จาก : โลกในมือนักอ่าน

กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ กับการสร้างอัตลักษณ์วรรณกรรมละตินอเมริกัน (3)

จากวรรณกรรมสมัยใหม่กลับสู่ตำนานท้องถิ่น

นับตั้งแต่เขาเดินทางจากปารีสกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนในปี 1958 จนถึงปี 1962 การ์เซีย มาร์เกซ ได้มีโอกาสเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ในอเมริกาใต้อย่างค่อนข้างโชกโชน

เริ่มต้นจากเดินทางไปทำงานอยู่ที่ Caracas ในประเทศเวเนซุเอลาจนถึงปี 1959 เมื่อ ฟิเดล คาสโตร ประสบความสำเร็จสามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลบาติสต้า รัฐบาลคิวบาของคาสโตรได้ทาบทามให้ การ์เซีย มาร์เกซ เดินทางมารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวละติน (Prensa Latina) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่

งานใหม่นี้เปิดโอกาสให้เขาได้เดินทางไปยังหลายประเทศในละตินอเมริกา ที่พำนักสุดท้ายของ การ์เซีย มาร์เกซ ก่อนตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งคือมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

การ์เซีย มาร์เกซ เดินทางกลับมหานครเม็กซิโกโดยเลือกใช้การนั่งรถโดยสารแทนการขึ้นเครื่องบิน เพราะต้องการเที่ยวชมดินแดนตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในรัฐมิสซิสซิปปี ถิ่นกำเนิดของฟอล์กเนอร์ และที่มาของนวนิยายชุดดินแดน Yokanapatawpha ที่กลายเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ในงานของฟอล์กเนอร์

อาจจะกล่าวได้ว่า การจาริกสู่ตอนใต้ของอเมริกาเพื่อแสดงคาราวะต่อฟอล์กเนอร์ในครั้งนี้ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความหลงใหลฟอล์กเนอร์ในช่วงก่อนที่เขาจะเดินทางไปยุโรป

เพราะในครั้งนี้ ฟอล์กเนอร์มิได้เป็นแค่แม่แบบงานเขียนสมัยใหม่ของวัฒนธรรมยุโรป เหมือนกับ คาฟก้า จอยซ์ วูลฟ์ เหล่านักเขียนยักษ์ใหญ่ของยุโรปที่ การ์เซีย มาร์เกซ ชื่นชม แต่เขาถือเอาฟอล์กเนอร์เป็นบรรพบุรุษของนักเขียนละตินอเมริกัน

ในหนังสือที่เขาเขียนร่วมกับเพื่อนนักเขียนชาวเปรู มาริโอ วาร์กาส โลซา (Mario Vargas Llosa) ทั้งคู่ได้กล่าวถึงงานของนักเขียนอเมริกันผู้สร้างตำนานให้กับดินแดนภาคใต้อเมริกาผู้นี้ไว้ว่า

"แนวการเขียนแบบฟอล์กเนอร์สามารถบรรยายความเป็นจริงของละตินอเมริกาได้อย่างดียิ่ง และนั่นคือสิ่งที่เราค้นพบโดยไม่ตั้งใจในงานของฟอล์กเนอร์ เราเห็นถึงความเป็นจริงของละตินอเมริกาและต้องการจะบอกเล่ามัน แต่เรารู้ว่าแนวการเขียนแบบยุโรปหรือแบบคลาสสิกของสเปนไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ และแล้วเราก็พบว่าแนวการเขียนแบบฟอล์กเนอร์สามารถบรรยายความเป็นจริงดังกล่าวได้อย่างเที่ยงตรงที่สุด"(Garcia Marquez and Llosa, 52 อ้างใน Frisch)

ด้วยเหตุดังกล่าว การ์เซีย มาร์เกซ ได้รับเอายักษ์ใหญ่ของวรรณกรรมอเมริกันในศตวรรษที่ 20 มาเป็น "รากเหง้า" ของตนเองอย่างเปิดเผย เมื่อพวกเขาประกาศว่า "ในบางแง่ เราอาจกล่าวได้ว่า ฟอล์กเนอร์คือนักเขียนละตินอเมริกัน"

แนวการเขียนของฟอล์กเนอร์ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ การ์เซีย มาร์เกซ และนักเขียนแนวหน้าคนอื่นๆ ในละตินอเมริกัน คือ การใช้นวัตกรรมทางวรรณศิลป์เพื่อสร้างตำนานให้กับความเป็นจริงอันซับซ้อนของดินแดนตอนใต้ของอเมริกา และสร้างความเป็นจริงให้กับตำนานที่หยั่งรากลึกอยู่ในจิตสำนึกของคนใต้

ผลพวงของความพยายามดังกล่าว คือนวนิยายร่วมสิบ เล่มในชุด Yoknapatawpha County ดินแดนในจินตนากรรม (imagined homeland) ที่ฟอล์กเนอร์สร้างขึ้น

สําหรับ การ์เซีย มาร์เกซ ดินแดนในจินตนากรรมของละตินอเมริกาคือ เมืองมาคอนโด ที่ปรากฏในนวนิยายแนวสัจนิยมมหัศจรรย์หลายเล่มของเขา โดยเฉพาะในงานชิ้นเอกอันโด่งดังที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีคือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude)

ช่วงเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 1962-1965 ในเม็กซิโกเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางอาชีพนักเขียนของ การ์เซีย มาร์เกซ ตอนกลางวันเขาทำงานเป็นนักเขียนคำโฆษณา ตอนกลางคืนเขาเขียนงานสร้างสรรค์ งานเขียนในช่วงนี้มีเช่น นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง The Evil Hour ที่เขียนค้างไว้ตั้งแต่สมัยอยู่ที่ปารีส รวมเรื่องสั้นชุด Big Mama"s Funeral นอกจากนี้ ยังมีบทภาพยนตร์อีกสามชิ้น

เล่ากันว่าในช่วงปี 1964 เขาเกิดอาการเขียนไม่ออกอยู่เป็นปี จนกระทั่งในปี 1965 ระหว่างขับรถจากมหานครเม็กซิโกไปยังเมืองอาคาปูลโก้ ความทรงจำในวัยเด็กพลันผุดบังเกิดขึ้นในใจ มันคือความทรงจำเกี่ยวกับตำนานต่างๆ ของตระกูล ตลอดจนบรรดาเรื่องราวสุดแสนมหัศจรรย์ที่ยายของเขาเคยขับกล่อมเล่าขานให้ฟังเป็นประจำ ในท่วงทำนองและลีลาเนิบนาบ ด้วยสีหน้าอันเฉยเมย

เขาค้นพบแล้วว่านวนิยายเล่มต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร และจะเขียนมันอย่างไร

การ์เซีย มาร์เกซ ใช้เวลา 18 เดือน ขังตัวเองอยู่ในห้องทำงาน นั่งเขียนต้นฉบับนวนิยายที่ต่อมาได้รับการสดุดีว่าเป็นมหากาพย์แห่งวรรณกรรมละตินอเมริกา คือเพชรน้ำเอกของบรรณพิภพแห่งศตวรรษที่ 20 คือธงนำที่ทำให้วรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์โดดเด่นในสายตาคนทั้งโลก

นวนิยายเล่มที่ว่านั้นก็คือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว



เอกสารอ้างอิง

Frisch, Mark. "Teaching One Hundred Years of Solitude with the Sound and the Fury". 19 July 2010. < http://www6.semo.edu/cfs/TFN_online/sound_frisch.htm>.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น