จาก : โลกในมือนักอ่าน

วันนี้ นักอ่าน มีของมาแถมให้จากคอลัมน์ การ์ตูนที่รัก

หนังสือการ์ตูน FAHRENHEIT 451 เขียนเรื่องและภาพโดย Tim Hamilton สำนักพิมพ์ Hill and Wang ปี 2009 ราคาประมาณครึ่งพัน หาซื้อได้ตามร้านหนังสือต่างประเทศ - นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

FAHRENHEIT 451 เผามันเลย!

หนังสือนวนิยายวิทยาศาสตร์ปี 1951 เรื่อง FAHRENHEIT 451 ของ Ray Bradbury ผู้เขียนบันทึกชาวอังคาร (The Martian Chronicle) ที่รู้จักกันดี

เป็นหนังสือที่อ่านไม่สนุกแม้ว่าประเด็นนำเสนอจะน่าสนใจมากแต่ก็อ่านไม่สนุก

ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วโลก ก็ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่าอ่านไม่สนุกอยู่ดี

เมื่อ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ สร้างเป็นหนังในปี 1966 นำแสดงโดย ออสการ์ เวอร์เนอร์ และ จูลี คริสตี หนังดัดแปลงจากหนังสือไปพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ จูลี คริสตี แสดงเป็นนางเอกสองคนคือคลาริสและภรรยาของมอนแท็กนับว่าสามารถดึงดูดความสนใจนักอ่านและนักดูหนังได้มาก

นอกจากนี้ ยังให้คลาริสไม่ตายตั้งแต่ตอนแรกเหมือนในหนังสือกลับให้หล่อนดำเนินเรื่องโดยมีบทบาทเด่นตลอดเรื่องก็เป็นที่ปรากฏว่าไม่ได้ทำให้แก่นเรื่องเสียหาย

เพราะแก่นเรื่องชัดมากนั่นคือ "เผาหนังสือ" ให้หมด

พอกลายเป็นหนังสือการ์ตูนในปี 2009 เนื้อเรื่องดำเนินตามหนังสืออีกครั้ง แต่ตัดการพรรณนาและความยืดยาดออกไปมาก ทำให้กลายเป็น FAHRENHEIT 451 เวอร์ชั่นที่ดีทีเดียวคือตรงตามต้นฉบับ กระชับ และอ่านสนุก ลายเส้น การลงสี และแสงเงาก็สอดคล้องกลมกลืนกับบรรยากาศหดหู่ อึมครึม ชวนหวาดระแวงของสังคม dystopia ที่ซึ่งรัฐไม่อนุญาตให้พลเมืองครอบครองและอ่านหนังสือ รัฐมุ่งมั่นที่จะ "เผาหนังสือ" ให้หมด

หน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบค้น ค้นหา และเผาหนังสือคือหน่วยดับเพลิง เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานด้านนี้คือบุรุษเพลิง (Firemen) การแต่งกาย สำนักงาน และรถสีแดงยามออกปฏิบัติการละม้ายคล้ายคลึงกับการแต่งกาย สำนักงาน และรถดับเพลิงทุกวันนี้ แต่พวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่ดับเพลิง พวกเขาเผาหนังสือ

รถสีแดงมิได้บรรทุกน้ำแต่บรรทุกคีโรซีนเพื่อฉีดพ่นบนกองหนังสือก่อนจุดไฟเผา

ตอนที่ เรย์ แรดเบอรี เขียนหนังสือเล่มนี้แล้วถูกตีความไปต่างๆ นานาถึงอำนาจของรัฐ หนังสือถูกนำไปเปรียบเทียบกับนวนิยายวิทยาศาสตร์เชิงสังคมที่โดดเด่นคือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลส์ ทั้งที่ไม่ลุ่มลึกเท่า

ครั้งนั้น เรย์ แบรดเบอรี ให้สัมภาษณ์ว่าเขาเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อแสดงความกังวลต่อการรุกคืบและครอบงำของโทรทัศน์เท่านั้นเอง

ในนวนิยายมีฉากเด่นคือบ้านเรือนอนาคตที่มีจอโทรทัศน์ติดผนังทุกด้าน และรายการโทรทัศน์เต็มไปด้วยรายการเกมโชว์มอมเมาประชาชน ผู้คนกำลังถอยห่างจากหนังสือเพื่อเสพความบันเทิงราคาถูกไร้ปัญญา

มองในแง่นี้นับว่าเรย์เห็นอนาคตแจ่มชัด เวลาผ่านมาห้าสิบปี หนังสือถูกเบียดตกขอบมิใช่จำเพาะจากโทรทัศน์และเกมโชว์ปัญญาอ่อนที่มีจำนวนมากมายมหาศาล แต่จากสื่อไอทีทุกประเภท จากแท็บเล็ต

แต่ที่สำคัญที่สุดคือจากพลเมืองเอง พลเมืองทั่วโลกกำลังเลิกอ่านหนังสือด้วยตนเอง มิพักต้องไปกล่าวโทษใครหรืออะไร

หนังสือการ์ตูนเล่มนี้ เรย์ แบรดเบอรี ได้เขียนคำนำให้ด้วยตนเอง เขาเขียนดังนี้

"ย้อนไปในปี 1950 ผมออกไปกินข้าวเย็นกับเพื่อนในคืนหนึ่ง หลังจากนั้น ตอนดึกเราเดินไปตามถนนวิลไชร์ รถตำรวจมาเทียบข้างๆ ตำรวจนายหนึ่งลงมาแล้วถามว่าพวกเราทำอะไร

"เอาเท้าข้างหนึ่งวางไว้หน้าอีกข้างหนึ่ง" ผมพูด ดูเหมือนจะไม่ค่อยดีเท่าไร

ตำรวจซักถามพวกเราว่าเดินถนนทำไมราวกับว่าการเดินเล่นในเวลาดึกเช่นนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ด้วยความหงุดหงิด ผมกลับบ้านและเขียนเรื่องสั้นเรื่อง "Pedestrians"

หลายสัปดาห์ถัดมา ผมพาคนเดินถนนของผมออกเดินอีกครั้งและเขาได้พบกับเด็กสาวชื่อ คลาริส แม็กเคลแลน เจ็ดวันต่อมาร่างแรกของต้นฉบับ "Firemen" ก็เสร็จเรียบร้อย ซึ่งจะกลายเป็นนวนิยาย FAHRENHEIT 451 ไม่นานหลังจากนั้น

หลายปีต่อมา เมื่อมองย้อนกลับไป ผมเคยคิดว่า "คนเดินถนน" คือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ FAHRENHEIT 451 แต่ความจำของผมไม่ถูกต้อง ตอนนี้ผมรู้แล้วว่ามีเรื่องอื่นที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของตัวเอง"

อะไรที่อยู่ใต้จิตสำนึกของเรย์ เวลาผ่านมาห้าสิบปีก็ยังอยู่ตรงนั้น

หนังสือการ์ตูน FAHRENHEIT 451 เขียนเรื่องและภาพโดย Tim Hamilton สำนักพิมพ์ Hill and Wang ปี 2009 ราคาประมาณครึ่งพัน หาซื้อได้ตามร้านหนังสือต่างประเทศ

ชื่อหนังสือคืออุณหภูมิ 451 ฟาเรนไฮต์หมายถึงจุดติดไฟของกระดาษตามเนื้อเรื่อง แต่ที่จริงแล้วกระดาษติดไฟที่ 450 เซลเซียส เรย์อธิบายในภายหลังว่าตัวเลข 451 ฟาเรนไฮต์ชวนฉงนมากกว่า

หนังเริ่มเรื่องด้วยฉากเผาหนังสือ เปลวเพลิงสีแดง ควันไฟสีเทา กระดาษสีดำ กาย มอนแท็กเลิกงาน เดินกลับบ้าน ระหว่างทางเขาพบเด็กสาวคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนบ้านย้ายมาอยู่ใหม่ เด็กสาวทักทายเขาเช่นกัน เธอคือ คลาริส แม็กเคลแลน

"ถึงปิดตาชั้นก็รู้ว่าคุณเป็นใคร" เด็กสาวว่า

"กลิ่นของคีโรซีนล่ะสิ? ภรรยาของผมบ่นทุกที ไม่สามารถล้างออกได้หมด" มอนแท็กว่า

เด็กสาวช่างพูดเดินชวนคุยไปตลอดทาง เธอว่าเธอไม่กลัวเขา คนส่วนใหญ่จะกลัวนักดับเพลิง ตอนหนึ่งเธอถามว่าเขาเคยอ่านหนังสือที่เขาเผามั้ย เขาตอบว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

คลาริสถามต่อไปว่าจริงหรือเปล่าที่ครั้งหนึ่งพนักงานดับเพลิงมีหน้าที่ดับเพลิงเวลาไฟไหม้บ้าน มอนแท็กว่าเหลวไหลบ้านทุกหลังป้องกันไฟได้อยู่แล้ว คลาริสตั้งข้อสังเกตว่ามอนแท็กมีคำตอบสำหรับทุกเรื่องโดยอัตโนมัติ ดูคล้ายเขาไม่ได้หยุดคิดถึงคำถามที่เธอถามเลย

"คุณเคยดูรถเจ็ตแข่งกันบนถนนข้างล่างนั้นมั้ยคะ บางครั้งชั้นคิดว่าคนขับรถไม่เคยรู้ว่าหญ้าและดอกไม้เป็นยังไงเพราะเค้าไม่เคยได้ดูมันอย่างช้าๆ เลย ถ้าคุณเอาสีเขียวเบลอๆ ให้นักแข่งรถดู เค้าจะว่าเป็นหญ้า ลองสีชมพูเบลอๆ เค้าจะว่าสวนกุหลาบ ลองสีขาวเบลอๆ เค้าจะว่าบ้าน สีน้ำตาลเบลอๆ วัว คุณว่าตลกมั้ยหรือว่าน่าเศร้าดี?"

"เธอคิดเยอะจัง" มอนแท็กว่า

"คุณเคยเห็นป้ายโฆษณายาวสองร้อยฟุตที่นอกเมืองนั้นมั้ย" คลาริสชวนคุยต่ออีก "คุณรู้มั้ยครั้งหนึ่งป้ายโฆษณายาวยี่สิบฟุต แต่เพราะรถวิ่งเร็วขึ้นมากเขาก็เลยต้องขยายป้ายโฆษณาให้ยาวมากขึ้น"

เมื่อทั้งสองเดินมาจนถึงบ้านของคลาริส เธอจึงถามคำถามสุดท้ายซึ่งแน่ใจได้ว่ามอนแท็กตอบยากแน่ๆ

"คุณมีความสุขมั้ย" แล้ววิ่งเข้าบ้านไป

"อะไรนะ..." มอนแท็กยืนเซ่อ

เขากลับบ้านไปพบภรรยาพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่ตาย วันต่อมาเด็กสาวหายตัวไปได้ข่าวว่าเธอถูกอุ้ม

หัวหน้าของเขาชวนเขาคุยเรื่องหนังสือที่ถูกเผาและบอกเขาว่านักดับเพลิงอ่านหนังสือได้แต่ให้เอามาคืนตามเวลาที่กำหนด

มอนแท็กพบเพื่อนๆ ของภรรยาที่เหลวไหลไฮโซ และพบเหตุการณ์ที่หญิงชราคนหนึ่งเผาตัวเองพร้อมบ้านที่เต็มไปด้วยหนังสือต่อหน้าต่อตา

เป็นที่เดาได้ว่าเนื้อเรื่องดำเนินไปในลักษณะยามเฝ้าบ้านแล้วใครที่เฝ้าดูตัวยามเอง วันหนึ่งมอนแท็กจึงเริ่มอ่านและครอบครองหนังสือ

เนื้อเรื่องตึงเครียดในตอนจบเมื่อรถดับเพลิงด้วยการนำของหัวหน้าหน่วยยกกองกำลังมาล้อมบ้านของเขา หลังจากนี้ นำไปสู่ตอนจบซึ่งตามขนบของนวนิยายวิทยาศาสตร์แล้วก็ต้องเรียกว่าเกินคาดเดา นักอ่านที่คร่ำหวอดรู้ตอนจบของนวนิยายเรื่องนี้อยู่แล้ว สำหรับเยาวชนที่ยังไม่รู้กรุณาไปหาอ่านเองครับ

ขอร้อง