Winbookclub.com:



Elements
-1-

คำศัพท์คำหนึ่งที่ผมพูดบ่อยๆ แต่อาจไม่ทุกคนเข้าใจอย่างที่ผมตั้งใจก็คือคำว่า องค์ประกอบ (element)

องค์ประกอบในรูปวาดก็คือทุกอย่างที่เราวาดลงไปในรูป เช่น ต้นไม้ ต้นหญ้า บ้าน คน ดอกไม้ ท้องฟ้า เมฆ นก ทะเล เรือ ฯลฯ

องค์ประกอบในเรื่องสั้นหรือนวนิยายก็คืออะไรก็ตามที่เราใส่เข้าไปในเรื่อง ได้แก่ตัวละครและฉาก ยกตัวอย่างเช่น “เขานั่งดื่มเบียร์ที่เคาน์เตอร์บาร์ ณ ถนนพัฒน์พงษ์ บาร์เทนเดอร์วางแก้วเหล้าขณะที่หญิงสาวคนหนึ่งโฉบมาหาเขา”

‘เขา’ คือหนึ่ง element บาร์คือหนึ่ง element บาร์เทนเดอร์คือหนึ่ง element หญิงสาวคืออีกหนึ่ง element

ตัวละครสองคนก็เป็นสอง element สามคนก็เป็นสาม element มีกี่ฉากก็มี element จำนวนเท่านั้น

ทว่านอกจาก element ที่เป็นตัวละครและฉากแล้ว หากเราเขียนเรื่องแนวทดลองอย่างงานวรรณรูป (ตัวอย่างเช่นงานชุด หนึ่งวันเดียวกัน, วันแรกของวันที่เหลือ) element อาจเป็นตัวหนังสือ, แบบฟอนต์ รูปภาพก็เป็น element รูปกราฟิกก็เป็น element

เช่นเดียวกับการวาดรูป งานเขียนไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องยาว ยิ่งใส่ element ยิ่งมากก็ยิ่งมีโอกาสรกรุงรัง

อย่างไรก็ตาม อย่าเข้าใจผิดว่า ความน้อยคือปริมาณสองสามชิ้น บางทีตัวละครสองสามคนก็ทำให้เรื่องเละได้เหมือนกัน และบางทีตัวละครมากเป็นร้อยก็ไม่ถือว่า ‘มาก’!

ลองดูภาพวาดต่างๆ ภาพวาดจีนที่มีองค์ประกอบน้อย เว้นพื้นที่ว่างมาก กับภาพวาดที่มีองค์ประกอบมาก ก็สามารถสวยได้ทั้งคู่ เพราะความรกไม่ได้อยู่ที่ความมากเสมอไป แต่อยู่ที่การไม่รู้จักจัดการกับความมาก ปล่อยให้มากจนรก

แต่โอกาสที่เรื่องที่มีองค์ประกอบมากจะเละมีสูงกว่า

ถามว่าถ้าใส่ element น้อยๆ แล้วเรื่องไม่จืดหรือ? คำตอบคือใส่มากตามสบายตราบที่ทำให้มันน้อย

เอ๊ะ! แปลว่าอะไร ใส่มาก แต่ทำให้น้อย?

คำตอบคือเมื่อมีองค์ประกอบมาก ก็ให้รวมเป็นกลุ่ม เพื่อทำให้องค์ประกอบเหลือน้อยที่สุด

นี่คือหลักการจับกลุ่ม (grouping)

เวลาเราวาดรูปต้นไม้ เราเขียนลำต้น แล้วเติมใบไม้ทีละใบจนเต็มต้น ลำต้นจัดเป็นหนึ่ง element ใบไม้แต่ละใบก็เป็นหนึ่ง element ดังนั้นแม้ต้นไม้ประกอบด้วยใบไม้มากมาย แต่เมื่อมองดูภาพรวมแล้ว มันเป็นต้นไม้ต้นเดียว

การเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายก็เหมือนกัน

ลองดูอีกตัวอย่างหนึ่ง :

“ชายคนนั้นวัยราวสี่สิบ ไว้หนวด ร่างสูงโปร่ง สวมแจ๊คเก็ตสีน้ำตาล รองเท้าหนังขัดมัน ใบหน้าเขาเคร่งขรึมขณะเดินก้าวข้ามถนน”

ผู้ชาย หนวด แจ๊คเก็ต รองเท้า แต่ละอย่างก็คือหนึ่ง element แม้คำบรรยายนี้ประกอบด้วย element มากมายก็จริง แต่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวคือผู้ชายคนนี้

อย่างไรก็ตาม แม้การรวมกลุ่มช่วยลด element ก็ระวังอย่าใส่มากเกินจำเป็น จะทำให้เรื่องรุงรัง รักษาความสะอาดในเรื่องเสมอ อย่าคิดว่า “ก็มันเป็นนวนิยาย ฉันจะใส่รายละเอียดมากเท่าไรก็ได้” เรื่องที่มี ‘ไขมัน’ มากไปเสพแล้วจะเอียน ทำให้เรื่องกระชับเสมอ ไม่ว่าเป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องยาว

ทุกครั้งที่ใส่ element อะไรเข้าไปในเรื่อง ถามตัวเองเสมอว่า element นั้นมีไว้เพื่ออะไร ทำหน้าที่อะไร ถ้าตอบไม่ได้ แสดงว่ามันไม่จำเป็น

จะให้ตัวละครสวมเสื้อพื้นเขียวอ่อนลายดอกชบา ต้องตอบได้ว่าทำไมใส่เสื้อตัวนี้ จำเป็นไหม ถ้าการที่สวมเสื้อตัวนี้เพราะตัวละครอยู่ระหว่างลาพักร้อน นอนริมหาด ก็มีเหตุผลรองรับ ไม่เช่นนั้น ก็รุงรังเปล่าๆ

ยกตัวอย่างเช่น เราเล่าเรื่องนักสืบ พุ่มรัก พานสิงห์ ไปสำรวจจุดเกิดเหตุฆาตกรรม

“เขารู้สึกว่ารองเท้าคู่ใหม่รัดเท้าเล็กน้อยขณะก้าวเข้าไปที่จุดเกิดเหตุ เขามองไปทั่วห้องสี่เมตรคูณห้าเมตร พื้นไม้สักสีน้ำตาลสลับพรมเปอร์เซียสีแดงเลือดนก ทำให้เห็นคราบเลือดไม่ชัด แต่เมื่อสังเกตก็เห็นรอยเลือดบนพื้นไหลเรี่ยไปจนถึงเตียง กระจกเงากรอบทองแตกกระจาย โคมไฟทองเหลืองสูงห้าฟุตล้มบนพื้น...” 

องค์ประกอบเหล่านี้สำคัญต่อเรื่อง จึงบรรยายละเอียดได้ว่ากระจกเงาหน้าตาเป็นอย่างไร โคมไฟสูงแค่ไหน พรมดูดซับเลือดหรือเปล่า ฯลฯ

แต่เราไม่ต้องบรรยายว่ารายละเอียดของรองเท้าคู่ใหม่ที่พุ่มรักสวม เพราะมันไม่เกี่ยวกับเรื่อง หากเราต้องการให้คนอ่านรู้ว่าเขาสวมรองเท้าใหม่เพราะมีนัดกับสาวในคืนนั้น แต่ถูกเรียกตัวมาดูเหตุฆาตกรรมก่อน เขาจึงต้องระวังไม่ให้เลือดคนตายเปื้อนรองเท้า เราก็ไม่ต้องบรรยายว่า “เขาสวมรองเท้าแบลลีย์คู่ใหม่ หนังสีน้ำตาลคาดดำเงาสะท้อนแสงไฟ พื้นรองเท้าหนาครึ่งนิ้วเหยียบพื้นโดยไม่มีเสียง เป็นรองเท้าซื้อจากอิตาลีตอนที่เขาไปเที่ยวกับทัวร์เมื่อสองเดือนก่อนด้วยเงินที่ชนะพนันมา” เรื่องจะรกเปล่าๆ แค่บรรยายว่า “เขาเดินอย่างระวัง ก้าวข้ามกองเลือด ไม่ให้ถูกรองเท้าคู่ใหม่ของเขา” ก็พอแล้ว

น้อยเป็นดี


-2-
นักเขียนใหม่ย่อมคุ้นเคยกับกติกาการเขียนเรื่องสั้นที่ว่า ควรสร้างตัวละครน้อยที่สุด เรื่องสั้นไม่ควรมีตัวละครเกินสองหรือสาม แต่หากเป็นนวนิยาย มีตัวละครได้ไม่จำกัด

เหตุผลคือเรื่องสั้นเสนอเรื่องประเด็นเดียว นวนิยายเสนอได้หลายประเด็นในเรื่องเดียว แต่ในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ เราต้องกล้าลองท้าทายว่า เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างตัวละครจำนวนมากๆ ในเรื่องสั้นเรื่องเดียว

ในเรื่องสั้น คำสารภาพของช้างเท้าหลัง ผมทดลองใส่ตัวละครเข้าไปถึง 133 คน แน่ละไม่ใช่ตัวละครทั้ง 133 คนมีบทบาทเท่าตัวละครหลัก แต่ก็มากเกินตำราการเขียนเรื่องสั้นทั้งหลายในโลก

ในเรื่อง ตัวละครหลัก (เขา) ได้รับบัตรเชิญงานเลี้ยงแต่งงานจากตัวละคร วิมล


[เขา]ดึงบัตรเชิญออกจากซอง แน่นอนมันเป็นสีชมพูเรื่อเหมือนสีแก้มของเจ้าสาว

เขานึกถึงบรรดาเจ้าสาวของคู่แต่งงานที่เขาเคยกล่าวคำอวยพรเหล่านั้น : ดารณี, ปทุมรัตน์, ปรานี, สดใส, จันทนา, จารุณี, มัณฑิรา, วารี, ศิริกุล, นิตยา, ราตรี, ผุสดี, จันทร์จรี, ภัทราวดี, ดาริน, วิไลวรรณ, กุลฤดี, อารยา, อรฤดี, กาญจนา, วิภาวรรณ, ประภาวดี, อรพรรณ, โกสุม, อัจฉรา, สุดสิริ, อัญทิยา, รัชดาภรณ์, อำไพ, วรรษวดี, เพ็ญ, นิมิตรา, ลินลา, เรวดี, พิชญาภรณ์, อำไพพรรณ, เลิศลักษณ์, สมสมร, อลิสา, พรพิมล, ดาเรศ, ปทุมพร, อัญญารัตน์, กาญจนวรรณ, รำเพยพร, เมย์, พนิดา, ดาเรศ, รัศมี, กนกวรรณ, เจนนิเฟอร์, ปริศนา, ศันศนีย์, จิรเรศ, โสภิดา, มาริสา, โรส, ฟีบี, เจนจิรา, พรพิศ, คิม, ดารินทร์, ลินดา, พรรณราย, ตาตั้ม และเจ้าสาวคนล่าสุด - วิมล

นาทีนี้ชีวิตพวกหล่อนเป็นอย่างไร? มีความสุขดีอยู่หรือไม่?


คนเขียนบ้าหรือเปล่าที่ใส่ตัวละครเข้าไปในเรื่องสั้นมากมายขนาดนี้? นี่ไม่ใช่นวนิยาย! คำตอบคือผู้เขียนต้องการเน้นว่ามีผู้หญิงมากเหลือเกินที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิง จึงออกแบบตัวละครหลายสิบคน แต่รวมตัวละครจำนวนมากเหล่านี้เป็นก้อนเดียว โดยเทคนิคการรวมกลุ่ม ตัวละครทั้งหมดนี้ก็รวมกันเป็น element เดียว เหมือนกำแพงอิฐที่ประกอบด้วยอิฐมากมาย แต่เป็นกำแพงเดียว

ลองดูอีกตัวอย่างของการรวมกลุ่มและเชื่อมองค์ประกอบ ท่อนต่อไปนี้ตัวละครหลักสนทนากับผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในที่เดียวกัน หรือเวลาเดียวกัน


นาทีนี้เขานึกอยากถามพวกหล่อน 

“ชีวิตแต่งงานในหนึ่งเดือนแรกหลังจากพวกคุณกลับมาจากฮันนีมูนเป็นยังไง?”

ดารณี (32, พนักงานขายเครื่องสำอาง) : “เขาชงกาแฟให้ดิฉัน เปิดประตูให้ดิฉัน จูบดิฉันก่อนออกจากบ้านไปทำงานทุกเช้า กลับบ้านตรงเวลา ช่วยดิฉันล้างจาน อ้อ! เขารับอาสาถูบ้านด้วยค่ะ เขากอดดิฉันเฉลี่ยทุกๆ สองชั่วโมงสามสิบนาที”

“หกเดือนหลังน้ำผึ้งพระจันทร์?”

ปทุมรัตน์ (29, คนทำบัญชี) : “เขาบอกให้ดิฉันไปเรียนขับรถ เมื่อดิฉันถามว่าทำไม เขาบอกว่า ‘ก็หัดไว้เผื่อต้องขับรถกลับบ้านเองไงที่รัก’ หนึ่งเดือนต่อมาเมื่อดิฉันสอบได้ใบขับขี่ เขายื่นกุญแจรถคันใหม่ให้ดิฉัน อ้อ! ก็ไม่ใหม่นักหรอกค่ะ เป็นรถมือสองค่ะ เขาบอกว่า ‘ของขวัญแสดงความยินดีที่สอบผ่านจ้ะ อ้อ! พรุ่งนี้พี่ไม่ไปรับส่งแล้วนะ’ “ 

“หลังแต่งงานไปได้สองปี?”

ปรานี (27, พนักงานห้างสรรพสินค้า) : “พวกเรามีลูก ดิฉันเป็นคนเปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อลูกตื่นกลางดึกทุกหนึ่งชั่วโมงแปดนาที ส่วนเขา... หลับสนิทค่ะ” 

“หลังแต่งงานไปได้สามปี?”

มัณฑิรา (25, เลขานุการ) : “เขาเริ่มไปหัดตีกอล์ฟกับเพื่อน เวลาเราไปดูหนังหรือช็อปปิ้ง เขาเดินนำหน้าไปก่อน ดิฉันเดินตามหลัง ทิ้งระยะห่างกันสามก้าวเสมอ”

“หลังแต่งงานไปได้ห้าปี?”
  
สดใส (34, แม่บ้าน) : “เจ็ดก้าวค่ะ” 


บทสนทนาระหว่างตัวละครหลักกับตัวละครหญิงหลายคนนี้จำเป็นต้องมีอยู่เพื่อสื่อคอนเส็ปต์ของเรื่อง แต่ไม่มีปัญหา element มากเกินไป เพราะได้รวมตัวละครและบทสนทนาเข้าด้วยกันในท่อนเดียว โดยให้ตัวละครหลัก (เขา) ถามคำถามแรก ดารณีเป็นคนตอบ เขาถามดารณีต่อ ปทุมรัตน์เป็นคนตอบ เขาถามปทุมรัตน์ต่อ ปรานีเป็นคนตอบ ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ โดยไม่บ่งว่าเป็นการคุยในที่เดียวกันเวลาเดียวกัน มันมีลักษณะการคุยแบบเซอร์เรียลมากกว่า บทสนทนานี้สื่อเป็นนัยว่าเป็นความเห็นของผู้หญิงจำนวนมาก เมื่อเชื่อมกันแบบนี้ ดารณี ปทุมรัตน์ ปรานี มัณฑิรา สดใส จะหายไป กลายเป็นตัวละครหนึ่งกลุ่ม จัดเป็นหนึ่ง element ดูเหมือนมีมาก แต่กลายเป็น ‘ต้นไม้ต้นเดียว’

คนอ่านจึงไม่ได้มองฉากนี้เป็นใบไม้หลายร้อยใบ แต่มองเป็น ‘ต้นไม้’ หนึ่งต้น


-3-
นวนิยายจำนวนไม่น้อยแนะนำตัวละครใหม่เข้าไปเรื่อยๆ จนบางทีคนเขียนก็ลืมตัวละครบางคนไปเลย ตัวละครเหล่านั้นหายตัวไปอย่างลึกลับ พบมากในนิยายกำลังภายใน ผู้เขียนแนะนำตัวละครจอมยุทธ์ต่างๆ : คนนี้คือนักพรตเต๋าเอ๋อ เจ้าสำนักบู๊ตึ๊ง ฉายาล่องหนหมื่นลี้, คนนั้นคือกิมแจกวง เจ้าสำนักง่อไบ๊ ฉายาอินทรีหัวดำ, คนโน้นคือแชฉิกคัง เจ้าสำนักคงท้ง ฉายาฝ่ามือน้ำแข็งเพลิง, คนนั้นคือเอี้ยนจับซา ฉายาจอมมารขาว, คนนี้คือเอี้ยนจับสี่ ฉายาจอมมารดำ เป็นศิษย์ทรยศของนักพรตเต๋าเอ๋อ, คนโน้นคือซิมไบ๊ ฉายาจอมมารม่วง แห่งวังมรกต เป็นญาติห่างๆ กับน้องเมียเก่าของกิมแจกวง เจ้าสำนักง่อไบ๊ ฯลฯ ตัวละครแต่ละคนมีบทพูดคนละประโยคสองประโยค

เฮ้อ! อ่านแล้วเหนื่อย! ไม่สงสารคนอ่านเลย! ใครจะไปจำรายละเอียดทั้งหมดนี้เล่า!

เชื่อไหมว่านวนิยายกำลังภายในหลายเรื่องมีตัวละครหลายสิบคนที่ปรากฏตัวแค่ฉากเดียว แล้วหายไปเฉยๆ คนอ่านจำไม่ได้ คนเขียนก็ลืม เลอะเทอะไปหมด

หลักการเขียนที่จะเป็นพระคุณอย่างสูงกับผู้อ่านคือ ถามตัวเองเสมอว่าตัวละครคนนี้คนนั้นคนโน้นมีไว้เพื่ออะไร ตัวละคร ก. ทำให้เรื่องเปลี่ยนไปอย่างไร การมีตัวละคร ก. อยู่ทำให้เรื่องดีขึ้นหรือมึนกว่าเดิม? ถ้าอ่านแล้วมึน ช่วยกรุณาลบออกเถอะ ได้โปรด! สงสารคนอ่านหน่อย อย่าเสียเวลาคนอ่านไปกับการจำตัวละครเลย บาปกรรม!

เอาละ ถ้าจำเป็นต้องใส่องค์ประกอบทั้งหมดนี้เข้าไปจริงๆ ก็รวมกลุ่ม (grouping) เสีย อาจบรรยายว่าจอมยุทธ์จากสำนักต่างๆ ทั่วแผ่นดินมารวมกันเพื่ออะไรก็ว่าไป ตัวละครใดพูดแล้วไม่เปลี่ยนเรื่องก็ไม่ต้องพูด ตัวละครไหนรวมกันได้ก็รวมกันเสีย เช่น รวมจอมมารขาวกับจอมมารดำเป็นตัวละครคนเดียวกัน ตั้งชื่อว่าจอมมารเทาก็ได้

ในนวนิยายเรื่อง บุหงาปารี (ตรงนี้มีสปอยเลอร์) ผมสร้างตัวละครสองคนคือ กระเบนขาวกับกระเบนดำ เดินเรื่องไปแล้วรู้สึกว่ารุงรัง จึงรวมตัวละครทั้งสองเข้าด้วยกัน กลายเป็นตัวละครหนึ่งคนสองบุคลิก (double personality) ดีกว่าเดิมเสียอีก นี่ก็เป็นอานิสงส์จากการใช้เทคนิคการรวมกลุ่ม!


-4-

เคยสงสัยไหมว่าทำไมภาพเขียนจีนมักทิ้งพื้นขาวไว้เสมอ เหตุผลหนึ่งเพราะพื้นขาวคือความว่าง ความว่างทำให้ภาพมีความลึก เพราะคนดูจินตนาการฉากหลังเอาเอง ความเบลอ ความไม่ชัดของความขาวยังช่วยขับเน้นจุดเด่นของภาพ ภาพพื้นขาวจึงมักดีกว่าใส่รายละเอียดหมดทั้งภาพจนไม่มีพื้นที่หายใจ

ด้วยหลักการนี้ เวลาเราวาดรูปต้นไม้ เราไม่ต้องวาดใบไม้ทุกใบชัดแจ่มแจ้ง การวาดใบไม้บางส่วนชัด บางส่วนเบลอทำให้ต้นไม้มีความลึกมากกว่า

งานฟิล์ม นัวร์ ก็ใช้หลักการนี้ แต่เปลี่ยนขาวเป็นดำ ภาพมักมีเงาดำ เห็นใบหน้าคนคลุมเครือ ไม่เก็บรายละเอียดหมด ให้อารมณ์ภาพดีไปอีกแบบหนึ่ง

เคยสังเกตภาพถ่ายดอกไม้โคลสอัพฉากหลังเบลอไหม? ฉากหลังเบลอเกิดจากการถ่ายรูปโดยใช้เลนส์ที่มีความชัดลึก (depth of field) ต่ำ ทำให้ได้อารมณ์ภาพที่ดีกว่าชัดหมดทุกจุด นั่นคือฉากหลังยังดำรงอยู่ แต่ถูกทำให้เป็นกลาง ไม่เด่นจนข่มตัวดอกไม้

เคยเห็นโต๊ะเก้าอี้ที่สลักเสลาลวดลายเต็มทุกตารางนิ้วไหม? แม้ทุกส่วนสลักด้วยฝีมือประณีต เช่น มังกรเลื้อยตรงขาเก้าอี้ แลเห็นเกล็ดมังกรชัดทุกเกล็ด หรือลายไทยเต็มโต๊ะ แต่กลับดูเลอะ เพราะไม่เหลือพื้นที่ว่างไว้เลย

การเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายก็เหมือนกัน ผู้เขียนไม่ต้องบรรยายรายละเอียดตัวละครหรือฉากไปเสียหมด ทิ้งพื้นที่ว่างไว้บ้างให้บางส่วนเบลอ ให้คนอ่านจินตนาการเอาเอง

นักเขียนต้องรู้ว่าอะไรเป็นองค์ประกอบสำคัญ อะไรควรเน้น อะไรควรเป็นกลาง อะไรควรเบลอ องค์ประกอบที่ต้องมีอยู่ แต่ไม่สำคัญก็ทำให้มันเจือจางลงกลายเป็นกลาง

ยกตัวอย่างเช่น เราแต่งเรื่องให้นางเอกเกิดอุบัติเหตุหกล้มกลางถนนข้อเท้าแพลง ชายคนหนึ่งวิ่งเข้าไปช่วยพาเธอส่งโรงพยาบาล หากตัวละครคนนี้มีบทบาทแค่พาเธอไปหาหมอ ไม่มีบทบาทต่อไปในอนาคต ก็ไม่ต้องบรรยายว่า

“เขาเป็นชายร่างสูงใหญ่ ผิวสองสี มีรอยลักยิ้ม สวมเสื้อสีฟ้า รองเท้าผ้าใบยี่ห้อไนกี้ เขาแนะนำตัวเองว่าชื่อ สมควร สันติธำรงพรรณ ทำงานเป็นนายแบบ วันนี้ผ่านทางมาเพราะมีนัดกินเหล้ากับเพื่อนทุกวันศุกร์” เพราะในกรณีนี้ไม่จำเป็น ทำให้ตัวละครคนนี้ ‘เป็นกลาง’ ไปเสีย โดยบรรยายแค่ว่า

“ความปวดแผ่ซ่านจากข้อเท้า หล่อนเห็นผู้ชายคนหนึ่งวิ่งเข้ามาหา กล่าวว่า ‘เดี๋ยวผมพาคุณไปหาหมอนะครับ’ ยี่สิบนาทีต่อมาหล่อนก็อยู่ในโรงพยาบาล” 

เท่านี้ก็พอแล้ว เราไม่เห็น 'ใบหน้า' ของชายคนนี้ แต่เรื่องก็เดินไปได้โดยไม่ติดขัด

หนังไทยสมัยก่อนมักใส่รายละเอียดในส่วนที่ไม่จำเป็น ผมเคยดูหนังเรื่องหนึ่ง นางเอกประสบอุบัติเหตุต้องเข้ารับการผ่าตัด หนังก็ใส่รายละเอียดการผ่าตัด แสดงภาพหมอกับพยาบาลล้อมคนไข้ผ่าตัดอยู่นาน จากหนังรักกลายเป็นสารคดีการผ่าตัดไป เมื่อจบฉากผ่าตัดแล้วค่อยเดินเรื่องต่อ

หนังโทรทัศน์สมัยหนึ่งเมื่อฮิตติดลม ผู้สร้างก็ลากเรื่องให้ยาวต่อไปเรื่อยๆ บางตอนนางเอกเดินไปเดินมาโดยมีเพลงประกอบคลอจนจบเพลง จากละครกลายเป็น มิวสิก วิดีโอ อย่างนี้คือรุงรัง

ในการสร้างฉากก็เช่นกัน ใส่องค์ประกอบตามจำเป็น ตัวอย่างหนึ่งที่ดีคือภาพยนตร์เรื่อง Se7en ฉากของเรื่องเป็นเมืองใหญ่พลุกพล่าน ดำมืด หม่นหมอง แต่มันเป็นภาพเบลอ ให้รายละเอียดแค่พอให้รู้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองใหญ่ เราไม่รู้ว่ามันเป็นเมืองอะไร มันไม่ใช่นิวยอร์ก ไม่ใช่ ลอส แองเจลิส หรือชิคาโก องค์ประกอบเมืองทำหน้าที่แค่เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นเมืองใหญ่ที่ดำมืดหม่นหมองทั่วโลก ซึ่งทำให้เรื่องลึกกว่าใส่รายละเอียดยิบ

หลักการคือใส่ element น้อยที่สุดโดยที่มันยังทำงานได้

ทั้งหมดนี้ก็คือหลัก KISS (Keep it simple, stupid! บางคนแปลใหม่ว่า “Keep it short and simple” หรือ “Keep it simple and straightforward” ก็ไม่ผิด)

เลโอนาร์โด ดา วินชี บอกว่า “ความเรียบง่ายคือความซับซ้อนชั้นสุดยอด”

ในวงการสถาปัตยกรรม สถาปนิกระดับโลก มีส แวน เดอ โรห์ กล่าวว่า Less is more

นักเขียนและนักบินชาวฝรั่งเศส อองตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ผู้เขียน เจ้าชายน้อย กล่าวว่า “ดูเหมือนว่าความสมบูรณ์แบบมิได้มาจากการที่ไม่มีอะไรใส่เข้าไปอีก แต่เมื่อไม่มีอะไรที่สามารถเอาออกมาได้อีก”

น้อยเป็นดี

(ป.ล. คู่มือนักเขียนยังมีอีกยาวครับ เบื่อแล้วยังครับ? ถ้าเบื่อผมจะได้เปลี่ยนไปเขียนอย่างอื่น เช่น เรื่องเซ็กส์ ดีไหมครับ?)


วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

12 กรกฎาคม 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น