เนื้อหาจาก : มติชนออนไลน์
ภาพจาก : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สิ้นแล้ว ! "รงค์ วงษ์สวรรค์" ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ด้วยวัย 77 ปี เจ้าของตำนานภาษา"เพรียวลม" (ที่ถูกน่าจะเป็น 'เพรียวนม' ธุลีดิน)

′รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ สิ้นลมอย่างสงบแล้ว ด้วยวัย 77 ปี หลังวูบหมดสติจากอาการเลือดออกบริเวณแกนกลางสมอง ครอบครัวตั้งศพบำเพ็ญกุศลวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ เผยเป็นนักเขียนชื่อดังเจ้าของภาษา"เพรียวลม" ที่มีผลงานมากมายนับ 100 เล่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.05 น. วันที่ 15 มีนาคม "รงค์ วงษ์สวรรค์"  ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ ด้วยอายุ 77 ปี หลัง จากเมื่อค่ำวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดอาการวูบหมดสติ ขณะพักอยู่ที่บ้านสวนทูนอิน ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ญาติจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลเทพปัญญา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยแพทย์ตรวจพบมีอาการเลือดออกบริเวณแกนกลางสมอง และต้องอยู่ในห้องไอซียูตลอดเวลา

นางสุมาลี ภรรยา แถลงว่า "คุณรงค์ได้จากเราไปแล้วอย่างสงบ ต้องขอขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง และจะใช้วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นสถานที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศล"

นายวงค์ดำเลิง วงษ์สวรรค์ บุตรชายแถลงว่า จะมี พิธี รดน้ำศพเวลา 16.00 น. วันที่ 16 มีนาคม สวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 7 วัน และเก็บไว้ 100 วัน ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเผาหรือฝังไว้ที่บ้านสวนทูนอิน เพราะต้องการรักษาบ้านไว้ให้เหมือนช่วงที่พ่อยังอยู่ ส่วนการขอพระราชทานเพลิงนั้น ยังไม่ทราบขั้นตอน แต่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติคงดำเนินการให้ในฐานะศิลปินแห่งชาติ

"เราหารือกันว่างานบำเพ็ญกุศลศพ ขอให้ทุกท่านงดพวงหรีดแต่ขอเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วย โรคไตแก่ผู้ยากไร้และขาดทุนทรัพย์ หรือนำกล้าไม้-พันธุ์ไม้มาร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ สร้างความเขียวให้กับเมืองเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมปณิธาน "รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นครั้งสุดท้าย" นายวงค์ดำเลิงกล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 13.00 น. นพ.นพพร นิวัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลเทพปัญญา  แถลงว่า รงค์ วงษ์สวรรค์ มีอาการอยู่ในขั้นวิกฤต ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เมื่อเวลา 12.15 น.ผู้ป่วยมีอาการหัวใจหยุดเต้นเป็นครั้งที่ 3 แพทย์ปั้มหัวใจราว 5 นาที หัวใจจึกลับมาเต้นอีกครั้ง เมื่อใจกลางสมองไม่สั่งการ ทำให้ไม่รู้สึกตัวเช่นเดิม ต้องให้ยากระตุ้นหัวใจเพื่อรักษาอาการ

"ยอมรับว่าอาการอยู่ในขั้นวิกฤตมาก แม้การตอบสนองจะค่อนข้างเร็วเมื่อปั้มหัวใจคืนมา แต่ระบบต่างๆ ของร่างกายไม่ดี เนื่องจากเดิมผู้ป่วยมีอาการของโรคไตอยู่แล้ว เมื่อสมองแกนกลางมีเลือดออกวันที่ 2 สมองจะบวมมาก อาการจึงหนักขึ้น"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันมีเพื่อนๆและญาติ รวมทั้งศิลปินแห่งชาติที่ทราบข่าว เดินทางเข้าเยี่ยมอาการอย่างต่อเนื่อง โดยทางโรงพยาบาลเทพปัญญาจัดสมุดเซ็นเยี่ยมไว้ให้ลงนาม

"รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นนามปากกาที่ย่อมาจากชื่อจริงคือ ณรงค์ วงษ์สวรรค์ เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดชัยนาท  สมรสกับ สุมาลี ตระการไทย มีบุตรสองคนคือ วงศ์ดำเริง กับ สเริงรงค์  รงค์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมาย เช่น เป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์  เป็นเจ้าของผลงานเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทภาพยนตร์ โดยเอกลักษณ์ของงานเขียน คือ การใช้ภาษา "เพรียวลม" คือใช้คำยุคเก่าแต่สื่อถึงเรื่องราวที่ทันสมัย จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2538"

ในวัยเด็ก เข้าเรียน ชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนโพธารามวัฒนาเสนี ก่อนเข้ามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ รุ่นลมหวน ซึ่งมีเพื่อนร่วมรุ่น อาทิ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, พล.อ.วันชัย เรืองตระกูล และนายทวี ชูทรัพย์  เป็นต้น  ต่อมาเข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแต่ถูกให้ออก เพราะทะเลาะกับครู  ผ่านชีวิตมามากพอจึงมีวัตถุดิบสำหรับงานประพันธ์มากมาย  เริ่มเขียนหนังสือลงจุลสารของโรงเรียนเตรียมอุดม

เมื่อออกจากโรงเรียนเขาเคยเป็นนายท้ายเรือโยงจาก อ.บางบัวทอง นนทบุรี ไปสุพรรณบุรี เคยขึ้นไป อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นคนคุมปางไม้ เมื่อกลับกรุงเทพฯได้แสดงภาพยนตร์ในบทพระรองในเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย  จากบทประพันธ์ของ เรียมเอง และเป็นนายแบบของนิตยสารจึงรู้จัก ม.ล.ต้อย ชุมสาย ศิลปินทางการถ่ายภาพ ได้เรียนการถ่ายภาพจากม.ล.ต้อยที่พาไปรู้จักคนในวงหนังสือพิมพ์ กระทั่งได้เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในปีพ.ศ.2497  จากนั้นเริ่มเขียนคอลัมน์ "รำพึง-รำพัน" ด้วยนามปากกา "ลำพู" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ทำให้ชื่อเสียงเริ่มรู้จัก

ผลงานเขียน ของ รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่จัดพิมพ์รวมเล่มมีประมาณ 100 เล่ม ปี 2528  สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จึงประกาศเกียรติคุณว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนเรื่องสั้นดีเด่นของไทย ในวาระครบรอบ 100 ปีเรื่องสั้นไทย พร้อมกับพิมพ์เรื่อง "แจ้ง ใบตอง ผู้ยิ่งยงแห่งสวนกล้วย" อันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง เสเพลบอยชาวไร่  ต่อมาคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติประกาศให้ รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538

ผลงานรวมเล่ม ที่มีชื่อ เสียงนอกจาก เสเพลบอยชาวไร่ แล้ว ยังมีอีกหลายเล่ม อาทิ สารคดีไฉไลคลาสสิค เถ้าอารมณ์  สนิมสร้อย  สนิมกรุงเทพฯ ปีนตลิ่ง คืนรัก ผู้ดีน้ำครำ ใต้ถุนป่าคอนกรีต เป็นต้น  ซึ่งล้วนได้รับความชื่นชมเป็นที่กล่าวขวัญ  โดยนวนิยายเรื่อง นาฑีสุดท้ายทับทิมดง สำนักพิมพ์มติชนรวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกในปี 2546  หลังจากตีพิมพ์เป็นตอนรายสัปดาห์ในนิตยสารจักรวาลรายสัปดาห์ พ.ศ. 2515 -2516

ก่อนเสียชีวิต รงค์ วงษ์สวรรค์ ยังคงเขียนสารคดีในแนวที่ถนัดลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น