จาก : หนอนในตะกร้า www.winbookclub.com

คำถามหนึ่งที่ผมได้รับบ่อยมากในรอบหลายปีนี้คือ การอ่านระหว่างบรรทัดคืออะไร?

การอ่านระหว่างบรรทัด แปลมาจากภาษาอังกฤษ read between the lines ทำให้หลายคนคิดว่ามันเป็นแนวคิดของฝรั่ง แต่ความจริงแล้วความหมายของมันเป็นสากล นั่นคือการอ่านอย่างระวัง อ่านอย่างวิเคราะห์

หากพูดแบบไทยๆ ก็คือ อ่านให้แตก หรืออ่านเอาเรื่อง

ในสมัยผมยังเป็นเด็ก มีวิชา 'อ่านเอาเรื่อง' เจตนารมณ์ของวิชานี้ก็เพื่อให้เด็กพัฒนาความสามารถในการ อ่านเพื่อจับเนื้อหาหลักของเรื่องนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ขุนช้างขุนแผน หากอ่านเพลินๆ ก็อาจคิดว่าเป็นเรื่องรักสามเส้าผสมอีโรติกที่ใช้ฉากอยุธยา ผู้อ่านอาจหลงเพลินไปกับฉากเซ็กส์ของขุนแผน จนลืมแก่นเรื่องว่าอาจเป็นเรื่องการเมืองในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งอยุธยา

การอ่านระหว่างบรรทัดคือการอ่านแบบวิเคราะห์เนื้อหาและความหมายที่แท้จริงของเรื่อง โดยตัดเอาส่วนที่เป็น 'ส่วนเกิน' ออก ลองนึกภาพการชงกาแฟแบบเก่าที่ใช้ถุงกรอง ผู้ชงจะตักผงกาแฟใส่ถุง เทน้ำร้อนตามลงไป น้ำกาแฟที่ไหลออกมาคือแก่นแท้ของเรื่อง กากกาแฟคือ 'ส่วนเกิน'

และถุงกาแฟคือตัวกลั่นกรอง ก็คือกรรมวิธีการอ่านระหว่างบรรทัด

เมื่ออ่านแตก ก็จะเข้าใจว่าอะไรเป็นน้ำกาแฟ อะไรเป็นกากกาแฟ

นี่คือแนวคิดของพวกไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หรือ skeptics

การอ่านระหว่างบรรทัดไม่ได้กินความแค่การอ่านหนังสือ อย่างเดียว แต่รวมไปถึงการเสพสื่ออื่นๆ ด้วย

ทว่าการอ่านระหว่างบรรทัดไม่ใช่แค่การวิเคราะห์คำพูด หรือตัวอักษร แต่ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น สถานการณ์ วิธีการพูด พื้นฐานของคนพูด ไปจนถึงอารมณ์ของผู้พูด

ดังฉะนี้เมื่อหญิงสาวคนหนึ่งเอ่ยกับชายคนหนึ่งว่า "ฉันเกลียดคุณ" ความหมายอาจเป็น "ฉันชอบคุณ"

และตรงกันข้าม หากหญิงสาวบอกรัก อาจหมายถึงเกลียด เนื่องจากเราต้องอ่านสีหน้า แววตา อารมณ์ของผู้พูดในเวลานั้นด้วย

หรือใครคนหนึ่งบอกว่า "เพื่อนของผมคนนี้อัจฉริยะชิบหายเลย" ความหมายที่แท้จริงอาจเป็นว่า เพื่อนของเขาโง่มากๆ เขาพูดประชดต่างหาก เป็นต้น

สำหรับในงานเขียน เนื่องจากเราไม่อาจอ่านสีหน้าแววตาของผู้เขียน หรือไม่รู้จักคนเขียน เราก็ต้องอ่านข้อเขียนนั้นๆ ให้ละเอียด อ่านวิเคราะห์เนื้อความที่แท้จริงของข้อความนั้นๆ ไม่ใช่อ่านเอาความหมายจากคำโดยตรง (literally) เสมอไป

วิธีการอ่านระหว่างบรรทัดทำได้โดยล้างอคติทุกอย่างของตนเองและอคติเกี่ยวกับผู้พูดผู้เขียนก่อน ยกตัวอย่างเช่น หากผู้พูดผู้เขียนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีปริญญาติดตัวสิบใบ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาพูดเขียนเป็นสาระที่เชื่อถือได้เสมอไป เช่นเดียวกัน หากผู้พูดผู้เขียนเป็นอาชญากร ก็มิได้หมายความว่า สิ่งที่เขาพูดเขียนจะผิด

อีกข้อหนึ่งคือ จงอย่าเชื่อทุกอย่าง ตั้งคำถามแย้งเสมอ และคิดว่าคนเขียนอาจโง่กว่าเรา

ถามว่าทำไมต้องอ่านระหว่างบรรทัด? ปวดหัวเปล่าๆ คำตอบคือ โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยข้อความซ่อนเงื่อน ที่เห็นชัดก็คือข้อความโฆษณา คำสัญญาของนักการเมือง ฯลฯ และหลายข้อความ

การอ่านระหว่างบรรทัดนั้นอาจช่วยประหยัดเงินทองและเวลาของคุณได้มหาศาล ไม่ต้องถูกหลอกหรือเสียเงินไปกับ 'กากกาแฟ' โดยไม่จำเป็น

ขอยกตัวอย่างการอ่านระหว่างบรรทัดสักบท :

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก และ The Bangkok Post วันนี้ (22 มกราคม 2552) รายงานข่าวในลักษณะเดียวกันถึงคดีคลินิกแห่งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรปราการ รักษาเด็กชายคนหนึ่งที่เป็นฝีในปากด้วยการผ่าตัดขริบหนังปลายอวัยวะเพศของเขา

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า "เรื่องดังกล่าวเกิดความผิดพลาดในการรักษาเนื่องจากการติดต่อสื่อสารผิดพลาดทั้งที่แพทย์ดำเนินการและเขียนสั่งถูกต้องทุกอย่าง โดยแพทย์เขียนคำวิธีการรักษาเป็นภาษาอังกฤษว่า 'EXCISION' ที่มีความหมายว่า 'ให้ตัดเอาออก' ซึ่งหมายถึงให้ตัดเอาฝีในปากออก แต่เจ้าหน้าที่ที่รับหน้าที่ในการดำเนินการเข้าใจผิดคิดว่าแพทย์สั่งให้ขริบอวัยวะเพศเด็ก หรือ 'CIRCUMCISION' ...

"การขริบปลายอวัยวะเพศเด็กไม่มีข้อเสีย แต่กลับเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ทำให้โอกาสในการเป็นโรคมะเร็งและกามโรคน้อยลง ซึ่งหลายประเทศให้เด็กขริบหมด แต่ประเทศไทยไม่นิยม โดยเฉพาะเด็กรายนี้จะเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากเด็กมีปัญหาหนังหุ้มปลายถลกไม่สุด หากปล่อยไว้จะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค จนอาจนำไปสู่การก่อมะเร็ง"

ในสารนี้ น้ำกาแฟคือ "แพทย์รักษาผิดพลาดเนื่องจากการสื่อสารผิดพลาด"

กากกาแฟคือ "เด็กโชคดีที่ได้รับการขริบปลายอวัยวะเพศ"

ถ้าผู้อ่านหลงคิดว่ากากกาแฟเป็นน้ำกาแฟ ก็อาจรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องถูก และความผิดกลายเป็นความชอบธรรมไปแล้ว

การดื่มกาแฟที่อร่อยจึงต้องใช้ถุงกาแฟที่มีคุณภาพ และเมื่อถุงกาแฟรั่ว ก็อย่าดันทุรังใช้มันต่อไป เพราะน้ำกาแฟที่ได้มาอาจเต็มไปด้วยตะกอนของผงกาแฟ ดื่มแล้วติดคอ

วินทร์ เลียววาริณ
22 มกราคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น