By : Jane Anaja - วันที่ฉันวางหนังสือ:

19/12/11 วันที่ฉันวางหนังสือ

ชื่อตอนนี้ได้แรงบัลดาลใจจากชื่อหนังสือ “วันที่ถอดหมวก” ของ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
หลังจากที่ใช้เวลาหลายอาทิตย์ก่อนหน้านี้ อ่านหนังสือมากมายหลายเล่ม เช่น หนังสือของท่าน โชเกรียม ตรุงประ โอโช กฤษณมูรติ และล่าสุดที่ยังเปิดค้างไว้อยู่คือ พุทธพ้นลัทธิ (ซึ่งก็ยังอ่านไม่จบ เป็นนิสัยที่แย่มาก คืออ่านอะไรก็อ่านไม่จบ) ของสตีเฟน แบเชเลอร์ แต่ก็ชอบอ่านแล้วรู้สึกคล้อยตาม ตั้งแต่ที่สตีเฟนไปบวชแบบวัชรยานของธิเบต จนตอนหลังมาสนใจเรื่องเซน และสุดท้ายคือสละเพศบรรพชิตไปแต่งงานและใช้ชีวิตเป็นฆราวาสตั้งแต่นั้น ซึ่งหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ก็ได้เขียนถึงหนังสือเล่มนี้เอาไว้ ที่ http://www.visalo.org/article/budPonLatti.htm เผื่อใครสนใจ ในรายละเอียด หลัก ๆ สตีเฟ่นอยากจะกลั่นคั้นเอาเนื้อความเป็นศาสนาพุทธออกมาว่าจริง ๆ แล้ว อะไรคือพุทธ

การสะสมการอ่านในช่วงหลายเดือนหลัง ๆ มานี้ รวมถึงมีการเสิร์ชหาข้อมูลต่าง ๆ เลยได้พบเจอกับหนังสือหรือเรื่องราวของบุคคลหลาย ๆ คนที่น่าสนใจ  ไม่ว่าจะเป็นนักปรัชญาชาวตะวันตก อย่างนิชเช หรือ ปราชญ์และผู้นำทางจิตวิญญาณทางตะวันออก  โดยเฉพาะเหมือนกับได้มาพบขุมทรัพย์ที่คิดว่าเราเคยมีแล้วเราลืมมันไปสนิท อยู่มาวันหนึ่งก็เจอโดยบังเอิญ คือ หนังสือของท่านกฤษณมูรติ "กบฎความคิด" ยังไม่อยากลงไปในรายละเอียดเรื่องหนังสือ แต่หนังสือเล่มนี้ของท่านถือว่าเป็นคลาสสิคไปแล้ว เหมือนกับถ้านึกถึงท่านพุทธทาสคงจะนึกถึง "คู่มือมนุษย์" ตอนนี้อยากบันทึกถึงอาการหลังจากอ่านมากมายแล้วของตัวเองเอาไว้ อยากให้มันเป็นบันทึกการเดินทางของคนที่ไม่รู้เดียงสาคนหนึ่งว่าเราล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไร  อย่างที่สตีเฟน แบเชเลอร์ได้อ้างอิงถึงในหนังสือเขาอยู่เป็นระยะประกอบงานเขียนของเขาว่าเขาบันทึกอะไรไว้บ้าง ซึ่งมันย้อนหลังไป 20-30 ปีทีเดียว และคิดว่ามันจะมีคุณค่าอย่างเหลือเฟือในวันที่เรากลับมาทบทวนตัวเอง

พออ่านมากเริ่มคิดว่าเราต้องมีศาสนาไหม  โดยเฉพาะถ้าอ่านของท่านกฤษณมูรติซึ่งท่านจะเน้นว่าไม่มีลัทธิ ไม่มีคุรุ ให้เหลือเป็นความจริงของธรรมชาติ ไม่มีกฎไม่มีพิธีกรรมมาตรฐานศีลธรรมอะไรที่กำหนดขึ้นมาทั้งนั้น ผสมรวมกับการอ่านของโอโชและนิชเช ซึ่งอาจจะเรียกว่าอ่านแบบสะเปะสะปะก็ได้ แต่คิดอะเยอะ คือเอามาคิดต่อ บางทีคิดทั้งวัน  จำได้ว่า เพื่อนเก เคยบอกเตือน ๆ ให้รู้กายรู้ใจไว้ตลอดแบบที่อาจารย์ วรภัทรได้บรรยายไว้ ซึ่งตอนนั้นก็ชอบที่ท่านได้บรรยายเอาไว้หลาย ๆ อย่าง  แต่ก็ยังไม่ได้ทำเรื่องรู้กายรู้ใจมีสติต่อเนื่อง เพราะยังคิดว่า เราต้องคิดสิ เราต้องตั้งคำถาม เราถึงจะได้คำตอบ ถ้าไม่คิดก็เชื่องมงายหนะสิ ก็บ้าคิดต่อไป ไม่สนใจคำทักท้วงของเพื่อน ซึ่งมันออกอาการเห็นได้ชัดที่เที่ยวโพสทาง Facebook ไปเพ่งโทษ หรีอเที่ยวออกความเห็น  วิจารณ์ เรื่องต่าง ๆ หรือไม่ก็สรุปบทเรียนอะไรของตัวเองขึ้นมาแล้วก็โพส  ซึ่งคิดว่านั่นเจ๋ง (แต่ทำไม่ได้ น่าสมเพช น่าขำตัวเองมาก)  ปรัชญาตะวันตกอะไรก็ไม่ได้รู้เรื่องเยอะหรอกนะแต่รู้สึกว่าความโอหังอวดดีของตัวเองหนะเยอะ คิดว่าต้องรู้ไง ต้องคิด ต้องหาคำตอบจากการคิด ไม่งั้นจะไปเชื่อได้ยังไง เลยเที่ยวยืมหนังสือ World Religions มาอีกซึ่งก็ยังกองไว้ แล้วก็มีหนังสือ เต๋า กับ เซน ด้วยที่ยังไม่ได้อ่าน โลภไปหมด

ยังไม่พอยังคิดว่าตัวเองนี่พอใช้ได้แล้วนะเพราะเราจะทำตัวเป็นแบบท่อรั่ว ๆ ไม่รับไม่เก็บอะไรเอาไว้ รับทุกอย่างเข้ามาเหมือนเป็นเรื่องใหม่เพิ่งเจอครั้งแรกในชีวิต  เราจะพยายามไม่มีสัญญา สิ่งต่างๆที่สัมผัสต่างเป็นประสบการณ์แรก  เหมือนที่ท่านกฤษณมูรติกับโอโชพูดไว้ ก็คิดว่านี่แหละที่สุดแล้ว แต่ไม่เคยได้ปฎิบัติเจริญสติเลย คิดได้อย่างเดียว หลงอยู่ในวังวนกับดักความคิดนี่แหละ เหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง อ่างเราเล็กเราก็วนหลายรอบ อ่างใครใหญ่ก็วนนานหน่อยกว่าจะรู้ตัวว่า เออนี่กรูวนมากี่รอบละเนี่ย

การอ่านหนังสือเหล่านั้นมันก็ทำให้มีปรากฎการณ์อื่นที่น่าสนใจเกิดขึ้นกับชีวิตตัวเองด้วย เช่นการเริ่มรู้จัก วัชรยาน มหายาน ทำให้เราได้เห็นภาพรวมของพุทธศาสนาว่ามันไม่ได้มีแต่หินยานแบบที่เราเคยรู้เคยเติบโตมา  และเราก็ได้เห็นว่าหินยานก็มีข้อจำกัดในตัวเอง  คิดว่ามหายานและวัชรยานก็คงมีเหมือนกันนั่นแหละ ตรงนี้ทำให้เราคลายความถือมั่นในสิ่งที่เราเคยเชื่ออย่างสุดใจ  คือมันจะน้อมรับสิ่งต่าง ๆ เข้ามาได้  เราจะถ่อมตัว (humble นะนึกภาษาไทยไม่ออก) แล้วการอ่านของกฤษณมูรติมันก็ทำให้เรารู้สึกถึงอิสรภาพอย่างแท้จริง  เป็นคนใจกว้าง เปิดใจนะ ที่ไม่ชอบก็อ่านได้ ที่ไม่เชื่อก็อ่านได้ แบบท่อรั่วน่ะผ่านมาแล้วก็ผ่านไป รับได้ยังไม่ตัดสิน  อันนี้คือข้อดีที่ได้จากการอ่านช่วงที่ผ่านมา หลาย ๆ อย่างที่ท่านกฤษณมูรติได้บรรยายหรือได้สื่ออกมา  มัน thought provoking คือมันกระตุ้นความคิด มันน่าเก็บเอามาขบคิด (อ้าว คิดอีกละ) แต่ก็มีคนวิจารณ์แนวคิดของท่านกฤษณมูรติคือมันขาดแนวทางที่ชัดเจน จะทำอย่างไร จะปฎิบัติอย่างไร ซึ่งตรงนี้ทางพุทธศาสนาก็มีแนวทางไว้ชัดเจนแล้ว

จากนั้นก็เริ่มเข้าใจเรื่องการติดดี คิดว่ามันระบาดพอสมควรนะในสังคมพุทธแบบบ้านเรา  อันนี้ก็ได้จากการอ่านของ โยคีตั้ม วิจักขณ์ พานิช ได้ยินคำว่า “วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” ซึ่งมันสะดุดกึกเลย มีด้วยเหรอเนี่ย เราเคยได้ยินแต่คนสะสมเงิน มีพวกสะสมความดีงามด้วยเหรอแบบโลภเอาความดีหนะ โดยเฉพาะตอนที่อ่านของท่าน โชเกรียม ตรุงประ ทำให้รู้สึกว่าเออ เราสัมผัสถึงการรักเพื่อนมนุษย์ได้ คือรักจากใจจริง ๆ นะ ไม่ใช่แผ่เมตตาแล้วจบกันไป เพราะท่านบอกว่าบนเส้นทางอันศักดิ์สิทธิ์ที่คุณจะเดิน คุณจะตัดเอาแต่ส่วนที่คุณต้องการได้มั้ย คุณจะเอาแต่ที่ดี ๆ คนดี ๆ  คุณไม่เอาสลัมคุณไม่เอาคนที่คุณไม่ชอบ คุณกำลังสร้างโลกที่หลอกตัวเอง ชอบมุมมองการมองของท่านตรุงประ ซึ่งจะว่าไปแล้วท่านก็แหวกแนวและมีหลายคนคิดว่าท่านเป็น คุรุบ้า คงเหมือนคนมองท่านพุทธทาสในช่วงแรก ๆ นี่แหละ

ในขณะเดียวกันก็เริ่มรู้ว่าการตั้งค่าความดีหรือจริยธรรมอะไร  ข้อกำหนด พิธีกรรม ความเชื่อ ขึ้นมา และผ่านมาหลายยุคหลายสมัย จนเป็นจุดตายตัวและเทิดทูนเป็นสิ่งสูงส่งแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่พิจารณา หลายเรื่องเป็นการใส่สีตีใข่ให้ได้รสชาติหรือได้ผลประโยชน์กับคนบางกลุ่ม   เรามักรับมาแบบขาดกระบวนการสร้างปัญญาร่วมด้วย คือจะว่าไปแล้วเหมือนที่สตีเฟน แบเชเลอร์เขียนในหนังสือพุทธพ้นลัทธิ ว่าช่วงแรกที่บวชเป็นพระธิเบต มีหลายอย่างที่ท่านสงสัยแต่ก็เชื่อ และตอนหลังท่านก็บอกว่าพอทบทวนดูแล้วท่านไม่ได้เชื่อจริง ๆ หรอกแต่ที่เชื่อว่าตัวเองเชื่อเพราะใจมันอยากจะเชื่อหลอกตัวเองว่าตัวเองเชื่อ งงมั้ย การเชื่อแบบไม่ตั้งคำถาม ถ้าเทียบง่าย ๆ (เพื่อนเกโทรฯ มาเล่าเรื่องลูกเขาให้ฟัง เลยขอเอามาเปรียบเทียบ) ครูมาบอกคุณว่าจะเขียนเลข 1 ต้องลากตามแบบนี้แบบบนลงล่างนะ พอเราจะเขียนเลข 1 โดยลากจากล่างขึ้นบน ครูบอกว่าผิด (ครูก็จำจากที่ ครูของครู และบรมครูบอกมา) ทั้ง ๆ มันก็ได้ผลเป็นเลข 1 เหมือนกันไม่ว่าจะลากยังไง เผลอ ๆ บางทีครูโหด ๆ ให้ยืนคาบไม้บบรทัดให้อายเพราะไม่เชื่อครู ถึงขั้นทำกันขนาดนี้เพื่อที่จะให้การเขียนเลข 1 ต้องลากจากบนลงล่างเท่านั้นห้ามเพี้ยน  เพราะฉะนั้นในบางครั้งความเชื่อ ความสูงส่งทั้งหลายก็น่าจะคล้ายกับวิธีการเขียนเลข 1 แต่ถ้าเราไม่ทักท้วงครูแล้วทำตามที่ครูบอกวิธีเขียนเลข 1 นั่นจะเรียกว่าเป็นศรัทธาก็ได้  ซึ่งมันก็เป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสียเหมือนกัน ส่วนเราจะสงสัยไปตลอดก็ไม่ได้ลงมือปฎิบัติอะไร เที่ยวเดินออกนอกตัวค้นหาคำตอบ

จะทำยังไงล่ะถึงจะได้คำตอบที่คิดว่าถูกต้อง

ส่วนมากคนที่คิดว่าตัวเองมีการศึกษาผ่านระบบการศึกษาแบบตะวันตกมาก็คือต้องอ่านมาก ๆ ต้องดูต้องฟังเยอะ ๆ ถึงจะมีคำตอบต่อข้อสงสัย  ซึ่งมันก็มักขาดศรัทธาที่จะลงมือปฎิบัติเพราะมัวแต่ตั้งคำถาม มาสะดุดกึกเลยตรงที่อ่านของท่านเขมานันทะ โดนสุดสุด คือหลังจากทั้งเพื่อนเก ทั้งอาจารย์วรภัทรช่วยจี้จุดให้แล้วว่า เริ่มจากเจริญสติก่อน อย่าเพิ่งไปคิด ยังไม่พร้อม ให้รู้ว่าจิตสงบกับไม่สงบมันต่างกันอย่างไร แล้วค่อยคิดตอนนี้ยังคิดเยอะนะฟุ้งซ่านนะ  คือหลังจากที่คิดเยอะ ๆ เพ่งโทษ วิจารณ์ (คือคิดว่าเราต้องวิพากษ์วิจารณ์นะ แต่ต้องบนพื้นฐานมีเมตตาและรักกัน) มีเพือนในเพจแม่สิ้นคิด คุณช้างยิ้ม เขียนมา คุย ๆ กัน พูดเรื่อง "รู้ กับ คิด" ทำให้นึกถึงโอโชกับกฤษณมูรติขึ้นมา แล้วเกิดแว่บเห็นชื่อท่านเขมานันทะขึ้นมาจากในบทความที่ ตั้ม วิจักขณ์ พานิช เขียน เลยเสิร์ชอ่านบทความท่าน ซึ่งก็บังเอิญมากอีกเหมือนกันที่ช่วงหลายเดือนก่อนเราอยากลองเจริญสติแบบเคลื่อนไหว  ซึ่งหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ก็มีวีดีโอขึ้น YouTube ไว้ เราก็ดูอยู่แต่ไม่ได้ลงมือจริงจัง (คงเป็นช่วงที่ได้เริ่มรู้จักอาจารย์วรภัทรหละมั้ง เมื่อราวๆ 4-5 เดือนก่อน) ก็เลยได้ทราบว่าท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อคำเขียนซึ่งหลวงพ่อคำเขียนก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเทียนด้วย

มันเลยถึงจุดที่โถมมาทุกทิศทุกทาง ไม่ว่าจะจากการร้อนรนของตัวเองที่สนใจอยากออกความเห็น เพ่งโทษ วิจารณ์ (จริง ๆ ก็น่าจะทำได้นะ แต่ตามที่พอเข้าใจคือตอนที่จิดสงบเป็นกุศล ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีและยังห่างไกลมาก)  การชี้แนะและทักท้วงจากทั้งเพื่อนเก (ที่เราเริ่มต้นมาด้วยกัน แล้วเราก้อสัญญากันว่าเราจะเป็นกัลยาณมิตรในการเดินทาเส้นทางธรรของเรา) และอาจารย์วรภัทร รวมถึงการสนทนากับคุณ ช้างยิ้ม สุดท้ายคือการอ่านเจอข้อความของท่านเขมานันทะจึงเป็นเหมือนกับสารส้มที่ทำให้ตะกอนขุ่น ๆ มันตก ที่อ่านของท่านเขมานันทำแล้วมันคลิกอาจจะเป็นเพราะท่านเล่าว่าเมื่อก่อน (แม้แต่ตอนบวชที่สวนโมกข์มานานหลายพรรษาแล้วก็ตาม) เป็นคนคิดเยอะ ทฤษฎีเยอะ ซึ่งหลวงพ่อเทียนท่านไม่รู้หนังสือ ท่านเข้าถึงโดยไม่ได้ผ่านทฤษฎีหรือความรู้ใด ๆ มันจึงกว้างใหญ่ไพศาลมาก หลวงพ่อเทียนท่านคงไม่มีกรอบอะไรมาปิดกั้น เศษขยะที่เป็นความรู้รก ๆ ก็คงมีไม่เยอะ  ข้อความต่าง ๆ ที่อ่านของท่านเขมานันทะ มันทำให้อะไรต่าง ๆ ใสขึ้น ชัดเจนขึ้น จะคลิกอะไรกับใครนี่มันต้องถูกจริตและต้องถึงเวลาที่เหมาะสมด้วยละมั้ง ...เอามาให้ชิมพอหอมปากหอมคอก่อนนะ

...การบรรลุธรรมไม่ใช่การคิดเอา
ไม่ใช่อ่านหนังสือพระไตรปิฎกมาก ๆ
แล้วก็ว่าคนนี้บรรลุธรรมแล้ว
นั่นอาจเป็นเพียงการคลั่งคำพูด
ซึ่งบ้านเรานี่มีสอนกันมาก เพราะว่าอ่านมากเรียนมาก
เทศนากันเป็นวรรคเป็นเวร
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสำหรับการภาวนา
ดังนั้น...ขอให้รู้สึกโดดเดี่ยวมาก ๆ รู้สึกตัวมาก ๆ เคลื่อนไหวมาก ๆ
แล้วก็ทิ้งความคิดให้หมด แต่ไม่ใช่มุ่งหยุดความคิด
ทิ้งทฤษฎีที่เรียนมาให้หมด
สิ่งที่เรียนมาแล้วเป็นของไม่แท้ทั้งหมด เป็นของสมมติ
เราอาจจะรู้สึกเป็นสุข นี่เป็นการปลอบใจตัวเองเท่านั้น...

"ดุจเข็มสละด้าย"

ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13461


เ ห นื อ เ ห ตุ ผ ล ก ล ค ว า ม
ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)

สิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” และ “อาการรู้” นั้นต่างกัน
สองสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน
ความรู้นั้นก่อเกิดจากการอ่าน จำ คิด
ประสิทธิภาพของความรู้อยู่ที่ความจำ
ถ้าคุณจำได้แม่น จำได้มาก ก็คิดได้เก่ง คิดได้ไกล
ถ้าจำได้น้อยก็คิดได้น้อย คิดไม่เก่ง
ถ้าจำไม่ได้เลยก็คิดไม่ได้ คิดไม่ออก
ดังนั้นกระบวนการของความรู้
จึงเป็นการสะสมหน่วยของความจำ
ในเมื่อเราโยงความจำหล่านี้เข้าด้วยกัน
สำเร็จรูปออกมาเป็นความคิดเป็นทฤษฎีได้
คนที่จำอะไรได้เยอะก็เข้าใจอะไรได้กว้าง
คิดเก่งหาบทสรุปได้ดี นั่นคือความรู้
ผู้ใดที่ความจำเสื่อมหรือมีข้อมูลไม่พอ
ประสิทธิภาพของความรู้ก็หย่อน
ส่วนสิ่งที่เรียกว่า “อาการรู้” นั้น เป็นความสว่างไสว พร้อมที่จะรู้
ซึ่งเป็นตัวความรู้ในตัว
เป็นอาการรู้ตัวเนื่องในสัญชาตญาณการโพลงตัวของจิต (ชุตมนฺโน)
...
....
เมื่อเต็มไปด้วยทฤษฎีแล้ว
การแบกทฤษฎีไว้ก็ผลิตผลออกมาเป็นความไม่พอใจ
หรือความขัดเคืองต่อทุก ๆ สิ่ง
เพราะหลักทฤษฎีนั้นเองทำให้ลำบาก
จิตที่ยึดติดหลักนั้นเป็นจิตที่วุ่นวายลำบาก
เมื่อสมัยผมเป็นพระใหม่ ผมติดทฤษฎีมาก
มองทุกสิ่งทุกอย่างผ่านทางกรอบทฤษฎี
กรอบทัศนะที่ตัวเองยึดถือไว้
ดังนั้นโลกจึงปรากฏแก่ผู้ยึดที่มีกรอบการมองอย่างหนึ่ง
และปรากฏเพียงส่วนเสี้ยวและพิกลพิกาลโดยไม่รู้ตัว
มันจึงกลายเป็นซอกแคบ
ผู้ที่แก่ทฤษฎีมาก ๆ
แม้จะมีความรู้ลึกซึ้งก็จริง แต่จะแคบเข้าทุกที
โดยเฉพาะนักคิดที่เรียกว่า “ผู้ชำนาญพิเศษ”
จะกลายเป็นผู้รู้อะไรทีละน้อยๆ
ในที่สุดก็ล้นไปด้วยความรู้
แต่การรู้ตัว อาการรู้ตื่น ไม่รู้อะไรมาก
เพียงรู้ตัวและรู้ดีต่อธรรมชาติธรรมนั้น ไม่ผิดเพี้ยนวิปลาสเลย
http://www.thaidhammajak.com/webboard/detail.php?question_id=12854

หลังจากทีรู้ระว่าความคิดมันจะไม่ได้พาเราไปถึงไหน ใจมันยอมอ่อนลงละ มันรับละ ก็ลงมือลองทำภาวนาแนวหลวงพ่อเทียน และพยายามรู้สึกตัว  พอเช้าอีกวันก็เห็นหนังสือที่กอง ๆ รอคิวให้อ่านเหมือนเป็นกองขยะ  ไม่อยากอ่าน Facebook ไม่อยากรับขยะเพิ่ม ฟุ้งซ่าน อ่านมากก็อินตามไปด้วยอยากออกความเห็น จัดนั้นลงเก็บหนังสือทุกอย่าง จะยังไม่อ่านคิดว่ามีขยะในหัวพอแล้ว รกพอแล้ว ไม่อยากขยายอ่างให้ใหญ่ขึ้นเดี๋ยวพายเรือกันไม่จบ  อยากลองสัมผัสจักรวาลบ้าง  ช่วงเวลาต่อไปนี้ขอลงมือปฎิบัติอย่างเดียว จะทำงานบ้าน จัดของ ล้างจาน ทำกับข้าว ไปเดินเล่น ทุกกิจกรรมที่จะทำคือการปฎิบัติได้หมด พอก่อน หยุดอ่านก่อน อย่างที่อาจารย์วรภัทรตอบข้อข้องใจมาว่า คุณคิดเยอะนะ ปฎิบัติเยอะ ๆ รู้กายรู้ใจ คุณยังมีเวลาให้คิดอีกเยอะ  ให้คุณรู้ก่อนว่ารู้ว่าเวลาจิตคุณสงบ กับ จิตคุณไม่สงบต่างกันอย่างไรแล้วค่อยคิด

อวยพรให้ฉันด้วย

ฉันวางหนังสือแล้ว....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น