จาก : อ่านเอาเพื่อน --อ่าน ‘กงเบรย์’ ค้นหาวันเวลาที่สูญหาย---

“เวลา มิได้เพียงกัดกร่อนผู้คนและสรรพ...
: ---อ่าน ‘กงเบรย์’ ค้นหาวันเวลาที่สูญหาย---

“เวลา มิได้เพียงกัดกร่อนผู้คนและสรรพสิ่งรอบตัวเราเท่านั้น หากร้ายกว่านั้นคือตัวตนของเราเองก็แตกกระจัดกระจายไปตามกระแสของเวลา ดังนั้น อาศัยความทรงจำที่กลับมาโดยบังเอิญ ผู้เล่าเรื่องจึงเริ่มกระบวนการแสวงหา ‘วันเวลาที่สูญหายไป’นั่นคือ การค้นหาสารัตถะอันต่อเนื่องของตัวตนจากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อยืนยันว่าแม้เราจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่เราก็คือคนคนเดียวกับคนที่เราเคยเป็นในอดีต”
---นพพร ประชากุล/ พรุสต์:ตัวตน กาลเวลา วรรณกรรม

อวรรณกรรมคลาสสิคต้องรู้จัก A la Recherche du temps perdu หรือ“การค้นหาวันเวลาที่สูญหาย” นวนิยายเรื่องเอกของมาร์แซ็ล พรุสต์เป็นแน่ ที่ผ่านมาไม่เคยนึกอยากอ่าน ไม่ใช่หยิ่งหรอกแต่เพราะ หนึ่ง ไม่รู้หนังสือ(ฝรั่งเศส) สอง กิตติศัพท์ความยากของมัน เคยไปยืนอยู่ต่อหน้าฉบับแปลภาษาอังกฤษในร้านหนังสือมือสองที่ดีที่สุดในประเทศไทย (มั่นใจมาก) ประเมินตัวเองโดยมีคนขายหนังสือที่น่ารักที่สุดในโลกเป็นพยาน แล้วจำใจสารภาพว่าด้วยสถานการณ์ขณะนี้อาจใช้เวลาอ่านมากกว่าที่พรุสต์ใช้เวลาเขียน จึงได้แต่ชิมกงเบรย์ไปพลางๆก่อน

กงเบรย์ เป็นแค่เสี้ยวเล็กๆเสี้ยวหนึ่งของ “การค้นหาวันเวลาที่สูญหาย”ซึ่งคุณวชิระ ภัทรโพธิกุล แปลขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาโทสาขาการแปล โดยมีอาจารย์นพพร ประชากุล อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็นบรรณาธิการแปล ส่วนที่คัดมาแปลเล่าถึงโลกวัยเยาว์ในเมืองเล็กๆ และวิถีชีวิตอันเรียบเรื่อยเอื่อยช้า อ่านแล้วภาพในวัยเด็กของเราเองอาจมาปรากฏกระจ่างอยู่ตรงหน้า เหมือนที่ ‘ข้าพเจ้า’ในเรื่อง รับประทานขนมไข่จุ่มน้ำชาแล้วนึกถึงวัยเด็กที่กงเบรย์ พรุสต์เล่าเรื่องอย่างมีรายละเอียดยิบ ด้วยประโยคที่ยาวและซับซ้อน ต้องตั้งใจและมีใจอ่านเป็นพิเศษ สำนวนแปลก็ทำได้นวลเนียนน่าอ่าน...แต่ส่วนที่สำคัญพอกันและอ่านแล้ววางไม่ลงคือ “ภาคผนวก”

ภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้เป็นบทความสองชิ้นของอาจารย์นพพร คือ “พรุสต์:ตัวตน กาลเวลา วรรณกรรม” และ “มาร์แซ็ล พรุสต์ : จากโมเดอร์นิสม์สู่โพสต์โมเดิร์น” อาจารย์นพพรนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมฝรั่งเศส และชื่นชอบหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ อาจารย์ค่อยๆ พาเราไปรู้จักพรุสต์และวันเวลาที่สูญหายไปของเขาแต่ละเล่มแต่ละตอนซึ่งหากอ่านเองก็อาจจะยากในการทำความเข้าใจวรรณศิลป์ของผู้เขียนที่มีลักษณะเฉพาะตัว การอ่านกงเบรย์และบทวิเคราะห์จึงเท่ากับทำความรู้จัก “การค้นหาวันเวลาที่สูญหาย” ในภาพรวม จึงเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้อ่านที่ไม่คุ้นกับลีลาการเขียนของพรุสต์

“ในกงเบรย์ พรุสต์ค่อยๆ ประกอบสร้างโลกเล็กๆ ใบหนึ่งขึ้นมาอย่างบรรจง ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ บ้าน ผู้คน ถนน ห้องนอน ทิวทัศน์ หรือวัตถุสิ่งของ ขณะที่เขาเล่าขานถึงสิ่งเหล่านี้ ผู้อ่านจะได้พบเห็นกลวิธีพรรณนาและกระบวนการเล่าเรื่องอันจะเป็นเอกลักษณ์แห่งลีลาเขาตลอดไปในทุกเล่ม จะได้สัมผัสรายละเอียดอันล้นหลามซึ่งประมวลขึ้นเป็นบรรยากาศแบบพรุสต์ และจะได้รับความเพลิดเพลินเจริญใจเหมือนอย่างที่นักอ่านพรุสต์ได้รับจากเล่มอื่นๆ ในนวนิยายขนาดยาว ‘การค้นหาวันเวลาที่สูญหาย’อย่างเต็มอิ่มไม่แพ้กัน” (คำโปรยปกหลัง)

งานของพรุสต์ใช้เทคนิค “ตัดต่อ” แบบภาพยนตร์ พรุสต์เขียนแต่ละฉากแยกไว้อย่างเป็นอิสระต่อกัน จากนั้นก็นำมาเรียงร้อยเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน นวนิยายของพรุสต์จึง “อ่านเจาะ” ได้ ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งคือพรุสต์ใช้อุปลักษณ์ในการประดิษฐ์ภาษาอันซับซ้อนเป็นตัวของตัวเอง เช่น “เสียงกังวานรูปไข่และเป็นสีทอง” แม้จะเป็นการเปรียบเทียบชนิดข้ามสัมผัสรับรู้ แต่ก็สร้างภาพได้อย่างน่าฉงน เสียงที่มีรูปไข่จึงนุ่มนวลกลมมนไม่บาดหู

การอ่าน “กงเบรย์” แม้จะเป็นเพียงหนังตัวอย่างเศษเสี้ยวเล็กๆ จากหนังสือขนาดมหึมากว่า 3000 หน้า (ฉบับแปลภาษาอังกฤษ 4215 หน้า) ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 เล่ม กงเบรย์อยู่ในเล่มแรก(ทางฟากบ้านนายสวานน์)ที่ประกอบด้วย 3 เล่มย่อย-- พรุสต์ใช้เวลา 15 ปีหลังของชีวิตในการเขียน-- เมื่อผนวกกับบทวิเคราะห์ชั้นครูที่ให้ความรู้ความเข้าใจในวรรณกรรมชั้นเยี่ยมของพรุสต์ ก็อาจทำให้ใครหลายคนตั้งตารอว่าสักวันหนึ่ง คงมีใครสักคนสนใจและทุ่มเทเวลาในชีวิต แปลเป็นภาษาไทยให้นักอ่านชาวไทยได้อ่านและศึกษาวรรณกรรมชิ้นเอกเรื่องนี้ ซึ่งว่ากันว่า…

‘นักประพันธ์ที่บังเอิญได้อ่านพรุสต์จนทะลุปรุโปร่ง มักจะตกอยู่ในภาวะย่อท้อ เสียแรงบันดาลใจ ด้วยบังเกิดความรู้สึกว่า ทั้งในด้านพลังการสำรวจชีวิตมนุษย์และในแง่ชั้นเชิงการประพันธ์ ได้มีผู้พิชิตจุดสุดยอดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับนักอ่านที่อดทนอ่านพรุสต์จนช่ำชินกล่าวได้ว่า การค้นหาวันเวลาที่สูญหาย คือ แดนสวรรค์แห่งวรรณกรรมเราดีๆ นี่เอง’ (วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส /นพพร ประชากุล)

น่าเสียดายที่มัคคุเทศก์บทเรื่อง ‘มีอะไรในกงเบรย์’ ที่อาจารย์นพพรตั้งใจจะเขียนนั้นไม่สามารถเขียนได้จบเนื่องจากอาจารย์ป่วยและเสียชีวิตไปก่อน เราจึงเห็นเค้าโครงคร่าวๆ ที่เป็นลายมืออาจารย์ปรากฏอยู่ที่ส่วนหน้า ซึ่งอาจชดเชยได้บ้างด้วยการอ่านภาคผนวก
--------
กงเบรย์ โลกใบแรกของมาร์แซ็ล
วชิระ ภัทรโพธิกุล แปล
นพพร ประชากุล บรรณาธิการแปลและบทวิเคราะห์พรุสต์อย่างละเอียด
โครงการจัดพิมพ์คบไฟ 2554

อ่านชีวิต