บทความพิเศษ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
 กาเบรียล การ์เซีย มาร์เก...
: ตอนที่ 4 มาแล้ว


บทความพิเศษ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ กับการสร้างอัตลักษณ์วรรณกรรมละตินอเมริกัน (4)

นักเขียนรางวัลโนเบล

ทันทีที่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปี 1967 ชีวิตของ การ์เซีย มาเกซ ก็พลิกผันจากหลังมือเป็นหน้ามือในชั่วข้ามคืน

หนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านชื่อเสียง เกียรติยศ และเงินทอง นักวิจารณ์ต่างพากันยกย่องให้นวนิยายเล่มนี้คือปรากฏการณ์สำคัญของวงการวรรณกรรมสมัยใหม่ หนังสือขายหมดในเวลาไม่กี่วัน และต้องพิมพ์ซ้ำติดต่อกันหลายครั้ง

ชั่วเวลาแค่สามปีครึ่ง ยอดจำหน่ายนวนิยายเล่มนี้พุ่งสูงถึงห้าแสนเล่ม

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว กวาดรางวัลสำคัญๆ ไปมากเมื่อนวนิยายเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ในปี 1969 ได้รับรางวัล Premio Chianchiano จากอิตาลี และ รางวัล Prix du meilleur livre e"tranger จากฝรั่งเศสในปีเดียวกัน

ในปี 1970 ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือยอดเยี่ยมประจำปีโดยนิตยสาร Time จวบจนถึงปี 1997 นวนิยายเล่มนี้มียอดจำหน่ายทั่วโลกรวมกันถึง 30 ล้านเล่ม (Pelayo, 9-10)

ความสำเร็จของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ช่วยให้ การ์เซีย มาร์เกซ ปลอดจากภาระทางการเงินและสามารถดำเนินชีวิตในฐานะนักเขียนอาชีพได้อย่างเต็มตัว

ในปี 1967 เขาและครอบครัวตัดสินใจเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในบาร์เซโลนา

ตลอดเวลาแปดปีที่เขาพำนักอยู่ในประเทศสเปน การ์เซีย มาร์เกซ มีผลงานออกมาอีกสองเล่ม ได้แก่ หนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ The Incredible Sad Tale of Innocent Erendira and Her Heartless Grandmother (1972) และหนังสือรวมข้อเขียนในหน้าหนังสือพิมพ์ในทศวรรษ 1950 ชื่อ "When I Was Happy and Uninformed" (1973)

ในปี 1974 การ์เซีย มาร์เกซ ได้หวนคืนสู่ปิตุภูมิอีกวาระหนึ่ง เขากลับไปทำงานด้านหนังสือพิมพ์ในโบโกตาอีกคำรบหนึ่ง ก่อตั้งนิตยสารฝ่ายซ้ายของตนเองขึ้นมาชื่อ Alternativa มีคอลัมน์ประจำของตนเองที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองในทวีปละตินอเมริกัน และเข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยเขาและครอบครัวจะเดินทางไปมาระหว่างเมืองเม็กซิโกและโบโกตา

หลังการตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง The Autumn of the Patriarch ในปี 1975 สองปีหลังจากที่ นายพลออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) โดยการสนับสนุนของซีไอเอ ก่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลสังคมนิยมภายใต้การนำของประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อัลยันเด (Salvador Allende) การ์เซีย มาร์เกซ ประกาศว่าเขาจะหยุดเขียนงานจนกว่ารัฐบาลเผด็จการขวาจัดของปิโนเชต์ของชิลีจะถูกโค่นล้ม

คำประกาศดังกล่าวดูจะเป็นเพียงยุทธวิธีทางการเมืองที่ การ์เซีย มาร์เกซ ต้องการปลุกกระแสต่อต้านปิโนเชต์ โดยหวังให้ประชาคมโลกเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเผด็จการทหารในชิลี เพราะก่อนที่ปิโนเชต์จะพ้นจากตำแหน่งในปี 1990 การ์เซีย มาร์เกซ ได้ผลิตงานเขียนอีกสามเล่มในช่วงทศวรรษ 80 ได้แก่ Chronicle of a Death Foretold (1981) Love in Time of Cholera (1985) และ The General in His Labyrinth (1989)

ในปี 1982 กรรมการตัดสินรางวัลโนเบลประกาศให้ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดี "สำหรับนวนิยายและเรื่องสั้นที่รังสรรค์โลกอันรุ่มรวยด้วยจินตนาการ ซึ่งผสมผสานระหว่างแฟนตาซีและความเหมือนจริง เพื่อถ่ายสะท้อนชีวิตและความขัดแย้งในภาคพื้นทวีปแห่งนี้"

ชื่อเสียงของ การ์เซีย มาร์เกซ ที่โด่งดังอยู่แล้วยิ่งขจรขจายไปทั่วทุกมุมโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้รับรางวัลโนเบลของ การ์เซีย มาร์เกซ เป็นแรงส่งให้สถานะของวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ทะยานสู่เวทีสากลในฐานะแนวการเขียนที่น่าจับตามองและน่าศึกษา

จากที่เคยเป็นเพียงแนววรรณกรรมท้องถิ่น สัจนิยมมหัศจรรย์ได้ยกระดับตัวเองขึ้นกลายเป็นแนววรรณกรรมสากล ซึ่งมิได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา หากปรากฏขึ้นในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในทวีปแอฟริกา ในคาบสมุทรอินเดีย หรือแม้แต่ในยุโรปและอเมริกาเหนือ

รางวัลโนเบลช่วยทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจ การ์เซีย มาร์เกซ มั่นคง หมดกังวล เขามีอิสระค่อนข้างเต็มที่ที่จะทุ่มเทให้กับงานเขียน และการเคลื่อนไหวทางสังคม

เช่น ในปี 1983 เขาก่อตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อว่า El Otro (The Other) ที่โด่งดังจากบทสัมภาษณ์หัวหน้าขบวนการนักรบจรยุทธ์ที่ต่อต้านรัฐบาลโคลอมเบีย

ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษามิตรภาพอันแน่นแฟ้นกับผู้นำรัฐบาลของหลายประเทศในทวีปละตินอเมริกา โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีนโยบายสังคมนิยม อาทิ ประธานาธิบดี ฟิเดล คาสโตร แห่งคิวบา และประธานาธิบดี เดเนียล ออร์เตกา ของนิการากัว

แม้ว่าจะมีชื่อเสียง เกียรติยศ และเงินทองค่อนข้างมาก ทั้งยังกลายเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงนักการเมืองและผู้บริหารประเทศ แต่ การ์เซีย มาร์เกซ ก็ยังคงผลิตผลงานการประพันธ์อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายอย่าง Love in Time of Cholera (1985) และ The General in His Labyrinth (1989) Of Love and Other Demons (1994) รวมเรื่องสั้น Strange Pilgrims (1992) บทละครเช่น Diatribe of Love against a Sitting Man (1994) นอกจากนี้ ยังมีผลงานด้านสารคดีอีกจำนวนหนึ่ง เช่น News of a Kidnapping (1996)

แต่ในบรรดาผลงานทั้งหมดของเขา ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว คืองานชิ้นเอกของเขาและของยุคสมัยก็ว่าได้



เอกสารอ้างอิง

Pelayo, Rube"n. Gabriel Garci"a Ma"rquez : A Biography. Greenwood Biographies. Westport, Conn. : Greenwood Press, 2009.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น