กำนัลใดเลยมีค่าต่อแม่พลับพลึงเมียกำนันซำหม้อแห่งโคกบัวบกมากไปกว่าสายสะพายสักเส้น เช่นเดียวกัลล์ ของขวัญใดเลยควรค่าแก่แม่สายสหายนักหัดเขียน (ผู้มีอนาคตไกล) มากไปกว่าความเรียงดี ๆ สักบท อันจักใช้เป็นเครื่องสำเริงใจ แทนความระลึกถึงอันสหายน้อยผู้นี้มีอยู่เต็มเปี่ยมในไหไมตรี
เป็นที่แน่(ล่ะ) ย่อมไม่ใช่อัปลักษณ์ความอันผู้น้อยแถกขึ้นมาเอง แต่เป็นของท่านผู้เลิศแล้วในทางขีดเขียน หากอดรนทนไม่ได้ ใคร่รู้เต็มประดาว่าเป็นผู้ใด รบกวนเลื่อนเคอร์เซ่อร์ลงไปด้านล่างได้บัดเดี๋ยวนี้
แต่หากสามารถอดเปรี้ยวไว้รับทานหวาน เชิญท่านทัศนา..
คำนำจากผู้เขียน
อยู่ ๆ ผมก็นึกถึงต้นกล้วยและเชือกกล้วยพวกนั้นขึ้นมาเสียอย่างนั้น สามสิบกว่าปีก่อนโน้น พวกเชือกพลาสติกหรือเชือกไนล่อนนี่หาไม่ได้ง่าย ๆ หรอกครับ ยิ่งตามบ้านนอกคอกนาด้วยแล้ว เชือกกล้วยถือเป็นเชือกประจำครัวเรือนอย่างแท้จริง มัดได้ตั้งแต่ห่อก๋วยเตี๋ยวเล็ก ๆ จนถึงเสาเรือน
สมัยที่ผมวิ่งเล่นอยู่แถวตลาดหนองมน ลังขวดน้ำปลาที่ถูกมัดด้วยเชือกกล้วย หรือพวกข้าวต้มมัดที่ถูกมัดด้วยเชือกกล้วยล้วนเป็นภาพคุ้นตา จะเรียกว่าตลอดชีวิตวัยเด็กก่อนเข้าโรงเรียน ผมรู้จักเชือกอยู่ชนิดเดียวก็คงไม่เกินไปนัก ผมเพิ่งมาเห็นเชือกมะนิลาครั้งแรกก็ตอนมีเวรไปชักธงชาตินั่นแหละครับ
เชือกกล้วยเป็นเชือกที่แปลก หากจะตัดให้ขาดด้วยมีดก็สามารถทำได้ง่ายเหมือนตัดกระดาษ แต่เวลาดึงหัวดึงท้ายจะให้มันขาดคามือสิครับ มันเหนียวอย่างไม่น่าเชื่อ เด็กข้างละสิบคนชักเย่อกันด้วยเชือกกล้วยผมก็เคยเห็นมาแล้ว ยิ่งเวลาที่เอาเชือกกล้วยสี่ห้าเส้นมาฟั่นเป็นเส้นใหญ่นี่ยิ่งเหนียวเลยครับ ผมเห็นเขาใช้มัดข้าวของบนเกวียนหรือมัดท้ายกระบะรถแน่นหนาอย่าบอกใคร วิ่งขึ้นหนือล่องใต้กี่ทีก็ไม่มีขาด
เชือกกล้วยเป็นเชือกที่ทำได้ง่าย แค่ฉีกลำต้นออกเป็นเส้น ๆ แล้วเอามาตากแดดให้แห้งก็ใช้ได้แล้ว เจ๊กขายหมูในตลาดเคยบอกเทคนิคที่จะทำให้เชือกกล้วยเหนียวขึ้นและใช้ได้นานขึ้น โดยให้เอาน้ำมันหมูชโลมเส้นเชือกพอชุ่ม ๆ ก่อนนำไปใช้ จริงเท็จอย่างไรยังไม่มีใครพิสูจน์ แต่น้ำมันหมูร้านเจ๊กขายดีขึ้นนั่นพิสูจน์ได้ด้วยตา
แล้วผมก็นึกถึงภาพต้นกล้วยกับเชือกกล้วย
ตรงด้านหลังของโรงเรียนแสนสุขศึกษา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าโรงเรียนทิดหลอง มีดงกล้วยอยู่ดงหนึ่งทีเจ้าของเขาปลูกไว้ใกล้ ๆ รั้วโรงเรียน กล้วยสารพัดชนิดขึ้นเบียดเสียดเต็มไปหมด แต่ถึงจะเบียดอย่างไรก็ไม่มีครูหรือนักเรียนคนไหนกล้าไปตัดให้มันโปร่งตา เพราะทั้งครูและนักเรียนต่างก็รู้ดีว่าทิดหลองเจ้าของโรงเรียนแกหวงต้นไม้ของแกยังกับอะไรดี
วันดีคืนดีพวกนักเรียนอย่างผมก็จะได้ยินข่าวทิดหลองจับหัวขโมยที่มาขโมยต้นกล้วยของแก เด็กวัดหลายคนถูกแกส่งไปให้เจ้าอาวาสลงโทษ บางทีก็ได้ยินว่าทิดหลองแกตีเด็กขี้ขโมยนั่นเสียเอง
หน้าฝนปีนี้ลมค่อนข้างแรงกว่าทุกปี ต้นไม้ต้นไร่ของทิดหลองที่อยู่ในกระถางถูกย้ายเข้ามาไว้ตามทางเดินใต้หลังคาเป็นสัปดาห์ ๆ ผมยังจำได้เลยว่าเคยเดินไปเฉี่ยวไม้กระถางของแกหักไปกิ่งหนึ่ง ครูประจำชั้นต้องรีบวิ่งมาดูว่ามันหักทั้งต้นหรือหักแค่กิ่ง แล้วก็รีบยกกระถางเข้าไปซ่อนไว้ลึก ๆ ไม่ให้ทิดหลองเห็น
ลมฝนปีนั้นพัดเอาดงกล้วยของทิดหลองโงนเงนไปมาจนน่ากลัว
เย็นวันหนึ่งขณะทีผมกำลังเรียงเถาปิ่นโตของตัวเองอยู่ สายตาที่มองผ่านเลยไปทางหลังโรงเรียน ทำให้ผมมองเห็นเงาตะคุ่ม ๆ ของผู้ชายคนหนึ่งกำลังตัดต้นกล้วยของทิดหลองอยู่ ผมพยายามชะเง้อมองให้เห็นว่าเป็นใคร แต่ก็มองหน้าไม่ชัดเพราะหัวตัวเองยังสูงไม่พ้นต้นไม้แถบนั้น ผมจึงไปเอาเก้าอี้มาต่อขายืนขึ้นไป ในใจก็คิดว่าใครหนอกล้ามาลองดีกับทิดหลอง
คราวนี้เห็นชัดเลยครับว่าต้อนกล้วยดงนั้นถูกตัดไปแล้วเกือบสิบต้น และคนตัดต้นกล้วยก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ทิดหลองนั่นเอง
จำได้ว่าตอนนั้นรู้สึกทั้งตกใจและแปลกใจ คนที่รักต้นไม้อย่างทิดหลองจะมาตัดต้นไม้ของตัวเองทำไม แล้วก็ไม่ใช่เป็นแค่การตัดกิ่งตัดก้านเสียด้วย เห็นกับตาเลยครับว่าต้นกล้วยถูกตัดที่โคนต้น
หลังจากวันนั้นสองสามวัน ผมก็เห็นทิดหลองหอบเชือกกล้วยหอบใหญ่เดินผ่านหน้าไป ผมจึงวิ่งตามแกไปทางหลังโรงเรียน แล้วก็ได้เห็นแกเอาเชือกกล้วยพวกนั้นผูกต่อเป็นเส้นยาว มัดต้นกล้วยต้นที่โงนเงนอยู่เข้าเป็นกลุ่มเป็นก้อนเดียวกัน ต้นไหนที่ขึ้นอยู่ห่างออกไปหน่อย แกก็เอาเชือกกล้วยมัดโยงเข้ากับกลุ่มใหญ่ ๆ
แล้วก็ผูกโยงต่อมามัดกับเสารั้วและเสาโรงเรียนอีกที แกผูกเชือกโยงไปมาจนมองดูเผิน ๆ เหมือนกับว่าดงกล้วยดงนั้นขึ้นอยู่ท่ามกลางใยแมงมุม
หน้าฝนปีนั้นผ่านไป ดงกล้วยของทิดหลองก็อยู่รอดปลอดภัยดี ไม่มีล้มไม่มีโค่น
อยู่ ๆ ก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาครับ และก็ดันมานึกถึงตอนจะตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้พอดี
ประภาส ชลศรานนท์
สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
หากคิดจะให้ 'ความเรียงน่ากราบ' นี้เป็นบทความที่ดี ข้าพเจ้าสมควรหุบปาก(บอน)เสีย แล้วปล่อยให้ท่านสายที่เคารพรักนำไปขบคิด ว่า 'มันน่ากราบอิตรงไหน(หว่า)?' แต่บทความนี้ซักกาบ๊วยเสียแต่ต้นแล้ว เพราะความที่อาศัยความเรียงสวย ๆ ที่จัดแล้วว่าเป็นเลิศมาสอดไส้ ใช้อัปลักษณ์อักขระตนปิดหัวท้าย นับว่าทำมาหากินมักง่ายเอาการ (ถึงจะบอกเครดิตก็เถอะ)
อย่ากระนั้นเลย รักษารสซังกาบ๊วยต่อไป ถือเสียว่าอากาศร้อน ๆ ดื่มน้ำบ๊วยเย็น ๆ สักแก้วนะทั่นนะ
ตามธรรมมะเนียม ต้องเรียนก่อนว่า 'เป็นความคิดเห็นเฉพาะตน' ไม่มีถูกผิด ประสงค์แลกเปลี่ยนหวังจุดประกายแง่คิดมุมมองเท่านั้น
อีกประการ
พิเคราะห์เป็นการมองย้อนหลังเพื่อการศึกษา มิใช่เพื่อนำไปปฎิบัติ จึงหวังเพียงพยักหน้าหงึกหรือส่ายศีรษะเดาะแดะเป็นพอ ครั้นยามลงมือเขียนเรายังคงใช้ความคล่องตัวเฉพาะตนร่ายประเลงลายอักขระของตนออกมา
ตามนี้!
๑ เปิดและปิดลงตัว
เปิด : 'อยู่ ๆ ผมก็นึกถึงต้นกล้วย..'
ปิด : 'อยู่ ๆ ก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาครับ..'
เหมือนปิดฝาไหอย่างไรอย่างนั้น เปิดฝาขึ้นมาให้ภาพล่องลอย กลิ่นโชย แล้วปิด ปัง! ทิ้งให้ภาพและกลิ่นติดตาติดจมูก ปล่อยให้เราทายว่าในไหนั่นมันอะไร?
๒ เดินเรื่องต่อเนื่อง
เปิด (อยู่ ๆ..) เกริ่น (สามสิบกว่าปีก่อน..) เข้าเรื่อง (แล้วผมก็นึกถึงภาพต้นกล้วยกับเชือกกล้วย..) ไคลแม็กซ์ (หลังจากวันนั้นสองสามวัน..) ปิด (อยู่ ๆ..)
๓ เทคนิคการเล่าเหนือชั้น
เมื่อเกริ่นว่ามีคนชอบขโมยตัดกล้วยของทิดหลอง จึงตามด้วย 'เย็นวันหนึ่ง..เห็นเงาตะคุ่มของชายคนหนึ่งกำลังตัดกล้วยของทิดหลอง..' รองรับบทเกริ่นชวนคนอ่านอยากรู้ต่อว่าเป็นใคร แล้วค่อยเฉลย จากนั้นตัดเข้าไฮไลท์ การใช้เชือกกล้วยมัดต้นกล้วย
หากไม่มีตอนเงาตะคุ่ม บทเกริ่นจะเลื่อนลอยทำลายคุณค่างานทันที (จำเรื่อง 'นอนขี้เซาได้ไหม?')
๔ ใช้อุปมาอุปไมยในจังหวะที่เหมาะสม
'..ดูเผิน ๆ เหมือนกับว่าดงกล้วยดงนั้นขึ้นอยู่ท่ามกลางใยแมงมุม'
เพราะประโยคนี้ ภาพเชือกกล้วยมัดต้นกล้วยประทับลงในใจผู้อ่าน
๕ เสนอมุมคิดมุมมอง
ข้าพเจ้าไม่กล่าวว่า 'ให้แง่คิดใหม่ ๆ กับผู้อ่าน' เพราะคำกล่าวเช่นนี้อาจทำให้ผู้เขียนเผลอหลงตน เพาะอัตตาเป็นดินพอกหางหมูไปเสีย
ความเรียงที่ดีพึงมองชีวิตมองสังคมแล้วสะท้อนมุมคิดมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นใหม่-เก่า-ดี-เลว ผู้อ่านย่อมตัดสินได้เอง หากผู้อ่านเคยผ่านวุฒิภาวะตรงนั้นมาแล้วอาจรู้สึกเฉย ๆ แต่หากยังก็อาจเกิดความรู้สึกชื่นชมว่าให้แง่คิดใหม่ ๆ แก่เขา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผู้เขียนพึงนำมาใส่ใจเลย
๖ ไม่เทศนา
ความเป็นยอด(น่ากราบ)ของความเรียงชิ้นนี้คือ สร้างคำถามขึ้นในใจผู้อ่าน ปล่อยให้ขบคิดหาคำตอบเอง
ก่อนปิดผู้เขียนส่งบทสรุปว่า..'หน้าฝนปีนั้นผ่านไป ดงกล้วยของทิดหลองก็อยู่รอดปลอดภัยดี ไม่มีล้มไม่มีโค่น..'
หากผู้เขียนกล่าวต่อว่า..'เพราะเชือกกล้วยที่เป็นเศษชิ้นส่วนบอบบางของต้นกล้วยช่วยพยุงกันและกัน จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นส่วนเล็ก ๆ ในสังคม แต่หากเราร่วมมือร่วมแรงใจกัน สังคมก็อยู่รอดปลอดภัย' เพิ่มอีกสักสองบรรทัดตอนจบ ที่ทำดีมาทั้งบทความเป็นอันย่อยยับป่นปี้
ไม่ใช่เพราะข้อสรุปนี้ใช้ไม่ได้ แต่ทราบอย่างไรว่ามีเพียงข้อสรุปเดียว ผู้อ่านต่างวุฒิภาวะยังอาจตีความไปได้มากมาย อีกประการ การบอกออกไปไม่ต่างป้ายรอยสีบนผิวกระเบื้อง แต่การปล่อยให้ผู้อ่านคิดเอง สิ่งที่ต้องการบอกจะฝังลงในเนื้อใจ ไม่ต่างอณูสีที่ซึมเยื่อกระดาษ ติดแน่นทนนาน (จำเรื่องสีได้ไหม?)
แต่ก็ใช่ว่าความเรียงที่ปิดด้วย 'นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..' จะเป็นความเรียงที่เลวนะขอรับ ทั้งการปิดแบบปล่อยให้คิดและแบบคิดให้เสร็จสรรพ เป็นเทคนิคการปิดที่ยังคงใช้ได้เสมอ เพียงรู้ใช้ให้ถูกที่ถูกทาง สื่อสารให้ตรงกลุ่มผู้อ่าน
ความเรียงที่เลวก็คือความเรียงที่อยู่ผิดที่ผิดทาง (ท่านคงมองออก 'นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..' เหมาะกับผู้อ่านวัยใด)
๘ การจัดย่อหน้า
ย่อหน้าจะเป็นเครื่องคั่นอารมณ์ผู้อ่าน ย่อหน้าที่ยาวจะชวนให้จมในอารมณ์เรื่อง แต่ก็อาจคล้ายแม่เฒ่าหย่อนยาน ย่อหน้าสั้น ๆ ให้ความรู้สึกกะฉับกระเฉง ชวนติดตาม แต่หากมีแต่ย่อหน้าสั้น ๆ ก็คงไม่ต่างไล่จับเจ้าเด็กซน
ขอท่านย้อนกลับดูการจัดย่อหน้า (ซึ่งก็คือจังหวะการเล่า) อีกที จะพบว่า สั้นก่อน แล้วค่อยยาวขึ้น แล้วเบรคสั้น เข้าเรื่อง ในส่วนเนื้อหาเป็นย่อหน้ายาว แล้วค่อยตัดสั้นเมื่อสรุปและปิด
นั่นคือจังหวะเล่าที่เหนือชั้น
คำนิยมชักจะยาวกว่าตัวเนื้อหาเสียแล้ว แต่ก็เป็นการดีที่จะกล่าวว่า..ความเรียงที่ดีไม่จำเป็นต้องยาวเลย ต่อให้เปิดเกริ่นนำและสรุปปิด สอดรับกันดีเพียงไร แต่หากเนื้อหาสอดไส้ยืดยาวเยิ่นเย้ออ้อมโลก หวังเพิ่มจำนวนอักษรให้เต็มโควต้ากระดาษ(อย่างพวกเขียนคอลัมน์(บางคน)ทำมาหากินทุกวันนี้) ก็ไม่อาจนับเป็นความเรียงที่ดีไปได้ ตัวอย่างความเรียงพวกนี้มีให้ดูทั่วไป ไม่ต้องมองหาไกล ก็ในขนำสหายน้อยของท่านนี่แลขะรับ ตรึม!
ส่วน 'เชือกกล้วยมัดต้นกล้วย' นี่ ขอท่านวนดูอีกสักรอบ เพื่อประทับรอยลงแม่แบบทักษะขีดเขียน อันจักส่งผลให้สหายที่เคารพรักของข้าพเจ้าสื่อความเรียงได้อย่างหมดใจ เขียนจบเป็นพยักหน้าหงึก สมดังเจตนารมณ์ในงานชิ้นต่อ ๆ ไป ตลอดกาลนาน..เทอญ
คารวะ
สวัสดีเจ้าค่ะท่านดินที่เคารพ
ตอบลบนั่งอ่านคำตอบจากท่านแล้วข้าเจ้าได้แต่นั่งยิ้มกริ่ม จะยิ้มด้วยเหตุอันใดก็หารู้ได้ คงเป็นทุกครั้งกระมังที่ริมฝีปากข้าเจ้าคลี่ขยายเมื่อนั่งละเมียดอ่านถ้อยความจากท่าน หากถามว่าจะมีสักครั้งไหมที่มิได้มีอาการแบบนี้ก็คงตอบมิได้ แต่เท่าที่นึกดูยังนึกไม่ออก!
เมื่อตอนที่นั่งคีย์ป๊อกๆถามท่านถึงจำนวนคนที่ไปในวันที่ ๑ ยังคิดอยู่ว่าหากมีสักสองสามคนและเป็นคนที่ข้าเจ้าพอคุ้นเคยอย่างท่านอานันท์ ท่านคั่นฯ ข้าเจ้าคงไปร่วมลุ้นกับท่านด้วย ได้ฟังคำตอบจากท่านอย่างนี้ก็ค่อยเบาใจ ข้าเจ้าระลึกอยู่เสมอสหายมากมายร้อยพันไหนเลยจะเทียบเท่าสหายสนิทชิดเชื้อผู้รู้ใจเพียงสักคนได้(เนอะ) เป็นอันว่าข้าเจ้านั่งส่งใจอยู่ที่ห้อง 510 นะเจ้าคะ(ฮา)
เอ...หรือจะแอบย่องไปส่องดี ฮ่าๆ
ต้องกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงเจ้าค่ะที่หาความเรียงดีๆ มาเปิดหูเปิดตาลูกเขียดในกะลา ข้าเจ้ายังไม่เคยยลงานเขียนของท่านประภาสเลยแม้นิดเดียว ครั้งหนึ่งเคยหยิบยืมหนังสือรวมบทความคุยกับประภาส(ไม่แน่ใจว่าเล่มไหน) จากคนรู้จักติดมือกลับห้อง เอาไปดองไว้เกือบสองเดือนสุดท้ายหอบกลับไปคืนเจ้าของโดยไม่ได้เปิดอ่านสักหน้า(เพราะหากยึดไว้นานกว่านั้นชักเกรงจาย..)
ทั้งๆ ที่รู้ยังมีหนังสือดีๆอีกเยอะแยะที่รอให้เราอ่านและควรรีบอ่านเสียแต่ยังมีโอกาสแต่ก็ยังปล่อยผ่านเลยไปอย่างน่าเสียดาย พี่คนหนึ่งเคยแนะนำงานเขียนของท่านประภาส คะยั้นคะยอแล้วคะยั้นคะยออีกข้าเจ้าก็เพียงแค่ยิ้มรับและบอก "เอาไว้ก่อน" ทั่นหามาให้คราวนี้เปิดกะโหลกข้าเจ้าได้มากจริงๆ
แต่ความจริงหากข้าเจ้าอ่านงานของท่านประภาสเองก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก เพราะหาได้รู้จักพินิจพิเคราะห์อย่างที่ท่านแจกแจงให้เห็น เน้นอ่านเอาอรรถรสเพียงถ่ายเดียวละเลยข้อควรสังเกตศึกษาอย่างนักหัดเขียนทั้งหลายพึงกระทำ เป็นวิสัยที่ไม่ถูกต้องเอาเสียเลยแม้พยายามฝึกขนาดไหนก็ยังเข้าอิหรอบเดิมจนชักหน่ายใจ
แต่ยังไงก็ต้องฝึกกันต่อไป ฮึ่ม! ต่อไป...
OOO
เห็นย่อหน้าแรกในบทความท่านกล่าวถึง 'กำนันซำหม้อกับแม่พลับพลึง'
เอ ตกลงซำหม้อได้เป็นกำนันหรือเจ้าคะ แหม ยศใหญ่โตเชียวนะซำหม้อ ยังเห็นตัวดำคลุกโคลนตมอยู่แหม็บๆ เผลอแป๊บเดียวเป็นกำนันไปเสียแว้วววว
แล้วแม่พลับพลึงนี่โผล่มาไงละทั่น ยังไม่เคยได้ยินชื่อเลย(หรือข้าเจ้าจะละเลยไป?) แล้วแม่ศรีไพรละเจ้าคะทั่นเอาไปไว้เสียที่ไหน อุตส่าห์ลุ้นซำหม้อกับแม่ศรีไพรมาเสียนานดันมีม้ามืดแม่พลับพลึงโผล่มาซะงั้น
ชื่อเก๋ดีเจ้าค่ะ แม่พลับพลึง อือฮึ แม่พลับพลึง ต่อไปข้าเจ้าเปลี่ยนชื่อใหม่ดีไหมนี่เป็น 'น้องนางพลับพลึง' เออ..ไม่เลวแฮะ
เห็นชื่อแม่พลับพลึงแล้วให้นึกถึง 'พลับพลึง' ใน 'ก่อนอุษาสาง' รจนาโดยนักเขียนนามอุโฆษ 'พนมเทียน' ไม่แน่ใจท่านเคยอ่านป่าว?(จะอ่านแล้วหรือยังไม่ได้อ่านก็ขออนุญาตกล่าวถึงหน่อยนะเจ้าคะ)
ข้าเจ้าซื้อหนังสือเล่มนี้ในงานสัปดาห์หนังสือเมื่อประมาณสองสามปีที่แล้ว ตอนนั้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องศิวาราตรีทางอินเตอร์เน็ต เสิร์ชไปเจอเรื่องก่อนอุษาสางเข้าเห็นหน้าสนใจดี ตอนนี้ก็ชักลืมๆ เนื้อหาไปแล้วแต่กับแม่พลับพลึงนี่จำได้ดีเจียวค่ะ
ก่อนอุษาสางเป็นเรื่องเกี่ยวพันด้วยกิเลสตัญหาในจิตใจมนุษย์ และพลับพลึงเป็นหญิงสาวผู้รักษาความงามบริสุทธิ์ในหัวใจเอาไว้ได้อย่างหมดจด
ในเรื่องพลับพลึงมีอาชีพเป็นนักเขียนผู้รังสรรค์ผลงานออกมาด้วยจิตวิญญาณ เธอหาได้สนใจใยดีในชื่อเสียงเงินทองที่วางล่อตายวนใจ หาได้หลงระเริงในคำนิยมชมชื่นจากแฟนนักอ่านที่ติดตามผลงานของเธอ และหาได้หวั่นไหวไปในคำวิพากษ์วิจารณ์ชนิดสาดเสียเทเสียถึงผลงานของเธอจากนักวิจารณ์ทั้งหลาย
เธอมั่นคงอยู่ในจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ และเด็ดเดี่ยว จนในที่สุดผลงานของเธอก็พิสูจน์ตัวของมันเอง
แม้จะมีชื่อเสียงมากมายแต่พลับพลึงก็ยังคงเป็นหญิงสาวธรรมดาใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่ในบ้านหลังน้อยที่มีชื่อว่า 'กระท่อมพลับพลึง' อยู่กับธรรมชาติและมีงานเขียนออกมาเรื่อยๆ
อ่านแล้วน่าประทับใจเจียวค่ะ เคยอ่านไหม? น่าแปลกที่แม้เรื่องนี้พลับพลึงจะมิใช่ตัวละครหลัก หากแต่เป็นตัวละครที่โผล่มาเกือบจะท้ายๆ เรื่อง มีการกล่าวถึงเพียงไม่กี่ฉาก แต่ข้าเจ้ากลับจำแม่นางได้ดีที่สุด
:)
แล้วคุยกันใหม่เจ้าค่ะ
คารวะ
น้องนางพลับพลึง
ปล.เรื่องจดหมายที่คุยกับท่านสาม มิใช่เกี่ยวเนื่องด้วยคำทักถามที่ท่านสามทิ้งไว้ในกระทู้หรอกเจ้าค่ะ เผอิญวันก่อนข้าเจ้าเห็นมดชักแถวกันตรงดิ่งไปยังที่แห่งหนึ่ง ด้วยความสงสัยใคร่รู้เลยคลานต้อมเตี้ยมตามมดมันไปด้วย ที่ไหนได้มันพาข้าเจ้าเข้าไปในคอนโดไฮโซเปิดปากกะตูเข้าไปโผล้ะ เจอจดหมายรักหวานหยดมดสะดุ้งโหยงวางอ้าซ่าท้าทายสายตา ด้วยอารมณ์นึกสนุกเลยพิมพ์แซวกลับขำๆ นะเจ้าค่ะ
ส่วนเรื่องที่ท่านสามทักถามมานั้น ตั้งใจไว้ว่าจะตอบในกระทู้หน้า ขณะนี้เลยรับงานหนักนอกจากคิดตอนต่อของ 'ห้องพัก'แล้วยังต้องคิดหาคำตอบให้ท่านสามอีก แฮ่
ปล๒.เข้าไปในสำนักอย่าลืมแบกกล่องเครื่องมือไปด้วยนะเจ้าคะ วันนี้ได้งานหนักแน่!(เอาบทชมโฉมเจ้าแก้วกับแม่มะลิไปลงไว้แล้วเจ้าค่ะ)
ขอสารภาพอย่างตรงไปแล้วอ้อมกลับมาว่า พอตั้งใจจะขีดเขียนสักอย่างถึงเสด็จพี่ฯ ... น้องมีอันเป็นเกร็ง!
ตอบลบด้วยว่า เกรง, กลัว และ เกร็ง ต่างกันอยู่ไม่มากนัก แต่ก็มากพอจะสาธยายอธิบายความให้เสด็จพี่ทั่นฯ พิจารณาเสียหน่อย หวังว่าคงสร้างความสำราญหรือไม่อาจรำคาญคริกๆ - นั่นไง พี่ทั่นกิ๊กๆ กระดิกเท้าเสียแล้ว
คำว่า “เกรง” ผมมักใช้เมื่อในสถานการณ์อึดอัด เช่น เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องไหว้ต้องเคารพ หรือ ต้องอยู่ต่อหน้าลูกค้า ผู้มีอันจะด่าเราได้อย่างถูกต้องตามนโยบายบริษัท - Customer is not the king. They are the King’s (god) father!
“กลัว” ... ผมมักใช้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ”สิ่ง”ที่เราควบคุม(มัน)ไม่ได้ เช่น มะเร็ง ใจ(ตน) คนบ้า หมา ผี หรือสิ่งอื่นตามนิยามบ้าๆ ที่ว่าไว้นั่น
แต่ “เกร็ง” มันเป็นความรู้สึกตุ๊มๆ ต่อมๆ เต่งๆ เท้งๆ เก้งๆ กวางๆ หรือ ตุ่ยๆ ยุ่ยๆ กุ่ยๆ ... ไม่รู้สินะ มันไม่ชิลล์ๆ สบายๆ เหมือนตอนไม่เกร็ง
ดังนั้น ในเมื่อทั่นพี่ไม่ใช่ผู้หลักผู้ใหญ่ (ไม่ใช่เจ้านายจ่ายเงินเดือน) ให้ผมต้องไหว้ต้องโน่นนี่พินอบพิเทา แถมยังไม่ใช่คนบ้า “...” หรือ ผี ไฟนัลลี่ “เกร็ง แอนด์ ทั่นพี่” จึงตกอยู่ในคาติโกรี่เดียวกัน
...
กลับมาเข้าเรื่องเสียที เขียนมาทั้งหมดนี้ เพียงอยากบอกทั่นพี่ว่า สำหรับผม บทความของคุณประภาสนั้น อ่านแล้วได้สัมผัสในทางอื่นๆ นอกจากสายตา เช่นว่า อ่านแล้วได้กลิ่น อ่านแล้วน้ำลายสอ อ่านแล้วน้ำตารื้น อ่านแล้วเย็น อ่านแล้ว(ใจ)สงบ หรือ อ่านแล้วอึดอัดตามเนื้อเรื่อง ฯลฯ ส่วน อ่านแล้วอึดอัดเพราะอ่านไม่รู้เรื่องนั่น ต่างกัน
“ความเรียงที่ดี ไม่จำเป็นต้องยาว”
- จบ –
ขุนอรรถ