์ทั้งเป็นเด็กเสิร์ฟ คนล้างจาน และ “ได้รู้ว่าที่นั่นทุกอาชีพมีมาตรฐาน อย่างงานล้างจาน อุปกรณ์ครัวทุกชิ้นล้างทุกครั้งที่ใช้งาน ต้องล้างครัว เช็ดเตา ทิ้งขยะ ทำคนเดียวหมด  ผมใช้เวลาว่างจากงานเข้าห้องสมุดประจำเมือง เดินตามสวนสาธารณะ เดินจนรู้จักเมืองทั้งเมือง”
เมื่อมีโอกาสสำรวจร้านหนังสืออิสระจำนวนมากเขาก็พบว่า “จุดเด่นคือวัฒนธรรมการอ่านของเขาเข้มแข็งแม้มีประชากรเพียง ๔ ล้านคน ร้านหนังสืออิสระอยู่ได้ ถนนสายหนึ่งมีร้านหนังสือ ๓-๔ ร้าน เจ้าของร้าน ๓ แห่งเป็นลูกจ้างร้านแรกมาก่อนจนวันหนึ่งก็แยกมาทำร้านหนังสือของตนเองแต่คนละสไตล์ เขามีเครือข่ายถึงกันหมด  เราคิดว่าอยากกลับมาทำร้านหนังสือให้ดีเหมือนที่พวกเขาทำ
“ที่จริงแล้วผมมีสิทธิเป็นพลเมืองที่นั่น แต่ก็ได้ข้อสรุปว่าในแง่สภาพแวดล้อมนิวซีแลนด์น่าอยู่ พลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ความหลากหลายทางสังคมต่ำ ผมชอบสังคมที่หลากหลาย และผมถามตัวเองเรื่องความภูมิใจในการมีชีวิต  หลายคนอยู่เมืองนอกแสดงออกว่ารักเมืองไทยด้วยการติดธงชาติ ผมคิดว่าไม่พอ อยากมาทำอะไรให้บ้านเกิด  ผมภูมิใจกับร้านหนังสือเดินทาง สนุกกับมัน ภูมิใจที่เห็นเด็กหนุ่มสาวเข้าร้าน ดีใจที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอ่านหนังสือดี ๆ และวันหนึ่งเขากลับมาบอกว่าชอบหนังสือเล่มนั้น  ผมไม่ได้หวังจะเปลี่ยนอะไรใหญ่โต แต่ชอบทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้”
ปลายปี ๒๕๕๓ หนุ่มจึงกลับเมืองไทยมาทำร้านหนังสือที่เขารักอีกครั้ง  วันนี้หากใครไปเยือนร้านหนังสือเดินทางจะพบว่าในร้านมีโต๊ะนั่งอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ชั้นหนังสือจัดวางใหม่ให้ร้านดูโปร่งสบายตา และเจ้าของร้านยังมีโครงการทำกิจกรรมกับชุมชนรอบ ๆ ด้วยในอนาคต
“ผมได้แนวคิดใหม่ ๆ มามาก ที่ตั้งใจคือปรับปรุงร้านให้ดีขึ้น กระตุ้นชุมชนรอบ ๆ ร้านทั้งในแง่กายภาพและวิธีคิด  ชุมชนบนถนนพระสุเมรุมีสัญญาณที่ดี มีแนวโน้มในการเป็นถนนสายวัฒนธรรม ทำให้ดีจะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนเมืองมาใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  ผมคิดว่าการทำร้านหนังสือเป็นการทำกรรมดีและจะทำต่อไป อ้างว่าช่วยชาติคงโดนถีบ (หัวเราะ) แต่ทำอย่างนี้ชีวิตไม่น่าจะไปในทางเสื่อม”
* ร้านหนังสือเดินทาง เปิดทุกวัน เว้นวันจันทร์  ๑๐.๐๐-๑๙.๐๐ น.