สตีเฟ่น คิงก์กล่าวไว้ใน On Writing..

..หากคุณต้องการเขียนให้สุดความสามารถ คุณจำเป็นต้องมีกล่องเครื่องมือของตนเองขึ้นมาเสียก่อน จากนั้นก็ออกกำลังกายเพิ่มมัดกล้ามให้แข็งแรงพอจะยกกล่องเครื่องมือขึ้นจากพื้น

เมื่อไปถึงไซต์งานแล้ว คุณจะไม่ไปยืนเหม่อค้าง ขาดเครื่องมือที่จำเป็นต่อการทำงาน ก็มักจะเกิดความท้อแท้..เตรียมเครื่องมือให้พร้อม แม้พบงานหนักหนาสาหัสแค่ไหน ก็จะเริ่มลงมือได้ในทันที

กล่องเครื่องมือของแฟชชา(คุณตาของสตีเฟ่นผู้เป็นช่างไม้)มีสามชั้น ผมคิดว่ากล่องเครื่องมือนักเขียนของคุณ ควรจะมีอย่างน้อยสี่ชั้น นักเขียนอาจคนอาจจัดเตรียมไว้ถึงหรือหกชั้น แต่มากไปก็ไม่ดี จะกลายเป็นกล่องเครื่องมือขนาดใหญ่เกินกว่าจะพกพาติดตัวไปได้ เมื่อพกพาเคลื่อนที่ไม่ได้ ก็ไม่สมวัตถุประสงค์หนึ่งเดียวของกล่องเครื่องมือ

คุณมีกล่องเครื่องมือนักเขียนแล้ว คุณก็คงต้องหาที่ว่างติดลิ้นชักเล็กลิ้นชักน้อย แต่ทว่า จะวางไว้ที่ไหน และจะเอาอะไรเก็บไว้ในลิ้นชักบ้าง นั่นก็แล้วแต่คุณแล้วล่ะครับ กล่องเครื่องมือของคุณจะจัดระเบียบอย่างไร ทำได้เต็มที่

คุณเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นพร้อมมูลแล้ว ผมใคร่ขอแนะนำให้คุณเทเครื่องมือออกมาให้หมด จัดเรียงเสียใหม่ให้เป็นระเบียบ ลองวิธีจัดเรียงใหม่ที่คุณไม่เคยทำมาก่อน เตือนตนเองให้ทราบว่าเครื่องมือแต่ละชิ้นที่จัดเข้าไปเก็บในกล่องเครื่องมือทำหน้าที่ใดบ้าง และหากเครื่องมือบางชิ้นขึ้นสนิม เพราะคุณไม่ได้ลับฝีมือมาเนิ่นนานแล้ว ก็ขัดถูทำความสะอาดจนเปล่งปลั่งแวววาว ชโลมน้ำมันไม่ให้เกิดสนิม

เครื่องมือสามัญจะอยู่บนสุด สามัญสุด เห็นชัดที่สุดในงานเขียนก็คือขุมคำศัพท์ คุณจะมีมากหรือมีน้อย บรรจุลงกล่องได้เลย ไม่ต้องรู้สึกอับอายขายหน้าหรือน้อยเนื้อต่ำใจแต่อย่างใด ดังคำคมจากนวลนางบังเงาที่กล่าวกับกะลาสีขี้อายว่า "มีมากหรือน้อยไม่สำคัญหรอกฮะ, ที่รัก  อยู่ที่ว่าคุณใช้เป็นหรือเปล่า"

นักเขียนบางคนมีขุมคำศัพท์มหึมา ศัพท์ยากศัพท์สูงรู้ไปหมด นักเขียนพวกนี้ไม่ต่างไปจากพจนานุกรมเดินได้ เขียนอะไรออกมา พอจะกล้าท้าได้เลยว่ามีคนเพียงหยิบมือเดียวที่อ่านเข้าใจเนื้อหา..'

'..วางขุมคำศัพท์ส่วนตัวไว้บนสุดในกล่องเครื่องมือ ไม่ต้องทุ่มเทประดิดประดอยสลักเสลาให้วิจิตรพิสดาร ถึงตอนอ่านทวน ค่อยนำเรื่องนี้มาคิด ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องเลวร้ายที่คุณจะรังแกตนเองได้ก็คือ การแต้มแต่งคำศัพท์ให้วิจิตรหรูหรา คุณมองหาเสาะค้นคำยาวคำยาก เพราะคุณอับอายที่ใช้แต่เพียงคำสั้น ๆ ซึ่งก็ชวนให้สมเพชเหมือนกับการจับหมาพุเดิลแสนรักมาแต่งชุดราตรีหรูหรา หมาพูเดิลอับอายที่แต่งตัวไม่เหมือนหมา เจ้าของผู้ที่ตัดสินใจทำเช่นนี้ เพราะคิดว่าสวยดี น่ารักดี ก็ควรจะอายมากกว่าหมา เตือนตนเองเสมอว่า อย่าได้เลือกคำว่า 'emolument' มาใช้ ในเมื่อคุณใช้คำว่า 'tip' แทนได้อยู่แล้ว

อย่าได้เขียนลงไปเชียวว่า "จอห์นแวะหยุดนานพอจะขับกากอาหาร" ในยามที่คุณต้องการบอกผู้อ่านว่า "จอห์นแวะหยุดนานพอจะขี้" หากคุณคิดว่าการใช้คำว่า 'ขี้' จะบาดหูผู้อ่านหรือไม่เหมาะควรกับเนื้อเรื่อง ก็ยังพอจะใช้อีกทางได้ว่า "จอห์นแวะหยุดนานพอจะปลดทุกข์" หรือ "จอห์นแวะหยุดนานพอจะเบ่ง" ผมไม่ได้ชี้แนะให้คุณใช้คำหยาบโลน ตัวอย่างเพียงจะชี้ให้เห็นการใช้คำเรียบง่ายสามัญ ตรงเข้าเป้า ระลึกเสมอว่า ใช้คำแรกสุดที่ผุดเข้ามาในหัว ถ้าสอดรับกับเนื้อหาและบรรยายภาพชัดเจน เพราะถ้าคุณลังเลนั่งคิดชั่วครู่ คุณก็จะคิดคำใหม่เข้ามาแทน ซึ่งอาจไม่เหมาะเท่าคำแรก..

ช่วงต่อไปสตีเฟ่นพูดถึงไวยากรณ์เป็นเครื่องมืออีกชิ้นที่เขาจัดวางไว้ชั้นบนสุดของกล่องเครื่องมือ ครั้งหน้าเรามาดูกัน

OOO

"การเป็นนักเขียนอาชีพเป็นอาชีพที่โดดเดี่ยวอยู่กับตัวเองอยู่แล้ว เป็นอาชีพที่ผลตอบแทนไม่สูง เพราะฉะนั้นถ้าเลือกที่จะทำอาชีพนี้ เราก็ควรใช้ประโยชน์จากมันให้เต็มที่ คือทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ ซื่อสัตย์กับมัน เขียนในสิ่งที่ตัวเองเชื่อและชอบ นั่นคือรางวัลในตัวของมันเอง เพราะถ้าเป็นรางวัลที่เป็นตัวเงินมันไม่ค่อยมีเท่าไหร่ แต่จะเป็นรางวัลทางจิตใจที่มันสูงกว่า"

-วินทร์ เลียววาริณ-

ที่มา : Stephen King On Writing  นพดล เวชสวัสดิ์ แปล

2 ความคิดเห็น:

  1. บางทีนะบางที จอห์นอาจจะเพียงแค่แวะยิงกระต่ายป่าสักตัว แต่ที่ต้องใช้เวลานานเพราะจอห์นหาป่าจะยิงกระต่ายไม่ได้ต่างหากเล่า ไม่ได้คิดจะแวะปลดทุกข์อยากที่ใครๆ เข้าใจสักหน่อย :)

    เที่ยงแล้วสวัสดิ์เจ้าค่ะทั่น

    หายจากเน็ตไปห้าวันเต็มๆ กลับมานั่งคลิ๊กโน่นเปิดนี่แล้วมันรู้สึกแปลกหน้ายังไม่รู้ซี ไม่ได้แปลกหน้ากับทั่นหรอกนะ แต่แปลกหน้ากับโลกอินเทอร์เน็ตนี่แหละ

    แต่ห้าวันที่ผ่านมาข้าพเจ้าประสบความสำเร็จอย่างมากเลยเจียวได้นิยายมายี่สิบหน้าตกประมาณสองบท ตอนนี้เข้าบทที่ห้าแล้วเจ้าค่ะ จากวันแรกที่เริ่มเขียนจนถึงวันนี้ผ่านมาหนึ่งเดือนแล้ว(ข้าพเจ้าเริ่มเขียนวันที่ 16 ก.ค.) นิยายเดินทางไปได้สี่สิบกว่าหน้า ไม่มากไม่มายอะไร แต่เมื่อหันกลับไปมองกลับเห็นบางอย่างที่ไม่ใช่ความว่างเปล่า

    เหลือเวลาอีกสี่เดือนครึ่ง ...ไม่ไกลเกินฝัน...

    ลองมานั่งคิดๆ ดู ตอนทั่นเขียนอหังการ์ฯ เขียนอยู่ทุกวันทุกวัน วันละสองสามหน้าครบเดือนทั่นก็ได้เนื้อนิยายมาเน้นๆ 62 หน้า เขียนไปสักสามเดือนก็คงจบนิยายขนาดสองร้อยหน้าสักเรื่อง

    แต่ข้าพเจ้าไม่ทำแบบนั้นหรอก

    ท่านก็รู้ว่าบางวันเค้นกันไม่ได้สักตัวก็มี เกิดตั้งเป้าให้ได้วันละสองสามหน้าทุกวัน วันไหนเขียนไม่ได้ขึ้นมาเครียดตาย ข้าพเจ้าเลยตั้งเป้าเป็นอาทิตย์ดีกว่า เป้าหมายของเรื่องนี้ก็อยู่ที่อาทิตย์ละบท ดีหน่อยตรงที่ได้ปลอบใจตัวเอง วันนี้เขียนไม่ออกเดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เขียนออกเอง สบายใจไปอย่าง

    ท่านเล่า อาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นไงบ้าง? กาลครั้งหนึ่งไปถึงไหนแล้ว เขียนแล้วเก็บไว้ใช่ไหม? ไม่เห็นเอามาโพสต์ แล้วชีวิตยังร่อนเร่ ร่อแร่ รอนแรมอยู่ป่าว?

    อย่างงี้แหละทั่น ชีวิตมันต้องมีรสชาดดดดดส์

    (อิอิอิ)

    ด้วยความเคารพ

    ตอบลบ
  2. ต่อความ
    http://tuleedin.blogspot.com/2009/08/note-book_17.html

    ตอบลบ