จาก : Siam Intelligence Unit  รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: มองประวัติศาสตร์ไทยรบพม่า อภิวัฒน์ 2475 และภาคใต้ในมุมใหม่:
 IMG_0142



“ประวัติศาสตร์” นั้นเป็นเครื่องมือในการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต ในทางตรงข้ามกันประวัติศาสตร์ก็เป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาให้ประชาชนภายในชาติมีอัตลักษณ์ หรือทัศนคติร่วมในการเห็นคล้อยกันถึงค่านิยมหลักของชาติที่ผู้ปกครองต้องการให้ประชาชนรับรู้
ความขัดแย้งในเชิงข้อมูลประวัติศาสตร์หลายๆ ครั้ง ขยายวงจากการโต้แย้งกันด้วยข้อมูลเชิงวิชาการสู่การปะทะกันบนความขัดแย้งทางกำลังของโลกแห่งความเป็นจริง ประวัติศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เราเลือกจำและเลือกลืมจริงหรือ? รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพาเราทบทวนบริบททางประวัติศาสตร์ที่จะทำให้เราเข้าใจและมองประวัติศาสตร์ในมุมใหม่มากขึ้น
โครงการ Redefine Thailand โดย SIU จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะพาสำรวจความรู้ทางประวัติศาสตร์ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในระบบวิธีคิด ไทยรบพม่าจริงหรือ? เกิดอะไรขึ้นในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475? และชนวนความขัดแย้งในกรณีไฟใต้มีที่มาอย่างไร?
SIU: ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยกับพม่า และได้มีผลงานการศึกษาเกี่ยวกับหัวข้อนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งของราชธานีหงสาวดีกับราชธานีอโยธยา ซึ่งอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่ามันค่อนข้างเกี่ยวข้องกับปัญหาความคิดเรื่องราชาธิราช รบกวนอาจารย์อธิบายเพิ่มเติมครับ?
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับอยุธยาตอนนั้น ความจริงจะใช้คำว่าพม่าอาจจะกว้างไป อาจจะต้องใช้ตามชื่ออำนาจ เช่น หงสาวดีและพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งของผู้นำเป็นสำคัญ ซึ่งคติ ความเชื่อ หรือที่มาของความขัดแย้ง ถ้ามองในพันธะความคิดแบบนี้มันมีนัยยะที่สำคัญกับศาสนา แต่นัยยะที่สำคัญกับศาสนานี้ ไม่ได้แยกออกจากผลประโยชน์ทางโลก เพราะทางพม่าหรือหงสาวดีค่อนข้างมองเห็นถึงหลักทางศาสนาที่นำไปปฏิบัติจริงได้ ยังประโยชน์จริงในทางปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้นความคิดในทางศาสนาจึงส่งผลทางตรงและทางอ้อมต่อความมั่นคง เสถียรภาพ หรือแม้กระทั่งภาพลักษณ์ทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ทั้งสองแผ่นดิน
เราจะเห็นว่าความขัดแย้งที่มีอยู่มักจะเป็นความขัดแย้งในการแสดงสถานะให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ของแผ่นดินไหนมีสถานะที่สูงกว่า แต่การจะมีสถานะสูงหรือต่ำกว่านั้น ต้องมีเหตุปัจจัย เงื่อนไขเชิงผลประโยชน์ที่ทำให้ต้องมีการเผชิญหน้า เพราะฉะนั้นการสร้างความเป็นใหญ่ หรือแสดงความเป็นใหญ่ที่ฝ่ายหนึ่งมีอยู่เหนืออีกฝ่ายหนึ่ง คือการแสดงสถานะความเป็นใหญ่ของสถานะพระมหากษัตริย์ซึ่งในคติของพุทธและพราหมณ์ที่เป็นฐานรากร่วมกัน
เมื่อทะเลาะกัน จะเป็นการพูดบนความคิดและความเข้าใจร่วมกัน เช่น ต่างก็อ้างว่าฉันเป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ในสกุลชมพูทวีป คำว่าสกุลชมพูทวีปหมายถึง 1 ใน 4 มหาทวีป แต่เป็นทวีปที่มนุษย์อยู่ เพราะจะแย่งชิงกันมากในสกุลชมพูทวีปว่าใครจะใหญ่กว่าใครหรือใครจะมีสถานะสูงกว่าใคร คนที่มีสถานะสูงกว่าก็ถือว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่ครองสกุลชมพูทวีป ทางพม่าจะอ้างของพม่า เราก็อ้างของเรา
เมื่อมีสถานะให้อ้าง มันจึงมีเหตุปัจจัยในการอ้างว่าเป็นผู้นำแห่งสกุลชมพูทวีปจริง และปริมณฑลทางอำนาจของเราซึ่งไปซ้อนทับของพม่า หรือของพม่าที่อ้างแล้วไปซ้อนทับกับเรา ถ้าเขามีสถานะต่ำกว่าเรา เขาจะสามารถอธิบายเจ้าประเทศราชที่ไปยึดครองแผ่นดินเขาได้อย่างไร ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้ฉัน ต้องยอมรับอำนาจขึ้นตรงต่อฉัน ต้องประสานผลประโยชน์กับฉัน ของเราเองก็เช่นกัน
เมื่อเกิดกรณีแบบนี้กับพม่า ก็จะไปยอมรับกษัตริย์พม่าว่าเรามีสถานะกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสกุลชมพูทวีปไม่ได้ เพราะว่าถ้าไปรับตรงนั้น มันจะไปรับกับผู้ที่ยอมรับอำนาจความเป็นไทย ทำไมจะต้องมาอ้างเหตุผลให้มันเกิดการเผชิญหน้ากัน เพราะว่ามีเขตพื้นที่เชื่อมต่อที่เข้าไปสัมผัสในเชิงผลประโยชน์อยู่ เช่น เขตฝั่งตะวันออกของเมาะตะมะ ในเขตทะเลอันดามัน สิทธิ์ที่ควรจะมีเมืองท่าที่มีอย่าง ทวาย มะริด ตะนาวศรีควรจะเป็นของอยุธยาหรือฝ่ายพม่า เป็นต้น
ทั้งยังมีการขยายอิทธิพลขึ้นไป เช่น สมัยของพระรามาธิบดีที่ 2 พระเจ้าไชยราชาธิราช คือช่วงก่อนที่เราจะเข้าปกครองพม่า เพราะฉะนั้นมันมีเหตุปัจจัย แต่พอถึงตอนที่ต้องตกลง จะตกลงกันอย่างไร ทางพม่าก็บอกว่าตอนนี้ข้าพเจ้าได้ตั้งราชวงศ์ขึ้นมาใหม่แล้ว และเป็นใหญ่ที่กรุงหงสาวดี ส่งของขวัญมาให้ ของขวัญที่ให้จะเป็นช้างเผือก สมัยพระเจ้าราชาธิราชก็เคยให้ได้
SIU: แนวความคิดทางประวัติศาสตร์ของไทยแบบพม่ารบไทยนั้น ในมุมมองของอาจารย์เห็นว่าน่าจะแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง อย่างไรบ้างครับ?
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: ฐานะของผู้นำที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล สถานะนั้นจะเป็นสถานะที่ไปผูกพันอยู่กับคติความเชื่อที่สังคมยึดถือ เพราะฉะนั้นจึงมีกรอบของทั้งคติพุทธและพราหมณ์ เป็นเพดานให้เรายึดโยง ถ้าจะดูกรอบของพุทธเถรวาทที่มีอิทธิพลเข้ามาจากสายลังกา หรือว่าคล้ายๆกับมรดกที่มาก่อนหน้านั้นแต่อยู่ในสายพุทธ เราจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ของเราจะเน้นการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม คติการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมนั้น เรียกว่าธรรมราชา ธรรมราชาคือเป็นราชาที่ปกครองโดยธรรม ถามว่าธรรมนั้นมีอะไรบ้างถึงเป็นทศพิศราชธรรม
จักรวรรดิวรรดิหรืออะไรก็ว่าไปตามเกณฑ์ตามเงื่อนไข แต่หลักคิดของการเป็นธรรมราชาจะสัมพันธ์โดยตรงกับพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ปกครองกับประชาชนเป็นสำคัญ อาจจะมีบ้านเล็กเมืองน้อยอื่นที่มาอ้างอิงและส่งผลถึง แต่ในเชิงการปกครองโดยธรรมเป้าหมายของการปกครองอยู่ที่การปกครองประชาชนในขอบขัณฑสีมาอาณาจักร นี่คือธรรมราชา
แต่ในขณะเดียวกัน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าด้วย การเป็นพระพุทธเจ้าต้องเข้าใจคติของการเป็นพระพุทธเจ้า คนที่ถือว่าเป็นมหาบุรุษ เกิดมามีคุณสมบัติ มีสถานะที่เป็นมหาบุรุษได้ ก็สามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ หรือถ้าคงอยู่ในเพศฆราวาสอาจจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ พระมหากษัตริย์มีสถานะที่เทียบเท่ากับระพุทธเจ้า สะสมบุญบารมีมากๆ และมีพันธกิจสำคัญที่จะต้องอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้เทียบเท่ากับพุทธทำนาย
ในมิติของการเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์จะทรงแสดงพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ ฉะนั้นการเป็นพระโพธิสัตว์ สิ่งที่พระองค์ต้องคำนึงถึงเป็นหลัก 2 พื้นฐานคือ สวัสดิการ (เรียกด้วยคำใหม่) ให้กับเหล่าคณะประชาราษฎร์ เช่น เหล่าประชาราษฎร์มีเสื้อผ้าใส่ มีอาหารการกิน มีข้าวปลาบริบูรณ์ มีอะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่เป็นสวัสดิการหรือเป็นพื้นฐานที่คนจะแสดงตนเป็นพระโพธิสัตว์จะต้องอุปถัมภ์ค้ำจุนให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันพระโพธิสัตว์ก็ถือว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณด้วย เป็นผู้ที่จะชักนำหรือนำพาประชาชนข้ามพ้นสังสารวัฎไปด้วย เพราะฉะนั้นพระองค์จะเป็นครู เป็นผู้สอน และเป็นผู้มีพลังความรู้ความเข้าใจในทางคติทางศาสนาที่จะทำให้ประชาชนเห็นแจ้งในทางพ้นทุกข์ และเป็นพันธกิจอย่างหนึ่งที่จะต้องส่งผ่านและสอนความรู้นี้ไป โดยผ่านทางพระราชนิพนธ์ เป็นต้น ใน 2 ประการนี้ เป้าประสงค์หลักยังเป็นผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นธรรมราชาปกครองโดยธรรม หรือเป็นพระโพธิสัตว์
แต่มีคติอีกคติหนึ่งที่ซ้อนทับเข้ามาซึ่งมีความสำคัญ คือการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หากพูดกันง่ายๆ เป็นคำมาจากภาษาบาลี คือ จักรวรรดิ คือผู้ที่หมุนกงล้อ พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่หมุนกงล้อด้วยเหมือนกัน แต่ว่าในคติของพระเจ้าจักรพรรดินี้เป็นการแผ่ผ่านพระราชอำนาจออกไปยังบ้านเมืองต่างๆ เพราะฉะนั้นการแสดงตนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ต้องมีจินตนาการอยู่ในระดับหนึ่งว่า แผ่นดินที่เป็นแผ่นดินพุทธที่พระองค์ทรงปกครองอยู่ เปรียบเสมือนเป็นแผ่นดินชมพูทวีป
ในชมพูทวีปซึ่งพระองค์จะถือว่าราชอาณาจักรของพระองค์เป็นศูนย์กลาง หรือมีความสำคัญสูงสุดในชมพูทวีปนั้น แต่มีบ้านเล็กเมืองน้อยจำนวนมากที่อยู่ในชมพูทวีปด้วยกัน พระองค์ต้องพิจารณาดูว่าบ้านเล็กเมืองน้อยเหล่านั้นควรที่จะอยู่ในพระราชอำนาจ หรือยอมรับพระราชอำนาจของพระองค์มากน้อยแค่ไหน และจะต้องยอมรับพระองค์เป็นราชาเหนือราชาในปริมณฑลนั้น จึงมีคำว่าราชาธิราชา หรือบรมราชา คือราชาที่ใหญ่ขึ้นไปกว่าราชาปกติ
ด้วยลักษณะนี้ จึงทำให้แสดงพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช คติของพระเจ้าจักรพรรดิราช จุดเน้นไม่ได้เป็นจุดเน้นที่มาลงที่ประชาชนเป็นสำคัญเหมือนการเป็นธรรมราชาหรือโพธิสัตว์ แต่จุดเน้นอยู่ที่การแผ่ผ่านพระราชอำนาจออกไปยังบ้านเมืองต่างๆ ดังนั้น จึงนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่พระองค์จะมีกับเจ้าบ้านเล็กเมืองน้อย หรือผู้ที่มีสถานะใกล้เคียงกันอย่างนี้
ดังนั้น เวลาที่จะไปอ้างความชอบธรรมว่า เธอควรจะส่งราชบรรณาการมาที่ราชสำนักของฉัน หรือเธอจะต้องยอมรับราชอำนาจของฉันก่อนนั้น ต้องยอมรับสถานการณ์การเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ความเป็นราชาที่เหนือกว่า สามสถานะนี้เป็นสถานะที่อาจจะมีรากฐานบางส่วนมาจากพุทธ และพราหมณ์บ้าง และมาลงตัวผสมผสานโดยมีคติพุทธศาสนาเถรวาทที่รับจากลังกาเป็นแกนหลัก และเป็นฐานที่อ้างพระราชอำนาจ หรือแสดงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยในยุคโบราณ

SIU: สิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่ผู้ปกครองหรือพระมหากษัตริย์ในอดีตต้องยึดถือไว้ใช่ไหมครับ?
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: มีการนำแสดงปรากฏในวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติ อาจจะมีการแสดงในพระราชพิธี ในคติการสร้างเมือง ในคติที่เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ สัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ในกฎหมาย เป็นต้น และถ้ามีความเป็นไปได้ คือการทำสงคราม ถ้ามาในคติเรื่องของพระเจ้าจักรพรรดิ
SIU: ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรูปแบบเป็น”นาฏยรัฐ” (Theater State) คือผู้ปกครองจะต้องแสดงแสนยานุภาพของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์ใช่ไหม?
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: ข้อที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ไหนขึ้นมา จะต้องพยายามแสดงพระองค์ให้เห็น ส่วนการแสดงพระองค์ให้เห็นในลักษณะอย่างนี้ จะทำได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะกษัตริย์บางพระองค์ที่ไม่เข้มแข็ง ช่วงรัชกาลที่สั้นก็ไม่ได้พิสูจน์สอบอะไรมากเท่าไร
ข้อที่ 2 สำคัญมาก คือพระมหากษัตริย์จะแสดงพระองค์เป็นธรรมราชา เป็นพระโพธิสัตว์ หรือเป็นพระมหาจักรพรรดิ ไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับการสืบสายสันตติวงศ์ คือ การคัดเลือกไม่ได้ผ่านทางสายเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าจักรพรรดิ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือผู้ที่จะเป็นจักรพรรดิขึ้นอยู่กับหน่อเนื้อบุญบารมีของตนเองโดยเฉพาะ
แม้กระทั่งในตำนานจะมีระบุไว้ว่า เมื่อผู้เป็นจักรพรรดิสวรรคตไปหรือเป็นอะไรไปก็ตาม สมบัติที่เป็นของพระเจ้าจักรพรรดินั้นจะอันตรธานไปด้วย คนที่จะขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ถ้าไม่มีพระบารมีเทียบเท่าสถานะของพระจักรพรรดิจะไม่ได้สมบัตินั้น ในคตินี้สะท้อนให้เห็นว่า การขึ้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิขึ้นอยู่กับอำนาจบารมีของกษัตริย์แต่ละพระองค์ ดังนั้น จะไม่มีพระมหากษัตริย์ที่ไม่พยายาม ประกาศตนหรือพยายามแสดงพระองค์ ซึ่งอาจจะผ่านวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติ ผ่านพระราชพิธี ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องนำแสดงอยู่แล้ว แต่ว่าจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่เป็นที่ยอมรับของอาณาประชาราษฎร์ หรือของผู้ปกครองในรุ่นถัดมา ที่จะมากล่าวถึงพระองค์เมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
SIU: เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สถานะความสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าวเปลี่ยนไปหรือไม่?
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: เราจำเป็นจะต้องแยกเป็น ในช่วงจังหวะเวลาที่มีการขยายอิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตกเข้ามา หรือที่เรียกว่ายุคของการแสวงหาอาณานิคม นั่นคือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นชั้นหนึ่ง และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นอีกชั้นหนึ่ง จะไม่พูดการเปลี่ยนแปลงสองสิ่งนี้เข้ามาปนกันในทีเดียว
คติความเชื่อที่ได้กล่าวมา เป็นคติความเชื่อที่ให้ความชอบธรรมทางอำนาจ โดยมีคติของพุทธศาสนาเป็นแกนหลักให้อ้างอิงและยึดถือ เมื่อตะวันตกแผ่อำนาจเข้ามาด้วยศักยภาพของการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพกว่าเรา ในทางการเมืองและการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการทหารที่มีมากกว่า กระแสตะวันตกที่มีตอนนั้นเป็นกระแสที่ปรับเปลี่ยนกระแสโลก ไม่ได้เป็นกระแสที่ออกมาเหมือนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หรือในยุคอยุธยาตอนกลาง แต่มันเป็นกระแสของระบบเศรษฐกิจโลก เกิดการประวัติอุตสาหกรรม เกิดกระแสชาตินิยม เป็นต้น
กระแสหรือสิ่งที่ออกมาตอนนั้นได้ชักนำหรือผลักดัน ให้เกิดการกำหนดมาตรฐานอีกชุดหนึ่งขึ้นมา อาจจะมีฐานจากความคิดทางวิทยาศาสตร์ มีฐานความคิดในเรื่องชาตินิยม หรือมีฐานอะไรหลายๆ อย่างเข้ามาเป็นบรรทัดฐาน เพื่อจะเอามาใช้ในการดึงดูดทรัพยากร แรงงาน เปิดตลาด และให้ความชอบธรรมพร้อมกันไป ในขณะเดียวกัน ไทยเป็นโลกที่อยู่กับตะวันออกมาก่อน อยู่ในมาตรฐานที่เป็นมาตรฐานอันเดิม ในคติที่เป็นมาตรฐานเดิม
เราไม่เคยคิดว่าเราจะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างไร ในเชิงปรัชญาความคิดที่มากับอำนาจ การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เน้นตัวบุคคล แต่ระบบการปกครอง ยังเป็นระบบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาด อย่างน้อยที่สุดในทางทฤษฎี ซึ่งเป็นบรรทัดฐานอยู่ เราไม่มีทางเลือกเหมือนยุคของโรมันสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณรัฐหรืออย่างอื่น
แต่ของไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่พอมาตรฐานของตะวันตกเข้ามา เขาก็กำหนดนัยยะของความหมายปริมณฑลของอำนาจชุดใหม่ขึ้นมา ซึ่งในการเข้ามากำหนดตรงนี้ มันผิดไปจากธรรมเนียม ความเชื่อ และการปฏิบัติที่เรามีมา เช่นการคิดในเรื่องพรมแดน ที่จะต้องมีการระบุขอบเขตชายแดนที่ชัดแดน ต้องมีแผนที่ และต้องไม่รุกล้ำข้ามพรมแดนกัน
ปัญหานี้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีปัญหากับอังกฤษ ในกรณีเจ้าเมืองชุมพรไปจับคนแถบตะนาวศรี และเกิดเป็นคดีความ เรื่องนี้มันสวนทางกับความคิดแบบพระเจ้าจักรพรรดิ เพราะหลักความคิดแบบพระเจ้าจักรพรรดิ ถึงแม้จะพูดถึงการแผ่ผ่านอำนาจบารมีออกไป แต่ไม่มีการกำหนดพรมแดนที่ชัดเจน ว่าออกไปได้แค่นี้และจะข้ามจากตรงนี้ออกไปไม่ได้ หรือจะต้องออกให้ถึงเท่านี้ การขยายอาณาเขตขึ้นอยู่กับอำนาจบารมีของผู้อ้างตนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเป็นบรรทัดฐาน เพราะฉะนั้นการแสดงออกเชิงอำนาจ ความคิดในเชิงขอบเขตปริมณฑลทางอำนาจและตัวตนนั้นมันจึงเป็นคนละชุดกัน
อำนาจที่ถือว่าเป็นอำนาจที่แท้จริงของโลกตะวันตก คือการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในเชิงการบริหารจัดการ เราอาจจะยอมรับสถานะหรือความสำคัญของพระมหากษัตริย์ในราชธานี แต่ไม่มีกลไกทางอำนาจในการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง คือไม่มีกลไก เป็นลักษณะค่อนข้างกระจายอำนาจเสียด้วยซ้ำ จะเห็นได้จากพระราชดำรัสหรือพระราชหัตเลขาของพระจุลจอมเกล้า ถ้าผมจำไม่ผิด คือส่งถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า ไม่พอใจกับสถานะที่จะต้องมาอ้างตนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชที่จริงๆ แล้วไม่ได้บ่งชี้ถึงอำนาจที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
เพราะฉะนั้นแนวคิดนี้ เริ่มมีความคิดที่แตกต่าง โลกตะวันตกเอาชุดความคิดในเชิงสถานะของผู้ปกครอง ขอบเขตอำนาจของผู้ปกครอง การบริหารจัดการคนละชุดคนละแบบ ซึ่งเติบโตขึ้นมาในโลกตะวันตกมาเป็นเกณฑ์ เป็นบรรทัดฐาน เราซึ่งอยู่ในโลกตะวันออก ประเทศรอบข้างตกเป็นอาณานิคมไปหมดแล้ว สมมติว่าเราไม่ปรับโครงสร้างและระบบการคิด การบริหารจัดการ เราก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเริ่มเกิดแนวคิดเกี่ยวกับการมองสถานะของพระมหากษัตริย์ที่แตกต่างจากเดิม การดูแลการบริหารจัดการที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่อย่างนั้นก็ไม่เข้ากับระบบโลก
แต่เงื่อนไขตรงนี้มันเกิดขึ้นพร้อมกับกลไกที่เรานำมาใช้ในการสร้างตัวตนชุดใหม่ของเราด้วย ดังนั้น จึงเริ่มเกิดคำว่า สยามประเทศ สยามรัฐ ซึ่งคำเหล่านี้มันเป็นคำใหม่ที่มีมาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 4 แต่เริ่มเกิดกระบวนการรับรู้ การเข้าใจตัวตนของรัฐที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ได้มองรัฐเป็นแบบอยุธยาหรือในสมัยก่อน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองเรา ดังนั้น การปรับเปลี่ยนจึงปรับเปลี่ยนสถานะของผู้ปกครองที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับการสร้างตัวตนใหม่ของรัฐ และผู้ปกครองต้องเป็นผู้ปกครองในกรอบและคติที่สอดประสานการการเป็นตัวตนใหม่ของรัฐ ที่จะเข้ากันได้หรือยืนหยัดได้ในโครงสร้างโลกใหม่ที่เปลี่ยนไป
การเกิดแนวคิดนี้ขึ้นมา ทำให้เกิดแนวคิดในเรื่องอำนาจ ที่มาของอำนาจ ความชอบธรรมของอำนาจ ที่หลากหลายขึ้น เริ่มมีแนวคิดว่า ระบบไม่จำเป็นต้องเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้ ซึ่งมีทั้งสาธารณรัฐที่คนที่ไปมีการศึกษาและสัมพันธ์กับโลกตะวันตกเริ่มคิดได้ ว่าระบบการปกครอง ตำแหน่งแห่งที่ของผู้ที่จะเป็นผู้นำสูงสุดของรัฐ หรือพระมหากษัตริย์ของรัฐควรจะอยู่ตรงไหน อย่างไร ในรัฐที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น
IMG_0139
SIU: เราอาจจะพูดได้ว่ามีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น หรือมีความคิดที่หลากหลายมากขึ้นใช่ไหม?
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: เมื่อก่อนไม่ได้คิดแบบนี้ เมื่อก่อนคิดว่าใครจะขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าไม่ดี ก็ต้องเอาคนที่ไม่เหมาะสมออกไป และหาคนใหม่เข้ามาแทน แต่ตอนนี้เป็นการเข้าไปตั้งคำถามกับระบบและโครงสร้างอย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งเป็นการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย แต่เดิมคนที่ไม่ค่อยมีบทบาท ไม่มีความสำคัญ ไม่มีความรู้สึกนึกคิดว่าจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ในการกำหนดอนาคตของบ้านเมืองตรงๆ ซึ่งแต่ก่อนอาจจะไม่มีพื้นที่อยู่ตรงนี้ อย่างมากที่สุดก็ถีบทะยานตัวเองขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แล้ว
เริ่มคิดตรงนี้ก็คือ ตัวตนหนึ่งของคณะราษฎรที่เกิดขึ้นมา พร้อมกับระบบการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ หลักสำคัญคือพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อันนี้เป็นแนวคิดที่ใหม่ แนวคิดที่ใหม่นี้ พอมีผลบังคับใช้ได้ ก็ส่งผลโดยตรงต่อสถานะของพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นสถานะในอดีตอย่างที่เคยเข้าใจ ย่อมไม่เป็นสถานะที่สามารถอยู่ใต้ภายใต้เงื่อนไข กฎกติกา โครงสร้างใหม่ ที่เริ่มมีเรื่องของการให้ความสำคัญต่อกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นอีกช่วงหนึ่งที่เข้ามาส่งผลต่อสถานะของพระมหากษัตริย์ในบ้านเมืองเรา ดังนั้น การเข้ามาของอาณานิคมจึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในของบ้านเมืองเราด้วย
SIU: มีสองประเด็นที่เชื่อมโยงกัน ประเด็นที่ 1 คณะราษฎรเหมือนเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือคนรุ่นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 7 ไปศึกษาต่อต่างประเทศ และไปรับเอาแนวคิดใหม่ หรืออัตลักษณ์ใหม่ ที่อาจารย์เล่าให้ฟังเมื่อสักครู่ ซึ่งมันแตกต่างกับแนวคิดเดิมของเราพอสมควร และมีการจัดรูปขบวนซึ่งพยายามจะต่อต้านแนวคิดเพื่อให้เกิดขึ้นในสังคมให้ได้
แต่มีอีกแนวคิดหนึ่ง คือแนวคิดนี้มันยังไม่ซึมเข้าไปถึงฐานรากคือประชาชนของประเทศจริงๆ เพราะมันมีแนวกำบังหรือสิ่งขวางกั้นอยู่ ซึ่งต้องรับผ่านหนังสือ ผ่านการบอกเล่า ผ่านการสื่อสารเชิงวัฒนธรรมจากต่างประเทศหรือถึงแม้มันจะฝ่าเข้ามาได้ มันก็มีการแปรรูปเข้ามาอีก เป็นตัวตนใหม่เข้ามา ซึ่งอันนี้เป็นตัวตนใหม่เข้ามาอีกช่วงหลังคณะราษฎร จึงทำให้ไปปะทะกับความเชื่อเดิมของเราหรือเปล่า
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: ประการที่ 1 คือจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำระบบต่างๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือประชาธิปไตยอย่างที่เราเรียกกัน มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะบนลงสู่ล่าง คือ ระบบสั่งการลงมา
การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ ในโครงสร้างระบบเดิมที่อยู่กับเรามานาน อาจจะย้อนไปพูดสุโขทัย อยุธยาหรืออะไรก็แล้วแต่ เฉพาะสมัยอยุธยาก็ 417 ปี จนเกิดกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมมีอยู่ทั้งในลักษณะที่รัฐเข้ามามีส่วนในการจัดตั้ง และมีอยู่ในครรลองของระบบวิธีคิดคือ บางทีเรื่องการสอนบุญกรรม รัฐไม่ต้องมาสอนก็ได้ เพราะพระ พ่อแม่สามารถสอนได้เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ลองคิดดูว่ามันฝังรากมากับเราช้านานมาก เราคุ้นเคยกับระบบนี้ เราคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์อย่างที่เป็นเจ้านาย ระบบอุปถัมภ์ ไม่ใช่เฉพาะสถานบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่มีอีกมากมายที่เป็นป็นคุณค่าที่ตกทอดมา
กระบวนรับกระแสตะวันตกที่เข้ามา ในทางรับต้องเป็นคนที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่น ที่จะรับกระแสความคิดนี้ ไม่ถึงกับว่าต้องเป็นข้าราชการที่อยู่สูงมาก แต่ถ้าเทียบกับสังคมโดยรวมจะต้องเป็นผู้ที่มีโอกาส หรือประสบการณ์ในการศึกษามากกว่า เพราะฉะนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเชิงอำนาจจริงๆ เป็นความขัดแย้งที่อยู่ในกลุ่มผู้ปกครองเป็นสำคัญ ยังไม่ได้ลงมาหรือขับเคลื่อนในภาคประชาชน
ประการที่ 2 คือการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นเพียงข้ามคืน ลองคิดดู สมมติว่าวันนี้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พอรุ่งเช้ามาก็ไม่ใช่แล้ว กลายเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาใหม่ มีคณะผู้ปกครองชุดใหม่เข้ามาแทนที่ มีระบบวิธีคิดและการอธิบายถึงอำนาจในชุดใหม่ทั้งหมดเข้ามา คนที่เป็นประชาชนจะเปลี่ยนทันไหม แม้แต่จะทำความเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญคืออะไรก็เป็นเรื่องติดขัด พอจะคิดถึงรัฐธรรมนูญ ต้องสร้างพานและมีใบกฎหมายไปวางไว้ นี่คือรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ ไม่รู้จะสื่ออย่างไร เป็นการสร้างสัญลักษณ์ต่างๆ ขึ้นมา
เพราะฉะนั้น มันจะทำให้คนเกิดการรับรู้และความเข้าใจ และสามารถขับเคลื่อนชีวิต ให้สอดรับกับระบบใหม่ได้อย่างไรในช่วงระยะเวลาอันสั้น กับชีวิตที่คุ้นเคยกับโครงสร้างอำนาจแบบเดิมมาช้านาน เพราะฉะนั้น แน่นอนที่สุดมันต้องมีการสะดุดและมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย
ไม่ใช่แค่นั้น เพราะว่าในจังหวะแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่เราอาจจะคิดถึงสิ่งที่จะเป็นประชาธิปไตยหรืออะไรก็ตาม กลุ่มผลประโยชน์ทางอำนาจไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียวแต่มีหลายกลุ่ม หลายขนาด หลายฐานอำนาจ กลุ่มที่สำคัญที่สุดและขึ้นมามีบทบาทมากคือกองทัพ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในการเปลี่ยนแปลงในจังหวะนี้ ระบบอีกระบบหนึ่งที่ถูกเลือกคือ คล้ายๆ เผด็จการทางทหารที่เข้ามามีส่วนสัมพันธ์ มีส่วนเกี่ยวข้อง ล้มลุกคลุกคลานกันไป เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เดิมเป็นผู้มีอำนาจสั่งการลงมา แต่ในระบบเดิมอยู่กับเรามานาน มีกลไกหลายกลไกที่จะหล่อหลอม แต่พอในระบบใหม่มีที่พึ่งหลักๆ ได้แก่ กระทรวงศึกษา และตำราเรียน การศึกษาในระบบเป็นส่วนหนึ่ง ภาครัฐอาจจะเข้ามามีบทบาทปลูกฝังด้วย แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะว่าภาครัฐก็เดินไปสะดุดไป มีปัญหาพร้อมกันไปด้วย แน่นอนสุด สมัยที่เป็นเผด็จการก็ไม่ได้เอาสิ่งที่เป็นกลไก หรือหลักการที่เป็นประชาธิปไตยเป็นแกนหลักในการให้ความรู้ ความเข้าใจ หรือหล่อหลอมประชาชน
SIU: มีคำถามอีก 2 ประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นที่ 1 อาจารย์มองว่าความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ความรู้ของระบบใหม่กำลังซึมเข้าไปสู่ฐานรากจริงๆ หรือเปล่า
ประเด็นที่ 2 คือ ในขณะเดียวกัน เราไม่ได้มีความขัดแย้งแค่กับส่วนกลางเท่านั้น แต่เรายังมีความขัดแย้งกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความเชื่อในอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากความเชื่อในจารีตที่มีพื้นฐานมาจากราชธานีที่กรุงเทพ เราจะกำหนด หรือจะปรับปรุง หรือจะเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ให้มันมีการอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่เกิดความรุนแรงขึ้น?
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: เรามักจะมองว่าแต่ก่อนไม่มีความขัดแย้งและความขัดแย้งเพิ่งจะเกิดขึ้น แต่ผมมองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่ระดับธรรมชาติ หรือขอบเขตของความขัดแย้งในบางเรื่อง มันอาจจะจำกัดอยู่กับกลุ่มคนบางหมู่คณะ บางส่วน หรือบางสถาบัน แต่พอมีสำนึกในการมีส่วนร่วมในทางการเมือง สำนึกในสิทธิ์ สำนึกในคุณค่าของตัวเอง เริ่มมีการขยายฐานขึ้น เริ่มลงรากปักฐานมากขึ้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองขยับขยายขึ้น
แน่นอนที่สุด ธรรมชาติในความขัดแย้งซึ่งแต่เดิมอาจจะจำกัดอยู่แค่ในมิติทางการเมือง นี่เรายังไม่ได้พูดถึงมิติอื่น มันจะเริ่มขยายฐานออกไป อย่าลืมว่าความขัดแย้งที่มีอยู่ในบ้านเราสมัยก่อน เช่น ความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ นั่นเป็นความขัดแย้งรูปแบบหนึ่ง ความขัดแย้งกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 และมาเพิ่มทวีความรุนแรงในสมัยจอมพล ป.บางทีขึ้นๆ ลงๆ ในรอบ 4-5 ปีค่อนข้างจะถูกปลุกขึ้นมา นี่เป็นความขัดแย้งในอีกลักษณะหนึ่ง
ผมอยากให้มองว่า สังคมของเราเป็นสังคมที่ เมื่อเราพูดถึงความเป็นไทยหรืออัตลักษณ์แห่งความเป็นไทย ตัวตนแห่งความเป็นไทย ประการที่ 1 จะยอมรับหรือไม่ก็ตาม นี่เป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้น เป็นแนวคิดที่เป็นฐานรากขององค์ประกอบสำคัญ ที่จะเข้ามาทำให้ตัวตนของรัฐสยาม ป็นรูปแบบใหม่นั้น มันมีความมั่นคงเข้มแข็งในทางด้านสำนึกของผู้ที่เรารับรู้มาว่าเป็นประชากรของรัฐ
เพราะแต่ก่อนคนเหล่านี้ ร้อยพ่อพันแม่ แตกต่าง หลากหลาย ไม่ได้มีวีรบุรุษคนเดียวกัน ไม่ได้มีความเชื่อที่ต้องเป็นพวกเดียวกันหรืออะไรทั้งสิ้น อุดมการณ์ที่เกิดขึ้น พอเราเป็นไทยและรู้รักสามัคคี มาพร้อมกับความจำเป็นที่เราจะต้องมีสำนึกนี้ปลูกฝังขึ้นในสังคม ต้องเป็นสังคมรัฐชาติ ต้องมีประชากรที่มีสำนึกนี้ร่วมกัน ต้องบอกก่อนว่ามันได้เกิดสิ่งนี้ขึ้น
ประการที่ 2 สิ่งที่เราเรียกว่าอัตลักษณ์ไทย จริงๆ มันคือสิ่งที่มักถูกกำหนด หรือถูกวางมาตรฐานผ่านกลไกอำนาจรัฐที่ส่วนกลางเป็นสำคัญ ที่จะลุกขึ้นมาบอกว่าอันนี้เป็นอัตลักษณ์ไทย อันนั้นใช่ หรืออันนี้ไม่ใช่
SIU: สาเหตุหนึ่งเพราะรัฐไทยเองมีกระบวนการปลูกฝังและการเซ็นเซอร์ประเด็นดังกล่าวด้วยหรือไม่?
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: ใช่ แน่นอน แต่เป็นเรื่องที่รัฐเข้ามามีบทบาทสำคัญ เราเห็นเป็นรูปธรรมคือสมัยจอมพล ป. เพราะฉะนั้นอัตลักษณ์ทางสังคม แต่ละภาคจะแตกต่างกันไป แม้แต่ในภาคๆ หนึ่งก็มีอัตลักษณ์หลายประการที่แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน แต่พอมีความจำเป็นที่จะต้องมีอัตลักษณ์ร่วม อัตลักษณ์ร่วมนี้เป็นอัตลักษณ์ที่ถูกสร้างและส่งผ่านอำนาจรัฐที่ส่วนกลาง ถ้าการยอมรับอำนาจที่ส่วนกลางมีการยอมรับอัตลักษณ์ที่ส่วนกลางกำหนดจะมีตามไปด้วย
ตัวอย่างเช่น 3 จังหวัดภาคใต้ อาจจะไม่ยอมรับอัตลักษณ์ที่รัฐบอกว่าต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น เขาอาจจะบอกว่าอันนี้ไม่ใช่อัตลักษณ์ที่เขาจะรับ ลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ อัตลักษณ์ที่รัฐส่วนกลางได้กำหนดและสร้างขึ้นมา และพยายามขับเคลื่อนและปลูกฝัง คงไปด้วยกันได้เพราะสร้างสำนึก สร้างความเข้าใจ ความเป็นพวกเดียวกัน ความเป็นไทย ซึ่งเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง
แต่เมื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองเริ่มขยายมากขึ้น ตัวแทนที่เป็นอำนาจรัฐที่ส่วนกลางไม่ได้สอดประสานไปกับการจัดการ มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในสังคมให้เป็นที่ยอมรับได้ด้วย จึงเกิดช่องว่างขึ้นมามากมาย ได้แก่ เมืองกับชนบท คนที่มีฐานะกับคนที่ด้อยฐานะ
ในขณะที่ความคิดเรื่องสิทธิ์การมีส่วนร่วม การที่เราจะพิทักษ์ประโยชน์ของเรานั้นได้ก้าวล่วงไปแล้ว แต่กลไกแห่งการจัดการทรัพยากรตรงนี้ บางครั้งอาจจะขัดกับระบบที่ต้องออกมาแบบจัดสรรปันส่วนอย่างเหมาะสม เหมาะสมในที่นี้ไม่ใช่ต้องแบ่งให้ทั่ว แต่หมายถึงการแจกแจงบนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล ในการจัดการและให้เกิดการยอมรับ เป็นต้น เพราะฉะนั้นพอคนเริ่มคิดว่าเริ่มมีส่วนร่วม แต่เขาไม่ได้ผลประโยชน์ที่สมควรได้ แต่มีพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วม จะเห็นว่าความขัดแย้งหลายๆ ส่วน โดยส่วนหนึ่งมันสัมพันธ์กับการจัดการทรัพยากร ให้เกิดความเหมาะสมเป็นฐานรากอยู่ หลังจากนั้นจึงไปถกเถียงเรื่องความชอบธรรม ของอำนาจในการเข้าไปจัดสรร แต่เริ่มจากตรงที่การจัดสรรต้องเป็นธรรมมากขึ้น ในขณะที่ประชากรของประเทศเริ่มมีสำนึกเพิ่มมากขึ้
SIU: ในการจัดการปัญหาเรื่องนี้ เราควรจะแก้ที่แนวคิดก่อน หรือแก้ที่โครงสร้างก่อนหรือจะทำแบบคู่ขนานกันไปครับ?
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: เมื่อสังคมมาถึงปัจจุบันนี้ บางครั้งกลไกที่เราใช้เพื่อให้เกิดเอกภาพ คืออัตลักษณ์สัมพันธ์กับเรื่องเอกภาพ กลไก ความคิด นิยามหรือคำขวัญ หรืออะไรต่างๆ ที่เรามี เป็นกลไกเดิม แต่ปัญหาเป็นปัญหาใหม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องคิดถึง จัดการ หรือดูแล จำเป็นต้องทันกับธรรมชาติในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย
หมายความว่า ระบบการศึกษาต้องทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้น ต้องทำความเข้าใจในฐานราก ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ และให้เกิดสำนึกในสิ่งนี้ แม้กระทั่งในครัวเรือนและในโรงเรียน ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง นี่เป็นกลไกการขับเคลื่อนให้เกิดความสมเหตุสมผลในการจัดการทรัพยากร เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ให้เกิดความเป็นกลาง ดังนั้นปัญหาต่อไปในอนาคตที่เราจะต้องดูในระบบทุนนิยม คงต้องเร่งด่วนที่จะต้องทำ ได้แก่
ประการที่ 1 ปัญหาเรื่องความยุติธรรม จริยธรรม ความชอบธรรมต่างๆ เหล่านี้ ต้องเกิดขึ้นได้ในทุกระดับ ทำให้เห็นว่าสถาบันต่าง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ศาล สภา ต้องเป็นหลักให้เราเกิดความเชื่อมั่น ใน นโยบายของคุณ ทุกวันนี้สงสัยตลอดเวลา ต้องทำสิ่งนี้ก่อนหรือต้องสร้างสิ่งนี้ก่อน พอเกิดสิ่งนี้ขึ้น ต่อมา ต้องจัดการกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ให้คนยอมรับในความหลากหลายว่าเราเป็นสังคมที่อยู่กันบนความหลากหลายทางความคิด ความหลากหลายทางภูมิหลัง หรือความหลากหลายของอะไรต่างๆ เป็นเรื่องที่อยู่ร่วมกันได้ และไม่ใช่ปัญหา ไม่อย่างนั้นความแตกต่างจะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ และเกิดปัญหาได้
แต่สังคมไทย เป็นสังคมที่อยู่กับความหลากหลายมาช้านานมาก และมีความเข้าอกเข้าใจ แต่ตอนนี้พอจะต้องเป็นอัตลักษณ์เดียวที่รัฐเป็นตัวกำหนดเท่านั้น มันค่อนข้างสวนทางกับความเป็นจริง แต่การมีอัตลักษณ์ร่วมและอัตลักษณ์ที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดขึ้น แต่ว่าสังคมที่เปลี่ยนอย่างฉับไว จะต้องทำให้คนเห็นว่า ความแตกต่างเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง การบริหารความต่างเพื่ออยู่ร่วมกันได้เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ทำให้คนที่แตกต่างมาเหมือนกันหมด สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องฝากฝัง ดูแล จัดการนอกเหนือจากประเด็นที่กล่าวไป นี่เป็นเรื่องหลักๆ ที่จะต้องรีบทำ
และประการที่ 2 คือปัญหาสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ ซึ่งผมคิดว่าท้ายที่สุด เราซึ่งเป็นแหล่งอาหารและความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเราสามารถอยู่ได้ในระดับสูงระดับหนึ่ง เมื่อมองเปรียบเทียบกับที่อื่น เป็นเพราะว่าเรามีฐานของความอุดมสมบูรณ์ หรืออาจจะรวมไปถึงฐานการบริหารจัดการในภาคเอกชนที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงต้องกลับไปมองถึงคุณค่าที่เรามี ดูว่าเราจะมีการบริหารจัดการสิ่งนี้ให้มีความยั่งยืนได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นในระยะยาวจะมีปัญหา