จาก : โลกในมือนักอ่าน

กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ กับการสร้างอัตลักษณ์วรรณกรรมละตินอเมริกัน (5)
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
แบบฉบับของสัจนิยมมหัศจรรย์



าก การ์เซีย มาร์เกซ คือตัวแทนที่โดดเด่นที่สุดและเป็นเสมือนเครื่องหมายการค้าของนักเขียนละตินอเมริกันแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ ในบรรดานวนิยายทั้งหมดของเขา คงไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่า นวนิยายเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว คือแบบฉบับอันเยี่ยมยอดของวรรณกรรมแนวนี้

แม้ว่าความทรงจำในวัยเด็กจะเป็นแรงบันดาลใจที่จุดประกายให้ การ์เซีย มาร์เกซ ค้นพบทางออกให้กับเส้นทางวรรณกรรมที่ก้าวมาถึงจุดตีบตัน แต่หากจะวิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้วตำนานตระกูลและลีลาการเล่าเรื่องของยายหาใช่ปัจจัยประการเดียวที่ก่อให้เกิดนวนิยายแห่งยุคสมัยเล่มนี้

ถ้าจะกล่าวให้ใกล้เคียงความจริงแล้ว ต้องถือว่า หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว คือการตกผลึกทางวัฒนธรรมของ การ์เซีย มาร์เกซ หลังจากที่เขาได้ผ่านการหล่อหลอมตัวเองด้วยวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่คือวัฒนธรรมพื้นบ้านอันหลากหลายแถบชายฝั่งแคริเบียนในวัยเด็ก และวัฒนธรรมสมัยใหม่ผ่านชีวิตในเมืองหลวงและประสบการณ์ตรงเมื่อครั้งที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปพักใหญ่

และที่สำคัญ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว คือคำตอบให้กับการแสวงหาอัตลักษณ์วรรณกรรมอเมริกัน จากประสบการณ์การเขียนอันเข้มข้น ผ่านการฝึกปรือฝีมือลองผิดลองถูกกับสไตล์การเขียนตามแบบฉบับของวรรณกรรมสมัยใหม่ตะวันตกที่เขาหลงใหล และการหวนกลับไปหาตำนานพื้นบ้านที่เขาซึมซับมาจากครอบครัว

เราอาจจะกล่าวได้ว่า ร้อยปีแห่งความโดดเดียว คือการประดิษฐ์สร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับวรรณกรรมละตินอเมริกันและให้กับตัว การ์เซีย มาร์เกซ อัตลักษณ์ที่ไม่ใช่ทั้งนักเลียนแบบตะวันตกหรือนักอนุรักษ์รากเหง้า แต่เป็นทั้งสองอย่างพร้อมกันโดยไม่ขัดแย้งกัน

เพราะนี่คือตัวตนของเขาและของชาวละตินอเมริกัน นี่คืออัตลักษณ์ของสภาวะหลังอาณานิคม นี่คือทางออกให้กับนักเขียนผู้ผ่านประสบการณ์หลังอาณานิคมอย่าง การ์เซีย มาร์เกซ ที่แม้ด้านหนึ่งจะชื่นชมหลงใหลกับพลังสร้างสรรค์ของวรรณกรรมสมัยตะวันตก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สำนึกและสำเหนียกในความเป็นละตินอเมริกันของตนเอง

บูเอนดิยา ณ มาคอนโด

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เป็นเรื่องราวของเมืองมาคอนโดที่ชะตากรรมได้กำหนดไว้ว่าจะต้อง "ถูกพัดกวาดจนหายไปจากพื้นพิภพด้วยลมพายุ และถูกลบล้างไปจากความทรงจำของมนุษย์" (หน้า 336) และเรื่องราวของตระกูลบูเอนดิยาที่ชะตากรรมได้กำหนดให้ "คนแรกของต้นตระกูลจะถูกมัดอยู่กับต้นไม้ ส่วนคนสุดท้ายจะถูกฝูงมดกัดกิน" (หน้า 334)

ครอบครัวบูเอนดิยาเป็นครอบครัวใหญ่ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเมืองมาคอนโดการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และล่มสลายของตระกูลนี้ผูกพันแน่นเฟ้นอย่างยิ่งกับชะตากรรมของเมืองมาคอนโด นับตั้งแต่การอพยพมาตั้งรกรากเพื่อก่อร่างสร้างเมืองมาคอนโด นำความรู้ เทคโนโลยี วัฒนธรรมต่างๆ เข้ามาเพื่อพัฒนาเมืองให้เจริญเติบโต

แต่ขณะเดียวกันก็ชักนำหายนภัยรูปแบบต่างๆ ที่ลงเอยด้วยการล่มสลายของเมืองในท้ายที่สุด

ชื่อเมืองมาคอนโดในนวนิยายเล่มนี้ การ์เซีย มาร์เกซ นำมาจากชื่อไร่กล้วยหอมที่เขาเคยเที่ยวเล่นในวัยเด็ก ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก Aracataca บ้านเกิดของเขา

คำว่า "มาคอนโด" เป็นคำในภาษาบันตู (Bantu) แปลว่ากล้วยหอม

ส่วนเรื่องราวในตระกูลบูเอนดิยา หลายส่วนมีเค้ามาจากเรื่องราวและตำนานตระกูลข้างแม่ของ การ์เซีย มาร์เกซ

นวนิยายเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 20 ตอน หรือ "บท" (แต่ละตอนมิได้มีชื่อเรียก หรือตัวเลขบทกำกับไว้แต่อย่างใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพื่อสื่อนัยยะเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเวลาและการลำดับเหตุการณ์ดังจะได้อภิปรายในภายหลัง แต่เพื่อความสะดวกในการอ้างอิงถึง ในที่นี้จะขอเรียกว่าบท)

โดยกว้างๆ แล้ว ทั้ง 20 บทของนวนิยายบอกเล่าเรื่องราวของตระกูลบูเอนดิยาและเมืองมาคอนโดในลักษณะของการเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์แบบเส้นตรงที่เริ่มจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดจบ

ทว่า แต่ละบทจะมีการแทรกเหตุการณ์ในอนาคตและย้อนหลังถึงเหตุการณ์ในอดีตเป็นครั้งคราว (นัยยะของเทคนิคดังกล่าวจะได้อภิปรายในภายหลัง)

ในสองบทแรกเป็นการปูพื้นภูมิหลังความเป็นมาของต้นตระกูลบูเอนดิยาและเมืองมาคอนโด ว่าเริ่มต้นจาก โฮเซ อาร์คาดิโอ บูเอนดิยา แต่งงานกับญาติของตนเองคือ อูร์ซูลา แต่เธอปฏิเสธและบ่ายเบี่ยงที่จะร่วมหลับนอนกับสามี เพราะกลัวว่าลูกที่เกิดมาจะมีหางเหมือนหางหมูดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับคนของตระกูลในอดีต

ส่งผลให้ โฮเซ อาร์คาดิโอ บูเอนดิยา ถูกพรูเดนซิโอเพื่อนสนิทนำเรื่องดังกล่าวไปล้อเลียนต่างๆ นานา จนนำไปสู่การท้าดวลที่จบลงด้วยความตายของพรูเดนซิโอ และการอพยพทิ้งบ้านเกิดของสองสามีภรรยาคู่นี้

หลังจากที่ทนถูกผีพรูเดนซิโอตามรังควานไม่ไหว ทั้งคู่ได้ชักชวนหนุ่มสาวอีกจำนวนหนึ่งออกเดินทางแสวงหาถิ่นฐานใหม่ และได้ร่วมกันสร้างเมืองโดยตั้งชื่อว่า "มาคอนโด" มี โฮเซ อาร์คาดิโอ บูเอนดิยา ทำหน้าที่เป็นเสมือนหัวหน้าเมืองอย่างไม่เป็นทางการ

ภาพของเมืองมาคอนโดในยุคสร้างบ้านแปลงเมืองเป็นภาพของสังคมบุพกาลที่ทุกคนเสมอภาค เท่าเทียมกัน ปราศจากการกดขี่ข่มเหง ปราศจากกลไกอำนาจรัฐใดๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือศาสนา การ์เซีย มาร์เกซ สื่อถึงความเท่าเทียมกันดังกล่าวผ่านการบรรยายมาคอนโดว่าบ้านทุกหลังสร้างเหมือนกันหมด

ที่สำคัญคือผังเมืองได้รับการคำนวณเป็นอย่างดี ชนิดว่า "ไม่มีบ้านหลังใดจะได้รับแดดในช่วงร้อนจัดของวันมากกว่าบ้านหลังอื่น" (หน้า 15)

ตั้งแต่บทที่สามเป็นต้นไป ภายหลังจากที่อูร์ซูลาสามารถค้นพบเส้นทางสู่โลกภายนอกได้สำเร็จในท้ายบทที่สอง เมืองมาคอนโดต้องเผชิญหน้ากับการไหล่บ่าเข้ามาของตัวแทนอำนาจรัฐและวัฒนธรรมภายนอก ซึ่งสื่อมาในรูปต่างๆ กัน

ไม่ว่าจะเป็น ดอน อโพลินาร์ มาสค็อตเต ตัวแทนของรัฐบาลที่มาประจำอยู่ในเมืองพร้อมหน่วยทหารติดอาวุธ เพื่อเข้ามาปกครองและออกกฎระเบียบต่างๆ ตามมาด้วยหลวงพ่อ นิคาโนร์ เรย์นา ตัวแทนของศาสนจักรที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา และ เพียร์โตร เครสพี ศิลปินจากอิตาลีที่เข้ามาสอนดนตรี

การเข้ามาของอำนาจรัฐส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงระหว่าง ดอน อโพลินาร์ มาสค็อตเต และครอบครัวตระกูลบูเอนดิยา แม้ว่าในเวลาต่อมา ทั้งสองตระกูลจะเป็นดองกัน เพราะออเรลิเอโนลูกชายของ โฮเซ อาร์คาดิโอ บูเอนดิยา ได้แต่งงานกับลูกสาวของมาสค็อตเต แต่ความสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานมิได้ช่วยประสานรอยร้าวทางความคิดระหว่างสองตระกูล

และในท้ายที่สุดออเรลิเอโนตัดสินใจรวบรวมลูกหลานของผู้ก่อตั้งเมืองมาคอนโดทำสงครามกับรัฐบาล เมื่อเขาพบว่ามาสค็อตเตโกงการเลือกตั้ง เมืองมาคอนโดได้กลายเป็นสมรภูมิย่อยๆ ของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายขบถ โดยทั้งสองฝ่ายผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ

ทั้งสองฝ่ายสลับสับเวียนกันเข้ามาปกครองเมืองแห่งนี้จนในท้ายที่สุดเมื่อออเรลิอาโนเบื่อหน่ายกับการรบที่ไม่มีวันสิ้นสุดยอมเจรจาสงบศึกกับรัฐบาล เมืองมาคอนโดจึงหวนคืนสู่สภาวะไร้สงครามภายใต้การปกครองของรัฐบาลโดยสมบูรณ์แบบ



เอกสารอ้างอิง

มาร์เกซ, กาเบรียล การ์เซีย. หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว. แปลโดย ปณิธาน - ร.จันเสน. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์วลี, 2529.

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง "สัจนิยมมหัศจรรย์ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ และสุนทรียศาสตร์ของการต่อต้าน" โดยได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น