zen-garden รูปทรงที่ถูกลดทอนตัดองค์ประกอบรกรุงรังออกจนแทบไม่เหลือรอย คงไว้แต่ฟังก์ชั่น ดูเกลี้ยงเกลาผ่อนใจสบายตาเรียบเก็บรักษาง่ายใช้งานนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยง่าย

ไม่ว่าเป็นสถาปัตยกรรม หรือดีไซน์ข้าวของเครื่องใช้ เก้าอี้ โต๊ะ ตั่ง เตียง กว่าได้งานชิ้นสุดท้ายปรากฏแก่สายตาผู้คน ล้วนผ่านคิด วิเคราะห์ ทดลองมาแล้วอย่างหนักหน่วง เผาเวลาเปลืองไม่ต่างลมหายใจของนักหัดเขียนตอนเขียนไม่ออกเลย

ความเรียบง่ายนั้นน่าเบื่อ!

ลองเอากระดาษขาวว่างเปล่าปึกหนึ่งวางตรงหน้าแล้วนั่งพลิกดูทั้งวัน หลายคนคงทนได้ไม่ถึงครึ่งวัน (แน่ล่ะคงมียอดมนุษย์อยู่บ้าง) แต่หากบนกระดาษมีลายเส้น มีเรื่องราว หลายคนนั่งพลิกดูไปได้ทั้งวัน แทบไม่อยากกินข้าวปลา (แน่ล่ะอีกหลายคนคงชอบดูทีวีมากกว่า)  หากลายเส้นที่ว่าแออัดยัดทะนานเกินไปก็กลายเป็นรก (นรกโดยอนุโลม) ไม่ชวนทัศนา ความพอดิบพอดีขององค์ประกอบและการใช้งานจึงมิใช่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากเป็นผ่านการคิดพินิจพิเคราะห์ทบทวนครั้งแล้วครั้งเล่า  เส้นทางของ 'เรียบง่ายน่าเบื่อ' ไปสู่ 'เรียบง่ายเต็มด้วยรายละเอียดชวนคิดชวนมอง' จึงทอดยาว และแน่นอน..เต็มด้วยอุปสรรคยุ่งยากนานา   

หลายวันมานี่สหายที่เคารพยักย้ายส่ายปลายนิ้วผ่านคงต้องสงกา 'เจ้าดิลล์ทำอะไรของมัน' ขนำโกโรโกโสจึงเปลี่ยนหน้าปรับตาไม่เว้นวันยังกะดาราเปลี่ยนคู่ตุนาหงันกระนั้น

หากยังจำกันได้ ครึ่งปีกลายข้าพเจ้าอยู่ที่กระท่อมเบต้า ย้ายโน่นปรับนี่ไปเรื่อย  ปรับไปเปลี่ยนมาสักพักเลยถอนเสาขนำย้ายออกมันเสียเลย กลับมาอยู่กระท่อมเก่าทิ้งร้างไว้จนปลวกกิน ถึงวันนี้จะครบปีก็เหมือนยังเปลี่ยนไม่เสร็จ (เสียที)

ทำอะไรของมันนะ? (ท่านที่เคารพคงเคยรำพึง)

ผู้น้อยพยายามเสาะหาความลงตัวประการหนึ่ง  ร่วมสองปีมาแล้วหลังจากพบว่าเวิร์ดเพลสยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะข้อจำกัดไม่รับโค้ดภายนอกทำให้เวิร์ดเพลสแม้ฟังก์ชั่นจะยอดเยี่ยมเหนือพื้นที่อื่น ๆ ในขณะเวลานี้ แต่ก็คล้ายบีบบังคับให้ยอมเป็นเด็กน้อยรอรับอาหารป้อน (นี่ก็เพิ่งจะป้อน E-mail Subscribe มาให้)

ร่วมสองปีมาแล้ว (หลังพบอุปสรรคเมื่อร่วมทำก้าวฯ ปีแรก) ที่ข้าพเจ้าสืบเสาะทดสอบหาหนทางลงตัวทำนิตยสารออนไลน์สักหัว เป็นออฟฟิศออนไลน์ให้ได้ซุกศีรษะนั่งคุย จิบชา-กาแฟกับสหายร่วมคอ ลงงานเขียนหลากแนวตามแต่ลายอักขระสหายรักแต่ละหน่อนางจะประจง แต่จะต้อง 'ง่าย' ง่ายโพสท์เอ็นทรี่ ง่ายดูแล ไม่ดึงเวลาไปมากมายเหมือนอย่างเคยนึกท้อครั้งทำก้าวฯ ปีแรก

ความสำนึกเสียใจยังข้นเข้มอยู่ในทรงจำ ครั้งนั้นโผล่หน้าออกปากชักชวนมวลสหาย  ข้าพเจ้าเสียเองกลับยอมยกธง เป็นการกระทำไม่น่าให้อภัย!

ตลอดมาเข้าเน็ตแล้วไม่รู้จะไปไหน ก่อนนั้นเจ่าจุกอยู่ในสำนักหนอน แต่ครั้นสังคมหนอนอายุเฉลี่ยลดน้อยถอยลง (แน่ล่ะข้าพเจ้าแก่ขึ้น) ก็คิดถึงหน้าจออีกสักที่ มีเรื่องให้อ่าน มีมุมให้แวะนั่งสนทนาไถ่ถามทุกข์-สุข แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นโดยไม่ต้องตระเวนไปบ้านคนโน้นทีคนนี้ที (เคยแวะบางที่เปิดให้สมาชิกรวบรวมเอ็นทรี่น่าสนใจไว้ด้วยกัน แต่นานเข้าก็โดนมือดีโฆษณาบล็อกตัวเองลูกเดียว) ข้าพเจ้าใช้ฟีดรีดเดอร์รวบรวมทุกอย่างไว้ที่เดียวกัน แต่นั่นเป็นอ่านส่วนตัว นำไปสู่คำถาม ทำอย่างไรจึงสามารถดึงฟังก์ชั่นทุกอย่างมาไว้ที่เดียวกัน หน้าตาบล็อกที่ปรับเปลี่ยนได้ตามแต่ใจ ดึงฟีดจากบล็อกสหายมาพร้อมรูป (ลดภาระการโพสท์) มีบอร์ดให้สนทนา มีลิ้งก์แจ้งความเคลื่อนไหวต่าง ๆ

ขณะนั้นธีมรูปแบบนิตยสารมีแต่บนเวิร์ดเพลส  เพราะอยากรู้ว่าเวิร์ดเพลสซึ่งได้รับความนิยมทำอะไรได้อีกบ้าง  ข้าพเจ้าตระเวนหา Free Host  จึงเกิดกระท่อมเบต้า ทดลองทำความรู้จักกับธีมนิตยสารจนพอใจและได้คำตอบว่า Free Host ไม่เหมาะ (อาจถูกลบทิ้งโดยไม่มีการบอกล่วงหน้า โฆษณาประเภทชวนพนัน, เว็บโป๊โผล่เป็นระยะ ข้าพเจ้าไม่ได้รังเกียจโฆษณา แต่เชื่อว่าโฆษณาก็ควรสอดคล้องแนวคิดแนวทางเราและต้องดูดี!)

ทางที่ดีสมควรใช้ Free Blog ที่มั่นคง (แน่ล่ะทำฟรีนิตยสาร ไม่ว่าด้วยกลใด สมควรคิดแต่เรื่องไม่เสียตังค์)

จึงเบนตากลับหา Blogger ที่สามารถปรับเปลี่ยนโค้ดได้ดังใจ แต่ขณะนั้นธีมนิตยสารของบล็อกเกอร์ยังไม่พัฒนา เสาะหาไปทั่วพบแต่ธีมต่ำชั้น (ไม่สามารถแยกตามหัวเรื่อง ไม่สามารถดึงภาพอัตโนมัติมาไว้หน้าแรก) 

เวลาเดียวกัน Social Network พัฒนาขึ้น เกิด Face Book เกิด Twitter ข้าพเจ้าเฝ้าดูและย้ำถามตนเอง 'สิ่งนี้มีประโยชน์ใดกับนักหัดเขียนต๊อกต๋อยเยี่ยงเราบ้าง?'

แต่ก็คิดไม่ออก ข้าพเจ้าส่ายหน้าไม่เหลียวมอง เพราะคิดไปว่าเป็นของเล่นสังคมออนไลน์ชิ้นใหม่ที่มีแต่พร่าเวลาเขียนหนังสือ  กระทั่งพบท่านแสนศิษย์เก่าสำนัก นักอ่าน-นักรีวิวหนังสือตัวพ่อ ทำ Sunday Book Club ขึ้นมาบน Face Book จึงได้เห็นแง่งามของ Social Network นี้

เขียนหนังสือไม่ออกทีไร ข้าพเจ้าผลาญเวลาเน็ตเวลาชีวิตไปกับทำความรู้จักสังคมแปลกหน้าอีกที่ด้วยคำถามเดิม 'จะนำเครื่องเล่นนี้มาทำอรรถประโยชน์ใดได้บ้างในแง่ของงานเขียน?'

กระทั่งทุกวันนี้มีการนำธีมนิตยสารต่าง ๆ ของเวิร์ดเพลสมาแปลงเป็นบล็อกเกอร์ แม้หน้าตาเหมือนแต่รายละเอียดการใช้งานแตกต่างเพราะระบบห่างชั้น แต่ก็ได้ใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับธีมนิตยสารบนบล็อกเกอร์

สหายที่เคารพจึงเห็นหน้าตากระต๊อบมอซอเปลี่ยนไปไม่เว้นตะละวัน (จำต้องใช้กระต๊อบเป็นหนูทดลองเพราะจะได้ใช้งานจริง และมีเอ็นทรี่ต่าง ๆ ให้ทดสอบ)

ความตั้งใจจะใช้หน้าตาบล็อกรูปแบบนิตยสารหดหาย (แทบ) หมดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างการทดสอบก็คือหน้าตาแบบนิตยสารนั้นแห้งแล้ง ไร้ชีวิตจิตใจ ไม่ชวนค้นหา เหมือนหญิงสาวสวมเสื้อผ้าแบรนด์เนมเดินออกจากแคตตาล็อกเดียว แต่ธีมนิตยสารก็นำไปสู่อิสระภาพของการจัดองค์ประกอบบล็อกอีกขั้น  ความตั้งใจที่จะใช้ Blogger เป็นออฟฟิศเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

การค้นหาเดินทางมาถึงใกล้จุดสิ้นสุด

20080222014944_zen garden

หลังพบว่าวิธีคิดทำนิตยสารออนไลน์แบบเดิมไม่เป็นผล ดึงเวลาและกำลังสมองไปจากงานเขียน แต่ครุ่นคำนึงรักที่อยากมีนิตยสารปลอม ๆ สักเล่ม เป็นที่รวมงานเขียนของสหายผู้เป็นที่เคารพ เป็นที่ให้ได้แผลวมาปะหน้าค่าตา (ยามถูกสาวเมิน)  อีกทั้งต้นแบบงดงามเก่า ๆ ที่ถูกทอดรอยไว้  ท่านอาจารย์หม่อมเขียนบทบรรณาธิการทุกวัน ดูแลหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ยังสามารถประพันธ์งานเขียนได้หลายต่อหลายเรื่องเล่ม ย้อนเวลาขึ้นไปอีกหน่อย 'ศรีบูรพา' ท่านกุหลาบ สายประดิษฐ์ทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ กลุ่มสุภาพบุรุษ ยังสามารถฝากงานเขียนอมตะให้อนุชนรุ่นหลัง  เมื่อมีครรลองอันท่านผู้เป็นเลิศทางประพันธการได้ทอดทางไว้กระนี้ ไฉนทากน้อยที่บังอาจหาญกล้าออกปากว่าจักมุ่งไปบนหนแห่งอักษรกรรมจึงมิคิดกระดึ๊บไป     

ใช้เวลาร่วมสองปีได้ข้อสรุปข้างล่างนี้

ธีมนิตยสารทำให้พบอิสรภาพขององค์ประกอบบล็อก (สามารถจัดวางทุกอย่างตามแต่ใจ), Social Network เยี่ยง Face Book ทำให้ได้คิดปรับเปลี่ยนรูปแบบจากนิตยสารเป็นกลุ่มความสนใจร่วม, ทุกคนไม่ต้องทำอะไรเพิ่มแค่อัพบล็อกตามปกติ, ที่เหลือคือ 'ชื่อ' คิดเท่าไรก็ไม่ออก ไม่เป็นไร เมื่อไรเมื่อนั้น

วันนี้กระต๊อบซอมซ่อกลับคืนหน้าตาเรียบง่าย เป็นเรียบง่ายที่ผ่านยุ่งยากสับสนจนกระเจิดกระเจิง เป็นเรียบง่ายที่ผ่านทำความเข้าใจซับซ้อนจนยุ่งเหยิง ประดุจจอมยุทธ์หลีกเร้นปลีกตัวคืนสู่สามัญ ทิ้งเรื่องราววุ่นวายในยุทธภพไว้เบื้องหลัง  แม้สองฝ่ามือว่างเปล่า แต่เป็นความว่างเปล่าเต็มด้วยพิษสง แม้มองดูภายนอกสมถะเรียบง่าย แต่เป็นสมถะที่ซุกเหลี่ยม เรียบง่ายที่ซ่อนคม  ความเรียบง่ายเยี่ยงนี้มักไม่น่าเบื่อ

เหล่าท่านเห็นเช่นนี้หรือไม่? ●


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น