ท่านสายทิ้งถ้อยสัพเย้าวาจา..

"เอาล่ะ... คุยกับท่านน้อยๆ จะได้มีเวลาเขียนงานเยอะๆ งั้นแค่นี้แหละนะ ต้องขอตัวไปนอนแล้ว อุ๊ย! ไม่ใช่ แฮ่ ไปเขียนหนังสือแล้วเจ้าค่ะ"

ครั้งหนึ่งบนหนทางฝึกฝนอักขระรจนาการ สามเกลอ(พี่สองพี่สามป๋าไอซ์)เคยสุมกบาลแลกเปลี่ยนถ้อยสนทนาแทบทุกวัน วันละหลายร้อยตัวอักษร หลายสิบบรรทัด หลายมากย่อหน้า

ข้าพเจ้าเป็นคนเสาะค้นประเด็นมาแหมะบนโต๊ะ สามเกลอผลัดกันแพลมลากเก้าอี้มานั่ง ใครจะยกซด โดดตบ หรือชงเองตบเองตามแต่ถนัดใจ

เหล่าท่านนำประสบการณ์ ความคิดเห็น มุมมองเฉพาะตนมาเสนอแลกเปลี่ยน เปิดกะโหลกข้าพเจ้าให้ได้รู้ว่า..อ้อ..ยังมีวิธีคิดแบบนี้ มีมุมมองแบบนั้นอยู่ในโลกอย่าได้มองข้าม อีกทั้งยังมีคมคำคมความที่พี่สองพี่สามหมั่นนำมาฝากเป็นเสมือนผลไม้อักษรรสหอมหวานสำหรับผู้ตระเวนไปในโลกหนังสือ

เราแลกเปลี่ยนอักขระกันอย่างถึงอรรถถึงรส เป็นที่สนุกคิดสนานใจ

สำหรับนักหัดเขียนนั้นเวลาที่ใช้เขียนหนังสือใช่มีมาก เราเจียดจากชีวิตประจำวันเท่าทำได้ จึงเมื่อเขียนอะไรสักอย่าง นั่นเท่ากับได้หยิบฉวยเวลาของวันนั้นไปแล้วสิ้น การจักคิดจักเขียนงานประเภทอื่นอีกนั้นเป็นอันยกไว้ก่อน

ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าลงมือเขียนสนทนาความ สุขที่เพริดเขียนเพลินคุยนั้นหนักอยู่ แต่ทุกข์ที่รู้ตัวว่ายังเขียนนิยายค้างก็หาได้หย่อนกว่ากัน

เมื่อถึงกาลใกล้อ่อนแรงล้า พี่สามเปรยด้วยน้ำเสียงผ่อนคลาย "..การพูดคุยของเราทำให้ได้ฝึกจับประเด็น.."

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าแลกเปลี่ยนปุจฉา-วิสัชนาครั้งนั้นจะช่วยพูนทักษะอักขระพี่สามมากน้อยเพียงใด เพราะเมื่อแรกปะ ลายอักษรท่านก็บรรลุระดับดาบอยู่ที่ใจเสียแล้ว

สำหรับกับข้าพเจ้า การฝึกฝนครั้งนั้นส่งผลให้แคล่วคิดคล่องเขียนขึ้นอย่างไม่มีทางไปถึงเลยหากนั่งฝึกอยู่คนเดียว

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา เราแยกย้ายจากกัน ข้าพเจ้าหันทุ่มเทเขียนนิยายจนจบ

เวลาที่เราใช้ร่วมกันผ่านพ้นไปแล้ว ที่เหลืออยู่ก็คือทักษะเขียนซึ่งติดตัวมาจนทุกวันนี้

เมื่อย้อนมอง การสนทนาของเรามีแต่ก่อประโยชน์โภชน์ผลต่อทุกคน เป็นเพราะเราไม่ได้พูดคุยแต่เรา 'เขียน' ทุกบทสนทนาล้วนเป็น 'งานเขียน' แม้จะไม่ใช่บทความสมบูรณ์ทุกครั้งประสานักหัดเขียนที่ทักษะยังไม่คงเส้นคงศอก แต่ก็มีหลายครั้ง จบบทความแล้วได้งานเขียนที่สาสมใจ 

เราไม่ได้นั่งคุยกันอย่างเคยอีกแล้ว แต่ข้าพเจ้าหาได้หลงลืมว่าการกระทำครั้งนั้นส่งอานิสงส์เยี่ยงไร จึงยังคงตั้งใจฝึกจับประเด็นส่งบทสนทนาผ่านกล่องข้อความ และพยายามกระทำสม่ำเสมอ

ท่านกนกพงศ์เขียนจดหมายเป็นประจำ เขียนอย่างประณีตบรรจง เป็นแบบอย่างให้เห็นว่าผู้ที่เป็นนักเขียน เมื่อลงมือเขียน เขาประจงใจในทุกตัวอักษร

ขณะเขียนเรื่องสั้น ความเรียง จดหมายถึงมวลมิตรท่านก็หาได้ละเลย

โลกของคนเขียนหนังสือคงดำเนินไปเช่นนี้ หมุนไปพร้อมกันทุกลายอักขระ

สำหรับยุคสมัยปัจจุบันเราอาจเขียนจดหมายลายมือน้อยลง แต่ตัวอักษรในกล่องข้อความนี้ก็คงไม่ต่างจดหมายที่เราเขียนถึงกัน

แน่ล่ะ..ใจอยากเขียนนิยายเพื่อที่ว่าวันเวลาผ่านจักได้งานเป็นชิ้นเป็นอัน แต่จดหมายก็คืองานเขียนชนิดหนึ่ง นอกจากผลฝึกจับประเด็นแล้ว ยังสามารถรวบรวมเป็นเล่มไม่ต่างนิยายสักเรื่อง

การเขียนทั้งสองอย่างสลับไปมา จึงอาจเป็นสิ่งดีช่วยผ่อนล้าคลายอารมณ์ ทำให้มือไม่ละห่างจากลายอักขระ

คุยกับข้าพเจ้าเยอะ ๆ และเขียนงานเยอะ ๆ เถอะ..ได้โปรด!    

OOO

ลุยงานเสาร์-อาทิตย์เต็มที่ขอรับ จะได้มีความสุขกับงานเขียนวันจันทร์มาก ๆ เช่นกัลล์

14 ความคิดเห็น:

  1. โอ้ว...แม่จ้าว!!!

    สัพยอกเย้าแหย่จี๊ดเดียว ท่านร่ายมาเป็นขบวนรถไฟเลยเชียว เดี๋ยวคราวหน้าจะสัพยอกเยอะๆ ท่านจะได้ยกโค-ต-รขบวนรถไฟมาให้ข้าเจ้านั่งดูเล่น (ฮา)

    มันก็ต้องสลับสับเปลี่ยนกันซีท่านดินก็ คุยมากบ้าง น้อยบ้าง วันไหนมีเรื่องอยากคุยก็ยกขบวนพาเหรดตัวอักษรเรียงแถวกันออกมาเลย วันไหนไม่มีเรื่องคุย ทักทายสวัสดีกันสักประโยคสองโยคให้รู้ว่ายังอยู่ไม่ได้ห่างหายไปไหน ข้าเจ้าหาได้มีเรื่องจะคุยทุกวี่ทุกวันี่

    ก็รู้อยู่ว่าการร่ายตัวอักษรไม่ว่าจะรูปแบบไหน(ยกเว้นร่ายด่าคนอื่นเขา)ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น คุยกะท่านข้าเจ้าก็ได้ประโยคเยอะอยู่

    สมัยเรียนมัธยมข้าเจ้าเคยเขียนบันทึก(เกือบ)ทุกวัน พอมาอยู่บางกอกก็เริ่มห่างหายแล้วก็ร้างลาไปในที่สุด เคยคิดว่ามันไร้สาระ ตอนหลังกลับมาเริ่มเขียนใหม่ เหมือนเริ่มนับศูนย์เลย นี่ก็ห่างหายไปอีกเป็นเดือน ยังเสียใจไม่หายที่เลิกเขียนไปเมื่อครานั้น หากยังเขียนอยู่ทุกวันป่านนี้ฝีไม้ลายมือข้าเจ้าคงเข้าขั้นเทพไปแล้ว(อิ อิ ว่าไปนั่น)

    รู้สึกคอมพ์มันจะรวน เจอไวรัสป่าวไม่รู้
    แล้วคุยกันใหม่พรุ่งนี้เจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  2. หวัดดีท่านดินที่เคารพ

    วันนี้อากาศในบางกอกดีจริงๆ สบายมาตั้งแต่เช้า ราวอยู่ในหมอกฝัน

    เมื่อคืนคุยไม่ทันเสร็จเครื่องค้างไปสองรอบ ข้าเจ้าพิมพ์ใหม่สามครั้ง ปิดประตูบ้านท่านเรียบร้อย เครื่องปกติดังเดิม(แอบเล่นของกันรึป่าว?)

    ข้างบนที่บอกว่า "คุยกันท่านข้าเจ้าก็ได้ประโยคเยอะอยู่" นั่นพิมพ์ผิดเจ้าค่ะ รีบรัวปลายนิ้วไปหน่อย ปรับแก้เป็น

    "คุยกับท่านข้าเจ้าก็ได้ประโยชน์เยอะอยู่"(ความหมายต่างกันลิบ)

    เห็นทีข้าเจ้าคงต้องคิดใหม่ทำใหม่เสียแล้ว
    เมื่ออาทิตย์ก่อน บอกท่านว่าเขียนกลอนได้ ๘ บท แต่ยังไม่ค่อยพอใจ จะปรับแก้ทีหลัง ชิ้นที่ว่าก็คือ "ในครู่ฝัน" ที่เอาไปลงในสำนักนั่นแหละ ข้าเจ้าเอามานั่งดู บทที่ ๑-๗ ไม่ได้ปรับแก้อะไรสักนิด แต่ตัดบทที่แปดทิ้ง เขียนใหม่หมดทั้งบท

    บอกตามตรงว่ายังไม่พอใจอยู่ดี

    แต่น่าแปลกที่กลับได้รับคำชมมาหลายเสียง ท่านบอกว่า

    "ชั้นเชิงคำซ้ำคำย้อนชักแพรวพราย"

    ข้าเจ้าควรดีใจสำหรับคำชม แต่จะรู้สึกอย่างนั้นได้อย่างไรในเมื่อข้าเจ้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่า "คำซ้ำคำย้อน" ที่ท่านพูดถึงนั้นมันอยู่ตรงไหน

    ด้วยความสัตย์จริงว่าตอนเขียน หาได้คิดถึงคำซ้ำคำย้อนเลยสักนิด แค่คิดว่าคำไหนสัมผัสกับคำไหน พอจะจับมาใส่ได้ก็จับมันใส่เข้าไป ให้ได้ความหมายและไม่คลายสัมผัส

    รบกวนท่านแจงหน่อยเถิดเจ้าค่ะ มันซ้ำยังไง? มันย้อนตรงไหน?
    เผื่อได้เป็นประโยชน์กับกลอนชิ้นต่อๆ ไป

    ตอบลบ
  3. บ่ายวันสบายสวัสดิ์ขอรับท่านสาย

    หวังท่านไม่ลืมที่เราเคยคุยกัน จิตรกรสะบัดทีแปรงหาระแวงถูกหลักหรือไม่ นักมวยบนสังเวียนปล่อยหมัดตามธรรมชาติ นักดาบมิพักกังวลท่วงท่าคราเผชิญหน้าอริราชศัตรู ฉันใด..

    นัก(หัด)เขียนมิควรพะวงใจถึงหลักการต่าง ๆ ณ อารมณ์เขียน..ฉันนั้น

    การจำแนกแยกแยะ พิเคราะห์งานล้วนเป็นย้อนดูเพื่อศึกษา

    ตอนเขียนกับตอนเกลา เป็นอารมณ์สุขคนละส่วน ตอนเขียนนั้นเป็นดังท่านกล่าว ปล่อยตัวอักษรรื่นไปตามแต่หลุดไหลออกมา ถึงมีบ้างบางบ่อยที่ต้องกุมขมับคิดแทบพุ่งศีรษะชนก้อนเต้าหู้ แต่การได้นั่งรื้อค้นขุมคำในขมองก็นับเป็นสุขของนักเลงอักษรชนิดหนึ่ง

    ครั้นถึงตอนเกลา เป็นความรื่นรมย์เหมือนนักทำว่าวสะบัดปลายมีดบางเบาเพื่อเหลาเสี้ยนไผ่ให้กลมกลึงเข้ารูป ถึงตอนนี้เราจะสอดส่ายปรายตาดูว่ามีส่วนใดสมควรดัดแก้แปรปรับ ก็จะจัดการเสียให้งามเฉลาเกลากลึง

    ยังจำ 'เพลงยาวเจ้าฟ้ากุ้ง' ได้ไหมขอรับ? (ขอท่านเปิดดูอีกสักครั้ง)

    การนำ 'มาดหมายสมานสุมาลย์สมร' มาใช้เมื่อต้นวรรค แลยังสามารถนำ 'หมายที่จะมาดสุมาลย์สมาน' มาใช้ในบทถัด หามีคำใหม่เลย การรู้สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ทั้งยังได้สำผัสแพรวพราว นั่นคือย้อนคำของท่านผู้เลิศแล้วเชิงชั้นรจนาวรรณ

    ลองดูล่างลงมา

    'นี่สุดหมายที่จะมาดสุมาลย์สมาน
    สุดหาญที่จะเหิรเวหาสห้อง
    สุดคิดที่จะเข้าเคียงประคอง
    สุดสนองใจสนิทเสน่ห์กัน..'

    การซ้ำคำโดยเจตนาย่ำความรู้สึก เหมือนส่งแรงตอกย้ำหมุดคำลงบนผืนอารมณ์

    ลองดูอีก..

    'โอ้สุดคิดสุดฤทธิ์เห็นสุดรัก..'

    ซ้ำคำทั้งหมดหาได้ทำลายรสเลย กลับย้ำหมุดคำลงบนผืนอารมณ์อย่างแน่นหนัก

    ดังเราเคยคุยกัน ขออย่าได้นำมาวิตกกังวล เมื่อปลดปล่อยความรู้สึกที่แท้จริงออกมา กระบวนท่าทั้งหมดย่อมเป็นไปตามธรรมชาติ

    เขียนไปตามความรู้สึกที่แท้ แปรสารอารมณ์เป็นลายอักขระตามทักษะที่มี เท่านี้ก็สัมผัสใจ

    คารวะ

    ป.ล.ครานี้หวังท่านย้อนมอง 'ครู่ฝัน' ปะ 'มันซ้ำยังไง? มันย้อนตรงไหน?' แล้วนะขอรับ

    ตอบลบ
  4. เข้าราตรีสวัสดิ์เจ้าค่ะ

    อรุณเบิกฟ้าวันพรุ่งจะเข้ามานั่งยิ้มแฉ่งอยู่ตรงชานขนำเหมือนเช่นเคย

    หลับฝันดีนะทั่น

    ปล.ไม่ต้องมาเข้าฝันกันนะ ไม่อยากสะดุ้งตื่นกลางดึก(ฮา)

    ตอบลบ
  5. สวัสดีท่านดินที่เคารพ

    คืนวานบอกว่าอรุณเบิกฟ้าจะเข้ามานั่งฉีกยิ้มให้ ดันโผล่หัวเข้ามาเมื่อโสมส่องหล้าเข้าให้แล้ว หาได้มีเหตุอันใดเจ้าค่ะ เปิดปากกะตูบ้านท่านเมื่อเช้า พร้อมปากกะตูสำนัก เห็นท่านคั่นฯ โยนมุขมาขำดี เลยแหย่กลับ -ได้ผล พาลให้ระเริงรื่นติดลม หันดูเวลาอีกที แม่จ้าว!! บ่ายโมงกว่า ต้องกลับมานั่งเจี๋ยมเจี้ยมทำงานตัวกลม

    เมื่อวานอ่านคำขานไขท่านเป็นที่เรียบร้อย กลับไปเปิดงานตนดู หาคำซ้ำคำซ้อน -ไม่เจอ! เรียกเพื่อนมาช่วยหาอีกแรง นั่งหัวชนกันจ้องจอคอมฯ ตาเป๋ง(ไม่รู้เหาบนหัวแอบส่งจดหมายกันมั่งป่าว) อ่านจบมันหันมามองกะพริบตาสองปริบ ถอนหายใจหนึ่งเฮือก แล้วลุกเดินหนี ยังตีความไม่ถูกมาจนถึงบัดนี้ว่าพฤติกรรมแบบนั้นหมายความว่าไง

    เหยื่อรายแรกหนีพ้นบ่วงแร้วไปได้ก็ต้องหาเหยื่อรายใหม่ โชคร้ายที่รายนี้หาได้ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหวเหมือนรายแรก อ่าน "ครู่ฝัน" จบไปหนึ่งรอบเถียงกันสองยก ถึงบัดนี้ก็ยังเถียงกันไม่จบ เพียงแค่พักยกเอาไว้ก่อน

    เอาเป็นว่า "สมมติว่าข้าเจ้าหาคำซ้ำคำซ้อนเจอแล้วนะทั่นนะ"


    เจอเหตุน่าสนใจหนึ่งจุด ---ตรงชื่อเรื่อง

    ข้าเจ้าใช้ชื่อ "ในครู่ฝัน" แต่ท่านพิมพ์ตอบในชื่อ "ครู่ฝัน"
    เพราะว่าคำนี้เหมาะสมกว่า ใช่มั้ย? ใช่มั้ย?

    ความจริงก็คงไม่คิดติดใจอะไรถ้าหากไม่เคยเจอกรณีแบบนี้มาก่อน เมื่อครั้งที่ข้าเจ้าเขียน "โอ้...ใจเจ้าเอ๋ย" ท่านใส่ลิ้งก์ให้เพียง "โอ้...ใจ" ข้าเจ้าคิดว่า "โอ้...ใจ" มันก็เหมาะสมดีนะ

    แต่ท่านรู้ไหม? ในบทที่ว่า

    "เราเดินชมดวงบุปผาผกาไพร
    แล้วเจ้าอยู่หนใดเล่าใจเอ๋ย
    หรือเที่ยวท่องล่องไปเหมือนใจเคย
    ไยละเลยให้รุ่มร้อนรอนชีวาฯ"

    บทนี้ข้าเจ้าตั้งใจสื่อความหมายถึง"คน"นะ ประมาณว่าใครสักคนเดินชมธรรมชาติแล้วไพล้ไปคิดถึงคนรักซึ่งเปรียบประหนึ่งดวงใจ

    แต่ท่านเชื่อไหม? ไม่มีใครคิดเหมือนอย่างที่ข้าเจ้าต้องการสื่อสารเลยสักคน(มันแสนชีช้ำ) อันนี้ก็ยอมรับนะว่าฝีมือเรายังอ่อนหัดนัก

    บางทีก็อยากปล่อยให้ความหมายมันเป็นไปอย่างทีใครๆ คิดกัน แต่มันเหมือนไม่ซื่อสัตย์ต่อความคิดตน ก็เลยคิดว่าใครจะคิดแบบใดก็คิดไปข้าเจ้าก็จะคิดในแบบที่ตั้งใจเขียนนี่แหละ

    ส่วนท่านจะคิดแบบใดนั้นไม่สำคัญเลย แต่รบกวนถามความเห็นสักนิดเจ้าคะ ท่านคิดว่าความหมายแบบใดจะงามกว่ากันระหว่าง
    "หมายถึงดวงใจซึ่งฟุ้งซ่าน" กับ
    "ใจซึ่งแทนความหมายถึงบุคคลอันเป็นที่รัก"

    ข้าเจ้าเปลี่ยนชื่องานชิ้นนั้นใหม่แล้วเป็น "ดวงใจเจ้าเอย" ท่านว่าเป็นไง?

    แล้วเจอกันใหม่เจ้าค่ะคืนนี้นอนหลับฝันดีนะทั่น

    ปล.หวังว่าปลายสัปดาห์ที่จะถึงจะได้เจองานท่านในสำนักอย่างที่กล่าวนะเจ้าคะ ส่วนท่านได้เจองานข้าเจ้าแน่ ไม่ซีรี่ส์ "ห้องพัก" ก็ "กล่อมกลอน" เตรียมร่างกายไว้ให้พร้อมนะนายช่าง แล้วเจอกัลล์

    ตอบลบ
  6. ฝนมาเมื่อฟ้าสางสวัสดิ์ขอรับท่านสาย

    สองประเด็นที่ท่านประจงยิงปจุฉา(ชื่อ, สื่อความ) ผู้น้อยนำไปเขียน The Note Book แยกได้เป็นสองบทความนั่นเลยเทียว

    การจักตอบแต่เพียงสั้นนั้นเป็นที่ละอายใจน้ก จะใช้เวลาตอบสักหนึ่งบทความเล่า ก็มีกิจคอยท่าไม่อาจปลีกใจ หวังท่านจะให้อภัยเจ้าเศษดินอัปลักษณ์

    ชื่อนั้นสำคัญไฉน?

    การที่ข้าพเจ้าแกล้งไผลลืมใส่ชื่อ(งาน) ให้ครบคำดูหยาบคายไร้มรรยาทดีงาม ที่เสี่ยงกระทำก็ด้วยกุศลเจตนา แลท่านก็ช่างสังเกตสังกา (สิ่งนี้เองทำให้ข้าพเจ้าศรัทธาว่าท่านต้องไม่ธรรมดา) (ไม่วันนี้ก็สักวัน..อย่าเถียง..ได้โปรด)

    ข้าพเจ้าเคยกระทำเยี่ยงนี้กับสหายหนอน (บางท่าน) ได้รับปฏิกริยาวางเฉย ไร้คำถามกลับ อาจไม่ทันสะกิดใจ หรือสรุปไปแล้วว่าเจ้านี่มันเฉือก การแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นจึงไม่เกิด

    ขอรวบรัดตัดความตรงเข้าเป้า 'ในครู่ฝัน'

    สิ่งข้าพเจ้าฝึกคือ ใช้คำใช่เพียงสื่อความ แต่เป็นสื่ออารมณ์คำ

    คำ 'ครู่' มีความหมาย 'ชั่วขณะ' เมื่อกล่าวถึงครู่ ทำอย่างไรจึงจะส่งอารมณ์ครู่ไปด้วย..ท่านลองคิด..

    ติ๊กต๋อก!

    ติ๊กต๋อก !

    คิดออกไหม? (อย่าส่ายหน้าสิ)

    ข้าพเจ้าคิดไม่ออก !

    ณ ปัจจุบันทักษะที่ขมองน้อยพอจะหาทางออกก็คือ ใช้คำให้สั้น กระชับสมกับช่วงเวลาเพียงครู่

    ขอท่านลองพินิจ..

    ขอเวลาให้ฉันเพียงแค่ครู่ลมหายใจเถิดนะคนดี กับ ขอเวลาสักครู่

    อารมณ์ที่ส่งมาคือ เวลาของครู่แรกยาวกว่าครู่หลัง ในครู่ฝัน จึงเป็นช่วงเวลาที่ยาวกว่าครู่ฝัน เพียงตรวจสอบความตั้งใจว่าต้องการสื่อหมายใดแล้วใช้คำนั้น

    แต่หากต้องการให้คำ 'ครู่' เปล่งพลังของระยะเวลาชั่วครู่จึงควรใช้ให้สั้นสุด (โปรดสังเกตข้าพเจ้าไม่ใช้ 'สั้นที่สุด' เพราะเชื่อว่า สั้นสุด สั้นกว่าสั้นที่สุด)

    เรื่องพวกนี้เป็นความเห็นส่วนตัวหามีหลักภาษาสำนักอักขระตักศิลาใดรองรับ อีกทั้งยังเข้าไปในมุมลึกของการเขียนที่ใช้คำสร้างบรรยากาศ สื่ออารมณ์ในใจผู้อ่านโดยมิพักบอกกล่าว หวังข้าพเจ้ามิได้ทำท่านกระอักกระอ่วนว่ามันพูดเรื่องอะไรของมัน(ฟะ)!

    ประเด็นหลัง 'สื่อความ'

    ต่อข้อถาม..
    ท่านคิดว่าความหมายแบบใดจะงามกว่ากันระหว่าง
    'หมายถึงดวงใจซึ่งฟุ้งซ่าน' กับ 'ใจซึ่งแทนความหมายถึงบุคคลอันเป็นที่รัก' (หยดน้ำค้างใช้เน้น ส่วนฟันหนูใช้บอกว่าเป็นคำพูด)

    สายตาต่ำต้อยเห็นทั้งสองล้วนงามไม่ต่างเจนซีมัวร์กับอาภัสรา เอาใหม่(เดี๋ยวหาว่าแก่) อืมม์..เฮม่ามาลินีกับเพ็ญภัค ศิริกุล

    สำคัญที่สื่อความให้ตรงหมาย ส่วนปลายทางจะตีความไปทางใดเป็นเรื่องของเขา(อันนี้เราเข้าใจตรงกัลล์)

    ที่ใคร่ยกมาให้ท่านพินิจคือคำ 'เรา'

    ท่านหมายถึงเราที่เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง หรือเราที่หมายถึงเราสองคน ตรงนั้นกำกวมผู้อ่านสายตาติดดินเยี่ยงข้าพเจ้าเข้าใจไปว่า 'เรา' นั้นคือเรา(สองคน)เดินชมดวงบุปผาผกาไพร (แล้วใจของผู้เขียนก็ลอยไปซะถึงไหน ๆ เดินกับคนหนึ่งแล้วใจคิดถึงคนอื่นว่างั้นเถอะ)

    ท่านคงไม่ต้องการให้เข้าใจอย่างนี้ดอก แต่คำ 'เรา' เป็นตัวเริ่ม

    ผู้อ่านจะตีความเช่นไรเป็นอัตสิทธิ์ผู้อ่าน เรา(อันหมายถึงข้าพเจ้าและทั่น)ตระหนักดี แต่เรา(ผู้เขียน)สื่อความตรงใจหรือไม่? นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง

    หวังข้าพเจ้าตอบความท่าน ไม่ถึงกับต้องรบกวนสหายนักปลูกดอกไม้ของท่านใช้วิชาสงบสยบเคลื่อนไหวอีกนะขอรับ

    คารวะ

    ป.ล. รับคำยืนยันซีรี่ส์510กล่อมกลอนก็ให้ยินดีนัก จะตั้งตาเขียนหนังสือแล้วปะกันปลายสัปดาห์ขะรับ

    ตอบลบ
  7. หวัดดีท่านดินที่เคารพ

    เข้ากลางเดือนมีนาฯ แล้วเป็นไงบ้างท่าน เริ่มนับสองมีนาฯ ยัง? หรือรอไปนับสองเดือนเมษาฯ?

    ข้าเจ้าปรับแก้ 'ดวงใจเจ้าเอย' เป็น
    'ฉันเดินชมดวงบุปผาผกาไพร
    แล้วเธออยู่หนใดเล่าใจเอ๋ย'

    ท่านว่าเป็นไง? ความจริงข้าเจ้าชอบ
    'แล้วเจ้าอยู่หนใดเล่าใจเอ๋ย' มากกว่า 'แล้วเธออยู่หนใดเล่าใจเอ๋ย'
    มันให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่ากันเยอะ อีกอย่างข้าเจ้าไม่ชอบคำ 'ฉัน' เลย

    คำ 'ครู่ฝัน' ให้ความรู้สึกกระชับชัดเจนอย่างที่ท่านให้เหตุผล แต่ข้าเจ้าติดใจ 'ในครู่ฝัน' ตรงที่เวลาอ่านคำนี้รู้สึกเหมือนมีบางสิ่งบางอย่างให้ตามเข้าไปค้นหา -อะไรบางสิ่งอย่างซึ่งซ่อนอยู่ภายใน

    ข้าเจ้าอาจหลงประเด็นตรงการสื่อคำ ในบทกลอนต้องการเพียงเสี้ยวเวลาก็คือความรู้สึกเพียง 'ชั่วขณะ' อย่างที่ท่านว่านั่นแหละ หาใช่ต้องการให้ค้นหาอะไรบางอย่างที่ข้าเจ้าว่าเสียหน่อย จริงไหม?

    ขอบคุณคำทักสำหรับเรื่องขีดเดียวกับสองขีดเจ้าค่ะ('น้ำค้าง'กับ'ฟันหนู'ขออนุญาตเรียก'ขีดเดียว'กับ'สองขีด')

    เหตุผลที่ใช้ตัวสองขีดในทุกความเกิดจากความขี้เกียจของข้าเจ้าเอง ข้าเจ้าขี้เกียจเปลี่ยนภาษาไปมาด้วยเพราะมักติดนิสัยว่าเปลี่ยนคีย์บอร์ดเป็นภาษาอังกฤษกดตัวขีดเดียวเสร็จจะคีย์ตัวอื่นตามทันที หารู้ไม่ว่าลืมเปลี่ยนภาษากลับ ต้องลบออกแล้วกลับไปพิมพ์ใหม่เสียทุกเที่ยว

    ยามพิมพ์คุยกับท่านหรือกับสหายในสำนักคิดว่าคงรู้ๆกัน เลยพิมพ์สองขีดมาตลอดเพราะไม่ต้องสลับภาษาของคีย์ ต่อไปจะไม่ทำอีกแล้วเจ้าค่ะ เริ่มฝึกตั้งแต่บัดเดี๋ยวนี้เลย

    +++

    วันนี้เขียนกลอนได้สองชิ้น ชิ้นหนึ่งยังคิดไม่ออกว่าจะใช้ชื่ออะไรดีระหว่าง 'ในคำนึง' กับ 'ครู่คำนึง' (ได้แรงบันดาลใจมาจากงานของท่าน'กวิสรา'ใน'ก้าวรอก้าว'ฉบับล่าสุดผสานด้วยคำชมของท่านเมื่อวันก่อน เครื่องเลยชักแรง)

    สุขสันต์ในงานเขียนนะทั่น
    (คนมาก่อนไปก่อน คนมาทีหลังก็ต้องก้าวต่อไป)

    ปล.เห็นในหน้าต่างขนำ ยินดีกับซำหม้อด้วยเจ้าค่ะที่เข้ารอบแปดคนสุดท้าย(สงสัยจริงมีคนส่งงานเขียนเข้าประกวดกี่คนกัน หวังว่าคงไม่ใช่แปดคนนา)

    ตอบลบ
  8. อีกคืนค่ำสวัสดิ์ขอรับท่านสายที่เคารพ

    ข้าพเจ้าคอยดูอยู่ว่าท่านจะแสดงความยินดีกับเจ้าซำหม้อมันอย่างไรที่บังเอิญหลุดเข้ารอบเซมิฟายนอลทั้งไม่มีกล้ามจะอวดสักมัดสักแพ็ค

    มุกท่านเล่นเอามันขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน (ดูท่าจะโดดงับ!)

    วันที่ ๑ เม.ย.หากท่านพอจะว่างเวลาไปช่วยลุ้นผล ข้าพเจ้าจะเลี้ยงน้ำแข็งไสสักถ้วยเป็นไง (เลี้ยงมากเดี๋ยวไม่มีค่ารถกลับ)

    คารวะ

    ช่วงนี้ตอบคำถาม :

    ถาม : เข้ากลางเดือนมีนาฯ แล้วเป็นไงบ้างท่าน เริ่มนับสองมีนาฯ ยัง? หรือรอไปนับสองเดือนเมษาฯ?
    ตอบ : แย่! ไข้ฝังในกว่าจะทุเลา ทั้งสภาพแวดล้อมดูเหมือนจะเป็นใจไปทางร้ายเสียสิ้น เล่นเอาข้าพเจ้าอ่วมมยุรี(อรทัยแต่งงานไปแล้ว) เพิ่งเริ่มเป็นมนุษย์ปกติ แต่อากาศก็ยังคงสะบัดร้อนสะบัดหนาว เที่ยวนี้ฟื้นยากฟื้นเย็น ยังหักใจไม่ลงว่าจะเอาไงกับ 'กาลครั้งหนึ่ง' ต่อดี

    ถาม : ท่านว่าเป็นไง? ความจริงข้าเจ้าชอบ
    'แล้วเจ้าอยู่หนใดเล่าใจเอ๋ย' มากกว่า 'แล้วเธออยู่หนใดเล่าใจเอ๋ย'
    มันให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่ากันเยอะ อีกอย่างข้าเจ้าไม่ชอบคำ 'ฉัน' เลย
    ตอบ : 'เจ้า' ส่งสัมผัสกับ 'ใจ' ไพเราะลงตัวดีแล้วเจ้าค่ะ ไม่ชอบ 'ฉัน' ลอง 'ข้า' เป็นไร?

    ถาม : ข้าเจ้าอาจหลงประเด็นตรงการสื่อคำ ในบทกลอนต้องการเพียงเสี้ยวเวลาก็คือความรู้สึกเพียง 'ชั่วขณะ' อย่างที่ท่านว่านั่นแหละ หาใช่ต้องการให้ค้นหาอะไรบางอย่างที่ข้าเจ้าว่าเสียหน่อย จริงไหม?
    ตอบ : จริง!

    ไม่ได้ถาม : ขอบคุณคำทักสำหรับเรื่องขีดเดียวกับสองขีดเจ้าค่ะ
    อยากตอบ : ไม่เป็นไรมิได้

    ป.ล. รู้ว่ารับคำชมแล้วเครื่องแรงเยี่ยงนี้เห็นที่ข้าพเจ้าจะต้องชมน้อย ๆ หน่อย (เกรงชมบ่อยจะเคยชิน)

    ตอบลบ
  9. ก๊อก! ก๊อก! ก๊อก!

    นายช่างอยู่ป่าว? มาตามไปทำงานเจ้าค่ะ

    เอา 'ในคำนึง' ไปลงไว้ในสำนักแล้ว ตอนแรกตั้งใจจะลงปลายสัปดาห์ แต่เห็นว่าชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก 'บางการผลิบาน' ในก้าวรอก้าว เลยเอาไปลงเสียเลยในขณะที่ก้าวรอก้าวยังไม่ทันตกหน้า

    ตรงไหนขีดออกได้ขีดไปเลยนะนายช่าง ไม่ต้องเกรงใจ ท่านได้สิทธิ์นั้น เต็มที่! (หากแม้นท่านขีดออก-เติมเข้า จนไม่เหลือชิ้นดี ข้าเจ้าก็ยินดีไปโกยซากกลับมาประกอบใหม่ -ฮา)

    อาทิตย์นี้ของข้าเจ้าเรียบร้อยแล้วนะ เหลือแต่ของท่านเท่านั้นแหละ
    (แต่บางทีหากข้าเจ้าอารมณ์ดีๆ อาจมีแถม!^^)

    คารวะ

    ปล๑.ยินคำชวนแล้วให้ยินดีนักเจ้าค่ะ วันที่ ๑ ยังไม่แน่ว่าว่างหรือเปล่า
    (แต่ถ้าสมมติว่าว่าง แต่ไม่อยากเจอละเจ้าค่ะ ท่านจะว่าไง?^^)

    ปล๒.ชมเยอะๆ ดีกว่าเจ้าค่ะ ข้าเจ้าจะได้แรงดีไม่มีตก please..!

    ตอบลบ
  10. ทำไมจึงไม่อยากเจอเสียเล่าขะรับ นั่นจะนับเป็นวันที่สหายต่ำต้อยของท่านโผล่กบาลออกจากกะลาโกโลโกโส แหย่ย่างเข้าในบรรณพิภพ ก้าวแรกที่จะย่ำเดินไปบนถนนนักเขียนเทียวนะ ท่านไม่คิดมาส่งรึ!

    ได้ไง..ได้ไง..

    แต่ไม่เป็นไรดอกขะรับ ท่านคงมีเหตุผลของท่าน มีท่านแวะชวนพูดชวนคุยช่วยข้าพเจ้าผ่านคืนวันขีดเขียนที่ไม่เปลี่ยวเหงานับว่ายากแทนคุณ

    โลกประจำวันต่างหากคือโลกที่แท้ ส่วนกาละจำเพาะเป็นแค่ช่วงพัก ไม่ต่างวันหยุดเทศกาลที่นาน ๆ ผ่านมาที หาได้มีอิทธิพลต่อชีวิตเท่ากิจประจำวันไม่

    มีท่านอยู่ในชีวิตประจำวันประจำสัปดาห์ นับเป็นที่ปรีดาปราโมทย์แล้ว

    คารวะ

    ตอบลบ
  11. ทำไมข้าเจ้าต้องไปส่งท่าน?
    ก็ที่ผ่านมาเราเดินมาด้วยกัน แล้วเราก็จะเดินไปด้วยกันเรื่อยๆ ไม่ใช่หรือ? ท่านอาจก้าวเร็วล้ำหน้าข้าเจ้าไปนิด แต่ข้าเจ้าก็ยังตามหลังท่านอยู่ ไม่มีใครจะแยกทางไปไหนเสียหน่อย แล้วจักต้องไปส่งกันทำไม?

    หากท่านต้องการกำลังใจ นั่นสิอีกเรื่อง

    แต่ตอนนี้ข้าเจ้าขอสมัครเป็นทัพหลังก่อนเจ้าค่ะ ไม่รู้ว่าท่านมีกำลังทัพหน้าพร้อมแค่ไหน แต่หากทัพหน้าอ่อนกำลังเรียกทัพหลังได้ทุกเวลา ^^(ถ้าทัพหลังว่างอ่ะนะ)

    คารวะ

    ตอบลบ
  12. !!!สวัสดิ์ครับพี่ท่าน

    ซำหม้อ โอ้วว...

    ไม่เห็นแจ้งข่าวดีกันบ้างเลยพี่ท่าน

    วันที่ 1 ใช่ไหม ไม่พลาดแน่นอลล์


    ด้วยความเคารพ

    คั่นฯ

    ตอบลบ
  13. อ่อ ว่าแต่ที่ไหนพี่ท่าน รบกวนแจ้งตำแหน่งพิกัดด้วยนา จะได้สอบถามเส้นทางแต่เนิ่น ๆ



    คั่นฯ

    ตอบลบ
  14. แหกขี้ตาแต่ก่อนสางอีกแล้วสวัสดิ์ขอรับท่านสายท่านคั่น

    เอ่อ..นะ..จริงของทั่น
    เราเดินมาด้วยกัน
    เรายังไปด้วยกัลล์
    ..
    ..
    ไม่ต้องส่ง..ไม่ต้องส่ง..

    เป็นว่าวันที่ ๑ เม.ย.ที่งานหนังสือศูนย์ประชุมฯ Meeting Room 3 เวลา ๑๑.๐๐ - ๑๒.๓๐ น.(โดยประมาณ)ซำหม้อมันจะนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋ออยู่ที่นั่น หากพอจะว่างใจว่างเวลา เชิญปะหน้าสักครานะขะรับท่านสายทั่นคั่น

    คารวะ

    ตอบลบ