CB029641

'งานเขียนเช่นใดจึงเข้าข่ายงานชุ่ย ๆ'

สหายพุ่มที่เคารพรักประทานปุจฉาโป๊กลงมาบนกบาลให้ลองแบ นานแล้วขอรับ ตั้งแต่สหายท่านสายหันไปเอาจริงจังจบนิยายโรแมนซ์แอ๊บแบ๊วขลุกอยู่กับน้อง ๆ เด็กดีปล่อยสหายเด็กโข่งนั่งค้อนตาประหลับประเหลือก ข้อปุจฉานู่นนี่ที่เคยกระเดียดติดสะเอวอวบ ๆ มาฝากไม่เว้นตะละวันก็ให้มีอันห่างหายไปปล่อยไหเปล่านั่งเหงาคนึงถึงปลาร้าไม่จางกลิ่น

บางครั้งสำนึกว่าหนักไปข้างใดข้างหนึ่งมักไม่ค่อยดี

ข้าพเจ้าเคยเร่ง The Note Book เพื่อฝึกมือเรียบความเรียง (ก็เหมือนฝึกวางแผ่นเรียบปูพื้นนั่นแลขะรับ) แต่ความเรียงโดยมาก ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งเป็น ผม ฉัน ข้าพเจ้า ซึ่งก็ไม่พ้นแฉรอยหยักในกบาลตนว่ามีอยู่น้อยนิดเพียงไร ยิ่งเผยนานเข้ายิ่งไม่สบายใจ มิต่างเปลื้องผ้าเดินโทงในสวนสาธารณะหน้าหนาว (คิดภาพออกไหม?) เดินหลาย ๆ รอบเข้าหากไม่โดนไม้โดนก้อนหินรุมขว้างก็อาจปอดบวมได้

ถึงจุดหนึ่งรู้ตัวความเรียงคล่องมือแล้ว

เลยคิดไปว่านั่งเขียนงานร้อยแก้ว อาศัยริมฝีปากตัวละครกล่าวคำเสียดีกว่า เพราะกระบวนการเร้าขดขมองอีกรอยสลักอักขระเล่าก็ลงลึกเป็นปฏิมากรรมซึ่งต่างความเรียงที่เป็นเพียงภาพนูนต่ำ หากเปรียบเช่นดำน้ำความเรียงคงเป็นดำสนอร์คเกิล เรื่องสั้น-นิยายก็คงสกูบาดำลึกลงไปใต้น้ำเคลื่อนตัวสามร้อยหกสิบองศายากรู้เหนือรู้ใต้รู้บนหรือล่าง สัมผัสโลกใต้น้ำโดยอยู่ร่วมอย่างแท้จริงต่างดำสนอร์คเกิลซึ่งเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์  ดำสนอร์คเกิลนาน ๆ หลังอาจโดนแดดปวดแสบปวดร้อน ดำลงลึกเสียสักทีพอช่วยบรรเทา ข้าพเจ้าจึงวางมือจากความเรียงคิดทุ่มสมาธิให้นิยาย

แต่ดำสกูบาไหนเลยมุดใต้น้ำนาน ๆ ไม่รู้ผุดโผล่ สักพักอ๊อกฯ ก็หมดต้องโผล่ขึ้นมาผิวน้ำ

ได้พูดได้คุยแลกเปลี่ยนอักขระรสกับสหายพอชุ่มคำฉ่ำคอ สักสองความสามเรียงแล้วค่อยมุดกลับลงใต้น้ำ นั่งเขียนนิยายต่อ รักษาจังหวะก้าวย่างไปเยี่ยงนี้การเขียนจึงน่านิยมยินดี

หากข้าพเจ้าจบความลงตรงบรรทัดข้างบน งานเช่นนี้กระมังสมควรจัดไว้ประเภทงานเขียนชุ่ย ๆ คือจั่วหัวว่างานเขียนชุ่ย ๆ แต่เนื้อหาทะลึ่งกล่าวถึงแต่ความเรียงกับนิยาย ดำสนอร์คเกิล สกูบาบ้าบอคอแตก คงแล้วแต่จะชุ่ยไปทางใด พิมพ์ผิดพิมพ์ถูกก็ชุ่ย! เขียนไม่มีจังหวะจะโคนก็ชุ่ย! ไม่รู้ท่อนไหนเกริ่นนำ วรรคไหนควรส่งเข้าเนื้อหา ย่อหน้าไหนส่งท้ายก็ชุ่ย! เขียนเนื้อความตื้นลึกไม่สัมพันธ์วุฒิภาวะกลุ่มคนอ่านก็ชุ่ย! ใช้เนื้อที่สาธารณะเบ่งอัตตาตนก่นด่าผู้อื่นเป็นการส่วนตัวก็ชุ่ย! เขียนไม่ถูกใจคนอ่านก็ชุ่ย! เขียนลึกล้ำทำคนอ่านงงก็ชุ่ย! ชุ่ยได้จนถึงเขียนฝังนัยยะเสียมิดจนคนอ่านขุดไม่พบก็ชุ่ย!

หากความเรียงชื่อ 'งานชุ่ย ๆ' สิ้นย่อหน้าสุดท้ายจบด้วย '..การเขียนจึงน่านิยมยินดี' แล้ว 'คารวะ' จะนับเป็นงานชุ่ย (โคตร ๆ) นั้นจริงอยู่ แต่หากท่านที่เคารพรักจะลองพินิจอีกสักค่อนครู่ ก็จะพบว่าเป็นงานคลาสสิกชิ้นหนึ่ง สำแดงให้เห็นความชุ่ยโดยเนื้อความทั้งหมดไม่มีสักครึ่งคำเลยที่กล่าวคำว่าชุ่ยออกมา ชุ่ยโดยตัวเนื้อหาโดยแท้ สื่อความชุ่ยเข้าสู่ใจผู้อ่านแทบจะทันทีที่อ่านจบ (รับรองอ่านจบ ผู้อ่านรำพึง 'ชุ่ย!จริง ๆ ว่ะ') เยี่ยงนั้นจึงได้กล่าวว่าเป็นงานคลาสสิก สารถูกส่งตรงไปที่สำนึกผู้อ่าน โดยถ้อยคำเป็นเพียงสื่อ เป็นเพียงเครื่องมือถูกใช้ทำหน้าที่พ้นไปจากความหมายที่คุ้น ๆ กัน ก็เหมือนท่านนั่งคุยอยู่กับเจ้าเปี๊ยกบนฟุตบาธบอกมันว่าจงทำดี ท่านคงไม่คว้าไม้แล้วเขียนคำว่า 'ทำดี' ลงบนถนน ท่านกลับเดินไปคว้าแขนคุณยายพาข้ามถนน งานชุ่ย ๆ เช่นนี้ท่านพอจะยอมใจรับให้เป็นงานคลาสสิกได้หรือไม่?

แลหากจะมองแบบหรี่ตาเสียข้างหนึ่งก็จะเห็นว่าในความชุ่ยก็ยังมีอรรถรสแนมมากับตัวอักษร ไม่ว่าเป็นมุมมองเหลี่ยมคิดที่สื่อ หรือรสอารมณ์ภาษาซึ่งก็ล้วนบำเรอใจอ่านได้ไม่มากก็น้อย

จึงขอยก 'งานชุ่ย ๆ' วางไว้เสียข้างกระโถนน้ำหมากเพียงเท่านี้ ตรงข้อสรุปที่ว่า 'ชุ่ยก็มีดี' ผิดแต่ว่าเจอคนอ่านเยี่ยงไร เจอคนอ่านดี เขียนอย่างไรก็ดี (อย่างพี่ท่านเจ๊นกไง) เจอคนอ่านชุ่ย เขียนอย่างไรก็ชุ่ย!

ประเด็นคำถามอาจไม่ใช่ที่ตัวงาน แต่เป็นคำกล่าว เนื่องเพราะไม่ว่าตัวงานจะชุ่ยไม่ชุ่ย ชุ่ยมากชุ่ยน้อย ผู้อ่านย่อมใช้วิจารณญาณกอบเก็บสารัตถะไปได้ตามแต่กำลังตน ประดุจต้นไม้รู้ซึมซับแร่ธาตุจากขุยดินไม่เกี่ยงสีสันหรือสาปกลิ่น

แม้นรู้เลือกเสพงานก็ตามรสนิยมตน งานไหนไม่สังวาสด้วยรสนิยมก็เพียงผ่านเลยไป วิญญูชนไหนเลยเหลือวาจาไว้ว่ากล่าวผู้อื่นว่า 'ชุ่ย!'

ผู้กล่าวคำนี้มักแฝงความรู้สึก 'ยกตนข่มท่าน' 'ตำหนิติเตียน' 'หลงตน' สร้างความลำพองหลอกใจตน ในสังคมแบบไทย ๆ ครูมักใช้ตำหนินักเรียน ผู้ใหญ่ใช้ตะคอกผู้น้อย พ่อแม่ใช้ว่ากล่าวลูก ๆ ซึ่งล้วนปลูกฝังสั่งสอนผ่านการกระทำต่อ ๆ กันมาเป็นทอด ๆ สืบเชื้อร้ายทางทัศนะคติโดยไม่รู้ตัว  ทุกครั้งที่กล่าว 'โมหะ' แฝงครอบงำพอกเพาะในจิตใจผู้กล่าวทีละน้อย  ตนถูกครอบงำไม่พอยังส่งต่อสู่อนุชน เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมแบบไทย ๆ ไปแล้ว

หลายคนรู้ตัวแลเลือกที่จะแหวกออกมา บางคนไม่รู้ตัวกอดรัดไว้จนพาตาย อีกหลายคนไม่มีสิ่งนี้มาแต่กำเนิดจิตใจผ่องแผ้วไม่ยกตนข่มท่าน ไม่ว่าร้ายให้ร้าย ไม่ตำหนิติเตียนผู้ใดโดยธรรมชาติ ทุกคนดำรงอยู่ในสังคม ก่อคุณก่อโทษ สร้างแลทำลาย สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไป ทำให้สังคมวุ่น ๆ นี้เต็มด้วยสีสันละลานตามีชีวิตชีวาน่าเรียนรู้

ความหลากหลายเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติ ที่ใดขาดความหลากหลายก็จะถูกทำลายโดยง่าย เยี่ยงเมืองใดมีแต่ชาวนาคิดแบบชาวนาไม่มีนักรบก็ยากป้องกันตัว เมืองใดมีแต่นักรบคิดแบบนักรบไร้ชาวนาก็คงอดอยากเที่ยวฆ่าฟันผู้อื่นก่อความเดือดร้อน ปัญหาคือเราจะอยู่กับความหลากหลายอย่างไรโดยจิตใจไม่กระวนกระวายได้ร้อนไปกับพฤติกรรมในทางร้ายของคนในสังคม

ข้าพเจ้าเลือกเลี่ยงไม่ข้องแวะแตะต้อง เชื่อมั่นว่าทุกคนมีเส้นทางของตัวเอง ในความดีมีร้ายในความร้ายมีดีหลอมรวมอยู่ทุกตัวคน ด้วยสำนึกที่มีต่อสังคมซึ่งตนอาศัยว่าจะต้องช่วยกันดูแล แม้วางเฉยแต่จะไม่ละเลยไปกับพฤติกรรมข้างร้าย หากจำเป็นก็จะขวางตามกำลังตนเพื่อสะกิดให้สังคมได้ระมัดระวังไม่พากันเห็นดีเห็นงาม  บางครั้งอาจต้องแลกด้วยสูญเสียความสงบของจิตใจไปบ้างก็(จำ)ยอม 

รับรู้การมีอยู่ของทั้งดีและร้ายแลเฝ้าดูมิให้ข้างร้ายลุกลาม ใช่เพียงกับผู้คนทั่วไปแต่รวมถึงภายในใจตน ก็เพื่อรักษาสมดุลให้ดำรงคงอยู่ นำส่วนดีใช้ประโยชน์เต็มคุณ ซึมซับด้านดีของสังคมอุดมสีสันนี้ไว้เท่าที่ทำได้ และผ่านเวลาชีวิตไปด้วยกันตามหน้าที่ตน

ข้าพเจ้าลองแล้วชีวิตสงบอยู่ในสมาธิจิต วัน ๆ คลื่นหัวใจนิ่งเรียบ เหมือนรถเข้าเกียร์ว่างจอดนิ่งนั้นน่าเบื่อ  มิสู้เข้าเกียร์เดินเครื่อง เร่งบ้างผ่อนบ้างหัวใจระส่ำแล่นฉิวไปบนท้องถนน นอกจากได้ยลทิวทัศน์สองข้างแล้วยังได้ระยะทาง แน่ล่ะแลกด้วยความสึกหรอเผาผลาญสิ้นเปลืองพลังงานมากกว่า แต่ไม่ว่าจะจอดนิ่งหรือเดินเครื่องสุดท้ายก็สิ้นสภาพเหมือนกันหรือมิใช่

ข้าพเจ้าคิดว่าข้อเขียนนี้ค่อนข้างชุ่ยนะ ประเด็นกระจัดกระจายหรือท่านว่าไง?


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น