Winbookclub.com:





เงาของนักเขียนคนหนึ่ง ตอน 4 
ซัพพล็อต



หากเราคัดเลือกนักเขียนที่เก่งทาง plot-based ของโลกมาสักสิบคน กิมย้งต้องเป็นหนึ่งในนั้น ตลอดชีวิตเขาเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นแค่สิบห้าเรื่องเท่านั้น แต่แทบทุกเรื่องทำให้ยุทธจักรสะเทือน

กิมย้งเป็นนักอ่านตัวยง ทั้งตำนานจีน เช่น สามก๊ก, ความฝันในหอแดง ฯลฯ ไปจนถึงวรรณกรรมตะวันตก เมื่อเขานำวิธีการแต่งเรื่องแบบตะวันตกมาผสมกับวิธีการเขียนแบบตะวันออก  ผสานกับจินตนาการไร้ขอบเขตของเขา ก็คือกำเนิดของนิยายจีนกำลังภายในสายใหม่

กิมย้งเริ่มชีวิตนักหนังสือพิมพ์สองปีหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ทำงานกับหนังสือพิมพ์ต้ากงเป้าที่เซี่ยงไฮ้ ต่อมาไปทำงานต่อที่หนังสือพิมพ์ซิ่นหวั่นเป้าที่ฮ่องกง ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ ที่นั่นเองเขาพบกับเฉินเหวินถง เจ้าของนามปากกา เหลียงหยี่เซิน ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนรักกัน

ในปี 1953 เฉินเหวินถงเขียนนวนิยายจีนกำลังภายในเรื่องแรกชื่อ นางพญาผมขาว และกลายเป็นนักเขียนมีชื่อเสียง เฉินเหวินถงคนนี้นี่เองจุดประกายให้กิมย้งเริ่มเขียนนวนิยายบ้าง เรื่องแรกคือ จอมใจจอมยุทธ์ (ซูเจี้ยนเอินโฉวเล่อ / จือเกี่ยมอึ้งชิ้วลก) ในปี 1955 เขียนจากตำนานที่เล่ากันว่า เคี่ยนหลงฮ่องเต้แห่งราชวงศ์เช็งมีสายเลือดจีนฮั่น เรื่องที่สองคือ ปี้เสียะเจี้ยน (เพ็กฮ้วยเกี่ยม / กระบี่เลือดเขียว) ทั้งสองเรื่องถือว่าแปลกใหม่ ฉีกแนวจากขนบเดิม แต่ฝีมือ ‘มือใหม่หัดขับ’ ยังตะกุกตะกักอยู่บ้าง จนเมื่อถึงเรื่องที่สาม กิมย้งก็โด่งดังเป็นพลุ เรื่องนั้นก็คือ มังกรหยก (เส้อเตียวอิงโสวงจ้วน - ตำนานวีรบุรุษยิงนกอินทรี)

มังกรหยกใช้ฉากแผ่นดินจีนราชวงศ์ซ้อง เป็นยุคที่บ้านเมืองเสื่อมโทรมสุดขีด ตัวละครหลักคือก๊วยเจ๋งกับเอี้ยคัง ทั้งสองเป็นบุตรของพี่น้องร่วมสาบานคู่หนึ่ง ก๊วยเจ๋งเติบใหญ่ในความดูแลของพวกมองโกลยุคที่เตมูจินยังไม่ตั้งตนเป็นเจ็งกิสข่าน เอี้ยคังโตในวังของพวกไต้กิมก๊ก ทั้งมองโกลและไต้กิมก๊กก็อยากยึดครองจีนฮั่นทั้งคู่ ตัวละครทั้งสองยืนบนทางสองแพร่งว่าจะช่วยศัตรูที่ชุบเลี้ยงตนหรือจะช่วยแผ่นดินมาตุภูมิ

มังกรหยก รวมเทคนิคการเขียนการเดินเรื่องแบบตะวันตกและแบบเก่า ผสมงานตำนานสงครามอย่าง สามก๊ก, นิยายรักอย่าง ความฝันในหอแดง, ประวัติวีรบุรุษนักรบโบราณ, วิชาการต่อสู้, จินตนาการโลกของยุทธจักรแบบใหม่ กลายเป็นส่วนผสมที่สนุก แปลกจากเรื่องพงศาวดารจีนเดิมๆ เรื่องอ่านสนุกเหลือประมาณ ผมอ่านมังกรหยกเล่มแรกหนาหนึ่งพันหน้าจบภายในห้าชั่วโมง! คนอ่านร้อยละร้อยต้องอ่านต่อจนจบ ต่อให้มีการสอบไล่ในวันรุ่งขึ้น! พล็อตแบบนี้เองที่ทำให้ผมอ่านนิยายในห้องเรียนขณะที่ครูกำลังสอน! เป็นความผิดของกิมย้งล้วนๆ!

หลังจากนั้นโลกของนิยายจีนก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

หลังจากโด่งดังจาก มังกรหยก กิมย้งกับเพื่อนก่อตั้งบริษัทหนังสือพิมพ์หมิงเป้า ทำงานในฐานะบรรณาธิการ และเขียนนวนิยาย มังกรหยก ภาคสอง (เสินเตียวเสียะหลี่ / อินทรีเจ้ายุทธจักร / เอี้ยก้วยเจ้าอินทรี) ป้อนหมิงเป้า เขียนวันละหมื่นอักษรอยู่สองปี ว่ากันว่าหนังสือพิมพ์หมิงเป้าเกิดได้เพราะคนอ่านติด มังกรหยก ภาคสอง งอมแงม เหมือนสมัยที่ยาขอบเขียน ผู้ชนะสิบทิศ ทุกวันที่นิตยสารออก มีคนอ่านมารออ่าน ผู้ชนะสิบทิศ หน้าโรงพิมพ์อย่างไรอย่างนั้น

กิมย้งเป็นราชาแห่งการสร้างพล็อต พล็อตหลักและซัพพล็อตของเขาประณีตอย่างยิ่ง ตัวอย่างคือผลงานในยุคหลังเมื่อเขาเป็นจอมยุทธ์แห่งอักษรแล้วจริงๆ เช่น แปดเทพอสูรมังกรฟ้า, กระบี่เย้ยยุทธจักร ฯลฯ ฝีมือคิดพล็อตของเขาถือว่าสุดยอด ทักษะในการปะซัพพล็อตเข้ากับแกนกลางเรื่องก็ยอดเยี่ยม

มังกรหยก ภาคสอง พัฒนาจาก มังกรหยก ไปอีกระดับ คอนเส็ปต์คือเรื่องความรักที่ขัดแย้งกับประเพณี ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่เคยปรากฏในนิยายกำลังภายในมาก่อน แกนหลักคือเรื่องความรักของตัวละครเอี้ยก้วยกับเสียวเล่งนึ้ง มีซัพพล็อตหลายเรื่องที่เขียนได้ดีมาก เช่น เรื่องของเฮ้งเตงเอี้ยงกับลิ้มเซียวเอ็ง, เรื่องรักของลี้มกโช้ว เป็นต้น ทุกซัพพล็อตโยงกับคอนเส็ปต์ของแกนเรื่อง สอดคล้องกลมกลืน ดั่งหยกเนื้อดีที่สลักเสลาเป็นเครื่องประดับงดงามด้วยฝีมือเทพ

ที่โดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งคือ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า (เทียนหลงป้าปู้) แก่นเรื่องคือความรักของมนุษยชาติและการต่อต้านสงครามแห่ง ‘เส้นสมมุติ’ เป็นนวนิยายที่ใช้ตัวละครและซัพพล็อตเปลือง บางซัพพล็อตดีจนเป็นนวนิยายเอกเทศอีกเรื่องหนึ่งได้ ถ้าเป็นนักเขียนคนอื่น ก็คงใช้เป็นโครงเรื่องหลักไปแล้ว ไม่งั้นเปลืองพล็อต! เรื่องประกอบด้วยพล็อตใหญ่ เช่น เรื่องของต้วนอวี้แห่งตาลีฟู, เฉียวฟงแห่งต้าเหลียว, ซีจู๋แห่งจีน และซัพพล็อตย่อย เช่น แผนลอบสังหารบิดาของเฉียวฟง, เรื่องรักของเฉียวฟงกับอาจู ฯลฯ เหล่านี้ร้อยต่อกันเป็นเรื่องใหญ่ การเขียนเรื่องสเกลใหญ่ขนาดนี้ ถ้ามือไม่ถึง ก็เละ

หลังจาก แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ออกสู่บรรณพิภพ นักอ่านเชื่อว่ากิมย้งคงไม่น่าจะสามารถสร้างเรื่องใหม่ที่ดีกว่านี้ได้อีก ขอแค่รักษามาตรฐานเดียวกับ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ได้ก็ขอคารวะด้วยเหล้าสามจอกแล้ว แต่กิมย้งก็ปล่อยหมัดเด็ดออกมาอีก นั่นคือ กระบี่เย้ยยุทธจักร (เซี่ยวอ้าวเจียงหู) ฝีมือการเขียนของกิมย้งก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง การเชื่อมซัพพล็อตเนียนสนิท นอกจากนี้ยังมีการใช้อารมณ์ขันแทรกเป็นระยะ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กิมย้งไม่ค่อยใช้ในเรื่องก่อนๆ



โดยทั่วไป เรื่องสั้นนำเสนอความคิดหรือสารประเด็นเดียว นวนิยายสามารถนำเสนอได้มากกว่าหนึ่งประเด็น (ก็เพราะมันยาวไง!) องค์ประกอบในเรื่องสั้นมีตัวละคร ฉาก ที่ออกแบบมาให้สื่อสารนั้นๆ จบในตัวมันเอง ถ้าเอาเรื่องสั้นหลายเรื่องมารวมกันในหนังสือเล่มเดียวกัน เราเรียกว่า รวมเรื่องสั้น (collection of short stories) แต่หากเอามารวมภายใต้แก่นเรื่องเดียวกัน ตัวละครหลักชุดเดียวกัน ก็กลายเป็นนวนิยาย

พูดหยาบๆ คือนวนิยายก็คือรวมเรื่องสั้นชนิดหนึ่ง แต่ ‘เรื่องสั้น’ ที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ในตัวมันเองเหมือนเรื่องสั้นทั่วไป ‘เรื่องสั้น’ ที่ว่านี้ก็คือซัพพล็อตนั่นเอง

อะไรคือความแตกต่างระหว่างซัพพล็อตกับเรื่องสั้น?

โดยทั่วไป ซัพพล็อตในนวนิยายทำหน้าที่เป็นพล็อตรอง หรือเรื่องรองรับเรื่องแกนหลัก อาจเป็นเรื่องส่วนขยายของตัวละครประกอบ ยกตัวอย่างเช่น ในนวนิยายเรื่อง บุหงาปารี / บุหงาตานี เรื่องการค้นพบหลักวิชาของปรมาจารย์มาการา, ที่มาของลิ่มเคี่ยม, ความรักระหว่าง รายา ฮีเจา กับฟาริด, ความรักของของ ยามาดะ นากามาสะ กับนาริโกะ, เรื่องของกระเบนขาวกับยาสมีน ฯลฯ เหล่านี้เป็นซัพพล็อต ทั้งหมดเชื่อมกับแกนกลางของเรื่องคือการเมืองยุคสี่ราชินีปตานี

คุณเคยเห็นกิ่งมะยมยาวที่มีผลมะยมเกาะบนกิ่งเป็นแถวใช่ไหมครับ? กิ่งมะยมก็คือแกนเรื่องหลัก ผลมะยมที่เกาะบนกิ่งก็คือซัพพล็อต อาจเป็นผลเดี่ยวหรือเป็นพวง มะยมอยู่ด้วยตัวมันเองไม่ได้ ต้องเกาะบนกิ่งเสมอ นี่ก็คือโครงสร้างของนวนิยาย

ส่วนเรื่องสั้นคือกิ่งมะยมขนาดเล็กหน่อย มีผลมะยมเพียงไม่กี่ผล เรื่องสั้นมีซัพพล็อตได้ตามสบาย แต่ไม่ควรมากจนรก

ข้อแตกต่างระหว่างเรื่องสั้นกับซัพพล็อตคือ เรื่องสั้นสมบูรณ์ในตัวมันเอง ขณะที่ซัพพล็อตไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ในตัวมันเอง ‘สมบูรณ์ในตัวมันเอง’ หมายถึงมีการปูเรื่อง เดินเรื่อง คลี่คลายเรื่องครบกระบวนการ

เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น ขอยกตัวอย่างกรณีของ เพชรพระอุมา กับ ล่องไพร ทั้งสองเรื่องเป็นนิยายแนวผจญภัย ตื่นเต้น ระทึกใจ

เพชรพระอุมา เป็นผลงานชิ้นเอกของนักเขียนไทยที่เป็นเซียนแห่งพล็อตคนหนึ่งคือ พนมเทียน เขียนได้หลายแนว ทั้งเรื่องบู๊ ผจญภัย สืบสวนสอบสวน ตำรวจ แม้แต่นิยายรักหวานๆ แต่เรื่องที่นักเขียนผู้นี้บอกว่าใช้ฝีมือทั้งหมดที่มีเขียน รวมจินตนาการและความรู้เกี่ยวกับการเดินป่าทั้งหมดในชีวิตมาในหนังสือเรื่องเดียว ก็คือ เพชรพระอุมา

โครงเรื่อง เพชรพระอุมา คือการเดินป่าตามหาคนหาย ชาวกรุงกลุ่มหนึ่งคือ ม.ร.ว. เชษฐา วราฤทธิ์,  ม.ร.ว. ดาริน วราฤทธิ์ และ ไชยยันต์ อนันตรัย มาว่าจ้างพรานพื้นเมืองผู้ชำนาญทางป่าแถบนี้ รพินทร์ ไพรวัลย์ เพื่อไปตามหาคนหายคือ ม.ร.ว. อนุชา วราฤทธิ์ ซึ่งเป็นน้องชายของ ม.ร.ว. เชษฐา และพี่ชายของ ม.ร.ว. ดาริน

อนุชา วราฤทธิ์ เดินทางกับพรานคู่ใจชื่อ หนานอิน มีจุดหมายคือมรกตนคร เมืองลับแลที่ซ่อนอยู่ในขุนเขาพระศิวะ ทั้งคู่หายสาบสูญไป รพินทร์ ไพรวัลย์ ตกลงรับงาน มีทีมงานหลายคน เช่น บุญคำ เกิด จัน เส่ย และชาวกะเหรี่ยงที่ไม่มีใครรู้ที่มานาม แงซาย

การเดินทางฟันฝ่าป่าทึบต้องพบสิงสาราสัตว์ ตั้งแต่เสือลำบาก ช้างเกเร กระทิงดุ ฝูงลิงป่า งูยักษ์ ไดโนเสาร์ เมืองลับแลพืชกินคน มนตราอาคมของหมอผี ผีบ้าน ผีป่า ผีกองกอย ผีดิบมันตรัย ค้างคาวผี นักรบโบราณ ศึกชิงบัลลังก์ ไปจนถึงภัยธรรมชาติตั้งแต่น้ำป่า ภูเขาไฟ ไปจนถึงหิมะ ฯลฯ ไม่แปลกที่เรื่องนี้ใช้เวลาเขียนราวยี่สิบหกปี! และก็ไม่แปลกที่มันเป็นนวนิยายที่ยาวที่สุดในโลก

เรื่องยาวขนาดนี้ย่อมมีจำนวนซัพพล็อตมากมาย เช่น การล่าเสือลำบาก, การล่าช้างป่า, การต่อสู้กับชนเผ่าสางเขียว, เรื่องของผีดิบมันตรัย, เรื่องของค้างคาวผี, เรื่องรักของขุนพลหนุ่มกับเจ้าหญิง, ศึกชิงบัลลังก์มรกตนคร ฯลฯ ทั้งหมดเสียบเข้ากับแกนกลางของเรื่องคือการเดินทางตามหาคนหาย

หลายปีก่อนที่ เพชรพระอุมา ปรากฏในบรรณพิภพ เมืองไทยมีนิยายชุด ล่องไพร ของ น้อย อินทนนท์ กำเนิดเมื่อปี พ.ศ. 2497 ในรูปละครวิทยุ ท.ท.ท. มีลักษณะเป็นซีรีส์ เป็นละครวิทยุยอดฮิตอยู่หลายปี

ซีรีส์ ล่องไพร มีราวยี่สิบกว่าตอน เช่น อ้ายเก, งาดำ, หุบผามฤตยู, มนุษย์นาคา, แดนสมิง, จ้าวป่า, เมืองลับแล, ป่าช้าช้าง, วิมานฉิมพลี, ตุ๊กตาผี, ทางช้างเผือก, เทวรูปชาวอินคา, มดแดง, พรายตะเคียน, เสือกึ่งพุทธกาล, จามเทวี ฯลฯ ทั้งหมดใช้ตัวละครหลัก ศักดิ์ สุริยัน ใช้สรรพนามว่า ‘ข้าพเจ้า’, ร้อยเอกเรือง และพรานพื้นเมืองชื่อ ตาเกิ้น บางตอนก็มีตัวละครสมทบ เช่น ดร. สมิธ, แหม่มไมรา, วิลเบอร์ โจนส์ ฯลฯ การผจญภัยของพวกเขา เช่น ป่าช้าช้าง สัตว์ร้ายพันธุ์ต่าง ๆ ไปจนถึงสัตว์ประหลาด เช่น ครุฑ และบางเรื่องก็เหนือธรรมชาติ พิลึกกึกกือ ผจญภัยไปตามที่ต่างๆ ทั้งป่าไทยและป่าต่างประเทศ

จะเห็นว่า ล่องไพร และ เพชรพระอุมา เป็นนิยายแนวเดียวกัน แต่จุดที่จะชี้คือความแตกต่างของสองเรื่องนี้ในประเด็นซัพพล็อต

การผจญภัยแต่ละตอนของ ล่องไพร และ เพชรพระอุมา มีองค์ประกอบและวิธีเดินเรื่องคล้ายกัน ทว่าแต่ละตอนของ เพชรพระอุมา (เช่น การต่อสู้กับพวกสางเขียว เรื่องผีดิบมันตรัย) จัดเป็นซัพพล็อต ส่วนแต่ละตอนของ ล่องไพร (เช่น เรื่องของมนุษย์นาคา, เมืองลับแล, เทวรูปชาวอินคา) ไม่จัดเป็นซัพพล็อต

ทำไม?

ก็เพราะทุกตอนของ เพชรพระอุมา โยงเข้ากับแกนกลางของเรื่องคือการตามหาคนหาย แต่ทุกตอนของ ล่องไพร เป็นเรื่องเอกเทศในตัวมันเอง แต่ละเรื่องถือเป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยายขนาดสั้นที่สมบูรณ์ในตัวมันเอง จึงไม่ถือว่าเป็นซัพพล็อต ซัพพล็อตส่วนใหญ่เสียบกับแกนหลักเรื่องก่อนจึงจะสมบูรณ์

แต่นี่ไม่ใช่กฎเกณฑ์ตายตัว เพราะนักเขียนสามารถเปลี่ยนกฎได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่นนวนิยาย ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ผมเล่าเรื่องซัพพล็อตจำนวนสิบเอ็ดเรื่องมาเสียบกับแกนหลักเหมือน เพชรพระอุมา ทว่าแต่ละซัพพล็อตเป็นเรื่องสั้นเอกเทศเหมือนใน ล่องไพร ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน จึงเป็นทั้งซัพพล็อต, รวมเรื่องสั้น และนวนิยายเป็นไปในตัว

ในนวนิยาย ปีกแดง ผมทดลองดึงซัพพล็อตแยกออกมาเป็นเรื่องสั้นเอกเทศ ยกตัวอย่าง เช่น ในฉากหนึ่งตัวละครหลัก รุจน์ รุจิเรข เดินเท้ากลับกรุงเบอร์ลิน เขาผ่านผู้หญิงชุดขาวคนหนึ่ง หล่อนสะดุดก้อนหินล้มลง เขายื่นมือออกไปฉุดหล่อนขึ้นมา หล่อนเอ่ยคำขอบคุณและเดินจากไป ตัวละครหญิงคนนี้ไม่มีความสำคัญต่อเรื่องแต่อย่างไร แต่ผมทดลองเขียนเรื่องราวชีวิตของตัวละครหญิงคนนี้แยกออกมาต่างหากในรูปเรื่องสั้นชื่อ ผู้หญิงชุดขาวที่เดินออกจากเบอร์ลิน นี่คือซัพพล็อตที่ทำหน้าที่เป็นสิ่งที่เรียกว่า Story Within Story

ในกรณีของนวนิยาย นักเขียนที่เชี่ยวชาญเรื่องการแต่งซัพพล็อตและ Story Within Story ในระดับเซียนก็หนีไม่พ้นกิมย้ง ดังนั้นหากจะศึกษาเรื่องนี้ ก็ต้องศึกษางานของกิมย้ง



เรื่องส่วนใหญ่ของกิมย้งยาวมาก ในที่นี้จึงยกนวนิยายขนาดกลางเรื่องหนึ่งของเขามาเป็นตัวอย่างศึกษา คือ กระบี่ใจพิสุทธิ์ เหตุผลคือนอกจากจะใช้ศึกษาการวางซัพพล็อต จะใช้ว่าเรื่องกระเด็นการลอกและแรงบันดาลใจ (ซึ่งจะว่ากันในโอกาสต่อไป)

เรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน South East Asia Weekly ปี 1963 ใช้ชื่อว่า ซู่ซินเจี้ยน (ซู่ซิมเกี่ยม / กระบี่ใจพิสุทธิ์) จำได้ว่าพ่อผมก็อ่านเมื่อเรื่องนี้ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า ในเมืองไทย จำลอง พิศนาคะ แปลในชื่อ มังกรแก้ว ต่อมากิมย้งเปลี่ยนชื่อเป็น เลี่ยงเซี้ยก๊วก ภาษาไทยตั้งชื่อว่า หลั่งเลือดมังกร ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น กระบี่ใจพิสุทธิ์ ตามชื่อแรก

กระบี่ใจพิสุทธิ์ เป็นนวนิยายที่พูดถึงกันน้อยกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งที่เป็นงานวางพล็อตที่ดีมากเรื่องหนึ่ง เรื่องไม่ยาวนัก แต่ลงตัว ได้อารมณ์สะเทือนใจ

ทว่าก่อนเข้าเรื่อง กระบี่ใจพิสุทธิ์ มีศัพท์สองคำที่นักเขียนควรรู้ คือ protagonist กับ antagonist

protagonist คือตัวละครหลัก มักเป็นพระเอกของเรื่อง

antagonist คือคู่ตรงข้ามกับตัวละครหลัก อาจเป็นศัตรูหรือคิดตรงข้ามกับ protagonist อาจเป็นกลุ่มคน สถาบัน องค์กร ที่เป็นคู่ตรงข้ามกับ protagonist

ในเรื่อง มังกรหยก ภาคหนึ่ง protagonist คือ ก๊วยเจ๋ง antagonist คือเอี้ยคังและผู้ร้ายคนอื่นๆ

ในนวนิยาย เจมส์ บอนด์ protagonist คือ เจมส์ บอนด์ antagonist คือตัวร้าย เป็นต้น

ทีนี้มาว่ากันถึงตัวอย่างเรื่อง กระบี่ใจพิสุทธิ์

(ตรงนี้มีสปอยเลอร์)

ใน กระบี่ใจพิสุทธิ์ protagonist ของเรื่องคือ เต๊กฮุ้น เป็นหนุ่มบ้านนอก ลูกศิษย์ของอาจารย์เช็กเชี่ยงฮวด เต็กฮุ้นรักกับเช็กฮวง ลูกสาวอาจารย์ ทั้งสามเดินทางไปงานวันเกิดของบ้วนจิ้นซัว ในงานเกิดการวิวาทกัน อาจารย์ของเขาแทงบ้วนจิ้นซัว แล้วหลบหนีไป ส่วนเต๊กฮุ้นถูกใส่ความว่าขโมยของและข่มขืนภรรยาน้อยของบ้วนจิ้นซัว ถูกทางการจับไปเข้าคุก ร้อยโซ่ที่ไหปลาร้าจนพิการ เช็กฮวงเสียใจที่เต๊กฮุ้นลวนลามหญิงอื่น จึงเริ่มถอนหัวใจจากเขา

ในคุกนั้นเต็กฮุ้นพบนักโทษคนหนึ่งชื่อ เต็งเตียน ถูกขังในห้องของเดียวกัน ทุกเดือนเต็งเตียนถูกผู้คุมลากตัวไปซ้อม เมื่อกลับมาก็ซ้อมเต็กฮุ้นระบายอารมณ์

วันหนึ่งเต็กฮุ้นได้ข่าวว่าคนรักแต่งงานกับลูกชายของบ้วนจิ้นซัว เขารู้สึกหมดหวังในชีวิต จึงผูกคอตาย เต็กฮุ้นสิ้นลม แต่ก็ฟื้นขึ้นมา เพราะเต็งเตียนใช้พลังลมปราณซิ้นเจียวเก็งช่วยเขาฟื้นจากความตาย เต็งเตียนบอกว่า เต็กฮุ้นฆ่าตัวตายในเวลาที่พอเหมาะ เพราะหากเป็นเมื่อหลายเดือนก่อน ก็ช่วยไม่ได้ เพราะยังฝึกวิชาลมปราณไม่สำเร็จ

เต็งเตียนมีประสบการณ์ในวงการยุทธจักร ชี้ให้เต๊กฮุ้นเห็นว่าทำไมแค่ถูกกล่าวหาว่าขโมยของและล่วงเกินภรรยาน้อยของบ้วนจิ้นซัว จึงต้องโทษถึงขนาดใช้โซ่ร้อยไหปลาร้าจนพิการ โทษใช้โซ่ร้อยไหปลาร้านั้นเป็นของนักโทษคดีอุฉกรรจ์ ไม่ใช่คดีธรรมดา เห็นชัดว่าเป็นการวางแผนใส่ความเต๊กฮุ้น หมายให้เขาตายในคุก และเจตนาสำคัญคือใช้เขาล้วงความลับจากเต็งเตียน

ตั้งแต่นั้นเต็งเตียนสอนวิชาให้เขา แล้วทั้งสองก็แหกคุกออกไป เต็งเตียนไปหาคนรักนาม เล้งซึงฮั้ว แต่พบว่านางตายแล้ว ด้วยความเศร้าใจ เต็งเตียนกอดรัดหีบศพ และถูกพิษบนโลงศพเสียชีวิต

เต๊กฮุ้นนำศพของเต็งเตียนไปฝังไว้คู่กับเล้งซึงฮั้ว และพบความลับในโลงศพของนาง ภายในฝาโลงชั้นในมีรอยขีดด้วยเล็บของนางก่อนตาย เป็นเคล็ดวิชาหนึ่ง

เต๊กฮุ้นออกไปเผชิญโลกตามลำพัง พบตัวละครใหม่ๆ อีกหลายคน เช่น หลวงจีนป้อเฉีย นิกายดาบโลหิต ซึ่งเป็นศัตรูของเต็งเตียน, หลวงจีนฮวยตอเล่าโจ๊ว, หญิงสาวนาม จุ้ยเซ็ง ฯลฯ ในที่สุดก็พบความลับของซู่ซิมเกี่ยม รวมทั้งคลี่คลายปริศนาการหายไปของอาจารย์

นี่เป็นแกนเรื่องหลัก หรือกิ่งมะยมกิ่งใหญ่

ส่วนซัพพล็อต (ลูกมะยม) ที่เสียบเข้ามามีมากมาย เช่น ซัพพล็อตความรักของเต็งเตียนกับเล้งซึงฮั้ว, ซัพพล็อตความลับในโลงศพ, ซัพพล็อตเต็งเตียนพบอาจารย์ของเต๊กฮุ้นกับศิษย์ร่วมสำนักอื่นๆ

ยกตัวอย่างซัพพล็อตความรักของเต็งเตียนกับเล้งซึงฮั้วซึ่งเขียนได้ดี กระชับ และซาบซึ้ง ฉากของเรื่องคืองานดอกเบญจมาศที่ตลาดเมืองฮันเค้า เต็งเตียนพบหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ เล้งซึงฮั้ว ผู้มาชมดอกเบญจมาศ ทั้งสองถูกเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยความสนใจในดอกไม้เหมือนกัน กิมย้งบรรยายฉากดอกเบญจมาศได้อย่างงดงามจนเห็นภาพ ทั้งสองตกหลุมรักกัน

ซัพพล็อตนี้ทำหน้าที่บอกว่าเต็งเตียนรักกับเล้งซึงฮั้ว การออกแบบเรื่องรักโดยใช้ฉากงานดอกเบญจมาศเป็นเรื่องเอกเทศเรื่องหนึ่ง ดังนั้นจะเปลี่ยนฉากเป็นตลาดดอกทานตะวัน ดอกมะลิ ตลาดทุเรียน ลำไย เงาะ หรือจะเป็นชนบท เมือง ร้านขายหมู โรงเตี๊ยม หรือป่าเขาที่ไหนก็ได้ ไม่กระทบกับแกนเรื่องหลัก สาระยังเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่จบในตัว ต้องเอาไปเสียบกับแกนหลักของเรื่องก่อน จึงจะได้ความครบถ้วน นั่นคือความรักของทั้งสองส่งผลให้เต็งเตียนต้องเข้าคุก แล้วจึงได้พบกับเต๊กฮุ้น แล้วโยงเข้ากับซัพพล็อตอื่นๆ เช่น เต็งเตียนพบอาจารย์ของเต๊กฮุ้นกับศิษย์ร่วมสำนักอื่นๆ

จะเห็นว่าเมื่อแกนเรื่องชัดเจน จะใส่ซัพพล็อตมากเท่าไรก็ได้ แต่ต้องเชื่อมกันให้เนียน

หลักการง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะมีกี่ซัพพล็อต โยงมันเข้ากับแกนกลางเรื่องเสมอ

ถ้าซัพพล็อตนั้นไม่สามารถเสียบเข้ากับแกนกลาง ก็เพราะซัพพล็อตนั้นเป็นส่วนเกินของเรื่อง ควรพิจารณาตัดมันทิ้งไป

ปัญหาของนวนิยายจำนวนมากคือสร้างซัพพล็อตที่ไม่เกี่ยวกับแกนเรื่องหลัก เป็นซัพพล็อตลอยๆ นึกจะใส่ก็ใส่เข้าไป โดยไม่สนใจว่ามันส่งผลต่อแกนเรื่องหลักอย่างไร หรือบางทีก็ส่งผลเพียงเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น แต่งซัพพล็อตยาวสามสิบหน้าเพื่ออธิบายที่มาของชื่อเล่นนางเอก ถ้าชื่อเล่นของนางเอกไม่สำคัญต่อแกนหลักของเรื่อง ก็ควรตัดซัพพล็อตนี้ทิ้งไปเสีย หรืออธิบายเพียงบรรทัดเดียวก็ได้ เช่น “หล่อนมีชื่อเล่นว่า หนูนา เพราะในวันที่หล่อนเกิด หนูนาตัวหนึ่งวิ่งตัดหน้าแม่” ไม่ต้องเล่าว่าหนูนาตัวนั้นเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ตัวใหญ่ขนาดไหน อายุเท่าไร อาศัยอยู่ตรงไหนของท้องนา เป็นหนูนาพันธุ์ไหน มีบรรพบุรุษเป็นหนูจากเทือกเขาอัลไต หรือเกิดแถวแหลมทองนี่เอง

นักเขียนทุกคนในโลกมีปัญหาตัดใจยาก! เขียนพล็อตมาแทบตาย จะให้ตัดทิ้งไปง่ายๆ ทำไม่ได้! จากประสบการณ์ ผมขอแนะนำว่าอย่าเสียดาย ถ้ามันไม่เกี่ยวกับเรื่อง เจี๋ยนมันทิ้งไปเลย แต่เก็บท่อนที่ตัดไว้ในฐานข้อมูล อาจได้ใช้ในโอกาสหน้า

แม้กระทั่งกิมย้งก็มีปัญหาสร้างซัพพล็อตที่ไม่จำเป็น ตัวอย่างคือ มังกรหยก ภาคหนึ่ง เรื่องนี้มีซัพพล็อตมากมายที่ไม่จำเป็นต้องดำรงอยู่ เช่น นกสีแดง, ฉากกองทัพกบสู้กองทัพคางคก, บทบาทของฉิ่งน่ำคิ้มซึ่งถูกเอี้ยคังข่มขืนจนได้ลูกคือเอี้ยก้วย ฯลฯ

ในการปรับปรุงนวนิยายทั้งหมดของเขาตั้งแต่ปี 1972 กิมย้งตัดซัพพล็อตที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ออกไปหมด เพราะมันรุงรัง ตัวละครฉิ่งน่ำคิ้มถูกตัดออก แล้วย้ายบทบาทของนางไปให้มกเนี่ยมชื้อ ทำให้เรื่องรัดกุมขึ้นมาก



การเชื่อมซัพพล็อตเข้ากับแกนหลักให้เนียนเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะดีขึ้นหากเชื่อมซัพพล็อตหนึ่งเข้ากับซัพพล็อตอื่นๆ ด้วย จะทำให้โครงเรื่องแข็งแรงขึ้น เปรียบเหมือนการสร้างบ้าน ก่อกำแพงอิฐขึ้นมาชิดเสาก็อยู่ แต่จะแข็งแรงขึ้นหากเชื่อมกำแพงนั้นกับเพดานหรือหลังคาด้วย

วิธีหนึ่งของการเชื่อมซัพพล็อตหนึ่งกับซัพพล็อตอื่นๆ คือเชื่อมองค์ประกอบในซัพพล็อตหนึ่งเข้ากับองค์ประกอบในซัพพล็อตอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่อง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน จ่าตุ้ยขี่จักรยานยนต์ไปซุ่มรอเสือย้อยในฉากแรกของตอน 2476 ครั้นถึงตอน 2495 ตุ้ยก็ขี่จักรยานยนต์คันเดียวกันตามผู้ต้องสงสัยไปกาญจนบุรี แต่ตามไม่สำเร็จเพราะมอเตอร์ไซค์พังเสียก่อน ทั้งสองเหตุการณ์ (ตอน 2476 กับ 2495) ไม่เกี่ยวกัน แต่ใช้จักรยานยนต์เป็น ‘กาว’ เชื่อม ทำให้มีเหตุผลรองรับว่าที่ตามผู้ต้องสงสัยไม่สำเร็จเพราะมอเตอร์ไซค์เก่ามาก ใช้มานานกว่ายี่สิบปี และทำให้จักรยานยนต์ไม่ใช่ส่วนเกินของเรื่อง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด Breaking Bad เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างซัพพล็อตที่ไม่เป็นส่วนเกินของเรื่อง ไม่ว่าจะสร้างองค์ประกอบและซัพพล็อตอะไร ก็โยงเข้าหาแกนกลางเสมอ ทำให้เรื่องแน่น ไม่มีไขมัน ไม่มีส่วนเกิน นอกจากนี้ยังเชื่อมซัพพล็อตกับซัพพล็อตเสมอ

(ตรงนี้มีสปอยเลอร์)

ในเรื่องนี้ตัวละครหลักคือ วอลเทอร์ ไวท์ (Walter White) เป็นครูสอนวิชาเคมี วันหนึ่งเขาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งขั้นร้ายแรง จึงคิดหาเงินสักก้อนให้ครอบครัว เขาผลิตยาเสพติดออกขาย ใช้นามปลอมว่า ไฮเซนเบิร์ก

(ในกรณีของ วอลเทอร์ ไวท์ เราอาจไม่จัดเขาเป็น protagonist อาจเข้าข่าย antagonist มากว่า เพราะบทคนร้ายของเขา บางทีเราเรียกตัวละครแบบนี้ว่า anti-hero)

วอลเทอร์ ไวท์ มีน้องเขยชื่อ แฮงก์ เป็นเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด แฮงก์ตามล่าไฮเซนเบิร์กมานานโดยที่ไม่รู้ระแคะระคายเลยว่า ไฮเซนเบิร์กก็คือญาติของตนนั่นเอง

วอลเทอร์ ไวท์ มีเพื่อนร่วมงานปรุงยาคนหนึ่งซึ่งชื่นชมเขามาก จนเขียนในสมุดบันทึกส่วนตัวว่าชื่นชม WW (Walter White) มาก เพื่อนร่วมงานคนนี้ก็ยังชอบบทกวีของ Walt Whitman และเขียนลงในสมุดบันทึกด้วย

วันหนึ่งเมื่อเพื่อนร่วมงานคนนี้ถูกยิงตาย สมุดบันทึกเล่มนี้ก็เดินทางไปถึงมือของแฮงก์ซึ่งพยายามเดาว่า WW ย่อมาจากชื่อใคร

แฮงก์บอกวอลเทอร์ว่า “WW อาจย่อมาจาก Willy Wonka, Woodrow Wilson หรือ...” แล้วมองตาเขา “...Walter White?”

Walter White ตอบยิ้มๆ ว่า “You got me!” (โดนจับได้จนได้ว่ะ!) ญาติก็หัวเราะ เพราะเห็นเป็นเรื่องเล่น

“You got me!” เป็น decoy เบี่ยงความสนใจออกไปที่อื่น แต่จะให้ decoy นี้ทำงานดีขึ้น ก็ต้องรองรับด้วยเหตุผล ในกรณีนี้ให้ตัวละคร Walter White บอกว่า ดูจากสมุดบันทึกเห็นชัดว่าคนเขียนชอบบทกวีของ Walt Whitman ฉะนั้น WW ก็คือ Walt Whitman นั่นเอง

นักเขียนไม่มีทางสร้างโครงเรื่องอย่างนี้ได้ถ้าเขียนซัพพล็อตตามสบายไปเรื่อยๆ หากตั้งชื่อตัวละครหลักแต่แรกว่า David White หรือ John Black ก็ใช้ซัพพล็อต WW มาเชื่อมด้วยกันไม่ได้

การจะเขียนเรื่องแบบเชื่อมสองซัพพล็อตที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกันให้เกี่ยวกันได้ ต้องวางแผนมาล่วงหน้า เราจะสังเกตได้ว่างานเขียนนวนิยายขนาดยาวที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ นั้น การเชื่อมซัพพล็อตกับซัพพล็อตมีข้อจำกัดอย่างยิ่ง เพราะนักเขียนไม่มีโอกาสไปแก้ซัพพล็อตแรกที่ตีพิมพ์ไปแล้ว หรือ establish ฐานของซัพพล็อตหลัง ซัพพล็อตต่างๆ ของเรื่องจึงไม่ค่อยรวมกลุ่มกัน ซัพพล็อตมักผูกเฉพาะกับแกนกลาง แต่ไม่ผูกระหว่างซัพพล็อตด้วยกัน

ด้วยเหตุนี้ การทำงานโดยวางโครงหลักของพล็อตและซัพพล็อตทั้งหลายก่อนหรือเขียนเสร็จทั้งหมดก่อนส่งโรงพิมพ์จึงมีข้อดีตรงนี้



วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

19 กรกฎาคม 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น