ตอนที่ 2 ของบทความที่ อาจารย์ชูศักดิ์ เขียนถึงการ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ มาแล้...: ตอนที่ 2 ของบทความที่ อาจารย์ชูศักดิ์ เขียนถึงการ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ มาแล้วววว


บทความพิเศษ

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ กับการสร้างอัตลักษณ์วรรณกรรมละตินอเมริกัน (2)

จากวรรณกรรมสมัยใหม่กลับสู่ตำนานท้องถิ่น

การกวาดล้างผู้ฝักใฝ่ในพรรคเสรีนิยม และนักศึกษาปัญญาชนหัวก้าวหน้า ส่งผลให้ในปี 1948 การ์เซีย มาร์เกซ จำต้องย้ายออกจากเมืองหลวงไปพำนักอยู่ที่ Cartegena เมืองชายฝั่งทะเลแคริเบียนทางตอนเหนือของประเทศ โดยยึดอาชีพผู้สื่อข่าวอิสระเขียนบทรายงานและบทความลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น พร้อมๆ กับศึกษากฎหมายไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ในปี 1950 การ์เซีย มาร์เกซ ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะเลิกเรียนกฎหมาย และหันมาเป็นนักหนังสือพิมพ์เต็มตัว เขาย้ายไปอยู่ที่เมือง Barranquilla ไม่ไกลจากเมือง Cartegena เท่าใดนัก

ในช่วงปี 1950-1954 ของการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองชายทะเล Barranquilla เป็นเสมือนกับการหวนกลับไปสู่วิถีชีวิตในวัยเด็กที่เขาอาศัยอยู่กับตาและยาย ท่ามกลางวัฒนธรรมท้องถิ่นแถบชายฝั่งทะเล ที่เต็มไปด้วยสีสันและชีวิตชีวา

แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดหักเหสำคัญในชีวิตที่ทำให้เขาตัดสินใจละทิ้งการเรียนกฎหมายและมุ่งเอาดีที่จะเป็นนักเขียน

เมือง Barranquilla ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางศิลปะและวัฒนธรรมแนวหน้าของชายฝั่งแคริเบียน ที่ต่อต้านและสวนกระแสกับศิลปะและวัฒนธรรมอนุรักษนิยมซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่โบโกตา Barranquilla เป็นที่รวมของนักคิด ศิลปิน และนักเขียนที่ถูกขนานนามว่า "Group of Barranquilla"

พวกเขาสนใจในกระแสความคิดใหม่ๆ และนวัตกรรมทางศิลปะและวรรณกรรม โดยเฉพาะที่มาจากโลกตะวันตก สมาชิกในกลุ่มจะมีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างสม่ำเสมอ หรือนำผลงานแปลของนักเขียนตะวันตกมาอ่านร่วมกัน

จากการได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักเขียนเหล่านี้นี่เองที่มีส่วนช่วยขยายขอบฟ้าวรรณกรรมของ การ์เซีย มาร์เกซ ให้กว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมไปถึงวรรณกรรมแนวสมัยใหม่นิยมของโลกตะวันตก เขามีโอกาสได้อ่านผลงานชิ้นสำคัญๆ ของนักเขียนตะวันตกที่แปลเป็นภาษาสเปน ไม่ว่าจะเป็น ฟรานซ์ คาฟก้า, เจมส์ จอยซ์, มาร์เซล พรูสต์, เวอร์จิเนีย วูล์ฟ, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, วิลเลี่ยม ฟอล์กเนอร์, จอห์น ดอส ปาสโสส์

งานเหล่านี้นับว่าได้สร้างแรงบันดาลใจสำคัญต่อ การ์เซีย มาร์เกซ ดังจะเห็นว่านามปากกา "Septimus" ที่เขาใช้สำหรับคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ El Heraldo น่าจะมาจากชื่อตัวละครเอกตัวหนึ่งในนวนิยายเรื่อง Mrs. Dalloway (นางดัลโลเวย์) ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ

โดยเฉพาะ ฟอล์กเนอร์ น่าจะเป็นนักเขียนที่มีอิทธิพลสำคัญยิ่ง การ์เซีย มาร์เกซ ถึงกับยอมรับว่า "ครั้งแรกที่ผมได้อ่านงานของฟอล์กเนอร์ ผมคิดว่า ผมจะต้องเป็นนักเขียนให้ได้" (Harss and Dohmann 322)

การ์เซีย มาร์เกซ ถึงกับลงทุนเขียนบทความชื่อ "ปัญหาของนวนิยาย" ("Problemas de la novella?, " El Heraldo 24 Apr. 1950) เรียกร้องให้วงการนักเขียนโคลัมเบียนหันมาใส่ใจกับกระแสวรรณกรรมสมัยใหม่นิยมในโลกตะวันตก

"ในโคลัมเบียยังไม่มีนวนิยายเล่มใดที่เขียนขึ้นโดยได้รับอิทธิพลอย่างชัดเจนจากงานของ จอยซ์ ฟอล์กเนอร์ หรือ เวอร์จีเนีย วูล์ฟ ให้เราได้อ่านเป็นบุญตา ผมใช้คำว่า "เป็นบุญตา" เพราะผมคิดว่าในขณะนี้เราชาวโคลัมเบียนไม่อาจจะมองข้ามความสำคัญของอิทธิพลทางวรรณกรรมไปได้ ในบทเกริ่นนำนวนิยายเรื่อง โอรันโด เวอร์จีเนีย วูล์ฟ ยอมรับเรื่องอิทธิพลทางวรรณกรรม ฟอล์กเนอร์เองก็ไม่เคยปฏิเสธอิทธิพลของจอยซ์ที่มีต่องานของเขา... ฟรานซ์ คาฟก้า และพรูซต์ ปรากฏอยู่ในทุกที่ในโลกวรรณกรรมสมัยใหม่ หากเราชาวโคลัมเบียนต้องการจะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องวางตัวเราอยู่ในกระแสดังกล่าว ความจริงที่น่าเศร้าก็คือปรากฏการณ์ดังว่านี้ยังไม่ได้เกิดขึ้น และก็ไม่มีสัญญาณใดๆ แม้แต่น้อยว่ามันจะเกิดขึ้น"

(อ้างใน Gerald Martin 138)

งานเขียนในช่วงแรกของ การ์เซีย มาร์เกซ จึงเป็นงานที่ขานรับกระแสวรรณกรรมสมัยใหม่ของโลกตะวันตกอย่างเต็มปากเต็มคำ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธวรรณกรรมคลาสสิกของสเปนที่ทรงอิทธิพลอยู่ในโคลัมเบีย

เรื่องสั้นหลายชิ้นของเขาแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากนักเขียนแนวสมัยใหม่นิยมของตะวันตก เช่น "The Third Resignation" นำเสนอเรื่องราวของชายผู้รอดพ้นเงื้อมมือมัจจุราช ด้วยบรรยากาศอันน่าอึดอัด ลึกลับชวนหวาดผวาในสไตล์คาฟก้า

"The Woman Who Arrived at Six O"Clock" เน้นการบรรยายปรากฏการณ์พื้นผิวเชิงภววิสัย โดยปราศจากการสอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกหรือทัศนคติของผู้เล่าเรื่องตามแบบฉบับของเฮมิงเวย์

และ "Nabo: The Black Man Who Made the Angels Wait" เล่นกับเปลี่ยนมุมมอง การสลับเวลาไปมาหรือซ้อนกันเป็นชั้นๆ ที่มักพบได้ในงานของฟอล์กเนอร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวนิยายเรื่องแรก Leaf Storm มีเงาของนวนิยายเรื่อง As I Lay Dying ฉายปรากฏอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ให้การตายของหมอที่ชาวเมืองมาคอนโดจงเกลียดจงชัง เป็นเหตุให้ตัวละครอื่นๆ ได้มารวมตัวกัน และใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านกระแสจิตสำนึกของตัวละครแต่ละตัว

ส่วนนวนิยายเรื่อง No One Writes to the Colonel เป็นเรื่องเกี่ยวกับนายพันเกษียณผู้ยากจน ที่เฝ้ารอเช็กเงินบำนาญที่รัฐบาลรับปากจะส่งมาให้ทางไปรษณีย์เดือนแล้วเดือนเล่าโดยไม่มีวี่แววว่าจะมาเมื่อใด

การ์เซีย มาร์เกซ ใช้วิธีการเล่าแบบยอดภูเขาน้ำแข็งของเฮมิงเวย์ ที่เน้นการสร้างและบรรยายฉากที่แจ่มชัด เพื่อสื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในของตัวละคร มากกว่าจะใช้วิธีการพรรณนาหรือการบอกเล่าประวัติภูมิหลังความเป็นมาของตัวละคร

ในปี 1954 การ์เซีย มาร์เกซ ย้ายกลับมาอยู่โบโกตา โดยทำงานเป็นผู้สื่อข่าวให้หนังสือพิมพ์ El Espectador ในช่วงไล่เลี่ยกันนี้ นวนิยายเรื่องแรกของเขา Leaf Storm ได้รับการตีพิมพ์ การ์เซีย มาร์เกซ ทำงานได้สักพัก ก็ถูกส่งตัวไปเป็นผู้สื่อข่าวประจำยุโรป แต่ทำอยู่ได้ไม่นาน หนังสือพิมพ์ El Espectador ที่เขาสังกัดถูกรัฐบาลเผด็จการทหารในโคลัมเบียสั่งปิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 1955 ส่งผลให้ การ์เซีย มาร์เกซ ต้องตกงานขณะที่อยู่ในยุโรป

แทนที่จะเดินทางกลับโบโกตา เขาตัดสินใจปักหลักอยู่ในกรุงปารีสต่อไป ทั้งๆ ที่ไม่มีงานประจำ ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพเพื่อประทังชีวิตพร้อมกับซุ่มเขียนนวนิยายไปด้วย เล่ากันว่าบางครั้งเขาถึงกับต้องหาเงินจากการเก็บขวดเปล่าขาย (Williams 15) ในปี 1957 เขายังได้มีโอกาสเดินทางไปยุโรปตะวันออกและโซเวียต

ประสบการณ์ชีวิต 3-4 ปี ในยุโรปมีความหมายอย่างยิ่งต่อการเป็นนักเขียนของ การ์เซีย มาร์เกซ ในด้านหนึ่งเขามีเวลานั่งเขียนหนังสืออย่างจริงจัง สามารถเขียนนวนิยายเสร็จค่อนข้างสมบูรณ์ได้ถึง 2 เล่ม คือ No One Writes to the Colonel และ In Evil Hour ยังไม่นับเรื่องสั้นอีกจำนวนหนึ่ง

แต่ที่สำคัญคือ การ์เซีย มาร์เกซ นั้นไม่ต่างจากปัญญาชนในประเทศอาณานิคมจำนวนไม่น้อยที่ต้องขับเคี่ยวกับสภาวะทวิลักษณ์ทางวัฒนธรรม กล่าวคือเมื่อครั้งที่อยู่ในโคลัมเบีย เขาใฝ่ฝันที่จะสร้างงานตามแบบฉบับวรรณกรรมสมัยใหม่นิยมตะวันตก

ทว่า เมื่อได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตอยู่ในยุโรป เขาเริ่มสำนึกและสำเหนียกถึงความสำคัญของความเป็นละตินอเมริกันมากเป็นพิเศษ

อาจจะกล่าวได้ว่าสำนึกดังกล่าวได้เป็นแรงขับประการหนึ่งที่ผลักดันให้ การ์เซีย มาร์เกซ มิอาจหยุดงานเขียนของเขาเพียงแค่การเดินตามกระแสสมัยใหม่นิยมของตะวันตกดังที่เขาเคยเรียกร้องไว้ในบทความเรื่อง "ปัญหาของนวนิยาย"

แต่พยายามแสวงหาและพัฒนาแนวทางการเขียนอันเป็นเอกลักษณ์ของวรรณกรรมละตินอเมริกันในเวลาต่อมา



เอกสารอ้างอิง

Harss, Luis, and Dohmann, Barbara. Into the Mainstream ; Conversations with Latin-American Writers. 1st ed. New York : Harper & Row, 1967.

Martin, Gerald. Gabriel Garcia Ma"rquez. London: Bloomsbury, 2008.

Williams, Raymond L. "Gabriel Garci"a Ma"rquez." Twayne"s world authors series. Boston : Twayne Publishers, 1984.



บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง "สัจนิยมมหัศจรรย์ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ และสุนทรียศาสตร์ของการต่อต้าน" โดยได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์