จาก : Stephen King : On Writing

คำกริยามีสองรูป คือ active กับ passive ใน active voice ประธานเป็นผู้แสดงกริยานั้น ส่วน passive voice กรรมที่ถูกกระทำมีความสำคัญ จนต้องเลื่อนมาวางอยู่ในตำแหน่งประธานของประโยค ในงานเขียนนิยาย..คุณควรจะหลีกห่าง passive voice ให้มากที่สุด ผมไม่ได้เป็นคนเดียวที่คิดแบบนี้ ใน The Element of Style ก็ยืนยันไว้ชัดเจน

วิลเลียม สตรังก์ ไม่เข้าไปแตะนักเขียนผู้นิยม ‘การถูกกระทำ’ ให้หมองนวล ผมเต็มใจจะชำแหละอยู่แล้ว ผมคิดว่าคนที่โอบรับไวยากรณ์อย่างเคร่งครัด ‘ผู้ที่มีความสำคัญที่สุด จะต้องนำมาวางในตำแหน่งประธานของประโยค’ ก็น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกับผู้ที่ต้องการคู่รักที่อยู่ในโอวาท ว่านอนสอนง่าย passive voice ให้ความรู้สึกปลอดภัย อดีตประธานผู้กลายเป็นช้างเท้าหลัง นั่งเงียบ ๆ พริ้มตาหลับ ปล่อยให้ใจล่องลอยไกลไปถึงอังกฤษ ท่องพระราชดำรัสของพระนางเจ้าวิกตอเรีย ผมคิดว่านักเขียนผู้ไม่มีความมั่นใจในตนเอง เชื่อว่า passive voice ให้ความโอ่อ่าสูงส่งว่าตนเองรู้แจ้งเห็นจริงแม่นไวยากรณ์ ใช้เป็นทางเลือกแรกเสียด้วยซ้ำไป เพราะให้ความศักดิ์สิทธิ์ฟังดูขลังดี ไม่เชื่อก็ลองอ่านคู่มือการใช้งานหรือคำบรรยายของทนายความดูบ้าง

นักเขียนละล้าละลัง มักจะเขียนว่า ‘การประชุมจะถูกจัดขึ้นในเวลาหนึ่งทุ่มตรง’ อาจเป็นเพราะนักเขียนผู้นั้นได้รับคำบอกกล่าวว่า ‘เขียนเช่นนี้เถอะ ฟังดูน่าเชื่อถือ คนอ่านจะทราบว่าคุณรู้เรื่องนี้’ เลิกเชื่อคนง่าย ๆ ไม่ดีหรือ? อย่ายอมเป็นเพียงแค่ ‘มักเกิล’ สามัญดาษดื่น อกผายไหล่ผึ่งเชิดคางขึ้น แล้วบอกออกมาว่า “การประชุมเริ่มหนึ่งทุ่มตรง” เห็นไหม? ห่ะ, สบายใจขึ้นเยอะเลย

ผมไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับการใช้ passive voice ในสถานการณ์บางอย่าง มีคนถูกฆ่าตาย ร่างถูกหามออกจากห้อง เช่น The body was carried from the kitchen and placed un the parlor sofa. ถูกต้อง แม่นยำ ครบถ้วน แต่ผมไม่โปรด ผมจะเขียนเสียใหม่ว่า Freddie and Myra carried the body out of the kitchen and laid on the parlor sofa. วะ, ร่างนั้นมีความสำคัญแค่ไหนถึงจะต้องมาครองตำแหน่งประธานของประโยค ก็มันตายดับเป็นศพไปแล้วนี่นา เห็นแก่พระเป็นเจ้าเหอะ Fuhgeddaboudit!

อยากจะให้ผมบ้าเสียสติ ไม่ยากครับ เอาเอกสารธุรกิจ passive voice สองหน้า หรือนิยายเลว ๆ ประจุด้วย passive voice สักรีมหนึ่ง ได้ผลในทุกคราว ผมอยากกรีดร้องออกมาสุดเสียง การใช้รูปประโยคเช่นนี้สื่อความหมายอ่อนปวกเปียก อ้อมโลก แถมยังทรมานสายตาสิ้นดี ลองฟังอีกประโยคดูบ้าง My fist kiss will always be recalled by me as how my romance with Shayna was begun. ได้โปรดเหอะ, ไม่สงสารผู้อ่านบ้างเลยหรือ ใครผายลมออกมา? ทำไมไม่เขียนให้อ่านง่ายกว่านั้น หวานกว่า ทรงพลังกว่า ลองดูไหม? My romance with Shayna began with our fist kiss, I’ll never forget it. ผมไม่ได้หลงรักประโยคใหม่มากนัก เพราะมี with ซ้ำกันสองครั้ง อย่างน้อยก็ถางป่าให้หลุดออกมาได้

คุณคงสังเกตเห็นว่า จะเข้าใจความคิดได้ง่ายขึ้นหากแตกออกเป็นสองความคิดย่อย เมื่อคุณเข้าใจได้ง่ายขึ้น ผู้อ่านก็จะเข้าใจง่ายขึ้น..ผู้อ่านจะเป็นบุคคลสำคัญที่คุณจะต้องยึดไว้เป็นหลักเสมอ หากไม่มีผู้อ่าน คุณก็จะเป็นแต่เสียงโหยหวน กรีดร้องตามลำพังในห้วงอวกาศว่างเปล่า การดำรงสถานะผู้อ่านอยู่ในตำแหน่งปลายสาย รับฟังข้อมูล ไม่ใช่เรื่องสุขสบายนัก วิลเลียม สตรังก์ รู้สึกว่าผู้อ่านจะตกอยู่ในห้วงทุกข์เกือบตลอดเวลา อี.บี.ไวต์ ผู้ร่วมเขียนหนังสือ The Element of Style กล่าวไว้ว่า “ผู้อ่านจมอยู่ในบึงพรุ ถือเป็นหน้าที่ของนักเขียนที่จะระบายน้ำออกให้หมด ดึงผู้อ่านขึ้นมาบนบกดินแห้ง อย่างน้อยที่สุด ก็โยนเชือกไปให้เขาพอพยุงตัวเหนือน้ำได้” ยังจำได้ใช่ไหมครับ? The writer threw a rope. มิใช่ The rope was thrown by the writer. ได้โปรดอย่าซ้ำเติมกันให้ถึงแก่ชีวิตเลย

(ครั้งหน้าเรามาคุยกันเรื่องของคำวิเศษณ์ – ธุลีดิน)

“นักเขียนและอาจารย์หลายท่านเห็นว่า passive voice เป็นของฝรั่ง จึงไม่สนับสนุนให้ใช้ เหตุผลอาจเพียงต่อต้านวิธีการอย่างฝรั่ง

ผมเองไม่ซีเรียสกับเรื่องนี้ครับ ผมคิดว่าภาษาก็คือการสื่อสารอย่างหนึ่ง ตราบที่สื่อสารกันรู้เรื่อง ก็ไม่เป็นไร และ passive voice ก็เป็นวิธีการเล่าอย่างหนึ่ง ถ้าเขียนทุกประโยคเป็น active voice ไปหมดก็อาจน่าเบื่อนะครับ”

-วินทร์ เลียววาริณ-

2 ความคิดเห็น:

  1. สายของวันสวัสดิ์เจ้าค่ะท่านดิลล์ที่เคารพ

    ฟังหัวข้อ '100 วิธีเขียนชวนอ่าน' ช่างน่าสนใจซะนี่กะไร ได้ถึง 20 ข้อแล้วอย่าลืมเอามาฝากให้อ่านกันนะเจ้าคะ ข้าเจ้าขอแค่ 20 ข้อแรกพอ เพราะจอมยุทธ์สมัครเล่นทั้งหลายมักปล่อยพลังลมปราณในขณะเริ่มต้นประลองยุทธ์เสียร้อยละเก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้า(ส่วนอีกศูนย์จุดศูนย์ศูนย์หนึ่งนั้นเก็บไว้ให้พวกที่วางกระบี่ยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่เห็นหน้าคู่ต่อสู้)

    ทำไมนะเหรอ?

    ก็เพราะเหล่าจอมยุทธ์น้อยเหล่านั้นหวังพิฆาตศัตรูให้สิ้นลมในเพลงดาบเดียวนะสิ เลยซัดพลังวัตรไปไม่ยั้งมือ สุดท้ายยังไม่รู้ผลต่างคนต่างขาดใจตายกันทั้งคู่ การประลองยุทธ์แบบนี้อย่าหวังจะได้เจอท่าไม้ตายสุดท้ายที่ชวนระทึกใจถึงขนาดทำให้ผู้เฝ้าชมหงายหลังตกเก้าอี้ได้เลย

    20 ข้อที่ขอไปนั้นคาดว่าน่าจะเป็นผักบุ้ง ส่วน 80 ข้อที่เหลือก็คงไม่แคล้วต้องน้ำท่วมทุ่ง!

    เอาล่ะแล้วเจอกันเมื่อว่างกายว่างใจและว่างอารมณ์นะเจ้าคะ ข้าเจ้าจะมุดหัวเข้าสู่ชาติที่สิบเอ็ดของนิยายแล้วเจ้าค่ะ

    ขอท่านสำเริงสำราญกับระบำอักษรในบรรณพิภพ

    ป.ล.'จอมยุทธ์น้อย'ที่กล่าวถึงด้านบนนั้นมิได้มีเจตนาจะดูถูกดูแคลนนะเจ้าคะ ถ้าเปรียบกับข้าเจ้าเหล่าท่านคือจอมยุทธ์ลือลั่นสะท้านยุทธจักร แต่ยุทธจักรของข้าเจ้าเปรียบมิได้สักขี้ประติ๋วของยุทธภพใต้หล้า

    ป.ล.2 ใน 'จะไปด้วยกันมั้ยคะ?' ท่านจินไปทิ้งข้อสังเกตที่ชวนพิเคราะห์ไว้

    'ตอนท้าย คล้ายกับว่าตัวละครหวนกลับมาคบกัน มิได้เขียนเกริ่นบรรยายตัดภาพมาฉากปัจจุบัน (สายลมลองสังเกตทวนเนาะ)

    โดยส่วนตัว อ่านแล้วรู้สึกสะดุดเล็กน้อย เสมือนกับสายลมตั้งใจปิดปมคำถาม(เกริ่นไว้บทนำ) โดยเขียนตัดฉับย้อนกลับคำถามเพื่อให้เรื่องลงเอยน่ะ'

    ในส่วนนี้ข้าเจ้าปูพื้นเพื่อเข้าสู่ฉากจบในประโยค

    'สิบปีที่ผ่าน นานเหลือเกินกับความทรมานในหัวใจ และนานเหลือเกินกว่าจะเปิดใจดวงนี้รับใครอีกคนเข้ามา'

    ท่านพอจะมีข้อชี้แนะให้ขยับขยายส่วนไหนเพิ่มได้บ้างหรือเปล่าเจ้าคะ
    (เหมือนกับที่ท่านแนะนำในส่วนความสมเหตุสมผลในเนื้อเรื่องช่วงที่อรจิราจะเดินทางไปเรียนต่อนั่น ได้แง่คิดมากมายเลยเจ้าค่ะ)

    ป.ล.3 เปิดปากกะตูเปิดหน้าต่างขนำบ่มีปัญหา แม้จะให้เปิดฝากะดานเรือนก็คาดว่าคงผ่านฉลุย ^^

    ตอบลบ
  2. คุยเรื่อง 'จะไป..' ก็ไปคุยกันที่ ด.ดิน สิขะรับ ประเด็นจะได้อยู่ในที่ทางเดียวกัน มาถามอะไรตรงนี้เล่า..วุ่ย! ไป ด.ดิน ขะรับ
    http://tuleedin.blogspot.com/2009/06/blog-post_9637.html

    ตอบลบ