จาก : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

'สุดยอดนิยายสยองขวัญแห่งศตวรรษใหม่' สร้างปรากฏการณ์ด้วยยอดขายสูงกว่า 2,000,000 เล่ม จนกลายเป็นกระแส 'ซูสุกิ โคจิ ฮอร์เรอร์'

นับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของบรรดาแฟนๆ นักอ่านชาวไทย ที่มีโอกาสได้ฟังบรรยาย และขอลายเซ็นอย่างใกล้ชิดกับนักเขียนชื่อดังระดับโลก ซูสุกิ โคจิ (Suzuki Koji) เจ้าของนวนิยายขายดีฉบับแปลเป็นภาษาไทย ได้แก่ เรื่อง แดนสวรรค์ ริง คำสาปมรณะ สไปรัล พันธุ์อาถรรพณ์ ลูป พิศวงโลกเหนือจริง เบิร์ธเดย์ ปริศนาของผู้สูญหาย และ แสงสว่างกลางทะเลลึก

โดยเฉพาะนวนิยายชุด 'เดอะ ริง' (The Ring) ของ ซูสุกิ โคจิ เป็นหนังสือที่นักอ่านและสื่อมวลชนของญี่ปุ่นต่างยกย่องว่าเป็น 'สุดยอดนิยายสยองขวัญแห่งศตวรรษใหม่' สร้างปรากฏการณ์ด้วยยอดขายสูงกว่า 2,000,000 เล่ม ทั้งยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 2 ครั้ง และเป็นละครโทรทัศน์อีก 1 ครั้ง จนกลายเป็นกระแส 'ซูสุกิ โคจิ ฮอร์เรอร์' หรือเรื่องสยองขวัญแบบน่ากลัวเงียบๆ แต่เยียบเย็นชวนขนลุกตามแบบฉบับญี่ปุ่นคลาสสิก แต่ทันสมัยด้วยโครงเรื่องเร้าใจและมีกลิ่นอายของแฟนตาซี-วิทยาศาสตร์สอดแทรกอยู่

หากจำกันได้เขาเคยบินข้ามขอบฟ้ามาพบปะนักอ่านชาวไทยเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว สำหรับครั้งนี้นอกจากจะมาบรรยายและแจกลายเซ็นให้กับแฟนๆ แล้วยังถือเป็นการเปิดตัวผลงานเล่มล่าสุดของเขาที่มีชื่อว่า 'Edge' โดยมี น้ำทิพย์ เมธเศรษฐ นักแปลคู่ใจมาเป็นผู้ถ่ายทอดถ้อยคำแบบครบทุกอารมณ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ห้อง Meeting Room 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2553

แม้ว่าเขาจะได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ให้กำเนิดนิยายสยองขวัญของญี่ปุ่น แต่เขาปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า...

"การที่ 'ริง' ไปฮิตที่อเมริกาเลยเริ่มทำให้ผมถูกเรียกว่าเป็นผู้ให้กำเนิดนวนิยายแนว 'เจแปน-ฮอร์เรอร์' (J-Horror) และเป็น 'สตีเฟน คิงแห่งญี่ปุ่น' อย่างน้อยได้เป็นสตีเฟน คิงแห่งญี่ปุ่นก็ดีใจแล้ว แต่ฉายาว่าเป็นผู้ให้กำเนิดนวนิยายสยองขวัญของญี่ปุ่นนั้นรู้สึกว่ายังไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะว่าธีมที่เขียนเกี่ยวฮอร์เรอร์ที่เกิดขึ้นมาทีหลังนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง จริงๆ ผมเป็นคนที่มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์มาก ถึงแม้จะเขียนเรื่องน่ากลัวหรือสยองขวัญสักแค่ไหน นิยายของผมไม่มีลักษณะฆ่าฟันกันแบบเลือดกระฉูด ถ้าบอกว่าเจแปน-ฮอเรอร์เป็นกลุ่มเรื่องแบบนี้แล้วตัวผมเป็นผู้นำหรือผู้ให้กำเนิด ผมจะปฏิเสธว่าไม่ใช่...ผมชอบการสื่อความด้วยเรื่องของการตาย มันรู้สึกสับสนซับซ้อนไม่รู้จะบอกว่าอย่างไรดี แต่คิดว่า 'เจ-ฮอร์เรอร์' คงจะมาจากภาพยนตร์ที่อเมริกาพูดถึง ฉะนั้นมันเป็นประเภทของภาพยนตร์มากกว่า"

นักเขียนชื่อดังเล่าถึงผลงานชุดใหม่ล่าสุดซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นคือชุด 'Edge' ว่า..."เหตุการณ์ในเรื่องจะเป็นเรื่องราวของโลกในยุคปี 2012 หรืออีกสองปีข้างหน้า ตอนเริ่มต้นของเรื่องจะพูดถึงเหตุการณ์ 3 ประการ เหตุการณ์แรกคือเกิดการสูญหายของคนไปอย่างลึกลับติดต่อกันที่อเมริกา และเหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด สถาบันวิจัยด้านคณิตศาสตร์ซึ่งที่นั่นจะมีการคำนวณค่าของ 'พาย' (?) โดยใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และพอนำเอาคอมพิวเตอร์ตัวใหม่เข้ามา ปรากฏว่าค่าพายซึ่งปกติจะเป็นทศนิยมไม่รู้จบ เกิดเป็นค่า 0 เรียงกันขึ้นมา ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

เหตุการณ์ที่สามเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบนยอดเขาของหมู่เกาะฮาวายซึ่งเป็นที่ที่มีหอสังเกตการณ์ดวงดาวอยู่ แต่ละประเทศในหลายประเทศทั่วโลกพากันไปตั้งหอดูดาวเพื่อสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนฟากฟ้าที่นั่น และญี่ปุ่นเองก็มีหอดูดาวอยู่บนนั้น ซึ่งหอสังเกตการณ์ของญี่ปุ่นได้สังเกตเห็นปรากฏการณ์ดวงดาวดับสลายในกาแล็กซี วิธีการดับสลายของดวงดาวมันแปลกประหลาด การหายไปมันไม่เกิดระเบิดหรือว่าปล่อยสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา แต่อยู่ดีๆ มันก็หายวูบไปเลย แล้วหอสังเกตการณ์นั้นก็ได้ส่งข้อมูลนั้นมาที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อที่จะเป็นการเริ่มต้นของเรื่อง ทั้งสามเหตุการณ์ตอนต้นเรื่องจะเป็นกุญแจสำคัญในการคลี่คลายปริศนาต่อไป"

ถ้าใครได้อ่านนวนิยายชุด 'เดอะ ริง' จะเห็นว่า 'ความรัก ความตาย และมนุษยชาติ' เป็นองค์ประกอบสำคัญของแก่นเรื่องซึ่งเขาบอกว่าไม่ได้คิดว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร

"คิดว่าทั้งสามองค์ประกอบนี้มีการผสมผสานประกอบกันอย่างซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องความรัก ยิ่งรักมาก ถ้าหากว่าตายไปก็ยิ่งมีความเศร้ามาก ในเรื่อง Edge สมมติว่ามีคนที่ตัวเองรักมากสำคัญมากในชีวิตนี้ และสมมติมีอีกซีกโลกหนึ่งมีคนที่เราไม่รู้จักเลย ไม่เคยพบเคยเห็นเลย ถ้ามีอำนาจในการเลือกที่จะช่วยชีวิตคนคนเดียวที่เขารักกับอีกแสนคนที่ไม่รู้จักเลยในซีกโลกหนึ่ง ถ้าเลือกได้คุณจะเลือกใคร สำหรับความคิดเรื่องของมนุษยชาติ ถ้ามาเจอสถานการณ์ที่ให้เลือกระหว่างคนที่ตัวเองรักกับอีกแสนคนที่เป็นใครก็ไม่รู้นั้น ผมเองก็คิดหนักเหมือนกันว่าจะเลือกใคร ถ้าใครที่อ่านซีรีส์เรื่องริงมาแล้วคงจะทราบคำตอบว่าคือสิ่งที่ผมพูดถึงในตอนท้ายเรื่องหรือตอนจบเรื่อง

ฉะนั้น สำหรับตัวผมทั้งความรัก ความตาย และมนุษยชาติ มันไม่ได้มีอะไรที่สำคัญมากกว่ากัน แต่ว่าเป็นการผสมผสานกันอย่างซับซ้อน โดยแนวทางการเขียนของผมเหมือนมีแกนเป็นเส้นกลางอยู่ แล้วผมจะเสริมเรื่องราวไปรอบๆ ค่อยๆ ขยายความออกไป เคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน นี่เป็นวิธีเขียนของผม นักเขียนที่เขียนแบบนี้ไม่ได้ก็มี ถึงจะมีนักเขียนที่เขียนเรื่องให้ดำเนินไปข้างหน้าได้ แต่ไม่สามารถจะขยายโครงสร้างได้ก็มี ตัวผมเองจะมีสไตล์การเขียนว่ามีเรื่องแกนอยู่ แต่ก็ขยายโครงสร้างรอบด้านไปด้วย พัฒนาไปพร้อมๆ กัน คือผมมองว่าวิธีการเขียนแบบนี้เป็นวิธีการเขียนแบบผู้ชาย"

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นราชานิยายสยองขวัญแต่ในความเป็นจริงกลับมีเรื่องของวิทยาศาสตร์อยู่ค่อนข้างมากทีเดียว และความคิดทัศนคติเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของเขาได้สะท้อนออกมาทางนวนิยายอย่างชัดเจน

"ผมมองว่าการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มันเห็นความเจริญมากอย่างชัดเจนคือยุคของ 'นิวตัน' ที่มีการใช้คณิตศาสตร์เข้ามาคำนวณทำสิ่งต่างๆ ได้ และนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและนำไปสู่การพัฒนาทางการแพทย์ที่รักษาโรคร้ายที่ไม่เคยรักษาได้เพื่อยืดชีวิตของคน จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์พัฒนามาถึงขั้นนั้นมีแต่สิ่งดี แต่ว่าจะเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ถูกต่อต้านเมื่อวิทยาศาสตร์ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอาวุธทำลายล้างหรือว่าฆ่ามนุษย์ในสงครามไปเป็นจำนวนมาก ญี่ปุ่นเองก็เคยถูกทิ้งระเบิดปรมาณู และระเบิดปรมาณูก็เป็นอาวุธเทคโนโลยีสูงสุดของวิทยาศาสตร์สมัยนั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปปฏิเสธวิทยาศาสตร์ทั้งหมด

ผู้อ่านมีความรู้สึกว่าผมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบจากวิทยาศาสตร์ อเมริกาเองก็มีภาพยนตร์ที่พูดถึงผลร้ายของการใช้วิทยาศาสตร์เยอะเหมือนกัน บางทีมันทำให้คนที่อ่านนวนิยายของผมแล้วเห็นภาพเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ว่ามันมีผลอย่างไร และเอาไปสวมเข้ากับโครงสร้างความคิดแบบนั้น ไม่คิดซับซ้อน เลยคิดไปว่าผมต้องการจะวิพากษ์วิจารณ์วิทยาศาสตร์หรือเปล่า

แต่ถ้าลองไปอ่านดีๆ จะไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ได้ง่ายๆ อย่างนั้น ถ้าได้อ่าน Edge เล่มใหม่แล้วความคิดมันจะชัดมากกว่านั้น คือจะเห็นชัดว่าเป็นความคิดในแง่บวก ถามว่ามีวิธีการอย่างไรที่จะถ่ายทอดวิทยาศาสตร์ลงในนวนิยาย บางทีสิ่งที่ศึกษามาเป็นเรื่องยากๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่ว่าผู้อ่านจะรู้หรือเข้าใจด้วย
ฉะนั้นคิดว่าทำอย่างไรจะอธิบายให้ง่ายๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจได้ด้วย"

************************************

'ความกดดัน'
เป็นพลังสร้างงานเขียนได้

................................
ซูสุกิ โคจิ (Suzuki Koji) เกิดเมื่อปี 1957 ช่วงวัยรุ่นเขาหลงใหลในดนตรีร็อค แอนด์ โรล และละครเวทีเป็นอย่างมาก หลังสำเร็จการศึกษาด้านวรรณคดีฝรั่งเศสจากมหาวิทยาลัยเคโอ เขาทำงานทั้งเขียนบทและกำกับละครเวทีอยู่หลายปี ก่อนสร้างงานเขียนเรื่องแรกชื่อว่า 'ระคุเอ็น' หรือ 'แดนสวรรค์' ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนิยายแฟนตาซีแห่งประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1990 และนิยายเรื่องต่อมาของเขาคือ 'ริงกุ' หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า 'เดอะ ริง' (ริง คำสาปมรณะ) ได้เข้าชิงรางวัลโยโคมิโซะ เซชิ ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักเขียนเรื่องสยองขวัญโดดเด่น นอกจากนั้นเรื่อง 'ราเซ็น' หรือ 'สไปรัล พันธุ์อาถรรพ์' ซึ่งเป็นภาคสองของ 'เดอะ ริง' ยังชนะเลิศรางวัลโยชิกาวา เอจิอีกด้วย

"ตั้งแต่ผมเริ่มเขียนนวนิยาย ตอนนั้นผมมีลูกสาวคนแรกเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ยุคนั้นผู้ชายเลี้ยงลูกเป็นเรื่องแปลกประหลาดมากสำหรับสังคมญี่ปุ่น แต่ตัวผมมีความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ เผชิญกับสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่ย่อท้อ ฉะนั้นผมอุ้มลูกเลี้ยงลูกไปพลาง แล้วเขียนนิยายเพราะว่าอยู่บ้านก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อที่จะต่อสู้กับสังคม เหมือนกับเวลาจะเขียนนวนิยายก็ต้องคิดว่าจะเขียนอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ๆ อันนี้มันตรงกับแนวคิดในการเขียนนวนิยายของผมด้วย

ตอนแรกๆ รู้สึกรำคาญน่าเบื่อมาก ต้องเลี้ยงเด็กทั้งเปลี่ยนผ้าอ้อม ซักผ้า อาบน้ำให้ลูก และต้องไปรับไปส่งลูกไปโรงเรียนด้วย งานบ้านกับเลี้ยงลูกผมทำ 70 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเป็นนักเขียนเบสท์เซลเลอร์แล้วก็ยังไปรับไปส่งลูกที่โรงเรียนอยู่ ตอนแรกที่เริ่มทำก็มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียนเพราะตัวเองยังไม่มีอาชีพประจำ ยังไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพก็ต้องทำงานบ้านเลี้ยงลูกแทนภรรยาซึ่งเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนมัธยมปลาย และตอนนั้นมันใช้เวลาไปกับการเลี้ยงลูกไปอย่างมาก รู้สึกเหมือนกันว่ามันจะมีเวลาพอที่จะมาทำงานอาชีพของตัวเองได้หรือเปล่า ในตอนนั้นมีความกังวลมีความกดดันอยู่เหมือนกัน

แต่ตอนนี้เวลาผ่านมาและประสบความสำเร็จ ผมรู้สึกว่าผลมันออกมาดีแล้ว ตอนนั้นมันมีความกดดันและเคยมีความท้อว่าอาจจะทำไม่สำเร็จเพราะใช้เวลากับการทำงานบ้านเยอะ แต่ว่าเมื่อมาลองคิดดูดีๆ ในตอนนี้ผมกลับคิดว่าประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกหรือดูแลลูกในตอนนั้นมันกลับช่วยทำให้งานของผมดีขึ้น คิดว่าความกดดันความยากลำบากในตอนนั้นกลับเปลี่ยนมันให้มาเป็นพลังสร้างผลงานเขียนได้ เพราะการจะเป็นนักเขียนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องยากมาก และมันไม่มีการวัดหรือไม่มีระบบอะไรที่จะวัดเป็นคะแนนเหมือนกับวิชาชีพบางอย่าง เช่น อาชีพทนายความที่มีการสอบ มันไม่มีคะแนนมาวัดว่าคุณประสบความสำเร็จหรือเปล่า ได้เป็นนักเขียนที่ดีแล้วหรือเปล่า

ตรงนี้ตัวเองต้องมีพลังใจและมีความพยายามที่จะต่อสู้เอาชนะให้ได้ ก่อนอื่นต้องมีความเชื่อมั่น มีแรงใจว่าตัวเองจะพยายามเป็นให้ได้ และอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยทำให้เชื่อหรือมีความมั่นใจว่าตัวเองจะเป็นนักเขียนได้หรือเปล่า นั่นก็คือว่าปฏิกิริยาของคนรอบข้าง การตอบสนองของคนรอบข้าง ภรรยาของผมเป็นคนที่มีเซนส์ทางนี้ดีมาก เป็นคนที่ให้ความมั่นใจกับผมเป็นอย่างมาก เป็นคนอ่านคนแรกด้วย และผมเป็นนักเขียนรุ่นแรกๆ เลยที่เริ่มเขียนด้วยการพิมพ์คอมพิวเตอร์และภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่พิมพ์ยาก เดิมนักเขียนส่วนใหญ่มักจะเขียนต้นฉบับด้วยมือ แต่ว่าผมเขียนแล้วลายมือไม่สวย เขียนแล้วอ่านยาก เพื่อที่จะให้ภรรยาอ่านได้เลยเริ่มหัดพิมพ์ เลยเป็นนักเขียนรุ่นแรกๆ ที่พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ได้

ผมมักจะให้คำแนะนำกับนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่อายุน้อยๆ ที่มาถามเรื่องการเป็นนักเขียน ผมจะถามเลยว่าแต่งงานแล้วหรือยัง ถ้าแต่งงานมีภรรยาแล้วภรรยาคุณสนับสนุนหรือเปล่า ถ้าภรรยาต่อต้านก็อย่าทำเลย ไปทำมาหากินอย่างอื่นเถอะ แต่ถ้าบอกว่าเป็นคนที่มีภรรยาแล้วและภรรยาสนับสนุนแสดงว่าคุณมีโอกาสเพราะว่าสัมผัสหรือ sixth sense ของผู้หญิงสำคัญมาก ถ้าภรรยามีความเชื่อมั่นว่าสามีคุณจะรุ่งได้ ไปหากินในด้านนี้ได้ คุณก็มีโอกาสที่จะทำงานเป็นนักเขียนอาชีพได้ ผมเชื่อในสัญชาตญาณของผู้หญิง

เวลาเขียนนวนิยายผมจะไม่ชอบสร้างพล็อตหรือเห็นภาพอะไรชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วเขียนไป แต่ทำเหมือนขุดอุโมงค์ไปพลาง ค่อยๆ ขุดไปพลาง อาจจะหลงทางไปซ้ายไปขวาบ้าง หรือว่ากระจายเรื่องออกไป แต่ผมมีแกนกลางแล้วก็ขยายโครงสร้างโดยรอบไปด้วยพร้อมกัน ค่อยๆ ขุดไป คลำๆ ไป และขยายความรอบด้านสร้างโครงเรื่องขึ้นมา ไม่ได้มีพล็อตว่าจุดจบอยู่ที่ไหน คำตอบอยู่ที่ไหนตั้งแต่แรก บางทีขุดไปก็ไปชนอะไรที่เป็นสิ่งกีดขวาง ไปเจอทางน้ำบ้าง ไปต่อไม่ได้ก็ต้องถอย และหาเส้นทางใหม่ ปิดซ่อมรูเดิม และหาทางไปใหม่จนทะลุสำเร็จลุล่วง สิ่งที่เป็นความสุขที่สุดในการเป็นนักเขียนก็เหมือนกับการเขียนไปคลำไปจนไปถึงทางออกแล้วเปิดออก เหมือนเห็นเป็นภาพผุดขึ้นมา มันเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด ฉะนั้น เวลาเขียนจะมีความเป็นกังวล ไม่มั่นใจว่ามันจะเจอทางออกหรือเปล่า

การสร้างภาพยนตร์คิดว่าไม่จำเป็นต้องให้ตามต้นฉบับนวนิยายร้อยเปอร์เซ็นต์ และมันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ด้วย เวลาเขียนนิยายจะเขียนโดยสร้างเนื้อเรื่อง วาดภาพสร้างภาพไปด้วย ระหว่างที่ขุดอุโมงค์ในอุโมงค์ก็จะมีภาพปรากฏขึ้น ถ้าผมได้ไปเป็นผู้อำนวยการภาพยนตร์หรือคนเขียนบท คงจะสามารถนำเสนอภาพเหล่านี้ออกมาได้ แต่ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ยกตัวอย่างเรื่อง 'ริง' ถ้าจะไปทำตามภาพตามจินตนาการของผม สงสัยต้องใช้เวลามากกว่าสิบชั่วโมงถึงจะเล่าเรื่องนี้จบ ซึ่งในสิบชั่วโมงที่เอามาทำเป็นภาพยนตร์ในแง่ของการค้ามันเป็นไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นจะยกให้เป็นหน้าที่ของผู้กำกับเอาไปช่วยปรับหั่นให้มันเหลือชั่วโมงครึ่งออกมา พอทำให้มันเหลือแค่ที่จะฉายในโรงได้มันก็ต้องถูกตัดทิ้งมากมาย

สิ่งที่ผมมุ่งหวังกับผู้สร้างภาพยนตร์มากที่สุด คือ ขอให้สร้างให้สนุก และอย่าถึงกลับไปเปลี่ยนธีมกลับด้านแบบ 180 องศาแค่นั้น นอกจากนั้น อยากจะไปทำอะไรก็ตามใจ ไม่ว่าอะไร 0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น