อนเริ่มบันทึกการเดินทาง ข้าพเจ้าครุ่นคิดว่าจะใช้ชื่ออะไรดี ใจรักชอบ 'สะบายดีหลวงพระบาง' นั้นมากอยู่ แต่ก็ซ้ำกับชื่อหนังซึ่งตั้งไว้ดีเหลือเกิน

ยิ่งเมื่อกลับจากเยือนหลวงพระบางก็ยิ่งนิยมชมชอบชื่อนี้ ในความทรงจำนั้นมีภาพวัดวาอาราม อาคารบ้านเรือน ผู้คนที่พบพาน แต่หากเป็นเสียงแล้ว คำแรกที่ก้องในโสตรำลึกก็คือ 'สะบายดี'
ไม่ใช่คำ 'สบายดี' อย่างไทยเรา แต่เป็นสะบายดี ที่ทอดสำเนียงไพเราะ ลากเสียงคำสะบายอย่างมีสระอะจริง ๆ ชัดเจน ย้ำเสียง 'ดี' หนักแน่นแล้วค่อยแผ่วเบาทอดยาวหายไป ไม่ใช่เป็นน้ำเสียงเฉพาะผู้มีปิยะวาจา หากแต่เป็นสำเนียงของทุกคน ทุกครั้งที่ได้ยินจะเป็นสำเนียงเดียวกันครั้งแล้วครั้งเล่าจนคำนี้ฝังลึกลงในความทรงจำ
ได้พบภาษาลาวทำให้เห็นความรุ่มรวยทางภาษาของชนชาวสยาม ลาวใช้คำตรง ๆ ง่าย ๆ อย่าง ผัว-เมีย เป็นคำที่ใช้โดยทั่วไป คำไทยยังมี สามี-ภรรยา สำหรับกล่าวอย่างเป็นทางการ ภาษาลาวไม่มีหางเสียง ขณะภาษาสยามมีหางเสียงหลากหลายเพื่อแสดงความสุภาพ
สิ่งที่ข้าพเจ้าพบสร้างความนิยมชมชื่นต่อวิถีลาวก็คือความสุภาพที่แฝงอยู่ในน้ำเสียง คล้ายฝังลึกอยู่ในอุปนิสัยผู้คน ไม่ใช่สุภาพที่หางเสียง
คงไม่ต่างชาวตะวันตกเมื่อแรกเห็นรอยยิ้มสยาม การได้พบว่ามีแผ่นดินที่ผู้คนอัธยาศัยดีงามเต็มด้วยรอยยิ้มแห่งมิตรไมตรีเป็นของแปลกสำหรับชาติตะวันตกที่ปกติผู้คนหน้าตาเฉยเมย หากจะยิ้มต้องมีสาเหตุ
ข้าพเจ้าพยายามออกเสียงเลียนแบบคำ 'สะบายดี' อยู่หลายครั้งแต่ไม่เหมือน หากจะเหมือนก็คงเหมือนฝรั่งฝึกไหว้อย่างไทย
ในความคุ้นเคยอยู่กับภาษาใช้หางเสียงเพื่อความสุภาพนั้นบ่อยครั้งข้าพเจ้ารับรู้ถึงเจตนาหยาบคายผ่านประโยคมีหางเสียง 'ครับ' 'ค่ะ' ที่ชาวเราใช้กัน หลายครั้งยินวาจาสุภาพยังต้องตรวจสอบกริยาท่าทาง สายตา และประโยคข้างเคียง เพื่อให้แน่ใจว่าความหมายตรงตามวาจาหรือไม่
เป็นด้วยความรุ่มรวยทางภาษาทำให้เกิดความซับซ้อนทางการสื่อสาร เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจส่งผลไปถึงพฤติกรรมและจิตใจผู้คนโดยทั่วไป
ครั้นผ่านพบสังคมซึ่งใช้ภาษาตรงไปตรงมา มีคำให้ใช้น้อยและใช้ด้วยสำเนียงสุภาพอ่อนโยนสิ่งที่สะท้อนเข้าในใจจึงคือความบริสุทธิ เรียบง่าย และใสซื่อ
นั่นคงเป็นภาพรวมที่ข้าพเจ้าได้รับจากช่วงเวลารอนแรมไปในวิถีชีวิตชาวถิ่นส่วนหนึ่งในแผ่นดินล้านช้าง
จากหลวงพระบางมานานแล้ว สำเนียง 'สะบายดี' ยังแว่วอยู่ในความทรงจำ ใช่ว่าอับจนหนทางคิดหาชื่ออื่น แต่เพราะคำนี้เตือนข้าพเจ้าให้ระลึกถึงพวกเขา อีกทั้งสำเนียงของคำทักทายนี้สะท้อนภาพวิถีชีวิตลาวอย่างรวบรัดชัดเจน
ข้าพเจ้าจึงยังคงเลือกใช้ 'สะบายดีหลวงพระบาง' เป็นชื่อบันทึก เพียงใส่ (นะ) เพื่อให้ต่างไปจากชื่อหนัง อีกทั้งหวังแทนความรู้สึกที่มีต่อแผ่นดินเรียบง่ายสงบงามแห่งนั้น (ข้าพเจ้าซับซ้อนเกินไปหรือเปล่า(นะ)) 
ของฝากจากแรมทาง
๑ หากไม่ต้องการจ่ายราคาสองเท่า ควรมีถุงเสบียงสักใบ ขนทุกอย่างที่กินได้ไปจากฝั่งไทย เพราะสินค้าโดยมากรับจากฝั่งไทยอีกทอด
๒ ลาวใช้ทั้งเงินกีบและเงินบาท หากใช้เงินบาทจะจ่ายแพงกว่าเงินกีบนิดหน่อย 
๓ เตรียมแผนที่ให้เรียบร้อย ที่ลาวยังไม่มีแผนที่แจก แต่จะมีขายในบางร้าน
๔ หลังยื่นแบบฟอร์มต.ม.ขาเข้า ควรกรอกแบบฟอร์มต.ม.ขาออกที่ได้รับให้เรียบร้อย เพื่อยื่นตอนขาออก(สะพานมิตรภาพขาออกจากลาวคิวยาวมาก)
๕ ไม่ต้องกังวลเรื่องกำหนดเวลาทั้งรถ-เรือ หากเกิดจำเป็นจริง ๆ ไปไม่ทันเวลาก็อย่าได้ยกเลิกการเดินทาง เพราะทั้งรถและเรือยังคอยท่า (ไม่รวมเครื่องบินนะ)
๖ หากต้องการเพียงสัมผัสบรรยากาศหลวงพระบาง ขึ้นไฟลท์ไปชมเมืองสักวัน ดินเนอร์ในบรรยากาศท่านเจ้าคุณสักมื้อ พักโรงแรมสไตล์ย้อนยุคสักคืน ดื่มกาแฟดี ๆ สักแก้ว แล้วบินกลับ นับเป็นความทรงจำที่งดงาม แต่หากต้องการความสมบุกสมบัน เส้นทางรถและเรือเยี่ยงข้าพเจ้าเดินทางจะสนองความต้องการไม่มีตกหล่น
OOO
ขอขอบคุณสหายร่วมทางอักษรทุกท่านที่ติดตามตั้งแต่เริ่มบันทึกหน้าแรกจนหน้าสุดท้าย และทุกคำแนะนำอันข้าพเจ้าจักได้นำมาปรับปรุงทักษะวิชาเขียนไทยให้แข็งแรงขึ้น
ทุกคำทักทายของเหล่าท่านมีคุณค่าต่อข้าพเจ้ามิใช่เพียงส่งแรงใจให้ขีดเขียน ยังหมายถึงมิตรไมตรีที่บอกให้รู้ว่าบนหนทางทอดยาวไกลแทบมองไม่เห็นจุดหมายปลายทางนี้ ยังมีสหายที่ย่ำเท้าเดินไปด้วยกัน ช่วยกันประคองยามหมดสิ้นเรี่ยวแรง ผลัดกันฉุดมือหากมีอันต้องล้มลุกคลุกคลาน
วันที่จบบันทึกอย่างมากเพียงรับรู้ว่างานฝึกเขียนอีกชิ้นสำเร็จเป็นรูปอีกร่างหนึ่งแล้ว แต่ความรื่นรมณ์นั้นเป็นระหว่างที่เดินทางมา เป็นช่วงเวลาขบเคี่ยวอยู่กับถ้อยคำโดยมีเหล่าท่านชะเง้ออยู่เหนือไหล่ตลอดเวลา เป็นช่วงเวลาที่จะไม่ลืมเลือน
ขอบคุณท่านจินนี่ พี่สอง พี่ท่านซารัญญ่า ท่านสหัทยา พี่ท่านขุลล์ ท่านสายลม ท่านต้นข้าว ท่านน็อต ท่านหนอนดำ ท่านชา ท่านหนุ่ม ท่านจัส ท่านอาร์ ท่านนะมัด ท่านหนิม ท่านโซล ท่านชริ
และท่านธีรสำหรับแรมทางด้วยตัวอักษรครั้งแรกบนบอร์ดหนอน เป็นรสชาติที่ดีนัก..รสชาติที่ดีนัก
คารวะ