จาก : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ โดย : พรชัย จันทโสก
เมื่อกล่าวถึง "นักเขียนแนวทดลอง" ยอดนิยมของเมืองไทยยุคนี้ คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก วินทร์ เลียววาริณ
นักเขียนหนุ่มเจ้าของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) 2 สมัย จากนวนิยายเรื่อง "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" (ปี 2540) และรวมเรื่องสั้น "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" (ปี 2542) และรางวัลดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติหลายต่อหลายเรื่อง รวมทั้งยังได้รับรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2549 อีกด้วย
วินทร์ เลียววาริณ นับว่าเป็นนักเขียนร่วมสมัยที่มีผลงานโดดเด่นและได้รับความนิยมจากนักอ่านรุ่นใหม่อย่างกว้างขวางจากผลงานสร้างสรรค์กว่า 40 เรื่อง ทั้งประเภทเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี และความเรียง ผลงานของวินทร์มีความโดดเด่นน่าสนใจ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมการสร้างสรรค์ การเสนอกลวิธีแปลกๆ ใหม่ๆ ในการสื่อความหมายอย่างไม่หยุดนิ่ง การประสานศิลปะหลายแขนงในงานเขียนและความหลากหลายด้านรูปแบบและเนื้อหา
ล่าสุด โครงการวิจัยการวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ร่วมสมัยเพื่อการพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนาเรื่อง การวิจารณ์วรรณกรรมของ วินทร์ เลียววาริณ ขึ้น เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2552 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อศึกษาทัศนะแนวคิดของผู้เขียนต่อการสร้างสรรค์และการวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัย โดยมีนักวิชาการ-นักวิจารณ์วรรณกรรม และบรรณาธิการ ประกอบด้วย ศ.ดร.กุสุมา รักษมณี, รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ, ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์, ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, จรูญพร ปรปักษ์ประลัย และเจ้าของงานเขียน วินทร์ เลียววาริณ เข้าร่วมสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ให้เกิดขึ้นด้วย
การวิจารณ์ประเด็นเรื่อง "นวัตกรรมในการสร้างสรรค์ผลงานของวินทร์ เลียววาริณ" นั้น นักวิจารณ์ทั้ง รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ และ จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ค่อนข้างจะมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องการขาดความลุ่มลึกของตัวละครและการเล่นกับกลวิธีการเขียนมากเกินไป
"พอต้องนึกย้อนถึงหนังสือของวินทร์แล้วผมจำไม่ได้ จำสิ่งที่อยู่ในนั้นไม่ได้ สงสัยว่าทำไมถึงลืมเรื่องต่างๆ ทั้งๆ ที่เคยชอบมากในวันหนึ่ง ขณะที่หนังสือบางเล่มอ่านครั้งแรกก็จำไปทั้งชีวิต ผมตั้งคำถามว่า ทำไมถึงจำงานเหล่านั้นไม่ได้ พอไปหาหนังสือมาอ่านอีกครั้ง ผมคิดว่าชุด 'ตราควายบิน' ที่เขียนให้วัยรุ่นอ่าน ต้องบอกว่าแนวมากๆ อีกเรื่องหนึ่งเพิ่งออกใหม่และเป็นเรื่องที่เขียนให้วัยรุ่นอ่านโดยเฉพาะคือ 'เส้นรอบวงของหนึ่งวัน' งานชุดนี้เป็นนวัตกรรมที่สุดแล้วคือเล่นกับรูปแบบมากที่สุดในการเขียนของวินทร์ เพราะว่าเป็นงานที่วัยรุ่นอ่านและจะไม่มีหน้าไหนเลยที่มีตัวหนังสือเปล่าๆ แต่ละหน้าจะมีภาพประกอบหมด
เมื่ออ่านแล้วผมเห็นข้อผิดพลาดอยู่มากอย่าง 'กระถางชะเนียงริมหน้าต่าง' ผมเห็นว่าเรื่องราวต่างๆ มันเต็มไปด้วยการพยายามยัดเยียดโศกนาฏกรรมให้กับตัวละครมากเกินไป อันนี้คือความรู้สึก แต่อ่านทุกครั้งตื่นเต้นกับรูปแบบ และมันกลบความไม่ดีของงานไปจนหมด รวมถึงเรื่อง 'การหนีของราษโลกสามใบของราษฎร์ เอกเทศ' ครั้งหนึ่งผมชอบมากเหมือนกัน พอกลับมาอ่านอีกครั้งผมตั้งคำถามว่า วินทร์เคยเที่ยวซ่องหรือเปล่า รู้จักซ่องจริงๆ หรือเปล่า ผมต้องตั้งคำถามเรื่องความสมจริงเหมือนกัน เพราะว่าหลายอย่างไม่ใช่ภาพจริง" จรูญพร กล่าว
ขณะเดียวกันนักวิจารณ์หนุ่มมองอีกว่า "ผมชื่นชมคุณวินทร์มากในความเป็นมืออาชีพ เป็นผู้สร้างงานที่มีวินัย มีพลังสร้างสรรค์มากๆ งานค้นคว้าที่ออกมาเป็นงานชั้นดี แต่ว่าวินทร์มีบางอย่างที่ผมรู้สึกว่ายังเป็นนักเขียนระดับโลกไม่ได้ ผมพูดตรงๆ ว่าคุณวินทร์เป็นแค่นักเขียนระดับประเทศเฉยๆ เพราะว่ามีทุกอย่างในการสร้างเรื่อง ในการสร้างตัวละคร ในการสร้างภาษาเล่าเรื่องให้สนุก แต่ว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจวรรณกรรมและศิลปะทุกอย่าง ซึ่งมันไม่ปรากฏอยู่ในงานของวินทร์ นั่นคือความลุ่มลึกของตัวละคร อันนี้สำคัญมาก พอผมย้อนกลับไปอ่านผมถึงตอบคำถามตัวเองได้ว่า ทำไมผมถึงนึกถึงงานของวินทร์ไม่ออก อันนี้เป็นความรู้สึกจริงๆ
อีกอย่างมองว่า งานชั้นเยี่ยมระดับโลกต้องเป็นงานที่สั่นสะเทือนจิตใจ สร้างความสั่นไหว และก่อให้เกิดความประทับใจไปตลอด ถามว่ารูปแบบจริงๆ โอเคไหม มันโอเคครั้งแรก เขาจะเล่นทุกอย่างที่เป็นรูปแบบที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ องค์ประกอบทุกอย่างในการเขียนสามารถจะหยิบมาเล่นได้ เช่น ใช้คำนามทั้งหมดทั้งเรื่อง ใช้การขีดฆ่า ใช้การแบ่งครึ่งหน้ากระดาษ ใช้การไม่ย่อหน้า ใช้การวงเล็บ ใช้การพาดหัว ใช้การล้อมกรอบ ใช้เรื่องที่มันล้อมเรื่องอยู่ หรือใช้การตัดแปะของเนื้อหาข่าวให้มันดูต่อเนื่องกันเป็นเรื่องเป็นราวได้ รวมถึงการใช้ภาพประกอบสารพัดวิธีที่สามารถทำได้ มันน่าสนใจมาก แต่พอถึงจุดหนึ่งมันอาจจะเป็นแค่แวบแรกเท่านั้น บางครั้งการพยายามจะเล่นกับอะไรมากเกินไป มันทำให้ผมรู้สึกว่า บางครั้งมีความล้นเกิน บางครั้งมีความบ้าเกินไป บางครั้งมีความจงใจจนเกินพอดี"
จรูญพร วิจารณ์ต่ออีกว่า "ผมเห็นอีกว่างานของวินทร์เป็นเหมือนนิทานเปรียบเทียบ ไม่ใช่เรื่องจริง อาจจะเป็นสถานการณ์เพื่อให้ผู้อ่านได้ครุ่นคิด เข้าใจในประเด็นที่ต้องการจะบอก แต่พูดได้อีกแบบว่า เขาเป็นกระจกที่ไม่ได้สะท้อนความจริงอย่างตรงไปตรงมา แต่ความจริงของเขาถูกปรุงแต่งจัดวางใหม่ ผมมองว่านักเขียนระดับโลกมักจะเริ่มจากอะไรเล็กๆ มากกว่าที่จะเริ่มจากอะไรใหญ่ๆ หรือมากๆ จะไปอยู่ข้างหลัง เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่อยู่ในใจตัวเองและค่อยๆ ขยายออกมาเป็นสิ่งที่มันกระทบรุนแรงที่สุด สิ่งที่มันเป็นตัวตนที่สุด
ผมว่าส่วนสำคัญที่สุดคือความเป็นมนุษย์ ซึ่งควรจะอยู่ในงานที่จะจดจำไปทั้งชีวิต ความเป็นมนุษย์ของตัวละคร ตัวละครที่อาจจะไม่ได้แปลก ไม่ได้พิสดาร อาจจะเป็นเหมือนใครก็ได้ แต่ว่าเมื่อรู้จักเขาลึกซึ้งจะมีความจำที่ไม่ลืมเขาได้ทั้งชีวิต ผมว่าตัวละครพวกนี้ไม่ปรากฏอยู่ในงานของวินทร์ ตัวละครที่ลุ่มลึกกว่านี้ ตัวละครที่ไม่ต้องเต็มไปด้วยความแปลกประหลาด ไม่มีลักษณะขัดแย้งอย่างโจ่งแจ้งในตัวเอง ผมเห็นว่าหลายครั้งผู้เขียนสร้างตัวละครที่เป็นนักอุดมการณ์หรือว่าเป็นตัวละครที่แตกต่างเยอะแยะไปหมด แต่ว่าตัวละครเหล่านี้มันลอยอยู่ มันเป็นตัวละครที่ถูกปั้นแต่งด้วยจินตนาการมากกว่าจะมาจากรากความเป็นจริง
สรุปว่างานของวินทร์เป็นงานในระหว่างการออกแบบ ค้นคว้า จินตนาการ แล้วจัดวาง โดยเฉพาะงานช่วงหลังๆ เป็นลักษณะนี้หมดเลย คุณวินทร์เป็นนักคัดกรองที่เก่ง จะได้ข้อมูลดีๆ จากสังคมขยะบริโภคต่างๆ เอาข้อมูลดีๆ มาให้ได้อ่านเยอะ แต่สิ่งที่ผมคิดว่าขาดอย่างแรงคือว่า การที่เรารู้สึกว่าตัวละครที่ได้อ่านมีความสมจริงและเป็นตัวละครที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมาจากจิตวิญญาณของตัวละครตัวนั้นจริงๆ มีมิติจริงๆ มีความซับซ้อนในตัวเองจริงๆ ตัวละครที่จะสามารถทำให้เราสะเทือนไปกับพฤติกรรมตัวละครได้จริงๆ คิดว่างานของวินทร์มีทุกอย่าง แล้วแต่ว่าสิ่งที่ขาดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นวรรณกรรมที่ดีและเป็นงานระดับยอดเยี่ยม นั่นคือจิตวิญญาณของตัวละครที่ลุ่มลึก"
ด้าน ชมัยภร แสงกระจ่าง ในฐานะนักเขียนมองว่า "คิดว่าสิ่งที่คุณวินทร์มีคือฐานที่พิเศษกว่าคนอื่นๆ ฐานที่พิเศษอันนี้เป็นลักษณะวิธีการออกแบบอย่างนักโฆษณา มันเป็นวิธีหนึ่งของการเขียนซึ่งทุกคนทำไม่ได้และเราคงไม่อ่านงานแบบเดียวกันหมด คงไม่อ่านงานแบบที่เขียนไม่ค่อยดีเท่าไร แต่โอ้โหมันสะเทือนจิตวิญญาณเหลือเกิน มันเป็นชีวิตจริง งานของวินทร์เชื่อว่ามีแรงสะเทือนอยู่ แล้วแต่ว่าใครจะเจอ มันเหมือนกับว่างานโฆษณาซึ่งมันเป็นอีกแบบหนึ่ง ยืนยันว่าเป็นแบบหนึ่ง แต่ว่าเรื่องความยิ่งใหญ่เทียบระดับโลกหรืออะไรนั้น ดิฉันเทียบไม่เป็น แต่ยังยืนยันว่าถึงคุณวินทร์จะทำงานแบบนี้ ดิฉันยังมีความรู้สึกว่าเป็นงานวรรณกรรมที่ลงตัวในรูปแบบของคุณวินทร์ เลียววาริณ
สมัยที่คุณวินทร์ทำงานเขียนขึ้นมาใหม่ๆ ตอนได้รางวัลนั้นจำได้ว่าอาจารย์สุวรรณาวิจารณ์ว่าบ้านหลังนี้สมบูรณ์หมดทุกอย่าง ยกเว้นไม่มีบันไดขึ้น คืองานของคุณวินทร์สมบูรณ์หมดทุกอย่าง แต่ไม่มีบันไดขึ้น ทำให้คิดกันใหญ่เลยว่านักวิจารณ์บอกว่าไม่มีบันไดขึ้นมันคืออะไร เข้าไม่ถึงหรือขึ้นไปไม่ได้ เพราะคุณวินทร์ไม่ได้ทอดบันไดลงมาเลย ไม่ได้ทำสะพานอะไรบางอย่างลงมา ฉะนั้นอันนี้อาจจะเป็นไปได้ว่าเราเข้าไปไม่ถึงด้วย อาจจะไม่ใช่ว่าเขาไม่ยื่นบันไดออกมา อาจจะยื่นออกมาแล้วแต่เราเข้าไปไม่ได้ (อันนี้พูดแบบสะเทือนใจนะเนี่ย-ฮา)"
ด้านผู้ถูกวิจารณ์ วินทร์ เลียววาริณ ออกมากล่าวยินดีรับคำวิจารณ์ไม่ว่าจะเป็นในเชิงบวกหรือเชิงลบ พร้อมทั้งเล่าถึงทรรศนะและการทำงานของตัวเองว่า "ในแง่ของการทำงานทดลองนี้ จริงๆ แล้วความคิดเห็นส่วนตัวคือเป็นคนขี้เบื่อและไม่ชอบทำงานอะไรซ้ำๆ จนกระทั่งทำงานเขียนก็ไม่อยากจะย่ำอยู่กับที่ เคยมีคนตั้งคำถามว่าทดลองไปอย่างนี้สักวันหนึ่งต้องหมดแน่นอน ความเป็นจริงคือว่าถ้าเราเปิดหูเปิดตาในงานต่างๆ จะพบว่ามันไม่มีวันหมด เพราะถ้าหมดหนังฮอลลีวู้ดคงเจ๊งไปนานแล้ว มันสามารถสร้างอะไรใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา คิดว่าเรามองแตกต่างและเชื่อในพลังความคิดสร้างสรรค์ แสดงว่าเราสามารถที่จะสร้างของใหม่มาได้ตลอดเวลา ยิ่งตอกย้ำให้เชื่อว่าไม่กลัวว่ามันจะหมด
การทดลองมันกว้างมาก ศิลปะกว้างกว่าที่คิด มันคงไม่มีอะไรเป็นนวัตกรรมที่ใหม่เอี่ยมล้วนๆ ขึ้นมา แต่ว่าถ้าเราใช้ความคิดสร้างสรรค์มันสามารถที่จะต่อยอดและสร้างอะไรใหม่ๆ มาได้ตลอดเวลา อีกข้อหนึ่งที่ผมมักจะมองตัวเองเป็นนักศิลปะมากกว่านักเขียน เวลาผมทำงานผมไม่เคยคิดว่าผมเขียนหนังสือ ผมเชื่อว่าผมทำงานศิลปะมากกว่า นี่คือความเป็นกลางซึ่งบางคนอาจจะเข้าใจว่าทำไมงานเขียนถึงต้องเป็นแบบนี้ ถึงต้องมีรูปแบบแบบนี้ ผมถือว่าผมสามารถสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ได้ มันอาจจะเป็นสายทางใหม่ก็ได้ แต่ถ้าผมยังเขียนหนังสืออยู่ มันขึ้นอยู่ที่ว่าคุณจะสร้างอะไรขึ้นมาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นหลายคนมักจะบอกและติดภาพว่าผมทำงานโฆษณามาก่อนทำให้มองทุกอย่างเป็นแบบนี้ จริงๆ แล้วไม่ ผมทำงานศิลปะแบบนี้มาก่อนจะทำงานโฆษณาด้วยซ้ำไป ฉะนั้นการที่จะคิดอะไรออกมานั้นมันเป็นกระบวนการคิดของผมมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
ก่อนที่ผมจะมาเขียนหนังสือสมัยอายุสิบกว่าปี ผมเขียนนิยายภาพ เขียนการ์ตูนขาย เป็นการทำงานที่ผมชอบ คือผมเลือกเรียนคณะสถาปัตย์ เพราะว่าชอบงานออกแบบก่อสร้าง ขณะเดียวกันคณะที่สองที่ผมเลือกคือจิตรกรรม ตั้งใจจะไปเรียนจิตรกรรม แต่ว่าติดสถาปัตย์ก่อน ความหมายคืออยากทำงานวงการศิลปะมากกว่าวงการนักเขียน การเป็นนักเขียนนี้เข้ามาเป็นโดยบังเอิญและเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจ (ขนาดไม่ได้ตั้งใจนะเนี่ย)
ส่วนวรรณกรรมจะต้องมีความลุ่มลึกนั้น อันนี้จะเป็นการมองอีกในแง่มุมหนึ่ง ถ้าตราบใดยังคิดว่างานเขียนต้องมีความลุ่มลึก เพื่อจิตวิญญาณต่างๆ เราจะได้งานอย่างที่เคยมีมาซึ่งไม่ผิดอะไร แต่หมายถึงว่าเรารู้ว่าเราทำอะไรและมีความสุขกับมันเท่านั้นเอง ผมเชื่อว่าคนทำงานศิลปะนี้พยายามสร้างสิ่งที่ดีที่สุดลงไป"
นี่จึงเป็นการจุดประเด็นให้เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์ขึ้นอีกมาครั้งหนึ่ง แต่จะสร้างกระแสได้หรือไม่นั้นต้องทดลองหาคำตอบกันต่อไป
ท่านจินท่านสายขอรับ
ตอบลบหากผ่านมารบกวนแจ้งผลอีกสักที อาการวินโดว์สปิดและเปิดหลายหน้านั้นไม่ทราบเป็นที่โค้ดตัวไหน ทั้งที่ข้าพเจ้าเปลี่ยนกลับมาใช้ธีมพื้นฐานแล้ว ไม่ก็บางทีอาจยังมีโค้ดพลัดถิ่นหลงเหลือ เที่ยวบินหลบไปหลบมา
ข้าพเจ้าเปลี่ยนเป็นแม่แบบดั้งเดิม หากยังมีปัญหาอีกแสดงว่า Account ตัวนี้มีปัญหาแล้ว จะได้เปลี่ยน
รบกวนแจ้งผลอีกสักทีนะขอรับ
คารวะ
หวัดดีท่านดิลล์ที่เคารพรัก
ตอบลบท่านจินยังไม่มา รับฟังแจ้งผลจากสายลมไปก่อนนะเจ้าคะ เปิดหน้าไม่มีปัญหาเจ้าค่ะ เข้าได้ทุกหน้า แต่อ่านตัวอักษรลำบากมากเลย ตัวเล็กกะจิ๋วลิ่ว จ้องจนแทบจะจูบจออยู่แล้ว
แวะเอางานมาให้นายช่างทำด้วยเจ้าค่ะ
http://www.winbookclub.com/viewanswer.php?qid=17316
เรื่องนี้เหมือนเดิมเจ้าค่ะ เทคเดียวผ่าน ข้าเจ้าไม่รู้ว่าสำนวนเป็นไง แต่ความลื่นไหลของเนื้อหา ถือว่าโอเคแล้วสำหรับข้าเจ้า เลยบอกตามตรงว่า ‘ขี้เกียจ’ อ่านทวนซ้ำซาก แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าความขี้เกียจคือศัตรูตัวฉกาจของความก้าวหน้าในชีวิต แต่ท่านเคยเป็นเหมือนกันมั้ย หากเพิ่งเขียนเสร็จแล้วอ่านทวนสามสี่เที่ยวนี่ สุดท้ายสมองจะปรับเข้าสู่โหมด ‘มึน’ ที่นี้ก็ไม่รู้ล่ะ อะไรดีไม่ดี ควรปรับตรงไหน ควรแก้ตรงไหน
ข้าเจ้าจึงมักอ่านทวนรอบเดียว ดูศัพท์ คำผิด คำขาด คำเกิน และเรื่องราวโดยรวม
สุขสันต์กับทุกสิ่งนะทั่น
ด้วยความเคารพ
http://www.winbookclub.com/viewanswer.php?qid=17334
ตอบลบเอาตอนสองมาฝาก คุยกับทั่นเสร็จไปนั่งก๊อกๆ แก๊กๆ ได้มาสามสี่หน้า ตอนนี้ต้องแผลวแล้ว
นิทราสวัสดิ์เจ้าค่ะ