ต้องปฏิวัติการศึกษาไทย : อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล:
ต้องปฏิวัติการศึกษาไทย

*

เมื่อวาน วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556
ผมมีนัดบรยายเรื่องอาเซียน ที่มหาวิทยาลัยฟาร์อิสเทอร์น (The Far Eastern University) จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากหยุดรับบรรยายมาหลายเดือน และจะไม่ว่างบรรยายไปอีกหลายเดือนข้างหน้า ด้วยที่มีงานประจำส่วนตัวที่รัดตัวมากในระยะนี้
จากปลายปีที่แล้วถึงต้นปี 2556 นี้ ความสนใจเรื่องอาเซียนในประเทศไทยก็มิได้ลดถอย สังเกตจากการที่มีผู้ติดต่อจะเชิญผมไปบรรยายหลายรายที่ผมรับทราบความประสงค์แต่ก็จำต้องปฏิเสธไปก่อน ผมไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องอาเซียนในระดับแนวหน้าของประเทศไทยแต่อย่างใด ผมไม่ใช่นักวิชาการหรือนักวิจัย หรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไหนเป็นทางการ ผมเป็นเพียงผู้เคยเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์เมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้ว และต่อมาเป็นนักข่าวเป็นผู้ผลิตงานข่าวและสารคดีโทรทัศน์ ผมทำงานสื่อสารมวลชนมากกว่างานวิชาการ และมีประสบการณ์งานการเมืองในฐานะสมาชิกรัฐสภาสามวาระสามแบบในเวลาอีกราวเก้าปีเท่านั้น ความรู้และประสบการณ์เรื่องอาเซียนของผมจึงจำกัดอยู่ในกรอบประสบการทางอ้อมซึ่งสะสมมาจากสมัยเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย การค้นคว้าทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอาเซียน สมัยนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี ได้การสอนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองเอเชียใต้อยู่ระยะหนึ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางทำงานข่าวและวิชาการแลกเปลี่ยนความเห็นในฐานะนักวิชาการและนักข่าว รวมทั้งในฐานะสมาชิกรัฐสภา และล่าสุดได้ประสบการณ์จากงานเดินทางทำข่าวและสารคดีแบบเข้มข้นเกี่ยวกับอาเซียนตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

ดังนั้นการได้มีโอกาสไปบรรยาย ณ ที่ต่างๆในเรื่องเกี่ยวกับอาเซียนจึงเป็นเรื่องที่ผมเต็มใจเป็นที่สุด และพร้อมบรรยายเป็นบริการสาธารณะโดยไม่มีค่าบรรยายแต่อย่างใด ยามที่ผมไม่มีงานประจำยาวนานสามปีที่ผ่านมางานบรรยาเรื่องอาเซียนก็เป็นไปอย่างคึกคักเกือบไม่มีวันหยุดพัก ซึ่งเป็นความสุขที่หาได้ยากจากการประกอบอาชีพเป็นหลักเป็นฐาน ยามที่จำต้องพักรับบรรยายในช่วงนี้จึงรู้สึกเสียดายที่ตัดโอกาสตนเองไปชั่วคราว แต่ก็มั่นใจว่ายังมีผู้บรรยายอื่นอีกมาก โดยเฉพาะอาจารย์และสื่อมวลชนผู้มากประสบการณ์อีกหลายท่านที่ยังคงให้บริการสังคมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องอาเซียนอยู่ต่อเนื่องไป

หัวข้อบรรยายที่สถาบันการศึกษาสนใจมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องการเตรียมตัวเยาวชนเข้าสู่ความเป็นพลเมืองอาเซียน ในประชาคมอาเซียนที่นับวันจะเข้มข้นเป็นประชาคมแห่งคุณภาพและการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็คือหัวข้อบรรยายของผมในช่วงเช้าที่มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น
อีกหัวข้อหนึ่งที่ครูอาจารย์ห่วงเด็กนักเรียนและนักศึกษากันมากก็คือเรื่องทักษะภาษาอังกฤษที่เยาวชนไทยจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อการแข่งขันในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก ซึ่งก็เป็นหัวข้อบรรยายของผมในตอนบ่าย และพิเศษช่วงบ่ายนั้นผมจะพูดคุยกับนักศึกษมหาวิทยาลัยฟาร์อีส
เทอร์นเป็นภาษาอังกฤษด้วย

เรื่องการเตรียมเยาวชนเข้าสู่ความเป็นพลเมืองคุณภาพในประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องการศึกษาโดยแท้ และเป็นการศึกษาทั้งระบบ

เรื่องการสร้างทักษะทางภาษาอังกฤษโดยเฉพาะเป็นเรื่องการศึกษาและวัฒนธรรมควบคู่กันไป ซึ่งก็เป็นเรื่องการศึกษาทั้งระบบอีกเช่นกัน

ทุกอย่างมาลงที่การศึกษา แต่การศึกษาเรื่องอาเซียนไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการมีความรู้เรื่องที่เกี่ยวกับอาเซียนเท่านั้น เพราะหากอยากรู้เรื่องอาเซียน ทุกคนก็สามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเองจากการอ่านหนังสือและเอกสารต่างๆ และหากต้องการเตรียมตัวทำธุรกิจในระดับภูมิภาคอาเซียนก็สามารถหาข้อมูลได้ฉับพลันทันใจเมื่อถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้ข้อมูลความรู้แล้วก็จัดการธุรกิจชีวิตตนไปตามนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาวิกฤติตระหนักรู้เรื่องอาเซียนเท่าใดนัก
แต่ถ้าต้องการจะเตรียมตัวให้ตนเองเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็จำต้องปฏิรูปตัวเองด้วยการใฝ่หาการศึกษาที่ทำให้เกิดความคิด

ต้องเป็นการศึกษาที่ปฏิรูปใหม่
ไม่ใช่การศึกษาที่เป็นอยู่แบบตามีตามเกิดดังที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทยของเรา

ประเทศไทยจึงต้องปฏิรูปการศึกษาไทยทั้งระบบ
ก่อนที่จะมีขีดความสามารถปฏิรูปพลเมืองไทยให้เป็นพลเมืองระดับอาเซียนและระดับโลกได้

ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะการศึกษาไทยยังมิได้ปฏิรูปอะไรทั้งสิ้น
วิพากษ์เช่นนี้ก็ด้วยเหตุผลเรื่องความด้อย “คุณภาพการศึกษา” ที่ปรากฏต่อหน้าในปัจจุบัน

ที่ดูเหมือนว่าจะมีการปฏิรูปการศึกษากันอยู่แล้ว และกระทรวงศึกษาธิการก็โฆษณาเสมอมาไม่ว่าจะเป็นสมัยรัฐมนตรีคนใดและพรรคไหนว่าประเทศไทยเข้าสู่ยุคที่สองของการปฏิรูปการศึกษาแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อและชักจูงให้เข้าใจผิด เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงการปฏิรูประบบราชการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการการศึกษาเฉพาะโครงสร้างระบบราชการที่แบ่งส่วนงานของผู้บริหารการศึกษาเท่านั้น เป็นแค่การสร้าง “ขุนนางทางการศึกษากลุ่มใหม่” สร้าง “อำมาตย์ทางการศึกษา” คณะใหม่ เท่านั้นเอง ยังมิได้แตะต้องหลักสูตรการศึกษา ยังมิได้มีกระบวนการแม้แต่จะถกเถียงเรื่องทิศทางของการศึกษาไทยในยุคแห่งโลกาภิวัตน์นี้เลย ยังมิได้คิดถึงผู้เรียนเป็นศูนย์กลางดังที่พูดกันมาในรอบสิบห้าปีที่ผ่านมาเลย
เด็กและเยาวชนไทยยังมิได้เป็นอิสระทางความคิด ยังมิได้ถูกข้อสอบถามให้คิด เด็กยังคงตึงเครียดอยู่กับการท่องจำเพื่อตอบคำถามแบบขาดวิ่น ให้เดาให้เลือกตอบเอาตามดวงชตา เมื่อให้เลือกตอบข้อ ก. ข. ค. หรือ ง. หรือไม่เลือกทั้งหมด หรือหลับตาจิ้มข้ออะไรก็ได้ตามแต่เทพเจ้าจะพาดินสอไปจรดลง ณ ข้อใด เด็กยังคงกลัวครู ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าถกเถียงกับครู และครูก็ยังดุเด็กไม่ให้เถียงผู้ใหญ่อยู่เช่นที่ผมเคยถูกดุมาเมื่อครั้งผมเป็นเด็ก
นี่คือการศึกษาที่ผมเผชิญหน้าเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ยังคงอยู่ในปัจจุบัน และดูจะหนักมากขึ้น เครียดมากขึ้น มีรูปแบบการทดสอบมากขึ้น ซับซ้อน หลากหลาย ถูกทดสอบและตรวจสอบกันทั้งนักเรียนและครู ไม่เคยมีใครจะมีความสุขกับการเป็นครูและเป็นนักเรียนกันที่ไหนนักหนาในวงการการศึกษาเลย ผู้บริหารการศึกษาระดับกระทรวงและเขตพื้นที่เท่านั้นที่มีความสุขจากอำนาจที่กฎหมายและกฎกระทรวงบัญญัติให้ไว้

ตั้งแต่ผมเกิดมาเมื่อปี 2491 จนถึงปีนี้ 2556 ปัญหาการศึกษายังอยู่ที่เดิม:

เด็กไทยไม่รู้จักกระบวนการคิดหาเหตุผล เอาแต่ท่องจำ เรียนเพื่อเตรียมตัวสอบ ได้รางวัลเมื่อสอบได้ดี จากนั้นเมื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงานก็ยากที่จะคิดงานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของตนเองได้ ส่วนใหญ่ก็มุ่งมั่นทำงานตามที่ได้รับคำสั่งมา คนที่ออกคำสั่งก็ได้รับคำสั่งให้ออกคำสั่งต่อมาจากคนที่เหนือกว่าขึ้นๆไปตามลำดับ

สังคมไทยจึงไมสามารถ่ผลิตนักคิดอิสระ ไม่มีคนกล้าริเริ่มทำสิ่งใด้ให้ตนเองและประเทศชาติได้ผงาดฟ้า

เด็กไทยไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ เรียนมากมากมายยาวนาน 12 ปี แต่ก็ใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ เพียงใช้คำว่า “ไม่กล้า”พูดภาษาอังกฤษเท่านั้น ก็ทำให้ดูว่าภาษาอังกฤษเป็นความ “น่ากลัว” จึง “ไม่กล้า”พูดกัน ทั้งๆที่หากอยากพูดก็เรียนเพียงไม่ก่ีเดือนก็พูดได้แล้ว อ่านหนังสือต่ออีกไม่กี่เล่มก็จะติดใจภาษาอังกฤษแล้ว แถมไปดูหนังฟังเพลงฝรั่งให้บ่อยเข้า ชีวิตก็จะโลดโผนด้วยอิทธิพลวรรณกรรมต่างประเทศมากขึ้น

ภาษาอังกฤษก็เท่านั้นเอง...ไม่พิเศษถึงกับต้องหวาดกลัว

ใครๆในโลกนี้ก็สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ คนไทยไม่ชนชาติที่อ่อนด้อยภูมิปัญญาไปกว่าใคร กล้าหาญรบราฆ่าศัตรูมาหลายแว่นแคว้น จะมายอมแพ้ภาษาอังกฤษที่โลกเขาเอาชนะกันได้เกือบหมดแล้วได้อย่างไร?

ในอาเซียน โดยข้อมูลพื้นฐานและสถานภาพปัจจุบัน ประเทศไทยมิได้ด้อยกว่าใคร ทั้งเรื่องการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

แต่มีเรื่องเดียวที่เราด้อยกว่าชาวอาเซียนอื่นและชาวโลก คือ “การศึกษา”

ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างแท้จริงแล้ว

หากรัฐบาลนี้ไม่คิดจะปฏิรูป ก็จำต้องปฏิว้ติ!


สมเกียรติ อ่อนวิมล
7 กุมภาพันธ์ 2556