01102010

แม่สาย

หนังสือหนาสี่ร้อยกว่าหน้า ปกแดงเลือดนกรูปราชะนักรบชาวสยามผู้กอบกู้ราชอาณาจักรเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน อยู่กับฉันมาร่วมสี่ห้าวัน กระทั่งค่ำคืนนี้จึงพลิกถึงหน้าสุดท้าย

เรื่องอ่านหนังสือช้าคงมิพักกล่าวถึงอีก ฉันค้อมศีรษะยอมรับโดยมิมีวาจาอิดเอื้อน หลายครั้งนึกหน่ายตนเอง อ่านช้าทำให้ฉันต้องใช้เวลานานกว่าจบสักเรื่อง ความทรงจำ ความรู้สึกร่วมแทบไม่ปะติดปะต่อ บ่อยครั้งอ่านไม่จบ จนฉันนึกสงสัยว่าเป็นเพราะหนังสือเล่มนั้นเนื้อหาไม่ชวนติดตาม หรือเพราะนิสัยอ่านชักอ่านช้าอ่านอืดยืดยาดของฉันเอง

เอาเถอะ..อย่างน้อยจบหนังสืออีกเรื่องหนึ่งแล้ว (หลังจากไม่เคยอ่านเล่มหนาสามสีร้อยหน้าจบสักเรื่องเสียนาน) ก็หวังจะกอบสารัตถะมาฝากตามกำลังเก็บ

สำนักพิมพ์ระบุไว้ว่าพิมพ์ครั้งที่ 12 (จากมี.ค. 2549 ถึง เม.ย.2551)

ฉันแอบอมยิ้ม คิดหวังไปว่าหากเป็นเช่นนั้นจริง หนังสือนิยายหนัก ๆ ก็คงยืนอยู่ได้บนชั้นในร้านจำหน่ายซึ่งเต็มด้วยนิยายรักวัยใส ไม่ก็นิยายอิสตรีซึ่งฉันไม่มีปัญญาเขียนออกมา อย่าเพ่อเหยียดยิ้มแกมสมเพช ความหวังเล็ก ๆ ต่อกำลังให้ฉันขีดเขียนไป สมควรหรือพบเห็นแล้วไม่หยิบฉวยมาประโลมใจ  มีบ้างบางครั้งนึกสงสัย เมื่อคนอ่านน้อย ผู้พิมพ์จำหน่ายก็คงไม่ต้องการเสี่ยงลงทุน โอกาสรับการเผยแพร่แทบไม่มีเหลือ ฉันยังจะเขียนไปทำไม?

ความสุขที่ได้เขียนหรือ?

นั่นย่อมเป็นสิ่งตอบแทนเปี่ยมค่าคุ้มควรแก่วันเวลาแลกมา และมีอยู่แล้วในทุกจังหวะตัวอักษรเคลื่อนไป แต่ความสุขจากที่เรื่องเล่าของเราถูกบอกต่อ มีคนสนใจติดตามอ่านเล่า? ทำอย่างไรจึงผสานสองส่วนให้ลงตัว ไปด้วยกันโดยมิเบี่ยงเอียงข้างใดข้างหนึ่ง ดำเนินอักขระลิขิตไปบนมรรคาทางแห่งความเป็นจริง มิใช่เพ้อวนอยู่บนเส้นทางสายหมอก

'เขียนในสิ่งที่ไม่มีผู้อ่าน' เป็นเรื่องย้อนแยงจิตสำนึกฉันไม่น้อย เมื่อตระหนักเป็นอันดีแล้วว่าผู้อ่านส่วนใหญ่ในสยามประเทศนี้อ่านอะไร ก็แล้วไยไม่เขียนออกมา?

กับคำกล่าว 'จงเป็นตัวเอง' ฉันไม่เคยนึกแย้ง แต่ทำอย่างไรให้ความเป็นตัวตนสอดแทรกกลมกลืนไปกับผู้คนส่วนใหญ่ก็เป็นคำถามที่ชวนหาคำตอบ

ได้เห็นนิยายอิงประวัติศาสตร์มียอดพิมพ์จำหน่ายถึง 12 ครั้งจึงเป็นเรื่องน่าที่ของคนเขียนนิยายร่วมสมัยไม่เป็นเยี่ยงฉันจะพลอยหัวใจพองฟู

'ตากสิน มหาราชชาตินักรบ' เขียนโดยนักเขียนสตรีชาวฝรั่งเศษ เล่าเรื่องราวบนแผ่นดินสยามคราวบ้านเมืองระส่ำจากศึกสงคราม ผ่านมุมมองนายทหารหนุ่มชาวฝรั่งเศษซึ่งหนีออกจากประเทศเพราะคดีฆาตกรรม เขาติดเรือสินค้าเข้ามาในสยามช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึก

นิยายเสนอภาพเหตุการณ์บ้านเมือง ชีวิตผู้คน ต่างไปจากมุมที่เราเคยคุ้น เป็นมุมของพ่อค้าต่างชาติผู้เป็นทายาทตระกูลฟอลคอน มิชชันนารีและนายทหารหนุ่มซึ่งเข้าไปเป็นหนึ่งในกองกำลังกู้แผ่นดิน

ดำเนินเรื่องอิงเนื้อหาชีวะประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างที่เรารู้ ๆ กัน เมื่ออ่านคำนำจบ ฉันแอบทำสิ่งต้องห้าม คือเปิดดูหน้าสุดท้าย  ตระหนักดีว่าไม่ควรกระทำเพราะจะพินาศรสอ่านเสียสิ้น แต่กับเรื่องที่เราล้วนสำเหนียก ความใคร่รู้ว่าผู้เขียนจะจบอย่างไรนั้นเกินกลั้น

เมื่อรู้แล้วว่าจบตามอย่างพงศาวดารว่าไว้ เป็นอันฉันมิได้คาดหมายเนื้อหานอกเหนือไปจากนั้น ที่คาดหวังคือบรรยากาศของเรื่องซึ่งก็ได้มาสมความตั้งใจ

ผู้เขียนศึกษาข้อมูลไม่น้อย สินค้า เส้นทางการค้า สิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน ทิวทัศน์ (เสียดายไม่มีระบุชนิดของต้นไม้เลยสักครั้ง) สิงสาราสัตว์ การแต่งกาย ประเพณี-วัฒนธรรม ชีวิตประจำวันของผู้คน แม้บางครั้งมีหลุดบ้าง อย่างตัวละครหลักซึ่งเป็นฝรั่งไปพักบ้านชาวบ้าน เพราะตัวยาวกว่าเตียง จึงต้องนอนกับพื้น ผู้เขียนคงเผลอลืมไปว่าชนทั่วไปชาวสยามเวลานั้นไม่ใช้เก้าอี้ไม่มีเตียง แปลชื่อตัวละครซึ่งเป็นหญิงพื้นบ้านว่า 'โซฟี' ฉันแทบไม่เชื่อสายตา ต้องมองซ้ำอ่านซ้อน ให้แน่ว่าดูไม่ผิด ไม่สะเออะรู้ไปว่าต้นฉบับเขียนไว้กระไร แต่ฉันไพล่คิดถึงชื่อ 'โสภี' อีกครั้งเผลอเขียนให้พระยาตากกล่าว 'อย่าลืมสิว่าเสียงเดินทางในน้ำเร็วกว่าอากาศ'  

ไม่ถึงกับเป็นเรื่องใหญ่เพราะคงไม่มีใครสังเกตหากมิใช่ชนพื้นถิ่นสยามอย่างเรา ๆ

แทนปล่อยให้ฉากและบทสนทนาดำเนินไป ผู้เขียนใช้บทบรรยายทำหน้าที่เล่าเรื่องเสียโดยมาก หลายครั้งฉันรู้สึกเบื่อหน่ายคล้ายเป็นผู้อ่านที่ถูกกันออกจากชีวิตตัวละคร ผู้เขียนกล่าวทั้งหมดเสียเองไม่ปล่อยให้ตัวละครพูดจาโต้ตอบ เคลื่อนไหวอย่างอิสระ

ความพอดีตรงนี้คือสิ่งที่ฉันยังต้องศึกษาเรียนรู้ จังหวะที่พอดิบพอดีนั้นคงแล้วแต่ความเห็นเฉพาะบุคคล ฉันเพียงแต่ค้นหาจังหวะของตัวเอง

พลิกถึงหน้าสุดท้าย

ความรู้สึกอย่างหนึ่งเต็มตื้นขึ้นในหัวใจ  ฉันอ่านประวัติผู้เขียนด้วยสำนึกขอบคุณ อ่านคำนำอีกครั้ง

หากความสำเร็จของนิยายหนึ่งเรื่องคืออารมณ์ดิ่งลึกสุข-เศร้าที่ผู้อ่านผูกพันกับตัวละคร นิยายเรื่องนี้ถือว่ายังทำได้ไม่ดีนัก ความรู้สึกที่ตัวอักษรสื่ออกมายังไม่คมพอเจาะอารมณ์ร่วม เมื่อสุขไม่ถึงกับแช่มชื่น เมื่อทุกข์ก็ไม่ถึงหลั่งน้ำตา (เชื่อเถอะบ่อน้ำตาฉันตื้นเต็ม)

อีกประการ ฉันเชื่อไปเองว่าสำนวนภาษาสมควรสอดคล้องกับตัวเรื่อง เรื่องนี้นำเสนอผ่านคำบอกเล่าของชายชาวฝรั่งเศษซึ่งมีชีวิตอยู่ช่วงนโปเลียนเรืองอำนาจ แต่กลับใช้สำนวนภาษาร่วมสมัย กระทั่งบทสนทนาของชาวสยาม หาทราบไม่ว่าต้นฉบับใช้สำนวนภาษาเยี่ยงไร แต่เมื่อแปลเป็นภาษาสยาม ฉันคิดว่าเราน่าจะมีอิสระที่จะรู้เลือกจัดวางสำนวนภาษาซึ่งมีอยู่หลากหลายของเราตามความเหมาะสม  

เป็นความบกพร่องของผู้แปล (แน่ล่ะ..รวมทั้งบรรณาธิกร) ซึ่งคงจะมีก็แต่ฉันที่ตีโพยตีพาย ขณะผู้คนทั่วไปคงสีหน้าเมินเฉย

ถึงบรรทัดนี้หล่อนอาจเม้มริมฝีปากพึมพำว่าฉันขี้บ่นช่างติช่างเตียนไปเสียทั้งนั้น อย่าเพ่อต่อว่า ฉันยังสาทกมาไม่สิ้นเสียซ้ำ (หากฉันติกระทั่งภาพปกพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินสะพายพระแสงดาบ กลับไม่มีสายสะพายคล้ายพระแสงดาบลอยอยู่เบื้องหลัง หล่อนก็จะแย้งฉันว่าเป็นการแสดงกฤษดาภินิหารใช่ไหม..ฉันรู้ดอก)

ส่วนที่น่ายกย่องคือฝ่ายพิสูจน์อักษร สายตาเฉื่อยชาของฉันอาจฝ้าฟางไปบ้าง เท่าที่เห็นแต่ต้นจนจบเรื่องไม่พบตัวอักษรพิมพ์ตกหล่นผิดพลาดเลยแม้คำ

และความรู้สึกเต็มตื้นซึ่งมีให้ผู้เขียน

นิยายสำแดงสภาพสังคมช่วงบ้านแตกสาแหรกขาด บ้านเมืองขาดกษัตริย์ ผู้คนอยู่ด้วยความหวาดกลัว บ้างหลบหนีเข้าป่ายินยอมเผชิญสัตว์ร้ายยังดีเสียกว่าถูกกดขี่ข่มเหงโดยมนุษย์ด้วยกัน บ้างอยู่รวมเป็นก๊กเป็นเหล่าต่อสู้ฆ่าฟันแย่งชิง คนแก่ที่ไร้ประโยชน์ถูกฆ่า เด็กถูกทิ้ง ผู้หญิงถูกข่มขืน กระทั่งพระยาตากสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี ผู้คนทยอยออกจากป่าเข้ามาลงหลักปักฐานในพระนคร

ในพระนครนั้นมีกฏระเบียบเคร่งครัด ผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษสถานหนัก ไยมนุษย์ (ส่วนหนึ่ง) จึงยินยอมเข้าสู่กฏระเบียบแทนมีอิสระอยู่ในป่าดง เหตุผลข้อหนึ่งคือความปลอดภัย การอยู่ร่วมกันจึงต้องเคารพกฏระเบียบของสังคมยินยอมให้อิสระเสรีภาพบางส่วนถูกริดรอน เพื่อรักษาความสงบสุขโดยรวม

ฉันกล่าวเยี่ยงนี้หล่อนอาจโต้แย้งขึ้นภายในใจ

นั่นเพราะเราโชคดีมีชีวิตช่วงบ้านเมืองสุขสงบ ไม่มีสงครามรบราฆ่าฟัน มิเคยต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่อาจป้องกันช่วยเหลือตัวเอง เราหยิ่ง เราทะนง เราลืมสิ่งดี ๆ ทีมี เราเรียกร้องก่อความขัดแย้ง ทะเลาะกันเอง เพราะเราไม่เคยเผชิญความระห่ำของช่วงเวลาไร้กฏระเบียบที่แท้จริงเหมือนช่วงบ้านเมืองถูกข้าศึกทำลายราญ

บ่อยครั้งฉันถามตัวเองว่าจะเขียนหนังสือไปทำไม จะว่าเพื่อความบันเทิงเฉพาะตน กับนิยายยาว ๆ สักเรื่องที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน นั่งค้น (ข้อมูล) นั่งคิด ค่อย ๆ ขยับไปทีละหน้าละหน้า เสร็จแล้วยังทบทวนเกลาแก้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ความทุกข์ทรมานนั้นไม่ได้มากน้อยไปกว่าสุขสักเท่าไรเลย หากยังคิดไปว่าเขียนเพื่อบำเรอใจ เห็นทีมิต่างแสร้งหลอกตัวเอง

คำถามเยี่ยงนี้บั่นทอนกำลังใจหากไม่สามารถให้คำตอบที่น่ารับฟัง

หนังสือเล่มนี้ให้คำตอบกับฉัน

ไม่ว่าจะต้องตรากตรำสักเท่าไรกว่าสำเร็จเป็นนิยายสักเรื่อง แต่หากนิยายเรื่องหนึ่งสามารถฉุกใจใครสักคน ให้หยุดคิด มองภาพสังคม ภาพชีวิตในมุมที่กว้างและลึกขึ้น วิธีคิดและมุมมองเยี่ยงนั้นอาจนำมาซึ่งความสุขสงบของสังคมโดยรวม สิ่งนั้นย่อมควรค่ากับทุกตัวอักษรซึ่งต้องแลกมาด้วยวันเวลาของชีวิตที่ไม่อาจเรียกคืน

ความรู้สึกเยี่ยงนี้เป็นกำลังแรงใจให้ตัวหนังสือมอซอของฉันเดินทางต่อไป (แม้จะอ่อนล้าเต็มทีก็ตาม)

ธุลีดิน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น