มาตามนัด ตอนที่ 9 แล้ว
บทความพิเศษ
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
กาเบรียล การ์เซีย...
: มาตามนัด ตอนที่ 9 แล้ว

บทความพิเศษ

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ กับการสร้างอัตลักษณ์วรรณกรรมละตินอเมริกัน (9)

เวลาเชิงประวัติศาสตร์และเวลาเชิงปกรณัม



การหลอมละลายโลกแห่งความจริงและโลกมหัศจรรย์ให้มารวมอยู่ในโลกเดียวกันที่มีนัยยะสำคัญยิ่งในนวนิยายเล่มนี้ที่ควรจะพิจารณาเป็นพิเศษและโดยพิสดารคือการควบอัดมิติของเวลาที่แบ่งเวลาเป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต เข้าด้วยกัน

อีกหลายปีต่อมา เมื่อเขายืนเผชิญหน้าแถวทหารในลานประหาร พันเอกออเรลิยาโนจะหวนรำลึกถึงบ่ายวันหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อพ่อพาเขาไปดูน้ำแข็งเป็นครั้งแรกในชีวิต (หน้า 9)

นี่คือประโยคเปิดเรื่องอันลื่อลั่นของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว แม้จะดูพื้นๆ แต่ก็เปิดประเด็นเรื่องเวลาได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะพบว่าตลอดทั้งเรื่อง การ์เซีย มาร์เกซ ได้ใช้วิธีการเล่าเรื่องทำนองนี้เป็นเสมือนบทสร้อย เพื่อบรรยายตัวละครและเหตุการณ์หลายตอนในเรื่อง เช่น

อีกหลายปีต่อมา ในชั่วเสี้ยววินาทีก่อนที่นายทหารจะออกคำสั่งให้แถวทหารลั่นไกปืน พันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา จะหวนรำลึกถึงยามบ่ายของวันอันอบอุ่นในเดือนมีนาคม เมื่อพ่อของเขาหยุดสอนวิชาฟิสิกส์ลงกลางคัน . . . (หน้า 20)

หล่อนเป็นคนสุดท้ายที่อาร์คาดิโอจะรำลึกถึงในอีกหลายปีต่อมา เมื่อเขายืนเผชิญหน้าแถวทหารในลานประหาร (หน้า 78)

อีกหลายปีต่อมา ขณะนอนรอความตายอยู่บนเตียง ออเรลิยาโน เซกุนโด จะหวนรำลึกถึงบ่ายวันฝนพรำในเดือนมิถุนายน เมื่อเขาเข้าไปในห้องนอนเพื่อดูหน้าลูกชายคนแรกของเขา (หน้า 152)



จะเห็นได้ว่า ประโยคเปิดเรื่องสั้นๆ เพียงประโยคเดียวนี้ได้บรรจุมิติของเวลา 3 แบบไว้ในที่เดียวกัน นั่นคือ อนาคต ("อีกหลายปีต่อมา") อดีต ("บ่ายวันหนึ่งนานมาแล้ว) และ ปัจจุบัน (เวลาปัจจุบันของการเล่าเรื่อง)

ในแง่ของเทคนิคการเล่าเรื่อง ประโยคเปิดเรื่องข้างต้นของ การ์เซีย มาร์เกซ มิได้เป็นการเล่าเหตุการณ์ล่วงหน้า (foreshadowing) หรือการเล่าเหตุการณ์ย้อนหลัง (flashback) แบบปกติดังเช่นที่เราคุ้นเคยดีในนวนิยายเรื่องอื่นๆ

โดยทั่วไป ในการเล่าเหตุการณ์ล่วงหน้าหรือเหตุการณ์ย้อนหลัง เรามักจะใช้เวลาในปัจจุบันเป็นจุดอ้างอิง เช่น "เสียงเพลงจากวิทยุที่สมชายได้ยินขณะขับรถไปทำงาน กระตุ้นให้เขาหวนนึกไปถึงวันแรกที่เขาพบสมทรงในร้านคอฟฟี่ช็อปสมัยยังเรียนหนังสืออยู่" (เล่าเหตุการณ์ย้อนหลัง) หรือ "เด็กเช็ดกระจกรถที่เดินรี่ไปยังรถสีแดงเพลิงคันนั้น เมื่อโตขึ้นเขาจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์" (เล่าเหตุการณ์ล่วงหน้า) เป็นต้น

แต่ในประโยคเปิดเรื่องของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว สิ่งที่กระตุ้นให้พันเอกออเรลิยาโน หวนระลึกไปถึงเวลาในวัยเด็ก มิใช่เหตุการณ์ในปัจจุบันแต่คือเหตุการณ์ในอนาคตเมื่อเขายืนอยู่ต่อหน้าแถวทหารที่กำลังจะยิงเป้าเขา

ด้วยวิธีการดังกล่าว การ์เซีย มาร์เกซ สามารถทำให้การเล่าเหตุการณ์ล่วงหน้ากลายมาเป็นการเล่าเหตุการณ์ย้อนหลังในเวลาเดียวกัน

ในแง่นี้ ประโยคเปิดเรื่องประโยคนี้สามารถจะควบอัดเวลาในปัจจุบัน อนาคต และ อดีต ให้หลอมรวมเป็นเวลาในชั่วขณะเดียวกันได้อย่างน่าทึ่ง เสมือนหนึ่งว่าเส้นที่แบ่งเวลาเป็น อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต ได้มลายหายไปโดยสิ้นเชิง

นี่นับเป็นลักษณะพิเศษของนวนิยายแนวนี้ และแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับนวนิยายแนวสัจนิยมที่อิงอยู่กับกรอบเวลาแบบเส้นตรงที่เราคุ้นเคยกันดี



ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ในประโยคดังกล่าว ปัจจุบันซึ่งเป็นเวลาอ้างอิงของเหตุการณ์ในอนาคตนั้น เป็นปัจจุบันที่ไม่ชัดเจนแน่นอน

เรารู้ว่า "อีกหลายปีต่อมา" แต่เราไม่รู้ว่าหลายปีของปีอะไร ผู้เล่าเรื่องมิได้ชี้ชัดลงไปว่า เวลาในปัจจุบันที่เขาเล่าถึงเหตุการณ์ในอนาคตและในอดีตนั้น อยู่ที่จุดไหนของเวลากันแน่

นี่นับว่าสวนทางโดยสิ้นเชิงกับสามัญสำนึก โดยปกติเราจะเชื่อว่า เวลาในปัจจุบัน ขณะนี้ บัดนี้ เดี๋ยวนี้ คือเวลาที่แน่นอนชัดเจนที่สุด ส่วนเวลาในอดีต หรือในอนาคต ต่างหากที่ยากจะจับต้องหรือชี้ชัดได้ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องของความทรงจำ (ในกรณีของอดีต) หรือการคาดการณ์ (ในกรณีของอนาคต)

ด้วยเหตุนี้ นอกจากจะควบอัดและสลายเส้นแบ่งระหว่าง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ให้กลายเป็นเวลาชั่วขณะเดียวกันแล้ว ประโยคเปิดเรื่องใน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ยังได้แปรให้เวลาในชั่วขณะนั้นกลายเป็นปัจจุบันอันชี้ชัดไม่ได้

หรือนัยหนึ่งคือการแปรเวลาเชิงประวัติศาสตร์ (historical time) ให้กลายเป็นเวลาเชิงปกรณัม (mythological time)



เอกสารอ้างอิง

มาร์เกซ, กาเบรียล์ การ์เซีย. หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว. แปลโดย ปณิธาน - ร.จันเสน. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์วลี, 2529.

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง "สัจนิยมมหัศจรรย์ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ และสุนทรียศาสตร์ของการต่อต้าน" โดยได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น