ว่ากันว่าเทคนิคการเขียนนั้นไม่สามารถสอนกันได้ง่ายๆ แถมยังไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวอีกต่างหาก
และที่สำคัญนักเขียนชื่อดังแทบทุกคนนอกจากจะต้องเป็นนักอ่านตัวยงแล้วยังมีวิธีสร้างสรรค์งานเขียนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและประทับอยู่ในใจของนักอ่านเสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานกี่สิบปีต่อไปนี้เป็นทีเด็ดเคล็ดลับการเขียนของนักเขียนระดับมืออาชีพ โดยเฉพาะผู้ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนควรเรียนรู้อย่างยิ่ง...
0 พนมเทียน (ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ)
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2540 เจ้าของนวนิยายขนาดยาว (ที่สุดในโลก) เรื่อง 'เพชรพระอุมา' จำนวน 48 เล่ม โดยใช้เวลาเขียนนานถึง 25 ปี
"การที่จะเขียนหนังสือให้อยู่ในดวงใจของนักอ่านมันก็มีหลักเกณฑ์ง่ายๆ อยู่ว่าเขียนให้มันสนุกครับ ทีนี้การเขียนให้มันสนุกฟังดูง่าย แต่มันทำยาก ถ้าหากจะมีคำถามต่อมาว่าจะเขียนอย่างไรให้สนุกนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าแต่ละบุคคล ความสามารถไม่เหมือนกัน และที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเราเกิดมาเพื่อที่จะเป็นนักเขียนหรือเปล่า อันนี้สำคัญที่สุดครับ นอกจากประสบการณ์ นอกจากวิชาการที่จะเขียนหนังสือแล้ว สวรรค์เบื้องบนสั่งให้มาเขียนหรือเปล่า ถ้าหากไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเขียนละก็...เขียนยังไงๆ นักอ่านก็ไม่ยอมอ่านอยู่ดีล่ะครับ (ฮา)
ถ้าจะพูดถึงว่าจะเขียนให้สนุกนั้นมันเริ่มต้นที่ว่าตัวเราเองต้องรู้สึกว่าเขียนแล้วสนุกเสียก่อน เมื่อเห็นว่าสนุกแล้วก็ยังพอจะหวังได้ว่าท่านผู้อ่านคงอาจจะสนุกตามด้วย แต่ถ้าหากเขียนแล้วไม่รู้สึกสนุกเลย รู้สึกฝืนเหลือเกิน รู้สึกลำบากใจเหลือเกิน แน่นอนครับ..ร้อยเปอร์เซ็นต์คนอ่านไม่สนุกด้วย บางทีขนาดเราสนุกแล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะไม่สนุกตามเราด้วยก็ยังมี ผมจะเล่าประสบการณ์ให้ฟังเพียงสั้นๆ คือวิธีจะเขียนให้สนุกของผมก็คือว่าตัวผมต้องสนุกก่อน แล้วก็เอาประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตของผมเข้ามาสอดแทรกอยู่ในนวนิยายที่ผมจะเขียน และที่สำคัญที่สุดก็คือว่าผมระลึกอยู่ตลอดเวลาว่าเรื่องของผมควรจะแฝงไว้ซึ่งมนุษยธรรมและสาระ และสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อนักอ่าน ขอให้ท่านผู้อ่านเมื่อได้อ่านแล้วได้สารัตถะบ้าง อย่าให้อ่านไปแล้วไม่ได้อะไรเลยสักอย่าง
ถามว่าทำไมถึงเอาเรื่องมนุษยธรรมมาพูดก่อน มนุษยธรรมสำคัญที่สุดสำหรับความรู้สึกของตัวผมเองนะครับ ถ้าหากว่าเรามีมนุษยธรรมแล้วแฝงทุกสิ่งทุกอย่างลงไปในเรื่อง เมื่อเอามนุษยธรรมเป็นหลักแล้วธรรมะต่างๆ มันตามมาเองครับ มันจะตามมาด้วยคุณธรรม จริยธรรม มโนธรรม ส่วนศีลธรรมนั้นจะตามมาหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจนัก เพราะมนุษยธรรมกับศีลธรรมแยกกันนิดๆ หน่อยๆ ไม่ไปด้วยกันเสมอไป แต่มนุษยธรรมกับคุณธรรมไปด้วยกันได้แน่นอนครับ
สิ่งที่ผมเขียนมาตลอดเวลา 60 ปี เพราะขณะนี้ผมเกือบจะ 80 ปีอยู่แล้ว และผมเขียนหนังสือเมื่อตอนอายุ 17-18 ปี ผมใช้ความรู้สึกในการที่ว่าอยากจะเขียนแล้วก็ใช้ความมานะพยายามในการที่จะแสวงหาความรู้รอบๆ ตัวต่างๆ เข้ามาเก็บให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นักเขียนมีความจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องมีความเป็นพหูสูต คือ เป็นผู้รู้ และการเป็นผู้รู้ในที่นี้ไม่จำเป็นว่าต้องรู้จากสถาบันอย่างเดียว รู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว จากการที่ศึกษาโลกรอบตัวเรา จากการอ่าน จากการถามผู้รู้ มันจะทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น และยิ่งรู้มากเท่าไหร่ บวกกับความเชี่ยวชาญเข้าไป มันก็ยิ่งมีความลึก มีความรู้ มีสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่จะให้แก่ท่านผู้อ่านได้มากเท่านั้น นี่แหละครับคือหลักการเขียนของผม"
0 ชาติ กอบจิตติ
นักเขียนดับเบิลรางวัลซีไรต์จากนวนิยายเรื่อง 'คำพิพากษา' ปี 2525 และ 'เวลา' ปี 2537 และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2547
"ผมเองเวลาเขียนหนังสือจริงๆ ไม่ได้คิดว่าจะอยู่ในใจคนอ่านหรือไม่ได้คิดว่าคนอ่านจะมีไหม นี่เรียนด้วยความสัตย์จริง ผมเขียนหนังสือเพราะว่าตัวผมอยากอ่านหนังสืออะไร ผมเริ่มตรงนั้น รู้ว่าสิ่งที่เราอยากอ่านแล้วก็เขียน ทีนี้สิ่งที่ได้หรือสิ่งที่มันตามมาคือเชื่อว่าต้องมีคนชอบอย่างเรา ในเมื่อเราแต่งตัวใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ น่าจะมีคนสักกลุ่มหนึ่งที่แต่งตัวคล้ายๆ เรา มีรสนิยมคล้ายๆ เรา พวกใส่สูทผูกเนกไทแบบนี้ไม่ชอบ คิดว่าคนที่ชอบคล้ายๆ ที่ผมชอบน่าจะมีอยู่บ้าง ฉะนั้นหลักการสำหรับผมเวลาทำงานจะถืออยู่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ให้ความคิด หมายความว่าคิดอะไรก็จะบอกคนอ่านของเราไป ซึ่งแน่นอนความคิดมันเป็นเรื่องของปัจเจก บางทีมันอาจจะมีผิด มีถูก มีการโต้เถียงกันได้ และไม่ได้คิดว่าความคิดเราถูก แล้วคนที่คิดไม่ตรงกับเราจะต้องผิดเสมอไป เอาความคิดนี้มาโต้ตอบกันมาขัดแย้งกัน เพื่อเสนอความคิดนั้น
สอง คือ ต้องให้ความรู้ ความรู้นี้สำคัญเพราะว่าคนเขียนกับคนอ่าน คนเขียนมีคนเดียว คนอ่านมีอย่างน้อยๆ ก็สองพันสามพันคน และยิ่งผมจบ ปวส.ด้วย บางท่านอาจจบปริญญาตรี-ปริญญาโทซึ่งมีความรู้มากกว่าผม ถ้าผมเขียนอะไรที่รู้ไม่จริงไปมันก็เหมือนกับว่าคนอ่านก็จะรู้สึกว่าถูกคนเขียนหลอกลวง ถูกคนเขียนโกหก ท้ายที่สุดแล้วคนเขียนก็จะกลายเป็นคนปลิ้นปล้อนหลอกลวงไป ก็จะไม่มีใครเชื่อหรือแม้กระทั่งว่าถ้ามีคนเชื่อ แต่ถ้าความรู้นั้นไม่เป็นความจริงมันก็เป็นอันตราย ผมชอบยกตัวอย่างเพราะมันชัดดี เช่น เราให้ตัวละครตัวหนึ่งเป็นโรคริดสีดวงทวาร (ฮา) ตัวละครตัวนี้ก็ไปรักษาด้วยการเอาผงหมามุ่ยมาโรยแล้วหาย ในเรื่องหายจริงหรือหายเป็นปลิดทิ้ง แต่ถ้าคนอ่านที่อ่านไปแล้วเชื่อหนังสือแล้วเอาไปทำล่ะ (ฮา) ฉิบหายเกิดสิท่า เพราะว่าความรู้จะต้องกลั่นกรอง ต้องรู้จริง และรู้แท้ด้วย
สาม คือ ความบันเทิง ความบันเทิงในแง่ที่ผมพูดถึงไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องตลกโปกฮาซึ่งเป็นเรื่องตลกโปกฮาก็ได้ ความบันเทิงในแง่ของผมก็คือทำยังไงที่จะให้คนอ่านพลิกหน้าต่อหน้าโดยไม่หยุด นั่นคือหัวใจของมันว่าทำยังไงจะให้เขาอ่านตลอด ง่วงก็จะต้องอ่าน นั่นคือความบันเทิง บางทีอาจจะคิดว่าความบันเทิงอาจจะเป็นเรื่องหัวเราะ เรื่องอารมณ์ขันอย่างเดียว บางทีความเครียดก็คือความบันเทิงอย่างหนึ่งสำหรับคนบางประเภท (หัวเราะ) บางทีผมอ่านแล้วก็วางไม่ลง ร้องไห้ไปตลอด เออ..น่าสงสาร ผมเขียนไปร้องไห้ไป ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ทำยังไงให้เขาพลิกหน้าต่อหน้าโดยไม่หยุด
บางทีมันต้องอาศัยเทคนิคหรือว่าบางทีทำยังไงให้เรื่องมันเดินโดยตลอด อาจจะต้องมีการหยอดปม อาจจะต้องหลอกล่อให้คนอ่านตาม อันนี้เป็นเทคนิคของคนเขียน พวกยังหนุ่มๆ สาวๆ อยู่ต้องค่อยๆ ไป หรือว่าถ้าขี่จักรยานวันหนึ่งอาจจะล้มบ้างอะไรบ้าง แต่วันหนึ่งข้างหน้าเราจะปล่อยมือและขี่ได้ ผมว่าลองทำดูก็ได้ ผมเขียนหนังสือมา 30 ปีได้ก็ใช้อันนี้" (ถ้าเอาหมามุ่ยไปโรยริดสีดวงทวารแล้วหาย กรุณาบอกด้วยคร้าบ ฮา...)
0 วินทร์ เลียววาริณ
นักเขียนดับเบิลรางวัลซีไรต์จากนวนิยายเรื่อง 'ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน' ปี 2540 และรวมเรื่องสั้น 'สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน' ปี 2542 และนักเขียนรางวัลศิลปาธร ปี 2549
"ผมไม่ได้มีสูตรแน่นอนถาวร แต่ว่าหนึ่งในนั้นก็คือความบันเทิงเหมือนกัน ผมมักจะตั้งเป้าเวลาเขียนหนังสือทุกครั้งว่าไหนๆ งานที่เราทำไปแล้วคนอ่านไม่ได้มากมายขนาดนั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคิดว่าจะทำงานที่มันน่าจดจำมากกว่าคือผมทำงานที่ค่อนข้างจะได้กล่อง แต่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นรางวัลจริงๆ แต่ความหมายมันคือว่าด้านความบันเทิงแต่ให้สาระไปด้วย คือมันจะมีนิยายจำนวนมากสนุกแต่ไม่มีสาระ และนิยายจำนวนมากมีสาระแต่ไม่ค่อยสนุก แต่ผมคิดว่าถ้าเราทำได้ดีพอสามารถที่จะสร้างทั้งสองอันนี้เสมอ ฉะนั้นทุกเรื่องที่ออกไปควรจะได้ทั้งสองอัน คือ ต้องสนุก และดีด้วย คือขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ การทำแบบนี้มันเป็นการตั้งโจทย์ที่สูงเกินไป แต่ว่าถ้าไม่ตั้งโจทย์แบบนี้เราจบด้วยการทำงานที่ออกมาไม่ดีพอ บางทีอาจจะไม่ค่อยสนุก และไม่มีสาระด้วยซ้ำไป ฉะนั้นทั้งสองอย่างนี้ควรจะไปด้วยกันเสมอ
ต่อมาคือว่าผมเขียนสิ่งที่ผมชอบ เป็นตัวของตัวเอง คนเขียนหนังสือประหลาดเหมือนกัน ถ้าเป็นไปได้ผมจะตั้งรางวัลขึ้นมาใหม่ หมายถึงว่าไม่ต้องตาม trend แต่เป็น trend setter เป็นคนเซตงานขึ้นมาใหม่ ถึงมันจะก้าวไปไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่เราชอบ ได้สร้างตลาดของเราขึ้นมาเอง ไม่ใช่ว่าตลาดเขียนนิยายประเภทไหนเป็นพิเศษก็จะเฮกันไป ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะเป็นเบอร์สองเสมอ เบอร์หนึ่งถึงจะเล็ก แต่ว่าถ้าเราทำก่อนและทำให้ดี ถ้าไม่ตามกระแสตามตลาดและทำด้วยใจชอบจริงๆ งานที่ออกมาน่าจะไปกันได้
ถ้าผลงานที่เขียนออกมาผ่านไปแล้ว 20 ปี ยังใช้ได้ ยังทันสมัย ยังมีความสดอยู่ แสดงว่าผลงานนั้นถือว่าใช้ได้ในระดับหนึ่ง ฉะนั้นระยะยาวจะเป็นตัวพิสูจน์มากกว่า คำวิจารณ์แต่ละคำบางทีฟังแล้วอยากจะเลิกเขียนไปเลย แต่ถ้าเชื่อว่าทำอย่างนี้เป็นตัวตน ไม่ได้หลอกลวงใคร ชอบที่จะทำจริงๆ แล้วก็สนุก ผมเชื่อว่าท้ายที่สุดมันก็อยู่ได้ และผมคิดว่างานเขียนควรจะสดเสมอ มันไม่ควรจะทำงานที่ซ้ำซากจำเจอยู่กับที่ตลอดเวลา เพราะนักเขียนบางคนบอกว่าต้องเขียนเรื่องเดียวกัน คือมันเป็นโครงเรื่องเดิม พล็อตเรื่องเดิม เปลี่ยนแค่ตัวละครแค่ฉาก เขียนไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งคิดว่ามันน่าจะหาอะไรใหม่ๆ มาทำบ้าง หาโจทย์ใหม่ๆ มาท้าทายตัวเอง เป็นการท้าทายที่ทำให้สมองของนักเขียนมันกระชุ่มกระชวยขึ้น หาโจทย์ที่มันยากขึ้นแล้วมาลองดูว่ามันได้หรือไม่ได้ ต้องลองไปเรื่อยๆ บางครั้งก็สำเร็จ บางครั้งก็ไม่สำเร็จ ถ้าไม่ลองก็ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรใหม่ออกมาเลย
สิ่งต่อมาคือว่านักเขียนต้องสนุกกับงานที่เขียน คือถ้าไม่สนุกผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทรมานที่สุดอยู่แล้ว รายได้ก็ไม่ดี แล้วยังไม่สนุกอีก อย่างน้อยควรจะสนุก จะรู้ได้ยังไงว่าสนุกหรือไม่สนุก คือเราต้องสนุกก่อน แต่ระดับของความสนุกมันอยู่ที่การฝึกฝน ผมจำได้ว่าตั้งแต่เด็กผมอ่านนิยายมาก อ่านแล้วเปรียบเทียบกิมย้งกับคนอื่นว่าทำไมกิมย้งถึงสนุกแบบนี้ ผมต้องมานั่งวิเคราะห์ว่าทำไมมันถึงสนุก คือถ้าเราไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์ว่าอะไรสนุก เพราะอะไร ยากมากที่จะไปเป็นนักเขียนที่ดีที่เขียนเรื่องได้สนุก เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือ ingredient หรือว่าองค์ประกอบนั้น
สมมติว่าถ้าคุณไปกินอาหารร้านใดร้านหนึ่งแล้วรู้สึกว่ามันอร่อย แต่ไม่สามารถที่จะแยกออกมาได้ว่ามันมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง
ผมอ่านงานของพนมเทียนตั้งแต่สมัยเด็กและวิเคราะห์ว่าเรื่องนี้มันสนุกเพราะอะไร อย่างเช่นเรื่อง 'เพชรพระอุมา' จะมีตัวละครที่คานกันระหว่าง 'รพินทร์ ไพรวัลย์' และ 'แงซาย' พยายามดูลักษณะ ดูแล้วพยายามศึกษา ขณะเดียวกันนวนิยายของกิมย้งหลายเรื่องมีลักษณะเดียวกัน ถ้าศึกษาดีๆ จะพบว่าโครงสร้างของเรื่องมันมีแค่อะไรบางอย่างเท่านั้น ถ้าอ่านบ่อยๆ มันจะจับได้ อันนี้คือตัวละคร ถ้าอ่านมากพอหรือศึกษามากพอก็จะรู้ว่าอะไรคือเคล็ดของมันและจับมาได้ สามารถนำเอาคอนเซปต์มาใช้ได้ แต่ไม่ได้ลอก เช่น ถึงจุดหนึ่งคุณอาจจะหักมุม ถึงจุดหนึ่งคุณอาจจะเปลี่ยนทิศทางของตัวละคร หรือถึงจุดหนึ่งคุณจะทำอะไรกับมัน
อีกข้อหนึ่งผมคิดว่านักเขียนควรจะมีพรสวรรค์ในการเป็นนักคิดด้วย คือไม่ใช่รอข้อมูลชั้นสองที่คนอื่นพูดกันมา ควรจะคิดริเริ่มก่อนได้ บางทีคิดไปเลยว่าอะไรเป็นอะไร อนาคตคาดการณ์เป็นยังไง พูดง่ายๆ คือนักเขียนต้องเดินนำหน้านักอ่านสักสองสามก้าวเสมอ เพราะไม่อย่างนั้นไม่รู้จะเขียนไปทำไม เพราะไม่มีอะไรใหม่ๆ ไปเสนอคนอ่าน และข้อสุดท้ายผมคิดว่านักเขียนไม่ควรจะให้ยาพิษกับคนอ่านไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น ไม่มีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้นว่าคนอื่นก็ทำ ผมคิดว่าเรารู้อยู่แล้วว่าอะไรคือยาพิษ คืออะไรก็ตามที่ทำให้อ่านแล้วโง่ลงมันก็เป็นยาพิษทั้งนั้น หนังสือควรจะเป็นอะไรที่อ่านแล้วฉลาดขึ้น อ่านแล้วเป็นคนที่มีปัญญามากขึ้น เป็นยาเสริมกำลัง อันนี้เป็นสิ่งที่ผมทำมาตลอด"
0 งามพรรณ เวชชาชีวะ
นักแปล-นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2549 จากนวนิยายเรื่อง 'ความสุขของกะทิ'
"ดิฉันเริ่มต้นอย่างคนอื่นคือมีความฝันอันทะเยอทะยานสูงสุดตั้งแต่ไหนแต่ไรว่าอยากจะเขียนหนังสือ แต่ไม่เคยเขียนเลย และมีความรู้สึกว่าอ่านนี่แหละสุดยอดแล้ว มีความสุขมากกับการที่จะอ่านทุกเรื่องที่ผ่านมา และมีความรู้สึกว่าเราไปกับนักเขียนที่เขาเล่า แต่ว่าระหว่างที่อ่านไปก็รู้สึกว่าน่าจะเขียนได้บ้าง คือถ้ามีชื่อตัวเองอยู่บนปกคงจะตายตาหลับ
การได้ทำงานแปลก็เป็นลักษณะอีกแบบหนึ่งซึ่งทำให้ได้รู้จักนักเขียนต่างประเทศ แน่นอนว่าได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งว่าการเขียนหนังสือไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทุกอย่างที่นักเขียนได้เขียนลงไปมันเป็นการแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง เริ่มต้นจากว่าคุณจะใช้เสียงใครเป็นคนเล่าเรื่องก็เป็นด่านแรกแล้วที่ต้องคิด ซึ่งพอเวลาได้มาเขียนหนังสือจริงๆ รู้สึกว่าเราไม่ต้องคิดทั้งหมดอย่างนั้น ขณะที่เขียน จริงๆ แล้วมันเป็นการแก้ปัญหามาเรื่อยๆ พอเขียนหนังสือขึ้นมา แล้วตัวเองได้รู้ว่ามันไม่มีความสุขอะไรเท่ากับการได้เขียนหนังสืออีกแล้ว
ตอนที่เขียนมันมีความสุขตั้งแต่วันแรก และสุขที่สุดก็คือวันที่เขียนจบ บางวันเขียนได้ก็สุขไป บางวันเขียนไม่ได้ก็เป็นทุกข์ บางวันอยากจะเอาไปโยนทิ้ง และใช้เวลาเป็นอย่างมากในการนั่งแล้วก็เหม่อมองไปข้างหน้า บางวันเขียนได้ประมาณสองสามประโยค บางวันอายตัวเองก็เขียนได้เยอะหน่อย แต่วันที่มีความสุขที่สุดก็คือวันที่เขียนจบ และหน้าที่สำคัญที่สุดของนักเขียนคือคิดแทนคนอื่น คือเราปวารณาตัวเสียแล้วว่าจะใช้เวลาว่างๆ นั่งนิ่งๆ แล้วก็เที่ยวมองไป แล้วก็มีบางอย่างที่จะนำเสนอ
สำหรับดิฉันแล้วการเขียนหนังสือให้อยู่ในหัวใจของนักอ่านคิดว่าคงเริ่มต้นคล้ายๆ กับนักเขียนท่านอื่นๆ คือเริ่มจากความรู้สึก เช่น มีเรื่องอยากจะเล่า มีเรื่องอยากจะบอก มีเรื่องอยากจะแลกเปลี่ยนกัน และมีความสุขกับงานที่ทำ แล้วหวังด้วยว่าคนที่อ่านแล้วจะมีความสุขด้วย"
จาก กรุงเทพธุรกิจ : โดย : พรชัย จันทโสก : รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น