ผู้น้อยส่งบทสนทนาหาเหล่าทั่นจากหน้าหนึ่งของวารสารกำมะลอรายสัปโดกสัปดน  คิดค้นทำขึ้นโดยนาย ณ ดิลล์ ธรรมดา  ใช่เพราะเหตุผลกลใดเป็นสำคัญนอกไปจากหัวใจลูกลิงลุกลิกอยู่ไม่สุข
ใคร่ใช้เป็นที่เก็บงานผู้อื่นซึ่งตนเองชื่นชมชื่นชอบนั้นประการหนึ่ง

บ่อยครั้งเคลื่อนปลายนิ้วคลิกไปคลิกมากวาดตาอ่าน ปะงานเขียนต้องใจอยากนำมาเก็บไว้เป็นที่่เป็นทาง เผื่อวันหน้าวันหลังนึกกระสันจะได้คลิกเปิดโดยดาย  อย่าเลยหากเหล่าทั่นจะค้านว่าเก็บลิงก์ไว้ก็ได้ ไม่เห็นต้องยกเอามาเก็บทั้งกระบิเลย  อึ้งตะลึงตึงตึงตอนคลิกไปพบว่าเว็บปิดไปแล้ว บทความหายไปแล้วนั้นชวนเขกกะโหลกตัวเองนัก

ตั้งแต่เว็บวรรณกรรมดอทคอมปิด (โดยผู้น้อยมิได้เก็บเรื่องสั้นแปลไว้เลยสักเรื่อง) ตั้งใจไว้ว่าจากนี้จะทยอยเก็บงานที่ชื่นชอบเหมือนนักสะสม บางคนสะสมของเก่า บางคนเล่นพระเครื่อง บางคนสะสมเหรียญกษาปณ์ บางคนหมวก รองเท้า ไม้คนเหล้า สหายเลิฟร่วมก๊วนดินน้ำลมไฟสะสมอุปกรณ์ประกอบฉากในร้านเหล้า (มันมีข้อแม้ว่าห้ามซื้อ จะต้องจิ๊กเท่านั้น หลายครั้งมันหยิบแล้วหย่อนลงเป๋ากางเกงเพื่อน โรคจิต!) ผู้น้อยลดพะรุงพะรังชีวิต ตัดแล้วจากสะสมทั้งมวล (ผ่าสิ..แม้แต่เงินทองก็ไม่เหลือให้สะสม) ก็ว่าสะสมงานเขียนนี่ล่ะน่าจะเป็นงานอดิเรกไม่เลว ไม่รกบ้านรกช่อง (เพราะเก็บบนเน็ต) จัดเก็บดี ๆ ไม่ต้องคอยปัดกวาด ทั้งยังอาจมีประโยชน์ต่อผู้คนที่สนใจ (คิดขึ้นได้อีกกรณี ตอนหมู่บ้านจีโอซิตี้ปิดกิจการ หลายเว็บสูญหายน่าเสียดาย)

แต่ครั้นจะเก็บไว้ที่กระต๊อบก็ดูกระไร

สมควรใช้กระต๊อบเก็บงานส่วนตัว งานผู้อื่นควรแยกออกต่างหากและทำลิงก์หากัน

อีกประการ

เนื่องในวาระศุภโอกาส สหายที่เคารพรักเลือกโพสต์งานที่บล็อกเกอร์ ซึ่งสามารถดึงฟีดได้ทั้งภาพและเนื้อหา

กระตุ้นเตือนว่าถึงเวลาแล้วสมควรลงมือสักที

หลักจากจด ๆ จ้อง ๆ แย็บซ้ายแย็บขวาฟุตเวิร์คโยกวนอยู่เป็นนาน ติดที่หาชื่อถูกใจไม่ได้ ชื่อที่เป็นไทยแท้ ไม่มีกลิ่นนมเนย ลองมาร้อยแปดตั้งกะ 'อบเชย' 'การบูร' 'สารภี' 'ทานตะวัน' 'กระเฌอ' 'ชะลอม' 'สัปปะรส' (กะว่าจะล้อคำสรรพรส) ไม่มีคำไหนต้องตรงใจสักที  วันดีคืนดี วานซืนคำ 'สยามสมัย' โผล่ขึ้นมามิต่างบั้งไฟพญานาคกลางโขง  ผู้น้อยพยักหน้าหงึก อืมม์..เชยดีแท้  ลองค้นดูปรากฏว่าเป็นนามวารสารยุคเก่าก่อน  เปิดดูภาพในเล่มก็ให้ตาลุกวาว มีนาม 'ชิต บูรทัต' ผู้เป็นที่เคารพเทิดทูนอยู่ด้วย (แม้จะแกะอักษรไม่ออกสักตัวก็ตามที)

พ้องต้องการณ์อะไรกระนี้  พิพักลังเล ผู้น้อยลงมือ หานู่นแหมะนี่ทำพิธีปลุก 'สยามสมัย' ให้ฟื้นขึ้นมาอีกครา

เป็น 'สยามสมัย' ยุคเน็ตที่ไม่คิดลงทุนสักบาทสักเฟื้อง (แม้นักเขียนคอลัมนิสต์ก็หักคอตีเข่าเอาจากเหล่าทั่นนี่แหละ)

ธรรมชาติของสื่อนั้นต่างกัน

สื่อสิ่งพิมพ์ถูกผลิตออกวางแผงเป็นวาระ รายวันบ้าง สัปดาห์บ้าง ปักษ์บ้าง เดือนบ้าง สามเดือนก็ยังมี (จะเอาเป็นรายปีก็ยังได้) บนเน็ตไม่มีวาระ เปิดดูตามแต่จังหวะเวลาและอารมณ์ เร่งก็แค่ผ่านตา มากเวลาอาจนั่งจ่อม  หากน่าสนใจและยาวหางว่าวก็อาจพริ้นมาอ่าน  สื่อสิ่งพิมพ์ทำหน้าที่ต้นธารผู้ผลิตงาน สู่สายตาผู้บริโภค  ขณะบนเน็ตผู้ผลิตกับผู้บริโภคผสมกลมกลืนเป็นเดียว ผู้เสพเป็นทั้งผู้ผลิต (เขียนงาน) และส่งผ่าน (แบ่งปัน) อีกทั้งยังสามารถลิงก์กันไปมาเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ไม่สูญหายเมื่อถึงวาระฉบับใหม่วางแผงเยี่ยงสื่อสิ่งพิมพ์

บทเรียนจากครั้งร่วมทำนิตยสารออนไลน์ก้าวรอก้าวแห่งสำนักหนอน ข้าพเจ้าพบว่าวิธีเหมาะสุดคือดึงลิงก์เต็มจากบล็อกของคอลัมนิสต์มาลงบนหน้านิตยสาร จะทำให้ลดงานลงไปมาก

จึงขอใช้วาระโอกาสนี้น้อมเรียนเชิญสหายพี่ทั่นขุลล์ พี่โจ๋ ท่านดง ท่านแม่ค้า ร่วมรับตำแหน่งคอลัมนิสต์ประจำวารสารรายสัปดน 'สยามสมัย' อันมีนามกรแสนเช้ยเชยนี้  โดยที่เหล่าทั่นมิพักกระทำการใดเพิ่มเติมเลย  นอกไปจากเขียนงานอัพงานตามแต่สะดวกใจดังเคยปฏิบัติมา  ฟีดจะถูกดึงมาไว้ที่หน้าแรกของ 'สยามสมัย' ทันทีทั่นอัพงาน (อาจช้านิดหน่อยไม่รู้บล็อกเกอร์แก้ไขรึยัง)

วารสารฉบับนี้มิได้คาดหวังยอดจำหน่ายหรือจำนวนคลิกเข้าชม  เป็นแต่รักษาไว้ซึ่งความต่อเนื่องยาวนานที่จะค่อย ๆ สะสมชิ้นงานทีละเล็กละน้อย  พร้อมฝึกมือพัฒนางานเขียนของเหล่าเราในเวลาเดียว โดยอาศัยเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือเผยแพร่

ผู้น้อยแต่งตั้งตัวเองเป็นบอกอวารสารกำมะลอ เนื่องเพราะมิใช่เจ้าของชิ้นงาน  เป็นแต่ผู้ทำหน้าที่สรรหางานเขียนมากำนัลตามจังหวะเวลาและโอกาส  งานเขียนที่เป็นของบล็อกเกอร์ผู้เขียนงานต่อเนื่องเอาจริงจัง  ไม่ก็บทความจากสื่อหลัก  แทนเพียงคลิกแบ่งปันเป็นนำมาเก็บรักษาไว้  มิใช่ข่าวสาร เนื่องเพราะสามารถหาเสพได้จากสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ทั่วไป  แต่เป็นบทวิเคราะห์ ความคิด ความเห็น ไม่วุ่นวายโต้เถียงเรื่องการเมือง แต่เป็นการบ้านที่รับผลกระทบ  และแน่ล่ะ ดำรงไว้ซึ่งสุนทรียะท่ามทุรยุคแห่งสยามสมัย  

ธุลีดิน

ขอบคุณพิมพ์ดีดของปู่วิลล์ ผู้น้อยน้อมจิ๊กมาแหมะกระหม่อมเอาฤกษ์เอาชัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น