โดย : จินตนา ปัญญาอาวุธ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
าสตราจารย์สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง ได้ไขรหัสและความลี้ลับต่าง ๆ ของจักรวาลมากมาย แต่ยังมีปริศนาว่า เขามีชีวิตอยู่ได้อย่างไรตั้งนาน

นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นไอน์สไตน์แห่งโลกยุคปัจจุบันอย่างศาสตราจารย์สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง ได้ไขรหัสและความลี้ลับต่าง ๆ ของจักรวาลมากมาย แต่มีความลับอย่างหนึ่งที่ยังคงเป็นปริศนาอยู่นั่นคือเขามีชีวิตอยู่รอดมาได้อย่างไรตั้งนาน ทั้งๆ ที่ป่วยเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้

 ตอนฮอว์กิ้งอายุ 21 ปีและเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาป่วยเป็นโรคทางประสาทที่เรียกว่าAmyotrophic Lateral Sclerosis (ALS) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดจากการขาดเซลล์ประสาทนำคำสั่งมาควบคุม

คนที่ป่วยเป็นโรคนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวเหมือนกับฮอว์กิ้ง ส่วนใหญ่จะมีโอกาสมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าผู้ป่วยที่อายุมาก ปกติแล้วโรคนี้จะพบในคนวัย 50 - 70 ปี โดยผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 2 - 5 ปีหลังจากที่มีอาการพูดติดขัด กลืนอาหารลำบากและกล้ามเนื้ออ่อนแอ มีผู้ป่วยเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 10 ปี แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ร่างพิการรายนี้เพิ่งจะฉลองวันเกิดครบปีที่ 70 ไปเมื่อ 8 มกราคมที่ผ่านมา

ด้วยเหตุผลบางประการ เชื้อโรคตัวนี้กัดกร่อนทำลายฮอว์กิ้งได้ไม่เร็วนัก เพื่อนร่วมงานของเขากำลังวิเคราะห์ดีเอ็นเอของฮอว์กิ้งเทียบกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ เพื่อจะดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงของยีนหรืออะไรที่ทำให้ฮอว์กิ้งมีชีวิตยืนยาวนานกว่าผู้ป่วยคนอื่นและอาจนำข้อมูลไปช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่น ๆ ได้  แพทย์ประจำตัวของฮอว์กิ้งไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับอาการให้สื่อมวลชนทราบ

 ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า การดูแลอย่างดีที่ฮอว์กิ้งได้รับ ซึ่งรวมถึงแพทย์และพยาบาล 10 กว่าคนที่ดูแลเขาตลอด 24 ชั่วโมง อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้นานกว่าผู้ป่วยคนอื่น

 “แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุด น่าจะเป็นเพราะภาวะจิตใจที่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาของฮอว์กิ้งมากกว่า” เวอร์จิเนีย ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคในสมองของมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์เพนซิลวาเนียกล่าว

 ฮอว์กิ้งบอกว่า เขาพยายามที่จะไม่คิดถึงข้อจำกัดของเขา
 "ผมป่วยเป็นโรคนี้มาเกือบตลอดชีวิตของการเป็นผู้ใหญ่ แต่มันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการที่ผมจะมีชีวิตครอบครัวที่น่ารักและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ผมพยายามมีชีวิตปกติเท่าที่จะทำได้ ผมไม่คิดถึงโรคที่เป็นอยู่และไม่เสียใจกับสิ่งบางสิ่งที่ผมไม่สามารถทำได้ ซึ่งมีไม่มากนัก" เขากล่าวในเวบไซต์ของเขา

 อัมมาร์ อัล ชาลาบี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและรักษาโรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม (Motor Neurone) แห่งวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน บอกว่า ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนมากจะเสียชีวิตหลังจากกล้ามเนื้อหายใจหยุดทำงาน
 ชาลาบี้ซึ่งไม่ได้เป็นคนรักษาฮอว์กิ้งบอกว่า เขาไม่เคยเห็นผู้ป่วยรายไหนอยู่ได้นานเท่าฮอว์กิ้ง แต่เขาก็ไม่กล้าคาดการณ์ว่าอะไรจะเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของอาการของฮอว์กิ้งในอนาคต

 “เขาเป็นบุคคลที่น่าทึ่งจริง ๆ นี่คือ คนที่สามารถหาทางจัดการกับทุกปัญหาได้ ทั้งๆ ที่มีโรคร้ายรุมเร้าอยู่” ชาลาบี้กล่าว

แม้ร่างกายจะเป็นอัมพาตเกือบทั้งหมด และต้องใช้ชีวิตในเก้าอี้รถเข็นไฟฟ้าตั้งแต่ปีค.ศ.1970 ฮอว์กิ้งก็ประสบความสำเร็จในทุก ๆ เรื่อง เขาป่วยเป็นโรคปอดบวมในปีค.ศ. 1985 และต้องผ่าตัดเอาหลอดลมออก ทำให้ไม่สามารถส่งเสียงเป็นคำพูดออกจากปากได้ ตอนนี้เขาสื่อสารผ่านเครื่องสังเคราะห์เสียงที่ทำงานโดยอ่านการกระตุกของแก้ม โดยเซ็นเซอร์อินฟราเรดขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บนแว่นตาจะตรวจจับการกระตุกของแก้มและเลือกคำไปแสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ จากนั้นคำพูดจะถูกสังเคราะห์ออกมาเป็นเสียง ล่าสุดการพูดของสตีเฟ่นได้อ่อนแรงลงทุกขณะ หากวันไหนแย่มาก ๆ  เขาอาจพูดได้แค่ 1 คำต่อนาทีเท่านั้น

 "ปัญหาเดียวของเครื่องสังเคราะห์เสียง คือ มันทำให้สำเนียงของผม กลายเป็นสำเนียงอเมริกัน" อัจฉริยะชาวอังกฤษเขียนในเวบไซต์ของเขา

 ฮอว์กิ้งปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพี แต่จูดิธ ครอสเดล ผู้ช่วยส่วนตัวของเขาบอกว่า เจ้านายของเธอเป็นคนป่วยที่น่าทึ่ง ฮอว์กิ้งมักจะมาเข้ามาในห้องทำงานหลังจากทานอาหารเช้าและอ่านข่าวแล้ว เขาไม่ได้เป็นคนตื่นเช้าและมักจะเข้านอนราวทุ่มถึงสองทุ่ม

 "วิธีการสื่อสารของเขา อาจจะดูเชื่องช้าสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่เขาไม่ยอมให้มันเป็นอุปสรรคต่อความคิดของเขา" จูดิธกล่าว

 หลังจากที่ต้องนอนอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลาสั้น ๆ ฮอว์กิ้งบอกจูดิธว่า เขาใช้เวลาคิดเกี่ยวกับทฤษฎีหลุมดำ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่สำคัญที่สุดของเขา

 "เขาเป็นคนหน้าใหญ่และชอบเป็นจุดสนใจของผู้คน" คิตตี้ เฟอร์กูสัน ผู้เขียนชีวประวัติของฮอว์กิ้งกล่าว
 เธอบอกว่า เขาเป็นพวกตลกหน้าตาย เขาตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ตอบคนที่ถามว่าเขาคือสตีเฟ่น ฮอว์กิ้งใช่หรือไม่ว่า “ไม่ใช่คนมักเข้าใจผิดคิดว่า ผมคือฮอว์กิ้ง”

 ฮอว์กิ้งเป็นคนพิการคนแรกที่มีประสบการณ์การบินในภาวะไร้น้ำหนัก เขาได้ท่องอวกาศในปีค.ศ. 2007 บนเครื่องบินเจ็ทดัดแปลงที่บินทะยานตัวขึ้นลงเป็นรูปพาราโบลาอยู่ 8 ครั้งนานเกือบ 2 ชั่วโมงเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก และเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่เขาทรงตัวได้เองโดยไม่ต้องพึ่งรถเข็น ผู้ช่วยของเขาคนหนึ่งบอกว่า เขาไม่เคยเห็นฮอว์กิ้งมีความสุขมากเท่านั้นมาก่อน

 ปัจจุบันฮอว์กิ้งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์และทฤษฎีฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และยังได้เป็น “Lucasian Professor of Mathematics” ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่เซอร์ ไอแซค นิวตันเคยได้รับ ฮอว์กิ้งได้รับการยกย่องจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ด้วยกันว่าเป็นนักฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกปัจจุบัน ผลงานเด่น ๆ คือบทความวิจัยเกี่ยวกับฟิสิกส์ของเวลา โดยเขาทำนายว่าเวลาน่าจะมีจุดเริ่มต้นที่บิ๊กแบงหรือจุดกำเนิดของเอกภพและมีจุดจบที่ใจกลางของหลุมดำ

 ฮอว์กิ้งแต่งงานครั้งแรกกับเจน ต่อมาหย่าร้างและแต่งงานใหม่กับพยาบาลชื่อ เอเลน เมสัน เขามีลูก 3 คนและหลาน 3 คน ตอนนี้เขาและลูซี่ ลูกสาวกำลังร่วมกันเขียนหนังสือเด็กเกี่ยวกับฟิสิกส์หลายเล่ม

 แม้ว่าเขาต้องพลาดงานฉลองครบรอบวันเกิด 70 ปีซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะเพิ่งออกจากโรงพยาบาล แต่เขาฝากสุนทรพจน์ที่บันทึกไว้ล่วงหน้าไปกล่าวในงานด้วย โดยฮอว์กิ้งได้กระตุ้นให้ผู้ฟังให้ความสำคัญและใส่ใจในอาชีพอันน่าประทับใจของเขาและอนาคตของวิทยาศาสตร์มากกว่าการต่อสู้ดิ้นรนกับโรคร้ายของเขา

 “มันเป็นช่วงเวลาที่งดงามที่ได้มีชีวิตอยู่และทำงานวิจัยด้านทฤษฎีทางฟิสิกส์ เรายังต้องเดินทางสู่ห้วงอวกาศเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ ผมไม่คิดว่าเราจะอยู่รอดไปได้อีกพันปีข้างหน้าโดยที่ไม่วิ่งหนีออกไปจากดาวเคราะห์อันเปราะบางของเราได้” เขากล่าว

 ......................
 หมายเหตุ : ที่มา เอพี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น