หลักการเขียนสารคดี : สารคดีออนไลน์
โดย อรสม สุทธิสาคร

สารคดีเป็นวรรณกรรมชนิดหนึ่ง หากต่างจากวรรณกรรมอื่นที่เป็นเรื่องแต่ง (เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น หรือบทกวี) ตรงที่สารคดีเป็นวรรณกรรมที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ดังนั้น คุณค่าของสารคดีจึงเป็นงานที่สะท้อนสัจจะความเป็นจริง ให้ทั้งสาระความรู้ และรสของวรรณกรรม มิใช่เป็นงานที่สร้างจากจินตนาการที่อาจอ่านเพื่อความเริงรมย์ เพียงประการเดียว

“ข้อเท็จจริง” เหล่านี้ ทำให้คนเขียนสารคดีไม่สามารถนั่งทำงานอยู่ตามลำพังในห้องหับกับจินตนาการ ความฝันของตนเองได้ แต่ต้องก้าวออกไปหาข้อมูลจากภายนอก งานข้อมูลจึงถือเป็นหัวใจหลักของการทำงานสารคดี

หากจะเริ่มต้นเขียนสารคดีสักเรื่องหนึ่ง ควรเริ่มต้นอย่างไร ?

พื้นฐานแรกของการเขียนหนังสือที่ดี คือการเป็นนักอ่าน การอ่านเป็นพื้นฐานของการเขียน ทำให้เราได้รู้วิธีการเรียบเรียงความคิด ได้คลังคำ ได้ความรู้ นอกจากมีความรักในการอ่านแล้ว หากจะเริ่มต้นลงมือเขียน ควรเลือกเรื่องที่เราสนใจ หรืออาจเป็นเรื่องที่เราคุ้นชิน หรือเรื่องใกล้ตัว เพราะการเลือกเรื่องที่เราสนใจ ทำให้เรามีความบันดาลใจหรือแรงขับดันในการทำงาน ซึ่งมีผลให้เราทำงานด้วยความสนุก หรือการเลือกเรื่องใกล้ตัวที่เราพอคุ้นชิน ทำให้เราเริ่มต้นหาข้อมูลไม่ยากจนเกินไป

กฎของการเริ่มต้นมีว่า ให้ทำอะไรง่าย ๆ ไปก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อน จะได้ไม่ท้อ เมื่อเราสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ เก่งกล้าขึ้นแล้ว ค่อยปล่อยวิญญาณความท้าทายโจทย์ยาก ๆ ให้เต็มที่ได้

เราจะหาข้อมูลได้อย่างไร ?

โดยหลัก ๆ ข้อมูลอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือข้อมูลเอกสาร และข้อมูลบุคคล

ก่อนออกไปเก็บข้อมูลจากภาคสนาม หรือภายนอก เราควรค้นคว้า หาข้อมูลเอกสารไว้ก่อน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน เป็นการเตรียมความรู้ ความพร้อมของตนก่อนไปพบข้อมูลบุคคล

จากข้อมูลเอกสารที่มีอยู่ อาจทำให้เราได้รู้ว่ามีข้อมูลบุคคลท่านใดที่น่าสนใจที่เราจะไปพบได้ด้วย

ข้อมูลเอกสารนั้นอาจพอค้นคว้าหาได้จากห้องสมุด จากหนังสือพิมพ์ พ็อคเก็ตบุ๊ค หนังสือเก่า หอจดมหายเหตุ เป็นต้น แต่การไปพบแหล่งข้อมูลบุคคลนั้น ต้องอาศัยเทคนิคในการทำงานเก็บข้อมูลไม่น้อย

เคยมีผู้ถามผู้เขียนว่ามีเคล็ดลับอย่างไรในการสัมภาษณ์แหล่งข้อมูล เคล็ดลับของผูเขียนมีอยู่ว่าทำให้แหล่งข้อมูลรู้สึกว่าเขาไม่ได้ให้สัมภาษณ์เรา ซึ่งเป็นคนแปลกหน้าอยู่ แต่กำลังพูดคุยอยู่กับใครสักคนซึ่งเป็นคนที่เขารู้จักคุ้นเคย เป็นเพื่อนหรือญาติมิตรของเขา การที่เขาไว้วางใจเรา เขาจะไม่รู้สึกเกร็ง แต่จะพูดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ธรรมดา ทำให้เราได้ข้อมูลอย่างที่เป็นจริง และลุ่มลึกกว่า

งานเขียนสารคดีที่ดีต้องมีข้อมูลที่รอบด้านและลุ่มลึก จากข้อมูลที่รอบด้าน ลุ่มลึกนี้เอง ทำให้ผู้อ่านได้ข้อมูลใหม่ ๆ อันทำให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ในการมองชีวิตในประเด็นเรื่องนั้น ๆ

การจะมีข้อมูลที่รอบด้าน ลุ่มลึกได้ ต้องมาจากการขยันหาข้อมูล ลงพื้นที่จริงนับครั้งไม่ถ้วน พูดคุยกับผู้คนหลากหลายชีวิต

ข้อพึงระวังคืองานสารคดีต้องมีความเที่ยงธรรม มีความเป็นกลาง และไม่ตัดสินผู้คน คนเขียนสารคดีเพียงเสนอข้อมูลผ่านงานเขียน วิจารณญาณเป็นของผู้อ่าน ไม่ใช่ผู้เขียน

สิ่งใดที่เป็นคุณสมบัติของคนเขียนสารคดี ?

เนื่องจากงานเขียนสารคดีเป็นงานที่ต้องใช้วิทยายุทธหลายด้าน หากจะอนุมานได้ง่าย ๆ คือต้องมีทั้งความเป็นนักฝัน หรือนักจินตนาการ และความเป็นนักปฏิบัติอยู่ในตัว ดังนั้น คุณสมบัติของคนเขียนสารคดีที่ดี จึงอาจมีหลายประการ พอประมาณคล่าว ๆ ได้ดังนี้

1. เป็นคนที่ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษาอยู่ตลอดเวลา มีความสนใจใคร่รู้ กระตือรือร้น
2. เป็นคนละเอียดอ่อน ช่างสังเกต ช่างคิด
3. เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์
4. มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน เข้าไหนเข้าได้ ปรับตัวให้เข้ากับผู้คนและสภาพแวดล้อมได้ง่าย
5. มีพลัง ความตั้งใจจริง มีน้ำอดน้ำทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดง่าย ๆ
6. มีความยุติธรรม มีเมตตา รักในเพื่อนมนุษย์ มีใจที่เปิดกว้าง ไม่คับแคบและไม่ตัดสินคน

สู่กระบวนการ ขั้นตอนการเขียน

เมื่อได้ข้อมูลมาทั้งหมด ก็ถึงขั้นตอนการเรียบเรียง การเขียน ก่อนลงมือเขียน ให้อ่านทบทวนข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด เพื่อทำความเข้าใจแล้วย่อยข้อมูล แบ่งหมวดหมู่ หัวข้อ ว่าส่วนไหนควรอยู่กลุ่มไหน หากได้ข้อมูลมาจำนวนมาก ถ้าลงทั้งหมดก็จะกินเนื้อที่หน้ากระดาษ อาจจำเป็นต้องตัดข้อมูลบางส่วนทิ้งไปบ้าง โดยให้เลือกคงข้อมูลที่น่าสนใจกว่า หรือเป็นข้อมูลใหม่ไว้

การร้อยเรียงงานเขียนให้น่าสนใจ น่าอ่าน ย่อมมาจากการเรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบระเบียบก่อนจรดปากกา ดินสอ หรือกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์

เมื่อจะลงมือเขียน เราอาจแบ่งหัวข้อ หรือพล็อตเรื่องคร่าว ๆ ได้ดังนี้

1. การเปิดเรื่อง ผู้เขียนแต่ละคนอาจเลือกวิธีการเปิดเรื่องไม่เหมือนกัน เช่น บางคนเปิดเรื่องด้วยการเล่าเรื่องเป็นปมปริศนา เพื่อยั่วให้ผู้อ่านใคร่รู้ อยากติดตาม บางคนอาจเปิดเรื่องด้วยฉากอันเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่อง เป็นต้น ทั้งนี้ การเปิดเรื่องอาจเป็นไปได้หลากหลาย ไม่จำกัดว่าต้องเป็นแบบใดแบหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่มีหลักง่าย ๆ ว่าขอให้การเปิดเครื่องเป็นไปอย่างน่าสนใจ สามารถตรึงอารมณ์ความสนใจของผู้อ่าน ทำให้อยากติดตามอ่านงานต่อไป
2. เนื้อเรื่อง อาจแบ่งออกเป็นประเด็นหรือหัวข้อย่อย ๆ หลายหัวข้อ (ทั้งนี้ อาจขึ้นกับสโคปของเรื่อง ความสั้นยาวของเนื้อที่ ฯลฯ) เช่น สกู๊ปเรื่อง ข่มขืน อาจแบ่งหัวข้อย่อยเป็น
ก. เคสของผู้ถูกกระทำ 2-3 ราย
ข. เคสของผู้กระทำ 1-2 ราย
ค. ผลกระทบด้านต่าง ๆ อันเกิดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เช่น ผลกระทบด้านจิตใจ ด้านร่างกาย ด้านกฎหมาย
ง. หนทางป้องกัน แก้ไขปัญหานี้
ฯลฯ

3. การปิดเรื่อง หรือการทิ้งท้ายบทจบของเรื่อง อาจมีได้ต่างแบบต่างสไตล์ บางคนมีกลวิธีการเล่นแบบเอาบทเริ่มต้นมาเป็นบทจบบทเดียวกัน บางคนจบแบบขมวดปมไว้ให้คิด บางคนอาจจบด้วยฉากสวย ๆ ตราตรึงอารมณ์ ทำให้ใจผ่อนคลาย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สารคดีที่ดีก็คงเหมือนภาพยนตร์ดี ๆ สักเรื่อง คือเปิดมุมมองทางปัญญาให้กับผู้อ่าน คือจบแล้วเหมือนไม่จบ แต่มีข้อให้ขบให้คิดนั่นแล

ข้อคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับคนเริ่มต้น

งานสารคดีที่ดีไม่เพียงแต่มีข้อมูลที่ดี น่าสนใจเพียงประการเดียว หากงานเขียนสารคดียังถือเป็นวรรณกรรม ดังนั้น ด้วยพลังอำนาจของวรรณกรรม จึงต้องอ่านแล้วได้อรรถรส ได้อารมณ์ความรู้สึก ไม่แห้งแล้ง รกเรื้อด้วยข้อมูลที่ตายซาก เหมือนกระดูกที่เดินได้ การจะทำให้งานเขียนสารคดีมีชีวิต ผู้เขียนจึงต้องมีความละเอียดอ่อน ใช้ภาษาที่มีจินตนาการ สละสลวย ความช่างสังเกตพิจารณา เก็บซับบรรยากาศในขณะเก็บข้อมูล จะทำให้งานเขียนมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น

เช่น ขณะไปเก็บข้อมูลเรื่องการทำแท้งในคลินิกทำแท้งของแพทย์ปริญญารายหนึ่ง บนเตียงตรวจอายุครรภ์ในห้องแพทย์ ผู้เขียนเหลือบมองไปที่ฝาผนังห้อง เห็นภาพพระสยามเทวาทิราชสีทองสุกปลั่งอยู่บนหิ้งบูชา หากอยู่ในบ้านคนธรรมดาทั่วไปหรือในห้องพระ ก็คงเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ภาพอันขัดแย้งนี้ทำให้บรรยากาศในห้องดูมีเสน่ห์ น่าสนใจสำหรับคนอ่าน

หากเราไม่ใช้ความสังเกตหรือไม่มีความละเอียดอ่อนพอ เราก็จะเลยผ่านภาพนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

สารคดีจึงเป็นงานที่ทั้ง “อ่านเอาเรื่อง” (เพราะมาจากเรื่องจริง อ่านแล้วได้ความรู้) และ “อ่านเอารส” (เพราะเป็นงานวรรณกรรม)

จรรยาบรรณต่อแหล่งข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากคนที่ทำงานสารคดีไม่อาจทำงานตามลำพังตนได้ ต้องอาศัยแหล่งข้อมูลโดยตลอด แม้ว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับการกระทำของแหล่งข้อมูลเสมอไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น