จาก : เรือนไทยดอทคอม http://www.reurnthai.com/index.php?topic=917.0;wap2

ดร.แพรมน และ นายตะวัน:
ุสำหรับนักวิจารณ์ ..ึคุณเทาชมพูมีัเรื่องเล่ามาฝากเจ้าคะ

«  เผื่อนักวิจารณ์จะเผลอ  »

   ระบบการศึกษาของเรานั้นเป็นระบบที่เอาความจำเป็นเกณฑ์ เริ่มกันมาตั้งแต่อนุบาลแล้ว ดังนั้นเพื่อจะทดสอบเด็กนักเรียนว่าจำได้ดีแค่ไหน ตำราและครูผู้สอนจึงต้องเลือกหาคำตอบที่ถูกต้องเอาไว้ให้เด็กจำ ที่ผิดก็สอนว่าอย่าไปจำ เด็กของเราก็เลยชินกับการเรียนและตำราชนิดที่บอกว่าอย่างนี้น่ะถูกนะ อย่างนั้นน่ะผิดนะ มาจนกระทั่งถึงมหาวิทยาลัย

   พอถึงมหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษาที่น่าสงสารจำนวนหนึ่งต้องมาเรียนวิชาวรรณคดีจะเป็นเพราะถูกบังคับให้เรียนตามหลักสูตรหรือว่าสมัครใจก็ตาม ทีนี้ก็เลยพิศวงงงงวยไปตามๆกัน เมื่ออาจารย์ผู้สอนไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดมาให้เห็นกันเท่าไร โดยมากจะมีทฤษฎีนั้นทฤษฎีนี้มาสอน แล้วทฤษฎีเหล่านี้ก็ขัดแย้งกันเอง หรือไม่ครูต่อครูก็ขัดแย้งกัน หรือตัวอย่างการวิจารณ์นวนิยายเรื่องเดียวกันมีเนื้อหาแตกต่างกันในบทความวิจารณ์เหล่านั้นแทบเหล่านั้นแทบจะเรียกได้ว่าหน้ามือเป็นหลังมือ นักศึกษาบางคนงงงวยมาจนกระทั่งจบเป็นบัณฑิตสอบเข้าเรียนต่อปริญญาโท เพื่อจะหอบเอาความงงงวยนั้นมาเป็นมหาบัณฑิตต่อไป

   ทั้งนี้เพราะอะไร?

   เพราะว่าวรรณคดีวิจารณ์ไม่ใช่การท่องสูตรคูณ ไม่ใช่การหาส่วนผสมทางเคมี ซึ่งจะมีคำตอบตายตัว วรรณคดีวิจารณ์เป็นเรื่องของความคิดเห็นนักวิชาการร้อยคนเห็นไปร้อยอย่าง นักวิจารณ์อีกสองร้อยคนก็เห็นไปอีกสองร้อยอย่าง ครูผู้สอนมีหน้าที่ตะล่อม กวาด เก็บเอาความเห็นแตกต่างชนิดร้อยพ่อพันแม่พวกนี้เข้ามาตั้งเป็นหลัก เป็นทฤษฎี แล้วสอนให้นักศึกษาช่วยกันคิด เพื่อจะได้ความเห็นเพิ่มขึ้นอีกเป็นสามร้อยอย่างต่อไป

   ถ้านักศึกษาคนไหนไม่เป็นบ้าไปเสียก่อน ก็จะบรรลุได้ในที่สุด

   จึงมีหน้าที่ปลอบนักศึกษามาหลายรุ่นแล้วว่า ถ้าหากว่าเรียนแล้วชักรู้สึกว่างงๆก็แปลว่าคลำถูกทางแล้ว ถ้าเรียนต่อไปจะรู้สึกว่าสนุก ความคิดอ่านจะกว้างขวางขึ้น จิตใจเป็นประชาธิปไตยขึ้น รู้สึกว่ามีอะไรอีกหลายอย่างเหลือเกินที่ยังเปิดกว้างให้เรียนรู้อีก คิดอีกไตร่ตรองอีก อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งเมื่อไรรู้สึกว่าตัวเรานี้แทบจะไม่รู้อะไรเลย เป็นอณูเพียงอณูเดียวท่ามกลางมหาสมุทรแห่งความคิดทั้งหมดนั่นแหละ แสดงว่ามองเห็นปรมัตถ์อยู่รำไรแล้ว

   ที่กล่าวอย่างนี้ เพราะต้องการปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่นในความคิดเดียว ตำราเล่มเดียว หรือคำสอนของครูบาอาจารย์คนเดียว หากแต่ต้องยอมรับความหลากหลายในด้านความคิดเห็น อย่าเพิ่งไปสับโครมลงไปว่าความคิดนี้ถูก ความคิดนั้นผิด ต้องใช้วิจารณญาณดูก่อน จะต้องเผื่อเนื้อที่ในสมองด้วยว่า บางทีก็ไม่มีถูกไม่มีผิด เป็นเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง

   แต่ว่า…

   การเรียนวรรณคดีวิจารณ์เป็นการเรียนความคิดเห็นก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเที่ยวเก็บกวาดเอาความเห็นในกองขยะที่ไหนก็ได้เข้ามาหมด เนื่องจากความคิดนั้นก็มีระดับแตกต่างกันเหมือนไอ.คิว.ของมนุษย์ คือมีสูงบ้างต่ำบ้าง ฉลาดสุขุมบ้าง โง่บ้าง ตื้นบ้างลึกบ้าง ต้องเอามาไตร่ตรองแยกแยะอีกทีหนึ่ง

   ต้องแถมท้ายเอาไว้ก่อน ก่อนที่การวิจารณ์จะกลายเป็นการเพ้อเจ้อตามใจชอบ เพราะถึงอย่างไร มันก็เป็น “ศาสตร์” ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาด้วยความยากลำบาก ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์เสียเลยก็จะเป็น “ศาสตร์”ไปไม่ได้ เป็นได้แต่ความคิดฟุ้งซ่านเท่านั้นเอง

   นักวิจารณ์คนหนึ่งชื่อ Allen Rodway ได้สรุปข้อผิดพลาดบางอย่างในการวิจารณ์เอาไว้ เพื่อเตือนใจนักวิจารณ์ที่ยังไม่รู้ หรือนักศึกษาที่เข้าใจผิด ว่าอย่าเอาข้อผิดพลาดต่างๆต่อไปนี้มาเป็นเกณฑ์ในการวิจารณ์นวนิยายและเรื่องสั้น   จึงเห็นว่าบทความชื่อ What the Critics Really Need ของเขาน่าสนใจดี แม้ว่าไม่ถึงกับเป็นความคิดแปลกใหม่อะไร เรียกได้ว่านักวิจารณ์ฝรั่งก็พอจะรู้ๆกันอยู่ แต่เขาก็สรุปได้กะทัดรัด จึงขอถอดความกันมาให้อ่าน โดยยกตัวอย่างจากนวนิยายและเรื่องสั้นของไทย เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพกันง่ายหน่อย

   เขาได้แจกแจงความยึดมั่นถือมั่นที่ผิดๆหลายข้อเอาไว้เพื่อเตือนสตินักวิจารณ์ ไม่ให้เผลอคิดดังต่อไปนี้

   ๑. อย่าเห็นว่านวนิยายและเรื่องสั้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าเต็มไปด้วยคำสั่งสอนทางด้านศีลธรรม ศาสนา หรือว่าชาตินิยม และอย่าเพิ่งเห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องไม่ดี เพราะว่าตัวละครประพฤติผิดศีลธรรมแล้วฟ้าดินไม่ยักลงโทษ หรือว่าไม่มีข้อสั่งสอนอบรมนางเอกในเรื่องให้รู้จักรักนวลสงวนตัว หรือว่ายังปล่อยให้พระเอกของเรื่องติดเหล้าจนตายไปในตอนจบแทนที่จะรักษาจนหายแล้วจึงค่อยจบ นวนิยายและเรื่องสั้นที่สั่งสอนศีลธรรมกันอย่างน้ำไหลไฟดับ อาจจะเขียนด้วยภาษาที่เลว ตัวละครแข็งทื่อเหมือนหุ่นกระบอก เนื้อเรื่องกับคำสั่งสอนไม่ได้กลมกลืนกันแม้แต่น้อย ก็มีอยู่มากมาย

   ถ้าหากว่านักวิจารณ์ยึดข้อนี้เป็นเกณฑ์ ก็จะต้องถือว่า หญิงคนชั่ว ของ ก.สุรางคนางค์ เป็นเรื่องไม่ดี กระเช้าสีดา ของ กฤษณา อโศกสินก็เป็นเรื่องไม่ดีเช่นกัน และยิ่ง จัน ดารา เห็นจะต้องห้ามอ่านกันทีเดียว

   ๒. อย่าเห็นว่านวนิยายและเรื่องสั้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งดีหรือไม่ดี เพราะว่ามันสะท้อนให้เห็นเหตุการณ์สำคัญๆร่วมสมัยหรือไม่ เช่นนวนิยายสมัยงครามโลกครั้งที่สองน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หรือนวนิยายที่แต่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕–๒๔๘๐ น่าจะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประเด็นสำคัญ หรือถ้าเรื่องสั้นเรื่องไหนที่แต่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖–๒๕๑๙ แล้ว ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอน ๑๔ ตุลาฯ และ ๖ ตุลาฯ เอาไว้ก็เป็นเรื่องใช้ไม่ได้ ทั้งหมดนี้ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะว่านักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นนั้นไม่ใช่นักเขียนพงศาวดาร หรือนักเขียนตำราประวัติศาสตร์

   ถ้าหากว่านักวิจารณ์เผลอเอาข้อนี้มาเป็นหลักเกณฑ์ นวนิยายหลายเรื่องของ “ดอกไม้สด” จะต้องสอบไม่ผ่าน เพราะว่าสังคมไทยในสมัยที่เธอแต่งนวนิยายเหล่านี้ล้วนแต่มีเหตุการณ์สำคัญๆทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นอย่างมากมาย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หกไปจนถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ไม่ว่าความผันผวนในสังคมชีวิตจริงจะเกิดขึ้นมากมายอย่างไร โลกนวนิยายของ “ดอกไม้สด” คือโลกที่ตัวละครนั่งสนทนากันในบ้านอย่างเงียบเชียบ ขับร้องเพลงไทยเดิม เล่นแบดมินตันกันที่สนามหน้าบ้าน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเหตุการณ์เล็กๆภายในครอบครัว มีผลกระทบคนไม่กี่คนในเรื่อง แต่ว่านวนิยายของ ”ดอกไม้สด” ก็ยังเป็นนวนิยายที่ยืนยาวมาจนทุกวันนี้ เพราะ “ความจริง” ที่เธอเสนอนั้นคือ ความจริงในแก่นแท้ ในสันดานของมนุษย์ ไม่ว่าตัวละครอย่างคุณหญิงพลวัต ใน ผู้ดี วไลใน ความผิดครั้งแรก หรือศัลยา ใน นี่แหละโลก ล้วนเป็นตัวละครที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่ามีเลือดเนื้อและลมหายใจยังอยู่ในความรู้สึกของผู้อ่านมาจนปัจจุบันนี้ ขณะที่เหตุการณ์ในสังคมเกิดขึ้นและจบสิ้นลงไปแล้ว

    (ถ้าหากว่าท่านผู้อ่านสงสัยว่าในข้อนี้ ร้อดเวย์เขายกนักเขียนคนไหนเป็นตัวอย่าง ก็ขอตอบว่าเขายกเจน ออสเตน ขึ้นมา ดังนั้นจึงนำมาเทียบกับ “ดอกไม้สด”)

   ๓. อย่าแก่ตีความทางจิตวิทยาหรือเอาความคิดของนักวิจารณ์เองเป็นที่ตั้งเสียจนกระทั่งลืมสนใจไปว่านักเขียนเขาคิดอย่างไร ข้อนี้นักวิจารณ์ไทยอาจจะมีกันน้อยกว่าฝรั่ง เพราะว่าเราไม่ได้เล่นทางด้านการวิจารณ์เชิงจิตวิทยากันนัก หมายความว่านักวิจารณ์บางคนก็ตั้งหน้าตั้งตาจะตีความว่า จิตใต้สำนึก ของนักเขียนเป็นอย่างไร เสียจนไม่ได้มองว่าเรื่องที่นักเขียนเขาตั้งใจจะบอกนั้นคืออะไรอย่างเช่น พยายามจะอธิบายให้ได้ว่า ข้างหลังภาพ ของ “ศรีบูรพา” เป็นเรื่องที่ผู้เขียนแสดงจิตใต้สำนึกทางประชาธิปไตย โดยไม่ได้สนใจเลยว่าจิตใต้สำนึกของ ”ศรีบูรพา” ในเรื่องนี้มุ่งแสดงความรักตามธรรมชาติของชายหญิง และค่านิยมร่วมสมัยบางประการ

   ๔. อย่าตัดสินความดีหรือไม่ดีของนวนิยายหรือเรื่องสั้น ด้วยการเอาไปเทียบกับข้อเท็จจริง ยกเว้นแต่นักเขียนบิดเบือนข้อเท็จจริงบางประการในสังคมศาสนา หรือเหตุการณ์บางเหตุการณ์ จนกระทั่งทำให้การสรุปผลหรือแสดงผลนั้นผิดพลาดไปได้  เช่นบิดเบือนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ด้วยความจงใจ เพื่อจะให้เกิดผลดีกับตัวละคร แต่นอกจากข้อนี้แล้วนักเขียนย่อมมีอิสระในการสร้างโลกในจินตนาการของตนเอง แม้ว่าจะสร้างอยู่ในนวนิยายสมจริงก็ตาม

   ถ้านักวิจารณ์ยึดมั่นข้อนี้ ก็จะต้องตีความว่า ขุนช้างขุนแผน เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงอยู่มาก แม้แต่เรือนขุนช้างที่ขุนแผน “โจนลงกลางชานร้านดอกไม้” นั้น ก็ไม่ดีในข้อที่ว่าเป็นเรือนไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี่เอง ทั้งที่เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ถือกันว่าเป็นเรื่องสมัยแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ.๒๐๓๔–๒๐๗๒)

   ๕. อย่ายึดถือรูปแบบหรือว่าเนื้อหาอย่างตายตัว มีอยู่สมัยหนึ่ง นักวิจารณ์ถือกันว่าถ้านวนิยายหรือเรื่องสั้นเรื่องใดไม่มีเนื้อหารับใช้ประชาชน ก็ถือกันว่าไม่ดี เพราะฉะนั้นเรื่องสมัยนั้นเลยมีซ้ำซากอยู่แนวเดียว จนกลายเป็น “สูตรสำเร็จ” ในที่สุด ก่อนหน้านี้ก็เคยเข้าใจผิดกันว่าเรื่องสั้นจะต้องมีการหักมุมในตอนจบ ตามแบบของ โอ.เฮนรี่ หรือ กีย์ เดอ โมปัสซังต์ เรื่องสั้นของไทยเมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อนจึงพากันหักมุมกันยกใหญ่ จนในที่สุดก็เลยเดาได้ว่าจะต้องหักมุมจบกันอย่างไร ไม่มีใครตื่นเต้นกับความไม่คาดคิดนั้นอีก

   ค่อยยังชั่วหน่อยที่ความยึดถือทั้งสองเรื่องนี้จางหายไปแล้ว นวนิยายและเรื่องสั้นในปัจจุบันจึงหายใจได้อย่างมีอิสระขึ้นกว่าเดิม

   ข้อนี้แม้แต่นักเขียนระดับโลกอย่าง ซอมเมอร์เซท มอห์ม ก็เคยพลาดมาแล้ว เพราะว่ามอห์มเคย “สับ” งานของเชคอฟว่า “ไม่ดี เพราะงานของเขาไม่มีโครงเรื่องที่แน่นอน”

   ๖. อย่าแบ่งชั้นวรรณะของนวนิยายและเรื่องสั้น ด้วยการถือว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนชั้นสูงจึงเป็นเรื่องน้ำเน่า” หรือว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนชั้นต่ำ เลยเป็นเรื่องกุ๊ย” นักเขียนย่อมมีอิสระในการเลือกเขียนชีวิตของคนที่อยู่ระดับใดก็ได้ในสังคมและมีอิสระในการแสดงแง่มุมทั้งที่สวยงามและน่าเกลียดน่าชัง

   สมัยหนึ่ง มารี คอเรลลีเคยโจมตี เอมิล โซล่าอย่างรุนแรงว่าเขียนแต่ “ความสกปรกโสมม ต่ำช้าน่าขยะแขยง”  ก็เพราะความเข้าใจผิดในข้อนี้ และครั้งหนึ่ง นักวิจารณ์คนไทยเคยออกความเห็นว่า “กวีไทยสมัยก่อนเอาแต่รับใช้ ‘วัง’ และ ‘วัด’” ก็ด้วยความเข้าใจผิดทำนองคล้ายคลึงกันนี้เอง

   ทั้งหมดนี้เป็นข้อสังเกตของนักวิจารณ์ฝรั่ง ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่า วรรณคดีวิจารณ์ในตัวของมันเองแล้วไม่ใช่เรื่องที่เอาไว้ว่ากัน

   แต่เป็นเรื่องที่เล่าสู่กันฟัง เผื่อว่านักวิจารณ์จะเผลอ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น