: คนชายขอบ

จาก'นิธิ เอียวศรีวงศ์'ถึง'ไมเคิล ไรท์' น่าทึ่ง! สำหรับ'ฝรั่งคลั่งสยาม'รายนี้ : นสพ. ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 มกราคม 2552

เมื่อ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้สัมภาษณ์หลังการจากไปของ “ไมเคิล ไรท์” เพื่อนที่รู้จักกันมาร่วม 20 ปี ถกเถียงและสนทนาธรรมกันเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมไทย การใช้ภาษาไทย ความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของฝรั่งหัวใจไทยคนนี้ น่าทึ่ง! ไม่น้อย

บ่าย 4 โมงวันที่ 6 มกราคม หลังกองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจทราบข่าวการจากไปของ ไมเคิล ไรท ฝรั่งหัวใจไทย นักข่าวโทรศัพท์ไปแจ้งข่าว อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เชียงใหม่

หลังรับทราบ อาจารย์นิธิอึ้งไปพักใหญ่ ก่อนที่นักข่าวจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า พิธีอาบน้ำศพเวลา 16.30 น. วันที่ 8 มกราคม 2552 ณ ศาลา 3 วัดเสมียนนารี

…ผมจะไปกรุงเทพฯ…อาจารย์นิธิกล่าว

ต่อไปนี้ คือบทสนทนาล่าสุดของอาจารย์นิธิ กับ กรรณิกา เพชรแก้ว นักข่าวประชาชาติธุรกิจ ที่ จ.เชียงใหม่

“รู้จักกันมา 20 กว่าปี เขารู้จักสุจิตต์ (วงษ์เทศ) มาก่อนหน้า จะก่อนนานแค่ไหนไม่รู้ แต่ผมเจอเขาครั้งแรกก็ที่บ้านสุจิตต์ แล้วก็คุยกันถูกคอ”

- ในฐานะเพื่อน คุณไมค์เป็นอย่างไร ?

“สั้นๆ ง่ายๆ คือเป็นคนน่ารักมากๆ คนหนึ่ง เป็นคนพูดอะไรตรงไปตรงมา แต่ขณะเดียวกันก็คงจะเป็นวัฒนธรรมฝรั่ง คือจะรักษามารยาท แต่ตรงไปตรงมา และเป็นคนมี critical mind ความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา เขาเห็นอะไร เขาจะพูดตรงไปตรงมา แต่จะรักษามารยาท

- ที่ว่าพูดตรงนี่ตรงจริง ไม่ใช่เพราะภาษาไทยไม่แข็งแรง ?

ไม่ใช่ เขาเป็นคนตรงไปตรงมาเลย บางครั้งเราก็พูดภาษาอังกฤษ ภาษาไทยเขาก็ใช้ได้ดี

- คุยกันเรื่องประวัติศาสตร์ ?

“ก็แบบนั้น เพราะไมค์เขาเป็นคนไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองเรื่องปัจจุบันเท่า ไหร่ คือพูดถึงบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่สนใจเรื่องวัฒนธรรมมากกว่า ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ พูดถึงประวัติศาสตร์ในแง่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม”

- ในการถกเถียงด้านวิชาการที่ส่วนใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และ วัฒนธรรมไทย นักวิชาการจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับคุณไมค์ เพราะไม่ได้เรียนมาโดยตรง แต่เรียนรู้จากการอ่านเท่านั้น ?

“ผมว่าไม่ยอมรับเป็นคนๆ มากกว่า แล้วทำไมยอมรับกรมพระยาดำรงฯ ท่านก็ไม่เคยเรียนเหมือนกัน ท่านก็มาจากการอ่านเหมือนกัน”

- อาจารย์ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์โดยตรง เคยรู้สึกแบบนั้นบ้างไหมเวลาถกเถียงกับคุณไมค์ ?

“ไม่เลย (เสียงหนักแน่น) เพราะเขาแสดงความรู้หลายอย่าง ซึ่งผมว่าน่าเสียดายที่คนสนใจศึกษาเรื่องเกี่ยวกับไทยกลุ่มหนึ่ง ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรม ตำรา ไม่สนใจจึงไม่รู้ภาษาทมิฬ ไม่รู้ภาษาลังกา”

“คือไมค์ให้มุมมองใหม่อันหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญในทางไทย คดีศึกษา แต่ว่าหานักไทยคดีศึกษาที่พอจะสนใจเรื่องนี้ หรือว่าสนใจพอจะเรียนรู้ภาษาทมิฬ ภาษาลังกาอะไรพวกนี้น้อยมาก”

- ตอนที่คุณไมค์อยู่ศรีลังกา เขาเรียนรู้เรื่องพวกนี้แล้วหรือ ?

“โอ๊ย ผมว่าคนแบบนี้คงหลงใหลในการศึกษาในการเรียนรู้ด้วยตนเองมาตั้งแต่ไหนแล้ว คนแบบนี้ไม่ใช่อยู่ๆ ลุกขึ้นมาทำ”

“สิ่งที่ไมค์นำมาให้ที่ยอดเยี่ยมมากๆ คือความรู้ที่เขาได้มาจากอินเดีย มาจากลังกา เราไม่ได้เรียนรู้อย่างไมค์ เราจึงขาดไป คือเรามีความรู้แค่ว่าเรากับลังกามีความสัมพันธ์กัน แต่ว่าไม่มีใครลงไปศึกษาในรายละเอียดจริงๆ ว่า ไอ้วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน มันเป็นยังไง มันคืออะไรบ้าง เพราะฉะนั้นมุมมองของเราที่เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมไทยทั้งหลาย มันไม่ได้มาจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่รู้จริง หรืออย่างบางทีเราก็ตีขลุมว่า อันนี้เอามาจากลังกา ปรากฏว่าลังกาไม่มี”

- เป็นเพื่อนกันแล้ว ถกเถียงกันหนักไหม ?

“เยอะ แม้แต่ในบทความของผม เขาบอกเขาชอบตามอ่านบทความผม แล้วบางอันนี่เขาไม่เห็นด้วย เขาก็เขียนแย้ง แย้งเสียงดังฟังชัดเลย (หัวเราะ)”

- จากนั้นคุยกันนอกรอบอีกไหม ?

“มีครับ ที่เขาแย้งนี่บางทีผมก็เห็นด้วยกับเขานะ แต่บางทีผมก็ไม่เห็นด้วย เวลาเจอหน้าก็คุยกัน ผมก็บอกเฮ้ยไม่ใช่นะ ก็ถกกันใหม่อีกยก”

- คิดว่าชีวิตของคุณไมค์มีคุณูปการต่อสังคมไทยให้เราต้องจดจำตรงไหน ?

“การรู้จักตั้งคำถาม ผมว่าสำคัญมากๆ คือการตั้งคำถาม”

“แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึง แต่ผมอยากจะพูดก็คือ ผมว่าไมค์นี่เป็นตัวอย่างของ a modern man มนุษย์สมัยใหม่ เพราะอะไร ? เพราะว่า ถามว่าไมค์นี่รักเมืองไทยไหม ? รักมาก รักกว่าอังกฤษไหม ? ไม่ ผมคิดว่าเขารักอังกฤษ ลึกลงไปในใจเขานะครับ ถึงแม้ว่าด้วยความที่เขารักในอังกฤษมาก จึงมีเรื่องไปวิพากษ์วิจารณ์อังกฤษเยอะมาก แต่แม้กระนั้น ลึกลงไปนี่ ไมค์ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอื่นนอกจากคนอังกฤษ คนเรามันต้องรักรากเหง้าของตัวเองก่อน มันถึงจะรักคนอื่นเป็น แล้วด้วยเหตุนั้น ถึงแม้ว่าไมค์รักอังกฤษมากขนาดไหน ไมค์ก็รักเมืองไทยมากเหมือนกัน รักคนไทย รักคนเอเชียว่างั้นเถอะ”

“ผมว่านี่คือตัวอย่างของคนสมัยใหม่ ของโลกยุคใหม่ที่ควรจะเป็น คุณมีรากเหง้าของตัวคุณเอง แต่ไม่ปิดกั้นที่จะรักคนอื่นๆ ได้ด้วย เราอยู่ในโลกที่มันเล็กลง โลกที่เราต้องสัมพันธ์กันมากขึ้น คุณรักรากเหง้าของตนเอง แต่คุณไม่ปิดตัวเองที่จะอยู่กับรากเหง้า คุณเปิดตัวเองบนพื้นฐานของรากเหง้าของตัวคุณเอง เพื่อไปสัมพันธ์กับคนอื่น มีความเคารพเขา มีความรักต่อเขาเท่าเทียมกัน”

“ผมคิดว่านี่คือตัวอย่างของคนในโลกสมัยใหม่ที่คนไทยน่าจะเรียนรู้ เราควรจะเป็นอย่างนี้ รักคนเขมรเป็น รักคนลาวเป็น รักพม่าเป็น รักคนอื่นเขาแต่ก็ไม่ลืมว่ารากเหง้าของคนไทยคือตรงไหน”

- การเป็นคนแบบคุณไมค์ในสังคมที่ค่อนข้างปิดอย่างสังคมไทยน่าจะไม่ราบ รื่นนัก มีปัญหาเรื่องการยอมรับของคนกลุ่มหนึ่งที่มองว่า คุณไมค์ยังไงก็เป็นคนนอก เป็นฝรั่ง จะมารู้ดีกว่าคนไทยได้อย่างไร ?

“โอ๊ยแยะมาก แต่ไมค์ไม่งี่เง่าพอที่จะไปต่อสู้ด้วยเท่านั้นเอง เช่น มีนักวิชาการชื่อดังคนหนึ่ง บัดนี้ท่านก็เสียไปแล้ว ท่านก็ไม่เคยยอมรับคุณไมค์เลย ก็ด้วยเหตุผลที่คุณไมค์อาจไม่ได้เชื่อถือบรมครูของไทย อย่างเช่นสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทุกคำพูด คุณไมค์ให้ความนับถือ ให้ความเคารพกรมพระยาดำรงฯพอสมควร แต่ว่าจะให้เชื่อไม่ทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้”

“แต่ผมว่าไมค์ไม่ใช่คนที่จะมาสนใจกับอะไรหยุมหยิมจุกจิกของนัก วิชาการไทยหรอก มันฟังปั๊บจะขุ่นเคืองหรือเปล่าผมก็ไม่รู้นะ ไม่เคยแสดงให้เห็น แต่ว่าพักเดียวผมว่ามันลืมไปแล้ว ไม่สนใจแล้ว”

“ไมค์ตั้งคำถามกับปูชนียบุคคลในวงการประวัติศาสตร์ ซึ่งคนไทยบางกลุ่มไม่ชอบ แต่เขาไม่ได้ตั้งคำถามที่ตัวบุคคล เขาตั้งคำถามทางวิชาการของเขา ซึ่งอาจารย์หลายคนของไทยหรือของฝรั่งเองก็รับไม่ได้”

- อ่านงานคุณไมค์แล้วสงสัยว่ามีคนช่วยเรื่องการใช้ภาษาไทยหรือเปล่า  เพราะใช้ภาษาไทยเชิงเสียดสีได้ลึก เช่น คำว่าอนาถาทางวิชาการ คำว่าคลำร่องประวัติศาสตร์ผิดพลาด อะไรพวกนี้ หรือแม้แต่คำด่าผ่านอีโมหิณีแมวตัวโปรด…

“ผมว่าไม่ใช่นะ หลายเรื่องผมคิดว่าเป็นการแปลมาจากภาษาอังกฤษ อย่าลืมว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นฐานของเขา ภาษาน้ำนมของเขา ฉะนั้นเวลาเขาเขียนเป็นภาษาไทยนี่ ผมคิดว่าเขาคิดเป็นภาษาอังกฤษแล้วแปลมันออกมา มันเลยฟังตลก คนหนึ่งที่ผมว่าเป็นตัวอย่างของการใช้ภาษาไทยแบบนี้ คือคุณีรงค์ วงษ์สวรรค์ หลายสำนวนของคุณรงค์ มาจากภาษาอังกฤษ แต่คุณรงค์แกเป็นคนไทย ฉะนั้นแกแปลออกมาแล้วอาจจะรื่นหูกว่า ผมว่าหลายอันของไมค์ก็ไม่ได้ตรงเผงหรอก คือผมไม่เห็นด้วยกับกระทรวงวัฒนธรรม ที่ยกให้ไมค์เป็นคนใช้ภาษาไทยดีเด่น (หัวเราะสนุก) ผมว่าถ้าไมค์แม่งเป็นคนไทย มันไม่มีทางได้ (หัวเราะ) มันเขียนอะไรตลกชิบเป๋ง (หัวเราะ) เผอิญมันเป็นฝรั่ง (หัวเราะอีกยาว)”

- แล้วคุณไมค์ประสบความสำเร็จไหมในความเป็นมนุษย์สมัยใหม่ มนุษย์เชิงวิพากษ์ ?

“ในแง่ modern man อาจไม่ประสบผลสำเร็จเลย เพราะว่าในประเทศไทย คนก็ยังมองไม่เห็นเรื่องนี้ว่า โลกข้างหน้านี่เราจะต้องเป็นแบบไมค์ เป็นมนุษย์สมัยใหม่แบบไมค์ แต่ว่าในแง่ของการตั้งคำถาม ในแง่วิชาการ เขาทำให้คนไทยโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่มีใจกล้าขึ้น กระตุกให้ลุกขึ้นตั้งคำถามกันมากขึ้น”

“แล้ววิธีตั้งคำถามของเขานี่ ผมคิดว่าสุภาพนะ คนที่เคยโจมตีกรมพระยาดำรงฯ คนเคยโจมตีนักปราชญ์ไทยรุ่นเก่าๆ มา บางทีเราไปโจมตีเรื่องของบุคคล ไม่ได้โจมตีความเห็น ซึ่งไมค์ไม่เคยทำสิ่งเหล่านี้ ไมค์จะโจมตีความเห็น คือวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นว่ามันผิดมันถูก อะไรก็แล้วแต่ ผมว่ามันเป็นท่าทีที่สุภาพ แล้วผมคิดว่าคนทั่วไปจะไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นเรื่องลบหลู่อะไร ยกเว้นจะเป็นลูกหลานกรมพระยาดำรงฯ หรือหลงใหลกรมพระยาดำรงฯสุดขั้ว แตะไม่ได้อะไรแบบนั้น มันก็ทำให้เกิดความคิดว่า ซักได้ ก็ถามได้”
- ในทางกลับกัน พบว่าคนที่คัดค้านหรือไม่ยอมรับคุณไมค์ จะไม่ค่อยเน้นเรื่องเนื้อหา แต่จะเน้นเรื่องตัวบุคคล เช่น เป็นฝรั่ง เป็นคนนอก ไม่ใช่เจ้าของประวัติศาสตร์…

“เพราะคนไทยไม่ค่อยมีความรู้ไง พูดกันตรงไปตรงมานะครับ ความรู้ของนักวิชาการไทยค่อนข้างจำกัด จะเถียงเรื่องเนื้อหาก็เถียงไม่ได้ เพราะตัวเองก็ไม่รู้ (หัวเราะ)”

“สำหรับไมค์นะ ผมว่าเขาเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่ได้ใช้ชีวิตคุ้มแล้ว”

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 มกราคม 2552

ทางเลือกนอกซ้าย-ขวาหรือ? An Alternative to left and Right?
โดย ไมเคิล ไรท, คอลัมน์ ฝรั่งมองไทย

ความนำ

ในระยะยาวสามทศวรรษที่ผ่านมา (ตั้งแต่จีนและโซเวียตเลิกเป็น “คอมมิวนิสต์”) นักปราชญ์ผู้หวังดีทั่วโลกได้เข้าแดนสนธยาที่ทั้งว้าเหว่และ ว้าวุ่น จะให้คิดกันอย่างไรอีกต่อไป?

ในขณะเดียวกันนักการเมืองบรรดานักฉวยโอกาสก็เริงร่าเพราะได้รับ การปลดปล่อยจากขอบข่ายที่สถานการณ์และอุดมการณ์ตีไว้มาแต่ก่อน

ฝ่ายสังคมนิยมใจซื่อเริ่มปวดร้าวก่อนเพื่อนเพราะถือว่า การวิเคราะห์ปัญหาของมาร์กซ์ ว่าด้วยทุนนั้นยังดีอยู่, แต่เห็นได้ประจักษ์ว่า วิธีแก้ นั้นผิดพลาดใช้งานไม่ได้

ฝ่ายทุนนิยมใจซื่อค่อยเริ่มปวดขมับภายหลังเมื่อสำคัญว่าทุนนิยม “เสรี” ของพวก Neo-Cons/Neo-Lib ที่ปราศจากขอบข่ายทางจรรยาและอุดมการณ์นั้น, แทนที่จะสร้างความสุขความเจริญ, กำลังนำไปสู่ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและสังคม

ว่าง่ายๆ ทั้งสองฝ่ายรู้ตัวว่าทฤษฎีของตนมีปัญหาผิดพลาดจนตรอก, และพึ่งเริ่มลงมือคิดหาทางแก้ไข ผมกับอีนังโมหิณีก็จนใจมาเป็นสิบปีแล้วเช่นเดียวกัน, หาทางออกไม่ได้ แต่เมื่อเร็วนี้เราได้อ่านหนังสือสำคัญมาก, คือ Banker to the Poor โดย Muhammad Yunus, โรงพิมพ์ Public Affairs, N.Y., 2003

หนังสือเล่มนี้ช่วยให้ผมคิดนอกกรอบ, และให้กำลังใจว่า นักคิดผู้หวังดียังมีทางเลือกใหม่และเป็นทางเลือกที่ใช้งานได้ สำเร็จในโลกแห่งความเป็นจริง

Banker to the Poor

อาจารย์มูฮัมมัด ยูนุส (ชาวบังกลาเทศ) เป็นนักเศรษฐศาสตร์สายใหญ่, ไม่ใช่นักนั่งเทียนเพ้อฝัน เมื่อท่านจบปริญญาเอกในตะวันตกแล้วท่านกลับไปรับราชการเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยต่างจังหวัดจึงมีโอกาสศึกษาผลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ เห็นประจักษ์รอบด้านในชนบท

ยูนุสสังเกตว่าการพัฒนาแบบทุนนิยมมีผลดีจริง, แต่ทำประโยชน์เฉพาะชนชั้นที่มีทุน (ที่ดิน, กิจการ, รถ, ร้านรวง) อยู่แล้ว ที่เชื่อกันว่าการพัฒนาจะมี “ผลไหลลงข้างล่าง” Trickle Down Effect เป็นไปไม่ได้เพราะชนชั้นล่างสุด (ที่มีเป็นล้านๆ คน) เข้าไม่ถึงทุน, คือคนอนาถาไม่มีทรัพย์ค้ำประกัน ระบอบการเงินการธนาคารช่วยไม่ได้ หากเขาจำเป็นต้องยืมเงินก็ต้องอาศัยฉลามเงินกู้ที่คิดดอกสัปดาห์ละ 10% แล้วกลายเป็นทาสหนี้ตลอดชีวิต

อาจารย์ยูนุสพาลูกศิษย์ไปสำรวจหมู่บ้านคนอนาถาใกล้วิทยาเขต เขาให้ตัวอย่างว่าวันหนึ่งเขาเยี่ยมกระท่อมโทรมๆ แล้วเจอะหญิงม่ายอายุ 21 ติดลูกน้อยสามคน, กำลังต่อม้านั่งด้วยไม้ไผ่ ไม้ไผ่นั้นมีราคา 5 บาท แต่เธอไม่มีทุนซื้อเอง เธอต้องยืมเงิน 5 บาทจากพ่อค้าคนกลางแล้วขายม้านั่งให้พ่อค้าคนกลางในราคา 5.50 บาท, มีกำไรตัวละ 2 สลึง เลี้ยงท้องเลี้ยงปากตัวและลูกๆ

ยูนุสจึงรำพึงว่า หากแม่คนนี้มีทางเข้าถึงแหล่งทุนในราคาถูก เธออาจจะได้ซื้อวัตถุดิบด้วยตนเองในราคาตลาด (กิโลละ 3 บาท?) แล้วขายผลผลิตในตลาดตัวละ 7 บาท (?), เป็นกำไรตัวละ 4 บาท แน่นอนทีเดียวแม่ม่ายคนนี้จะไม่กลายเป็นเศรษฐี, แต่อย่างน้อยเธอและลูกคงกินอิ่มท้องและนานเข้าอาจจะส่งลูกเรียน ให้มีอนาคต

นี่คือจุดกำเนิดความคิดเรื่อง “เงินกู้ขนาดจิ๋ว” Micro Credit, และนำไปสู่การก่อตั้ง “ธนาคารของชาวบ้าน” Grameen Bank ที่มีหลักการให้กู้ยืมแต่ละรายไม่กี่ร้อยหรือพันบาทด้วยอัตรา ดอกเบี้ยต่ำและระยะผ่อนส่งยาวหรือยืดหยุ่น

ตอนแรกๆ ยูนุสพบอุปสรรคจากธนาคารพาณิชย์และราชการมากมาย เช่น :-

ธนาคารพาณิชย์คัดค้านว่ากิจการแบบนี้ไม่คุ้มทุน, ทำไรไม่ได้, และคนยากจนคงเอาเงินกู้ไปกินเหล้าเล่นเบี้ยกัน แต่ยูนุสให้เงินกู้กับแม่บ้านเป็นหลักและจัดตั้งเป็นกลุ่มๆ ละห้าคนเพื่อสนับสนุนและควบคุมกันเอง ปรากฏว่าเขาได้ต้นและดอกคืนทัน (หรือก่อน) กำหนดเพราะผู้ยืมได้ประโยชน์ทันต่อเห็นจึงต้องการรักษาสิทธิ์ยืม งวดต่อไป

องค์การพัฒนาคัดค้านว่า คนยากจนขาดฝีมือและปัญญาจึงต้องฝึกอบรมเสียก่อน ในทางตรงกันข้ามยูนุสสังเกตว่าคนยากจนแต่ละคนมีฝีมือถนัดทางหนึ่งทางใด , รู้แหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น, และรู้ว่าตลาดท้องถิ่นต้องการอะไร, จึงควรเคารพปัญญาความสามารถของชาวบ้าน

ว่าง่ายๆ คนจนนั้นก็จนไม่ใช่เพราะ “โง่” แต่เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งทุนหมุนเวียนบำรุงกิจการของตน

ความสำเร็จ

ธนาคารครามมีณ (ภาษาพังคาลี, แปลว่า “ของชาวบ้าน”) เริ่มก่อตั้งราว 30 ปีที่แล้ว โดยที่ท่านผู้รู้ส่วนใหญ่ยิ้มแต่สั่นหัวว่า “ไปไม่รอด”

แต่ในปี 2001 ธนาคารมีลูกค้า 54 ล้านครอบครัว ในจำนวนนั้นเคยเป็นอนาถาสุดๆ ราว 30 ล้านครอบครัว, แต่ธนาคารได้ต้นคืนพร้อมทั้งดอกทันต่อกำหนด 98% (ดีกว่าอัตราของธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐหลายเท่า)

ธนาคารยังทำกำไรได้สม่ำเสมอเว้นแต่ในปีที่บังกลาเทศเกิดวินา สภัยธรรมชาติ, แต่ธนาคารยอมขาดทุนในปีนั้นๆ เพราะรู้อยู่ว่าในปีต่อมาเมื่อกิจการชาวบ้านฟื้นฟูแล้วธนาคารก็จะ กลับมีกำไรอีก

นี่หรือทางเลือก?

อาจารย์ยูนุสถูกฝ่ายขวาหาว่าเป้น “คอมมิวนิสต์” และถูกฝ่ายซ้ายว่าเป็น “ใส้ศึก” ซี.ไอ.เอ.” ตลอดมา ท่านยอมรับว่าในแง่เศรษฐศาสตร์ท่านเป็นทุนนิยม, แต่ในแง่สังคมศาสตร์ท่านเป็นสังคมนิยม

ยูนุสวิเคราะห์ปัญหาโลกปัจจุบันว่า “ทุน” และ “สังคม” ได้แยกตัวออกจากกัน ฝ่ายทุนนิยม เข้าใจว่าตนมีหน้าที่ทำกำไรเพียงอย่างเดียว (ปล่อยสังคมไปตามยถากรรม) ฝ่ายสังคมนิยมมุ่งสร้างโลกอันอุดมที่ยุติธรรมเสมอภาค (โดยไม่ยอมรับความสำคัญของบทบาททุน)

ผลก็คือความแปลกแยกและความแตกแยกทางสังคม คล้ายกับว่าคนรวยกับคนจนต่างอยู่คนละโลก วิธีแก้ของอาจารย์ยูนุสมีประเด็นสำคัญคือ ทั้งรัฐบาลและนายทุนเอกชนควรอำนวยให้คนยากจนเข้าถึงทุน, คือมีโอกาสกู้ยืมด้วยเงื่อนไขอย่างพอเพียง

ความส่งท้าย

โครงการ Grameen Bank นี้มีลักษณะคล้ายกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงและยังสนับสนุนขบวนการ CSR (Corporate Social Responsibility) ที่จริงหนังสือ Banker to the Poor เล่มนี้น่าจะใช้เป็นตำราคู่มือสำหรับ CSR ได้ดี

ที่สำคัญคือหนังสือเล่มนี้เบิกทางคิดใหม่สำหรับผู้หวังดีที่สิ้นศรัทธาใน “สังคมนิยม” ที่หมดน้ำยาและเอือมระอากับ “ทุนนิยม” เลอะเทอะที่ทำสังคมแตกแยกฉิบหาย

อนึ่ง สำนักพิมพ์มติชนได้พิมพ์ฉบับแปลของหนังสือเล่มนี้ในชื่อ “นายธนาคารเพื่อคนจน” สำนวนแปลของ “สฤณี อาชวานันทกุล” วางแผงทั่วประเทศปลายเดือนกรกฎาคมนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น