จาก : มติชนออนไลน์
พนิดา สงวนเสรีวานิช-เรื่อง สุรินทร์ มุขศรี-ภาพ

หนุ่ม ใหญ่ วัย 47 ปี ท่าทางสุภาพ มีรอยยิ้มระบายบนใบหน้าตลอดเวลา ในเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีครีม ก้าวเข้ามาพร้อมกับหญิงสาวและเด็กน้อยไว้ผมเปียสองข้างในชุดผ้าซิ่น

แขกรับ เชิญคนสำคัญครั้งนี้ มีนามว่า "โอทอง อินคำซู" หรือ "ฮุ่งอะลุน แดนวิไล" เจ้าของรางวัลชนะเลิศจากการประกวดรวมเรื่องสั้นรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอด เยี่ยมแห่งอาเซียนของประเทศลาว (S.E.A. Write Award) ประจำปี 2008 จากผลงานรวมเรื่องสั้นชุด "ซิ่นไหมผืนเก่าๆ" ที่ใช้ภาษาเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่สะท้อนภาพสังคมลาว ณ ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์

"โอทอง" บอกว่า ก่อนหน้านี้เขาคาดหวัง "ซีไรต์" ในประเภทบทกวี ด้วยเป็นงานที่เขารักและเจนจัดกว่าประเภทอื่น จึงเพียรส่งเข้าประกวดอยู่ถึง 3 ครั้ง

มีเพียง 2 ครั้งหลังที่ส่งเรื่องสั้นเข้าประกวด ชนะใจกรรมการเป็น "ซีไรต์" คนที่ 11 ของลาวอย่างที่เจ้าตัวก็ไม่คาดคิด

เขาเล่าว่า ฝันอยากเป็น "ครูคณิตศาสตร์" แต่ดูเหมือนโชคชะตาจะเล่นตลก ทำให้ต้องเรียน "แพทย์" แทน

เรียนจนถึงปี 3 มีผลการเรียนดีด้วยซ้ำ แต่ด้วยหัวใจที่ร่ำร้อง ทำให้เขาตัดสินใจลาออก เพื่อสมัครเข้าเรียนครู

ทว่า เขาสมัครช้าไปเพียงเดือนเดียว ต้องรอสมัครอีกครั้งในปีหน้า ณ จุดนั้นเองที่กงล้อแห่งโชคชะตาพาให้เขาเข้าไปทำงานอยู่ในวารสารวรรณศิลป์ สังกัดกระทรวงแถลงข่าวและภาษาลาว

จากพนักงานเรียงพิมพ์ ที่มีโอกาสได้รับผิดชอบบางคอลัมน์ในวารสารวรรณศิลป์และก้าวขึ้นเป็นบรรณาธิการในปัจจุบัน

โอทอง เกิดวันที่ 5 มิถุนายน 1962 ที่บ้านนาคูนน้อย เมืองนาซายทอง นครหลวงเวียงจันทน์

แต่งงานกับ "นางไพวัน" มีลูกสาว 1 คน ชื่อ "นางพอนพิลุน คำอินซู"

เริ่มจับงานเขียนตั้งแต่อายุได้เพียง 9 ขวบ โดยเขียนติดกระดานข่าวของโรงเรียน

หลัง จากได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดเรื่องสั้นสำหรับเด็ก จากเรื่อง "อยากเป็นครู" ในปี 1986 เป็นที่รู้จักของคนในแวดวง เปิดพื้นที่หน้าวรรณกรรมตามหน้าวารสารต่างๆ หนังสือต่างๆ โดยเขียนเรื่องสั้น นิทาน กาพย์ กลอน สารคดี บางครั้งก็เป็นบทวิจารณ์

นอก จาก "ฮุ่งอะลุน แดนวิไล" เขายังมีนามปากกาอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ "ดอกฮัก", "กิ่งกุหลาบ", "อ.โอ บ้านนาคูน", "ลูกศิษย์ครูสาว", "ยิ้มแย้มแจ่มใส"

มาถึงปี 1993 จึงมีโอกาสได้รวมเล่มผลงานตนเอง คือ ชุดรวมบทกวี "น้ำใจ" และรวมเรื่องชั้นชุด "สาวขายยาสูบ"

นี่เพียงแค่เกริ่น เรื่องราวชีวิตของ "โอทอง" ยังมีที่น่าติดตามอีกมากมาย ซึ่งเจ้าตัวพาลูกและภรรยาข้ามฝั่งโขงมาเล่าด้วยตัวเอง...

ทำไมไปสอบครูไม่สำเร็จ?

ลาว ในระยะนั้นไม่มีการสอบ จบประถมแล้วไปเรียนวิชาชีพครูได้เลย แต่บังเอิญว่าตอนนั้นอายุยังไม่ถึงจึงไม่ได้เรียน แต่พอถึงเวลาจะไปจริง ปรากฏว่าเขาเปลี่ยนหลักสูตร ต้องจบมัธยมจึงไปเรียนวิชาชีพได้ เลยเสียเวลาไปปีหนึ่ง แล้วพอเรียนจบมัธยมหลักการปฏิบัติของประเทศลาว คือราชการจะกำหนดเองว่าคนนี้ควรไปเรียนต่อวิชานี้ คนนั้นควรไปเรียนต่อวิชานั้น ไม่สามารถเลือกเรียนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งคนที่เรียนเก่งต้องไปเรียนแพทยศาสตร์ เรียนวิศวะ ถ้าเรียนไม่เก่งก็ไปเรียนครู (หัวเราะ)

ถูกเลือกให้ไปเรียนแพทย์?

ครับ เรียนอายุรแพทย์เป็นแพทย์ทั่วไป ผมเรียนแพทย์จนถึงปี 3 ก็เรียนได้อยู่ คะแนนนำหน้า ขนาดที่ว่าครูติดธุระก็ให้ผมสอนแทน แต่รู้สึกว่าไม่ชอบ

ผมคิดว่าเรียนแพทย์มันช่วยคนได้เฉพาะทางร่างกาย แต่เรียนครูช่วยทางจิตใจ และใจมันไปทางครูมากกว่า

เพราะ?

ผม ชอบเรื่องการเขียน ตอนที่อยู่ ม.ปลาย ได้เขียนหนังสือส่งให้วารสาร แล้วตอนที่รอเวลาจะไปเรียนต่อครู ก็ได้เขียนหนังสือส่งให้วารสารเพราะมีบรรณาธิการที่กระทรวงวัฒนธรรมลาวชวนไป ทำงาน

แต่ไปตอนแรกไปเป็นพนักงานออกแบบจัดหน้า แต่เป็นคนชอบเขียน ถึงอยู่แผนกออกแบบจัดหน้าก็ได้รับผิดชอบบางคอลัมน์ในวรรณศิลป์ ทำมาเรื่อยจนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าบรรณาธิการ

ไปๆ มาๆ ที่อยากเรียนครูก็ต้องไปเรียนเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เพราะมีรายชื่อส่งไปให้เรียน ก็ต้องไป กลับมาแล้วก็ยังมาทำงานที่วารสารวรรณศิลป์อยู่ เลยตัดสินใจว่าขอเรียนวรรณคดีซะเลย เลยจบปริญญาตรีภาษาและวรรณคดีลาว ประมาณปี 1997 (พ.ศ.2540)

บรรณาธิการดูแลวารสารที่กระทรวงวัฒนธรรมต้องทำอะไรบ้าง?

ทำ งานคล้ายสำนักพิมพ์นี่แหละ มีหน้าที่ผลิต "วารสารวรรณศิลป์" ให้กับกระทรวง โดยในวารสารจะมีเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม เป็นเรื่องสั้น กาพย์กลอน สารคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรม และพิมพ์หนังสือด้วย

ประเทศลาวมีนิตยสารมากมั้ย?

นิตยสาร ในลาวเป็นของรัฐทั้งหมด ที่ผ่านมามีระเบียบว่าไม่ให้เอกชนทำงานแบบนี้ แต่กำลังจะมีกฎหมายใหม่ออกมาอนุญาตให้เอกชนทำได้ ตอนนี้ที่มี คือ สำนักพิมพ์ดอกเกด ของ ดวงเดือน บุนยาวง

ในลาวคนต่างชาติตั้งสำนักพิมพ์ได้มั้ย?

ตาม กฎหมายไม่ได้ แต่บางทีก็มี ยกตัวอย่าง องค์การต่างประเทศบางองค์กร จะพิมพ์หนังสือสำหรับเด็ก ซึ่งปัจจุบันหนังสือสำหรับเด็กในลาวขายดีกว่าหนังสือทั่วไป เพราะเยาวชนลาวตื่นตัวเรื่องการอ่านมาก

อีกอย่างคือมีองค์กรส่ง เสริมการอ่าน จะซื้อหนังสือเข้าหอสมุดให้เด็กๆ ได้อ่าน นอกจากนี้มีเอกชนที่อยากพิมพ์หนังสือสำหรับเด็ก ถึงไม่มีสำนักพิมพ์แต่ก็อนุญาตให้บุคคลสามารถพิมพ์ได้ แต่ต้องผ่านสำนักพิมพ์ (ของรัฐบาล) และให้ บ.ก.สำนักพิมพ์เป็นผู้เขียนคำนำ เป็นผู้เซ็นอนุญาตแล้วก็พิมพ์ได้เลย

เด็กลาวชอบอ่านหนังสือมาก

ชอบ มาก ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่วนใหญ่จะอ่านพวกนิทาน เรื่องสั้น ยกตัวอย่างเรื่อง "กอไผ่พูดได้" เป็นเรื่องสั้นที่แต่งขึ้นประกวดและชนะได้รางวัลที่ 1 กรมเป็นผู้พิมพ์จำหน่าย

การ์ตูนต่างประเทศมีขายมั้ย?

มี อย่างโดราเอมอนเป็นภาษาลาว คือไม่ได้ห้าม แต่ยังไม่มีผู้ลงทุนเท่านั้น ถ้าอ่านการ์ตูนส่วนมากคนลาวจะอ่านภาษาไทย เพราะอ่านได้และการ์ตูนภาษาไทยมีมาก

ส่วนตัวเริ่มงานเขียนจากการเขียนบทกวี

ครับ เป็นสิ่งที่ชอบและเขียนไว้มาก ส่วนเรื่องสั้นเขียนปีหนึ่งประมาณ 3 เรื่องเท่านั้น

ที่ ชอบเขียนกวี เพราะหนึ่ง-เป็นเรื่องที่ไม่ต้องการข้อมูลมาก อาจจะสร้างจินตนาการในหัวเลย สอง-เขียนง่าย สามารถเขียนได้ทุกสถานที่ ขี่รถจักรยานไปก็คิดคำไว้ในหัว พอไปถึงที่ทำงานก็เขียนลงในหนังสือบันทึก แต่ถ้าเป็นเรื่องสั้นข้อมูลต้องชัดเจน ต้องมีตัวจริงที่กระทบต่อจิตใจ และไม่สามารถเขียนในหัวได้เลย ต้องไปนั่งเขียน แต่กวีนี่เพียงแค่นั่งคิดนอนฝันก็เขียนออกมาได้แล้ว

ระหว่างกวีกับเรื่องสั้น ชอบเขียนแบบไหน?

ชอบ กวี คือตอนที่ฝันถึงกวีซีไรต์ก็คิดถึงกวีตลอดนะ และก้าวเข้าสู่วงการก็ด้วยกวีสำหรับเด็ก แต่ที่ได้รางวัลกลับเป็นเรื่องสั้น ตอนนั้นส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดที่กระทรวงศึกษา เพราะเคยเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับเรื่องว่าตัวเองอยากเป็นอาชีพครู เขียนแล้วเก็บไว้ในหนังสือบันทึก อยู่มาวันหนึ่งกระทรวงศึกษาประกาศว่าให้ส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดชิงรางวัล 1,000 กีบ (ตอนนั้น 250 กีบ เป็น 1 บาท) ก็เลยเอาเรื่องสั้นที่เขียนไว้ส่งไปประกวด ปรากฏว่าได้รับรางวัล 1,000 กีบพร้อมด้วยหนังสือหลายสิบเล่ม

หลังจากได้รางวัลก็มีโอกาสพบ บรรณาธิการจากวารสาร หนังสือพิมพ์ต่างๆ เข้ามาหาบอกว่าให้ส่งเรื่องไปให้เขาตีพิมพ์ด้วย ก็ตัดสินใจส่งไป โดยเฉพาะส่งไปที่หนังสือพิมพ์เยาวชน ตอนนั้นมีท่านนิติ ไชยะแสง เป็นบรรณาธิการ ปรากฏว่าได้รับการตีพิมพ์ เขาไม่ได้พิมพ์ใหม่นะ แต่ใช้ต้นฉบับที่เป็นลายมือเขียนของเราตีพิมพ์ลงไปเลย มันมีความภูมิใจมาก ว่าหนังสือที่เราเขียนมันงามเนอะ...

เป็นคนชอบอ่านหนังสือ?

ชอบ มาก แต่เดี๋ยวนี้อ่านน้อยกว่าที่ผ่านมา อ่านหนังสือหมดทุกอย่าง บางเล่มเป็นภาษาต่างประเทศอ่านไม่ออกหรอก แต่ก็ซื้อมา-ซื้อมาเก็บไว้

(หัวเราะ) โดยเฉพาะบทกวีนี่เห็นไม่ได้เลย ซื้อหมดทั้งบทกวีของกัมพูชา หรือบทกวีของเวียดนาม แต่อ่านไม่ออกนะ (หัวเราะ)

เดือนหนึ่งๆ หมดเงินค่าหนังสือเยอะไหม?

เดี๋ยว นี้เยอะครับ เพราะราคาหนังสือแพงขึ้น เดี๋ยวนี้เล่มหนึ่ง 15,000 กีบ 20,000 กีบก็มี เงินเดือนข้าราชการแค่ 50,000-600,000 กีบเท่านั้น ขณะที่แต่ก่อนหนังสือราคาไม่แพง 10 กว่ากีบ 15-20 กีบ

นักเขียนต่างประเทศที่ชื่นชอบ?

ไม่ ค่อยได้อ่านเรื่องต่างประเทศ จะอ่านก็แต่ภาษาไทย เพราะไม่เก่งภาษาอังกฤษ หรือฝรั่งเศส แต่ก็มีนักเขียนต่างประเทศที่เคยอ่าน มีเรื่องของกีย์ เดอ โมปัสซัง, โอ.เฮนรี่ และนักเขียนรัสเซีย เช่น นิโคไล ออสตรอฟกี้ หรือแม็กซิม กอร์กี

นักเขียนต่างประเทศไม่ได้มีอิทธิพลกับนักเขียนลาว?

แม็ก ซิม กอร์กี ก็มีอิทธิพลต่อนักเขียนปฏิวัติ เขาบอกว่าเป็น สัจทัศน์สังคมนิยม หลายนักเขียนก็พยายามเอาแบบอย่าง แต่เราไม่ค่อยสนใจว่าต้องสัจทัศน์นั้น สัจทัศน์นี้ ก็เขียนไปตามที่เห็น แล้วก็พยายามสอดแทรกลงไปในตัวละคร ทำอย่างไรผู้อ่านจะอยากทำตามตัวละครที่ดี ตัวละครที่ไม่ดี ก็เขียนให้ผู้อ่านเกลียดและไม่ปฏิบัติตนตาม

แล้วนักเขียนไทยที่ชื่นชอบ?

ศรี บูรพา ชอบเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ชอบสำนวนของศรีบูรพา รู้สึกสำนวนกินใจ และชอบตอนท้ายของเรื่องที่คุณหญิงกีรติพูดกับนพพร รู้สึกประทับใจมาก

งานเขียนของ "ฮุ่งอะลุน แดนวิไล" จะซื่อๆ ใสๆ

เพราะผมเป็นคนเปิดเผย เก็บความลับไม่ค่อยได้ คิดอะไรก็เขียนไปในนั้น (หัวเราะ)

จะเขียนนิยายไหม?

คิดเหมือนกันนะ จนถึงตอนนี้มีถึง 2 โครงเรื่องแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมือ เพราะยังยุ่งๆ อยู่

นักเขียนลาวต้องทำงานหนัก?

ส่วน ใหญ่นักเขียนลาวจะมีอาชีพหลักเป็นอาชีพอื่น คือเขียนหนังสืออย่างเดียวมันหากินไม่คุ้ม แต่เราอยากเขียนอยากระบาย ดังนั้น นักเขียนจะเป็นพนักงานของรัฐ หรือบางคนเป็นนักธุรกิจ เป็นแพทย์ เป็นนักบินก็มี แล้วมาเขียนหนังสือเป็นอาชีพรอง แม้แต่ "ท่านวิเศษ แสวงศึกษา" ซีไรต์ลาว ปี 2545 ก็บอกว่า "ข้าพเจ้ามีอยู่ 2 อาชีพ อาชีพหนึ่งที่ข้าพเจ้ารักคือ การขีดการเขียน แต่ว่าที่สองคืออาชีพที่คนอื่นบังคับให้ทำ" (หัวเราะ)

คนลาวรู้สึกอย่างไรกับเรื่องที่ได้รางวัลซีไรต์?

ถ้า จะดูจำนวนยอดขาย เฉพาะในลาว ถือว่าอยู่ในระดับแถวหน้า เรื่องสั้นของผมในเล่มที่ได้รางวัลซีไรต์ มีแปลเป็นภาษาอังกฤษเรื่องเดียวคือ "ซิ่นไหมผืนเก่าๆ" แปลอยู่ในหนังสือเรื่องสั้นของอาเซียน ซึ่งหลังจากหนังสือแปลออกมาได้ระยะหนึ่ง ได้ไปร่วมประชุมนักเขียนอาเซียนที่ประเทศมาเลเซีย ได้พบพูดคุยกับคนฟิลิปปินส์คนหนึ่ง เขาบอกว่าชอบเรื่อง "ซิ่นไหมผืนเก่าๆ" มากที่สุด ในบรรดาเรื่องทั้งหมด ตอนนั้นดีใจมาก แต่คิดว่าเขาอาจจะพูดเอาใจเรา หลายเดือนต่อมาเขามาเยี่ยม แล้วชวนคุยแบบสนใจอยากรู้ว่าตัวละครตัวนั้นตัวนี้ในเรื่องซิ่นไหมผืนเก่ามี จริงหรือเปล่า นี่คือความประทับใจ..

หรืออย่างเวลาไปต่างจังหวัด เขาแนะนำว่า โอทอง คำมินซู ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ แต่พอแนะนำว่า ฮุ่งอะลุน แดนวิไล ปรากฏว่ามีคนสนใจมาก

ที่ อยากเป็นนักเขียน เพราะอยากสื่อแนวคิดในจิตใจของเราให้คนรับรู้ อย่างเวลาที่เห็นเหตุการณ์บ้านเมืองแล้วเราคิดเห็นอย่างไร แต่ถ้าเรามานั่งอธิบาย หรือไปสอนนักเรียน นักเรียนนั่งสิบคนก็สื่อได้แค่สิบคน แต่ถ้าเราเขียนลงไป เมื่อเอาไปจำหน่ายจะได้หลายกว่านั้น ยิ่งถ้าได้แปลเป็นภาษาไทย นอกจากคนลาวจะได้อ่าน คนไทยก็ยังได้อ่านอีก ก็นึกดีใจอยู่เหมือนกันว่า แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นครูสอนหนังสืออยู่หน้าห้อง แต่ก็ได้เป็นครูทางอ้อมด้วยการเขียนหนังสือ

คิดว่านักเขียนรางวัลซีไรต์ลาวเป็นยากมั้ย?

ใน ใจแล้วไม่คิดว่ารางวัลซีไรต์เป็นรางวัลที่จะรับรองคุณภาพเท่าใด เพราะนักเขียนที่ส่งเข้าแข่งขันมีน้อย ปีหนึ่งมี 10-12 เล่ม บางปีประกวดประเภทนวนิยายมี 8 เล่ม กรรมการที่ตัดสิน ถ้าเทียบกับซีเกมส์มันต่างกัน เพราะซีเกมส์แข่ง 10 ประเทศ เอาหนึ่งเดียว แต่ซีไรต์เป็นการแข่งภายในประเทศ ประเทศหนึ่งคนหนึ่ง และกรรมการที่ตัดสินก็มี 7 คน คิดว่ามันยังไม่เพียงพอที่จะตัดสินว่าเรื่องนี้เด่นดังแท้ๆ

แต่..ก็ทำให้คนสนใจเรื่องของเรา

ต่อไป..อยากให้นักอ่านได้เป็นคนตัดสินเรื่องของเรา แล้วเวลานั้นแหละค่อยภูมิใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น:

  1. อากาศร้อนเนอะ สี่โมงกว่าแล้วก็ยังร้อนไม่สร่าง

    อยากเขียนเรื่องสั้น มีพล็อต มีเวลา มีอารมณ์อยากจะเขียน
    แต่อักษรตัวแรกดันไม่ยอมหลุดจากปลายดินสอ จากปลายนิ้วทู่ๆ ยิ่งแล้วใหญ่

    อยากคุยกับใครบางคน แต่ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร

    อยากฟังเพลงสักเพลง เลือกไม่ถูกจะฟังเพลงไหน

    เปิดฟังเพลงวิทยุ ไม่มีคลื่นไหนเปิดเพลงโดนใจมั่งเลย

    หยิบหนังสือขึ้นมาเปิดอ่านตาก็พาลแต่จะปิด

    อารมณ์ไม่ได้หงุดหงิด แต่เริ่มรู้สึกนิดๆ ว่าชักเหงาๆ

    ตอบลบ
  2. ดึกดื่นสวัสดิ์ท่านดินที่เคารพ

    เจอกันปลายสัปดาห์นะทั่น

    ขอให้โชคดีต้อนรับเดือนเมษาฯ แล้วข้าเจ้าจะมาฟังข่าวดี :)

    เดินทางโดยสวัสดิภาพ บุญรักษาเจ้าค่ะ

    คืนนี้นอนหลับฝัน

    ตอบลบ
  3. พรุ่งนี้เช้าเดินทางขะรับท่านสาย
    ท่านก็เช่นกัลล์ขะรับบุญรักษา

    ลา..ลัน..ลา..ลา..จะไปเที่ยวบางกอก ลาไอ้ทุยที่ยืนข้างคอก ลายุงในมุ้งที่กัดพุงกัดศอก ลาจิ้งหรีดมันกรีดปีกป๊อกป๊อก ลาราวตากผ้าลายาดองในกระบอก ลากลิ่นโคลนเลนลาจิ้งเหลนลานกกระจอก เอ้ยยยย..สาวกรุงนั้นคงโสภี เซ็งแล้วทางนี้ ลากันที่บ้านนอก เต๊ะพ่อ!

    ตอบลบ