พบเห็นสหายพี่ทรายป๋วยแผดผรุสวาทด้วยเชิงชั้นนักเลงกลอน ผู้น้อยได้แต่นิ่งอึ้ง นึกถามตัวเองว่าคนไทยคนหนึ่งอาศัยต่างบ้านต่างเมืองยังรู้สึกเยี่ยงนี้ คนไทยอีกคนซึ่งทอดลมหายใจใต้ร่มบรมโพธิสมภารนั่นเล่า..รู้สึกยังไง..อยู่อย่างไร
ครั้งหนึ่งเมื่อสภาพสังคมยังอึมครึม รัฐบาลควบคุมด้วยวิธีเด็ดขาด เพลงของคาราวาน กรรมาชนถูกห้ามเผยแพร่ (ใครมีไว้ครอบครองถึงติดคุก) แต่ว่าก็ว่าเถอะ 'นกสีเหลือง' 'กูจะปฏิวัติ' 'แสง' และอีกหลายต่อหลายเพลงยามนั้นเปี่ยมพลังอย่างเหลือเกิน ความรู้สึกถูกบีบคั้นถั่งโถมจากทุกเนื้อคำอณูโน้ตดนตรี การได้ร้องเพลงเหล่านั้นเหมือนได้เข้าไปอยู่ในทุกข์ทนของคนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถึงต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ก็ยังจะร้อง
วันเวลานั้นเหล่าปัญญาชน (แน่ล่ะวัยละอ่อน) หลบหนีอำนาจรัฐ (ถูกต้องเที่ยงธรรมในสายตาฝ่ายขวา โหดเหี้ยมอำมหิตในสายตาฝ่ายซ้าย) ออกแฝงตัวในป่าเขา อาศัยร่มไม้และพานท้ายปืนกำบังกายด้วยหวังสักวันจะย้อนกลับมาปลดแอกประเทศ ช่วยเหลือคนจนชาวไร่ชาวนาผู้ใช้แรงงานให้พ้นจากถูกเอารัดเอาเปรียบ (ฟังคุ้น ๆ ใช่ไหม?)
สองฝ่ายใช้อาวุธเข่นฆ่ากันแรมปี
ฝ่ายหนึ่งผูกมิตรมวลชน แฝงตัวอยู่กับชาวบ้าน อีกฝ่ายใช้กำลังเข้าปราบปรามหวังกำจัดให้สิ้น แต่ก็ยากจำแนกแยกแยะ (คุ้นอีกเหมือนกันใช่ไหม?)
สองฝ่ายพากันล้มตาย
ยังมีอีกฝ่ายที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่รู้จักลัทธิ ไม่เข้าใจการเมืองการปกครอง (กระทั่งตัวหนังสือยังอ่านกันกะพล่องกะแพล่ง) คือชาวบ้านร้านตลาด
รัฐบาลโฆษณาให้ความรู้ประชาชน ชักชวนให้เชื่อว่าคอมมิวนิสต์เป็นอสุรกาย คล้ายเชื้อโรคร้ายน่าชิงชัง มีป้ายประกาศติดตามร้านน้ำชาร้านข้าวแกง (ยังหลงเหลืออยู่บ้างไหมเห็นทีต้องถามพี่เอนก นาวิกมูล) มีเสียงซุบซิบในหมู่ชาวบ้านยามเห็นภิกษุต่างถิ่นธุดงค์ผ่าน 'ระวังคอมฯ มันปลอมตัวเป็นพระ' ผู้ใหญ่ขู่เด็ก ๆ 'อย่าออกไปเล่นไกลเดี๋ยวโดนคอมฯ จับไป'
สังคมระส่ำไม่รู้ใครเป็นใคร ไว้ใจใครไม่ได้ ไม่รู้ใครเป็นสายให้ใคร หลายคนถูกจับตามองถูกสงสัยกระทั่งถูกบีบคั้นให้เลือกข้าง หลายคนถูกใส่ความยัดเยียดข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ (ฟังคุ้น ๆ อีกใช่ไหม)
ขณะสองฝ่ายยื้อแย่งพื้นที่ชิงชัย คนบริสุทธิ์ถูกฆ่าไม่น้อย (หากสนใจแกะรอยได้จากงานเขียนบางชิ้นของท่านหนก)
กระทั่งรัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย ยกเลิกมาตรการรุนแรง เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามกลับออกมาช่วยกันพัฒนาประเทศ (ใช้คำหรู อันที่จริงหมายถึงทำมาหากินอย่างปกติเอาเปรียบคนอื่นบ้างถูกเอาเปรียบบ้างถัว ๆ กันไปนั่นแหละ)
ทุกวันนี้เราจึงมีบุคลากรสำคัญอย่างอาจารย์เสกฯ อาจารย์ธีรยุทธ์ (สนใจเส้นทางเปลี่ยนผ่านความคิดความเห็น การเติบกล้าทางจิตวิญญาณ ลองศึกษาจากงานอาจารย์เสกฯ)
สังคมเปลี่ยนยุคสมัย ประวัติศาสตร์พลิกหน้า
เท่าเห็นมักเปลี่ยนแต่ฉากชีวิต เนื้อหายังคงเดิมตัวละครเดิม และมนุษย์ก็ยังวนย่ำอยู่กับละครองค์เดิม ๆ โดยการค้นพบสัจธรรมทางศาสนาแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย
มนุษย์ยังคงถกเถียง โต้แย้ง แบ่งข้าง เข่นฆ่า ค้นหาหลักการปกครองที่ตนพอใจ โดยปิดตาปิดหูเสียข้างหนึ่งไม่ยอมรับว่าทุกหลักการปกครองที่คิดค้นล้วนล้มเหลวหากถูกใช้โดยผู้ปกครองที่ไร้มนุษยธรรมขาดมโนธรรม
บ้านเมืองเปลี่ยนไป ประชากรมากขึ้น มิติทางสังคมซับซ้อนขึ้น เนื้อหาความขัดแย้งเดิม ๆ ถูกนำมาใช้ด้วยเล่ห์ที่มากเหลี่ยมขึ้น
หลายคนหลงเชื่อโดยเต็มใจและหรือด้วยงมงาย หลายคนถูกยั่วยุให้ออกมาโต้เถียงในประเด็นปัญหา หวังผลเพียงรักษาประเด็นให้คงอยู่และขยายวงขัดแย้งให้กว้างขึ้น หลายคนแสดงออกด้วยโทสะถ้อยคำรุนแรงระบายอัดอั้นต่อการกระทำของอีกฝ่ายโดยไม่ทันคิดว่าตกเป็นเครื่องมือ
ศิลาใหญ่กลายผุยผงได้ด้วยรอยปริเล็ก ๆ
จากถ้อยคำด่าว่า ขับไล่ไสส่ง อาจขยายวงจนถึงแบ่งข้างเข้าห้ำหั่นฆ่าฟันล้มตายทั้งสองฝ่าย อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นไหม? คงไม่
มีคนวิกลจริตเข้าไปทุบทำลายรูปท้าวมหาพรหมที่แยกราชประสงค์ แล้วถูกรุมประชาฑันณ์จนเสียชีวิต
ภาพนั้นสะท้อนอะไร?
รูปเคารพเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่สักการ ทำลายรูปเคารพก็เหมือนทำร้ายจิตใจ ผู้กระทำสมควรรับโทษนั้นจริงอยู่ แต่ยังต้องมาทีหลังเคารพความเป็นมนุษย์ มิใช่ใช้โทสะลงโทษถึงแก่ชีวิต
มนุษยธรรมคือสิ่งเดียวมนุษย์พัฒนาขึ้นจากสัตว์ป่าที่ใช้ฆ่าฟันเพื่ออยู่รอดเป็นประนีประนอมอยู่ร่วมกันโดยสันติ (เรายังไปกันไม่ถึงไหนนั้นจริง แต่ก็คุ้มที่จะพยายามต่อไป)
จะโดยบริสุทธิ์หรือนัยแฝงไม่ขอก้าวล่วง แน่ชัดว่ามีกลุ่มคนแสดงพฤติกรรมเจตนาระคายเบื้องยุคลบาทองค์ประมุขซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งประเทศ (ซ้ำร้ายขณะทรงพระประชวร)
แน่ล่ะ ในใจหลายคนชิงชังอยากไล่ให้พ้น ๆ ไม่ก็ฆ่าทิ้งให้จบ ๆ กันไป
เชื้อร้ายความรุนแรงนั้นแฝงฝังในจิตใต้สำนึก แต่มนุษย์โดยมากเลือกแล้วที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ต่อว่าต่อขานจึงเป็นทางออกให้ความรุนแรงได้สำแดงตนในระดับไม่ทำร้ายร่างกาย
หลายคนโต้ตอบด้วยนำพฤติกรรมของคนเหล่านั้นมาบอกกล่าวต่อว่าต่อขาน กลายเป็นเครื่องมือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้อีกฝ่ายโดยไม่ทันยั้งคิด
หลายคนนิ่งเฉย ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไป
ข้าพเจ้าเลือกนิ่งเฉย เลือกให้โอกาส
เด็กมัธยมคนหนึ่งเมื่อสอบผ่านสมควรได้โอกาสเรียนในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ปิดกั้นเพียงเพราะเธอคิดต่าง บีบคั้นให้ออกไปจากสังคม สร้างปัญหาให้แก้ไม่รู้จบ
นักเขียนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิ์เสนอความคิดเห็นตามความเชื่อ
นักกฏหมายกลุ่มหนึ่งมีสิทธิ์เสนอกฏหมายตามกำลังทัศนะ
พวกเขาสามารถทำงานต่อไปตามหน้าที่ หากคนส่วนใหญ่เห็นด้วย ความเห็นได้รับสนองก็จำปล่อยเป็นไปตามนั้น แต่หากเสียงส่วนมากไม่เห็นด้วยพวกเขาจะต้องพับความคิดเก็บ
แน่ล่ะ ประเด็นเหล่านี้เข้ามากระทบใจเป็นระยะ ตามแต่จะถูกปลุกปั่นจากกลุ่มคนหวังสร้างสถานการณ์ แต่ก็ต้องประคองใจให้กลับเข้ารูปเข้ารอย ตั้งหน้าตั้งตาทำงานตนตามกำลัง
นิ่งเฉยใช่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ปล่อยคนกลุ่มหนึ่งแสดงพฤติกรรมตามอุดมการณ์อำเภอใจ
ขณะอังกฤษสั่งฆ่าคนอินเดียที่คัดค้านการปกครอง คานธีโต้ตอบโดยเลิกใช้เสื้อผ้าซึ่งผลิตจากโรงงานของคนอังกฤษ หันมาสวมใส่ผ้าผืนทอใช้เองจนกลายเป็นภาพลักษณ์ติดตาคนทั้งโลก
ข้าพเจ้าเป็นคนอ่านหนังสือ ไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดและพฤติกรรมของนักเขียนกลุ่มหนึ่ง เลือกตอบโต้ด้วยไม่ซื้องานของกลุ่มคนเหล่านั้น แน่ล่ะโดยเนื้องานยังอยากเห็นนักเขียนร่วมสมัยสร้างงานดี ๆ ออกมา พบเจอก็จะอ่าน..
แต่ไม่ซื้อ!
อีกส่วนที่ทำได้คือเขียนออกมา บอกกล่าวแลกเปลี่ยนพูดคุยกะสหายอย่างระมัดระวังไม่ตกเป็นเครื่องมือเผยแพร่โดยเผอเรอ ไม่นิ่งเฉยปล่อยเลยตามเลยเหมือนธุระมิใช่ เลือกที่จะตอบโต้โดยสงบ ไม่ด่าว่าซึ่งรังแต่จะเพาะเมล็ดพันธุ์ก้าวร้าวชิงชังขึ้นในหัวใจตอกปลายลิ่มสร้างรอยปริแตกที่จะส่งผลทำลายล้างมิอาจควบคุม
แล้วฉากชีวิตก็จะผ่านพ้นไป
ทั้งหมดย่อมเป็นฉากแห่งความทรงจำ
ต่างแค่ว่าเป็นฉากที่เต็มด้วยรอยยิ้มของครอบครัว เสียงหัวเราะของเด็ก ๆ หรือระงมไห้ ซากร่างและคาวเลือด
เป็นยุคสมัยของเรา เราเลือกได้ ●
Tags: บอกอแบกบาล
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น