คัดลอกมาจากหนังสือจักรวาลปืน (ฝากให้อ่าน หนอนสนทนา)

เรื่องเพชรพระอุมาจบสมบูรณ์ลงในหนังสือจักรวาลปืน ฉบับ 290 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2533 ผู้ประพันธ์ได้นำเรื่องอินไซด์เพชรพระอุมาลงต่ออีก 5 ตอน คือฉบับที่ 291 -295 เป็นเรื่องเบื้องหน้าเบื้องหลังทั้งหมดที่เกี่ยวกับเพชระพระอุมา ตั้งแต่จุดดลใจ เค้าโครงเรื่อง ที่มาที่ไปของตัวละคร ฯลฯ

อินไซด์ เพชรพระอุมา
พนมเทียน?นิตยสาร จักรวาลปืน ฉบับที่ 291 30 มิ.ย. 33

มีท่านผู้อ่านเป็นจำนวนมาก เคยตั้งเป็นข้อสงสัยและถามมาว่า นวนิยายเรื่อง "เพชรพระอุมา" นั้น ผู้เขียนไปเอาอะไรที่ไหนมาเขียนได้มากมายก่ายกอง จนกลายเป็นเรื่องยาวเหยียด ซึ่งกินเวลานาน ทั้งฝ่ายผู้เขียนและฝ่ายผู้อ่าน เป็นเวลาถึง 25 ปี 7 เดือนเศษ เนื้อหาทั้งหมด รวมกันเป็นเล่มปกแข็งทั้งสามภาคแล้ว (ภาคหนึ่ง 24 เล่มปกแข็ง ภาคสอง 15 เล่นปกแข็ง และภาคสาม 14 เล่มปกแข็ง) รวมกันเป็นจำนวนถึง 53 เล่ม แต่ละเล่มบรรจุอยู่ในความหนาประมาณ 33 ยก (ขนาด 16 หน้ายก) เมื่อรวมทั้ง 53 เล่มแล้ว ก็เป็นจำนวนประมาณไม่น้อยกว่า 1759 ยก

นอกจากข้อสงสัยข้างบนนี้แล้ว ก็ยังมีข้อสงสัยต่อไปอีกว่า ตัวละครในเรื่องก็ดี หรือเหตุการณ์ต่างๆ ในเนื้อหาของเรื่องแต่ละบทแต่ละตอนก็ดี มีตัวตนจริงอยู่หรือไม่ ไปเก็บบุคลิกของตัวละครเหล่านั้นมาจากไหน หรือจินตนาการวาดมโนภาพขึ้นล้วนๆ และเหตุการณ์นั้นมีข้อเท็จจริงอยู่มากน้อยประการใดไปสรรหามาจากไหน เข้ามาประกอบโครงเรื่อง

เมื่อผมได้จบเรื่องราวของนวนิยาย (ซึ่งขอเรียกว่า "ชุด") ลงอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งสามภาคแล้ว จึงตัดสินใจว่า ควรจะเขียนเล่า-อธิบาย-เปิดเผย ถึงความจริง อันเกี่ยวกับเบื้องหลังงานเขียนชิ้นยาวที่สุดในชีวิตนี้ (แต่จะยาวที่สุดในประเทศไทย หรือยาวที่สุดของโลกหรือไม่ ผมไม่ทราบ) ให้ท่านผู้อ่านหายสงสัยเสียที อย่างน้อยก็เพื่อ เป็นการปิดท้ายของเรื่องให้สมบูรณ์แบบที่สุด

ความเป็นมาแต่เบื้องต้น

ปลายปี 2507 ผมได้ตกลงกับสำนักพิมพ์ ผ่านฟ้าพิทยา ว่าจะเขียนนวนิยายเกี่ยวกับการผจญภัยในป่าสักเรื่องหนึ่งให้ พิมพ์ออกมาในรูปเล่ม พ็อคเก็ตบุค ติดต่อกัน โดยมีข้อกำหนดว่าไม่เกิน 8 เล่มพ็อคเก็ตบุค และก็ได้เริ่มต้นเขียนบทแรกขึ้น ในราวกลางเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น เขียนติดต่อกันมาได้ 4-5 เล่ม เจ้าของสำนักพิมพ์ก็สั่นหัว บอกไปไม่ไหว จะให้ยุติการเขียนกลางคัน เพราะขายไม่ออก ผมทนทู่ซี้ส่งต้นฉบับให้พิมพ์ต่ออีกจนครบเล่มที่ 8 ตามที่สัญญากันไว้ก่อน ปรากฏว่าพอถึงเล่มที่ 8 แล้ว เหตุการณ์ยังแค่เดินกันแถบชายป่าแค่นั้น จบไม่ลง

ผู้พิมพ์ยื่นคำขาดต่อมาว่า จะยอมพิมพ์ได้อีกไม่เกิน 2 เล่ม คือ เล่มที่ 10 เท่านั้นต้องรวบรัดจบให้ได้ ผมรับในหลักการว่า ครบ 10 เล่มแล้วจะเลิก ส่วนจะจบหรือไม่จบเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวของผม สรุปก็คือว่า
"นายไม่พิมพ์ ก็หยุดเขียนกันแค่นี้วะ แต่จะให้จบลงนั้น มันเป็นสิทธิ์ของฉัน"

พอครบ 10 เล่ม ผมก็หยุดเขียนตามข้อตกลง (เรื่องไม่จบ) ผู้พิมพ์ คือ ไคเซ้ง ในขณะนั้น ดูจะมีสีหน้าดีขึ้นอย่างประหลาด บอกให้ผมเขียนต่ออีก 5 เล่ม "ไม่จบไม่เป็นไรน่อ เขียนต่ออีกซักห้าเล่ม"

เขาว่างั้น เริ่มมีอาการยิ้มแย้มขึ้น จากอาการที่หน้างอเป็นจวักมาแต่ต้น
ก็ได้เขียนต่อไปอีก 5 เล่ม พอใกล้ๆ จะครบ 5 เล่มดังกล่าว (กลายเป็น 15 เล่ม) มันก็ยังจบไม่ได้อีก คราวนี้ผู้พิมพ์หัวเราะเอิ๊กอย่างอารมณ์ดี
"อีกห้าเล่มน่อ ตามซิบาย – ใจเย็งๆ"

เขารู้ว่าผมออกจะเป็นคนใจร้อน ประโยคท้ายจึงเป็นการปลุกปลอบให้กำลังใจ
"หยุดก่อนชั่วคราว! รำคาญเต็มทีแล้ว ออกจากป่าแล้วค่อยพูดกัน" ผมบอก ในยุคนั้น ผมเข้าป่าทุกปีเพราะมันยังพอมีป่าหลงเหลืออยู่บ้าง นายห้างเจ้าของสำนักพิมพ์ซึ่งสูงอายุรุ่นอาของผมทำมือประหลกๆ
"ลื้อจะเข้าป่า อั๊วไม่ว่าอาลาย เอาเงิงไปซื้อลูกปืนก่องก็ล่าย แต่ก่องปาย ลื้อต้องส่งต้นฉบับไว้ก่อง อย่างน้อยสองเล่ม…ลื้อจะเข้าป่านานสักกี่วันวะ อาพนมเทียน?"

ผมไม่พูดอะไรกับเขามาก เพราะก็รักนับถือกันอยู่ (และผมก็ยังระลึกถึงเขาอยู่เสมอจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้ว่าจะล่วงลับไปแล้ว) เบิกเงินล่วงหน้าไปซื้อลูกปืนตามที่เขาเอื้อเฟื้อบอกมา แล้วก็หายเข้าไปพักสงบสติอารมณ์ อยู่ในป่า 2-3 อาทิตย์ ต้นฉบับผมก็ไม่มีเวลาเขียนส่งให้ตามที่เขาบอก เพราะชักไม่แน่ใจเสียแล้ว

กลับมายังไม่ทันจะหายเหนื่อย เขาก็แจ้นมาตามผมที่บ้าน ภายหลังจากล้งเล้งต่อว่าพักใหญ่แล้ว ก็ยอมเล่าความจริงให้ฟังว่าระยะปลายๆ ใกล้เล่ม 10 เริ่มขายดีขึ้นและพลอยทำให้เล่มต้นๆ ตั้งแต่เล่มหนึ่งขึ้นมาที่เคยเหลือเบะบะ ขายดีตามเล่มหลังๆ ไปด้วยจนบางเล่มที่หมดไป ต้องพิมพ์ขึ้นมาแทรกแทนที่

ความจริงแต่แรก ผมก็ไม่ต้องการจะเขียนให้เป็นเรื่องยาวอะไรนัก แต่พอเริ่มต้นเขียนแล้ว มันเกิดเขียนละเอียดเกินไปหน่อยเท่านั้น จบไม่ลง ยิ่งเขียนไป ความคิดของแนวเรื่องมันก็ยิ่งแผ่กว้างไกล ประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยมีอยู่ มันก็ไหลออกมาอยู่ในเรื่องราวโดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องอะไรมาก เพียงแค่ไต่ขึ้นไปบนห้าง เพื่อรอสัตว์เข้า (ในเรื่อง) ตอนเดียวเท่านั้น มันก็มีเหตุการณ์ที่จะเขียน ให้เกิดภาพพจน์จินตนาการของผู้อ่าน ตามข้อเท็จจริงได้ประสบมา ยาวถึง 1 เล่มพ็อคเก็ตบุคเข้าไปแล้ว – มันแจงละเอียดละออออกมาเอง โดยไม่รู้ตัวจริงๆ เพราะในชีวิตการเขียนที่ผ่านมาก่อนนั้น หนักไปในทางเรื่องรัก, เรื่องบู๊ทางอาชญนิยาย, จารกรรม และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชมพูทวีป เสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องของการใช้ชีวิต หรือดำรงชีพอยู่ในป่ายังไม่เคยเขียนออกมาเลย ทั้งๆ ที่วัตถุดิบเต็มเพียบ พอเริ่มต้นเขียนมันก็หลั่งไหลออกมาเองโดยไม่รู้ตัวดังกล่าว ทั้งๆ ที่แต่แรก อยากจะทำเป็นงานเขียนขนาดสั้น ให้จบสิ้นกันเพียงพ็อคเก็ตบุค 8 เล่ม หรือเป็นปกแข็งได้เล่มเดียวเท่านั้น

เรา – หมายถึงผม กับสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา ทำงานร่วมกันต่อไป คราวนี้เขาไม่กำหนดกฎเกณฑ์เอากับผมอีกแล้ว ว่าจะต้องจบภายในเล่มที่เท่าไหร่ บอกให้เขียนไปเรื่อยๆ ตามถนัดของผม สรุปว่าเปิดโอกาสให้เต็มที่

พอเริ่มขึ้นเล่ม 20 ก็ยังอยู่ชายๆ ดงอยู่นั่นเอง ปรากฏว่า เล่ม 1 ถึง 10 ต้องพิมพ์ซ้ำ และพอเข้าเล่มที่ 30 ก็หมายถึงเล่ม 11 ถึง 20 ต้องพิมพ์ซ้ำ สถิติการจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาทุกที ผมไม่แน่ใจว่า มันจะเป็นพ็อคเก็ตบุคที่ขายดีที่สุดหรือเปล่า รู้แต่เพียงว่าผมเขียนได้ด้วยความสบายใจ โดยไม่มีเจ้าของสำนักพิมพ์มาทำหน้ายักษ์สั่งให้จบลง ในเล่มที่เท่านั้นเท่านี้อีก

พอเล่มที่ 40 ขึ้นไปก็ปรากฏว่านวนิยายผจญภัยในป่า ในรูปเล่มพ็อคเก็ตบุค ยืนอยู่ได้แล้ว ระยะนี้ "ไค้" หรือ ชาญกิจ ฉัตรเจริญสุข (เจ้าของนิตยสาร "แปลก" ในปัจจุบันนี้) อันเป็นหลานชายของ ไค้เซ้ง ได้เข้ามาเป็นผู้จัดการ และมีคุณ ชัย จิตติเดชารักษ์ เจ้าของห้างหนังสือ สุริยวงศ์บุคสโตร์ เชียงใหม่ (ปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว) ซึ่งชอบพอกับผมเป็นส่วนตัวได้เป็นผู้คอยส่งเสริม เป็นกำลังใจอยู่เสมอเกี่ยวกับสถิติของหนังสือที่รับไปจำหน่าย ทางภาคเหนือ เพราะยอดพิมพ์ เพชรพระอุมาพ็อคเก็ตบุค ซึ่งออกเป็นราย 10 วันเล่ม แม้ผมจะไม่รู้จำนวนยอดที่แน่นอนลงไป (เขาปิดเป็นเรื่องธรรมดา) แต่คุณชัย ก็กระซิบบอกผมว่า มันมีจำนวนไม่น้อยไปกว่านิตยสาร ประเภทรายสัปดาห์ที่ขายดีอยู่ในตลาดหนังสือยุคนั้น

"เขียนต่อไปเรื่อยๆ คุณอาจมีโอกาสโอนเอานวนิยายเรื่องนี้ มาออกหนังสือรายสัปดาห์ได้ทั้งฉบับทีเดียว" คุณชัย จิตติเดชารักษ์ ให้กำลังใจผมไว้เช่นนั้น อย่างคนที่รักสนิทและหวังดีเป็นส่วนตัวและถึงแม้ "ไค้" ชาญกิจ ฉัตรเจริญสุข เจ้าของนิตยสาร "แปลก" ในปัจจุบันนี้ ผมก็ยังเว้นที่จะขอบคุณเขาเสียมิได้ ในกรณีที่ให้ความร่วมมือเป็นกำลังใจในทุกด้าน เกี่ยวกับการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ในฐานะที่เป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์ ได้ทำหน้าที่ประสานงานให้แก่ เถ้าแก่ไค้เซ้ง อันเป็นอาของเขา และคอยเป็น "กาวใจ" ระหว่างผม กับเจ้าของสำนักพิมพ์มาตลอดเวลา ผมเอะอะโวยวาย หรือเกิดร้อนขึ้นมา เถ้าแก่ไค้เซ้งเป็นคนใจดี แต่ยังไม่สู้จะเข้าใจอะไรนัก ทว่าหลานชายคือ ชาญกิจ เป็นคนมองเห็นการณ์ไกล และสปอร์ตคล่องงานรอบตัว เขาเป็นนักจัดการ และนักเชื่อมประสานงานที่ดีเยี่ยมคนหนึ่ง

พอมีกำลังใจ ผมก็ลงมือทุ่มเทสมอง ในงานเขียนชิ้นนี้อย่างเต็มที่ (ซึ่งจะเล่าให้ฟังต่อไปว่า เอาอะไรจากไหนมาเขียน) และใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ พร้อมกันไปในตัว งานที่แต่แรกตั้งใจเพียงแค่ "ขอไปที" ก็เริ่มประณีตละเมียดละไมขึ้น ชนิดที่จะให้พลาดไม่ได้เลย ทุกบท ทุกตอน ทุกประโยคของคำพูดและในระยะเวลาระหว่างนี้ ท่านผู้อ่านก็เริ่มที่จะเข้ามาช่วยผมด้วย กล่าวคือ นอกจากช่วยสนับสนุนซื้อหนังสืออ่านแล้ว ถ้าแม้ว่าผมหลงลืมหรือทำท่าจะพลั้งพลาดตอนไหน (เป็นธรรมดาของคนเขียนเรื่องยาวๆ ซึ่งก็อาจลืมไปบ้าง) ก็จะโทรศัพท์หรือจดหมายมาบอกเตือนผม ทำนองว่า ผมกำลังจะลืมสิ่งนั้นสิ่งนี้ ในเนื้อเรื่องไปเสียแล้วนะ… ไอ้ช้างตัวนั้นนะ มันชื่ออย่างนี้ ไม่ใช่ชื่ออย่างนั้น ตำแหน่งแห่งที่ซึ่งผ่านมาเมื่อวานนี้ มันคือ โป่งกระทิง ไม่ใช่ห้วยยายทอง ฯลฯ….. อะไรทำนองนี้

ตั้งแต่เล่มที่ 50 ขึ้นมา ก็แปลว่า เพชรพระอุมา ติดลมบนแล้ว แม้จะเป็นพ็อคเก็ตบุคก็กลายเป็น นิตยสาร ไปในทีอยู่ในตัวของมันเอง นับวัน จำนวนการพิมพ์เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เล่มต้นๆ แรกๆ ถูกขุดขึ้นมาขายหรือถูกพิมพ์ใหม่ซ้ำขึ้นมา สำหรับผู้ที่เพิ่งจะมาอ่านพบภายหลัง และเรียกร้องตอนต้นๆ เพื่อต้องการอ่านให้ติดต่อโดยตลอด

พอเล่มที่ 70 ผ่านพ้นไปแล้ว คุณชัย จิตติเดชารักษ์ และ ชายกิจ ฉัตรเจริญสุข ผจก. ผ่านฟ้าพิทยา ก็มาพบผมพกเอาเรื่องที่ผมไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ มาพูดกับผมด้วย "เราจะออกหนังสือรายสัปดาห์กัน โดยเอาเรื่องเพชรพระอุมา เป็นเรื่องนำ"

ชาญกิจพูดกับผม ซึ่งผมงง การจะออกนิตยสารประเภทรายสัปดาห์สักเล่มหนึ่ง ในยุคนั้น ไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆ รายสัปดาห์มีชื่ออื่นๆ หลายฉบับ ออกมานานนับเป็นสิบๆ ปี ยังม้วนเสื่อกันไปนับไม่ถ้วน หัวหนังสือก็ไม่มีจะออกค่าซื้อหรือเซ้งหัวหนังสือกัน (ยุคนั้น) ราคานับเป็นแสน ไหนจะโรงพิมพ์ ไหนจะ…จิปาถะ มันจะไหวได้ยังไง "ต้องไหว!"

คุณชัยบอก ทั้งๆ ที่ตัวคุณชัยเอง ท่านก็ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับผลได้ผลเสียอะไรด้วยทั้งสิ้น นอกเสียจากที่ท่านเป็นผู้ใหญ่รุ่นพี่ใหญ่ของผม รักสนิทชอบพอเป็นส่วนตัวดังกล่าว และบังเอิญคุณชัยก็สนิทสนมชอบพอกับชาญกิจ และสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา อันหมายถึง ไค้เซ้ง ด้วย

ทั้งสองคนช่วยกันหว่านล้อม ให้กำลังใจผมอีกหลายอาทิตย์ทีเดียว โดยบอกให้ผมทราบว่า ถ้าผมเอาเสียคนเดียว ทางสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา จะดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่ซื้อหรือเซ้งหัวหนังสือรายสัปดาห์สักฉบับที่เก็บไว้เฉยๆ จัดหาสำนักงาน จัดหาโรงพิมพ์เอง

ผมไตร่ตรองอยู่หลายอาทิตย์ ทีเดียวเพราะมันหมายถึงว่า นอกเหนือจากการเขียนอย่างเดียวแล้ว ผมจะต้องโดดเข้าไปบริหารเต็มตัวในฐานะหัวหน้ากองบรรณาธิการเพราะเมื่อออกในรูปนิตยสารรายสัปดาห์แล้ว จะมีเฉพาะเรื่อง เพชรพระอุมา ของผมอย่างเดียวย่อมไม่ได้ มันจะต้องมีเพื่อนนักคิดนักเขียนอื่นๆ มาร่วมด้วยให้ครบทีม เพื่อทำรูปแบบให้ออกมาอย่างนิตยสารรายสัปดาห์ที่นิยมกันในยุคนั้น ซึ่งกำลังแข่งขันกันอยู่เต็มที่

ประการสำคัญที่สุดก็คือ แม้ผ่านฟ้าพิทยาจะยิ่งใหญ่ขึ้นมาแล้ว แต่สำนักพิมพ์แห่งนี้ก็ยังไม่ร่ำรวยมาก จนถึงกับจะออกเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ซึ่งต้องใช้เงินมหาศาลได้ มันเสี่ยงต่อการวายวอดเหลือเกิน และความหวังทั้งหลายพวกเขาก็ฝากไว้กับผมเขียนคนเดียว ฝากไว้กับนวนิยายเรื่อง เพชรพระอุมา ซึ่งเขาเห็นว่า แม้จะออกราย 10 วันเล่ม มันก็มีสภาพเป็นนิตยสารอยู่แล้ว และมีการจำหน่ายไม่น้อยหน้าไปกว่าหนังสือรายสัปดาห์ที่ขายดีอื่นๆ เลย

ซาวนด์เสียงดูทางเถ้าแก่ไค้เซ้งเอง ก็เห็นว่าเสียงของเขาหนักแน่นเต็มที่ (คิดมาถึงตอนนี้แล้ว รู้สึกเสียใจเหลือเกิน ที่เราต้องมาผิดใจกันภายหลัง เพราะเขาไปหลงเชื่อ หลงผิด ร่วมกับบุคคลกลุ่มหนึ่ง อันเป็นผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผมเอง กระทำการอันไม่สมควรสำหรับผมขึ้น – แต่เดี๋ยวนี้ ผมขออโหสิกรรม ให้แก่เขาแล้วอย่างบริสุทธิ์ใจ อโหสิให้แก่ทั้งหมดทุกคนที่เคยคิดร้ายต่อผม จนในที่สุดได้แพ้ภัยตัวเองไปในรูปแบบต่างๆ ซึ่งขอยืนยันว่า ไม่ได้เกิดขึ้นจากน้ำมือของผม)

เมื่อทางฝ่าย "ทุน" พร้อม ผมก็พร้อม โดยสละงานเขียนทางด้านอื่นทั้งหมด เพื่อโดดเข้ามาบริหารหนังสือเอง เราได้ไปซื้อหัวหนังสือมาจาก ดร.ไพฑูรย์ เครือแก้ว ชื่อหนังสือ รวมข่าวเพชรไทย มาด้วยราคาที่สูงพอสมควรทีเดียว "ทุน" นั้น เป็นของผ่านฟ้าพิทยา ทั้งหมด สมองและการติดต่อทุกชนิดเป็นของผมในยุคนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า การจะออกหนังสือพิมพ์สักฉบับ แม้จะเป็นเรื่องราวหนักไปในทางบันเทิงก็ตาม มันแสนที่จะยากเย็น เพราะหนังสือพิมพ์ถูกคุมกำเนิด การปกครองของรับในยุคนั้นอยู่ในรูปกึ่งเผด็จการ กลัวหนังสือพิมพ์จะเป็นเสี้ยนหนาม เจ้าของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องประคองสถานภาพของตนเองให้ดีที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้ถูกสั่งปิด (เพราะขออนุญาตเปิดใหม่ไม่ได้) และผู้ลงทุนเป็นเจ้าของส่วนใหญ่ จะต้องมีชื่อเป็นตัว บ.ก. หรือ บรรณาธิการเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ใครฉกฉวยสิทธิ์นั้นไปได้ หรือทำให้สิทธิ์นั้นจะต้องเสียไป ยุคนั้น คำว่า บรรณาธิการ ก็หมายถึง "เจ้าของหนังสือ" นั่นเอง ส่วนผู้มีสิทธิ์ในการบริหารอย่างแท้จริงเป็นตัว หัวหน้ากองบรรณาธิการ และคำว่า "หัวหน้ากองบรรณาธิการ" จึงเป็นคำที่ถูกใช้ในความหมายบริหารอย่างแท้จริง มาจนกระทั่งทุกวันนี้ ตัวบรรณาธิการเองน่ะ ไม่ได้ทำอะไรหรอก นอกจากเป็นเจ้าของอย่างเดียว

ในฐานะที่ ผ่านฟ้าพิทยาเป็นทุนโดยตรง บุตรชายของเขา คือ สุนทร เทพวาทินันท์ จึงมีชื่อเข้ามาเป็น ตัวบรรณาธิการ ส่วนผมนั้นในฐานะผู้บริหารและร่วมหุ้นสมอง เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ปีนั้นเป็นปี 2513 ต้นปี เพชรพระอุมา ได้ออกมาเป็นพ็อคเก็ตบุค ถึงเล่มที่ 98 (เก้าสิบแปด) พอดี อีกสิบวันต่อมาที่จะกำหนดออกเป็นเล่มที่ 99 (เราถือโชคเก่าๆ อยู่ คืออยากได้เลข 99) ก็จะย้ายมาออกในรูปเล่มของนิตยสารรายสัปดาห์ ซึ่งมีชื่อใหม่ว่า นิตยสาร รวมข่าว (ตัวเล็ก) จักรวาล รายสัปดาห์ (ตัวใหญ่) ฉบับ เพชรพระอุมา เล่มที่ 99 ออกวางตลาดเป็นครั้งแรก ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2513

คำว่า "จักวาลรายสัปดาห์" เป็นคำที่ผมคิดประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งในขณะนั้น ความคิดในด้านบริหารทุกอย่างเป็นของผม ส่วนความคิดในด้านการเงินทุกบาท เป็นของฝ่ายไค้เซ้งและชาญกิจ อาหลานทั้งคู่ โดยมีชาญกิจ ผู้เชี่ยวชาญในกิจการทุกอย่างสมชื่อ มาเป็นผู้จัดการ ตัวบรรณาธิการเอง อันเป็นบุตรชายของเจ้าของสำนักพิมพ์ยังเด็กนัก ในพ.ศ. นั้น ถูกอุปโลกน์ไว้ให้มีชื่อเป็นบรรณาธิการ หรือเจ้าของหนังสือเฉยๆ

ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 เป็นต้นมาดังกล่าว โลกของหนังสือรายสัปดาห์ได้เกิดขึ้นอีกฉบับหนึ่ง ท่ามกลางความปั่นป่วนของวงการหนังสือประเภทรายสัปดาห์ทั้งหลายในข้อที่ว่า จะอยู่หรือจะไป เพราะมีการต่อสู้กันขนาดหนัก นิตยสาร ที่แปลงรูปขึ้นมาจากอดีตพ็อคเก็ตบุค ฉบับ เพชรพระอุมา คือหัวเรื่องสำคัญของรายสัปดาห์เล่มนี้ ที่ตัวเล็กๆ ของหัวหนังสืออันบอกถึงกำหนดเวลาออก ประจำวันที่ต่างๆ นั้น ฉบับปฐมฤกษ์ก็เริ่มด้วยเลข ฉบับที่ 1 ตามปกติ แต่ตัวโตๆ ที่ปรากฏหราอยู่บนหน้าปก ก็คือ เพชรพระอุมา เล่มที่ 99 อันหมายถึงว่า ใครอ่านพ็อคเก็ตบุค เพชรพระอุมา มาแล้ว 98 เล่ม ก็ให้โอนมาอ่านต่อในรายสัปดาห์ที่ชื่อ จักรวาล นี้ได้เลย เราวางแผนการอย่างนั้น

จักรวาลรายสัปดาห์ ภายใต้การนำนวนิยายเรื่อง เพชรพระอุมา มาลงไว้เป็นเรื่องเอกประจำฉบับนั้น สามารถจะยืนอยู่ในโลกหนังสือรายสัปดาห์ได้อย่างสบายพอสมควร ทีเดียว และหนึ่งขวบปีให้หลัง ก็สามารถที่จะมีพลังมาสร้างโรงพิมพ์ของตนเองได้ในซอยนรอุทิศ ถนนนครไชยศรี โดยย้ายจากเดิม ซึ่งเคยเป็นเฉพาะสำนักงานบริหารชั้นสอง ของห้างจำหน่ายหนังสือผ่านฟ้าพิทยา ถนนนครสวรรค์ ซึ่งเริ่มต้นนั้น เรายังต้องไปจ้างที่อื่นพิมพ์ เพราะยังไม่มีโรงพิมพ์ของตนเอง

เพชรพระอุมา คงดำเนินเรื่องราวของมันต่อไป ในสต๊าฟฟ์ทีมงานที่ร่วมกันมาแต่ต้น พอขึ้นปี 2516 ในระหว่างที่ผมเกิดล้มป่วยลงด้วยอาการที่คล้ายๆ โรคหัวใจ คือ เส้นโลหิตบางเส้นตีบ ส่งเลือดขึ้นไปไม่พอหล่อเลี้ยงสมองอันดูเหมือนจะเป็นสัญญาณเตือน เรื่องบาปเวรที่เคยก่อเอาไว้กับสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก ต้องเข้าไปนอนระลึกย้อนไปถึงอดีตของตนเองอยู่ในโรงพยาบาล นั้น ชาญกิจ ฉัตรเจริญสุข ก็เดินหน้าตาไม่เสบย เข้ามาเยี่ยมผมในร.พ.มิชชั่น แล้วก็บอกแต่เพียงสั้นๆ รวบรัดว่าเขาเองไม่อาจที่จะทำงานร่วมอยู่ใน จักรวาล ได้อีกแล้ว เพราะได้รับความกดดันบางอย่างจากอาของเขาเอง จะขอลาออก ผมได้ทักท้วงเขาไว้ แต่ก็ไม่เป็นผล และรู้สึกเห็นใจในเหตุผลของเขา จึงยอมรับทราบ ชาญกิจจึงขอลาออกจากการเป็นผู้จัดการ ซึ่งในขณะนั้น ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นรูปบริษัทแล้ว

และเมื่อผมทุเลาจากการเจ็บป่วย แต่ยังต้องเข้าๆ ออกๆ อยู่ในระหว่างสำนักงาน และโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำนั้น ผมก็ปฏิบัติหน้าที่ของนักเขียน และหัวหน้ากองบรรณาธิการต่อไปโดยมี บ.ก.ตัวจริง คือ สุนทร เทพวาทินันท์ ซึ่งได้รับการมอบหมายกิจการจากบิดา ให้มารับหน้าที่ของผู้จัดการทำหน้าที่แทนชาญกิจต่อไป ระหว่างที่เขาเข้ามารับหน้าที่ใหม่ๆ นั้น ผมก็แลเห็นเหมือนน้องได้เรียกเข้ามาสั่งสองหลักการดำเนินงานต่างๆ ให้ และขอให้เขาตั้งใจทำงานแทนชาญกิจให้ดีที่สุด ซึ่งเขาก็รับปากเป็นอันดีว่าจะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยไม่ให้มีอะไรบกพร่อง ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เขาจะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างผม กับบิดาของเขา แทนชาญกิจที่ลาออกไปแล้ว

สุนทร เป็นเด็กหนุ่ม ที่ชอบเที่ยวสนุกแบบเพลย์บอยมาแต่ไหนแต่ไร การที่เขาเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้จัดการของกิจการซึ่งก็ไม่เล็กจนเกินไป โดยทำหน้าที่ต่างหูต่างตา แทนบิดาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของโรงพิมพ์ หนังสือพิมพ์และอื่นๆ ของงานที่เกี่ยวข้องออก จะเป็นเรื่องผิดกับบุคคลิกประจำตัว ของเขาอยู่เป็นอันมากไม่คล่องตัวเหมือนสมัยที่ชาญกิจยังปฏิบัติอยู่ ผมเองก็เริ่มรู้สึกอึดอัดในความไม่สู้จะสันทัดต่องานอันจะต้องมีความสัมพันธ์กับคน เป็นจำนวนมากของเขา และมีลางบอกเหตุอะไรหลายๆ ประการที่ทำให้ผมคิดว่า ผมคงจะร่วมทำงานอยู่ในจักวาลแห่งนี้ไปได้ไม่ถาวรนัก จะอย่างไรก็ตาม ผมก็ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารฉบับนั้น ไปอย่างดีที่สุด เพชรพระอุมาภาค 1 ได้จบสิ้นสมบูรณ์ลงในราว พ.ศ.2518 นั่นหมายถึงว่า ภาระกิจของ รพินทร์ ไพรวัลย์ ที่รับจ้างไปติดตามคนหายสาบสูญในป่า ได้สำเร็จผลลงแล้ว โดยการตามตัวคนหายกลับมาได้ตามสัญญาจ้าง ผมก็ได้นำนวนิยายเรื่อง กุหลาบไฟ ที่เขียนค้างไว้ในนิตยสาร สายฝน มาเขียนสืบต่อแทนเพชรพระอุมา ที่จบไปแล้วนั้น โดยใช้ชื่อภาคใหม่ว่า มัจจุราชสีรุ้ง ระหว่างที่ผมยังปฏิบัติหน้าที่เป็นปกติอยู่ในจักรวาลนั่นเอง คุณแสง เหตระกูล ผู้อำนายการ นสพ. รายวัน เดลินิวส์ (ในขณะนั้น) ก็ได้ติดต่อให้ผมเขียนนวนิยายเรื่อง เพชรพระอุมา ภาคที่สอง ให้แก่ นสพ. เดลินิวส์ โดยเฉพาะ นำลงอาทิตย์ละครั้งเฉพาะทุกๆ วันจันทร์

ความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ในกองจัดการของหนังสือรายสัปดาห์ จักรวาลทำให้ผมรู้สึกว่า ผมจะต้องเตรียมตัวเพื่อทางหนีที่ไล่เมื่อถึงคราวจำเป็นขีดสุดมาถึง ถึงแม้จะไม่ใช่ความประสงค์ อย่างแท้จริงของผมเลยเพราะ เพชรพระอุมา นั้นได้จบสมบูรณ์ลงไปแล้ว แต่เมื่อมาถูกขอร้องให้เขียน ภาคใหม่ขึ้น ผมก็จำเป็นจะต้องรับ ได้เริ่มเขียนภาคสอง ตอน จอมพราน ให้แก่ เดลินิวส์ เป็นประจำทุกๆ วันจันทร์ อันเป็นปฏิบัติภาคใหม่ของ รพินทร์ ไพรวัลย์ เกี่ยวกับการไปตามเครื่องบินตกสูญหายในป่า ในขณะเดียวกัน ผมก็ยังบริหาร และยังเขียนเรื่อง มัจจุราชสีรุ้ง ให้แก่จักรวาลเหมือนเดิม โดยไม่บกพร่อง

การที่ผมไปเขียน เพชรพระอุมา ภาค จอมพราน ให้แก่ นสพ.เดลินิวส์ ทำให้ สุนทร เทพวาทินันท์ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของฝ่ายทุนไม่พอใจอย่างยิ่ง ได้ขอให้ผมถอนเรื่อง เพื่อย้ายกลับมานำลงในจักรวาล ผมแจ้งให้เขาทราบว่า ผมไม่อาจทำได้ดังที่เขาต้องการ เพราะผมก็เขียนเรื่องให้จักรวาลที่ผมบริหารอยู่แล้ว รวมทั้งบอกให้เขาทราบด้วยเหมือนกันว่า มีอะไรสิ่งใดบ้าง ที่ผมรู้สึกว่า มันทำท่าจะไปด้วยกันไม่ได้เสียแล้ว ถ้าเขาไม่เปลี่ยนแนวทางหรือท่าที ความหมางใจ ซึ่งกันและกันเริ่มคุกรุ่นมาตั้งแต่เหตุดังได้กล่าวมานี้ เรายังฝืนทำงานกันต่อมาไปได้อีก 2 ปีเต็มๆ พอรุ่งขึ้นปี 2520 ก็มีอันเป็นไปต้องแตกหัก

โดยการเชื่อคำยุยงว่า จักรวาล ควรจะยืนอยู่ในโลกของรายสัปดาห์ได้โดยไม่ต้องมีนักเขียนชื่อ "พนมเทียน" หรือผู้บริหารชื่อ ฉัตรชัย อีกต่อไป เพราะติดลมแล้ว

สุนทร พร้อมกับลูกน้องของผมบางส่วนอันประกอบด้วยผู้ช่วยบรรณาธิการ (ซึ่งผมจะไม่ขอเอ่ยนาม เพราะเขาก็ได้ล่วงลับไปแล้ว) และคณะนักเขียนชุดหนึ่ง ที่กำลังทำงานอยู่ในจักรวาล ได้ร่วมมือกันปฏิบัติการต่อผม ตามที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าไม่ผิด เพียงแต่รออยู่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้น กล่าวคือได้มีการประกาศแต่งตั้งหัวหน้ากองบรรณาธิการขึ้นใหม่ ถอดถอนเรื่องของผมที่กำลังนำลงอยู่ ออกอย่างฉับพลัน หนี้สินจำนวนเล็กน้อย อันเป็นเงินเดือนและค่าต้นฉบับที่ยังค้างชำระของผม ถูกยึดไม่ยอมจ่ายให้ ประกาศแนวทางใหม่ใส่ร้ายโจมตีผม ในลักษณะโดยจ้างวาน นำไปลงในนิตยสารอีกฉบับหนึ่ง ครบชุด เหมือนการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจ การปกครองเปลี่ยนรัฐบาลไม่มีผิด

นั่นคือการ สิ้นสุดกันลงอย่างแตกหักระหว่างผม กับ จักรวาลรายสัปดาห์ ที่เราร่วมมือกันมาแต่ต้น ผมไม่ได้คิดอะไรมากเพราะผมก็รู้ตัวล่วงหน้าเตรียมพร้อมอยู่แล้ว เมื่อเขาใส่ไคล้ผมทางหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ เพื่อจะปิดบังพฤติการณ์ของฝ่ายเขาเอง ผมก็ฟ้องหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเป็นจำเลย ในฐานละเมิดหมิ่นประมาท ซึ่งผมก็เป็นฝ่ายชนะคดี ต้องมีการขอขมากัน เพราะไปเก็บข้อมูลผิดๆ มาเขียน และเมื่อเขาผิดข้อสัญญา อันเป็นลายลักษณ์อักษรกับผม ผมก็ฟ้องเป็นคดีแพ่งกับหนังสือพิมพ์จักรวาล สู้ความกันมาสี่ปีเศษ (นับจากเกิดเหตุ) ศาลตัดสินให้เขาเป็นผู้ผิด ต้องชำระหนี้ที่ค้าง และสินไหมทดแทนให้แก่ผม ค่าที่ผิดสัญญา แต่ผมก็ไม่ได้คิดที่จะไปติดตามเอาค่าเสียหายอะไรทั้งสิ้น ศาลตัดสินมาแล้วก็จริง ทว่า หนังสือพิมพ์จักรวาลมีอันต้องเป็นไป ปิดตัวเอง ละลายหายกันไปหมดทั้งชุด ทั้งคณะก่อนที่คดีจะสิ้นสุดลงเสียอีก ผมบอกแล้วว่าผมไม่ติดใจอะไร และพร้อมที่จะอโหสิกรรมให้แก่บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็จำเป็นจะต้องหลีกหลบหน้าสังคมเพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของวิสัย มนุษย์ปุถุชนที่ยังมีกิเลส เป็นเครื่องบังตาอยู่ ผมเองก็ไม่ใช่วิเศษวิเสโสอะไรที่ไหนมัน "ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป" ช่วยให้ชีวิตมีรสชาติดีขึ้นเสียอีกทำบุญร่วมกันมาแค่นั้นนี่ ส่วนผมก็ทำบาปกับสัตว์มามาก สัตว์ทำอะไรผมไม่ได้ บางทีก็เลยฝากแก้แค้นมาให้คนด้วยกัน อันเป็นลูกน้องบริวารหรือมิตรสหายของผมบางคน ช่วยทำให้แทนถ้าเราไม่คิดมาก ก็ไม่เจ็บมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้นแค่แสบๆ คันๆ ดีเท่านั้น

เพชรพระอุมา ตอน จอมพราน นำลงในเดลินิวส์ ติดต่อไปเรื่อยๆ หลังจากผมพังกับจักรวาลรายสัปดาห์ ที่ผมก่อตั้งมากับมือเองแล้ว จนกระทั่งปี 2524 หรือในราวๆ นั้น คุณแสง เหตระกูล ผอ.เดลินิวส์ ก็ถึงแก่กรรมลง บรรยากาศเปลี่ยนอีก อันเป็นเรื่องของความเป็นอนิจัง ในทุกสิ่งทุกอย่าง ผมต้องขยับฟุตเวิร์คเพื่อหลบหมัดอีกแล้ว เขียนติดต่อกันมาได้ในเดลินิวส์ ราว 4-5 ปี พอขึ้นต้นพ.ศ.2525 ผมก็มีความจำเป็นที่จะต้องมาทำหนังสือของผมเอง (ถึงจะไม่ใช่ของผมเอง โดยตลอดไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แต่คราวนี้หมายถึงผมได้ร่วมลงทุนด้วย) คือ จักรวาลปืนเล่มนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลในข้อที่ว่า เหตุใดผมจึงต้องตัดตอนจบอย่างกระทันหันในเดลินิวส์ เพื่อที่จะนำมาเขียนสืบต่อ ภาค 3 ตอน มงกุฎไพร ใน จักรวาลปืน เล่มนี้ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2525 เป็นต้นมา นับเวลารวมได้ 8 ปีเต็มๆ จนถึงบทสุดท้าย หรือบทอวสานของตอน มงกุฏไพร ดังได้ผ่านสายตาท่านไปแล้ว เมื่อฉบับก่อน

เรื่องราวในความเป็นมาเบื้องต้น ของนวนิยายเรื่องนี้ ก็มีดังได้พรรณามาอย่างสรุปย่อนี่แหละครับ เป็นการเกริ่นให้ทราบถึงที่มาของมันเสียก่อน

ในฉบับหน้าผมจะได้พูดถึงเรื่อง "พล็อต" หรือโครงเรื่องที่มาต่อไป ว่าเนื้อหามาจากไหน และตอนต่อๆ ไป ก็จะพูดถึงส่วนประกอบของโครงสร้างเรื่อง, ที่มาของสถานที่, และที่มาของตัวละครแต่ละตัว เป็นการเปิดอกคุยกันธรรมดาๆ ครับ เพราะผมถือท่านผู้อ่านนวนิยายของผมหรืออ่านนิตยสารจักรวาลปืนทุกท่าน เปรียบเสมือนเพื่อนสนิทของผม การเขียนเล่าเหตุการณ์ของผม ก็จะเป็นการเล่าไปเรื่อยๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไร และผมก็อดที่จะบอกกล่าวกับท่านผู้อ่านทุกท่านเสียไม่ได้ว่าผมรู้สึกเบาตัว โล่งอก โปร่งใจเหลือประมาณ คล้ายยกภูเขาออกจากอก ที่สามารถทำให้นวนิยายเรื่องนี้จบลงได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ได้ติดค้างชะงักเป็นหนี้ท่านอยู่ เพราะคนเขียน**ตายลงเสียก่อน แต่เท่าที่ผมทราบนั้น ผู้อ่านหลายท่านถึงแก่อายุขัยไปแล้วครับ ในระหว่างที่ยังติดตามอ่านนวนิยายเรื่องนี้อยู่ วิญญาณท่านเหล่านั้นคงจะสาปแช่งผมพิลึก

อินไซด์เพชรพระอุมา 2

"พล็อต" หรือที่มาของโครงเรื่อง

การจะเขียนนวนิยายขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งก็ต้องมี "โครงเรื่อง" หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่า "พล็อต" นั่นเอง เรื่อง เพชรพระอุมา ก่อนจะลงมือเขียน ก็ต้องมีการวางโครงเรื่องเหมือนกัน นอกจากโครงนอกที่หยาบที่สุด คือ โครงใน ของเรื่องราวการผจญภัยในป่า ของพรานคนหนึ่ง

ที่นี้ พรานป่าคนนั้น รวมทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในป่าเหล่านั้น จะดำเนินไปอย่างไร นี่คือจุดสำคัญของเรื่อง ส่วนประกอบอันเป็นรายละเอียดต่างๆ ที่จะมาสนับสนุนการดำเนินเรื่องไปนั้น มีอยู่ครบถ้วนเต็มเปี่ยมแล้ว ศิลป์ของการล่าสัตว์ และพื้นภูมิประเทศในป่าดงพงไพร ที่ตนเองเคยผ่านมาก่อน พล็อตของเรื่องนี้ซิ จะเอายังไง ก่อนที่จะลงมือเขียน

เมื่อยังวัยรุ่น ตอนเป็นนักเรียนอักษรศาสตร์ ผมได้ไปพบกับหนังสืออ่านประกอบบทเรียนของญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งท่านเก็บเอาไว้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนในแผนกภาษา ของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (สมัยที่ผมเรียนอักษรศาสตร์อยู่ในปี 2491-2492 นั้น เขาเลิกใช้หนังสือเล่มนี้กันแล้ว) ชื่อเรื่อง KING SOLOMON'S MINES เขียนโดยนักประพันธ์อังกฤษ คือ SIR H. RIDER HAGGARD มีเนื้อหาสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการเดินผจญภัยในป่าของพรานผิวขาวผู้หนึ่ง ซึ่งมีผู้จ้างวานให้ไปติดตามคนหายก่อนการออกเดินทางนั้น มีคนพื้นเมืองคนหนึ่งมาขออาสาสมัครเป็นคนใช้ติดตามไปด้วย และผลที่สุดเมื่อไปถึงดินแดนหลงสำรวจในป่าลึกนั้น ก็ปรากฏว่า เจ้าคนใช้ที่สมัครติดตามมานั้น แม้ที่จริงก็คือรัชทายาทของนครลับแล หลงสำรวจนั้น พรานนำทางกับคณะผู้ติดตามคนหาย ก็เลยช่วยกันต่อสู้กอบกู้บัลลังก์จากทรราชย์ ให้เจ้าคนใช้คนนั้นได้สำเร็จ พร้อมทั้งได้พบกับขุมทรัพย์ใหญ่แห่งนครนั้น

โครงเรื่องเพียง 5-6 บรรทัดแค่นี้เองแหละครับ (เฉพาะในภาคหนึ่ง) ที่ผมได้เอามาจากแนวโครงเรื่องเดิมของคิง โซโลมอนส มายน์ส ของ เซ่อร์ฯ แฮกการ์ด เพราะมันเป็นเค้าโครงเรื่องที่ดีมากในการจะนำมาเขียนถึงพฤติกรรม หรือปฏิบัติการเดินป่าของพรานในนวนิยายที่กำลังจะเขียนขึ้น เพราะจะทำให้พล็อตเรื่องมีจุดหมายที่แน่นอนลงไป ส่วนหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศให้เป็นป่าแบบไทยความรู้สึกนึกคิด สิ่งแวดล้อมต่างๆ ของเรื่องเป็นหน้าที่ของผมเองที่จะต้องนำมาประสานกันให้กลมกลืนหมดจรด

ผมเคยทราบมาก่อนเหมือนกันว่า บทประพันธ์ของ แฮกการ์ด เรื่องนี้ นักแปลรุ่นพ่อคือ สมุทร ศิริไข ได้เคยแปลไว้ก่อนแล้ว และท่านผู้นี้ก็ใช่ใครอื่น แท้ที่จริงก็คือ บิดาของสุมิตร ศิริไข ผู้ช่วยบรรณาธิการของ นิตยสารจักรวาลปืน ในขณะนี้นั่นเอง ซึ่งเราเคยเป็นเพื่อนเรียนหนังสือมาด้วยกันแต่เล็กๆ จนกระทั่งโตขึ้น จับผลัดจับผลูอย่างไรไม่ทราบ เขาก็ได้มามีโอกาสร่วมงานอยู่ในกองบรรณาธิการของผม ปัจจุบันนี้ผมเรียกคุณพ่อเขาว่า "น้าหมุด" และ "น้าหมุด" คนนี้แหละ เป็นคนแรกที่สนับสนุนให้ผมก้าวเข้ามาสู่วงการนักเขียนเป็นครั้งแรก เมื่อ 30 กว่าปีก่อนนี้ โดยนำเอาเรื่อง ปฐพีเพลิง ของผมไปนำลงในนิตยสาร เพลินจิตต์ ในยุคนั้น แต่ผมก็ไม่เคยมีโอกาสได้อ่านเรื่องแปลเรื่องนี้ของท่าน (ชื่อที่ท่านแปลกลับมาเป็นภาษาไทยคือ "สมบัติพระศุลี") ผมดันไปอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ อันเป็นหนังสือประกอบบทเรียนของญาติผู้ใหญ่ (คุณสุวรรณา คุปตาสา) ตั้งแต่สมัยยังเด็กๆ อยู่ดังได้กล่าวแล้ว และท่านคงไม่สงสัยนะครับ เพราะภาษาอังกฤษของผมสบายมาก มาตั้งแต่อายุเพียง 14 ปีแล้ว ซึ่งก็จำพล็อตเรื่องคร่าวๆ ดังกล่าวนี้ได้มาตลอด จะว่าผมเขียน เพชรพระอุมาภาคแรก ขึ้นมาโดยก๊อปปี้เค้าโครงเรื่องนี้ ผมก็ยอมรับ แต่รายละเอียดของโครงภายในและปลีกย่อยการดำเนินเรื่องต่าง ๆ นั้น เป็นของผมเองโดยบริสุทธ์ เอาแต่โครงเรื่องสั้นๆ ของเขามาเท่านั้น ว่าจุดมุ่งหมายของเรื่องอยู่ในแนวทางนี้ แนวทางอย่างที่ได้เขียนออกมาแล้วมีเนื้อหาแค่ 4-5 บรรทัดนี่แหละ

บทประพันธ์เรื่อง คิง โซโลมอน'ส มายน์ส เป็นเรื่องที่ไม่ยาวครับ หนาแต่ปกแข็งเล่มเดียว ซึ่งครั้งแรก ผมก็กะ (อย่างที่บอกไว้ในฉบับก่อน) ว่าจะเขียนออกมาเป็นปกแข็งเพียง 1 เล่ม หรือไม่เกิน 2 เล่มเท่านั้น แต่แล้วในที่สุดโครงเรื่องมันก็กว้างใหญ่ไพศาลเป็นจำนวนถึงปกแข็ง 53 เล่ม ดังได้เรียนแล้ว

เป็นอันว่า ท่านกระจ่างแจ้งละว่าโครงเรื่องย่อๆ เฉพาะภาคหนึ่งนั้น ผมได้มาจากไหน คราวนี้ ว่าถึงโครงเรื่องละเอียด ที่นำเรื่องให้ขยายกว้างไกลออกไปลิบลับ สมมติว่า ท่านได้อ่านนิยายผจญภัยของ แฮกการ์ด เรื่องนี้มาก่อนแล้ว (ถ้าหาต้นฉบับเดิมไม่ได้ ผมก็แนะให้ไปหาเรื่องแปล สมบัติพระศุลี ตามห้องสมุดต่างๆ อ่านดู) ท่านจะเห็นได้ชัดเจนว่า นอกจากพล็อตเรื่องสั้นๆ นี้แล้ว อย่างอื่นๆ จะไม่มีอะไรใกล้เคียงกันเลย แม้กระทั่งลักษณะอุปนิสัยของตัวละครในเรื่องทุกตัว ฉาก, สถานที่, พฤติกรรมที่มันเกาะเกี่ยวประสานกัน ในต้นฉบับเดิมนั้น คณะเดินทางไม่มีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย เป็นเรื่องผจญภัยล้วนๆ ในกาฬทวีปของผมก็สร้างตัวเองฝ่ายหญิงของเรื่องขึ้นมา คือ ม.ร.ว.หญิง ดาริน วราฤทธิ์ เพื่อให้ร่วมเดินทางเป็น "ขมิ้นกับปูน" หรือ "คู่ปรับสำคัญ" ของพรานนำทางไปด้วย และตัวคนพื้นเมืองลึกลับที่มาสมัคร เป็นคนใช้ของคณะเดินทาง ในต้นฉบับเดิมของเรื่องเก่า จะไม่มีบทบาทอะไรมากนัก แต่ท่านที่อ่านนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาแล้วนั้น ท่านคงจะรู้จักแงชาย หรือ จักราช ดี โดยไม่ต้องอธิบายเปรียบเทียบอะไรมาก ว่าแพรวไปด้วยกลเม็ดเด็ดพรายขนาดไหน เชือดเฉือนหักเหลี่ยมเล่นเชิงกับ รพินทร์ อยู่ในทุกบททุกตอน ทำท่าจะเป็นตัวเอกสำคัญกว่าตัวรพินทร์เองเสียอีก ในนิยายเรื่องนี้ เหมือนมี "พระเอก" อยู่สองคน แงชายจะไม่ดูว่าเต็มไปด้วยเล่ห์ไหวพริบ เก่งกาจ น่ารักน่าชัง ถ้าหากไม่มีตัวรพินทร์ และแม้รพินทร์เอง ก็จะไม่เป็นพรานป่า ระดับ "จอมพราน" ไปได้เลย ถ้าหากไม่มีแงชายมาเป็นตัวช่วยเสริมบทให้ และท่านผู้อ่านบางท่านอาจชอบ "แงชาย" มากกว่ารพินทร์เสียอีก ดูคล้ายๆ กับว่า ไม่ว่าจะฝีมือชั้นเชิงเขาเหนือรพินทร์ไปเสียหมดทุกอย่าง แต่แท้ที่จริงแล้ว เขายังด้อยกว่าในส่วนลึกๆ ซึ่งในเนื้อหาของเรื่อง ท่านผู้อ่านคงจะดูดซับรับจินตนาการ ที่ผมเจตนาจะให้เป็นไปเช่นนี้ได้อยู่แล้ว

เมื่อได้โครงสร้างสำคัญของเรื่อง และโครงสร้างส่วนประกอบอื่นๆ ครบถ้วนแล้วผมก็เริ่มลงมือเขียนนิยายเรื่องนี้ ท่านอาจสงสัยต่อไปอีกว่า เรื่องเกี่ยวกับป่าดงพงไพร หรือการเดินป่า ผจญกับสัตว์ป่าในรูปแบบต่างๆ นั้น ผมไปเอามาจากไหน ?

อันนี้แหละครับ ที่ผมจะเปิดเผยให้ทราบเดี๋ยวนี้

เรื่องราวหรือนวนิยายของผมทุกเรื่องที่เกี่ยวพันกับทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าผมไม่รู้ด้วยตนเอง หรือไม่เคยศึกษามาก่อน ผมจะไม่เขียนเป็นอันขาด เพราะเขียนไม่ได้ ไม่มีวัตถุดิบอะไรจะเขียน ดังท่านอาจสังเกตเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์หรือนิยายที่อิงพงศาวดารจีน ผมไม่เคยเขียนเลย เพราะผมไม่เคยรู้เรื่องของเมืองจีน ทั้งอดีตและปัจจุบัน จะตั้งชื่อตัวละครสักตัวก็ยังตั้งไม่ถูกเลย เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่กล้าเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจีนเลย ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์ พงศาวดารจีน มีเรื่องพิลึกกึกกืออยู่มากมายน่านำออกมาเขียนมากทีเดียว ผมยังศึกษาเข้าไม่ถึง จึงไม่กล้าเขียน กลัวจะผิดพลาด จะหลับตาวาดภาพนึกฝันเอาเอง ก็จะเป็นการปล่อยไก่ทั้งเล้าเสียเปล่าๆ เพราะท่านที่รู้ย่อมมีอยู่ทั่วไป คนเขียนหนังสือนั้น ตัวเองเขียนอยู่คนเดียว แต่คนอ่านนับจำนวนมากมาย ผิดพลาดอย่างไรเป็นต้องถูกค้นพบ จับได้อยู่วันยังค่ำ ผมจึงขอยืนยัน ณ ที่นี้อีกครั้งว่า เรื่องอะไรที่ผมไม่มีความรู้ ความชำนาญ มาก่อนผมจะไม่เขียนอย่างเด็ดขาด แม้ว่าใจอยากจะเขียนสักเพียงไรก็ตาม

เรื่องของป่า ผมรู้มาจากไหน?
ถ้าไม่เป็นการปิดบังอำพรางกันแล้ว ผมขอเรียนให้ท่านผู้อ่าน ที่อาจทราบมาบ้างแล้ว (หรืออาจจะยังไม่ทราบมาเลย) ว่า ผมเป็นคนชอบเดินป่าล่าสัตว์อันตรายมาก่อนในอดีตบรรพบุรุษเชื้อสายเลือดสืบทอดกันมาในเรื่องการเดินป่า นิสัยผมเองก็รักในการผจญภัย รักปืนผาหน้าไม้ รักในการล่า ติดมาในสายเลือดและเป็นคนที่แย่มาก ในด้านทำบาปขึ้นเหลือเกิน สิ่งนี้อาจถือเป็นโชคในแง่ของพรานนักล่า แต่ชั่วช้าบาปหนามาก สำหรับบุคคลที่เคร่งอยู่ในธรรมะ ผมชอบล่า ชอบแกะรอยมาโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่เล็กๆ แล้วครับ ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าไม่เกี่ยวกับการเขียน "เบื้องหลังนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา" ผมก็ไม่อยากจะเปิดเผยในสิ่งไม่เป็นมงคลกับตนเอง กับท่านเลย มันเป็นสิ่งไม่ดีไม่งามเลยสักนิด ในการที่จะบอกถึงความเป็นนักปานาติบาตของตนเอง ซึ่งรู้จักการล่ามาตั้งแต่อายุน้อยๆ แค่ 7-8 ขวบ และพี่น้องในสกุลของผม ที่ได้รับมรดกตกทอดในเรื่องนี้จากบรรพบุรุษ ก็มีผมเพียงคนเดียวเท่านั้น พี่น้องญาติโยมคนอื่นๆ เขาไม่ใจบาปอย่างผมหรอก ทุกคนล้วนเอื้ออารีย์เวทนาปราณี ต่อสัตว์โลกทั้งสิ้น ดันมีผมอยู่คนเดียว ที่ได้รับสายเลือดมาจากปู่ และตา อย่างเต็มที่ (ก็โชคดีอยู่บ้างที่ลูกๆ ของผมไม่ได้รับเอามรดกสายเลือดชนิดนี้ไว้เลยสักคนเดียว - บุญไปอย่าง)

ปู่เป็นเจ้าของเหมืองทองคำโต๊ะโม๊ะ เป็นผู้บุกเบิกและค้นพบเหมืองทองคำแห่งนั้น สาเหตุที่ไปค้นพบเข้าก็เพราะ เป็นนักพเนจรซอกซอนป่าของท่านนี่แหละ และกว่าจะพบเหมืองทองได้ ท่านก็ต้องผ่านผจญกับ ป่า มานับไม่ถ้วน กรณีเรื่องการยิงเสือลายพาดกลอนบนหลังช้างของท่าน ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหมือนนักกีฬายิงปืนทุกวันนี้ ที่เอาปืนของคนไปยิงเป้ากระดาษ (ผมเองเกิดไม่ทันท่านหรอก เพราะท่านเสียชีวิตไปตั้งแต่คุณพ่อผมอายุได้ 11 ขวบ แต่หลักฐานทางจดหมายเหตุติดต่อ และหลักฐานทางวัตถุ และเอกสารหลายชิ้นที่ตกทอดมาถึงผมยืนยันครบ นอกเหนือไปจากคำบอกเล่าของย่า และญาติผู้ใหญ่ที่ยังพอมีชีวิตเหลืออยู่)

ส่วนตาของผม (พ่อของแม่) ถึงแม้จะไม่ใช่พรานอาชีพ แต่ท่านก็เป็นพรานกิติมศักดิ์ (รายนี้ผมเกิดทัน ซึ่งท่านมาเสียชีวิตเอาเมื่อผมอายุตั้ง 20 ปีแล้ว) ตาได้สอนผมมาแต่เล็กแต่น้อยทีเดียว ในเรื่องมนตราอาคม และวิชาการล่าสัตว์หรือหลีกหลบสัตว์ (ก็สุดแล้วแต่กรณีไป) รวมทั้งสอนวิชายังชีพในป่าให้แก่ผม ก็ไม่ได้เจตนาจะสอนให้โดยตรงหรอก แต่เหตุการณ์จำเจบังคับ ท่านออกป่าล่าสัตว์ ผมก็ออกกับท่าน ท่านบริกรรมปลุกเสกอย่างไร ผมก็ได้รับการเรียนรู้ และแม้ท่านถลกหนังสัตว์ชนิดไหนอย่างไร ผมก็จำเอาไว้ เพราะเป็นลูกมือช่วยเหลือท่านอยู่ด้วย เหล่านี้ มันซึมซาบเข้าไปในสันานของผมโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าฝึกกันมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ ทีเดียว

สมัยที่หลบระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่สอง อพยพไปเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านเกิดเดิม อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ตา คือครูคนแรกในการฝึกนิสัยเดินป่า และดำรงค์ชีพอยู่ในป่าให้แก่ผม ซึ่งแต่แรกเริ่มเมื่อยังตัวน้อยๆ อยู่นั้น ก็เริ่มใช้หนังสะติ๊ก และไม้ซาง, ล่านก, ล่าหนู, ล่าปลาช่อนไปก่อน พอโตขึ้นอีกหน่อย ก็เริ่มใช้ปืนลม จนกระทั่งไต่ อันดับขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นปืนลูกกรด .22, ปืนลูกซอง, ขึ้นมาจนกระทั่งไรเฟิลขนาดหนัก (แต่ผมสาบานได้ว่า ในชีวิตไม่เคยฆ่าช้างเลย แม้จะประจัญหน้ากันในระยะกระชั้นชิด หลายต่อหลายครั้งก็ตาม เพราะผมให้สัตย์ไว้ก่อนว่า ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ยิงช้าง และสัจจะอันนั้น ผมรักษาไว้ได้ตลอดไปในยุคที่ยังเข้าป่าล่าสัตว์อยู่)

มีพรานใหญ่คนหนึ่ง ชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั้งประเทศไทย ถ้าเอ่ยชื่อท่าน ก็คงร้องอ๋อ ท่านผู้นี้ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่อาจได้รับอิทธิพลจากสายเลือดทางบรรพบุรุษตกทอดมา ท่านล่าและศึกษาชีวิตในป่ามามาก จนสามารถจะทำพอพิพิธภัณฑ์สัตว์ป่าในบ้านได้ และท่านก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดัน พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าออกมา นึกออกไหมครับ ว่าท่านเป็นใคร

คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น อาผมเอง !!

เมื่ออยู่ในวัยที่โตขึ้นพอสมควรแล้ว ผมได้มาศึกษาเรียนรู้เรื่องป่า และสัตว์ป่าเอากับคุณหมอบุญส่ง เลขะกุล นี่แหละ เป็นการเพิ่มเติม ระยะนั้นเป็นระยะที่ตัวท่านเองเบื่อการล่าสัตว์แล้ว และเห็นว่าสัตว์ป่ากำลังจะหมดไปจากประเทศไทย จึงพยายามที่จะหาทางให้รัฐออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า ออกมาให้ได้ แต่มันกลับเป็นระยะที่ผมกำลังฟิตเต็มที่ในเรื่องป่าและสัตว์ป่า, ความต้องการของเราจึงสวนทางกัน ประสาเด็กกับผู้ใหญ่ ระหว่างที่ผมไปขอศึกษาเรื่องราวของป่าและสัตว์ป่า, ความต้องการของเราจึงสวนทางกัน ประสาเด็กกับผู้ใหญ่ ระหว่างที่ผมไปขอศึกษาเรื่องราวของป่าและสัตว์ป่ากับท่านผมก็ไม่เคยบอกท่านเลยว่า ตัวผมเองเข้าป่ารังแกสัตว์ทุกปี อย่างน้อยปีละหน ครั้งละนานๆ ท่านก็ได้แต่อบรมสั่งสอนให้ผมรู้จักธรรมชาติรักชีวิตสัตว์ป่า อันเป็นทรัพยากรของชาติ ส่วนผมก็คิดอยู่ในใจ ระหว่างที่ท่านพร่ำพูดสอนเตือนว่า "ก็คุณอาล่ามาเสียจนพอแล้วนี่!"

เกริ่นมาเพียงสั้นๆ แค่นี้ คงจะไม่ต้องอัตถาธิบายแจกแจงอะไรละเอียดไปกว่านี้อีกแล้วนะครับว่า ป่านั้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตอดีตของผม ซึ่งมีหลักเกณฑ์และหลักการครบ ไม่ใช่ว่าพอนึกอยากจะเข้าป่า ก็เอารถจิ๊ปออกไปส่องตามทุ่ง ป่าของผมนั้น หมายถึงว่าจะต้องบุกห้วย ปีนเขา ไต่หน้าผาขึ้นไป รถยนต์เข้าถึงที่ไหนผมไม่เรียกว่าป่าหรอก และสำหรับป่าในเมืองไทย (รวมทั้งสัตว์ป่าด้วย) มีเหลืออยู่ให้เห็นสำหรับคนรุ่นผมเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว (ยกเว้นป่าสงวน วนอุทธยานในปัจจุบันนี้) คือเมื่อประมาณครั้งล่าสุด ราว พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นปีที่ผมเอาฝรั่งเข้าไปสำรวจถิ่นมนุษย์หิน ในป่าเมืองกาญจน์ทางด้านหลังน้ำตกเอราวัณ ซึ่งหลังจากนั้นมาแล้ว ไม่มีป่าใหญ่จริงๆ เหลืออยู่อีกแล้วในเมืองไทย เพราะพวกบุกตัดกันหมด !

ยุคที่ผมตระเวณป่าอยู่นั้น ก็คงจะเป็นยุคเดียวกับ ไกร วิริยะ ผู้เขียนเรื่องชุด ป่าดงและพงไพร ในนิตรยสารฉบับนี้ ท่องเที่ยวอยู่นั้นแหละ เพียงแต่ว่าเรายังไม่รู้จักกันในสมัยนั้น และเราไปกันคนละตำแหน่งแห่งที่ หรือบางทีก็อาจจะสวนกันไปมา โดยต่างฝ่ายต่างไม่รู้ แต่สำหรับผมนั้น เดิน จริงๆ ครับ มีอะไรก็แบกหามบุกเขาข้ามห้วยกันไป ไม่มีรถจิ๊ปจะใช้วิ่งหาสัตว์หรอก เดินข้ามเขากันเป็นลูกๆ ต่อวัน ค่ำไหนนอนนั่น มีแค่ผ้าพลาสติกสองผืน ผืนหนึ่งปูนอน อีกผืนขึงบังอยู่ด้านบน ช่วยกันค้างหรือฝนเท่านั้น ไม่มีวาสนาได้นอนเต้นท์กับเขาหรอก และเกือบตายเพราะขาดแหล่งน้ำ และหลงป่าอยู่หลายครั้ง

เป็นอันว่า ท่านคงจะหายสงสัยแล้วนะครับ ว่าผมเอารายละเอียดเกี่ยวกับป่าดงที่ไหนมาใส่ไว้ในเพชรพระอุมาได้ นี่คือโครงเรื่องเสริมของพล็อตใหญ่คร่าวๆ ดังได้กล่าวมาแต่แรกแล้ว ชื่อสถานที่ก็ดี ชื่อตัวละครก็ดีเหตุการณ์ในการพบผจญกับสัตว์ป่าต่างๆ มาด้วยตนเอง และผู้ร่วมคณะร่วมเหตุการณ์ก็ดีคือ สิ่งที่ท่านอ่านและจินตนาการภาพออกมาได้ ในต้อนต้นๆ ของเรื่อง (คือตอนดงมรณะ และไพรมหากาฬ) ส่วนเรื่องลี้ลับพิสดาร หรืออาถรรพ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในเรื่อง บางส่วนก็เป็นสิ่งที่พบมากับตนเองและพรรคพวก บางส่วนก็ได้รับการบอกเล่าให้ฟังจากเพื่อนพรานพื้นเมือง และพรานอาวุโส ที่เรามักจะมาเล่าสู่กันฟังข้างกองไฟในระหว่างพักแรมคืน หรือบางเหตุการณ์ที่มันพิศดารมากๆ ก็เป็นเหตุการณ์ที่ตาได้เคยเล่าให้ฟัง สมัยที่ท่านเดินป่าประสพมาหรือบิดาของท่านพบเห็นมาอีกทีหนึ่ง มันจะเท็จจริงหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่มันก็เป็นเรื่องราวของป่า ที่เล่าสู่กันฟังมาโดยไม่จำเป็นจะต้องคิดขึ้นมาเองให้เสียเวลา

สรุปก็คือ นิทานในป่าของผมมีแยะ สิ่งเหล่านี้แหละ ที่เอาเข้ามาเป็นองค์ประกอบของเรื่อง อันเรียกได้ว่า วัตถุดิบในป่านั้น เต็มเพียบอยู่แล้ว ที่จะนำมาเขียนลงไว้ในพฤติการณ์ของเรื่องราวนวนิยาย เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไร ที่เรื่องราวมีตื่นเต้นลี้ลับพิศดารสารพัดชนิด

ทำไมเรื่องนี้ถึงยาวมากนัก ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในเรื่อง (ทั้งสองภาค) คิดแล้วน่าจะเป็นเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น แต่เขียนให้อ่านมาได้ตั้ง 25 ปีเศษ?

คำตอบในเรื่องนี้ก็คือ ถ้าท่านอ่านโดยละเอียดและจับเหตุการณ์ไปให้ดี จะพบว่าเนื้อเรื่องได้ดำเนินไปชนิดนาทีต่อนาที ทีเดียว คือนาทีนี้เกิดอะไร มีเหตุการณ์อย่างไร และนาทีต่อไปมีอะไรบ้าง สรุปก็คือเขียนกันละเอียดยิบ เพื่อให้ท่านจินตนาการตามตัวอักษร และสร้างภาพพจน์ให้เกิดขึ้น โดยมีอารมณ์ร่วมติดตามไปด้วยทุกขณะเหมือนได้เข้าไปเดินป่าร่วมอยู่กับคณะในนวนิยายด้วย แต่ก็ต้องมีหลักอยู่ว่า จะต้องไม่ทำให้ท่านผู้อ่าน เกิดอาการเบื่อหน่ายขึ้น ท่านจะต้องอ่านตามเรื่อง ไปด้วยจิตใจที่จดจ่อ ครั้นจบตอนลงไปตอนหนึ่ง (ตามตอนที่เขียนในแต่ละครั้ง) ท่านก็อาจปิดหนังสือและสบถด่าว่า "ตุ๋ย! ไม่เห็นเรื่องคืบหน้าไปแค่ไหนเลย" ผมพอใจที่จะให้ท่านมีความรู้สึกสาปแช่งเช่นนั้น แต่ต้องทำให้ได้ในข้อที่ว่า พอหนังสืองวดใหม่ออกวางตลาด ท่านจะทิ้งเสียไม่ได้ จะต้องไปหาซื้อมาอ่านต่อ และพออ่านจบ ก็ด่าคนเขียนอีกในทำนองว่า เรื่องไม่เห็นคืบหน้าไปถึงไหน ซึ่งนี่มันเป็นกลเม็ดของผมครับ ที่เกิดมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนนวนิยายขายให้อภัยผมเถอะ รับสารภาพกันตามตรง

และถ้าท่านสังเกตให้ถี่ถ้วนต่อไปอีก ผมจะไม่เขียนถึงพฤติการณ์ตอนไหนที่ผ่านลวกๆ เลยไปเสียอย่างเด็ดขาด จะแจกแจงทุกอริยาบทของตัวละครทีเดียว สัตว์ต่างๆ เมื่อถูกปืนมันมีอาการอย่างไรบ้าง ผมจะทำให้ท่านมองเห็นภาพอย่างชัดเจนที่สุด เหมือนท่านยิงด้วยมือเอง จะไม่บอกสั้นๆ แต่เพียงว่า "พอปืนลั่นโป้ง มันก็ล้มลงตาย" แบบนี้เลย เพราะนั่นไม่ใช่วิธีการเขียนของผม อีกประการหนึ่ง ท่านจะไม่พบคำแบบนิยายเรื่องจีนว่า "ครั้นแล้วอีกหนึ่งอาทิตย์ต่อมา" คือตัดภาพกันทีเดียว โดดข้ามกาลเวลาและเหตุการณ์ เป็นอาทิตย์เลย โดยไม่ให้คนอ่านเห็นเลยว่าก่อนจะถึงตั้งหนึ่งอาทิตย์ อะไรมันเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

ก็นี่แหละครับ มันจึงเป็นนิยายชุดยาวเฟื้อยฟ้าย พูดอย่างล้อๆ หรือหมิ่นๆ กันว่า 500 ตอนยังไม่จบ ก็ผมเกิดมาเป็นนักเขียนน่ะ มีหน้าที่จะต้องเขียนหนังสือ ถ้าจบเรื่องนี้ไปแล้ว ก็ต้องเขียนเรื่องใหม่อื่นๆ ต่อไป แล้วจะมาบังคับกะเกณฑ์กันทำไมว่า ควรจะต้องเขียนเท่านั้น เท่านี้ตอนจบ และมันแตกต่างกันอย่างไร ระหว่างเรื่อง 2-3 ตอนจบกับ 500 หรือ 1,000 ตอนจบ ตราบใดที่เกิดมาเขียนและตราบใดที่เขียนแล้วยังมีคนอ่านอยู่ เพราะฉะนั้น อย่ากระแหนะกระแหนผมเลย ว่าเขียนเรื่องยาวเหลือเกิน เรื่องสั้นๆ ผมก็เขียนได้แต่เขียนแล้วมันทำเงินสู้เรื่องยาวไม่ได้ และเรื่องยาวก็เป็นหลักเป็นฐานดี ช่วยให้ยาไส้ไปได้นาน ซ้ำอาจเกิดมรรคผลติดตามมา อื่นๆ อีกนานับประการ ธุระอะไรที่จะเขียนให้มันสั้นๆ อยากอ่านเรื่องสั้น ก็ไปอ่านคอลัมน์บรรณาธิการแถลง ของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับหรืออ่านคำขวัญ สุภาษิต ที่เขียนติดอยู่ท้ายรถบรรทุกไม่ดีกว่าหรือ อาทิเช่น "รักพี่จงหนีพ่อ" ได้ความหมายอยู่ในตัวของมันเองเป็นเรื่องๆ หนึ่ง จบสิ้นสมบูรณ์ลงเพียงถ้อยคำแค่ 5 คำเท่านั้น

ผมถูกเพื่อนฝูง หรือคนรู้จักล้อเลียนอยู่เสมอว่า เรื่องเพชรพระอุมา จะไม่มีวันจบ แต่ผมก็พิสูจน์ออกมาแล้ว ว่ามันต้องจบจนได้ ตราบใดที่ผมไม่ตายเสียก่อน แม้ภาคแรกก็จบไปแล้ว ในปฏิบัติการเดินป่าชุดที่หนึ่ง คือไปตามคนหายกลับคืนมาได้ ส่วนภาคสองและภาคสามนี้ ก็เป็นปฏิบัติการตอนไปตามเครื่องบินตก ซึ่งก็ไปพบเครื่องบินตกเรียบร้อย ตามสัญญาว่าจ้างแล้ว ต้องเดินทางกลับ เพราะเหตุการณ์ทำให้ไม่สามารถจะกู้ซากเครื่องบินได้

ในฉบับหน้า ผมจะได้เล่าถึงพฤติการณ์บางพฤติการณ์ในเรื่องพอเป็นตัวอย่าง ที่ผมได้เผชิญมาเอง หรือว่าได้รับฟังการบอกเล่ามาจากใครอย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบไว้ ซึ่งมันจะเป็นผลดีกับผู้ที่รักชอบในการเดินป่า เรื่องราวของป่า ซึ่งต่อไปนี้ จะไม่มีโอกาสได้พบเห็นป่าในสภาพที่แท้จริงอีกแล้ว อย่างเช่นตะขาบตัวขนาดต้นซุง เลื้อยมาทีเป็นเสียงคล้ายพายุ (ผมคิดเองหรือ?) ต้นพริกขี้หนูที่ใหญ่ขนาดหลายคนโอบ เส้นเถาวัลย์ขนาดต้นขาอ่อน โขมดดูดเลือด นครร้างที่หลงเหลือซากอยู่ในป่า เสือสมิง หรือเสือที่ปีศาจเข้าสิงอะไรเหล่านี้ แต่ถ้าเบื่อ โทรศัพท์ หรือจดหมายมาบอกกันได้นะครับ ผมจะได้ยุติเสีย เพราะนี่เป็นการคุยกัน ไม่ใช่เรื่องราวในนวนิยายซึ่งกำลังลงติดต่อสืบเนื่อง และผมก็ให้สัญญาแล้วว่าจะไม่เขียนยาว และสิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ยังไม่ถึงตอนที่ผมจะเขียนถึงก็คือ ตัวละครแต่ละตัว ผมไปเอามาจากไหน ถ่ายทอดจำลองแบบของใครมา คิดขึ้นเอง หรือมีตัวจริงอย่างไร?

อินไซด์เพชรพระอุมา 3

เขียนเบื้องหลังงานเขียนเพชรพระอุมาได้แค่สองฉบับ ผมก็ถูกเพื่อนฝูงและลูกศิษย์ลูกหา "แซว" เอาแล้วครับ ว่าเนื้อเรื่องนั้นเขียนใช้เวลา 25 ปีเศษ เบื้องหลัง หรือ "อินไซด์ฯ" นี่ ก็ขออย่าให้ถึงกับเป็น 10 ปีเลย เอาแค่ 1 ปีก็เห็นจะพอ!

ผมออกกระดาก ที่ถูกกระเซ้ามาแบบนี้ ทั้งๆ ที่ก็ได้บอกไว้ก่อนแล้วว่า จะไม่ให้มันยาวเยิ่นเย้อ ติดลมเรื่อยเปื่อยและมาประกอบกับที่กำลังหมดแรงอยู่พอดี จึงคิดว่าจะเขียนเล่าให้รวบรัดที่สุด เอาว่า อย่างช้าเล่มหน้าหมดสิ้นเรื่องราวกันไปเสียทีดีไหมครับ ผมเองก็เหนื่อยเต็มทีแล้วเหมือนกัน อยากจะพักงานเขียนนวนิยายลงสักระยะหนึ่งก่อนชั่วขณะ โดยทำเฉพาะเรื่องตำรับตำรา และควบคุมการทดสอบปืน กับบริหารหนังสือไปพลางๆ ก่อน พอให้หายเหนื่อยแล้วค่อยว่ากันใหม่ คงไม่ใช่ว่าจะหยุดเขียนนวนิยายไปเสียเลยหรอก เกิดมาเป็นนักเขียน ก็คงต้องเขียนไปจนกว่าจะตายนั่นแหละ ต่อให้ไม่มีใครอ่านแล้ว ก็ยังต้องเขียน อย่างน้อยก็เขียนไว้สำหรับอ่านเอง

โครงประกอบของเรื่อง

เค้าโครงภายใน อันเป็นส่วนประกอบของเรื่อง ได้เรียนแล้วว่า บางส่วนได้ประสบมากับตนเอง (เกี่ยวกับล่าสัตว์ หรือพฤติการณ์ที่สัตว์ร้ายชาร์จเข้ามา) และบางส่วนก็เป็นสิ่งที่ได้รับการบอกเล่ามาจากนักท่องไพร รุ่นปู่ตาหรือทวดมาก่อน หรือมิฉะนั้น ก็จากการบอกเล่าของพรานพื้นเมืองอาวุโส ที่นั่งเล่ากันข้างกองไฟ ในเวลาค่ำคืน ในขณะที่ออกล่าสัตว์อยู่ด้วยกัน โดยที่เวลาเล่า "นิทานปา" ข้างกองไฟนั้น เป็นเวลาที่เฝ้าแค้มป์ โดยไม่ได้ออกไปตระเวณล่า, นั่งห้าง, นั่งซุ้ม หรือออกเดินตามรอยสัตว์ สรุปก็คือ เล่ากันในเวลาว่างเว้นภาระกิจนั่นแหละ เรื่องเหล่านี้ ก็คือเรื่องราวพิลึกกึกกือ น่าตื่นเต้น น่าสนใจที่เกิดขึ้นในป่า เป็นเรื่องราวที่มีปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ลี้ลับต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ และพิสูจน์ไม่ได้ทั้งสิ้น แต่มันก็เป็นเรื่องสนุก น่าทึ่ง และยามที่นั่งล้อมกองไฟกันอยู่กลางป่าลึกในขณะที่ได้รับการบอกเล่า หรือฟังนิยายแต่ละเรื่องนั้น ผมกล้ารับรองได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามถ้าอยู่ในภูมิประเทศแวดล้อมรอบตัวของป่าใหญ่กันดาร แสนที่จะน่ากลัวและปลอดเปลี่ยวเช่นนั้น ก็คงไม่มีใครกล้าที่จะหัวเราะดูแคลนได้ อย่างเด็ดขาด ผิดกับการนำมาเล่ากันในเมืองที่เต็มไปด้วยแสงสีความอึกทึกพลุกพล่านของผู้คนบรรยากาศของป่าแวดล้อมรอบตัว มันจะสะกดเราให้นั่งกอดเข่าฟังอย่างชนิดอ้าปากค้าง และขนลุกขนพองอยู่ตลอดเวลา

มันอาจเป็นเรื่องเหลวไหล หรือสร้างเรื่องกันขึ้นมาเองในบรรดาพรานผู้คร่ำหวอดทั้งหลาย แต่เราก็ไม่กล้าที่จะไปดูแคลนหมินเยาะ ในเรื่องที่เขาเล่าเสียได้ นักวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายคนมาแล้ว ที่ว่าแน่ๆ อะไรๆ ก็ร้องว่า "อิมพอสสิเบิ้ล" นั้น เวลาไปเดินอยู่กลางป่าลึกกับผมตามลำพังสองต่อสอง ผมเห็นเขาหน้าเหลือสองนิ้ว สะดุ้งหวาดผวาตาแหกไปหมด ในทุกสิ่งที่แกรกกรากรอบตัว และจะเกาะผมแจโดยไม่ยอมให้ห่างไกลแม้แต่สักสองวา มันตรงข้ามกับบุคคลิกอันแสนจะอาจหาญ เย่อหยิ่งยะโสรอบรู้ในกฎเกณฑ์ของทางวิทยาศาสตร์ ที่เขาร่ำเรียนมาชนิดเป็นตรงกันข้ามทีเดียว

หรือบางคนไปนั่งห้างนั่งซุ้มกับผม ก็เกิดอาการหมดสติแหกปากร้องโวยวาย จะวิ่งป่าแตกไปไม่รู้ทิศทางกลางดึกอยู่บ่อยๆ ถ้าผมไม่ล็อคตัวเขาไว้เสียก่อน อิทธิพลของป่าใหญ่มันข่มความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของเขาเสียจนหมดสิ้น นี่เป็นการยืนยันให้เห็นว่า ในป่าแล้ว มันเป็นคนละเรื่องกับในเมือง ชนิดดำกับขาวทีเดียว ใครที่แน่ๆ กล้าหาญชาญชัยสักขนาดไหน เชื่อทฤษฎีกฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์เพียงไร ลองไปเดินป่าตามลำพัง หรือไปอยู่คนเดียวในป่าลึกๆ ดูสักครั้ง จะรู้สึกซึมซาบได้เอง ยกเว้นแต่ว่าจะมีการฝึกหัดอบรม และคุ้นเคยกับป่าก่อนเท่านั้น ก็อาจควบคุมจิตเอาไว้ได้

เพราะฉะนั้น เรื่องความมหัศจรรย์ของป่า ที่รับฟังมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อม อันเป็นป่าดงลึกๆ เต็มไปด้วยความเปลี่ยวปลอดกันดาร หันไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นไม้ขนาดหลายๆ คนโอบ ยืนตระหง่าน และมีเงาอันน่าระแวงสงสัยอยู่ทุกพุ่ม ทุกพงรอบด้าน จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนฟังแล้วยากที่จะหัวเราะเยาะ เห็นเป็นเรื่องขบขันเสียได้ แม้จะไม่เชื่อก็ต้องหุบปากเงียบสงบนิ่งงันไปทีเดียว

พวกพรานป่ามีเรื่องเล่ากันทุกคน เพียงแต่เขาจะเล่าหรือไม่เล่าให้ฟังเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่หากเป็นพรานอาชีพจริงๆ แล้ว เขามักจะหุบปากนิ่ง ถ้าไม่คะยั้นคะยอกันจริงๆ แล้วเขาจะไม่ยอมเล่าอะไรให้เราฟังเป็นอันขาด เว้นแต่จำเป็นหรือเลี่ยงไม่ได้ และการเล่าจะเป็นการเล่าแบบปกติธรรมดา หน้าตาเฉยๆ เรียบๆ ของเขา จับไม่ได้เลยว่า มีการแต่งเติมปรุงรสชาดอะไรเข้าไปด้วยหรือไม่ มันเสมือนว่า เป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับชีวิตเดินป่าของเขาเสียเหลือเกิน

เมื่อออกมาจากป่าถึงเมืองแล้ว เราคิดอยู่เสมอว่า นั่นคือ "นิทานข้างกองไฟในป่า" แต่ขณะที่เราฟังเขาเล่าอยู่นั้น เราจะถูกมนต์อาถรรพ์ของป่าสะกดให้ต้องเคลิบเคลิ้ม และคล้อยตามอยู่ตลอดเวลา แม้ในส่วนลึกของเราเองที่ได้ศึกษาร่ำเรียนมาในโลกของวิทยาศาสตร์ จะมีความขัดแย้งและคิดคัดง้างอย่างไรก็ตาม แต่เราจะไม่กล้าพูดออกมาตรงๆ เลยว่า เขาโกหกหรือปั้นเรื่องขึ้น ก็เราจะไปกล้าคัดง้างเขาได้อย่างไร สมมติ เรายิงสัตว์ใหญ่ล้มเอาไว้ เขาก็บอกว่า ประเดี๋ยวไม่หั่นตากเนื้อหรอก ฝนจะตกใหญ่ เขาพูดในขณะที่แดดกำลังเปรี้ยงๆ ไม่เห็นเค้าของเมฆฝนเลย แต่แล้วชั่วครู่ใหญ่ต่อมา ฝนมันก็ตกหนักลงมาจริงๆ เป็นอุปสรรคต่อการแล่เนื้อออกตากแดด หรือผึ่งลมของเรา หรือถ้าเขาบอกว่า ต้นไม้ต้นนี้รากมันโผล่พ้นดินขึ้นมามาก ไม่น่าจะไปทำห้างดักรอสัตว์ ภูตป่ามันจะกวนตลอดทั้งคืน เราไม่เชื่อ เราก็ขึ้นไปนั่งห้างอยู่บนนั้น มันก็จริงดังว่า นอกจากสัตว์จะไม่เข้าแล้ว ตาเราฝาดเห็นและได้ยินอะไรต่ออะไรไปสารพัด เป็นเสียงและภาพเงา ที่ไม่ค่อยเป็นมงคลกับหู ตา และความรู้สึกเอาเสียเลย ก็เมื่อส่วนใหญ่อะไรในป่า ที่เขาบอก เขาพูด หรือเขาทัก แล้วมักจะต้องปรากฏผลเป็นจริงขึ้นเสมอ อย่างน้อยก็จริงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เช่นนี้แล้ว เรื่องราวที่เขาพูดเขาเล่าให้เราฟัง ถึงแม้จะไม่เชื่อ เห็นว่าเป็นสิ่งเหลวไหลสักเพียงไรก็ตาม แต่เราก็ต้องคิดหนักลังเลอยู่เหมือนกัน

"นิทานข้างกองไฟในป่า" เป็นประโยชน์สำหรับผมอย่างยิ่ง ในการเขียนนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา เพราะได้ดึงเข้ามาเป็นองค์ประกอบของเรื่องกว่าครึ่งค่อนเรื่องนอกเหนือจากเรื่องราวที่คิดฝันจินตนาการแต่งขึ้นเอง นี่พูดถึงวัตถุดิบที่ได้รับเมื่อโตขึ้นมาแล้ว, เมื่อตนเองเป็นนักเดินป่าแล้ว แต่ย้อนหลังลงไปกว่านั้น เป็นสิ่งที่ได้รับการบอกเล่า มาจากตาของผม ท่านเองก็ได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาเป็นทอดๆ ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของท่าน สมัยก่อนนี้ท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินกิติศัพท์ ของป่าดิบดงดำ ที่ลึกลับซับซ้อน และดุร้ายมากของเมืองไทยเรา (ซึ่งปัจจุบันนี้ ถนนสายมิตรภาพตัดผ่านตลอด สองฝั่งทางเต็มไปด้วยบ้านเรือน ผู้คน โรงงานอุตสาหกรรม และภูเขาหัวโล้น) นั่นก็คือ ดงพญาไฟ

ใครพยายามที่จะผ่านเข้าดงพญาไฟ ก็เหมือนจะเอาชีวิตไปทิ้งเสีย เพราะนอกจากความรกทึบเต็มไปด้วยอันตรายจากสัตว์ร้ายนานาชนิดแล้ว ยังเต็มไปด้วยไข้ป่า จนกระทั่งต้องมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น ดงพญาเย็น (คือเพื่อให้ "เย็น" ลงกว่าสภาพอันดุร้ายของมัน) ป่า ดงพญาไฟ หรือ ดงพญาเย็น นี่แหละ คือที่มาของเรื่องราวมหัศจรรย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องของ ผีโขมดดูดเลือด ซึ่งในเวลากลางคืน มองเห็นเป็นดาวไฟสีทับทิมแดงสว่างวูบๆ ลอยมาด้วยอาการเหมือนหิ่งห้อย เพื่อลงเกาะดูดเลือดคนเดินป่าที่กำลังหลับอยู่จนกระทั่งเลือดหมดตัวตายไปในเวลารุ่งเช้าอย่างลึกลับ…..

เรื่องราวของเสือสมิง หรือวิญญาณ ของคนตายที่ตายเพราะเสือกัด กลายเป็นผีตายโหง เข้าสิงร่างเสือ ซึ่งนำเสือมาราวีคน หรือพรานในรูปแบบที่น่าพรั่นพรึงต่างๆ…. เรื่องราวของต้นพริกขี้หนู ซึ่งเติบโตกลายเป็นต้นไม้ใหญ่หลายคนโอบ มีเม็ดของมันติดอยู่ตามกิ่งก้านสาขา ในลักษณะเหมือนหวีกล้วย…. เรื่องราวของตะขาบยักษ์ ตัวขนาดต้นซุง เวลาเลื้อยมาที เสียงตีนอันมากมายของมันที่ตะกายมากับกิ่งใบไม้แห้งฟังเหมือนเสียงพายุพัด และ ฯลฯ….

เหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่ผมนั่งอ้าปากฟังตาเล่า เมื่อสมัยยังเป็นเด็กๆ อยู่ ท่านเองก็คงเกิดไม่ทันในยุคนั้น บรรพบุรุษของท่านเล่ามาให้ฟังอีกทีหนึ่งถึงแม้อาจจะเป็นเรื่องนิทาน เรื่องที่เขาแต่งกันขึ้นมา มันก็ฟังดูเข้าท่าไม่ใช่หรือครับ ถ้าหากจะเอามาใส่ไว้ใน นวนิยาย ที่แต่งขึ้นมา โดยปรุงรสชาด สร้างเหตุ สร้างผลขึ้นมาเท่าที่จะทำได้ ความจริงผมก็อยากจะเล่าเกล็ดของเรื่องราวเหล่านี้ที่ได้รับฟังมาอีกทีหนึ่งให้ละเอียดออกไป เพราะโดยความพิสดารของมันมีอยู่ในแต่ละเรื่อง มีฝอยละเอียดมาก สนุกพอสมควรทีเดียว แต่ก็เห็นว่ามันจะหมดเปลืองเวลา เปลืองหน้ากระดาษไปเสียเปล่าๆ ก็เลยขอสรุปโดยย่นย่อ เกี่ยวกับเค้าโครงเรื่องที่ปรากฏอยู่ใน เพชรพระอุมา ว่า

1. มาจากประสบการณ์พบเห็นด้วยตนเอง (ส่วนน้อย)
2. มาจาก "นิทานข้างกองไฟในป่า" (เป็นส่วนค่อนข้างมาก)
3. มาจากที่บรรพบุรุษนักเดินป่า เล่าให้ฟังเมื่อตอนยังเป็นเด็กๆ (บางส่วน)
4. คิดสร้างเรื่อง จินตนาการ แต่งขึ้นเอง (เป็นส่วนใหญ่)
ทั้ง 4 องค์ประกอบนี้ เมื่อนำเข้ามารวมกันเข้าแล้ว ก็แน่นอนที่สุดว่า เรื่องราวที่จะเขียนขึ้น มันต้องแตกลูกแตกหลานไปได้ไกล…. อย่างน้อยก็ไกลเท่ากับความยาว ของเรื่อง ถ้าท่านอ่านโดยละเอียดมาแต่ต้น ก็จะแบ่งความรู้สึกได้เป็นสองลักษณะ คือในตอนต้นๆ นั้น เป็นศิลป์ในการเดินป่า, การยังชีพอยู่ในป่า และหลักการล่าสัตว์ ซึ่งมันเป็นหลักการแห่งความจริงทั้งหมด ที่อาศัยนำมาปูเป็นพื้นฐานก่อน ต่อมาก็เริ่มจะเป็นเรื่องราวที่ลี้ลับพิศดารขึ้น ตามลำดับ ซึ่งก็มาจากนิทานข้างกองไฟในป่านั่นเอง ผนวกกับคิดแต่งจินตนาการขึ้นดังได้เรียนแล้ว

มีภาคเกี่ยวกับ "แฟนตาซี" อยู่ภาคหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องราวของ นิราศนคร อันเป็นอาณาจักรที่ถล่มทลายแล้ว โดยไม่สามารถจะบอกถึงอายุของมันได้ ว่านครแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อใด ยุคใด สมัยไหน และก็ได้ผูกขึ้นให้เป็นเรื่องราวอัศจรรย์ ดังได้ปรากฏอยู่ในท้องเรื่อง สาเหตุก็มาจากที่ครั้งหนึ่ง ผมได้นำคนอเมริกันเข้าไปสำรวจถิ่นมนุษย์หินเมืองกาญจน์ ทางเขาเขียวด้านหลัง ของน้ำตกเอราวัณเข้าไป (ดังเคยกล่าวมาแล้ว) ยอดเขาที่ผมนำฝรั่งไต๋ขึ้นไปสูงกว่าระดับน้ำทะเลตามลำดับ ลูกแล้วลูกเล่านั้น แต่ละลูก มีป่าซ้อนป่า มีเขาซ้อนเขา มีทุ่งซ้อนทุ่ง คือเราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า เหนือยอดเขาลูกนั้นลูกนี้ ที่บ่ายหน้าไต่ขึ้นไปนั้น มันจะมีสภาพเป็นป่าฟื้นที่โล่งกว้างไกล ไม่ผิดอะไรกับป่าชั้นล่างที่ผ่านมาแล้ว จนทำให้เราลืมไปเสียแล้วว่า ก่อนที่เราจะมาพบป่าใหญ่เข้าอีกนั้น เราได้ไต่ระดับขึ้นมาช่วงหนึ่งแล้ว ครั้นพอทิ้งระดับเดิม เริ่มไต่ต่อไปอีก พอสุดทางของมันก็ไปพบทุ่งโล่งและดงทึบเข้าอีก เป็นอยู่เช่นนี้ นับครั้งไม่ถ้วน

และเป้าหมายแหล่งสุดท้ายนั้นเองผมได้ไปพบเข้ากับบริเวณเนินเขาอันกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง มีพยานวัตถุหลงเหลืออยู่ให้เห็นถึงสภาพที่เคยเป็นอาณาจักรอันรุ่งเรืองมาก่อน ลักษณะของมันมีคูเมือง มีตัวเมือง มีปราการสิ่งก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่จมหายไปใต้พื้นดินบางส่วน อันเป็นลักษณะกำแพงเมืองและสิ่งก่อสร้าง ลักษณะป้อมค่าย มันผุดโผล่ขึ้นมาให้เห็น เป็นบ้านเมืองของใครในสมัยไหน ผมก็ไม่อาจเดาได้เหมือนกันระหว่างที่พวกฝรั่งกำลังเพียรพยายามที่จะหาเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคสมัยหิน โดยไม่สนใจกับอาณาจักรร้างที่พบนั้น

ผมก็พิจารณาพิเคราะห์ไปอีกลักษณะหนึ่ง ผมไม่สนใจเรื่อง "ขวานหิน" หรือซากเรือโบราณ ที่พบอยู่ในถ้ำบริเวณใกล้เคียงกันอันแสดงให้เห็นว่า เป็นสมบัติของมนุษย์ยุคหิน แต่ผมกลับสนใจในอาณาจักรรกร้าง ลักษณะประหลาด ที่ไปพบเห็นจมดิน อยู่บนเนินเขากว้างใหญ่ลูกนั้น ตั้งคำถามว่า มันเป็นอาณาจักรอะไรในยุคสมัยใดกันแน่ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึกไว้ก่อน ผู้คนที่จะผ่านไปมาในละแวกนี้ ก็ยากนักที่จะมีได้ นอกจากกะเหรี่ยงเดนตาย ที่หาของป่าเพียงไม่เกินสองสามคน ที่เคยหนีโขลงช้างดุ เตลิดพลัดเข้ามาติดอยู่ในบริเวณนี้โดยบังเอิญ ไม่มีร่องรอยของมนุษย์หรือชาวป่าอื่นใด จะใช้เป็นเส้นทางผ่านไปมาเลย เพราะมันเปลี่ยวกันดารจริงๆ

สาเหตุแห่งการพบซากเมืองร้างหาที่มาไม่ได้กลางป่าลึกในครั้งนั้นเอง ทำให้เกิดเรื่องราวของ นิทรานคร และ ผีดิบมันตรัย กับ นางพญาพันธุมวดี ขึ้น ในพ.ศ.นั้น ขณะที่ผมกลับจากป่าออกมาแล้ว กรมศิลปากร (ในยุคนั้น) โวยจะเล่นงานผม หาว่าผมนำฝรั่งเข้าไปดินแดนที่กรมศิลป์ได้สำรวจเอาไว้แล้ว และประกาศเป็นเขตหวงห้ามเอาไว้แล้ว แต่โดยความจริง ผมไม่เคยเห็นราชการส่วนไหนของเรา หรือบุคคลมดโผล่เข้าไปถึงเลย สาเหตุที่เรื่องถูกเปิดเผยออกมา ก็เพราะฝรั่งชุดที่เข้าไปนั้น ดันเอาขวานหินไปให้หนังสือพิมพ์รายวันดู และหนังสือพิมพ์ลงข่าว กรมศิลป์ฯ ในยุคนั้นก็เลยจำเป็นต้องมีบทบาท ทั้งๆ ที่ร้อยวันพันปี (ในยุคนั้น) ไม่มีมนุษย์คนไหนผ่านเข้าไปถึงเลย นอกจากไอ้กะเหรี่ยงที่ชื่อ "ปิ" (เรียกสั้นๆ ว่างั้น) จะเผ่นหนีช้างป่าขึ้นไปติดอยู่ในถ้ำ บนซอกหน้าผา และไปพบเรือกับขวานหินโบราณเข้า และ "กะเหรี่ยงปิ" นี่แหละ ที่ป็นคนนำทางขึ้นไป ผมไม่ใช่ผู้นำทาง แต่ทำหน้าที่เป็นพรานคุ้มกัน เท่านั้น

ทุ่งใหญ่นเรศวร หรือ เซซาโว่ อันเป็นป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่นั้น ครั้งหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว คณะนายตำรวจทหารชุดหนึ่ง ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ไปปฏิบัติภาระกิจลับ อยู่ที่นั่น (ผมว่าไปตามเนื้อข่าว) ในครั้งนั้น เพื่อนนายตำรวจคนหนึ่งโทรศัพท์มาชวนผม แต่ก็โชคดีเหลือเกิน ผมติดธุระเรื่องเขียนหนังสือนี่แหละไปกับเขาด้วยไม่ได้ แล้วพวกเขาก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น ฮ. ตก ขากระทิง และสรรพสัตว์ป่ากระเด็นออกจาก ฮ.เต็มไปหมด จนเป็นข่าวอื้อฉาว ผมก็ได้แต่ลูบอก รำพึงว่า "อาตมารอดตัวไปทีนึง ที่บังเอิญไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย" ในครั้งนั้น หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เล่นข่าวใหญ่หลายวันติดต่อกัน มีบางฉบับบอกไว้ละเอียดยิบว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเรื่องขึ้น "พนมเทียน" เข้าไปสำรวจดูลาดเลาเอาไว้ก่อนแล้ว และหนังสือพิมพ์ได้ถ่ายภาพของทิวขุนเขาเยี่ยมฟ้ามาลงในหน้ากระดาษของตน ยืนยันด้วยว่า "นี่ยังไง เทือกพระศิวะ" ของ "พนมเทียน" รอดซวยไปได้แล้วก็เกือบซวยเข้าอีกเหมือนกัน เพราะข่าวนั้น แหล่งข่าวอ้าง ว่า "พนักงานป่าไม้เล่าให้นักข่าวฟังว่า "พนมเทียน" เคยผ่านเข้าไปก่อนแล้ว !"

ถ้าพนักงานป่าไม้เห็นผมเข้าไป (ตามที่ให้ข่าวหนังสือพิมพ์) ผมก็คงตกเป็นผู้ต้องหาไปแล้ว ผมเข้าป่าไหน จะไม่มีใครเห็นผมหรอก เพราะผมไม่นั่ง ฮ. ไป ไม่นั่งแม้แต่รถยนต์ แต่ผมจะเดินอย่างเดียวกับสัตว์ป่าครับ และขณะที่อยู่ในป่า ก็มีชีวิตดำรงอยู่เหมือนสัตว์ป่า ไม่เคยเอาเปรียบมันเลยในทุกวิถีทางเพียงแต่ใช้ไรเฟิลแทนเขี้ยวเล็บเท่านั้น เพราะไม่มีเขี้ยวเล็บหรืองาอย่างพวกมัน

อีกภาคหนึ่งของเรื่อง เพชรพระอุมา เป็นภาคที่เกิดจากความคิดฝันจินตนาการล้วนโดยสมมติให้เกิด การเวลาซ้อนเหลื่อมกัน นั้นคือเหตุการณ์ตอนที่คณะเดินป่า หลงเข้าไปในป่าโลกล้านปี ต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ดึกดำบรรพ์ ประเภทไดโนเสาร์ ต่างๆ อันนี้โกหกกันหนักหน่วงหน่อย

ผมเคยศึกษาเรื่องของโลกสมัยก่อนยุคประวัติศาสตร์มาก่อน เคยมีความรู้เรื่องภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และชีวิตของสัตว์ที่เคยเกิดมาในพิภพโลกนี้เมื่อยุคกว่า 100 ล้านปีขึ้นไป เรียนมาจากตำรา ถ้าจะโกหก ก็แปลว่าตำราได้โกหกไว้ก่อนแล้ว เรามาโกหกตามแนวทางนั้น ก็คงไม่เป็นไร เพราะเรียนมาอย่างนั้นนี่ นิสัยใจคอ ชีวิตการเป็นอยู่ของสัตว์โบราณพวกนั้นเป็นอย่างไร นักวิชาการในเรื่องเกี่ยวกับประเภทนี้ เขาก็ระบุบอกไว้ชัดแจ้งแล้ว โบราณชีวศาสตร์ก็เคยร่ำเรียนมา ทำไมผมจะสมมติเหตุการณ์ขึ้นมา (ให้เรื่องสนุกไม่ได้ คือ รพินทร์ นำคณะนายจ้างเดินทางหลงหรือข้าม "มิติ" ของกาลเวลา อาจเรียกได้ว่า เกิดขึ้นจากอาถรรพ์ของป่าดงดิบดำ) ก็ได้

คนอื่นเดินไม่พบ แต่รพินทร์เดินกลับพบเข้า เพราะเดินข้ามมิติย้อนกลับไปสู่โลกในอดีตกาลย้อนหลังไปไกลโพ้น สาเหตุก็คือความอาถรรพ์ของป่า พยายามป้องกันทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้บ่ายหน้าไปถึงเป้าหมาย (อันลี้ลับ) นั้นได้ จึงบันดาลให้พบเห็นเข้ากับสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์คนอื่น (สมมติถ้าพยายามเดินในเส้นทางเดียวกัน) ไม่อาจพบเห็นได้ ใครจะว่าผมโม้เกินกว่าเหตุ ผมก็ต้องยอมรับ

แต่ถึงจะเป็นเรื่องโกหกสมมติขึ้น ผมก็ไม่พยายามที่จะฉีกห่างตำราเรียนมาเกาะติดแจเลย มีคนนึกสนุกร่วมช่วยสนับสนุนในการโกหกของผมให้ดูสมจริงสมจังขึ้นอีกด้วย ท่านผู้นั้นคือ "ท่านมุ้ย" หรือ ม.จ.ชาตรี เฉลิมยุคล นักธรณีวิทยา ซึ่งโยนตำราเกี่ยวกับธรณีวิทยา และซากฟอสซิล ให้แก่ผมหลายเล่ม ปานนี้ท่านคงจะลืมไปแล้ว ว่าได้ทรงประทานตำราที่ร่ำเรียนมาอะไรบ้าง ให้แก่ผมไว้บ้าง ขณะที่ประทานให้ ก็ไม่ได้บอกว่าให้ยืม แต่ทรงยื่นส่งให้เฉยๆ ผมก็ถือว่าเป็นการประทานให้เลย ก็ขอขอบพระทัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย หม่อมเจ้าองค์นี้ ทรงศึกษามาทางธรณีวิทยาแท้ๆ แต่ไหงถึงกลายมาเป็นนักถ่ายภาพยนต์มือหนึ่งของประเทศไทยไปก็ไม่ทราบเหมือนกัน และท่านก็บอกกับผมว่า "ม.ร.ว.หญิงดารินฯ มีตัวจริงนะ" ผมถามว่า "มีจริงอยู่ที่ไหนล่ะ กระหม่อม?" ท่านก็รับสั่งปนสรวลว่า "อยู่ในบ้านผม ลูกสาวผมเอง ชื่อ ม.ร.ว.ดาริน"

ผมก็เพิ่งจะมาถึงบางอ้อ ในกรณีที่ว่า ราชสกุลในชั้นหม่อมราชวงศ์ มีนามว่า ม.ร.ว.หญิง ดารินฯ นั้น เกิดมีตัวจริงขึ้นจริงๆ นั่นแหละ ป่านนี้คงโตเป็นสาวใหญ่แล้ว ตอนที่ทรงบอกกับผมนั้น อายุแค่ 5-6 ขวบเอง

อินไซด์เพชรพระอุมา 4

ที่มาของตัวละครในเรื่อง

ตัวละครในนวนิยายเรื่องนี้ ดังที่ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ดีอยู่แล้ว นอกจากตัว พรานรพินทร์ อันเป็นตัวยืนเรื่องก็ประกอบขึ้นด้วยบุคคลสองคณะ คือคณะแรกก็มี ดาริน, เชษฐา, อนุชา, ไชยยันต์, มาเรีย, แงชาย, หนานอิน และคะหยิ่น (ภาคแรก)

ส่วนตัวละครชุดสอง ก็ประกอบด้วย สแตนลีย์, คีธ, เชิดวุธ, คริสติน่า และอิสซาเบล (ภาคสองและภาคสาม)

สำหรับพรานสี่คนของรพินทร์ อันประกอบด้วย บุญคำ, จัน, เกิด, เส่ย นั้น เป็นตัวยืนพื้นที่เข้ามาร่วม มีบทบาทสำคัญอยู่ทั้งในภาคแรก ภาคสอง และภาคสามโดยตลอด

นอกเหนือจากนี้ไปแล้ว ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่ตัวประกอบเท่านั้น ไม่มีบทบาทอะไรมากนัก เพียงแค่เอ่ยอ้างถึง หรือผ่านๆ ไปเท่านั้น

ทั้ง 18 บุคคลในเรื่องมีลักษณะ บุคลิกภาพ และอุปนิสัยใจคอที่เห็นเด่นชัดกันไปคนละแบบ และอาจปรากฏเด่นชัดขึ้นจนสามารถจะหลับตามองเห็นภาพได้ในแต่ละคน ตามที่ผมต้องการจะให้ท่านผู้อ่านได้จินตภาพขึ้นมาได้ และดูราวกับว่า แม้จะไม่เอ่ยชื่อของทั้ง 18 บุคคลเหล่านี้ขึ้นเลย ถ้าบอกถึงพฤติกรรมของเขา ลักษณะท่าทีของเขา หรือคำพูดคำจาของเขาให้ท่านได้เห็น (อ่าน) ท่านก็แทบจะทายได้ถูกในทันทีว่า บุคคลผู้นั้นคือใคร ถ้าท่านอ่านโดยตลอด ก็จะรู้สึกว่าท่านได้รู้จักคุ้นเคยกับบุคคลเหล่านี้ได้ดีที่สุด จำบุคคลิกท่าทีอากัปกริยาของเขาเหล่านี้ได้หมดแทบทุกคน

มีท่านผู้อ่านเป็นส่วนใหญ่ถามผมมาเป็นเวลานานแล้วว่า ตัวละครเหล่านี้ ผมสร้างให้มีชีวิตจิตใจ (ในหนังสือ) ขึ้นมาได้อย่างไร จินตนาการคิดขึ้นมาเอง หรือว่าจำลองแบบจากบุคคลที่มีชีวิตจริงมาจากที่ใดบ้าง ?

ผมกำลังจะเปิดเผยให้ทราบอยู่เดี๋ยวนี้

รพินทร์ ไพรวัลย์
โปรดอย่านึกว่า ผมจะถ่ายทอดตัวเองลงไปในตัวละครตัวนี้ ไม่ใช่ครับ!… แม้ว่าอุดมคติหรือความรู้สึกนึกคิดบางส่วนอาจจะมาจากตัวผมเองบ้างก็ตาม

ผมมีเพื่อนรุ่นพี่อยู่คนหนึ่ง เราคบกันมานานแล้ว ทั้งในป่าคอนกรีต และป่าดงพงรก เราออกป่าล่าสัตว์ด้วยกันหลายครั้ง จนนับไม่ถ้วน รูปร่างของเขาผอมสูง ค่อนข้างจะโย่งทีเดียว จนผมเรียกเขาว่า "นายโย่ง หอกยาว" บุคคลผู้นี้ก็คือ ฉัตร พงษ์สุชาติ หรือเชิด วรชาติ ที่ผมเอ่ยถึงไว้ในเรื่องราวการใช้ชีวิตจริงอยู่ในป่าของผมตามสารคดี เรื่อง "ไอ้ดำมหากาฬ" และ "ไอ้ลายที่บางลาง" มือนี้ เป็นมือล่าที่เฉียบขาดมาก ถ้ากระสุนเขาลั่นหนึ่งนัด ก็แปลว่าสัตว์จะต้องจบสิ้นชีวิตลงหนึ่งตัว ถ้าไม่ได้เป้าหมายสำคัญจริงๆ แล้ว เขาจะไม่บุ่มบ่าม หรือรีบร้อนยิงเป็นอันขาด กระสุนทุกนัดของเขา มีค่ายิ่ง และใจเย็นที่สุดในการล่าสัตว์ทุกชนิด มีความชำนาญในการเดินป่าสืบทอดมาตามสายเลือด ทางบรรพบุรุษของเขา เป็นคนพูดน้อย เงียบขรึมและหน้าตายเป็นท่อนหินอยู่ตลอดเวลา เวลาเดินป่าอยู่ด้วยกัน เขายิ่งเป็นใบ้ไปเลย คือไม่มีการใช้คำพูดใดๆ ทั้งสิ้น อย่างมากก็จะทำสัญญาณด้วยมือ จะถามอะไรก็ไม่พูดไม่บอก เราเดินอยู่กับเขาหรือล่าร่วมกับเขา จะต้องสำเหนียกเอาเอง ขณะที่เดินท่อมๆ อยู่กลางป่า ก่อนจะตัดทางด่านแยก เข้าไปด้านใดผมเห็นเขาหยุด เหมือนจะภาวนาอะไรอยู่อึดใจหนึ่ง แล้วหักกิ่งไม้เล็กๆ พับไว้ ผมรู้ดีว่านั่นเป็นการสะกดป่าของเขา แต่ผมก็ไม่เคยถามว่าเขาทำอะไร และผมก็ไม่เคยทำแบบเขาเช่นนั้น เพราะผมก็มีกรรมวิธีของผมไปอีกอย่างหนึ่ง จะอย่างไรก็ตาม การหักกิ่งไม้เล็กๆ พับไว้ของเขา มันก็ดีไปอย่างหนึ่ง เพราะอย่างน้อย มันก็เป็นสัญญาณให้เรารู้ได้ว่าเราเริ่มต้นแยกทางตรงตำแหน่งนั้น สมมติว่าเราหลงและบังเอิญเดินย้อนกลับ ผ่านมาที่เก่าโดยไม่รู้ตัว

ผมพิจารณาดูบุคคลิกของเขา ในเวลาเดินป่าอยู่ด้วยกัน ด้วยความขันๆ และนึกทึ่งอยู่ในใจ ขณะที่เราเดินป่าอยู่ด้วยกันนั้นผมมักจะเป็นคนทำให้ "ป่าแตก" อยู่เสมอ ถ้าไม่เดินเดินทำเสียงดังก็มักจะยิงมากกว่าหนึ่งนัด เพราะผมเป็นคนมือไวใจเร็วอยู่แล้ว ต่างกับเขาที่สงบเยือกเย็นและหวังผลเลิศเวลาผมยิงสัตว์อะไรบาดเจ็บเตลิดหนีไป โดยเอาตัวไม่อยู่ระหว่างที่เดินคู่อยู่กับเขา เขาจะไม่ว่าอะไรนอกจากส่ายหัวช้าๆ แล้วมักยกหลังมือขึ้นป้ายเหงื่อบนปลายจมูก อากัปกริยา อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเขาส่วนใหญ่เหล่านี้ ผมคิดไว้ในใจนานแล้วว่า จะต้องเอามาใส่ไว้ในตัวละครสักตัวหนึ่ง ถ้าเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับป่า และมันก็ได้ถ่ายทอดมาเป็นบุคคลิกประจำตัวของรพินทร์ ไพรวัลย์ อย่างชนิดก๊อปปี้แบบมาเลย ผมเอาเขาเฉพาะอากัปกริยาท่าทีของเขาเท่านั้น

ส่วนในด้านอุปนิสัยใจคอ อุดมคติความรู้สึกนึกคิดของตัวรพินทร์นั้น เป็นสิ่งที่ผมกำหนดขึ้นเอง ว่าตัวเอกของเรื่อง ควรจะมีคุณลักษณะของมโนธรรม คุณธรรม และมนุษยธรรมอย่างนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวของเรื่อง ที่วางเค้าโครงเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และก็ไม่ใช่ตัวผมเองด้วย เพราะผมคงไม่เป็นคนมีคุณธรรมถึงขนาดนั้น แต่ผมบูชาในเรื่องมนุษยธรรมมาก ตัวเองจะปฏิบัติได้แค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยากจะให้ตัวเอกของเรื่องที่ตนเองแต่งขึ้นนั้น เต็มไปด้วยมนุษยธรรม ซึ่งบางทีลักษณะข้อนี้ก็ไปซ้ำๆ กับตัวละครในเรื่องอื่นๆ ของผมเองด้วย โดยไม่รู้สึกตัวก็ได้

ก็เป็นอันว่า รพินทร์ ไพรวัลย์ มีตัวอย่างจำลองแบบมาจากคนจริงแล้วนะครับโดยเข้าไป ทำไมผมจึงกำหนดให้รพินทร์เป็นชายร่างแกร่งเกร็งค่อนข้างเล็ก ? นี่เป็นเจตนาโดยตรงที่จะให้ลักษณะรูปร่างของเขา ค้านกับความสามารถ พรานผู้เก่งกล้าสามารถ มีใจประดุจเหล็กเพชร ไม่จำเป็นจะต้องสูงใหญ่ไหล่กว้างเสมอไป เพื่อว่าฝีมือของเขาจะได้แลดูสวนทางกับขนาดรูปร่าง พระเอกเรื่องบู๊ของผมทุกเรื่อง ตัวโตๆ กันทั้งนั้น ก็อยากจะให้พระเอกในเรื่องนี้ตัวเล็กๆ เพรียวๆ ดูบ้าง เพื่อให้เป็นจุดเด่นพิเศษ ชื่อ "รพินทร์" ก็เหมือนกัน กว่าจะคิดตั้งออกมาได้ ใช้เวลาตั้ง 7-8 วัน ที่จะเฟ้นหาชื่อ ซึ่งผมต้องการให้กระแสเสียงของนามนั้น ฟังดูอ่อนนุ่มละมุนละไมในขณะที่ก็ไม่เชยเอาเสียทีเดียว เพื่อมันจะได้ไปค้านกับพฤติการณ์อันเข้มแข็ง เฉียบขาดของเขาในระหว่างปฏิบัติการอยู่กลางป่า ผมยอมรับว่ากว่าจะคิดตั้งชื่อพระเอกในเรื่องนี้ได้ คิดหัวแทบแตก ทั้งๆ ที่พล็อตมีอยู่แล้ว ก็ยังไม่กล้าลงมือเขียน จนกว่าจะสรรหาชื่อออกมาได้

และนี่ก็คือที่มาของตัวเอก ฝ่ายชายของเรื่องนี้

ดาริน วราฤทธิ์
ผมไม่คิดว่าจะมีสุภาพสตรีคนใด ที่มีความเก่งกล้าสามารถในการเดินป่าได้อย่างนี้หรอกครับ!

เพราะฉะนั้น องค์ประกอบของความเป็น ดาริน วราฤทธิ์ จึงมาจากจินตนาการคิดแต่งเองขึ้นทั้งหมด แม้ว่าบุคคลิกความสามารถในบางอย่างบางประการ จะมาจากสุภาพสตรีที่ผมเคยคบหาสมาคมกันในฐานะเพื่อนมาบ้าง โดยหยิบเอาของคนโน้นนิด คนนี้หน่อยเข้ามาผสมไว้ในตัวดาริน ไม่ว่าจะด้านความสามารถในการยิงไรเฟิลแรงสูง ด้านความรู้ความสามารถในวิชาแพทย์ มานุษยวิทยา โบราณศาสตร์ และอุปนิสัยใจคอที่โลดโผนโจนทะยาน มักจะเอาแต่ในตัวเอง แต่เด็ดเดี่ยวมั่นคงในความรัก ประกอบกับความเมตตากรุณาที่มีอยู่ประจำใจ ผมยอมรับว่าได้ดึง หรือเก็บเอามาจากสุภาพสตรีหลายๆ คน ที่มีคุณสมบัติต่างๆ กันเท่าที่พบเห็น เข้ามาไว้ในตัว ดาริน วราฤทธิ์

จากประสบการณ์ที่ได้รู้จักพบเห็นสัมผัสกับสตรีมาเป็นจำนวนมาก "ดาริน" ทั้งตัวนะไม่มีหรอกครับ มีแต่บุคคลิกหรือคุณลักษณะ (หรือโทษลักษณะก็ตาม) ในแต่ละประเทศที่มาจากคนที่เคยรู้จักพบเห็นหลายๆ คนก็เรียกว่าเก็บของคนโน้นนิด เก็บของคนนี้หน่อย (ซึ่งผมไม่อาจเอ่ยนามของเธอแต่ละคนได้ - โดยมารยาท) เข้ามารวมๆ กันไว้ นางเอกของเรื่องนั้น

จะว่าเป็นนางที่คิดฝันขึ้นมาเองก็น่าจะถูกต้อง แต่ก็เป็นการคิดฝันที่ได้มาจากหลายๆ ต้นแบบที่มีตัวจริงอยู่บ้างเหมือนกัน ทว่านำมาปะปนกันมากมายหลายๆ คนเหลือเกิน กว่าจะได้ตัว "ดาริน" ขึ้นมาได้ แพทย์หญิงจริงๆ ก็มี, นักเดินอยู่แถวๆ ชายป่า (อันเป็นผู้หญิง) ก็มี, สาวผู้สูงศักดิ์ หรือสาวนักแสดง, สาวนักธุรกิจ, นักเดินแบบ, ครูอาจารย์ หลากหลายฐานะอาชีพ ไม่น้อยกว่า 6-7 คน ที่นำเอาเข้ามารวมกันไว้ในตัวละครตัวเดียว สรุปก็คือ "แม่แบบ" แท้ๆ ไม่มีครับ และจะไม่มีผู้หญิงอย่าง ดาริน วราฤทธิ์ นอกจากในนวนิยายเท่านั้น

โล่งอกไปที ที่บอกความจริงในเรื่องนี้ไปเสียได้คราวนี้ ไม่ต้องให้เป็นที่ติดข้องใจใครอีก – ตัวละครสมมติขึ้น!

แงชาย หรือจักรราช
รายนี้พระเอกทั้งตัว รูปก็งามราวกับเทพบุตร ฝีมือ สติปัญญาเหลี่ยมคูชั้นเชิง ก็เป็นเลิศ จะไปหาตัวจริงมาจากที่ไหนครับ ถ้าไม่ "ปั้น" ขึ้นมาเองทั้งแท่ง แงชายเป็นตัวละครในจินตนาการคิดแต่งขึ้นอย่างแท้จริง ไม่มีภาพจำลองจากไหนมาให้ดู นอกจากภาพปั้นของบรรดาเทพบุตรกรีกทั้งหลาย โดยเลือกเอาองค์ที่หล่อที่สุด (นาซิสซัส?) แล้วก็สอดใส่วิญญาณออกมาให้เต้นตามบทไป เพื่อให้ท่านเกิดจินตนาการขึ้นตามภาพพจน์ รายนี้ ถ้าท่านผู้อ่านได้เห็นคำพูดในประโยคที่ว่า "พระธุดงค์องค์ที่เลี้ยงผมมา ท่านสอนไว้ว่า…." เมื่อไหร่ท่านก็จะต้องรู้ในทันที โดยไม่ต้องบรรยายภาพประกอบว่า ตัวละครที่จะพูดดังนี้ เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "แงชาย" และจะมีบุคคลิกภาพไปซ้ำกับตัวละครของผมเองในเรื่องไหนอีก ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ถ้าไปซ้ำตัวไหนเรื่องใด ผมก็ขายหน้า เพราะตั้งใจบรรจงวาดไว้แล้ว ที่จะไม่ให้ซ้ำกับตัวอื่นๆ ในเรื่องใดทั้งสิ้น

เชษฐา
มีเพื่อนรุ่นพี่ใหญ่ของผมอีกคน ที่มีนิสัยรักชอบในการเดินป่า แต่รายนี้ไม่ชอบยิงสัตว์ คือตัวเองชอบลำบากในการเดินป่าแบบทรมานบันเทิง และไปหาที่สงบๆ เพื่อดื่มเหล้า เปลี่ยนบรรยากาศเท่านั้น เป็นคนมองโลกในแง่ดี ยิ้มง่าย เป็นกันเองกับเพื่อนฝูงทุกคน เผื่อแผ่และใจสปอร์ตมาก ประกอบกับความคิดอ่านสุขุม รอบคอบ ไม่เคยทำอะไรที่บุ่มบ่าม มีไรเฟิลแทบทุกขนาดทุกชนิด และชอบให้คนอื่นยืมใช้เสียมากกว่าตนจะคิดทำปานาติบาตเอง

ท่านผู้นี้คือ คุณอุดม จุลเสวก อดีตนายด่านศุลกากร ผมได้แบบจากท่านผู้นี้มากว่าครึ่งในการที่จะสมมติตัว เชษฐา วราฤทธิ์ ขึ้นมา

อนุชา
คุณอุดม จุลเสวก มีน้องชายนักเดินป่าอยู่คนหนึ่ง ชื่อ อุดร จุลเสวก รุ่นโตกว่าผมหน่อยหนึ่ง แต่คงไม่ห่างกันมากนัก รายนี้เป็นนักบุกดง นักสำรวจอย่างแท้จริง ใครเขาร่ำลือว่าป่าที่ไหนมีอะไรพิสดารแปลก เขาจะต้องบุกด้นดั้นไปให้ถึงเสมอ เพื่อขอพิสูจน์ให้เห็นกับตา และเป็นมือล่าสัตว์โดยตรง โผงผาง เปิดเผย แต่ใจร้อน เขามีลักษณะที่ค้านกับพี่ชายออกไป

ผมคิดว่าเขาควรจะเป็น อนุชา ได้ จึงถ่ายทอดอุปนิสัยใจคอบางส่วนของเขาออกมาในเรื่อง

ไชยยันต์
นี่ก็เป็นเพื่อนประเภทชอบในการ "ทรมานบันเทิง" หัวหกก้นขวิดกับผมมาอีกคนหนึ่งเป็นช่างซ่อมรถยนต์ และเป็นเจ้าของอู่รถ ชื่อยง (นามสกุลอะไรผมขออภัยที่จำไม่ได้) เที่ยวหัวราน้ำมาด้วยกัน ตั้งแต่สมัยอยู่ทางภาคใต้ เช้าปีนน้ำตกอยู่ด้วยกัน ตกเที่ยงก็เอาเรือออกไปตระเวนหาจระเข้ (ตามที่ชาวบ้านบอกมาว่ามันลอยตัวขึ้นที่โน่นที่นี่) พอหาจระเข้ไม่พบก็เลยช่วยกันสอยเอาค้างคาวแม่ไก่ มาพวงใหญ่ พอตกบ่ายจัดๆ ก็ใช้เรือเร็วลำเดียวกันออกยิงกาน้ำในทะเล วันเดียวกันนั่นเอง พอถึงเวลาค่ำคืน ก็ห้อรถจากปัตตานี ไปตระเวนราตรีอยู่แถวยะลา บุกอยู่ตามโรงแรม ยงเป็นนักยิงปืนมือดีทั้งสั้นและยาว แต่ค่อนข้างจะตึงตัง โครมคราม และชอบทำป่าแตกยิ่งกว่าผมเสียอีก เขาเป็นเพื่อนเดินป่าและเดินตามโรงแรมกับผมสมัยที่ยังอยู่ภาคใต้เท่านั้น ผมหลับตาเห็นอากัปกริยาของเขา ในขณะที่เขียนถึงนายทหารไชยยันต์ ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้เป็นนายทหาร

พรานบุญคำ
รายนี้ตัวจริงทั้งแท่งเลยครับ จากอดีตพรานป่าในภาคกลาง ไปเป็นหัวหน้าคนงานตัดไม้หมอนรถไฟ ให้แก่สัมปทานของอาผม ที่อยู่อำเภอสุไหงปาดี เมื่อ 30 กว่าปีก่อนนี้ ในยุคที่ผมยังเพิ่งจะฝึกเข้าป่าใหญ่ แกชื่อ "ตาคำ" ผอมเกร็ง ร่างเล็ก ตัวงอๆ แต่ปราดเปรียวยิ่งกว่าลิงลม อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า แกเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่ตลอดเวลา และยอดสัปดี้สีปะดน พูดจาอะไรสองแง่สองมุมอยู่เสมอ
ทุกครั้งที่ผมลงไปเยี่ยมอา (คุณสำราญ สุขุม) ที่สุไหงปาดี ผมต้องออกป่าล่าสัตว์กับแกทุกครั้ง หัวแกหยิกขอด้วยเส้นผม ดูเหมือนไม่เคยสระผมทั้งปี ฟันก็ไม่เคยสี แกบอกว่าสีฟันไปทำไม ทำให้ฟันสึกกร่อนเปล่าๆ พูดคำว่า "กับ" ไม่เป็น จะใช้คำว่า "ก๊ะ" แทน เรียก "ฝรั่ง" ด้วยคำสำเนียงเพี้ยนๆ ของแกว่า "ไอ้ฟารั้ง" ทุกครั้ง อันเป็นสำเนียงเมืองกาญจน์ รายนี้ไม่ต้องจินตนาการแต่งเติมเสริมต่ออะไรเลยครับ หลับตามองไปที่ตัวแก แล้วก็ชลอเอามาใส่ไว้เป็นตัวพรานเฒ่าบุญคำ ได้สนิทแนบเนียน เป๊ะเลย

เวทย์มนต์คาถาในทางพราน และทางหมอผีไสยศาสตร์ของแกมีเยอะ แต่บางขณะก็เคยเผ่นหนีสิ่งอาถรรพณ์ร้ายๆ ในป่า ชนิดวิ่งป่าแตกมาบ่อยครั้ง
ประวัติของแกเกเรมามาก หนีคดีจากภาคกลางลงไป (ฆ่าคนตาย) หมกตัวอยู่ในป่าภาคใต้จนคดีสิ้นอายุความ ยอดทะลึ่ง เจ้าเล่ห์แสนกลไม่มีใครเหมือน แต่ก็น่ารักดี เจ้าชู้ก็เป็นที่หนึ่ง ตัวแกนั้นแก่แล้ว (ในตอนนั้น) แต่ก็หมั่นหาเมียสาวๆ อยู่ได้เป็นประจำ มีเรื่องสัปดนมาเล่าให้ฟังระหว่างเดินป่าได้เป็นประจำทำให้คลายเครียด คลายเหนื่อยไปได้ เอาไว้พอมีเวลาว่างๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่าอีตาคำนี่แกหลอกผมยังไงบ้าง ขณะที่เที่ยวป่าอยู่กับแก ว่าจะเก็บเอาไว้เขียนในสารคดีเรื่องชีวิตจริงในชุดป่าฝ่าดง ของผมที่ยังเขียนค้างไว้อยู่

ท่านรู้จักพรานเฒ่าจอมสัปโดก บุญคำในเรื่องอย่างไร อีตาพรานคำ หรือ "ลุงคำ" ของผมคนนี้ก็เป็นอย่างนั้นแหละครับ เหมือนทุกอย่าง ไม่ว่ารูปร่างหน้าตาอุปนิสัยใจคอ ผมไปเจอะแกในป่าภาคใต้เกือบปลายแดนสุด และเก็บแกเอาไว้เป็นวัตถุดิบมานานแล้ว มีเรื่องที่ผมจะต้องเขียนถึงแกเยอะ ในสารคดีบุกเดินป่า แต่คงจะไม่ใช่ในที่นี้อันมีเนื้อที่ และระยะเวลาจำกัดที่จะต้องสรุปให้หมดสิ้นเสียโดยเร็ว

พรานจัน
รายนี้ชื่อจริงว่า "พรานมาก" แห่งเขาเขียว เมืองกาญจน์ แถบหลังน้ำตกเอราวัณอยู่กันคนละแถบ คนละแห่งกับ "บุญคำ" แต่ผมดึงให้มาร่วมเป็นคณะเดียวกันในเรื่อง ตัวจำลองแบบ ที่อาศัยจากคนจริงนั้น ล้วนแยกย้ายกันอยู่คนละแห่งที่ทั้งนั้น ในชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน ไม่ค่อยจะได้อยู่ร่วมกันเป็นคณะหรือกลุ่มเดียวกันนัก สุดแต่ว่าผมจะไปพบเข้าที่ไหนและกำหนดตัวเขาไว้เพื่อนำเอามาใส่ไว้ในเรื่อง

"พรานมาก" เฮี้ยนไม่เท่ากับพรานคำและหนุ่มกว่า แต่ก็อาวุโสแล้วเหมือนกัน ฝีมือยิงเป้าเลว (ตั้งเป้ายิง ไม่เคยยิงถูก) แต่ฝีมือยิงสัตว์ฉมัง (ทุกโป้งที่แกปล่อยออกไปสัตว์ล้มทุกครั้งเหมือนกัน) ก็เรียกว่าทำบาปขึ้นตามวิสัยพรานป่า และเป็นนักล่า นักแกะรอยชั้นหนึ่งเหมือนกัน แกโม้น้อยกว่าตาคำ แต่พูดถึงสิ่งแปลกๆ พิสดาร ประเภทผีสางแม่นางโก้งได้หน้าตาเฉยๆ เหมือนแกพูดถึงเพื่อนฝูงตามปกติของแก และเป็นผู้เอาทฤษฎีประหลาดในการยิงปืนมาแนะนำสั่งสอนผม

แกบอกว่ากระสุนที่ยิงออกไปนั้น ถ้าถูกสัตว์ มันจะมีอากาศดูดหนืดๆ ทำให้เขารู้ทันทีว่ายิงโดนเข้าแล้ว ในทางตรงข้าม ถ้าไม่ถูกสัตว์ แต่ไปกระทบกับของแข็งอะไรเข้า เป็นต้นว่าก้อนหิน แรงสะท้อน มันจะผลักกลับมาถึง กับทำให้ไหล่เคลื่อนยอกทีเดียว เพราะฉะนั้น จะให้แกยิงเข้าไปในก้อนหินหรือของแข็งๆ แกจะไม่กล้ายิงเป็นอันขาด วันหนึ่งแกเดินไหล่เอียงเท่เร่ ผิดสังเกตเข้ามา ผมก็ถามว่านั่นไปโดนอะไรเข้า แกก็บอกว่า แกยิงกวางผิด กระสุนเลยไปกระทบก้อนหินริมธารน้ำเข้าจังเบ้อเร่อ แกเลยไหล่ทรุด ผมก็อยากจะเชื่อแกอยู่เหมือนกัน เพราะแกแกะรอยสัตว์เก่งกว่าผม แต่ถ้าเชื่อเสียอย่างเดียว ผมก็คงไม่ต้องยิงปืนทดสอบ เพราะการยิงปืนทดสอบนั้น บางขณะ "แบ็คสต็อป" หรือที่กำบังหลังเป้ามันก็เป็นเหล็กกล้าทั้งแผ่น ถ้าเป็นไปตามที่แกว่า ป่านนี้ผมคงไหล่หักไปนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว… ผมเรียกแกว่า "น้ามาก" ซึ่งกลายมาเป็น "น้าจัน" พรานคู่หูของตาคำในเรื่อง

พรานเกิด และพรานเส่ย
สองรายนี้เป็นพรานเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกับผมในครั้งนั้น อยู่ในแถบเหมืองห้วยสุดเมืองกาญจน์เหมือนกัน แต่คนละแห่งกับแพรานมากทั้งตัวจริง และทั้งตัวละครในเรื่องไม่มีบทบาทอะไรมากนัก เป็นพรานรุ่นเด็กประกอบเรื่อง ผมเคยคุยกับสองคนนี่บ่อยๆ ซึ่งก็ไม่สู้จะได้ความอะไรนัก เพราะความที่ยังอาวุโสน้อย ชื่อของเขาทั้งสองเป็นชื่อจริงที่ถอดเอามา ทั้งดุ้นเลย ที่ผมจำได้แม่น ก็เพราะความมีชื่อแปลกคิดแต่งเองได้ยากของพรานเส่ย ผมนึกไม่ออกว่า ชื่อของเขาควรแปลกว่าอะไร และต่อมาเมื่ออยู่ในป่าคอนกรีตไปนานๆ ผมก็มองเห็นชื่อคนในข่าวสังคมว่าชื่อ "เส่ย" มีเหมือนกัน เป็นบุคคลมีหน้ามีตาในสังคมด้วย ทั้งๆ ที่พบเส่ยครั้งแรก ผมคิดว่าอาจจะเป็นคนเดียวในโลกที่ชื่อแบบนี้ และเขาเป็นคู่หูกัน เมื่อผมจำเส่ยได้ ผมก็จำชื่อของพรานเกิดได้พร้อมๆ กันไปด้วย

พรานเด็กคู่นี้ ท่านจะสังเกตเห็นว่ากล่าวถึงแบบรวมๆ ไม่มีบทบาทเฉพาะตัวอะไรมากนัก มีเอาไว้สำหรับ "แซว" บุญคำเล่นเท่านั้น แต่ก็มีตัวจริง รวมทั้งชื่อจริงด้วย

หนานอิน
มาจากตัวจริง ที่ชื่อเรียกขานกันว่า "หนานไพร" แห่งเหมืองห้วยสุด ซึ่งเป็นหัวหน้าบ้านของพรานเกิด และพรานเส่ย บุคคลผู้นี้ก็คือ "ครูพราน" ของผมคนหนึ่ง ชื่อ "หนานไพร" นั้น ในเรื่องเป็นครูพรานของรพินทร์ และไม่มีบทบาทอะไรเลย เพียงแต่กล่าวอ้างถึงเท่านั้น ผมได้จำลองบุคคลิกลักษณะท่าทีและอุปนิสัยใจคอของแก มาเป็นตัว "หนานอิน" แทน (เพราะหนานไพรไม่มีบทบาทอะไรเลยในเรื่อง)

บุคคลผู้นี้ เป็นพรานมือหนึ่งจริงๆ ผมได้เคยทราบว่า ครั้งหนึ่งแกเคยเป็นพรานนำทางของพรานใหญ่บรรดาศักดิ์ คุณพระศัลยเวทย์ฯ มาก่อน เป็นเกลอคู่หูกับ โต๊ะถะ พรานประจำตัวของ เจ้าเพชรราชฯ แต่อยู่กันคนละแถบ ชื่อจริงของแก จะชื่อว่าอย่างไร ไม่อาจทราบได้ แต่ขณะที่พบนั้น มีสมญานามเรียกรู้กันว่า "หนานไพร" หลบหนีคดีฆ่าคนเหมือนกับตาคำเหมือนกัน แต่หลบซ่อนตัวอยู่ในหุบของป่าใหญ่ อันจะเป็นหนทางนำไปเหมืองห้วยสุด ซึ่งทึบและทุรกันดารมาก (ในยุคนั้น)
ตลอดเวลาที่หลบหนีคดีอยู่ ทำให้แกชำนาญในป่าภาคพื้นนั้น ยังชีพอยู่ด้วยการส่งเนื้อช้างเค็มออกมาขายในหมู่บ้าน "หนานไพร" อายุร่วม 60 แล้ว ในขณะที่ผมพบนั้น ลักษณะเป็นคนอารมณ์เย็น มักจะหัวเราะ "หึๆ" อยู่เป็นนิสัย เวลาแกเดินป่านั้น เราจะเห็นว่าแกมองอยู่สี่ทิศทาง คือ สูง-ต่ำ-ซ้าย และขวา จากนั้นก็พยักหน้าโบกมือให้เราตามแกเข้าไป รับรองว่าป่าทึบรกสักขนาดไหน แกจะต้องนำทางตัดตรงเข้าหาจุดหมายที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ ชนิดไม่มีการคลาดเคลื่อนไปเลยแม้แต่องศาเดียว

เป็นพรานป่าคนเดียวที่ผมพบ ที่พูดอะไรเป็นหลักตรรกศาสตร์ไปหมด หรืออีกนัยหนึ่งจะพูดอย่างคนมีการศึกษาดีมาแล้ว ทั้งๆ ที่แกก็ไม่ได้เรียนหนังสือเลย
เวลานอน ชอบนอนดักเส้นทางด่านของสัตว์ เสียงของพวกเราที่คุยกันเอะอะเฮฮา ในขณะที่พักอยู่ในป่า ใกล้ๆ ที่นอนของแกหูของแกปิดสนิท จะไม่ได้ยินเลย แต่ถ้าเสียงฝีเท้าสัตว์ แม้จะเป็นสัตว์เล็กที่สุดขนาดเม่นเดินมา แกจะได้ยินทันที และลุกขึ้นยิงได้ตัวทันทีเหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก ประสาทสัมผัสของแกเทียบเท่ากับสัตว์ป่าตัวหนึ่ง และยิงได้เฉียบขาดนัก ในสัตว์มีชีวิตทุกชนิด จากสัตว์เล็กสุด จนถึงสัตว์ใหญ่สุด การนอนของตัวแกเอง (ซึ่งนอกเขตแค้มป์) ไม่เคยก่อไฟเลย แต่แกจะสั่งให้พวกเราก่อกองไฟไว้เสมอ ไม่มีลักษณะใดๆ ที่จะเป็นการคุยโวโอ้อวดเลย มีแต่ถ่อมตน และมักจะพูดอะไรเป็นการกลบเกลื่อนปลอบใจพวกเราอยู่เสมอว่า "ไม่มีอะไร"

เที่ยวป่ามาก็มาก ผมยังไม่เคยเห็นใครจะ "ยิ่งใหญ่" ในป่าเท่ากับหนานไพร ไม่ใช่ยิ่งใหญ่เพราะอิทธิพลความกว้างขวาง แต่ยิ่งใหญ่ในด้านฝีมือการเดินป่า และยิงสัตว์ ซึ่งเฉียบคมที่สุด ทั้งๆ ที่ขณะพบนั้น แกก็แก่มากแล้ว ความสามารถพิเศษของแกนี้แหละ ที่ผมจำลองแบบให้มาเป็นคุณสมบัติของรพินทร์ (ผมเองมีไม่ถึงครึ่งของแก) นอกเหนือจากสีหน้าท่าทาง ที่จำลองแบบมาจาก เชิด วรชาติ ได้ยินชื่อแกครั้งแรก ผมก็ทึ่งแล้ว คนอะไรหว่า อยู่ในป่าแล้วดันชื่อว่า "หนานไพร" ใครเป็นคนตั้งชื่อให้ ผมไม่ได้สืบค้นลงไป ทั้งค้นไม่ได้อีกด้วยว่าชื่อจริงๆ ของแกชื่อว่าอะไร ใครที่เคยพบปะกับหนานไพรมาบ้างแล้ว และรู้ดีกว่าผม ถ้าจะให้ข่าวอะไรที่มากขึ้นไปกว่าที่ผมรู้นี้มาให้ทราบเป็นการเพิ่มเติมบ้าง ก็จะดีไม่น้อย แต่ขณะนี้ได้ทราบข่าวว่า แกถึงแก่กรรมไปนานแล้ว

สรุปในหัวข้อนี้ก็คือว่า ในเรื่องนั้น มีชื่อทั้งหนานไพร และหนานอิน แต่ในเมื่อบทบาทของหนานไพร ไม่ได้มีปรากฏอยู่ในเรื่อง นอกจากการกล่าวถึงบางครั้งบางคราว ผมก็เลยลอกแบบของหนานไพร ให้มาเป็นตัวหนานอินเสียเลย รู้แล้วรู้รอด ไม่ต้องไปแสวงหาตัวเทียบเคียงที่ไหน หรือคิดสมมติขึ้นมาเองให้เปลืองสมอง หนานไพรให้หลักการอะไรดีๆ แก่ผมไว้หลายอย่างในการดำรงชีพอยู่ในป่าต้องยอมรับว่าแกคือครูพรานคนหนึ่ง แต่แกก็ไม่ได้ให้คาถาอาคมอะไรที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์แก่ผมเลย ทั้งๆ ที่ผมเชื่อว่าแกจะต้องมี และมากด้วย หนานไพรมีลูกชายโทนอยู่คนหนึ่ง ชื่อเจ้า "ทอง" และ "เจ้าทอง" นี่แหละ ที่ทำเอาผมกับหมอบุญเสริม เจียมปรีชา หลงป่ากันเกือบตายตลอดทั้งคืน ดังที่ได้เคยเขียนไว้แล้วในสารคดีท่องไพร ตอน "เมื่อคุณหมอหลงป่า"

ตายละวา! ต้นฉบับของฉบับนี้ เข้ามาตั้ง 9 หน้ากระดาษพิมพ์แล้ว ยังแจกที่มาของตัวละครในเรื่องชุดแรก ขาดไปคนหนึ่งเสียด้วยซ้ำ คือ "มาเรีย" แล้วยังจะตัวละครชุดสองอีกล่ะ ถ้าขืนเอากันให้จบเสียในฉบับนี้ หน้ากระดาษก็คงไม่พอพิมพ์แน่ เพราะโควต้าของผมตายตัวอยู่แล้ว…. กราบละครับ ขอผลัดไปฉบับหน้าอีกเล่มเดียวเท่านั้น เล่มเดียวจริงๆ สำหรับที่มาของ มาเรีย, อิสซาเบล, คริสติน่า, สแตนลีย์, คีธ และ เชิดวุธ อีก 6 ตัวละคร จะตัดตอนทิ้งไปเสียเลย มันก็จะไม่เป็นที่กระจ่างสมบูรณ์ และท่านผู้อ่านนั่นแหละ จะสวดมา จึงขอทัณฑ์บนไว้ ฉบับหน้าเรียบร้อยหมดสิ้นกระแสความจริงๆ ว่าเขียนอย่างรวบรัดตัดความแล้วทีเดียวนะนี่

อินไซด์เพชรพระอุมา 5

มาเรีย
มาเรีย อ๊อฟฟ์มัน นั้น ในเรื่องเป็นลูกครึ่งฝรั่งเศส-เยอรมัน แต่สมัยที่ผมยังท่องเที่ยวอยู่ในรัฐมลายู (ก่อนที่จะเป็นประเทศมาเลเซียเช่นในทุกวันนี้) ยุคที่ในขบวนรถไฟ (ชั้นหนึ่ง) ยังเขียนป้ายติดไว้ว่า "ฟอร์ ไว้ท โอนลี่" (เฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น) และในสวนสาธารณะชั้นดี มีป้ายติดไว้ว่า "ไชนิส แอนด์ ด๊อก โนเอนทรี่" (คนจีนกับหมาห้ามเข้าบริเวณนี้)

ผมพบกับเพื่อนรุ่นพี่สาวเข้าคนหนึ่ง แก่กว่าผมประมาณสัก 4-5 ปี (ตอนนั้นผมรุ่นกระเตาะเกินไป) หล่อนชื่อ มาเรีย เดอครูซ พ่อเป็นอังกฤษ ผสมมาแล้วกับชาติอะไรไม่ทราบ แต่เป็นพวกผิวขาวเหมือนกัน ส่วนแม่เป็นมลายูชั้นตวน** นิสัยใจคอของหล่อนไปทางเผ่าพันธุ์พ่อมากกว่าที่จะเป็นคนเอเชีย พ่อเป็นนักพฤกษศาสตร์ ค้นคว้าเกี่ยวกับสมุนไพรอยู่ในภาคพื้นสหพันธ์รัฐมาลายู (ในยุคนั้น) ทั้งหมด หล่อนเรียนหนังสือไม่มากนัก จบระดับไฮสกูล แล้วมาช่วยพ่อเก็บใบไม้ใบหญ้า อยู่ตามป่าดงเสียเป็นส่วนใหญ่ จะกลับไปทางภาคพื้นยุโรป หรือเกาะอังกฤษ เพื่ออยู่ร่วมกับญาติทางฝ่ายพ่อก็เฉพาะใกล้ๆ คริสต์มาสของแต่ละปีเท่านั้น

เท่าที่ผมทราบนั้น หล่อนยิงลายพาดกลอนตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี ในป่ารัฐปะหัง พี่สาวคนนี้ยิงปืนไรเฟิลและลูกซองได้ดีกว่าผม ในยุคที่เพิ่งหัดยิงปืนลมมากนัก แล้วก็ยอดมหาเจ้าชู้อย่าบอกใครเชียว หูตาแวววาวไปหมดทีเล่นทีจริงอยู่ตลอดเวลา ในยุคที่ผมยังไม่ประสาอะไรนัก และยังมีความขลาดกลัว (ผู้หญิง) เป็นที่ตั้ง ชอบทำอะไรให้ผมต้องตัวแข็งฝันเปียกอยู่หลายครั้ง เสียดายที่เด็กวัยรุ่น – รุ่นผมยุคนั้น ไม่ไวไฟเหมือนเด็กสมัยยุคนี้ ม่ายงั้นผมคงยอมให้หล่อนสอนอะไรต่ออะไรไปไกลลิบแล้ว แต่สมัยดังกล่าว จะพยายามสอนผมเท่าไรก็ไม่กระดิกหู หล่อนพูดสามภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส และมลายู

พ่อของหล่อนกับพ่อของผมเป็นเพื่อนกัน ผมมีโอกาสได้พบหล่อนเพียงครั้งเดียว ระยะเวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ ในภาคโรงเรียนปิดเทอมฤดูร้อน ผมไม่เคยเห็นหล่อนยิงเสือกับตาตนเอง แต่เห็นจากภาพถ่ายและกิติศัพท์ของหล่อน แต่เราเคยยิงค่างในสวนยางทึบด้วยกัน ระหว่างที่ผมมัวแต่จ้องเล็งชักช้าอยู่ ขณะฝูงค่างแตกตื่น กระโจนโครมๆ ไปตามยอดยาง คุณพี่สาวคนนี้เธอวิ่งไปตามพื้นไวราวกับปรอทสกัดกั้น และระหว่างที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วนั้น ก็ยิงไปพลางอย่างเร็วที่สุด ด้วยปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติ ปรากฏว่าคุณเธอถล่มมันลงเสียทั้งฝูง ในชีวิตของผม ยังไม่เคยเห็นผู้หญิงคนไหนยิงปืนในเชิงล่าสัตว์ได้เท่ากับมาเรีย เกมเล็กๆ ขนาดยิงกระรอก หล่อนก็พิสูจน์ถึงความเป็น เอตะทัตคะ ในเชิงล่าอย่างเอกอุทีเดียว ยิงด้วยปืนลูกกรดยาวนัดละตัว ไม่ว่าจะเป็นเป้ากระรอกซุ่มตัวนิ่งๆ อยู่ในซุ้มไม้ร่มครึ้มในยามบ่าย หรือระหว่างการไต่เคลื่อนที่เร็วในตอนเช้า หรือเย็นในขณะที่ผมยิงผิดเป็นประจำ

ผมคุ้นกับกระรอกมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ ก็จริง แต่ผมก็ไม่เคยสังเกตว่า กระรอกมันมีวิธีร้องของมันอย่างไรบ้าง หล่อนเป็นคนสอนผมให้รู้จักฟังเสียงลักษณะต่างๆ ของกระรอก ซึ่งแบ่งออกเป็นสามลักษณะคือ ถ้าร้องกระชั้นถี่เร็วในลีลาร่าเริง "กุกๆ กั๊กๆ" ก็แปลว่า กำลังร้องเรียกหาพรรคพวกในยามเช้าตอนที่วิ่งเคลื่อนที่ กันอยู่อย่างชุลมุนไปตามกิ่งไม้เพื่อหาอาหาร ถ้าร้องในลักษณะโขกเป็นจังหวะเสมอกันไปเรื่อยๆ คือ "คิก-คิก-คิก" ก็แปลว่า กำลังเพรียกหาคู่ของมันโดยเฉพาะ ขณะที่ร้องก็จะกระดกหางเป็นจังหวะไปพร้อมๆ กันด้วย และถ้าร้องเป็นเสียงลากยาวเหมือนม้าร้อง "ฮี้….." ก็จะเป็นการร้องอย่างละเมอ ในเวลาพักผ่อนนอนตามร่มกิ่งไม้ตอนบ่าย ส่วนเจ้าลูกกระรอกจะร้องแปลกออกไป เป็นเสียง "เปี๊ยบๆๆ" แหลมยาว

อีกอย่างหนึ่งที่หล่อนให้ความจริงแก่ผมก็คือ กระรอกมันไม่อยู่ตรงโพรงไม้เหมือนที่คิดกัน แต่แท้จริงมันจะทำรังเหมือนนก ผิดกันแต่เพียงรังของมันใหญ่แข็งแรงมาก ด้วยเยื่อแห้งๆ อ่อนๆ ของโคนกาบมะพร้าว หรือกิ่งใบไม้สุดแต่ภูมิประเทศ ที่มันจะอยู่และปิดหลังคารอบไปหมด มีไว้แต่รูทางเข้าทางเดียวเท่านั้น ผมจำทฤษฎีของมาเรีย เกี่ยวกับธรรมชาติของกระรอกมาได้ตั้งแต่บัดนั้น และเมื่อพยายามสังเกตตามหลังต่อมาก็พบว่ามันจริงตามที่หล่อนบอกทุกอย่าง ผมไม่รู้ว่ากระรอกที่อื่นมันจะเป็นอยู่หรือร้องกันอย่างไร แต่กระรอกแถบมาลายันโซนมันเป็นเช่นนี้จริงๆ

คุณสมบัติของหล่อนในบางส่วนเหล่านี้ ผมได้เคยขอยืมให้มาเป็นความสามารถของ "มาเรีย" มาก่อนแล้ว ในตอนเขียนนวนิยายเรื่องแรกๆ แต่ก็เอามาเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่เอามาบรรจุไว้มากทีเดียวในตัวละครที่เป็น "มาเรีย ฮ๊อฟฟ์มัน" ตัวจริงนั้น ไม่สวยอะไรเลย หน้าตกกระ เสียงพูดห้าวยังกะผู้ชาย แต่รูปร่างดีมาก สูงใหญ่กว่าผมตั้งช่วงศีรษะ หล่อนเคยชวนผมเข้าป่าที่ลึกกว่าการยิงกระรอกหรือค่าง แต่ครั้งนั้นผมไม่กล้า ยังอ่อนหัดนัก

ถ้าจะถามว่า หล่อนโป๊เหมือนมาเรียในเรื่องหรือเปล่า ก็ต้องขอตอบตามตรงว่า หล่อนไม่โป๊ถึงขนาดนั้นหรอก แม้ว่าจะชอบแก้ผ้าอาบน้ำตามลำธารบ้างเป็นครั้งคราวก็ตาม แต่ระหว่างยิงกระรอกหรือค่าง ชอบเดินเอาหน้าอกล้นๆ ของหล่อนกระทบต้นแขนผมก็มีอยู่บ่อยๆ ผมได้ต้นแบบมาคร่าวๆ เท่านั้น ต้องมาแต่งเติมเสริมต่ออีกมากพอสมควร เหมือนกันสำหรับตัวละครตัวนี้ ไม่ถึงกับก๊อปปี้แบบมาทั้งดุ้น เอาว่าประมาณสัก 50 เปอร์เซ็นต์ ของตัวจริงหรืออาจกว่านี้เล็กน้อยเท่านั้น มาเรียมีต้นแบบที่ลึกและในอดีตอันยาวนานมาก ในการที่จะหยิบเอาคาแร็คเตอร์ของหล่อนเข้ามาใส่ไว้ในตัวละคร

คะหยิ่น
ถ้าท่านรู้จักชาวเขา ที่เราเรียกกันว่า "กะเหรี่ยง" ก็จะต้องทราบว่า ส่วนใหญ่แล้วรูปร่างจะตัวผอมเกร็ง เล็กๆ บางๆ กันทั้งนั้น หายากที่ชนเผ่ากะเหรี่ยงจะมีรูปร่างสูงใหญ่ล้ำบึ้กอย่าง "คะหยิ่น" ในเรื่อง

และถ้ามันเกิดมามีกะเหรี่ยงที่ตัวใหญ่ยักษ์แบบนี้เมื่อไหร่ ก็จะเป็นจุดสะดุดตาสะดุดใจทุกคน ที่เคยรู้จักชนเผ่ากะเหรี่ยงมากทีเดียว

เจ้ากะเหรี่ยงที่มีชื่อจริงว่า "ขะโนง" หรือ "คะโหน่ง" ที่ทุ่งแสลงหลวง ตัวมันใหญ่ยักษ์ เป็นองคุลีมาลย์จริงๆ ด้วย เห็นครั้งแรกผมก็ออกจะงงๆ ว่ามันจะเป็นกะเหรี่ยงไปได้อย่างไร แต่มันก็คือพรานเผ่ากะเหรี่ยงจริงๆ นั่นแหละ และตามปกติวิสัยแล้ว ชนเผ่ากะเหรี่ยงมักจะสงบเสงี่ยม ขี้อาย ไม่มีเหลี่ยมคูชั้นเชิงอะไรมากนัก แต่เจ้าขะโนงคนนี้ สามหาว ทะลึ่งตึงตัง และคุยโวยอยู่เป็นนิจ เก่งไปหมดทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรในป่า มันจะต้องมาเป็น "ที่หนึ่ง" เสมอ ไม่เคยกลัวอะไรเลย อวดเก่งสารพัด ไม่เก่งอยู่อย่างเดียวคือ ผี!! มันปอดแหกในสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นตัวได้ อันหมายถึงพวกภูมิวิญญาณทั้งหลาย แต่กล้าแม้กระทั่ง ยิงช้างด้วยกระสุนลูกปรายสำหรับยิงนก (เพราะความไม่รู้ของมัน) จนกระทั่งถูกช้างไล่เหยียบวิ่งเข้าไป อยู่ในกอไผ่หนาม ขาออก ออกมาไม่ได้ ต้องช่วยกันตัดต้นไผ่เข้าไปลากตัวออกมา ภายหลังจากช้างผละไปแล้ว และพวกเรามาถึงที่ตำแหน่งนั้นภายหลัง

ขะโหนง ที่จำลองแบบเป็นคะหยิ่น ก็มีตัวจริงครับ ที่มีตัวจริง ก็เพราะความมีลักษณะอันเป็นพิเศษของมันนี่แหละ มันคุยว่า มดเดินมาตามพื้นมันก็ยังได้ยิน แต่ผมก็ต้องเอาไฮโดรเจนกรอกให้เข้าไปเดือดอยู่ในหูของมัน เพื่อช่วยเอามดตัวหนึ่งออกจากหู เพราะมันไม่รู้มันนอนยังไง มดดันไต่เข้าไปในรูหูได้

เจ้าพรานกะเหรี่ยงที่มีนามกรเรียกกันว่า ขะโนง เป็นจอมอันธพาลนักเลงใหญ่อยู่ในหมู่ชาวกะเหรี่ยงทั้งหลายในแถบนั้น ที่มันมายอมนำทางให้ ก็เพราะพวกเราที่เข้าไปนั้น ล้วนเป็นแพทย์ส่วนใหญ่ไปช่วยเหลือรักษาพยาบาล ให้หยูกให้ยากับพวกลูกบ้านของมัน ทำให้มันสำนึกในบุญคุณ และเห็นพวกเราเหมือนเทวดามาโปรด สิ่งที่พวกชาวป่าต้องการมากที่สุดไม่ใช่เงินทอง แต่ต้องการน้ำใจมากกว่า นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคบางชนิด ประเภทเกลือ ขนมหวาน ยารักษาโรค และกระสุนปืนลูกซอง นี่หมายถึงพวกที่อยู่ในป่าลึกจริงๆ ชนิดไม่มีสำมะโนครัว และตัวเองก็ไม่ทราบว่าตนเป็นประชากรของประเทศไหน ซึ่งก็ไม่สนใจด้วย

แต่พวกชาวป่าที่สามารถจะเข้ามาติดต่อกับเขตหมู่บ้าน หรือตำบลได้ง่ายๆ นี่ คบยากมาก เพราะพวกเขาต้องการอะไรที่มากกว่านั้นรวมทั้งเล่ห์ความกะล่อนสารพัดชนิด นี่ผมพูดถึงสมัยที่ผมยังเที่ยวป่าอยู่ มาในยุคปัจจุบันนี้ ความเจริญมันแพร่แทรกซึมเข้าไปถึงป่าทุกหนทุกแห่งแล้ว จนทำให้สภาพที่แท้จริงของ "ป่า" หมดสิ้นไป ชาวเมืองหรือชาวป่า สามารถติดต่อถึงกันได้หมดโดยสะดวก อารยะธรรมในเมืองมันก็คงแพร่เข้าไปจนทำให้พวกเขาเหล่านั้น เสียสภาพอันเป็นตัวเดิมหมดสิ้นแล้ว คือความบริสุทธิ์ตามสภาพของชาวป่าชาวดง หมดสิ้นไปกลายเป็นชาวป่าที่รู้จัก กับค่าของเงินดอลล่าร์ว่ามันสูงกว่าเงินบาท เงินจั๊ต หรือเงินกีบ

ขะโนงตัวจริงนั้น เดินได้เงียบเหมือนคะหยิ่นในเรื่องเหมือนกัน แต่จะให้ถึงกับเลื้อยผ่านไปในปลักโคนดูดได้นั้น ผมไม่คิดว่าเจ้าขะโนงมันจะทำได้ นอกจากเสริมคุณสมบัติพิเศษให้แก่มันลงไป เพื่อให้คะหยิ่นในเรื่องได้มีโอกาสช่วยเหลือคณะของรพินทร์ได้ ในบางแง่มุมยามที่คณะตกอยู่ในภาวะอับจนจริงๆ

สแตนลีย์
ไม่มีตัวตนที่เป็นแบบแท้จริงครับนอกจากเก็บลักษณะนิสัยของเพื่อนอเมริกันบางคน คนละเล็กละน้อย เกี่ยวกับท่าที หรือวิธีพูดจาของเขา นำมาใส่ไว้ และที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ก็คือจะต้องไม่ให้มีอะไรที่ไปเหมือนเชษฐาเข้า เพราะอยู่ในฐานะหัวหน้าคณะเดินป่าด้วยกันทั้งคู่ แต่คนละชุดกัน เมื่อไม่มีตัวตนแบบชัดๆ ออกมา ก็คงจะไม่ต้องพูดอะไรกันมากนะครับ

คีธ
ไอ้เสื้อนี่ ก็คือ จอห์น แบ็คบี้ แห่ง แพนอเมริกัน คนเดียวกับที่เข้าไปสำรวจถิ่นมนุษย์หินเมืองกาญจน์นั่นแหละ เพราะบรรดาพรรคพวกที่ไปด้วยกันนั้น มีไรเฟิลขนาดใหญ่ที่สุด ก็เพียงแค่ .30-06 เพื่อนๆ ของเขา รู้ว่าผมใช้ไรเฟิลขนาดกลางคือ .375 เอช.แอนด์เอช.แม็กนั่ม ก็เลยมาชวนเผื่อว่าผมจะว่างบ้าง เพราะทิศทางที่จะไปนั้น บรรดาพรรคพวกทุกคนก็รู้ดีอยู่แล้วว่า มันอาจประจัญหน้ากับช้างโขลงดุๆ เมื่อไหร่ก็ได้ กระสุนขนาด .30-06 มันอาจไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร

แบ็คบี้ มีอะไรๆ หลายอย่างที่ผมถอดแบบไปใส่ไว้ใน "นายคีธ" ของเรื่อง ความจริงเขาไม่ได้รู้จักคุ้นเคยกับผมมาก่อน แต่เพื่อนของเขาซึ่งก็เป็นเพื่อนผมด้วย มาชวนผมอีกทีหนึ่ง จุดประสงค์ที่ชวนผมก็เรื่องของปืน และกระสุนที่ต้องการเป็นสำคัญ แล้วในที่สุด กลางป่าลำบากกันดารของการเดินทางสำรวจ แบ็คบี้ ก็ติดผมแจ เรามีเรื่องคุยอะไรกันมากกว่าเพื่อนของเขาเสียอีก เพราะสนใจอยู่ในสิ่งเดียวกัน คือ ซากฟอสซิล และเรื่องราวของวัตถุโบราณ

แบ็คบี้ เคยเป็นนายทหารผ่านสงครามเวียตนามมาแล้ว ซึ่งนี่ก็คือนายคีธ

โดยแท้จริงแล้ว เขาไม่เคยรู้จักป่าเมืองไทยมาก่อนเลย (ในยุคนั้น) เห็นอะไรเป็นเรื่องเล่น เรื่องง่าย เรื่องเล็กไปหมด เมื่อมีเขาเป็น "สปอนเซอร์" เครื่องเดินป่าของเราก็แทบจะครบชุด แม้กระทั่งพวกเรชั่นของทหารอเมริกัน และอุปกรณ์อื่นๆ มันขาดอยู่อย่างเดียว คือไรเฟิลชนิดที่พอจะขับไล่ช้างได้เท่านั้น ซึ่งตัวเขาเองไม่รู้เลย แต่เพื่อนของผม ซึ่งเป็นเพื่อนของเขารู้ จึงมาชวนกันอีกต่อหนึ่ง

สิ่งที่ผมยังนึกขันอยู่จนทุกวันนี้ก็คือลักษณะท่าทีการแต่งกายของเขา ที่เหมือนตัวละครที่กำลังจะเข้าฉากเกี่ยวกับเรื่องราวเดินป่า เขาสวมท้อปแบบคอมแบ็ต (อย่างที่ใช้ในสนามรบ) เสื้อผ้า หมวก ผ้าพันคอหรู เก๋ไม่ย่อย เอวคาดปืน …ปืนอะไรทราบไหมครับ ให้ทายให้ตายก็ทายไม่ถูกหรอก ปืนที่แขวนติดซองข้างเอวของเขา คือ โลท์ นิวฟรอนเทียร์ ขนาด .22 แม็กนั่ม ชนิดซิงเกิ้ลแอ็คชั่น มีลูกปืนติดเข็มขัดพราว (ผมคิดว่าเขาคงมีเอาไว้ยิงเรียกพวกพ้องเวลาหลงป่าเสียมากกว่า) วันแรกๆ ก็ดูเข้มแข็งคึกคักดี แต่วันต่อๆ ไปเริ่มจะป้อแป้หน้าเหี่ยวลงเป็นลำดับ และยิ้มไม่ออกเลยเมื่อล่วงเข้าวันที่ 3-4 ครั้งแรก เขาเห็นรอยเท้าช้างย่ำอยู่สับสน เต็มทั่วไปหมดทุกตะรางนิ้ว ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน เขาบอกกับผมว่า "ชาวป่าแถบนี้เลี้ยงช้างกันมากจริงๆ นะ" ผมก็บอกว่า "มันไม่ใช่ช้างเลี้ยงของชาวป่าหรอก แต่เป็นช้างไม่มีเจ้าของ ชนิดที่จะกระทืบนายเสียเมื่อไหร่ก็ได้" ครั้งแรกเขาทำหน้าไม่เชื่อ จนกระทั่งมีเหตุการณ์ชนิดที่ทำให้ต้องออกแรงวิ่งกันเต็มเหยียด และยิงกันอย่างขนาดใหญ่นั่นแหละ เขาถึงจะรู้ว่าอะไรมันคืออะไร และหลังจากนั้น ไม่ยอมเดินคู่กับใคร แต่จะมาเดินใกล้ผมอยู่เป็นประจำ

แบ็คบี้เป็นเสือปืนเร็ว ที่ท่าชักปืนสวยเหมือนในหนัง แต่ถ้าจะต้องยิงจริงๆ แล้วผมไม่แน่ใจว่า เขาจะยิงอะไรได้ถูกหรือไม่ ครั้งหนึ่ง ระหว่างที่เราเดินไปด้วยกัน ในป่าไผ่ เสียงปล้องไม้ไผ่ที่ถูกความร้อนแผดเผา แตกระเบิดดังปัง เขาย่อตัวลงต่ำ กระชากปืนสั้นซิงเกิ้ลแอ็คชั่นของเขาออกมา หน้าตาเลิ่กลั่ก จ้องปืนไปรอบๆ ตัว ผมแทบหัวเราะก๊ากถามว่า "นั่นนายทำอะไรวะ" เขาก็ย้อนถามผมมาเสียงสั่นๆ ว่า "เสียงปืนดังมาจากไหน" ผมก็บอกว่า นั่นมันเสียงไม้ไผ่ระเบิดเพราะความร้อนระอุของป่า พอรู้แจ้งดังนั้น แบ็คบี้ทำหน้ากระรี่กระราด สบถพำ แล้วก็ออกตัวกับผมว่าเวลาเดินในป่า เขาประสาทเสีย เพราะเคยถูกลอบโจมตีจากพวกเวียดกงมาบ่อยๆ เผลอไป นึกว่าเดินอยู่ในป่าของเวียดนาม สมัยที่เขายังรบอยู่ที่นั่น

ผมได้ศัพท์อเมริกันอันเป็นสะแลงใหม่มาจากเขาคำหนึ่ง และไม่เคยเห็นอเมริกันคนไหนรู้เรื่องคือ "เม็ค ปับ-ปับ" ถ้านายนี่บอกว่า "ลาสท์ไนท์ ไอ เม็ค ปั่บ-ปั่บ" ก็แปลว่า เขาได้ อย่างว่า มาเรียบร้อยแล้ว เมื่อคืนนี้ผมมาคิดดู มันก็จริงอย่างเขาว่าเหมือนกัน คือ ถ้ามันหนักหน่วงรุนแรง มันก็ต้องดัง "ปั่บ-ปั่บ" อย่างเขาว่านั่นแหละ จึงเป็นที่รู้กันสำหรับเขาว่า ถ้า "เม็ค ปั่บ-ปั่บ" เมื่อไหร่ละก็ หมายถึง อย่างว่า และนายนี่ก็ชอบเม็ค ปั่บ-ปั่บ เป็นที่ยิ่ง ซึ่งก็เชื่อว่า คงไม่มีใครปฏิเสธเรื่อง "ปั่บ-ปั่บ" กันทุกคนในโลกของโลกียะนี้ใช่ไหม

จอห์น แบ็คบี้ มาเป็นตัวพันเอกคีธ ถึงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

คริสติน่า
หวุดหวิดจะเป็นตัวเอกฝ่ายหญิงขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง ในเพชรพระอุมาภาค 2 และ 3 ถึงขนาดที่ท่านผู้อ่านที่เป็นสุภาพสตรี ไม่ว่าจะวัยใด อาฆาตมาตรโทษผมมาอย่างแรงทีเดียวข้อที่ว่า ถ้าผมเขียนให้รพินทร์มีอะไรกับคริสติน่าละก็ นอกจากจะสาปแช่งผมแล้ว ก็จะแอนตี้ไม่ยอมอ่านเรื่องของผมอีกต่อไป เพราะพฤติการณ์ในเรื่องที่ดำเนินอยู่นั้น มันหวาดเสียวล่อแหลมเข้าไปมากเหลือเกิน ซึ่งในที่สุด ก็กลายเป็นคุณธรรมอันประเสริฐอีกชนิดหนึ่ง ของรพินทร์ที่เขาไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับคริสเลย

โดยสัตย์จริง ผมเองก็ไม่ได้มีพล็อตหรือโครงแนวเรื่องไว้ก่อนเลยว่า จะต้องให้รพินทร์พลาดพลั้งอะไรลงไปกับคริส แต่ก็เป็นอุบายในการเขียนชนิดหนึ่ง ที่ให้คุณผู้หญิงทั้งหลายหวาดเสียวเล่นเท่านั้น เป็นกลวิธีที่จะดึงดูด หลอกให้ติดตามอ่านไป โดยไม่ทิ้งเสียก่อนกลางคัน เพื่อรอดูไปให้ตลอดว่า รพินทร์ จะมีอะไรกับคริสเกินเลยไปอย่างที่คิดกันหรือไม่ แต่ผมก็ไม่ยอมรับปาก ไม่ยอมบอกกับท่านผู้อ่าน (ที่เป็นสุภาพสตรีทั้งหลาย) เสียก่อน จนดูเหมือนกับว่า ถ้ายังไม่ถึงบทดารินที่จะโผล่ออกมา คริสก็คือตัวละครสำคัญสำคัญฝ่ายหญิงนั่นเอง

มีตัวตนไหม สำหรับผู้หญิงคนนี้?
ทายผิดครับ (ถ้าท่านทาย) ไม่มีตัวตนหรอก ก็อย่างว่านั่นแหละ เก็บท่าทีของคนที่รู้จักคนโน้นนิด คำพูดคำจาของคนนี้หน่อย อารมณ์ของคนนู้นมั่ง หน้าตาของคนโน้นมั่ง นำมาเคล้าผสมรวมกันได้ 50 เปอร์เซ็นต์ จากบรรดาพวกเพื่อนๆ ต่างชาติที่เป็นผู้หญิงทั้งหลาย แล้วก็คิดฝันปั้นแต่งขึ้นเองอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงอย่างคริส เชื่อว่ามีตัวจริงอยู่ในโลกนี้บ้างเหมือนกันครับ แต่ที่ผมพบมานั้น ยังไม่เหมือนกับที่วาดออกมา จึงขอบอกว่าเป็นจินตนาการขึ้นเท่านั้น ตัวละครในเรื่อง ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีตัวตนจริงขึ้นมาเป็นแบบให้ทั้งหมดหรอก ม่ายงั้นนักประพันธ์เหนื่อยตาย กว่าจะไปแสวงหาตัวจริงมาเป็นแบบได้ และคงต้องเปลืองเงินเปลืองแรงสารพัด ดีไม่ดีเมียจับได้เดือดร้อนอีกแม๊ะ แฮ่ๆ จึงขอยืนยันอีกครั้งว่า คริสติน่า กรูบิล เป็นตัวที่คิดฝันขึ้นคร้าบ ให้ตกน้ำป๋อมแป๋มซิเอ้า!

อิสซาเบล
แจกแจงตัวละครที่เป็นผู้ชายนี่ แจกให้ละเอียดดีเหลือเกิน แต่ถึงตัวละครฝ่ายหญิงให้อึดอัดประดักประเดิดอย่างไรชอบกล มันมีแต่เข้าเนื้อนะเนี่ย เอายังไงดีล่ะ ? บอกว่าเป็นตัวสมมติขึ้นดีแม๊ะ ? เพราะความจริงผมก็ไม่ได้มีโอกาสไปรู้จักบรรดาแม่ผมแดง ผมทอง หรือผมสีเงินสักกี่คนหรอก ในยุคที่ยังเป็นเพลย์บอย เที่ยวเตร่กลางคืนอยู่

ก็ตั้งร่วม 30 ปีมาแล้วละครับ – ว่าเข้านั่น – ที่ราตรีสโมสรชื่อ "นาทูริสต์" ซึ่งเคยตั้งอยู่แถวๆ หัวมุมถนนสาธรนั่นแหละ นักเที่ยวสมัยนั้นคงรู้จักดี ที่นั่น ผมคิดว่าอยากจะรู้จักนักร้องโชว์ที่ทางสโมสร เขาสั่งตรงมาจากอังกฤษสักคนหนึ่ง ชื่ออะไรก็ลืมไปแล้ว ตาดำ ผมดำ มีเสน่ห์เหมือนคนทางเอเชีย รูปร่างกระทัดรัดดี สวยจัดด้วย แต่ซวยจริงๆ แม่เพื่อนสาวของหล่อนที่เป็นอเมริกัน ซึ่งผมจำชื่อได้ว่า ชื่อ อิสซาเบล ผมสีแดง (ไม่ทราบย้อมหรือเปล่า) เป็นนักเล่นสเก็ต แบบล้อเลื่อนในลีลาประกอบเพลง ผ่ามาเป็นตัวสกันเสียนี่ หล่อน** สอด และแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เพื่อนของหล่อนติ๋ม สงบเสงี่ยม เวลาหัวเราะที หน้าอกหน้าใจขนาด 37 นิ้ว ของหล่อนกระเพื่อมไปหมด ผมพยายามพูดกับแม่ผมดำ แต่แม่ผมแดงสอดขั้นกลางทุกทีเทียว ไปเที่ยวด้วยกันสามคน แม่ผมแดงก็ดันผ่านั่งขั้นกลาง กระแซะชิดเสียงั้นแหละ

หล่อนมีอะไรต่ออะไรเหมือนอิสซาเบลในเรื่อง ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ในเรื่องนิยายนั้น อิสซาเบล มีวุฒิเป็นถึงแพทย์ แต่แม่นี่ เป็นนักเต้นระบำสเก็ต ฟลอร์โชว์ที่เร่แสดงไปตามคลับในซีกโลกอันเด้อร์ดีเวลล็อป ทั้งหลาย

และในที่สุด ระยะ 2 เดือนเต็ม ที่คณะแสดงของหล่อนทำสัญญาอยู่ในประเทศไทย ผมก็เลยจำเป็นต้องเป็นเพื่อนสนิทของแม่ผมแดงไป แทนที่จะเป็นแม่ผมดำตามที่หมายมั่นเอาไว้ โธ่ ฝรั่งผมดำ-ตาดำ ผิวเป็นไข่ปอก เข้าเทสต์ของผมอยู่แล้ว เพราะหายากจะตาย แม่ผมดำสู้เพื่อนไม่ได้ครับ ต้องถอย และในที่สุด ระหว่างแม่ผมดำกับผม ก็เพียงแค่เป็นแฟนฟังเพลงกันเท่านั้น

หล่อนก็คงจะรำคาญเพื่อนของหล่อนอยู่เหมือนกัน เลยครั้งที่สี่ที่ห้า นัดไม่ยอมไปด้วยอีกแล้ว ปล่อยให้แม่ผมแดงไปคนเดียว ผมก็ได้แต่ตาเหลือกหายใจไม่ออก เพราะอกภูเขาของหล่อนยังปิดรูจมูกผมหมด เกือบตายอยู่ร่วมสองเดือน จนกระทั่งคณะของหล่อนหมดสัญญาย้ายไปโชว์ที่สิงคโปร์ต่อ และไม่ได้พบกันอีกตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้

และตอนที่ยังเที่ยวอยู่กับผม คนอื่นๆ ไปรับ หล่อนก็โดดขึ้นรถไปด้วยเหมือนกัน ใช่จะไปกับผมคนเดียวเมื่อไหร่ เหมือนอิสซาเบลในเรื่องไม่มีผิด ถึงลูกถึงคนตลอดเวลา เวลานั่งดูหนัง หล่อนวางมือบนหน้าตักผม แทนที่ผมจะเป็นฝ่ายวางไว้บนหล่อน ผมได้แม่แบบของอิสซาเบล ในนิสัยใจคอหมดทุกอย่าง รวมทั้งอากัปกิริยา จะพูดจะจา เพียงแต่ยังไม่เคยชวนออกป่าล่าสัตว์ด้วยกันเท่านั้น เลยไม่รู้ว่า หล่อนจะเดินป่าไหวไหม แต่ก็สมมติเอาว่า มีตัวหล่อนเดินป่าไปกับคณะของรพินทร์ด้วย และมีบทบาทคอยแทรกแซงอยู่ด้วยตลอดเวลาเหมือนกับสรุปว่า หน้าด้านและเข้าคลุกวงในมากกว่า

ป่านนี้ไม่ทราบไปเป็น มาม่าซัง อยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่รู้

เชิดวุธ
ผมรู้จักนายทหารคนนี้ มาตั้งแต่เขายังเป็นร้อยโท ตอนนั้นยังประจำอยู่กรมสรรพาวุธกระมัง เป็นนายทหารหนุ่มรูปหล่อ ตามีเสน่ห์เก๋ไก๋ อย่าบอกใครเชียว และเป็นคนเดียวกับที่ยกโรงงานปืน เอช.เค. จากเยอรมันเข้ามาตั้งไว้ในประเทศไทย!

ให้ตายเถอะครับ จนป่านนี้ เจ้าตัวก็ยังหารู้ตัวไม่ ว่าผมได้ถ่ายทอดเอาอากัปกิริยา, อุปนิสัยใจคอของเขา ใส่ลงไปในตัว พ.ต.เชิดวุธ เต็มเปาเลย ดันผ่ามาบ่น (มีเขาอยู่ด้วยคนนึง) ว่าเรื่องเพชรพระอุมา มันแสนยาวหลายไมล์ ตัวเองอ่านมาตั้งแต่หนุ่มจนเกือบแก่ (ครั้นอ่านแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นตัวเองซะอีกด้วยซิ)

จากยศร้อยโท ที่เริ่มจำลองแบบมา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ยศเป็น พันเอกแล้ว เพชรพระอุมาก็จบลงพอดี อยากจะเขียนจนนายทหารผู้นี้ยศถึงพลเอก ก็เกรงใจท่านผู้อ่านอื่นๆ เป็นอย่างยิ่ง และตัวเขาเองก็จะยิ่งบ่นมากกว่าใคร

เขียนบอกมาแค่นี้แล้ว ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่ทราบว่าเป็นใคร ก็ให้ถามไปทางคอลัมน์ยุทธภัณฑ์จากยุทธภูมิ เถิดครับ ตอนนี้คงนั่งสำลักอยู่แล้ว แล้วคอยฟังพ่อร้องจ๊ากมาซิ

เป็นอันจบเรื่องราวของเบื้องหลังการเขียนนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา เพียงแค่นี้แหละครับ ขอความเจริญจงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน – สวีดัด แปลว่าสวัสดี

ปัจฉิมล่าสุดของเพชรพระอุมา

พิมพ์ข้อความเหล่านี้จบไปหยกๆ นี่แหละครับ กำลังจะส่งต้นฉบับโรงพิมพ์อยู่รอมร่อ ก็บังเอิ๊ญ-บังเอิญ ฉีกจดหมายแฟนปืนฉบับหนึ่งเข้าพอดี คือ คุณสมพงษ์ โลหะพจน์พิสาศ เขียนมาจากแดนตองเหลือง จังหวัดน่านโน่นแน่ะ สั่งกำชับมาสั้นๆ ว่า คาแร็คเต้อร์ของตัวละครแต่ละตัว จะสมบูรณ์แบบไปไม่ได้ ถ้าขาดเจ้าส่างปา (ขี้ลิง) ไปเสียคนหนึ่ง โดยไม่เอ่ยถึงเลย โดยอ้างว่า เจ้าขี้ลิงของมาเรียตัวนี้ ก็สำคัญไม่ใช่ย่อยเหมือนกัน เพราะนอกจากจะเป็นตัวละครตามนาง (มาเรีย) แล้ว ก็ยังมีบทบาทสำคัญ ช่วยชีวิตแงชายไว้ได้ในครั้งหนึ่ง ซ้ำปัจจุบัน ก็ยังเป็นถึง ฯพณฯ ท่าน มรว.สาธารณสุขประจำประเทศสารขัณฑ์ – เอ๊ย! ประเทศมรกตอันยิ่งใหญ่ จะละเลยเสียก็กระไรอยู่ อย่างน้อยก็ขอให้บอกถึงความเป็นมาเสียหน่อยปะไร หรือว่าเป็นตัวสมมติขึ้นมาเองก็เอาครับ

เรื่องเพชรพระอุมานี้ ไหนๆ บรรดาแฟนๆ นักอ่านก็ช่วยผมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่ว่าจะพลั้งพลาดเรื่องอะไร ก็จะจดหมาย โทรศัพท์ หรือใช้ปากเตือนมาให้ทราบเสมอ ผมจะละเลยความตั้งใจดีของท่านผู้อ่านเสีย ก็จะว่าไม่รักกันจริง

ความเป็นมาของส่างป่า (ที่ผมเห็นแต่แรกว่าไม่สำคัญ และไม่เอ่ยถึง) ก็มีอยู่ว่า ที่ท่าขี้เหล็ก ติดกับแม่สาย เหนือสุดของประเทศไทย ล้ำเข้าไปในแดนพม่า อันเป็นถิ่นของไทยใหญ่ ผมไปพบเจ้าส่างเข้าที่นั่น มันจะชื่อเต็มว่าอย่างไรผมไม่ทราบ เรียกกันว่า "ไอ้ส่าง" ไม่ได้เป็นเผ่าตองสูอย่างในเรื่องหรอก แต่น่าจะเป็นพวกเงี้ยวเสียมากกว่าหน้าตาท่าทางของเสือนี่ ซื่อบื้อ บริสุทธิ์ดีเหลือเกิน ฝีมือคลึงฝิ่นรนไฟ และ "จิ้มกล้อง" มือหนึ่งเลย ผมข้ามฟากไปคบหาสมาคมในวงสิงห์นิยมควัน โดยมีเจ้าส่างเป็นคน "จิ้มกล้อง" ให้อยู่สองอาทิตย์เต็มๆ ในยุคที่เคยไปเป็นเพื่อนพี่ชาย เพื่อดักจับฝิ่น (จับในเขตไทยนะครับนอกเขตไปแล้ว เราแอบไปสูบกันเป็นที่สนุกสนานในยุคหลังจอมพลสฤษดิ์ ประกาศเลิกฝิ่นเล็กน้อย)

ส่าง หน้าตามันตลกดี เคยเป็นพรานเก่า ยิงหมูป่ายังไงไม่ทราบ (ในอดีต) ปรากฏว่าไม่ได้ตัวหมู แต่ "จู๋" ของเจ้าส่างหายติดปากหมูไปด้วย ส่างก็เลยเป็นคุณด้วน ไม่ยุ่งกับผู้หญิงคนไหนมาอีกเลยนับแต่นั้น เป็นคนทื่อมะลือลูกกะตาบ้องแบ๊ว ผิดไปจากพวกชาวป่าทั้งหลายทั้งปวงที่ผมเคยพบเห็นมา นิสัยซื่อตรงและรับใช้ได้ดีมาก
มีกิติศัพท์จากปากคำคนละแวกนั้นหลายคนยืนยันว่า เจ้าส่างเป็นหมองูพิษชั้นหนึ่งในหมู่บ้านแห่งนั้น เป็นที่ปรากฏลือชื่อโดยมียาแท่งอยู่แท่งหนึ่ง ใครถูกงูกัด หรือสัตว์มีพิษกัด ไม่ว่าพิษจะร้ายแรงขนาดไหน ส่างจะบริกรรม แล้วเอาแท่งยานั้นลงแช่ในขันน้ำสะอาด สักครู่หนึ่งก็จะเอาขึ้นมาปิดที่ปากแผล และวนเวียนทำอยู่เช่นนี้ 3-4 รอบ จนกว่าแท่งยานั้น จะไม่ดูดติดแผล (เหมือนที่ส่างปาทำให้ตัวละครในเพชรพระอุมานั่นแหละ) ซึ่งพิษร้ายก็จะถูกดูดออกหมดสิ้น ช่วยให้คนรอดชีวิตได้ นี่เป็นเสียงที่บอกเล่ากันมาให้ฟังเท่านั้นนะครับ เพราะผมซักถามอะไรเจ้าส่าง ก็ไม่เห็นมันพูดอะไร นอกจากพยักหน้าหงึกๆ (ซึ่งไม่ว่าใครจะพูดอะไร มันก็พยักหน้าทั้งนั้น แม้จะขู่ว่าจะเตะมันก็ตาม)

เจ้าส่าง ที่ท่าขี้เหล็ก ที่พบในหมู่บ้านอันเป็นกระต๊อบปลูกอยู่ริ่มฝั่งของแม่สายนี่แหละครับ ที่ผมนึกถึงบุคคลิกท่าทางของมันได้ ก็เลยฉวยเอามาเป็น "ส่างปาขี้ลิง" เสียเลย เพราะตอนที่ผมพบมัน ผมก็ตั้งสมญานามของมันรู้กันในหมู่พวกเราแล้วว่า "ไอ้ขี้ลิง" เพราะมันไม่เอาไหนเลยจริงๆ (ความจริงเอา คือ "พยักหน้า" กับทุกคน แม้แต่คนที่กำลังจะเตะมันก็ตาม และถูกเตะแล้วก็ยังไม่สู้ ไม่ทำอะไรตอบแทนเขาอีกด้วย นอกจากพยักหน้าบ่นอะไรงึมงำ ของมันไปตามเรื่อง)

คราวนี้คงจะสมบูรณ์ หมดสิ้นทุกกระแสความแล้วนะครับ – สวัสดีอีกครั้ง พนมเทียนจะมาพบท่านใหม่ในเร็วๆ นี้ ถ้าแม้ว่ายังหัวตัน คิดแต่งเรื่องอะไรไม่ได้ ก็จะมาคุยอะไรให้ท่านฟังไปตามเรื่องตามอารมณ์พลางๆ ก่อน ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า ในฉบับหน้าจะคุยอะไรกับท่านผู้เปรียบเสมือนมิตรอันสนิทที่สุด ซึ่งได้ติดตามงานเขียนมาทุกระยะ

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 ธันวาคม 2552 เวลา 04:02

    เคยอ่านทุกตอนทุกภาค แต่ไม่เคยใช้ปืนยิงนกยิงสัตว์เลยแม้แต่ตัวเดียว

    ตอบลบ