talk
จดหมายถึงหนุ่มเมืองระโนด
โดยประทีป จิตติ ณ วันที่ 6 กันยายน 2010 เวลา 17:51 น.
๖ ก.ย. ๕๓
สวัสดีครับพี่   
ไม่อยากถามตามสูตรสำเร็จในการเขียนจดหมาย (หรือมรรยาท) ว่าพี่ ท่านสบายดีไหม  แฮ่ม เท่าที่เห็นถ้อยความจากสื่อออนไลน์เห็นพี่ท่านสบายดี ก็ว่า พี่ท่านสบายดีดังถ้อยคำ  สบายทั้งอารมณ์และรื่นรมย์กับความเป็นไปของชีวิต   ส่วนเรื่องงานเขียนนั้นคิดว่าพี่ท่านยังคงดีอยู่   
ผมไม่ได้เขียนเรื่องยาวของแม่หญิงเรไรกับแม่นางราตรีมาตั้งแต่วันศุกร์  หนแรกคิดว่าจะนั่งเขียนวันเสาร์ เอาเข้าจริงวันเสาร์ก็นอนดูหนังทั้งวัน    
เรื่องของเรื่อง ไปได้แผ่นหนังเรื่อง Gone With The Wind สองแผ่น  ความยาม ๔ ชั่วโมง, พี่ท่านเคยดูหรือยังมิทราบ    
จริงแล้วไม่ได้คิดเสาะแสวงหาแผ่นหรอกขอรับ เพียงแต่วันนั้นไปเดิน ห้างเพื่อจะไปหาซื้อรองเท้าสักคู่ แต่ดันซอกแซกเข้าซุ้มขายแผ่นหนัง บังเอิญมันมี แต่หนังเก่า ๆ ทั้งนั้นเลย หลายเรื่องเคยดูจากทีวี บางเรื่องอยากซื้อเก็บ การเก็บ หนังสักเรื่องนั้นหมายความว่าต้องชอบจริง ๆ คือดูกี่ครั้ง ๆ ก็ไม่เบื่อ นอกจากวิมาน ลอย (ซึ่งบอกแล้วไม่ได้ตั้งใจซื้อ แต่ด้วยเพราะเห็นว่าเสียงชื่นชมหนาหูนัก) ก็ได้ " แรมโบ้" ภาคแรก ด้วยความที่มันเป็น "ดรามา" มากกว่าบู๊ จึงชอบ
ไตเติ้ลของแรมโบ้ บอกว่า เบส ออน โนเวล หมายถึงมันเป็นเรื่องแต่ง  เป็นหนังสือมาก่อน น่ามีเล่มแปลนะ เนื้อหามันตีแผ่สภาพสังคมอเมริกันหลังยุค สงครามเวียดนาม ทัศนคติของชาวอเมริกันที่มีต่อทหารผ่านศึก ไอ้เรื่องอย่างนี้ย่อม ไม่มีถูกผิด มีแต่ความไม่เข้าใจในความเป็นคนด้วยกัน  
เท่าที่เคยอ่าน ๆ มา ก็คนอเมริกันนั่นแหละแรกเริ่มเดิมทีสนับสนุนเด็ก หนุ่มให้ไปรบ ภายใต้คำขวัญ "เพื่อพิทักษ์โลก" ในฐานะที่อเมริกาเป็นตำรวจโลก ก็ ต้องปฏิบัติตามนั้น แล้วนานไป สงครามยืดเยื้อ เด็กหนุ่มล้มตายเป็นจำนวนมาก ( ครึ่งแสน หรือล้าน ไม่แน่ใจ) ก็เริ่มต่อต้าน รังเกียจพวกที่รบกลับมา ซึ่งหลายคนสติ แตก ใช้ชีวิตอย่างประชดสังคม เป็นไอ้ขี้เมา เป็นไองั่ง ฯลฯ เรื่องราวเช่นนี้ได้สะท้อน อยู่ใน Born on the 4th of July (เบส ออน ทรู สตอรี่) ผลงานกำกับของ โอลิเวอร์  สโตน (ใช่หรือเปล่าไม่แน่ใจอีกละ)    
Stone ชอบทำหนังสงครามที่ตีแผ่ด้านมืดของสงคราม ไม่บู๊ล้างผลาญ  ระเบิดตู้ม ๆ เอามันสะใจ  อย่าง Platoon นั่นก็อีกเรื่อง ที่ตีแผ่ด้านมืดกับสว่างของคน  โดยผ่านการเล่าเรื่องของคนกลางที่มีต่อคนสองคน คนหนึ่งบ้าระห่ำ บ้าสงคราม เต็มตัว ศีลธรรมมอดไหม้ ความเป็นคนหมดไป กลายเป็นสัตว์สงครามเต็มตัว  ขณะที่อีกคนหนึ่งยังมีความเป็นคน และคนสองคนนี่ละที่ต้องต่อสู้กันเอง ขณะ เดียวกันก็ต้องต่อสู้กับข้าศึก    
บัดซบดีจริง ๆ    
แต่นั่นแหละ ชีวิตจริงไม่ต้องเข้าสู่สงครามตามรูป เราก็ล้วนมีสภาพไม่ ต่างกัน    
ในชีวิต เราก็ต้องต่อสู้กับ... กับอะไรเล่า อย่างน้อยก็ "ใจ" ของเรานั่นเอง  
"ไม่มีอะไรน่ากลัว เท่ากับเรากลัวตัวเราเอง" ตัวเรา ก็คือ ใจ ของเรา   
พี่ท่านว่า ระหว่างการเอาชนะใจของตัว กับเอาชนะสิ่งอื่น ๆ อย่างไหน ยากกว่ากัน    
บางคนว่า หากเราเอาชนะใจของเราได้แล้ว สิ่งอื่นมันก็ไม่ยาก    เฮ้อ... มันพูดง่ายนะ, หมายถึงแค่พูดน่ะง่าย ส่วนจะปฏิบัติได้หรือไม่นั่น  ย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละคน   
ชวนคุยเรื่องหนัง แล้วไพล่มาเรื่องปรัชญาเสียนี่ ฮา... แต่ก็อย่างว่า หาก ย้อนกลับไปจะเห็นว่า ทุกสิ่งที่กล่าวมานั้นมันสัมพันธ์กัน หาใช่เลื่อนลอย   
กลับไปที่เมื่อดูวิมานลอยจบดีกว่า, ดูแล้วก็ไม่อะไรนัก ดูเพื่อศึกษาไปใน ตัวด้วยว่า ๗๐ ปีที่แล้ววงการภาพยนตร์ของอเมริกานั้นเป็นยังไง เรื่องบทสนทนา  มุมกล้อง ฉาก แล้วก็ต้องร้อง อื้อ ไม่มีส่วนไหนให้ต้องสะดุดหรือทำให้เสียอารมณ์  โดยเฉพาะฝีไม้ลายมือการแสดงของตัวเอกทั้งสี่ โดยเฉพาะวิเวียน ลีย์ สีหน้าแวว ตาในการแสดงต้องเรียกว่าสุดยอด เป็นธรรมชาติ ส่วนพ่อพระเอก เครก แกมเบิ้ล  นั้นก็ใช่ย่อย สีหน้าแววตาตามบทเล่นได้ร้ายนุ่ม ๆ (ผมคิดถึงไพโรจน์ ใจสิงห์ สมัย หนุ่ม ๆ เลยนะ เป็นพระเอกในมาดผู้ร้าย หล่อเข้มดุ ฮา) ดูแล้วก็คิดถึงเรื่อง Cold  Moutian ด้วยเพราะว่าเรื่องนี้มีตัวเอกหญิง ๒ คน คือ นิโคล คิดแมน กับ เรอเน่ เซวี เกอร์ บุคลิกในเรื่องก็คล้าย ๆ กับ สกาเล็ต และ เมลานี, คนหนึ่งเรียบร้อย คนหนึ่ง ออกห้าว ๆ เสียแต่ว่า ผมให้ใจเรื่องโคล เมาเท่นมากกว่า เหมือนเป็นอีกด้านหนึ่ง ของวิมานลอย คือเป็นเรื่องราวของชาวบ้าน ๆ ไม่ใช่ชนชั้นเจ้าของที่ดิน เต็มไปด้วย ความแร้นแค้นจากสงคราม 
พอคิดถึงเรื่องโคล เมาเท่น ก็จำได้ว่า ใน "จดหมายจากนักเขียนหนุ่ม" พี่ หนกเขียนถึงเรื่องนี้เหมือนกัน จึงกลับไปเปิดหนังสือดูว่า พี่แกพูดถึงไว้ว่าอย่างไร
อย่างว่านะครับพี่ท่าน ตั้งใจจะหาส่วนที่พูดถึงหนัง ก็เถลไถลอ่านใน ส่วนที่เขียนถึงขจรฤทธิ์เสียจนหมด ฮา.... เอ้า เพลินดี ๆ ทีนี้หาไม่พบ (ทีแรกคิดว่า น่าจะอยู่ในส่วนของขจรฤทธิ์) โน่น ไปอ่านในส่วนของขวัญยืน จบแล้วก็ยังไม่เจอ  กระทั่งไปพบอยู่ในจดหมายถึงจรรยานั่นแหละ ฮา....อีก    
พี่หนกว่า ชอบ มันมีลักษณะเหมือนเรื่อง "บ้านเกิด" เนี่ย เดี่ยวผมต้องไป หาก่อนว่าเคยอ่านหรือยัง คลับคล้ายว่าอยู่ในเล่มแผ่นดินอื่น ก็ต้องไปดูก่อนว่าเล่ม นี้มีไหม (ผมคิดว่ายังไม่มีนะ) เอาเถอะ แกบอกอีกว่า หนังเรื่องนี้มันเป็นการทำลาย ภายใจของปัจเจกชน อันเกิดจากสงคราม (ซึ่งประเด็นใหญ่มากกว่าบ้านเกิด  เพราะนั่นเป็นสงครามกลางเมืองของฝ่ายเหนือกับใต้ของสหรัฐฯ)   
นั่นแหละ, พี่หนกพูดถึงแค่นั้น แต่กว่าผมจะค้นเจอก็ได้อ่านงาน จดหมายแกไปตั้งหลายฉบับ    
อาถรรพณ์ หรือ ปาฏิหาริย์ ล่ะพี่ท่าน ฮา... อยู่ดี ๆ วันอาทิตย์เกือบทั้งวัน  ผมได้แต่นั่งอ่านจดหมายของพี่แก   
เป็นอันว่าเรื่องยาวของแม่หญิงฯ จึงยังคงค้างไว้ในตอนที่ ๒๔, วันนี้ แหละสมควรแก่เวลา ผมจะนั่งหลังแป้นพิมพ์สี่ทุ่มตอกแป้นทันที (อากาศ บรรยากาศดีเสียด้วยเพราะแม่บ้านต้องเข้าเวร ปล่อยอารมณ์กับเรื่องให้เต็มที จิบ กาแฟ ตอกแป้นพิมพ์)   
เขียนยาวไปเสียแล้ว ทวนแล้วเห็นเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์ล้วน ๆ  ไม่มีการเมือง เรื่องการเมืองเดี๋ยวพี่ท่านไม่ถูกจริตเข้า รกวุ่นสมองเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ว่าง เมื่อไหร่ค่อยตอบมานะครับ ผมจะถือโอกาสเอาเปรียบพี่ท่านอย่างนี้แหละ เขียน มากกว่า ฮา...
คารวะ.
ประทีป จิตติ.

สนธยากาลสวัสดิ์พี่ทั่น
มาหนนี้ดันข้าพเจ้าเข้ามุมล็อคคอตีเข่าซะจุกลิ้นปี่ ตาค้างแทบร่วงลงกองพื้นเวที จนแต้มไม่รู้จะโต้ตอบอย่างไร
เจอะศอกเข้าดอกแรก : ข้าพเจ้าไม่เคยดูหนังมานานแล้ว
ข้าพเจ้าอาศัยเจ้าไมเคิลกับทุกเรื่องไม่ว่าอ่าน-เขียนหรือดูหนัง-ฟังเพลง  ก่อนหน้าก็มีความสุขดีอยู่ขะรับ สหายรักเป็นนักโหลดหนัง พวกโหลดทั้งคืน (พวกเขามีจรรยาบรรณของพวกเขาอยู่นะ อย่างเช่นไม่โหลดหนังไทย ฟังแล้วอึ้ง!) ข้าพเจ้าพลอยรับอานิสงน์ ยามนั้นยินใครพูดถึงหนังเรื่องไร  ข้าพเจ้าแค่บอก อีกไม่กี่วันได้ดูแระ
มาช่วงหลัง (กว่าปีมาแล้ว) ซีดีไดรฟมันไม่ยอมอ่านแผ่น สหายเคยให้อะไหล่ไว้เปลี่ยน (แล้วพ่อเจ้าประคุณก็ย้ายไปอยู่ซะอีกฟากของประเทศ) ข้าพเจ้าไม่กล้าเปลี่ยนเอง เกรงพลาดท่าผิดทางเกิดไมเคิลมันเจ๊ง เป็นอันไม่ได้ขีดได้เขียนกันเท่านั้น เลยไม่เคยดูหนังอีกเลย
แล้วยังมาเจอตีเข่าซ้ำเข้าซี่โครง : ข้าพเจ้าไม่เคยดูหนังสงคราม!
นานแล้วขะรับ  นานจนจำแทบไม่ได้ว่าเมื่อไร นานจนจำปายังลืมต้นลืมสัญญาเมื่อสายัณห์ รู้แต่ว่านานแล้วที่ข้าพเจ้าตกลงใจไม่ดูหนังสงคราม
เยี่ยงเดียวกับการละทิ้งอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง โดยมากมักเป็นเพราะพบข้อกังขาที่ต้องขบคิด เมื่อได้คำตอบให้ตัวเองก็เป็นอันตกลงใจ ข้าพเจ้าเลิกอะไรไปบ้างล่ะ..?
เลิกสะสมเลิกอ่านวรรณกรรมซีไรต์
เมื่อวัยหนุ่ม (ตอนต้น) ตั้งใจเก็บงานซีไรต์ทุกเล่ม ก้มหน้าก้มตาอ่านราวว่างานซีไรต์เป็นวรรณกรรมเอกของโลก (เฉพาะซีไรต์ไทยนะขะรับ ไม่รวมถึงซีไรต์ประเทศเพื่อนบ้าน ขมองข้าพเจ้ายามนั้นจำกัดอยู่แค่นั้นจริง ๆ ไม่เคยเลยนึกถึงซีไรต์รอบบ้านเรา เรื่องนี้เอาไว้คุยกันวันหลัง) 
กระทั่งรวมเรื่องสั้น 'อัญมณีแห่งชีวิต' เข้าวินนั่นแหละ ท่านวานิชฯ ผู้ล่วงลับ ปฏิบัติภาระกิจเพื่อชาติ  ออกหน้าชำแหละด้วยบทความต่อเนื่องยาวเหยียดละเอียดยิบ  ข้าพเจ้าเมื่ออ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนั้นภูมิภาษาหางอึ่งไม่รู้สึกรู้สาอะไรดอก  แต่ครั้นปะข้อสังเกตท่านวานิชฯ เข้า  เกิดพุทธิปัญญาล่ะสิทีนี้  เกิดแก่แดดแก่ลมหัวแข็งแบบนึกว่าเท่ คิดไปว่ากรรมการตาไม่ถึง ภูมิภาษาไม่พอ (ท่านวานิชฯ มิได้เจตนาให้ผู้อ่านเกิดอาการหยั่งงี้นะ ท่านออกตัวไว้แล้ว) ความรู้สึกเทิดทูนซีไรต์ของละอ่อนน้อยหายเหี้ยนเตียน  คิดไปว่าหากกลุ่มคนผู้ทำหน้าที่ชี้ซ้ายชี้ขวาทิศทางงานเขียนแนวสะท้อนสังคมในประเทศนี้มีถูมิเขียนภูมิอ่านแค่นี้  งานเขียนสะท้อนสังคมของประเทศนี้มีแต่ล่มจม
ผ่านเวลานั้นมาหลายสิบปี ซีไรต์ขยับจำนวนทีไรข้าพเจ้าชายตา แล้วเหยียดยิ้ม ความรู้สึกด้านลบยังไม่จางหาย  ผ่าสิ..พี่ท่าน ผี 'อัญมณีแห่งชีวิต' ยังตามหลอกหลอนข้าพเจ้าจนทุกวันนี้ ชื่อเรื่อง 'หม้อที่ขูดไม่ออก' เป็นความล้มเหลวทางภาษาอย่างรุนแรง ท่านวานิชฯ ขวางไว้ หวังเบี่ยงทางลม ไม่ปล่อยให้สยามอักขระนาวาล่องไปผิดทิศผิดทาง  ผลเป็นไง  ทุกวันนี้ใช้กันจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา
ถึงวันนี้ท่าทีมองโลกผ่อนคลายลง เข้าใจแล้วว่าภูมิภาษาคนไทยแต่ละยุคสมัยมีกันอยู่เท่าใด ช่วยกันดูแลเท่านั้น หากจะต้องพากันหลงทิศหลงทาง ก็ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องต่อต้านคัดค้านตำหนิกันเอาเป็นตาย จะอย่างไรก็ร่วมนาวาลำเดียวกัน เมื่อเราสูญลับดับชีพ รุ่นต่อ ๆ ไปก็คงต้องมานั่งถกกันไปตามกำลัง  คณะกรรมการตัดสินซีไรต์ชุดนั้นวายชีพชนม์กันไปหมดแล้ว ข้าพเจ้าจึงมาได้คิดข้อนี้ จากนั้นท่าทีต่อซีไรต์ก็ผ่อนเบา ไม่ถึงกับเลิกอ่าน แต่จะแค่หยิบมาดูสักหน้าสองหน้า เหมือนหนังสือเล่มอื่น ๆ หากชอบใจก็หยิบติดมือมา หากไม่ก็วางลง ไม่ต่อว่าต่อขานมากความ 
เลิกดูทีวี
ยิ่งกว่าป๊อบอายติดผักขม บั๊กบันนี่ติดแครอต คงไม่แต่ข้าพเจ้าดอกนะ คนทั้งบ้านทั้งเมืองนั่นแหละ เราคล้ายถูกล้างสมองมาแต่เกิด ฝึกความเคยชินเหมือนกินข้าวจนคล้ายเป็นสิ่งขาดไม่ได้ เลิกงานกลับเข้าบ้านรีบคว้ารีโมตก่อนถอดรองเท้าเสียอีก เผื่อฆ่าเวลาขณะถอดถุงเท้าตาจะได้ดูโน่นนี่ไป  ตื่นเช้าแหกขี้ตา รีบคว้ารีโมตเปิดทีวีอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง (เดี๋ยวตกข่าว)  ยังไม่รวมพวกเปิดทิ้งเอาเสียงเป็นเพื่อน พวกนี้น่าจะเอาไปบำเพ็ญประโยชน์ปั้นวัวให้ลิงดู (แบบว่าทดแทนพวกมันหน่อยที่ต้องสูญเสียญาติ ๆ ทุกทีมนุษย์อยากใช้ไฟฟ้า) 
ความเคยชินนี้เป็นโอกาสชิ้นโตของคนไม่กี่กลุ่มพวก ทำความร่ำรวยมหาศาล ยิ่งคนหมู่มากเคยชินขยันเปิดยิ่งสาธุการ สำหรับรายการประมาณสิบเปอร์เซ็นที่เป็นประโยชน์หากจะร่ำรวยก็อนุโมทนา แต่พวกหยิบเอาหนังสือพิมพ์มานั่งอ่านให้ฟังนี่สิ ทำไปได้..
คิดแล้วมีรายการที่ข้าพเจ้าติดตามดูอยู่นิดหน่อย  แต่นิสัยมือว่างเป็นกดรีโมตแก้ไม่หาย ข้าพเจ้ายกทีวีให้ขนำข้างไปเสียเลย ทีนี้ล่ะชะงัด! ไม่ดูทีวีมา ๕ ปีแล้ว!
แต่เลิกดูหนังสงครามก่อนหน้า จำไม่ได้จริง ๆ ว่าเมื่อไร อาจหลังจากดูคิลลิ่งฟีลด์
จุดเริ่มของกระแสหนังสงครามอาจมาจากความตั้งใจจริงที่จะสะท้อนแง่มุมโหดร้ายของสงคราม  หวังปลุกจิตสำนึกมนุษย์ให้ลุกขึ้นต่อต้านสงคราม แต่เมื่อเรื่องแรกประสบความสำเร็จ เรืองต่อ ๆ ก็ตามมา จนคล้ายทำป้อนตลาดผู้บริโภค (แนวสงครามเวียตนามฮิตอยู่พักหนึ่ง ข้าพเจ้าคงเลิกดูช่วงนั้นล่ะ)
ใช่ว่าข้าพเจ้าจะเห็นด้วยกับสงคราม แต่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมต่อต้านความรุนแรงด้วยเสนอความรุนแรง มันปากว่าตาขยิบ
เว้นบางเรื่องที่ได้รางวัล อย่างไชเดอร์ลิสต์ ดีใจที่ได้ดู โคลด์เมาเทนต์ที่พี่ท่านกล่าวถึง (คุณเรอเน่ย์แกเด่นซะ หากนิโคลไม่สวยปานนั้ลล์โดนแย่งซีนแน่) ได้ดูก็เพราะมีเจ้าสหายนักโหลดหนัง แต่หลังจากซีดีไดรฟไมเคิลเจ๊ง โลกแปลกถิ่นที่ข้าพเจ้าใช้หลบเริงรมย์ลอยหายลับ
ข้าพเจ้าดูหนังเพื่อใช้ฝึกเขียนหนังสือ
ทุกครั้งจะตั้งใจดูเอาเป็นเอาตาย ใครโผล่มาขัดจังหวะเป็นไม่โต้ตอบ ตาจ้องลายละเอียดภาพ  ฝึกบรรยายตามที่เห็นก่อนหนังเข้าบทสนทนา ในมือมีสมุดปากกา จดจำนวนคัต (พบว่าหนังโดยมากมี ๓๐ ถึง ๔๐ คัต) จดรายละเอียดเท่าทัน การเปิดเรื่อง เปิดตัวละคร บทสนทนาคม ๆ การปิดคัต เทคนิคการดำเนินเรื่อง จดได้ขนาดนี้มักเป็นรอบสอง (รอบแรกดูเอาบันเทิง ในมือมีป๋องโค้กกับของขบเคี้ยว)
ความสุขนี้ขาดหายไปนานแล้ว หายพร้อมความคิดใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ ที่จะเล่าเรื่อง หนังเต็มด้วยความคิดสร้างสรรค์ นักสร้างเจ๋ง ๆ มักเสาะหาวิธีบอกเล่า ดำเนินเรื่องเจ๋ง ๆ  
ข้าพเจ้ายังเชื่อว่าหนังเป็นคล้ายหัวธนูโลหะที่จะนำคันธนูทำด้วยไม้และขนนกซึ่งคืองานเขียนทะลวงม่านเวลาไปสู่แนวการเขียนใหม่ ๆ ที่รองรับความพึงใจผู้อ่านร่วมสมัยอย่างกว้างขวางขึ้น
รออยู่ว่าวันใดจะมีปัญญาหาโน้ตบุ๊คตัวใหม่  ยามนี้เปิดหนังไม่ได้ ได้แต่ยกการ์ดรับเข่าพี่ท่าน หวังที่จิ้มมาทั้งหมดต่างเข่ายกค้างกันถูกรวบคอ แล้วมุดออกจากมุม เต้นฟุตเวิร์ครอเวลาไปก่อน
สวยงามมิสวยงามประการใด เมื่อถึงภาวะคับขัน มวยเก่าเก๋าเกมไม่สนลูกสวยอยู่แล้ว เอาตัวรอดออกจากมุมได้เป็นดี แล้วเจอกัลล์ฉบับหน้าขะรับ
น้อมคารวะ
ป.ล.๑ ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ขี้แพ้ คิดเอาชนะทีไรแพ้ทุกที เลยไม่ว่าเอาชนะใจเราหรือชนะสิ่งอื่น ข้าพเจ้าเลือกข้างประนีประนอมอยู่ร่วมด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ไม่คิดเอาชนะคะคาน ไม่แม้กับใจตัวเอง ทุกวันนี้ยังชอบเบียร์ไม่เลิก ข้าพเจ้าเลือกปรองดอง ขอเปลี่ยนเป็นนู่นบ้างนี่บ้างไปตามเรื่อง เปรี้ยวปากหนัก ๆ เข้าค่อยว่ากัลล์สักที ปรองดอง..ปรองแล้ว..ดองไว้..ขะรับ
ป.ล.๒ พี่ทั่นขุลล์ส่งหนังมาให้ก็ยังไม่ได้ดู..ขอบพระคุณพี่ทั่ลล์
หมายเหตุ : เต่าไมเคิล คือ โน้ตบุ๊คอืดที่สุดในจักรวาลของผู้น้อยเอง