Winbookclub.com:





เงาของนักเขียนคนหนึ่ง ตอน 1 
(บทความชุดนี้เล่าเบื้องหลังการทำงานของผมในวงการนักเขียน เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เริ่มต้นเดินทางสายนักเขียน)



ผมเดินทางกลับเมืองไทยราวปี 2528-2529 หลังจากใช้ชีวิตหลายปีในต่างประเทศ พกความไม่แน่นอนเต็มกระเป๋ากลับบ้าน ไม่แน่ใจว่าจะเดินไปตามทางสายไหนต่อไป ชีวิตมาถึงทางแยกอีกครั้งหนึ่ง

เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง งานสถาปนิกมีน้อย แต่ว่าก็ว่าเถอะ ถึงจะมีงานสถาปนิกมากมาย ผมก็อาจไม่เดินไปตามทางเส้นนั้นอีก ส่วนลึกของหัวใจบอกว่าน่าจะลองเดินสายทางที่ไม่เคยไป ผมเรียนวิชาด้านกราฟิก ดีไซน์ และภาพยนตร์มาสองสามกระบวนท่า อยากรู้ว่ามันจะพาผมไปทางไหน หรืออย่างน้อยก็ขอลองดูก่อนที่จะหวนกลับไปทำงานสถาปนิกตามเดิม

ผมทำงานในสำนักโฆษณาเล็กๆ แห่งหนึ่ง เรียนรู้งานทุกอย่างที่ขวางหน้า พร้อมๆ กันผมก็เริ่มขีดๆ เขียนๆ ตัวหนังสือออกมาเป็นเรื่องสั้น ไม่เป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างไร

งานเขียนของผมในยุคแรกแบ่งออกเป็นสองแนวทางซึ่งทำไปพร้อมกัน แนวแรกคือการฝึกเขียนเรื่องสั้นแบบ ‘พล็อตจ๋า’ (plot-based) เน้นที่ความบันเทิง ความสนุกของโครงเรื่อง ตั้งใจอ่านเอามันมาก่อนสาระความคิด ส่วนแนวหลังคืองาน ‘วรรณกรรมจ๋า’

แนว ‘พล็อตจ๋า’ ก็คือการเขียนเรื่องสั้นแนวหักมุมจบทั้งหลาย เป็นการฝึกฝนการเขียนที่ดีสำหรับนักเขียนใหม่ เพราะยังไม่ต้องคิดเรื่องสาระความลุ่มลึก เอาแค่การสร้างพล็อตที่ลงตัว หมดจดงดงาม มีเหตุผล และจับคนอ่านอยู่ เท่านี้ก็หืดขึ้นคอแล้ว!

การฝึกการเขียน ‘พล็อตจ๋า’ ทำให้นักเขียนคุมเรื่องอยู่ รู้จักเรียงลำดับเรื่อง (sequence) ซึ่งเป็นหัวใจของงานเขียนที่สนุก ลองวิเคราะห์งานเขียนหรือภาพยนตร์ที่เราคิดว่าสนุกมาก จะพบว่า เรื่องเหล่านี้จัด sequence ได้ดีเสมอ

ส่วนการเขียนงาน ‘วรรณกรรมจ๋า’ นั้น อาจเพราะกำลังอยู่ในช่วงที่ทำงานโฆษณา โดยหน้าที่การงานวันๆ ต้องคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ที่เรียกว่า big idea งาน ‘วรรณกรรมจ๋า’ ที่ผมเขียนจึงได้รับอิทธิพลวิธีทำงานแบบโฆษณามาด้วย

นี่ก็คือจุดกำเนิดงานเขียนแนวทดลอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานเขียนที่มี big idea



คำว่า big idea หมายถึงความคิดที่ใหม่ สด ง่าย แปลก จดจำง่าย จำได้นาน อยู่ข้ามกาลเวลา งาน big idea ถ้าเป็นนักมวยก็คือการปล่อยหมัดน็อค มักตามมากับคำ “คิดได้ไง” เป็นไอเดียที่สร้างความเปลี่ยนแปลง อาจถึงขั้นที่ส่งผลกระทบต่อสายธารงานศิลปะ ตัวอย่างงาน big idea ในทางภาพยนตร์ เช่น The Matrix, Jesus Christ Superstar, Forrest Gump, Salmon Fishing in the Yemen เป็นต้น

การใช้เมาส์ของคอมพิวเตอร์ Apple ก็ถือว่าเป็น big idea แม้ในทางวิทยาศาสตร์ ความคิดของของไอน์สไตน์ที่ว่าอวกาศเป็นสี่มิติ (space-time) ก็เป็น big idea แหกคอกวิธีคิดแบบเก่าโดยสิ้นเชิง

ปรมาจารย์โฆษณา เดวิด โอกิลวี เคยบอกว่าทำงานโฆษณามาตลอดชีวิต มี big ideas แค่ราวยี่สิบชิ้นเท่านั้น

เมื่อนำวิธีการคิดแบบ big idea มาใช้ในการเขียนหนังสือ ก็แปลว่าเรามองการเขียนหนังสือใหม่ ลืมวิธีการเขียนตามขนบเดิมไปก่อน งานเขียนระยะแรกของผม ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นงานวรรณรูป คือการเขียนหนังสือโดยใช้องค์ประกอบมากกว่าแค่ตัวหนังสือ ใช้องค์ประกอบอื่นๆ มาผสม เช่น กราฟิก ดีไซน์

ผมเขียนงานลักษณะนี้อยู่หลายเรื่องโดยไม่รู้ว่างานที่เขียนมีคนทำมาก่อนหรือไม่ เรียกว่าอะไร ผมเขียนเพราะสนุกกับมัน ไม่ได้คิดจะส่งงานไปตีพิมพ์ที่ไหนด้วยซ้ำ มารู้ทีหลังว่างานแบบนี้เรียกว่าแนวทดลอง (experimental)

ศัพท์ ‘แนวทดลอง’ นี้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นผู้ตั้ง ช่วงนั้นเขาเริ่มโครงการเรื่องสั้นแนวทดลองชื่อ ช่อปาริชาต ตั้งใจให้เป็น ‘หน่วยกล้าตาย’ ทางวรรณศิลป์ “เป็น avant-garde แห่งศิลปะการประพันธ์เรื่องสั้น เป็น innovative fiction ในการสร้างนวัตกรรมที่น่าจะก่อให้เกิด ‘แนวโน้มใหม่’ ในประวัติเรื่องสั้นไทยสมัยใหม่”

กลับมาจากต่างประเทศไม่นาน ผมไม่เคยรู้เรื่องโครงการช่อปาริชาต ผมส่งงานไปให้บรรณาธิการช่อการะเกดพิจารณา แต่เรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์กลับปรากฏในช่อปาริชาต แสดงว่างานที่เขียนเรื่องแรกๆ เข้าข่ายแนวทดลอง



จะเห็นภาพนี้ชัดขึ้น คงต้องเล่าเรื่องการออกแบบทางสถาปัตยกรรมประกอบ

นักศึกษาสายสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้รับการสั่งสอนมาตลอดว่า Form follows function (ประโยคเต็มคือ Form ever follows function) หมายถึงรูปทรงอาคารมาจากหน้าที่ใช้สอย แนวคิดนี้มีมานานอย่างน้อยก็ทศวรรษที่ 1930 พวกเขาเชื่อว่างานสถาปัตยกรรมที่ดีต้องมีประโยชน์ใช้สอยที่ดีและงดงาม มันเป็นกฎแห่งการออกแบบที่สถาปนิกระดับโลกใช้มาตลอด

ลองมองธรรมชาติจะพบว่า ‘ผลงาน’ ในธรรมชาติล้วนเป็นแบบ Form follows function เมื่อพืชโตในที่แห้งแล้งขาดน้ำ ก็ ‘ออกแบบ’ ตัวเองให้กักน้ำไว้มากที่สุด ใบกลายเป็นหนามเพื่อลดการคายน้ำและป้องกันสัตว์มากิน เป็นต้น

ในการออกแบบของนักศึกษาสถาปัตย์ในสมัยนั้น แทบทั้งหมดออกแบบอาคารโดยเขียนแปลนก่อน แปลนก็คือโจทย์ เมื่อแปลนลงตัวแปลว่ากำหนดหน้าที่ใช้สอยตามโจทย์เรียบร้อยแล้ว จึงค่อยคิดรูปด้าน (elevation) ซึ่งก็คือรูปร่างหน้าตาของอาคาร วิธีทำงานแบบนี้มักจะได้คะแนนหน้าที่ใช้สอย (function) เต็ม แต่ไม่แน่นักว่าจะสอบผ่านเรื่องหน้าตา (form) เพราะคิดแยกส่วนกัน

กินเวลาถึงสี่ปีกว่าผมจะเริ่มเข้าใจเรื่องการออกแบบไม่แยกส่วน และเริ่มเรียนรู้ว่าเราสามารถทำ function กับ form ไปพร้อมกันได้ นั่นคือเวลาออกแบบ เรามองภาพสามมิติของทุกอย่างในภาพเดียว วิธีออกแบบหลักการนี้ก็คือวิธีคิดแบบ big idea ในทางโฆษณานั่นเอง ทำให้สถาปนิกสามารถจินตนาการโครงสร้างที่เหมาะกับหน้าที่ใช้สอยตามโจทย์ และกำหนดหน้าที่ใช้สอยให้ลงตัวตามรูปแบบที่จินตนาการขึ้นมาพร้อมๆ กัน ทำให้ได้งานที่เด่นทั้ง form และ function พูดง่ายๆ คือ Form fuses with function หรือรูปแบบเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกับหน้าที่ใช้สอย หากเป็นนิยายจีนกำลังภายใน ก็คือกระบวนท่าเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกับใจ!

เมื่อนำหลักนี้มาใช้ในงานเขียน function ก็คือสาระของเรื่องที่จะเล่า form คือรูปแบบการเล่า หรือ presentation ก็จะได้งานเขียนที่เด่นทั้งรูปแบบและสาระ ผู้อ่านสามารถอิ่มกับสาระของเรื่องเต็มที่ขณะที่ตื่นตาตื่นใจกับการนำเสนอ ทำได้อย่างนี้ ผลงานก็จะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ไปไกลกว่า ‘เรื่องที่ดี’

ผมใช้หลักการนี้ในการทำงานเขียนแนวทดลอง ส่วนจะสำเร็จดังใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง! เพราะการทำงานด้วยหลักคิดแบบนี้ นักเขียนต้องทำงานหนักขึ้นสิบเท่า พอกล่าวว่าในร้อยเรื่องที่เขียน อาจมีเพียงเรื่องเดียวที่สามารถบรรลุเป้าหมายของ ‘อิ่มกับสาระ ตื่นใจกับการนำเสนอ’


วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

28 มิถุนายน 2557
ส่งต่อให้เพื่อน :  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น