สุจิตต์ วงษ์เทศ : เริ่มต้นเลียนแบบ วันนี้ พรุ่งนี้ก็เป็นกวี, นักเขียน, ศิลปิน:
มติชนรายวัน ฉบับประจำวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556

          หัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงาน คือการเก็บเล็กผสมน้อยจากความคิดของคนอื่น แล้วนำมาผสมผสานกับความคิดของคุณ เพื่อสร้างผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวคุณเองขึ้นมา”
          จากหนังสือ “ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน” Steal Like an Artist ของ Austin Kleon แปลโดย อาสยา ฐกัดกุล (สำนักพิมพ์วีเลิร์น)
          คำว่า ขโมย ในชื่อหนังสือขโมยให้ได้อย่างศิลปิน จึงน่าจะหมายถึง เก็บเล็กผสมน้อยจากความคิดของคนอื่นมาทำเลียนแบบด้วยชื่นชอบและศรัทธา มิได้เจตนาจะให้หมายถึงลักเอา(ทรัพย์สินทางปัญญา)ของคนอื่นอย่างจงใจจริง
          ครูบาอาจารย์ผู้สอนทางวรรณกรรมและศิลปกรรม มักบอกตรงกันว่า ถ้าอยากเป็นกวี, นักเขียน, นักประพันธ์, ศิลปิน, ฯลฯ ให้นักเรียนนักศึกษาค้นหาแนวทางสร้างสรรค์ของตัวเองอย่าให้เหมือนคนอื่นเป็นอันดับแรก
          ผมคิดว่าคำสอนอย่างนี้ใช้การไม่ได้กับคนทั่วๆไปในวงกว้าง สิ่งที่ใช้การได้เลยทันที คือให้เริ่มต้นเลียนแบบ มีในหนังสือขโมยให้ได้อย่างศิลปิน ว่า
          “ไม่มีใครเกิดมามีมุมมองหรือสไตล์เฉพาะตัวในทันที เราไม่ได้รู้จักตัวตนของตัวเองตั้งแต่หลุดออกมาจากท้องแม่ ในช่วงเริ่มต้นเราจะเรียนรู้ด้วยการเลียนแบบฮีโร่ในดวงใจของเรา เราเรียนรู้ด้วยการลอกเลียนคนอื่น
          นี่เราไม่ได้พูดถึงการขโมยผลงานนะครับ การขโมยผลงานคือการเอางานของคนอื่นมาแอบอ้างว่าเป็นของตัวเอง
          แต่การเลียนแบบคือการรื้อโครงสร้างเดิมออก แล้วประกอบขึ้นเป็นรูปแบบใหม่ ไม่ต่างอะไรกับช่างเครื่องที่รื้อชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อดูว่ากลไกข้างในทำงานอย่างไร”
          พระพุทธรูปแบบสุโขทัย(ที่เรียกกันทั่วไปว่า ศิลปะสุโขทัย) มีขึ้นจากการทำเลียนแบบพระพุทธรูปที่มีมาก่อนทั้งในสยามและในลังกา
          พระพุทธรูปทั้งในสยามและในลังกาที่มีมาก่อน ก็ทำเลียนแบบพระพุทธรูปในอินเดียที่มีมาก่อน ซึ่งเลียนแบบเทวรูปกรีก เช่น เทพอพอลโล มาอีกชั้นหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น
          ช่างแต่ละยุคที่ทำพระพุทธรูปเลียนแบบ ล้วนผสมผสานความคิดของตนเข้าไปด้วยเสมอ ซึ่งมีขึ้นจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมขณะนั้น จะโดยจงใจ หรือไม่จงใจก็ตาม
          กลอนแปด หรือกลอนสุภาพ ส่งสัมผัสใน ไม่ใช่สิ่งที่สุนทรภู่สร้างสรรค์ใหม่ขึ้นด้วยตัวเองทั้งหมด
          แต่สุนทรภู่เลียนแบบกลอนส่งสัมผัสในที่มีมาก่อนสุนทรภู่เกิด(มีหลักฐานอยู่ในหนังสือกลอนอ่านเรื่องท้าวปาจิตกุมาร แต่งสมัยปลายอยุธยา-ธนบุรี) แล้วนำมาผสมผสานกับความคิดใหม่ของสุนทรภู่ จนกลายเป็นกลอนแบบสุนทรภู่
          คุณขรรค์ชัย บุนปาน ก่อนอายุ 20 เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ(ในคลองบางกอกใหญ่) เริ่มเขียนกลอนเกี้ยวสาว และออกหนังสือพิมพ์คัดลายมือตัวเองในห้องเรียนแล้ว ได้ไปเช่าหนังสือขุนศึก นิยายขนาดยาวของ ไม้ เมืองเดิม แล้วชวนแกมบังคับให้ผมอ่านตั้งแต่เล่มแรกจนเล่มสุดท้าย (หุ้มปกแข็ง มี 9 เล่มหนาๆ)
          ผมไม่เคยอ่านหนังสืออะไรมากมายขนาดนี้มาก่อน และไม่เคยคิดอยากอ่านอยากเขียนอะไรเลย เพราะถือว่าเป็นงานชั้นสูงที่อยู่ไกลเกินฝันของตัวเอง
          ครั้นอ่านขุนศึกจบหมดแล้ว รู้สึกถูกจริตบ้านนอก ก็เกิดอาการกำเริบอยากเลียนแบบสำนวนลูกทุ่ง“มึงวาพาโวย” ของ ไม้ เมืองเดิม แล้วเริ่มลงมือตั้งแต่บัดนั้นสืบเนื่องมาจนบัดนี้
          ถ้าใครถามว่าได้แบบอย่างเขียนเรื่องสั้นและนิยายจากไหน? ผมจะตอบทันใดด้วยภาษาปากเป็นที่รู้กันว่า“กูขโมย จาก ไม้ เมืองเดิม”
          “เจ้าขุนทองไปปล้น ป่านฉะนี้ไม่เห็นมา” ผมขโมยจากเพลงร้องเล่นทั่วไปของชาวบ้านภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยุคก่อนๆ ที่จำได้จากไหนไม่รู้ ไม่ได้คิดขึ้นเองเลย
          ความคิดที่ประดิษฐ์ถ้อยคำจำนวนมาก รวมถึงวลีและประโยคต่างๆ ผมได้จากวงข้าววงเหล้าเอามาใช้เขียนหนังสือหลายสิบปีมาแล้ว
          บางอย่างและหลายอย่างเข้าหูซ้ายทะลุหูขวามาแต่แรก ไม่ได้ใส่ใจ แต่มันค้างคาเป็นขี้หูอยู่ในใจ พอมีวิกฤตต้องใช้งานก็ฉวยมาใช้ทันทีทันใดไม่ทันขออนุญาต
          ไม่รู้จะขอใคร เพราะจำไม่ได้หรอกว่าของใคร? ที่ไหน? เมื่อไร? ก็ได้แต่รำลึกนึกถึงบทไหว้ครูเสภาว่า“ครูพักอักษร” คือ“ครูพักลักจำ”นี่เอง
          ขโมยก็ดี เลียนแบบก็ดี ในงานวรรณกรรม คนโบราณถือว่าล้วนเป็นศิษย์ครูพักลักจำทั้งนั้น ไม่ใช่อาชญากร
          เริ่มต้นเลียนแบบ“ครูพักลักจำ”วันนี้ พอถึงพรุ่งนี้ก็เป็น กวี, นักเขียน, นักประพันธ์, ศิลปิน (ถ้าคิดว่าตัวเองเป็นได้)