โดย เชตวัน เตือประโคน
จาก : มติชนออนไลน์

21-25 ตุลาคม 2551...

เยาวชน 36 ชีวิต เข้าค่ายเก็บตัว ณ วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จ.ชลบุรี ฝึกอบรม-ลงมือเขียนงานจริง ในโครงการ "จุดประกายปัญญา ปี 4-ยัง ไรเตอร์ แคมป์ (Young Writer Camp) โครงการดีๆ ซึ่ง "มติชน" กับ "เอสซีจี" ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น โดยมีงานเขียน 3 ประเภท คือ สารคดี เรื่องสั้น และสกู๊ปข่าว เป็นโจทย์ตั้ง และมี อรสม สุทธิสาคร, ศุ บุญเลี้ยง, บินหลา สันกาลาคีรี, ชาติวุฒิ บุณยรักษ์, ทรงกลด บางยี่ขัน, สกุณา ประยูรศุข, นฤตย์ เสกธีระ และเจตนา จนิษฐ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้

"ค่ายนักเขียน" ครั้งนี้ผ่านไปอย่างประทับใจ

แต่ใช่ว่าผ่านแล้วจะผ่านเลย เพราะเยาวชนหลายคนในค่ายยังสานสัมพันธ์กันต่อทางเทคโนโลยีอย่าง Hi. 5 ที่ http://youngwritercamp.hi5.com

2 ธันวาคม...

อุทยาน การเรียนรู้ หรือทีเคปาร์ก (TK park) จัดแถลงข่าวประกาศรางวัล สุดยอดนักเขียนเยาวชน ด้านสารคดีโครงการ "I Book TK young writer acadamy 2008" พร้อมเปิดตัวผลงานพ็อคเก็ตบุ๊ก "พ่อ" หนังสือของเยาวชน ที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 13 คน สำหรับรางวัลชนะเลิศ และรางวัลป๊อบปูล่าร์โหวต ได้แก่ เรื่อง "ตัวเลือกปรนัยบนทางไปบ้านพ่อ" ผลงานของ ศศิวรรณ โมกขเสน อายุ 17 ปี รับเงินรางวัลเงินสด 100,000 + 20,000 บาท พร้อมกล้องแคนนอน รางวัลที่ 2 เรื่อง "พ่อครัวข้างถนน" ผลงานของ ภิญญา ตันติวัตนะ อายุ 20 ปี รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมกล้องแคนนอน รางวัลที่ 3 เรื่อง "หลวงพ่อสมัย จินตโฆสโก พ่อผู้เป็นแสงเทียนของเด็กยากไร้" ผลงานของ ศราวุธ ดีหมื่นไวย์ อายุ 22 ปี รับรางวัลเงินสด 30,000 บาท พร้อมกล้องแคนนอน

"ศศิวรรณ" และ "ภิญญา" จึงเป็นที่กล่าวอย่างแพร่หลายทันทีใน http://youngwritercamp.hi5.com

" ทีมข่าวเฉพาะกิจมติชน" ติดตามตัวของทั้งสองสาวมานั่งพูดคุยกันอีกครั้ง สอบถามถึงความรู้สึกของการเข้าค่ายจุดประกายปัญญา ปี 4-ยัง ไรเตอร์ แคมป์ ที่ผ่านมา ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวกับ "แวดวงการเขียน" อันเป็นงานที่ทั้งสองถนัด ในฐานะที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียน "มือรางวัล" เพราะก่อนหน้านี้ ในค่ายที่ พัทยา จ.ชลบุรี นั้น ศศิวรรณเคยคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทสารคดีมาครอง ส่วน ภิญญาเองก็เคยคว้ารางวัลชมเชย ในงานเขียนประเภทเดียวกันนี้ได้เช่นกัน

ร่วมเปิดตัวหนังสือ"พ่อ" ของ ทีเค ปาร์ค

จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องมาพูดคุยกับทั้งสองคนนี้...

ศศิ วรรณกล่าวว่า ค่าย ยัง ไรเตอร์ แคมป์ ทำให้รู้จักงานเขียนหลายประเภท เมื่อก่อนไม่รู้ว่ามีงานเขียนหลากหลายขนาดนี้ จะเขียนตามที่อยากเขียน ที่ค่ายให้ความรู้ เช่น สกู๊ปข่าว ซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยว่าเขียนอย่างไร มีขั้นตอนวิธีการทำงานแบบไหน แต่ที่รู้สึกว่าได้รับกลับมาเยอะจากการอบรมครั้งนี้คือ แรงกระตุ้นที่ทำให้กลับมาแล้วอยากเขียนงานเรื่อยๆ เพราะได้เจอนักเขียน เจอเพื่อนที่ชอบงานเขียนเหมือนกัน ได้รับพลังกลับมา

"ช่วงเวลาที่ชอบ มากๆ คือ ตอนวิจารณ์งาน ซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายๆ การจะมีนักเขียนซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับ มานั่งอยู่ข้างๆ เรา แล้วอ่านเรื่องของเรา แนะนำให้ว่าน่าจะเป็นอย่างไรได้บ้าง คือโอกาสที่ถ้าไม่มีค่ายครั้งนี้ก็เข้าถึงได้ยาก" ศศิวรรณกล่าว

ศศิวรรณ เป็นนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งปีหน้าก็จะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว

เธอ มีความใฝ่ฝันว่า อยากสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อเรียนจบออกมาแล้ว อยากเป็นนักข่าว-นักเขียน ดังนั้น การได้มาเจอนักข่าว และนักเขียนในค่ายของมติชน ประกอบกับได้ฝึกเขียนงานจริงภายใต้ระยะเวลาที่กดดัน จึงเป็นประสบการณ์ตรงที่อนาคตเธออาจต้องประสบพบเจอ

"จริงๆ แล้ว เป็นคนที่ไม่ชอบเขียนงานภายใต้กรอบเวลา เพราะต้อง "คิด" ก่อน "เขียน" ซึ่งบางครั้งต้องคิดนานมากกว่าจะเขียนงานได้ แต่ค่ายที่ผ่านมา ทำให้เรารู้สึกว่า นี่เป็นการฝึกให้ได้รู้จักกับชีวิตจริงคือ ถ้าไปเขียนงานจริงๆ เช่น เป็นนักข่าว เป็นคอลัมนิสต์ ก็ต้องส่งงานให้ตรงเวลา ถ้าเราไม่รู้จักทำงานใต้กรอบเวลา เพราะมัวแต่ทำตามใจเรา ทำตามอารมณ์เรา คนอ่านเขาก็ไม่รอ หนังสือต้องออก ดังนั้น เราต้องใช้กรอบที่มีทำงานให้สำเร็จให้ได้" ศศิวรรณกล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

ทางด้านภิญญา ปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หญิง สาวกล่าวว่า ค่าย ยัง ไรเตอร์ แคมป์ ของ "มติชน" และ "เอชซีจี" กำหนดให้มีการอบรม และต้องทำงานส่ง 3 อย่าง ซึ่งบางอย่างเป็นเรื่องที่พอมีความรู้อยู่บ้างแล้ว แต่อย่าง "สกู๊ปข่าว" นั้นยังไม่เคยรู้จักมาก่อน ต้องลงเรียนในเทอมหน้า แต่การได้มารู้จักจากพี่ๆ นักข่าวก่อน รู้สึกว่าได้กำไรมากกว่าเพื่อนๆ ในคณะ

"ได้มาเรียนรู้กับพี่นักข่าวจริงๆ ไม่เหมือนกับการเรียนในห้องเรียนหรอก เพราะที่นี่เราได้คุยกับคนที่ทำงานจริง ถึงบางคนอาจจะไม่ได้จบนิเทศศาสตร์มา แต่เขามีประสบการณ์ตรง นี่คือของจริง หรืออย่างวิทยากรเรื่องสั้น ได้เจอพี่บินหลา (บินหลา สันกาลาคีรี) พี่เป้ (ชาติวุฒิ บุณยรักษ์) ก็เป็นคนที่เราชื่นชมอยู่แล้ว ได้ฟังเขาบรรยาย ด้วยวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจมาก ก็ยิ่งประทับใจ"

"มันไม่ใช่แค่การบ รรยาย ค่าย ยัง ไรเตอร์ แคมป์ เหมือนเราได้มาอยู่บ้านเดียวกันกับนักเขียน เดินไปเดินมา นึกอะไรได้ก็ไปถามได้เลย เพราะส่วนใหญ่แล้วบรรยากาศการบรรยายทั่วไปมันรู้สึกเหมือนตั้งใจเกินไป ฟังบรรยายเหมือนฟังครูสอน อยากจะถามอะไรก็นึกไม่ออก ไม่กล้าถามตอนนั้น แต่ที่บ้านซึ่งชื่อ ยัง ไรเตอร์ แคมป์ นั้น ดึกดื่นแค่ไหนก็ถามวิทยากรได้ได้ เช้ามานั่งกินข้าวด้วยกันก็คุยได้ บางทีอะไรดีๆ ก็มักจะหลุดออกมาตอนที่ไม่เป็นทางการอย่างนี้" ภิญญากล่าว

นิสิตคณะนิเทศศาสตร์จากรั้วจามจุรีผู้นี้ เลือกเรียนภาควิชาวารสารสนเทศ (เมื่อก่อนชื่อ "หนังสือพิมพ์")

เป็น ไปได้มากว่า อนาคตเมื่อจบออกมา "วงการสื่อสารมวลชน" อาจมีบุคคลคุณภาพผู้นี้ขึ้นมาอีกหนึ่ง เพราะเธอสนใจอาชีพ "นักข่าว" ซึ่งเจ้าตัวมองว่า เหมาะกับนิสัยของคนที่ชอบทำงานภายใต้กรอบเวลาและความกดดัน และในค่ายที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า เธอสามารถทำได้และทำได้ดีซะด้วย

" ชอบเรื่องความกดดัน เรื่องกรอบเวลาในค่าย เพราะตัวเองถ้าไม่มีความกดดันจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้ามี เหมือนเป็นแรงผลักให้เราทำอะไรบางอย่าง คือ ถ้าให้เวลานานๆ จะเป็นคนเฉื่อยชา ดังนั้น ต้องกำหนดกรอบเวลามา แล้วมันจะน่าท้าทาย (หัวเราะ) ถ้าทำได้ จะรู้สึกเหมือนนักวิ่งที่เข้าเส้นชัยได้

"การ ได้มาเจอก่อน ความรู้สึกนี้ในค่าย ที่มีทั้งการเขียนสารคดี เขียนเรื่องสั้น เขียนสกู๊ปข่าว ภายใต้ความกดดันและกรอบเวลาที่กำหนด เหมือนเป็นกำไรชีวิต เพราะวันหนึ่งอาจต้องออกไปเผชิญในชีวิตจริง" ภิญญากล่าวทิ้งท้าย

นี่คือ ความคิด ความรู้สึก เกี่ยวกับค่าย "ยัง ไรเตอร์ แคมป์" ของนักเขียนมือรางวัลที่น่าจับตา

อนาคต ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งสองยืนยันแล้วว่าจะไม่ทิ้งการเขียน ดั่งคำถามสนุกๆ คำถามหนึ่ง ที่ทางทีมข่าวเฉพาะกิจมติชน ลองถามดู

"ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีคนอ่านหนังสือ จะยังเขียนหนังสือต่อมั้ย?"

ศศิ วรรณตอบว่า "ถ้าเขียนเพราะอยากเขียน ก็จงเขียน แต่ถ้าเกิดเพราะอยากสื่อสารกับคนอื่นก็ต้องเปลี่ยนวิธีการไป เป็นวิธีที่คนเขาสื่อสารกัน แต่ถ้าสำหรับตัวเองรักการเขียน ก็จะเขียนต่อไป ไม่ต้องแคร์ว่าจะมีคนอ่านหรือเปล่า"

ส่วนภิญญาว่า "ถ้าไม่มีคนอ่านหนังสือแล้ว จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับสภาพการณ์ในสังคมที่ไม่มีคนอ่านหนังสือ จะเขียนหนังสือเรื่องนี้ "เมื่อโลกนี้ไม่มีคนอ่านหนังสือ" "

"ต้องติดตามต่อไปว่า ทั้งสองสาวจะเขียนหนังสืออะไรมาให้เราอ่าน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น