นั่งอยู่หลังแผงขายน้ำชา-กาแฟ  เรียกแผงคงไม่ต้องตรงนัก เพราะแลไปเห็นแต่โต๊ะชงวางแก้วระกะ หม้อต้มน้ำยืนหาวปล่อยไอร้อนอยู่บนเตา กระติกน้ำสดแดงใบย่อมวางด้านหลัง ข้างข้าพเจ้านั่งนี่เอง ลูกสาวแม่ค้าหันมาตักน้ำแข็งใส่ถุงทีต้องคอยกุมหน้าอกหน้าใจวัยม.4-ม.5 (เป็นความระมัดระวังที่ดี มิทราบไยข้าพเจ้าไพล่ประหวัดไปว่าหลานเจ้าเกรงข้าพเจ้าลอบมอง!)  ครั้นจะหันด้านข้างหรือด้านหลังก็คงติดขัดที่ต้นขาอ่อนซึ่งเลยล้นขอบกางเกงขาสั้นออกมาต้องใช้วิธีย่อเข่าไม่กล้าก้ม มือหนึ่งนาบอก อีกมือต้องตักน้ำแข็ง แล้วถุงอยู่ที่ไหน? เห็นความยุ่งยากตอนตักน้ำแข็งของเธอ คล้ายถามข้าพเจ้าว่า 'มานั่งอยู่ตรงนี้ทำไมย่ะ!?)

แผงน้ำชามีแต่โต๊ะหม้อเตาไม่มีเก้าอี้รับรองลูกค้าขอรับ โดยมากขายแบบเทคโฮมและบริการดีริเวอร์รีประดานายค้าที่นั่งจับกลุ่มแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ว่าด้วยนกกรงหัวจุกระหว่างรอนางขายทำหน้าที่แม่ค้า ข้าพเจ้าหิ้วเก้าอี้พับกับสมุดนักเรียนเล่มเยินติดมือมา 

"ชาร้อนไม่หวาน"

สั่งแค่นี้แล้วเลยไปหยิบปาโก๋ไม่สนล่ะว่าพวกยืนคอยจะกำลังจ้องปาโก๋สุกเหลืองในกระทะตาเป็นมัน  มีเศษปาโก๋ตกหล่นอยู่ใต้ตะแกรงรองสองชิ้นก็หยิบสอง สามก็หยิบสามแล้ววางเหรียญไว้ให้ กลับมานั่งซดชาแกล้มจดหมายถึงพี่ท่าน

คิดถึงทุกครั้งของเช้าวันนัดล่ะขะรับ

อันที่จริงใจนั้นเขียนถึงพี่ท่านทุกเช้าวันอาทิตย์  ดังเคยตั้งใจจะเกาะหลัง 'สวัสดีวันอาทิตย์' ให้ได้ แต่การอันเคยกระทำโดยกะปริดกะปรอยเยี่ยงไร ผู้น้อยยังคงรักษากรรมนั้นไว้อย่างมั่นคงประดุจปลาร้ารักษากระไอกลิ่น (ปานนั้ลล์) (ติดค้าง 'กระไอ' ยังไม่ได้โขกศีรษะคารวะท่านจิน)    

เคยตั้งใจไว้ว่าไหน ๆ มานั่งทอดหุ่ยปล่อยสายตาสายใจโลมไล้ตลาดนัดโรแมนติกที่สุดในโลกทุกเช้าวันอาทิตย์อยู่แล้ว น่าจะพอเก็บตกเรื่องราวมาเขียนประกบ 'สวัสดีวันอาทิตย์' ไปได้เรื่อย ๆ โดยมิพักกังวลว่าจะแป๊ก แต่มาได้แค่ครั้งสองครั้งก็ให้มีอันพับพาบ เหตุนั้นคงไม่มีอะไรมากไปกว่าทักษะเขียนยังไม่อยู่มือ คล้ายคราสวาปามน้ำสีอำพัน  หากไม่ท้นจนล้นต้นคอก็ยังไม่คิดขย้อนออกมา (ดูจะอุปมาจนเห็นภาพเกินไปสักหน่อย?)

ความผันแปรของตลาดนัดยังยวนเย้าให้ยักย้ายปลายนิ้วเขี่ยเขียนถึง  ไม่ว่าเป็นตอนซบเซาเหงางัน แม่ค้ายืนมองหน้ากันไปมา หรือคึกคักจอแจเห็นผู้คนเดินสวนขวักไขว่ประดาแม่ค้าพลอยหน้าชื่นรื่นใจ คล้ายมีเรื่องราวให้บอกเล่าไม่รู้สุด แต่ก็ให้สงสัยใจว่ากะอิแค่ถนนสายเล็ก ๆ ใต้เงาสน ในโรงเรียนมัธยมต้นริมทะเล กับผู้คนชนบทชายเลอีกหยิบมือจะมีอะไรให้พูดถึงนักหนานะ?

"สวัสดีนิดหน่อย"

ทักสาวน้อยผมยาวปล่อยเรือนสายสลวย รัดโครงเค้าหน้ากลมมนด้วยโบว์สีดำ ดวงตากลมโตยิ่งเด่นชัด (ดูเหมือนจะกันคิ้วเสียด้วย) นิดหน่อยย้ายจากแถว ๆ ซอยอารีย์ มาเรียนปี 4 เอ้ย! ป.4 โรงเรียนวัดหลาหลวง ไม่เห็นหน้าเสียหลายเพลา วันนี้เพิ่มสติกเกอร์รอยสักติดต้นแขน

นิดหน่อยไม่หันมอง ไม่โต้ตอบ ทำคล้ายข้าพเจ้าเป็นไอ้หนุ่มต้นซอยกำลังแกว่งปากหาเสี้ยนมิปาน (ไว้วันหลังจะเล่าเรื่องนิดหน่อยให้ฟัง)

คงเพราะฝนทิ้งช่วงเป็นวันที่สาม (อย่าได้สงกาว่าทำไมจำวันได้ เพราะหน้าฝนตำบลนี้คือฝนทั้งวันคืน ไม่ตกติดต่อก็เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป ฟ้าปิดทั้งวัน) ผู้คนเลยมาตลาดคักผิดหลายอาทิตย์ก่อน  (ข้าพเจ้าถึงนั่งจิบชาในสายฝน เขียนถึงพี่ท่านแล้ว ไม่ต้องสงสัยว่าเมื่อไรฟะ!? ข้าพเจ้าเขียนในใจ) ตลาดนัดกลับมาฟื้นคืนชีวิตชีวา เล่นเอาแกงถุงแม่ค้าแผงข้างหมดแต่ตลาดยังไม่วายนั่นเลยเจียว

นิดหน่อยได้ชาเย็นใส่ถุงเรียบร้อยแล้ว เหลือบหางตามาทางข้าพเจ้า แค่หันสบเธอก็วกหลบ ข้าพเจ้าส่งยิ้มให้เดียงสาของสาวน้อยไปมุมแย้ม

พบนิดหน่อยตอนข้าพเจ้าไปนั่งปั่น 'กาลครั้งหนึ่งฯ' อยู่ในเพิงจากร้านกาแฟหน้าโรงงาน บ่ายวันอาทิตย์ วันนั้นแดดเปรี้ยง สาวน้อยปั่นจักรยานมากับเพื่อน ๆ (เอาไว้จะเล่าให้ฟังวันหลัง)

ข้าพเจ้าพยายามจำแนกแยกแยะเรื่องราวหลากมิติซ้อนทับในสีสันความเป็นตลาดนัด ความต่างวัยของผู้คน หัวข้อสนทนาวงน้ำชาของประดานายค้า การเวียนมาเวียนไปของป้าขายยายค้า (ยายมากับหลานสาวตัวเล็ก ๆ) การเติบโต เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละตัวละครบนเวทีชีวิตแห่งนี้ (แม่ค้าขายกะปิผิวขาวตัดกับสินค้า คิดว่าโสดลอบมองเสียพักใหญ่ ตอนนี้ท้องแล้ว) ยังมีอีก ฯลฯ ข้าพเจ้าลองแยกแยะเพื่อจะได้มั่นกับตัวเองว่าเพียงพอที่จะนำมานั่งโม้ทุกเช้าวันอาทิตย์

พบว่าน่าจะเกินพอ ปัญหาไม่ใช่คอนเซ็ปแต่เป็นทักษะเขียนที่ยังขาด ๆ เกิน ๆ เขียนไม่ออกเสียดื้อ  ยิ่งหากรู้ว่าต้องทำ  ใจมันยิ่งค้านไปข้างโดดเขียนเสียข้างมาก (คงติดมาจากโดดเรียนตอนมัธยม) ความคงเส้นคงวาของสวัสดีฯ ยังคอยเขกกะโหลกอยู่เนือง ๆ เขกมาจวนครบสี่ปีมะรอมมะล่อ (คำนี้เขียนไง?)

ตอนนั้นยังไม่รู้จักชื่อดอกขะรับ ยินเสียงแจ้วคุยโขมง สำเนียงแบงค็อกเคี่ยนชัดแจ๋ว ข้าพเจ้าเขียนนิยายไปนั่งฟังน้ำเสียงมาดมั่นไป สบจังหวะเจ้าตัวหันมา เลยยิ้มทัก

"สวัสดีครับ"

สาวน้อยหันมองด้านหลัง เห็นไม่มีใครก็หันมาทำหน้าเหรอตอบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเลยบอกไปว่า

"ทักเธอนั่นแหละ"

ถึงได้คำโต้ตอบกลับมา

"หวัดดีค่ะ"

(เอาไว้จะเล่าให้ฟังวันหลัง)

ข้าพเจ้ารู้นะขะรับ ว่าพี่ท่านเองคงมีบ่อยครั้งที่กล้ำเขียนทั้งไม่มีเรื่อง ไม่ก็ขมองตีบตัน เบื่อ ไร้อารมณ์ อะไรต่อมิอะไรสารพัด แต่ยังต้องปั่นออกมา ต่อให้อีกหลาย ๆ ความเห็นจะมองว่ากระทำอัตวินิบาตกรรมทางอักขระ ยังคงเดินหน้ากระทำก็ด้วยตั้งแล้วว่าวินัยเขียนต่างหากที่สำคัญยิ่งยวด ยินยอมเค้นคอตัวอักษร มิยินดีเข่นฆ่าวินัยตน

มีบ้างบางครั้งพี่ท่านคงเบื่อเต็มประดา เข่นก็แล้วฆ่าก็แล้ว เลยไม่โพสท์มันเสียเลย ข้าพเจ้าไม่รู้สึกรู้สาเพราะติดตามมานานรู้ว่าหายเบื่อเดี๋ยวพี่ท่านก็กลับมา ยิ่งได้เห็นคำทักถามจากท่านหนุ่มฯ ว่าเข้าสำนักวันอาทิตย์ทีไรก็ส่ายสอดสายตาเสาะหา 'สวัสดีฯ' ครั้นไม่พบก็ให้ห่อเหี่ยว (อาจมีบริภาษทางจิตไปว่า 'ชิ! เบี้ยวอีกแระ!') ก็เหมือนข้อยืนยันว่าการกระทำเป็นประจำนั้นไม่ได้ว่างเปล่า เป็นการสร้างความทรงจำ สร้างตัวตนชนิดหนึ่ง

ชื่อที่เราใช้เขียนหนังสือเป็นตัวตนของลายอักขระ ตัวตนที่ค่อย ๆ ก่อรูปขึ้นจากจำนวนตัวอักษรทวีตามวันเวลา ตัวตนจะค่อย ๆ เด่นชัดตราบเท่างานยังขยับ ตัวตนซึ่งคือชื่อที่ใช้เขียนหนังสือยังคงลมหายใจ  หากตัวหนังสือหยุดเคลื่อนไหว ตัวตนก็จะค่อย ๆ เลือน เลือนจนหายไป

แลกเปลี่ยนสนทนากันสองสามประโยค ได้รู้ว่าแม่เธอจะย้ายกลับมาอยู่บ้าน เธอจะย้ายมาเข้าโรงเรียนที่นี่ ข้าพเจ้านึกสนใจว่าเด็กตัวเล็ก ๆ จะรู้สึกอย่างไร ปรับตัวอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงนี้ คิดอยากเทียบกับตัวเองเมื่อครั้งจากบ้านไปเมืองใหญ่  ยินชื่อเพื่อน ๆ เรียก 'นิดหน่อย' (เอาไว้ข้าพเจ้าจะเล่าให้พี่ท่านฟังวันหลัง)

ตลอดเวลาหลายปี  ทอดตาทั้งสำนักเห็นก็แต่พี่ท่านนี่แลขะรับรักษาจังหวะโยกคลึงปลายนิ้วอย่างคงเส้นคงวา อุปสรรคจะมาอวตารไหนไม่คณา ยังคงฉุดลากขบวนโบกี้อักษรมาจนทุกวันอย่างเสมอต้นเสมอปลายสัปดาห์ (ที่ขาดหายไปบ้างถือเสียว่าเป็นกลพิชัยยุทธทางการเขียนชนิดหนึ่งนะทั่นหนุ่มฯ นะ)

ข้าพเจ้านั่งมองตลาดนัด ทบทวนเรียบเรียงเรื่องราวดูว่าน่าจะได้สักกี่บทกี่ตอน ก่อนแปลงกายเป็นเห็บ (ครั้งที่เก้าร้อยเก้าสิบเก้า) โดดเกาะหลังพี่ท่านอีกที หากพี่ท่านจะได้ชื่อว่า 'มือเขียนประจำ' ข้าพเจ้าจะขอสวมฉายาให้ตัวเองว่า 'มือกะปริดกะปรอยประจำ' เพราะต่อให้วันเวลาผ่านมายาวนานแค่ไหน มองแล้วผลุบ ๆ โผล่ ๆ เพียงไร ข้าพเจ้าก็ยังถือตนว่ากะปริดกะปรอยได้อย่างคงเส้นคงศอก (ซะไม่มี)

หากไม่เกิดเหตุสุดวิสัยใด จะโผล่มาอีกสุดสัปดาห์หน้า ขอบพระคุณคำชี้แนะด้วยการกระทำทั้งหมดจากพี่ท่าน สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ จงเขียนไปตามแต่ใจใคร่เขียน จดหมายถึงใครสักคนไม่จำเป็นเลยที่จะต้องพกพาเอาอิหลักอิเหลื่อของเมื่อครั้งฟันไม่จางกลิ่นน้ำนม คิดอะไรไม่ออกต้องคอยถามว่า 'เป็นอย่างไรบ้าง สบายดีไหม ทางฉันสบายดี' จากนั้นก็ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ  แต่จงกล่าวไปตามกระแสความคิดชักพา เรื่องราวที่เล่าจะบอกผู้รับเองว่าสบายดีหรือไม่อย่างไร แลตัวอักษรทั้งหมดแม้ไม่มีสักกระผีกตัวที่จะเอ่ยถามทุกข์สุขส่อศุภเจตนาที่เขียนคุยมา แต่ก็ได้บอกแล้วว่าความคำนึงถึงนั้นดำรงอยู่ทั่วทุกขณะจิตจรดปลายนิ้วเรียงริ้วลายอักขระ

นิดหน่อยกับเพื่อนหิ้วถุงชาเย็นเดินดูดไปทางโน้นแล้ว เธอดูอวบอ้วน เอ้ย! อั๋นเกินวัย ต่างเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ผอมคล้ำประสาเด็กหญิงชายเลทั่วไป เธอหันมามองทำหน้าเฉยเหมือนเสมองทางอื่น ยังคงปั้นปึ่งกับข้าพเจ้าคล้ายจะบอกว่าหากต้องการจีบต้องพยายามหน่อยนะยะ  ความรักของข้าพเจ้าจะดำเนินต่อไปเยี่ยงไรกันนะ (เห็นทีจะเล่าให้ฟังวันหลัง)

ขอพี่ท่านจำเริญอักขระยิ่ง ๆ

น้อมคารวะ


2 ความคิดเห็น: