จาก : มติชนออนไลน์

ชื่อนักเขียนจีนวัย 52 ปี



นามว่า "หยูหัว"


อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนักอ่านชาวไทยเท่าไหร่นัก

หยูหัว(ภาพจากเว็บไซต์ของนิวยอร์ก ไทมส์)

แต่หากเป็นวงการน้ำหมึกระดับโลก ชื่อนี้เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ถูกจับตามองในฐานะนักเขียนจีนที่จ่อคิวที่จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม...

โดยในทุกปี ช่วงเวลาที่ใกล้จะประกาศผลรางวัลโนเบล หยูหัว เล่าให้ฟังว่า เขาต้องปิดโทรศัพท์มือถือ ด้วยเหตุว่า สื่อต่างประเทศจะโทรมาหาเขาสายแทบไหม้ เพื่อที่จะถามไถ่ว่า ตกลงทาง "โนเบล" แจ้งว่าเขาได้รับรางวัลนี้หรือยัง?

แม้ว่าวันนี้เขายังไม่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินั้น แต่เรื่องเล่าของเขา ทำให้เห็นว่า สื่อต่างชาติตามติดงานของเขาเสมอ

โอกาสดีที่ว่า เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว(ปี 2011) หยูหัวมาเยี่ยมเยียนเมืองไทย "มติชนออนไลน์" จึงมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับเขา

สำหรับความเป็นมาของหยูหัว ครั้งหนึ่ง เขาเคยเป็นจับเครื่องมือถอนฟันในฐานะทันตแพทย์ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาจับปากกาเป็นนักเขียนในยุคต้นทศวรรษที่ 80 ที่การปฏิวัติสิ้นสุดลง อันทำให้นิตยสารวรรณกรรมซึ่งถูกห้ามมานับสิบปีเริ่มตีพิมพ์อีกครั้ง

งานชิ้นสำคัญของเขาก็ ได้แก่ To Live, Chronicle of a Blood Merchant และBrothers สะท้อนภาพความทุกข์ยากของคนเล็กคนน้อยในประเทศจีนในยุคคอมมิวนิสต์ที่นับถือ "ประธานเหมา" เป็นวีรบุรุษสูงสุดของประเทศ(ทั้งสามเล่มแปลเป็นไทยโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์)

โดยเฉพาะ To Live เป็นหนังสือที่ผู้กำกับดังอย่าง จาง อวี้โหมว ประทับใจมาก จนนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปีค.ศ.1994 ก่อนที่ 14 ปีต่อมา ผู้กำกับคนนี้จะได้รับหน้าเสื่อกำกับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 2008

ภาพยนตร์เรื่อง To Live

หยูหัว ได้เล่าถึงการพบกันกับผู้กำกับชื่อดังอย่างจาง อวี้โหมวด้วยอารมณ์ขำขันว่า...

"ประมาณเดือนสิบ ปลายปี 1992 ตอนที่หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกครั้งแรกในฉบับแซมเปิ้ล(ตัวอย่าง) ตอนนี้จางอวี้โหมวถามผมว่า มีงานใหม่ไหม ตอนนั้น To Live ยังไม่วาง พิมพ์มาเป็นแซมเปิ้ล ผมก็ยกฉบับแซมเปิ้ลมาให้จางอวี้โหมวอ่าน จางอวี้โหมวอ่านคืนเดียว บอกว่าปลื้มมาก ซาบซึ้งมากจนกระทั่งเขาอดนอน นอนไม่หลับ ดังนั้น จาง อวี้โหมว จึงเป็นนักอ่านคนแรกของ To Live ตอนนั้นผมดีใจมาก ดีใจ ที่นักอ่านคนแรกอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วปลาบปลื้มจนนอนไม่หลับ

"แต่ต่อมาภายหลัง จึงรู้ว่า ที่แท้ไอ้หนูนี่ เป็นคนที่นอนวันละหนึ่งชั่วโมงสองชั่วโมงเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าหากนายคนนี้มาบอกคุณว่า เขาตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ คุณไม่ต้องดีใจหรอก มันนอนไม่หลับ เพราะเป็นคนที่ไม่นอนอยู่แล้ว(หัวเราะ) แล้วต่อมาอยากนำเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็มีการพูดคุยกัน แล้วก็ร่วมงานกัน ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนตรงกลางของหนัง จางอวี้โหมวเคยคิดที่จะทิ้ง จะยกเลิก เพราะมีคนบอกแกว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายทำเสร็จน่าจะมีปัญหา แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจทำให้จบ จึงเห็นได้ว่า เขาเป็นคนที่ชอบเรื่องนี้มากจริงๆ"

และเมื่อปีที่แล้ว(ปี 2011) หยูหัว ได้ออกหนังสือเล่มใหม่ที่มีชื่อว่า "China in Ten Words" (ฉบับแปลไทยใช้ชื่อว่า "สิบคำนิยามจีน" โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์)

หนังสือเล่มนี้ได้หยิบคำจีนที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากตั้งแต่ช่วงที่จีนก้าวเข้าสู้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 จนมาถึงวันนี้ ที่แม้รูปแบบจะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบตลาดอย่างเต็มตัว

10 คำที่ปรากฏในหนังสือ อย่างเช่นคำว่า ประชาชน, ผู้นำสูงสุด, ความแตกต่าง, การปฏิวัติ, รากหญ้า และ ซานจ้าย(ของปลอม) เป็นต้น

คำเหล่านี้ สรุปความเป็นสังคมจีนในปัจจุบันได้อย่างแหลมคม และ "แรง" จนหนังสือเล่มนี้ถูกแบนโดยรัฐบาลจีน

เขาให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการทำหนังสือ "China in Ten Words" นั่นเพราะว่า ในปี 2009 ที่เขาเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์นองเลือดที่จตุรัสเทียนอันเหมินอันเนื่องมาจากการที่ประชาชนประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย

หนังสือ China in Ten Words

หยูหัวระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นที่เขาเคยไปเข้าร่วมด้วยว่า...

"ปี 2009 เป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน แล้วตัวผมอยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อตอนเดือนมิถุนายนในปีนั้น ผมมีความคิดที่อยากจะเขียนถึงมัน ก็จึงอยากเขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับเทียนอันเหมินขึ้นมา ว่าแล้ว ผมเลยลงมือเขียนบทที่ 1 ของหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ชื่อบทว่า ′ประชาชน′ ในตอนนั้น ไม่ได้มีความคิดอยากจะนำเสนอ หรือตีพิมพ์เผยแพร่บทความบทนี้ เพราะบทความบทนี้ ไม่มีทางที่จะเผยแพร่ในประเทศจีนได้จริง เป็นเพียงบทความที่เขียนเก็บไว้ให้ตัวเองอ่านเท่านั้น

"ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ทางหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ก็โทรมาหาผม แล้วบอกว่า อยากได้บทความที่เขียนถึงเทียนอันเหมิน ผมก็เลยเขียนเสร็จแล้วพอดีแล้วส่งไปให้ แล้วต่อมาก็เขียนบทที่ 2 ซึ่งมีชื่อว่า ′ผู้นำสูงสุด′ แล้วนักแปลชาวอเมริกัน ก็แปลบทความเป็นภาษาอังกฤษทั้ง 2 บท แล้วก็บริษัทเอเจนซีของผมที่อังกฤษ ก็คือ แรนดอม เฮ้าส์ ก็เลยเอาบทแปลทั้ง 2 บท ไปเร่ขายลิขสิทธิ์ในงานหนังสือที่แฟรงเฟิร์ต ปี 2009 แล้วในงานนั้นก็ขายได้ 10 ประเทศ 10 ภาษา ผมจึงต้องมาเขียนคำศัพท์ต่ออีก 8 คำให้จบ"

เขาพูดถึงเนื้อหาภายในเล่มว่า...

"หนังสือเล่มนี้ เล่าประเทศจีนผ่านคำศัพท์ 10 ตัว คำศัพท์ 10 ตัวเป็นคำศัพท์ที่ยังเป็นที่นิยมในการใช้อย่างมาก ในประเทศจีนในวันนี้ อย่างเช่นคำว่า ประชาชน คำว่าผู้นำสูงสุด เป็นคำที่มีความถี่ในการใช้งานสูงสุดตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งวันนี้ ก็ยังเป็นคำที่นิยมอยู่ ส่วนสามคำสุดท้ายคือ รากหญ้า ซานจ้าย(ของปลอม) และฮูยิว(โกหก) ก็ป็นคำที่นิยมของคนยุคหลังๆ เพราะฉะนั้น บทสรุปท้ายเล่มจึงเขียนว่า หนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงความรู้สึกเจ็บปวดของประเทศจีน

"สังคมจีน 30 ปีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทุกคนเลยใช้ชีวิตอยู่กับผลของการพัฒนาโดยที่ไม่รู้เหตุ ตามหลักการ เมื่อมีผล ย่อมมีเหตุ หนังสือเล่มนี้ จึงนำพาไปหาเหตุ ของ 30 ปีที่ผ่านมา คือหนังสือทั่วไป อาจจะเริ่มเล่าจากเหตุ แล้วนำไปสู่ผล หนังสือเล่มนี้จะบอกผล แล้วพากลับไปหาเหตุ แล้วคุณจะพบเองว่า ประเทศนี้ อยู่ในความเจ็บปวด"

และเมื่อหยูหัว เขียนได้จนจบเล่มแล้ว หนังสือของเขาโดนแบนจากจีนแบบไม่ต้องสืบ

"การที่โดนหนังสือผมโดนแบน เพราะเนื้อหาที่พูดถึงเทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามที่จะพูดถึงในจีน ไม่มีสำนักพิมพ์ในประเทศจีนสักสำนักพิมพ์ที่กล้าพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ซึ่งก็มีสำนักพิมพ์ที่นำเสนอให้ถอดบทที่ 1 ออก บทประชาชน แล้วปรับแก้เนื้อหาบทอื่นเพื่อสามารถให้ผ่านการเซ็นเซอร์ อย่างนี้จึงจะสามารถพิมพ์ได้ แต่ผมไม่ยอม อยากจะรักษาความสมบูรณ์ของตัวหนังสือไว้ให้เป็นอย่างนี้

"แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่า สักวันหนึ่ง หนังสือของผมจะได้ตีพิมพ์ในประเทศจีน เพราะผมเชื่อว่า ประเทศจีนแบบประชาธิปไตย แบบที่ผมคาดหวัง สักวันหนึ่งจะมาถึง แล้วหากวันนั้นมาถึง หนังสือเล่มนี้ก็จะได้รับตีพิมพ์ ไม่ถูกแบนอีกต่อไป"

จากเว็บไซต์ www.salon.com

อ้าย เหว่ยเหว่ย ศิลปินนักเรียกร้องสิทธิชาวจีน ถูกรัฐบาลจีนจำกัดการนำเสนองานของตนเองจนเป็นข่าวดังระดับโลก ความเข้มข้นในการเซ็นเซอร์ของจีนในลักษณะนี้ ส่งผลให้งานและชีวิตของหยูหัววุ่นวายจากการควบคุมของรัฐบ้างไหม? เขาตอบว่า...

"ประเทศจีนเป็นประเทศแปลกๆ การเมืองของจีน การเมืองจะเป็นไปตามขนบ แต่ถ้าเป็นเรื่องการใช้ชีวิต จะเปิดมากๆ นั่นก็คือสิ่งที่รัฐบาลเขาอยากจะเห็น เขาเปิดให้ประชาชนมีการใช้ชีวิตที่เป็นอิสระ เพื่อที่จะเป็นภาพบอกกับทุกประเทศว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอิสระ เวลาคนที่ไปเมืองจีน จะรู้สึกว่า ประเทศจีนก็ไม่ได้ปิดตัว ไม่ได้อยู่ในกรอบอะไรมากมายเหมือนที่นึกภาพไว้ก่อนที่จะมา แต่สำหรับในบางอาณาเขต ในบางวงการ มันก็จะเป็นอะไรที่ปิดมากๆ อย่างสมมติวันนี้จะบอกว่า ฉันจะตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ผมบอกได้ทันทีว่า ไม่เกินหนึ่งวันผมก็โดนจับ จากนั้นถูกตัดสินในโทษฐานกบฏแน่นอน"

เมื่อปีที่แล้ว ปี 2011 ประเทศจีนเพิ่งครบรอบ 100 ปีจากการเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีมากว่า 2,000 กว่าปี มาเป็นระบอบสาธารณรัฐในปี 1911

ในยุคนี้ ยุคที่ภาพยนตร์ที่พูดถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายของจีนอย่าง The Last Emperor(1987) กลายเป็นหนังฮอลลีวูดรางวัลออสการ์

ยุคที่ภาพประธานเหมากลายเป็นสินค้าสินค้าที่ระลึกที่สกรีนบนเสื้อยืดขายแถวพระราชวังต้องห้ามที่กรุงปักกิ่ง

และเป็นยุคที่แม้ว่าการเมืองจะเป็นคอมมิวนิสต์ก็จริง แต่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ทำให้ประเทศนี้ ทะยานสู่การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา

น่าสนใจว่า ในฐานะนักเขียนที่เฝ้ามองประเทศของตนเองตลอดมา หยูหัวค้นพบอะไรในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาของจีน?

"ถ้าย้อนกลับไปมอง การปฏิวัติ 100 ปีก่อน ปี 2011 เป็นการสิ้นสุดระบบการปกครองโดยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ร่วมสองพันกว่าปี ในวันนั้น แต่สุดท้าย พอเกิดการสู้รบในจีน พอถึงปี 1949 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะ สิ่งที่มาแทนที่ก็ไม่ต่าง มันก็คือ เผด็จการของคอมมิวนิสต์มาแทนที่

"ประเทศจีนหลังปี 1949 สิ่งที่ผจญต่อไปก็คือ การต่อสู้ทางการเมือง คือการต่อสู้ทางชนชั้น โดยเฉพาะในช่วงของการปฏิวิติวัฒนธรรม ทุกๆวัน สิ่งที่พูดคุยกันติดปากก็คือ การต่อสู้ ความจริงในยุคนั้น ถือเป็นยุคที่ไม่มีชนชั้นแล้ว เพราะปี 1949 โดยหลัก พวกที่มีชื่อว่าเป็นแลนด์ลอร์ด(เจ้าที่ดิน) เศรษฐี  มันไม่มีแล้ว ถูกดึงไปหมดแล้ว

"แต่จีนในวันนี้ ก็มีนายทุน มีคนรวย คนจน แต่พวกเราก็ไม่พูดถึงการต่อสู้ในเรื่องชนชั้นอีกแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะสิ้นสุดการปฏิวติวัฒนธรรม ประเทศจีนเป็นประเทศของการเมือง แต่หลังจากวันนั้นมา จนถึงวันนี้ คือประเทศจีน คือ ประเทศเศรษฐกิจ เมื่อก่อน เวลาที่นั่งล้อมวงคุยกัน บทสนทนาที่คุยกันก็จะเริ่มต้น่วา ‘ท่านประธานเหมาพูดว่า...’ หรือว่า ′มาร์กซิส พูดว่า...′ แต่พอตอนนี้ คนรวมหัวล้อมวงกัน ก็จะคุยกันว่า หาเงินกันอย่างไร จะไม่มีใครแคร์ แยแส หรือว่าใส่ใจแล้วว่าท่านเหมาว่าอย่างไร มาร์กซิสว่าอย่างไร"

แม้แต่วัดในเมืองจีน แค่มองไปที่กระถางธูปที่ใช้ไหว้เจ้า ก็ยังอธิบายภาพย่อของความเป็นจีนในวันนี้ได้อย่างแหลมคม...

"ความจริงที่ประเทศจีน ศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นศาสนาพุทธคล้ายกับประเทศไทย แต่ว่าวัดจีนวัดไทยไม่ค่อยเหมือนกัน ถ้าเกิดไปเที่ยวที่เมืองจีนในตอนนี้ แล้วมีโอกาสเข้าไปดูวัดดังๆของจีน เวลาที่จะไปไหว้พระ เราจุดธูปไหว้พระ จะมีกระถางธูปใหญ่ๆอยู่ 2 กระถาง กระถางหนึ่งเอาไว้ขอพรคุ้มครองให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข แล้วจะมีกระถางใหญ่ๆอยู่ข้างๆอีกกระถาง ขอพรให้รวย ทำมาค้าขึ้น คุณจะเห็นว่า ธูป ควันไฟ ในกระถางขอให้ร่มเย็นเป็นสุข จะน้อย แต่กระถางธูปขอให้รวย จะมีเยอะมากมาก เพราะฉะนั้น คนจีนสมัยนี้ จึงบอกว่า ขอให้ร่ำรวยเหอะ ไม่ร่มเย็น ไม่แข็งแรง ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นไร ขอให้รวยไว้ก่อน"

เมื่อคราวที่หยูหัวมาเยือนเมืองไทย

แล้วหยูหัว เชื่อในระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบไหน?

"ระบบเศรษฐกิจกับการเมือง เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ส่วนตัวผมเอง อยากจะเชิดชู รณรงค์ และผลักดันการเมืองแบบประชาธิปไตยมากกว่า เพราะว่า ระบบการเมืองประชาธิปไตย สามารถทำให้ประเทศทำผิดได้น้อยลง ในหนังสือ ′China in Ten Words′ ผมได้เขียนถึงความเร็วในการพัฒนาตัวเองของประเทศจีน 30 ปี แต่ความเร็ว มันเป็นความเร็วที่เกิดขึ้นภายใต้การเมืองและรัฐบาลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย หากจะให้รัฐบาลเผด็จการมาพัฒนาเศรษฐกิจมันสามารถที่จะพัฒนาได้เร็วมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่า ถ้าเป็นประเทศไทย หากจะต้องรื้อตึกสักตึก อยากจะรื้อ จะถอน ทุบทิ้ง เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเป็นประเทศจีน พอรัฐบาลบอกรื้อก็รื้อเลย แล้วก็ จากการพัฒนาการอย่างรวดเร็วมาก ภายใต้การเมืองและรัฐบาลที่ไม่โปร่งใส นำไปสู่ผลเสียในภายหลัง ซึ่งตอนนี้ก็เห็นผลร้ายแล้วในหลายอย่าง อย่างเช่นเรื่องของสภาพแวดล้อม สร้างโรงงานเคมีที่ใดที่หนึ่ง แล้วโรงงานเคมี ผ่านไปไม่กี่ปี ก็ทำให้แม่น้ำทั้งสายเน่าเสีย

"โรงงานเคมีแบบนี้ 2-3 ปีอาจจะมีกำไรสุทธิประมาณ 10 ล้านหยวน แต่การจะไปแก้ไขเรื่องของน้ำเสียให้กลับมาเป็นเหมือนเมื่อก่อน อาจจะต้องใช้เงินถึง 1-2 พันล้านหยวน  แล้วพอเวลาผ่านไปนานเข้า ก็จะพบว่า ตอนนี้คุณเห็นว่าน้ำมันดำขึ้น เหม็นขึ้น ต่อมามันจะเข้าไปสู่เรื่องของดีเอ็นเอ เรื่องของยีนของมนุษย์ซึ่งหมายความว่า หมู่บ้านของคนที่อยู่ตรงแม่น้ำสายนี้ ก็อาจจะเป็นโรคมะเร็งแบบเดียวกัน แล้วเด็กหลายคน แรกเกิดออกมา ก็เป็นเด็กทารกพิการ เกิดมาก็ต้องทิ้ง

"ทั้งหมดนี้คือผลเสียที่เกิดจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในการเมืองที่ไม่โปร่งใส และด้วยสาเหตุเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สร้างความขัดแย้งให้กับสังคมขึ้นเยอะมาก ความขัดแย้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นทางการเมืองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในวันนี้ ร้ายแรงและเลวร้ายกว่าในวันนั้นของราชวงศ์ชิงเสียอีก เพราะฉะนั้น เหตุปัจจัยที่ทำให้ประเทศจีนต้องผจญกับการปฏิวัติ ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ประเทศจีน ต้องทำให้ตัวเองค่อยๆผันไปสู่การเป็นประชาธิปไตยทีละก้าว ทีละนิด

"เพราะฉะนั้น ตอนนี้ ผมอยากให้ประเทศของผม อย่าทำอะไรให้มันผิดไปกว่านี้ สำคัญกว่าการทำให้ประเทศเราก้าวหน้าไปกว่านี้ ความจริง ประเทศไหน รัฐบาลไหน ก็ต้องมีการทำผิดอยู่แล้ว แต่ความผิดของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ข้อดีอย่างหนึ่งคือมันแก้ไขได้ แต่ความผิดที่กระทำโดยรัฐบาลเผด็จการ มักจะแก้ไขไม่ได้ พราะฉะนั้น ทางออกสุดท้ายของประเทศจีน คือ ต้องเป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมาย ประเทศที่มีนิติรัฐ เป็นประชาธิปไตย"

คำว่า "ประชาธิปไตย" คงเป็นคำที่หอมหวานสำหรับ นักเสรีนิยมทั่วโลก

ไม่เว้นแม้แต่นักเขียนว่าที่รางวัลโนเบลที่เพิ่งสิ้นสุดการสนทนากับเราเมื่อครู่นี้


เรื่อง...ณัฐกร เวียงอินทร์